คู่มือเดินป่า


ฟังเพลง นักเดินทาง ของกัมปะนี

ทำไมต้องเดินป่า

การเดินในป่า เป็นการพักผ่อนเพื่อเติมพลังให้กับตนเอง การอยู่ในเมืองมักต้องเจอกับผู้คนที่จิตไม่ปกติ ทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย การหันหลังจากเมืองเข้าหาธรรมชาติ เป็นการกลับคืนสู่ความสบายใจ เมื่อสบายใจแล้วจะมีแรงใจกลับมาทำงานที่ไม่อยากทำ มีงานวิจัยและบันทึกหลายฉบับพบว่า ธรรมชาติสีเขียวช่วยผ่อนคลายความเครียดทางจิตใจ และช่วยฟื้นฟูสมาธิ การเดินในป่าเพียง 1 ชั่วโมง ช่วยให้กลับมาทนกับอารมณ์ลบในเมืองได้อีกเป็นวัน ในป่ามีความหลากหลายให้ดู ไม่น่าเบื่อหน่ายเหมือนอยู่ในที่คุ้นเคย อย่างแถวบ้านหรือริมทะเล ที่ไม่มีอะไรแปลกใหม่ให้ดู สมองมนุษย์ต้องการเห็นสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้เกิดความสุข  แถมการเดินในป่ายังได้ออกกำลังกาย ท่ามกลางอากาศบริสุทธิ์ และยังได้ความสนุก ตรงที่เป็นการผจญภัยอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเวลาหลงทางหรือเจอสัตว์ ยิ่งเดินป่าคนเดียวจะได้ความสนุกตื่นเต้นมากกว่าไปหลายคน เพราะเกิดความกลัวมากกว่า แถมยังได้ความสบายใจมากกว่า เพราะคนจิตปกติต้องการเวลาบางส่วนอยู่คนเดียว เพื่อคุยกับตัวเอง ฟังเสียงตัวเอง อยากทำอะไรก็ทำ อยากจะแก้ผ้าตะโกนหรือร้องไห้ได้ตามใจ ไม่มีใครจ้องจับผิด มีตัวอย่างของ Cheryl Strayed ซึ่งเขียนหนังสือแล้วนำมาทำภาพยนต์ชื่อ Wild: from lost to found พบว่าขณะที่ชีวิตในเมืองกำลังเศร้าและหลงทาง แต่หลังจากเธอออกเดินป่าคนเดียวแล้ว ได้กลับมาเป็นผู้เป็นคนอีกครั้ง

เตรียมตัวก่อนเข้าป่า

โบราณว่า คืบก็ป่า ศอกก็ป่า หมายถึง หลายอย่างในป่า พลาดแล้วย้อนกลับไม่ได้ เพราะในป่าไม่มีร้านขายของ ไม่มีบ้านคนให้ความช่วยเหลือ ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ เราจึงควรเตรียมตัวไปให้พร้อม และเดินทางด้วยความไม่ประมาท หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุ เลือกวิธีที่ปลอดภัยกว่า ถึงแม้จะต้องเสียเวลามากกว่า โดยเฉพาะถ้าใกล้ค่ำแล้ว ถ้าไม่ใช่เส้นทางที่คุ้นเคยจริงๆ ควรเลือกหยุดพัก ดีกว่ารีบลุยต่อแล้วพลาด กลางคืนเป็นช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุได้ง่ายที่สุด จากการที่เรามองไม่เห็น เช่น เดินบนก้อนหินแล้วลื่นล้มเพราะมองไม่เห็นตะไคร่น้ำ หรือลุยข้ามลำห้วยแล้วจมน้ำตายเพราะมองไม่เห็นน้ำวน แม้แต่ขับรถบนถนนตามบ้านป่าก็ยังเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เพราะโค้งหักเลี้ยวกะทันหันโดยไม่มีอะไรเตือน หรือรถไถไม่มีไฟท้าย จุดที่พลาดกันบ่อยที่สุดคือ ขากลับแล้วเร่งรีบ เคยมีคนพลาดตกเขาตายมาแล้ว

ก่อนจะไปเดินป่า ควรมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 1 สัปดาห์ เพื่อหาซื้ออาหาร เตรียมอาหาร ชาร์จแบตเตอรี่ หาอุปกรณ์ จัดของ ศึกษาแผนที่ ถ้ามีเวลาน้อยกว่านี้ อาจตกหล่นบางเรื่องไป แค่ซื้ออาหารอย่างเดียวก็อาจไม่ทัน เพราะอาหารแห้งบางอย่างขาดตลาดช่วงนั้นพอดี ยกเว้นคนที่เดินป่าเป็นประจำ และมีของทุกอย่างสำรองไว้แล้ว อาจใช้เวลาเตรียมตัวแค่วันเดียว ถ้ามีอุปกรณ์ไม่ครบต้องไปหาซื้อ เวลาเพียง 1 สัปดาห์จะไม่พอ เพราะอุปกรณ์เดินป่าไม่เหมือนอุปกรณ์ที่ใช้ตามบ้าน จึงไม่มีวางขายตามร้านค้าทั่วไป

การจัดของควรทำแต่เนิ่นๆ เพราะอุปกรณ์เดินป่าค่อนข้างจุกจิก ถ้ามาจัดของวันสุดท้ายก่อนเดินทาง มักจะจัดไม่ทัน ทำให้คืนนั้นนอนน้อย พอวันรุ่งขึ้นไปเดินป่า จะไม่ค่อยมีแรง นอกจากนี้ การจัดของเวลารีบๆ มักจะลืมของบางอย่าง ทำให้เวลาอยู่ในป่าไม่มีใช้

เวลาเข้าป่า ต้องใช้อวัยวะทุกส่วนในร่างกาย หยุดพักไม่ได้เลย คนที่จะเข้าป่า จึงควรมีร่างกายที่สมบูรณ์ ไม่เจ็บป่วย ถ้ามือเจ็บจะหยิบของลำบาก ถ้าคอเจ็บจะกินลำบาก ถ้าเท้าเจ็บจะเดินลำบาก ส่วนสำคัญที่สุด คือ เท้าและหัวเข่า เพราะว่าต้องใช้งานไม่หยุด ไม่ว่าจะเดินช้าหรือเร็ว เพราะฉะนั้น ก่อนออกเดินทาง ควรตรวจสอบว่า เท้าอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ไม่มีแผล หรือเจ็บเท้า และเมื่อใส่ถุงเท้า กับรองเท้า รวมทั้งถุงกันทาก ครบเหมือนกับเวลาเดินป่าแล้ว นิ้วเท้าไม่เกยทับกัน และ ไม่มีจุดเสียดสีให้รู้สึกเจ็บเลย ทดลองไถลไปข้างหน้าเหมือนเวลาลงเขา เล็บเท้าจะต้องไม่ชนกับหัวรองเท้า ถ้าเจ็บเท้า แม้เพียงเล็กน้อย เวลาเดินไปเรื่อยๆ จุดที่มีปัญหา จะยิ่งถูกกดทับ เสียดสี ทำให้เจ็บหนักขึ้น อาจเดินได้ไม่เต็มเท้า หรือเดินช้าจนกลายเป็นภาระ นอกจากนี้ เล็บนิ้วมือควรตัดให้สั้น ถ้าเล็บยาว เวลารื้อของในเป้ มีโอกาสเล็บหัก พอเล็บหักแล้วอาจทำให้หนังฉีก เจ็บนิ้ว ทำอะไรก็ลำบาก แต่ไม่ควรตัดสั้นเกินไป เพราะอาจต้องใช้เล็บเพื่อทำอย่างอื่นด้วย เช่น ฉีกของ เล็บเท้าก็เช่นเดียวกัน ถึงแม้ว่านิ้วเท้าจะไม่ชนกับหัวรองเท้า ก็ควรจะตัดให้สั้น เผื่อเวลาที่ใส่รองเท้าแตะ เล็บมีโอกาสโดนเกี่ยวหักได้ วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือ ตัดเล็บล่วงหน้าประมาณ 1 สัปดาห์

คนพื้นที่จะรู้เรื่องภัยอันตรายในละแวกนั้นเป็นอย่างดี ก่อนเข้าป่าควรถามคนพื้นที่ ในเรื่องต่อไปนี้

ป่าที่ควรหลีกเลี่ยง

ป่าที่ห่างไกลความเจริญ อย่างแถบชายแดน มีอันตรายมาก ป่าแถบชายแดนฝั่งตะวันตกติดกับพม่า มีระเบิดที่ทหารกะเหรี่ยงฝังไว้ตามแนวเขตแดน เพื่อป้องกันผู้รุกล้ำ เคยมีชาวบ้านจาก อำเภอพบพระ ฝั่งไทย เข้าไปหาของป่า แล้วเหยียบกับระเบิด เคยมีช้างเข้าไปชักลากไม้ที่อำเภอท่าสองยาง แล้วเหยียบกับระเบิด จนเท้าข้างนั้นเละ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในเขตไทย ก็ยังไม่ปลอดภัย ป่าชายแดนฝั่งตะวันออกติดกับเขมร เช่น แถบอำเภอโป่งน้ำร้อน หรือ เขาพระวิหาร เคยมีทหารไทยเหยียบกับระเบิด ที่ทหารเขมรฝังไว้ในในฝั่งไทย เคยมีพวกเขมรลักลอบตัดไม้พะยูงบริเวณเทือกเขาพนมดงรักฝั่งไทย ยิงปะทะกับเจ้าหน้าที่ไทยที่เข้าจับกุม พวกลักลอบตัดไม้มีอาวุธครบมือ กล้าที่จะยิ่งทุกคนที่ไม่รู้จักเพื่อปิดปาก ป่ารอยต่อเคยมีกองกำลังติดอาวุธจากฝั่งพม่า หลงเข้ามาจนถึงหมู่บ้านในฝั่งไทย เคยมีคนไทยไปหาของป่าบนเทือกเขาพนมดงรัก ตามแนวชายแดนไทยลาว แต่ถูกทหารลาวจับตัวในฝั่งไทย แล้วนำตัวเข้าไปในลาวเพื่อเรียกค่าไถ่ นอกจากนี้ยังมีไร่ฝิ่น ไร่กัญชา ถ้ารุกล้ำเข้าไปอาจโดนเจ้าของไร่ยิงได้ และยังมีเส้นทางลำเลียงยาเสพติด แม้แต่หมู่บ้านใกล้ๆชายแดนอย่างเช่น ที่ตำบลตาพระยา ก็มีกลุ่มโจรเขมร มาปล้นหรือจับชาวบ้านเป็นตัวประกันอยู่เป็นระยะ

หน้าตาของระเบิดระเบิดพวง

ส่วนป่าในประเทศเพื่อนบ้าน ยิ่งอันตรายจนไม่ต้องพูดถึง เคยมีชาวบ้านหาของป่า พลัดหลงไปในลาวหรือกัมพูชา แล้วถูกจับกุมข้อหาเป็นสายลับ ในเขมรมีกับระเบิดที่ฝังไว้สมัยเขมรแดง ในประเทศลาวบริเวณใกล้ชายแดนเวียดนาม ก็เต็มไปด้วยซากระเบิดจากการสู้รบ อย่างระเบิดพวง (cluster bomb) ที่ถูกอเมริกาทิ้งไว้ตั้งแต่สมัยสงครามเวียตนาม กระจายอยู่ทุกที่ ใน 14 แขวงของลาว ทั้งในป่า ลำธาร และทุ่งนา ถึงแม้ว่าจะผ่านมาหลายสิบปี แต่ก็ยังมีระเบิดเหลือทิ้งไว้เกือบล้านลูก คนลาวเป็นเหยื่อกับระเบิดเกือบทุกวัน เคยมีเด็กลาวนั่งผิงไฟอยู่ในบริเวณบ้าน โดยไม่รู้ว่ามีระเบิดซ่อนอยู่ใต้ดิน เมื่อระเบิดได้รับความร้อนจึงระเบิดขึ้น ทำให้เสียชีวิตกันหมด

ตามแถบชายแดนยังมีโรคประหลาด เช่น มาลาเรีย โรคเท้าช้าง ฯลฯ เนื่องจากคนในพื้นที่อยู่ไกลแพทย์ เมื่อเป็นโรคแล้วจึงไม่ได้รักษา ทำให้พื้นที่นั้นเป็นแหล่งระบาดของโรค  โรคเหล่านี้มียุงในป่าเป็นพาหะ ยุงป่าหากินทั้งกลางวันและกลางคืน ไข้มาลาเรีย ถ้ารักษาทัน กินยาครบ อาจหายขาด แล้วมีภูมิคุ้มกัน แต่โรคอื่นๆ เช่นโรคเท้าช้าง เกิดจากยุงลายที่มีชุกชุมในป่าไผ่ ป่าพรุ ปล่อยเชื้อพยาธิไชเข้ามาอุดตันต่อมน้ำเหลือง ทำให้แขนขาและเท้าบวม อัณฑะบวม รักษาไม่หายขาด ถ้าจำเป็นต้องเข้าป่าแถบชายแดน อย่าไปช่วงที่ยุงชุกชุมเช่นในหน้าฝน ควรไปในช่วงที่ยุงน้อย เช่น หน้าหนาว ถ้าเข้าป่าที่มีเชื้อมาลาเรีย ไม่ควรเข้าไปเกิน 1 สัปดาห์ เพราะว่าเชื้อมาลาเรียจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 1-3 สัปดาห์ ถ้าเป็นไข้มาลาเรียกลางป่า จะอ่อนเพลียลงเรื่อยๆ จนแทบจะไม่มีแรงเดิน ถ้าต้องเข้าป่าที่มีมาลาเรียนานๆ จำเป็นต้องรู้จักมาลาเรียและพกยาเข้าไปด้วย ป่าที่จัดว่าปลอดภัย คือป่าที่มีถนนและเมืองล้อมรอบ

ควรหลีกเลี่ยงป่าใกล้พื้นราบที่มีอากาศร้อน เพราะเวลาเดินป่าจำเป็นต้องใส่เสื้อผ้าปกปิดให้มิดชิด เพื่อป้องกันหนาม,แมลง,เห็บ ตามปกติในป่าทึบจะไม่มีลม ถ้าใส่เสื้อผ้าปกคลุมในป่าที่อากาศร้อนอบอ้าว อาจร้อนจนไม่สบายหรือเสียเหงื่อมาก ถึงแม้ว่าพอขึ้นเขาสูงไปแล้ว จะอากาศเย็นลง แต่น้ำในลำธารในฤดูแล้ง มักจะไม่ต่อเนื่อง บางแห่งแถวพื้นราบมีน้ำไหล แต่บนเขาน้ำแห้ง บางแห่งแถวพื้นราบน้ำแห้ง แต่บนเขามีน้ำ บางทีน้ำที่มีอยู่ก็เป็นน้ำขัง อาบแล้วคัน หาความแน่นอนไม่ได้ ยกเว้นป่าแถวภาคใต้ ที่ลำธารมีน้ำไหลตลอดปี ในฤดูร้อนและต้นฤดูฝนยังมีผึ้ง และแมลงวันมาก ผึ้งจะมาตอมเสื้อ ตอมตัว เพื่อกินเหงื่อ สร้างความรำคาญพอสมควร ผึ้งบางตัวจะมุดเข้าไปในเสื้อ พอเรารู้สึกคัน มือไปโดนตัวมัน ก็จะโดนมันต่อย ถ้าต้องไปในป่าแถวพื้นราบที่มีอากาศร้อน ควรไปในช่วงหน้าฝนหรือหน้าหนาว

จากที่ผมเดินทางมา ป่าที่ประทับใจที่สุด คือ อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะว่ามีถนนผ่ากลางป่า ไม่ต้องลำบากเดินจากตีนเขาขึ้นไป หากมีปัญหาอะไร สามารถออกจากป่าถึงถนนได้ง่าย ถนนราดยางมีรถวิ่งผ่านป่าไปมา ถึงแม้โทรศัพท์จะไม่มีคลื่น ก็โบกรถกลับได้ และ มีถนนล้อมรอบป่า คือเป็นเมืองล้อมป่า ทำให้ไม่มีอันตราย หรือโรคร้าย และ มีความหลากหลายทางธรรมชาติ ตั้งแต่พื้นราบขึ้นไปถึงต้นไม้ใส่เสื้อบนยอดเขาที่รถขึ้นถึงได้ ถึงแม้ว่า ป่าบางแห่งจะมีถนนผ่าป่า อย่างเช่น น้ำหนาว หรือ ดอยอินทนนท์ แต่ไม่มีความหลากหลายทางธรรมชาติและสัตว์ป่าเหมือนเขาใหญ่ ส่วนป่าที่โหดร้ายที่สุด ต้องยกให้ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เพราะเป็นภูเขาสูง ลำห้วยลึก ขึ้นลงแต่ละครั้งเหนื่อยมาก และยังมีอันตรายครบทุกอย่าง ตั้งแต่ เห็บ ยุงมาลาเรีย หมาใน จรเข้ เสือ ถ้าไปแถบภูเขาสูงใกล้ชายแดนก็จะมี คุ่น และ ทากตอง

อุปกรณ์เดินป่า

ในป่าไม่มีสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เราจึงต้องแบกของกินของใช้ติดตัวไปด้วย ถึงแม้ว่าป่าจะเหมือนซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ เพราะมีวัสดุธรรมชาติให้เลือกใช้มากมาย แต่การดัดแปลงวัสดุธรรมชาติมาใช้ บางอย่างอาจไม่เหมาะสำหรับคนที่ต้องเดินทางทุกวัน เช่น การตัดไม้มาสร้างที่พักในป่า จะเสียเวลามากกว่าการผูกเปลและกางฟลายชีท อาจจะหาวัสดุที่เหมาะสมได้ลำบาก ถึงหาเจอแล้วก็ยังต้องเสียเวลาตัดอีกไม่ใช่น้อย เช่นเดียวกับการพกผ้าปูพื้นผืนเล็กๆไปเพื่อใช้วางของไม่ให้เลอะ ย่อมสะดวกกว่าการไปหาตัดไม้ในป่ามาใช้

อุปกรณ์ที่ใช้ตามบ้าน มีขนาดใหญ่เทอะทะและหนัก จึงแทบจะนำมาใช้แทนอุปกรณ์เดินป่าไม่ได้เลย ขืนพกของใช้ในเมืองไปจะไปติดขัดกลางทาง อย่างไฟฉายที่ใช้ตามบ้าน ใส่ถ่านก้อนใหญ่ขนาด C หรือ D ถ้าพกไปทั้งกินที่ทั้งหนัก พอเจอความชื้นเจอกระแทกหน่อยก็พัง หรือแม้แต่เครื่องกันหนาว และรายละเอียดอื่นๆอีกมาก

การเข้าป่าโดยไม่มีอุปกรณ์ที่เหมาะสม อาจจะเจ็บตัวกลับมา ยิ่งมีอุปกรณ์ดี ยิ่งเจ็บตัวน้อยลง ถ้าคิดจะชวนเพื่อนคนที่ไม่พร้อมไปด้วย เขาจะเบื่อไม่อยากไปอีกเลย หรืออาจจะกลับมาหมกมุ่นอยู่กับ การซื้อและทดลองอุปกรณ์ เพราะ นักเดินป่ามือใหม่ที่มาจากในเมือง มักจะเข้าใจว่า อุปกรณ์ทุกอย่างที่มนุษย์สร้างขึ้น จะช่วยให้ชีวิตในป่าสะดวกสบายขึ้น เหมือนชีวิตในเมืองที่ต้องพึ่งอุปกรณ์จำนวนมาก แต่ชีวิตจริงในป่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เวลาเดินป่า เราต้องแบกของเอง ยิ่งแบกของมาก ยิ่งมีภาระมาก ถึงแม้จะมีลูกหาบ แต่เขาก็ช่วยแบ่งเบาภาระเราได้เพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เราจึงไม่สามารถแบกทุกอย่างติดตัวไปได้ ต้องแบกไปเฉพาะของที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ และต้องเป็นของที่ออกแบบมาสำหรับการเดินป่าโดยตรงด้วยคือ เล็ก เบา ทนทาน ประหยัดไฟ ยิ่งถ้าต้องเข้าป่าลึก เดินหลายวัน ยิ่งต้องแบกเฉพาะของที่เกี่ยวกับความเป็นความตายเท่านั้น

มนุษย์ต้องการ 3 อย่างเพื่อให้ร่างกายทำงานปกติ คือ น้ำสะอาด, อาหารครบ 5 หมู่, และ ได้นอนหลับสนิท บนที่แห้ง อบอุ่น ปราศจากแมลงหรือสัตว์รบกวน ถ้าสิ่งใดขาด ร่างกายจะเริ่มเฉื่อยลง อุปกรณ์ที่ทุกคนควรจะติดตัวไว้เวลาเข้าป่าจึงได้แก่ กระติกน้ำ อาหารแห้ง เปลสนาม ฟลายชีท และถุงนอน

น้ำ

กฎข้อแรกของการเดินป่าคือ อย่าปล่อยให้หิวน้ำ คนตายในป่าเพราะ อดน้ำ ไม่ใช่อดข้าว คนปกติสามารถอดข้าวได้ถึง 3 อาทิตย์ แต่ถ้าอดน้ำจะเสียชีวิตภายใน 3 วัน ซึ่งนั่นเป็นขีดจำกัด ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าอดน้ำขณะกำลังเดินแค่ไม่กี่ชั่วโมง อาการก็จะเริ่มแย่ และสามารถเสียชีวิตได้ในวันเดียว การขาดน้ำทำให้เลือดเลือดข้นขึ้นจนไหลเวียนไม่สะดวก มีอาการเริ่มแรกคือ ปวดหัว และอ่อนเพลีย ทำให้เดินช้าลงเรื่อยๆ เวลาลุกขึ้นนั่งหรือยืนแล้วจะหน้ามืด ริมฝีปากแห้งแตก ตาแห้ง เนื่องจากเวลาที่ร่างกายขาดน้ำ จะแสดงอาการออกมาทางปากก่อน อาจร้อนในจนปากพอง ตามมาด้วยอาการป่วยต่างๆ เช่น แน่นหน้าอก หัวใจเต้นเร็วขึ้นแม้แต่เวลาหยุดพัก ถ้าเป็นหนักก็จะเจ็บหัวใจ ปวดหลังบริเวณไต ฯลฯ คนที่ฝืนเดินต่อไปโดยไม่มีน้ำ ก็จะล้มลงตายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าอดน้ำก่อนนอน จะทำให้ ท้องผูก ภูมิคุ้มกันต่ำ ป่วยไม่สบายเป็นไข้อ่อนๆเพราะร่างกายขับสารพิษออกได้ไม่เต็มที่

ปัญหาในป่าที่พบบ่อยที่สุดคือ น้ำหมด เพราะมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ชอบแบกน้ำ แล้วน้ำหมดกลางทาง ต้องนอนพะงาบๆ รอให้คนหาน้ำมาให้ บางคนต้องคลานไป เพ้อไป บางคนต้องทนกินน้ำในบ่อที่สกปรก เต็มไปด้วยขี้และเยี่ยวสัตว์ แล้วได้รับเชื้อโรคจนป่วยตามมา แถมยังต้องตุนน้ำสกปรกไปกินตลอดทาง หรือถ้ายังมีแรง ก็ต้องรีบดิ่งลงเขาไปหาน้ำ จะลำบากมากเพราะริมน้ำจะรกและเต็มไปด้วยต้นหนาม แม้จะมีน้ำดื่มเพียงพอ แต่ก็อาจพบโรคขาดน้ำได้บ่อยในผู้หญิง เพราะผู้หญิงกลัวฉี่บ่อย จึงไม่ชอบดื่มน้ำขณะเดินทาง

หลักการแบกน้ำคือ อย่าหวังน้ำบ่อหน้า ควรเตรียมน้ำสะอาด ไปให้เพียงพอกับระยะทางที่เดินได้ตลอดทั้งวัน โดยที่ไม่ต้องไปเติมกลางทาง และ ต้องเผื่อหลง เผื่อต้องนอนกลางทางด้วย ถึงแม้จะเดินเลาะริมลำธาร ก็อย่าประมาทเพราะ บางช่วงอาจต้องตัดขึ้นเขาไปไกลเกินกว่าจะลงไปหาน้ำ ถึงแม้ว่าจะเดินตามลำธารก็ไม่ควรแวะกินน้ำในลำธาร เพราะ อาจมีสิ่งสกปรกที่มองไม่เห็นปนเปื้อนอยู่ เช่น เชื้อโรคหรือพยาธิจากมูลสัตว์ บางแห่งเห็นน้ำใสๆ ลองทิ้งไว้ค้างคืนจะมีกลิ่น และจับตัวเป็นตะกอน โดยเฉพาะน้ำบริเวณป่าที่เป็นหินปูน น้ำจะใสมาก แต่เมื่อต้มเสร็จแล้ว จะตกตะกอนหินปูนสีขาว น้ำบางแห่ง ถึงแม้ว่าต้มแล้วก็ยังเหลือแคลเซียมละลายอยู่ในน้ำมากกว่าครึ่ง คนที่ได้รับแคลเซียมมากเกินไปในวันเดียว จะเริ่มป่วยจากแคลเซียมเป็นพิษ พื้นที่ที่มีไข้มาลาเรีย ก็จะมีเชื้อมาลาเรียปนมาในน้ำ เคยมีตัวอย่างของคนงานสร้างทางรถไฟผ่านป่าดงพญาไฟในอดีต ที่ป่วยตายกันหมดเพราะดื่มน้ำโดยไม่ต้ม ต่อมาใช้คนจีนมาสร้าง จึงสร้างเสร็จ เพราะคนจีนดื่มชา จึงต้องต้มน้ำก่อนดื่มเสมอ

คนขาดน้ำ เนื่องจากอ่อนประสบการณ์ เช่น ประเมินเวลาเดินต่ำกว่าระยะทางจริง หรือ แบกน้ำมาตลอดทางแล้ว พอใกล้ขึ้นถึงยอดเขา หรือรู้ว่าใกล้จะถึงจุดหมาย เริ่มรู้สึกล้า จึงเลิกสะสมน้ำ แต่ผมเคยเห็นคนที่มีประสบการณ์สูงก็ยังพลาด เพราะความประมาท ไม่ค่อยเผื่อ ปรากฎว่าเดินไปแล้ว น้ำหมดกลางทาง ดังนั้น ถ้าไม่แน่ใจว่าจะแบกน้ำไปดีหรือไม่ ควรจะแบกไปก่อน ถ้าไม่ได้ใช้ก็ไม่เสียหาย คิดว่าออกกำลังกาย จะไปทิ้งภายหลังก็ได้ การเดินป่าใกล้ๆพื้นราบ ที่แล้งๆ อากาศร้อนๆ ร่างกายต้องการน้ำประมาณ ชั่วโมงละครึ่งลิตร พอกินน้ำไปสักพักจะต้องการน้ำน้อยลง การแบกน้ำวันละ 3 ลิตร มักจะเพียงสำหรับการเดินป่าตลอดทั้งวัน และยังมีเหลือค้างคืนได้อีกเล็กน้อย บนเขาที่อากาศเย็นๆชื้นๆ ทำให้เหงื่อออกน้อย จะดื่มน้ำน้อยลง ในกรณีที่ไม่เคยชินกับการแบกน้ำหนักมากๆ น้ำอาจจะถ่วงให้เดินช้า ถ้าไม่อยากแบกหนัก ควรรู้ว่าเวลาไหนควรตุนน้ำเท่าไหร่ โดยถามคนนำทาง ถ้าเดินใกล้ลำธารที่น้ำสะอาดมาก สามารถแบกไปแค่ไม่ให้รู้สึกว่าหนัก แต่ถ้าต้องขึ้นเขาที่ไม่แน่ใจว่า จะมีน้ำไหลตลอดปี ควรจะแบกน้ำไปให้มากที่สุด อย่าไปหวังแหล่งน้ำบนยอดเขา เพราะ แหล่งน้ำบนยอดเขาที่เคยมีน้ำตลอดปี ปีนั้นอาจไม่มีน้ำก็ได้ เพราะฝนตกแต่ละปีไม่เท่ากัน บางปีฝนตกน้อย บางปีฝนตกมาก แม้แต่คนที่ชำนาญทาง ก็อาจพลาดได้ ปกติแหล่งน้ำสุดท้ายก่อนขึ้นเขา มักจะใกล้ยอดเขาแล้ว เดินอีกไม่กี่ชั่วโมงก็ถึงยอด ดังนั้น เมื่อถึง แหล่งน้ำสุดท้ายก่อนขึ้นเขา ควรตุนน้ำไปให้มากที่สุด เพราะว่าอยู่บนเขาแล้วหาน้ำยาก ควรให้มีน้ำเหลือถึงตอนเช้าอย่างน้อยคนละ 1-2 ลิตร สำหรับหุงข้าวและเดินลงเขาซึ่งใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน การแบกน้ำขึ้นเขาเพิ่มขึ้นเป็น 3-6 ลิตร ไม่ได้หนักขึ้นเท่าไหร่ พอได้ใช้แล้วคุ้มค่ากว่าการแบกมา ถ้าปลายทางมีน้ำ ให้ถือว่าโชคดี แต่ถ้าน้ำไม่พอ จะต้องอดน้ำหรือต้องลงเขาไปหาน้ำ แล้วต้องกลับขึ้นมาอีกรอบ นอกจากจะเหนื่อยแล้ว ยังเสียเวลาด้วย มีตัวอย่างที่ผมเคยเดินขึ้นไปนอนที่ผาเหยียบเมฆ จ.นครศรีธรรมราช ในช่วงฤดูร้อน ลุงคนนำทางซึ่งเป็นผู้ชำนาญพื้นที่ ยืนยันว่าบนผาเหยียบเมฆมีน้ำตลอดปี จึงไม่มีใครตุนน้ำขึ้นไป แต่พอขึ้นไปถึง ปรากฎว่าปีนั้นน้ำแห้ง ต้องลงเขาไปไกลถึง 1 ชั่วโมง ก็ยังเจอแค่น้ำซึมจากก้อนหิน จึงใช้เวลานานกว่าจะรองน้ำเต็ม ในขณะที่เวลานั้นดึกมากแล้ว และทุกคนยังไม่ได้กินข้าว จึงต้องรีบกลับขึ้นมาหุงข้าว ทำให้ได้น้ำมาน้อย พอวันรุ่งขึ้นเดินไปแล้ว น้ำหมดกลางทาง ต้องอาศัยดื่มน้ำขังที่สกปรกบนยอดเขา แล้วรีบดิ่งลงเขาไปหาแหล่งน้ำ


น้ำใสๆ สีเขียว
อันตรายกว่า น้ำขุ่น
กฎของการดื่มน้ำในป่า คือ ดื่มน้ำไหลเท่านั้น อย่าดื่มน้ำนิ่ง ถึงแม้ว่าจะต้มแล้วก็ตาม น้ำต้มฆ่าเชื้อโรคได้ แต่ไม่ได้ฆ่าพิษจากเชื้อโรค น้ำที่อันตรายคือ น้ำขัง หรือน้ำที่หยดมาจากแหล่งน้ำขัง จะมีแบคทีเรียสะสมอยู่ แบคทีเรียมักจะปล่อยสารพิษออกมา เช่น สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (blue-green algae) คือแบคทีเรียชื่อ cyanobacteria อาจมีขนาดเล็กถึง 0.5 ไมครอน (1 ไมครอน เท่ากับ 1 ใน 1000 มิลลิเมตร) จึงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ต้องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเลกตรอนจึงจะเห็น ยกเว้นจะอยู่รวมกัน จะเห็นน้ำมีสีเขียวๆ หรือมีคราบบนผิวน้ำ เช่น ในนาข้าวที่มีน้ำขัง ถ้าอาบน้ำพวกนี้ จะเป็นผื่น ถ้ากินเข้าไปมากๆ จะเวียนหัว อาเจียน เนื่องจาก สาหร่ายมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อตับ และระบบประสาท ทำให้ตับอักเสบ ยิ่งนำมาต้ม ยิ่งอันตรายขึ้นไปอีก เนื่องจากสาหร่ายจะแตกตัว ปล่อยสารพิษออกมา วิธีที่ปลอดภัยคือ กินน้ำที่ไหลเวียนตลอดเวลา น้ำมีความขุ่นสูงจะปลอดภัยกว่า เนื่องจาก สาหร่ายจะเติบโตได้เฉพาะ บนผิวน้ำนิ่งที่ได้รับแสงแดดนาน 2-3 วัน น้ำขุ่นไม่มีแสงแดดทะลุลงไป ให้สาหร่ายสังเคราะห์แสง ด้วยเหตุนี้ ถ้าต้องเข้าป่าช่วงหน้าแล้ง ควรจะไปเฉพาะสถานที่ๆมีน้ำไหลในปริมาณมาก ถ้าต้องดื่มน้ำขัง เช่น น้ำในอ่างเก็บน้ำ ควรพกเครื่องกรองน้ำที่กรองได้ละเอียดกว่า 0.5 ไมครอน หรือทำที่กรองขึ้นมาเอง โดยใช้ทรายในลำห้วยจะกรองได้เกือบเกลี้ยง หรือใช้ถ่านจากกองฟืนรองข้างล่างอีกชั้นจะกรองได้หมด เพราะถ่านคือ activated carbon จะกรองได้ละเอียดถึง 0.5 ไมครอน หรือ ขุดดินห่างจากแหล่งน้ำสัก 1-2 ศอก เพื่ออาศัยดินช่วยกรอง

น้ำที่ไหลแรง ถึงแม้ว่าจะมีตะไคร่น้ำปนเปื้อน แต่ก็ถือว่าเจือจางมาก ไม่เหมือนน้ำนิ่ง ซึ่งอาจเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของยุงที่เป็นพาหะของโรคต่างๆ น้ำไหลในพื้นที่เป็นเหมืองแร่่ อาจมีเศษแร่ปนมาตามลำธาร เช่น บ้านคลิตี้ ในเขตทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งชาวบ้านป่วย ตรวจพบว่ามีปริมาณสารตะกั่วในเลือดสูง  แม้แต่เหมืองแร่เก่า ก็ยังมีตะกอนตกค้างอยู่ตามลำห้วยเป็นระยะทางยาวหลายสิบกิโลเมตร เหมืองบางแห่งแอบปล่อยเศษแร่ลงสู่ผืนป่า

พยาธิปากขอไชผิวหนัง
ที่ขาของเจ้าหน้าที่ป่าไม้
แก่งกระจาน เป็นเส้นสี
แดง ส่วนจุดสีแดงคือ
รอยทากกัด

เชื้อโรคจากมูลสัตว์ พยาธิตัวอ่อนจากมูลสัตว์ และ ปลิง จะอยู่ตามน้ำนิ่ง และน้ำไหลเอื่อย แต่บริเวณน้ำไหลแรงก็อาจไหลปนมา  เคยมีคนดื่มน้ำไหลแรงแต่ขุ่นๆในลำธารโดยไม่ฆ่าเชื้อโรคก่อน ปรากฎว่าท้องร่วงเพราะเชื้อโรคจากมูลสัตว์ที่ปนมาในน้ำ พอท้องร่วงมากๆก็จะเพลีย เชื้อโรคบางชนิดทำให้ถึงตายได้ พยาธิหลายชนิดมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น สามารถว่ายน้ำได้ เมื่อกินเข้าไปก็จะไปแพร่พันธุ์อยู่ในร่างกาย พยาธิปากขอหรือพยาธิเส้นด้าย เมื่อสัมผัสกับผิวหนังเวลาอาบน้ำ หรือสัมผัสกับมูลสัตว์ รวมไปถึงในดิน หรือแม้แต่ติดมากับทาก ก็สามารถชอนไชผ่านผิวหนังเข้าไปได้ เมื่อพยาธิไชไปตามผิวหนัง จะทำให้ผิวหนังมีตุ่มแดง และเป็นเส้นสีแดงนูนและคดเคี้ยว เมื่อพยาธิไชเข้าไปยังอวัยวะส่วนใด ก็จะทำให้อวัยวะส่วนนั้นผิดปกติ ถ้าไชทะลุผิวหนังเข้าไปถึงเส้นเลือด ก็จะไหลไปยังหัวใจ ปอด ถูกขับออกมาทางหลอดลม แล้วถูกกลืนลงไปเกาะอยู่ที่ผนังลำใส้ แล้วแพร่พันธุ์อยู่ในนั้น พยาธิบางชนิดจะตายไปเองภายใน 1 เดือน - 2 ปี เช่น พยาธิปากขอ ส่วนปลิงจะพบตามบ่อน้ำตื้นๆ อาจเป็นน้ำนิ่ง หรือ น้ำที่ไหลเอื่อยๆ แม้แต่ตามพงหญ้าในน้ำ หรือตามโคลนก็อาจจะเจอ แม้แต่คนที่เล่นน้ำ ก็เคยโดนปลิงเข้าไปอยู่ในทวารหนัก ช่องคลอด ตา จมูก มาแล้ว เคยมีคนดื่มน้ำในลำธาร แล้วผ่านไปไม่กี่เดือนป่วย ตรวจเจอปลิงเกาะอยู่ใน กล่องเสียง หรือ หลอดลม ปลิงบางสายพันธุ์ตัวโตเต็มที่ไม่เกิน 0.5 ซม. มองด้วยตาเปล่าแทบไม่เห็น จนกว่าจะเข้าไปขยายพันธุ์อยู่ในร่างกาย แล้วอ้วกออกมาเป็นกระจุก เหล่านี้คือเหตุผลที่ควรใช้น้ำไหลแรงเท่านั้น หลีกเลี่ยงน้ำนิ่งหรือน้ำที่ไหลเอื่อยๆ และควรกรองน้ำก่อนดื่มทุกครั้ง เมื่อรู้ว่ามีพยาธิหรือปลิงอยู่ในตัว ควบรีบไปพบแพทย์เฉพาะทาง เช่น ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

น้ำในลำธาร เป็นน้ำที่ดีต่อสุขภาพ เพราะเป็นน้ำแร่ มีแร่ธาตุมากมายที่ช่วยให้คนแข็งแรง แถมยังเป็นน้ำที่สะอาดกว่าน้ำประปาตามบ้าน เพราะมาจากต้นน้ำ และผ่านการกลั่นกรองมาจากดินแล้ว แต่อาจมีสิ่งสกปรกตามธรรมชาติปะปนมา อุจจาระสัตว์กินพืชมีแบคทีเรีย E.coli ชนิด O157 ที่ไม่พบในคน คนที่ดื่มน้ำปนเปื้อนเชื้อนี้เข้าไป จะไม่ใช่แค่ท้องเสียครึ่งวันหาย แต่อาจถึงขั้นถ่ายเป็นเลือดจากพิษของแบคทีเรียไปทำลายลำใส้ เมื่อพิษเข้าสู่กระแสเลือดจะไปทำลายไตทำให้ไตพังได้ ลำพังกรดในกระเพาะอาหารไม่สามารถฆ่าเชื้อโรคในน้ำได้หมด และเราไม่สามารถใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ได้ เพราะพิษจะกระจายไปมากกว่าเดิม เราจึงต้องรู้วิธีทำน้ำให้สะอาดก่อนนำมาดื่ม วิธีทำให้น้ำสะอาดที่เหมาะสมที่สุด ควรเริ่มต้นจาก กรองด้วยผ้าขาว เพื่อกำจัดสิ่งแปลกปลอม ถ้ากรองแล้ว ยังมีฝุ่นผง ทิ้งไว้ครึ่งวันหรือข้ามคืนจะตกตะกอน แล้วจึงนำน้ำใสมากรองอีกรอบ ส่วนตะกอนทิ้งไป ถึงแม้จะอยู่ในป่าที่มีสัตว์ และมีเชื้อมาลาเรีย น้ำที่ใสและไหลแรงพอสมควร จะค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นจริงๆ สามารถกรองด้วยผ้าแล้วดื่มได้เลย โดยไม่ต้องต้ม แต่ถ้ามีเวลาว่างควรจะต้มเสมอ เพื่อความปลอดภัย 100% แต่ถ้าเจอแหล่งน้ำต้องสงสัย เช่น น้ำไหลแรงแต่ขุ่น ยังไม่ควรดื่ม เพราะอาจมีเชื้อโรค ควรต้มก่อนดื่มเสมอ แต่ถ้าเป็นน้ำไหลเอื่อยๆ หรือน้ำขัง อาจมีพวกสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินด้วย จึงไม่เหมาะที่จะนำมาต้ม วิธีที่เหมาะสมที่สุด กรองด้วยผ้าแล้วหยดไอโอดีนลงไปเพื่อฆ่าเชื้อโรค

หลังกินข้าวเสร็จใหม่ๆภายใน 2-3 ชม. (จะมากหรือน้อยกว่านี้ ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหาร) ไม่ควรดื่มน้ำปริมาณมากในครั้งเดียว มิฉะนั้นจะทำให้อาหารไม่ย่อย มีอาการท้องอืดจุกเสียดแน่น เพราะน้ำที่มากเกินไปจะไปเจือจางกรดในกะเพาะ ซึ่งอาการหิวน้ำ มักจะพบบ่อยหลังจากอาหารเช้า แล้วออกเดินทันที เนื่องจากเมื่อตื่นมาตอนเช้า ร่างกายขับน้ำส่วนเกินออกมาทางปัสสาวะ บวกกับอาหารเช้าที่มีรสเค็มทำให้หิวน้ำ และการออกเดินทำให้เสียเหงื่อมาก จึงต้องดื่มน้ำมากในขณะที่ยังมีอาหารเก่าอยู่เต็มท้อง วิธีป้องกันการหิวน้ำหลังอาหารเช้าคือ ดื่มน้ำสัก 1-2 แก้ว (ประมาณไม่เกินครึ่งลิตร) ก่อนอาหารเช้าสักครึ่งถึง 1 ชั่วโมง การดื่มน้ำที่ดีที่สุดคือ ดื่มระหว่างมื้อ แต่ถ้ายังมีอาหารอยู่ในท้อง ให้ค่อยๆจิบไปเท่าที่หิว การดื่มน้ำปริมาณมากจะทำได้ในตอนท้องว่าง แต่ก็ต้องระวังโรคน้ำเกิน

เราทุกคนรู้จักโรคขาดน้ำ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้จักโรคน้ำเกิน ซึ่งเป็นโรคที่คนเดินป่าจะได้พบทุกวัน ในช่วงบ่ายๆหลังจากเสียเหงื่อมาหลายชั่วโมง และไม่ได้กินอะไรเค็มๆเข้าไปเพิ่ม ทั้งโซเดียมและน้ำจะสูญเสียออกทางเหงื่อในปริมาณมาก ทำให้ปริมาณโซเดียมและน้ำที่สะสมในร่างกายลดลง แต่สังเกตุว่าจะไม่หิวน้ำ ทั้งๆที่อากาศร้อนและเสียเหงื่ออยู่ตลอดเวลา นั่นเป็นเพราะโซเดียมต้องอยู่กับน้ำ เมื่อปริมาณโซเดียมที่สะสมในร่างกายต่ำ น้ำที่ดื่มเข้าไปจะฉี่ออกมาหมด เพื่อปรับความเข้มข้นของโซเดียมในเลือดให้คงที่อยู่ตลอดเวลา แต่จะมีอาการป่วยจากโซเดียมในร่างกายต่ำ คืออาการขาดน้ำ เช่น ปากแห้ง ปวดหัว ซึ่งพบง่ายในคนที่ไม่ค่อยกินเค็ม หรือกินยาขับโซเดียมพวก thiazide พอเป็นหนักจะไม่มีแรงเดิน และประสาทหลอน การรักษาโรคน้ำเกินเบื้องต้น ถ้ายังเป็นไม่มาก แค่กินน้ำปลาสัก 3 ช้อนโต๊ะหรือเกลือเม็ดประมาณ 2 ช้อนชา จะเริ่มดีขึ้น สังเกตุง่ายๆว่าคนปกติ พอกินเค็มๆแล้วจะหิวน้ำ ต้องดื่มน้ำในปริมาณมาก การกินเค็มจึงต้องคำนวณเผื่อน้ำที่เหลืออยู่ด้วย แต่อย่าให้น้ำเปล่าเพิ่มจะมีอันตรายได้ ยิ่งถ้าขาดโซเดียมขั้นรุนแรงถึงกับเดินไม่ได้และประสาทหลอนแล้ว ต้องระวังค่อยๆให้โซเดียมทีละน้อยเพื่อป้องกันผลข้างเคียง จะเห็นว่า ป้องกันไว้ล่วงหน้าดีที่สุด การกินอะไรเค็มๆก่อนนอน จะช่วยลดปัญหาเรื่องตื่นมาฉี่กลางดึกได้ด้วย แน่นอนว่าถึงแม้โซเดียมจะเกี่ยวกับความเป็นความตาย แต่การกินเค็มมากเกินไป ก็มีผลเสียทำให้เสียสมดุลแร่ธาตุในร่างกาย แต่ไม่ได้ทำให้เป็นโรคไต เพราะ โรคไตเกิดจากสาเหตุอื่น

เวลาเข้าป่า ควรจะพกกระติกน้ำไปด้วยเสมอ ก่อนเดินมักไม่หิวน้ำ จึงไม่เห็นความจำเป็นของกระติกน้ำ แต่พอเดินไปสักพักก็จะเริ่มหิวน้ำ ต้องกินน้ำลิตรกว่าๆ จึงจะหายหิวได้บ้าง ถึงแม้ว่าข้างหน้าจะมีร้านขายของ ก็ต้องเตรียมน้ำติดตัวไปบ้าง เพราะอาจจะไปหิวน้ำกลางทาง ต้องจิบน้ำไปตลอดทางก่อนที่จะเจอร้านขายน้ำ กระติกน้ำมี 2 แบบ คือ
กระติกน้ำแบบขวด มีข้อดีคือ อยู่ทรง จึงทำความสะอาดด้านในง่าย แค่คว่ำไว้ก็แห้ง แต่มีข้อเสียคือกินที่ ถ้าต้องสะพายเป้ขึ้นเขาที่ไม่มีน้ำ จะต้องแบกน้ำไปหลายๆขวด จะไม่มีที่เก็บ ถ้าต้องกินน้ำบ่อยๆ จะหยิบออกจากเป้ลำบาก ถ้าต้องการกินน้ำให้สะดวกขึ้น ต้องใช้กระติกน้ำแบบคาดเอวขนาดเล็กๆสักใบช่วยด้วย กระติกน้ำคาดเอวขนาดประมาณ 400-450 ซีซี จะเหมาะสมที่สุด ถ้าเล็กกว่านี้จะหมดเร็วต้องหยุดพักเพื่อกรอกน้ำอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าใหญ่กว่านี้จะหนักและเกะกะ เวลาเดินจะแกว่งง่าย แต่ถ้าใช้เป้ที่มีสายคาดเอวขนาดใหญ่ กระติกน้ำคาดเอวจะชนกับสายคาดเอวของเป้ อาจแขวนกระติกน้ำไว้ตรงด้านล่างของสายสะพายไหล่ หรือตรงสายคาดเอวของเป้ (ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องทำถุงกระติกน้ำขึ้นมาใหม่) ถ้าไม่มีกระติกน้ำแบบคาดเอว วิธีที่ชาวบ้านใช้กันคือ ใช้เชือกมัดตรงปากขวดแล้วผูกไว้กับสายสะพายเป้ด้านหน้า จะช่วยให้กินน้ำสะดวกขึ้น แต่ไม่ว่าจะคาดเอวหรือสะพายไว้ด้านหน้า จะมีปัญหาเวลากระแทกเนื่องจากปีนป่ายหรือหกล้ม ขวดพลาสติกมีโอกาสขวดแตกได้ ถ้าเป็นขวดโลหะก็จะบุบ ถ้าไม่กระแทก ก็เลื่อนไปเลื่อนมา ทำให้เกะกะเวลาปีนป่าย บางคนใส่กระติกน้ำไว้ในถุงตาข่ายข้างเป้ ซึ่งนอกจากจะหยิบกินลำบากแล้ว ยังมีโอกาสหล่นหายได้ง่าย โดยเฉพาะเวลาน้ำหมด เป้ที่แน่นจะบีบกระติกน้ำเปล่าๆ ให้ลื่นขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว ถ้าจะเสียบไว้ข้างเป้ วิธีป้องกันกระติกน้ำหล่นหายคือ ใส่ถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุงไว้กับสายเป้ให้แน่น หรือ จะใช้เชือกผูกปากขวดไว้ก็ได้

ขวดน้ำขนาดเหมาะสมที่สุดคือ 1-1.5 ลิตร ขึ้นอยู่กับขนาดของกระเป๋าข้างเป้ ขวดใหญ่กว่านี้จะเริ่มอ้วนเทอะทะ หาที่ยัดลำบาก ถ้าใส่น้ำจนเต็มขวดก็จะหนัก ถือยาก เทยาก แต่ถ้าขวดเล็กกว่านี้จะใส่น้ำได้น้อย ต้องใช้หลายขวด ทำให้ต้องแบกน้ำหนักขวดมากขึ้น การพกกระติกน้ำขนาด 1-1.5 ลิตรสัก 2 ใบ สะดวกกว่ากระติกใบใหญ่ๆเพียงใบเดียว เพราถ่วงน้ำหนักเป้ทั้ง 2 ข้างได้พอดี และยังเผื่อกระติกน้ำหาย หรือแตกรั่วอีกด้วย ถ้าน้ำหมดไปบางขวด และอยู่ในที่ๆมีน้ำจำกัด เช่นบนสันเขา พอเจอน้ำจำเป็นต้องสะสมไว้ให้เต็มที่เสมอ จึงควรเติมใส่กระติกที่ว่าง เพื่อที่ไม่ต้องนำไปปนกับน้ำต้มที่เหลืออยู่ในกระติกอื่น น้ำที่ยังไม่ได้ต้ม ควรเก็บไว้ใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย

คุณสมบัติของขวดน้ำที่ดี
ขวดน้ำสามารถเป็นพลาสติกจำพวก PP ได้ เพราะเบาและใส่น้ำร้อนได้  แต่ไม่ควรใช้ขวด PET เพราะเวลาใส่น้ำร้อนแล้วจะเสียรูป

ขวดน้ำแบบใช้แล้วทิ้ง ที่ขายพร้อมน้ำ ตามร้านสะดวกซื้อ ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับใช้เดินป่า เพราะ นอกจากจะบาง บุบบี้ง่ายแล้ว ปากขวดยังกว้างเกินไป เวลาเทกิน ต้องใช้ปากสัมผัสกับปากขวดเพื่อป้องกันน้ำหกเลอะเทอะ ทำให้ปากขวดสกปรกได้ง่าย ขวดน้ำพวกนี้จะใช้เฉพาะเวลามีเหตุผลจำเป็น เช่น ต้องแบกน้ำปริมาณมากกว่าที่กระติกน้ำจะรองรับได้


ถุงน้ำที่ดีควรมีจุกปิด
หลอดดูดกันเปื้อน
และทำความสะอาด
ง่าย
วิธีสะพายกระติกน้ำที่ดี คือ เวลาเดินแล้วหิวน้ำ สามารถหยิบมากินได้เลย ไม่ต้องหยุดพักเพื่อหยิบน้ำ กระติกน้ำที่กินน้ำได้สะดวกที่สุด คือ ถุงน้ำขนาด 3 ลิตร ใส่ไว้ในเป้ ใช้สายยางดูด แต่ถุงน้ำมีปัญหาคือ
วิธีทำความสะอาดถุงน้ำ คือ ถอดชิ้นส่วนออก แล้วทำความสะอาดตามคำแนะนำของผู้ผลิต จึงควรเลือกยี่ห้อที่มีวิธีทำความสะอาด เขียนบอกไว้ชัดเจนบนเวปไซต์ โดยทั่วไป จะใช้ผ้าเช็ดตัวที่ไม่มีขนหลุดออกมา เช่นผ้าไมโครไฟเบอร์ เช็ดด้านในให้แห้ง ถ้าด้านในเปื้อน อาจล้างด้วยน้ำยาล้างจานเจือจางกับน้ำอุ่นโดยไม่ใช้แปรง เนื่องจากด้านในถุงน้ำมักจะมีสารเคลือบอยู่ เมื่อเช็ดด้านในจนเริ่มแห้งแล้ว จึงแขวนคว่ำไว้จนแห้งสนิท โดยใช้กระดาษ A4 ขยำแล้วยัดเข้าไปตรงปากถุงเพื่อให้อ้าออก แล้วเก็บในสภาพนั้น ถุงน้ำที่ทำความสะอาดดี สามารถใช้งานได้นานหลายปี ถ้ายังไม่มีเวลาทำความสะอาด ให้แช่ไว้ในตู้เย็นก่อน

ปัญหาของถุงน้ำเหล่านี้เองที่ทำให้มันไม่น่าใช้ ถุงน้ำเหมาะสำหรับพวกขี่รถสองล้อที่มือไม่ว่าง หรือนักวิ่งที่ต้องทำเวลา แต่นักเดินป่าสามารถหยุดพักได้ตามต้องการ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ และจะใช้ได้คุ้มค่ากับการดูแลรักษาแค่เวลาที่ต้องไปเข้าป่าหลายๆวัน โดยเฉพาะเวลาที่ต้องขึ้นเขา ซึ่งต้องแบกน้ำไปจำนวนมาก

อุปกรณ์เก็บน้ำที่เหมาะสมสำหรับการเดินป่ามากที่สุดคือ กระติกน้ำแบบขวดพลาสติกธรรมดาๆนี้เอง มีคาดเอวใบหนึ่งเพื่อที่จะไม่ต้องหยุดพักบ่อยเกินไป และมีขวด 1 ลิตรใส่เป้ไว้อีก 2 ขวด ถ้าน้ำใกล้หมด จึงค่อยเติมน้ำในลำธารสำรองไว้ในขวดที่ว่าง แต่ถ้าขึ้นเขา จำเป็นต้องแบกน้ำไปมากกว่านี้ ควรมีถุงน้ำแบบมีฝาขนาดประมาณ 2 ลิตรติดไว้ในเป้ จะราคาถูกและทนทานกว่าถุงน้ำแบบมีหลอดดูดหลายเท่า เวลาไม่ใส่น้ำจะแฟบ ไม่กินที่เหมือนกระติกน้ำทรงกระบอก แถมยังเป็นแหล่งเก็บน้ำสำรองเวลากระติกน้ำแตกหรือหายอีกด้วย

ถ้าไปกับหมู่คณะ ต้องระวังคนที่กลัวหนัก ไม่ค่อยพกน้ำไปมาก ทำให้ไปอดน้ำกลางทาง เดือดร้อนต้องไปขอแบ่งน้ำจากคนอื่น ซึ่งคนอื่นก็มีเหลือน้อยอยู่แล้ว คนที่แบกน้ำน้อยคือพวกอ่อนประสบการณ์ เราควรเตรียมน้ำไปเผื่อคนเหล่านี้ด้วย พอถึงเวลาเดือดร้อน ประสบการณ์จริงจะสอนเขาเอง

ภาชนะใส่น้ำ ที่นำมาใช้ซ้ำ อาจเป็นที่สะสมของเชื้อโรคและเชื้อรา น้ำในลำธารบางแห่งที่เห็นว่าใสนั้น ลองปิดฝาทิ้งไว้ค้างคืน จะเริ่มมีกลิ่นบูด ถ้าทิ้งไว้นานๆ จะมีคราบลื่นๆ เกาะตามผนังด้านใน คราบนั้นคือแบคทีเรีย เมื่อออกมาจากป่าแล้ว ควรจะทำความสะอาดที่ใส่น้ำทันที อย่ารอจนเป็นคราบ จะขัดออกยาก ถ้าเป็นกระติกน้ำ ให้ล้างด้วยน้ำยาล้างจาน แล้วเปิดฝาคว่ำไว้จนแห้ง เก็บโดยไม่ต้องปิดฝา อย่าปิดฝาทิ้งไว้ทั้งที่เปียกๆ มิฉะนั้น อาจกลายเป็นตะไคร่น้ำ ถึงแม้จะปิดฝาสนิท ก็อาจจะมีตะไคร่ขึ้นตรงขอบยาง

วิธีประหยัดน้ำคือ พยายามให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตจากอาหารเป็นระยะ อย่ากินมือใหญ่มื้อเดียว เพราะ คาร์โบไฮเดรตส่วนเกิน จะถูกแปลงเป็น glycogen สะสมไว้ในกล้ามเนื้อ เพื่อดึงมาใช้ในเวลาที่ไม่ได้กินอาหาร แต่การเก็บ glycogen ต้องใช้น้ำถึง 3 กรัมต่อ glycogen 1 กรัม

การหาน้ำในป่า ต้องรู้จักภูมิประเทศ รู้ว่าลำห้วยอยู่ตรงไหน และห้วยนั้นมีน้ำตลอดทั้งปีหรือไม่ เพราะ ถ้าเป็นหุบตื้นๆ ลงไปแล้วอาจมีน้ำหรือไม่มีน้ำ, ถ้าเป็นหุบลึก ทางชัน อาจต้องใช้เวลาถึงครึ่งวัน กว่าจะลงไปเจอแค่ตาน้ำ ถ้าไม่รู้อะไรเลย หลักเบื้องต้นคือ ให้นึกว่าเส้นทางที่ผ่านมา จุดสุดท้ายที่เจอน้ำนั้น น้ำอยู่ฝั่งซ้ายหรือขวา ถ้าน้ำเคยอยู่ฝั่งไหน ลงไปฝั่งนั้นก็จะมีโอกาสเจอน้ำมากกว่า อีกวิธีหนึ่งคือ สังเกตุภูมิประเทศรอบตัว ว่าสันเขาและหุบเขาแถวนั้นวางตัวอย่างไร ถ้ามีสันเขาหรือหุบเขาขนานกันไปเป็นรูปนิ้วมือ แสดงว่ามีลำห้วยสายใหญ่ อยู่ที่ปลายนิ้วมือ และเป็นสายหลัก ซึ่งไหลเชื่อมต่อนิ้วมือทุกนิ้ว ในแนวตั้งฉาก ที่จริงแล้วระหว่างนิ้วมือก็มักจะมีน้ำ เพราะเป็นจุดต้นน้ำ แต่หน้าแล้งอาจจะไม่มีน้ำ ข้อควรระวังในการหาน้ำคือ อย่าตามเสียงไป เพราะเสียงลมพัดบนสันเขา จะคล้ายเสียงน้ำตก


ต้นไผ่ที่ตัดยอดตอนกลางคืน จะมีน้ำไหล
มีหลายวิธีที่จะหาน้ำในป่าเช่น ตัดเถาวัลย์หัวท้าย (ถ้าตัดแค่ด้านเดียวน้ำจะไม่ไหลหรือไหลช้า) โดยตัดด้านล่างก่อนแล้วค่อยตัดด้านบน เถาวัลย์มีอยู่ทุกที่แม้แต่บนสันเขา แต่เถาวัลย์ไม่ใช่ว่าจะมีน้ำเสมอไป พยายามหาเถาวัลย์เนื้ออ่อน ลองใช้มือบีบดูแล้วเนื้อนิ่ม หรือใช้มีดเคาะดูแล้วเสียงไม่แน่น จะฟันขาดง่าย ไม่ต้องเหนื่อยฟันหลายรอบเหมือนเถาวัลย์เนื้อแข็ง เถาวัลย์ต้นเล็กจะมีน้ำน้อย ต้องตัดต้นใหญ่ขนาดมือกำไม่มิด จึงจะมีน้ำใหลมากพอกินได้ แต่ถ้าต้นใหญ่เกินไปจะตัดยาก พอมีน้ำหยดแล้ว ถ้ารองทิ้งไว้ทั้งคืน จะได้น้ำหลายลิตร นอกจากนี้ยังสามารถกินแกนกลางต้นกล้วย ที่เรียกว่า หยวกกล้วย จะมีน้ำช่วยให้ชุ่มคอ อาจจะใช้มีดขูดเป็นเส้นเล็กๆแล้วใช้มือบีบน้ำออกมา ส่วนไม้ไผ่ตามธรรมชาติ ช่วงกลางวันจะไม่มีน้ำอยู่ในปล้อง ต้นไผ่ที่มีน้ำในปล้อง อาจจะเป็นไม้ผุ จึงมีน้ำใหลเข้าไปขัง ซึ่งนอกจากจะหายากแล้ว ยังมีน้ำน้อย และน้ำข้างในก็ไม่สะอาด การหาน้ำจากต้นไผ่ จะทำตอนกลางคืน โดยตัดตรงปลายยอดซึ่งมีขนาดเล็กๆเท่าหลอด สังเกตุว่าตัดแล้วมีน้ำหยดออกมา แล้วใช้ถุงพลาสติกผูกไว้เพื่อรองน้ำ แล้วมาเก็บตอนเช้า ทำแค่ต้นเดียวจะได้น้ำประมาณ 1-2 ลิตร ถึงแม้ว่ากอหนึ่งจะมีหลายต้นก็ได้น้ำเท่าเดิม ถ้าอยากได้น้ำเพิ่มต้องปาดกอใหม่ ต้นไผ่ที่มีใบเยอะหรือต้นใหญ่จะได้น้ำเยอะ ถ้าไม่มีถุง ให้เจาะรูตรงเหนือโคนต้นไผ่ในช่วงเช้า 6-10 โมงเช้า เจาะให้เฉียงขึ้นเล็กน้อยเพื่อให้น้ำไหลสะดวก ปล้องที่มีน้ำมากจะมีกิ่งงอกออกแล้วมีหยดน้ำเหมือนน้ำค้างเกาะอยู่ แล้วใช้กิ่งไผ่ตัดเป็นหลอด สอดเข้าไปในรู เพื่อให้น้ำไหลออกมา หรือตัดลงมาต้นหนึ่ง แล้วเฉาะแต่ละปล้องจะเจอน้ำอยู่ข้างใน โดยก่อนจะโค่นให้ลองใช้มือเขย่าลำต้น แล้วฟังเสียงน้ำกระฉอกอยู่ในปล้อง สัตว์ป่ามักจะรู้ว่าน้ำอยู่ตรงไหน ถ้าตามทางสัตว์ลงไปแล้วไม่เจอน้ำ ให้หาบริเวณที่แฉะๆ ถ้ามีผึ้งหรือผีเสื้อบินอยู่ก็ค่อนข้างจะมั่นใจได้ ขุดลงไปประมาณ 1 ฟุต กว้าง 1 ฟุต รอประมาณครึ่งชั่วโมง จะมีน้ำไหลออกมา ถ้าน้ำขุ่น ให้ใช้ผ้าหรือหญ้าทับลงไป จะช่วยกรองน้ำใสขึ้นมาอยู่ด้านบน ถ้าอยู่บนเขา แล้วเจอน้ำซึมหรือหยดออกมาจากซอกหิน ให้ตัดไม้ไผ่ทำเป็นท่อ แทงเข้าไปในทรายในแนวนอน จะมีน้ำไหลออกมาจากท่อ ถ้าไม่มีกรวยรองน้ำ ใช้ใบไม้มาทำกรวยได้ ถ้ายังไม่มีน้ำ ให้ตามน้ำลงไปเรื่อยๆ บางแห่งน้ำอาจมุดลงดิน ทางเลือกสุดท้ายถ้าไม่เจอน้ำ คือกินฉี่แทน

ก่อนจะกินน้ำจากเถาวัลย์ ควรดูให้แน่ใจว่าไม่มีพิษ คือ น้ำที่ไหลออกมาจะต้องใส ไม่ขุ่น ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส หยดใส่หลังมือแล้วไม่แสบมือ ลองชิมดูแล้วมีรสจืด ไม่แสบปาก เถาวัลย์บางชนิดมีน้ำสีขาวขุ่นหรือสีแดง ไม่ควรกิน

น้ำจากพืชถึงแม้ว่าน้ำจะใส แต่ไม่ใช่น้ำกลั่น ลองชิมดูจะมีรสฝาดๆ เพราะเจือปนด้วยฮอร์โมน ยา และ แร่ธาตุต่างๆ ดังนั้น ถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการกินน้ำจากพืช ถ้าต้องกินก็กินเท่าที่จำเป็น เพราะเราไม่รู้ว่าในน้ำจะมีสารพิษอะไรเจือปนอยู่ในปริมาณเท่าใด แม้แต่น้ำจากต้นไผ่ที่ดูใสๆ ก็ยังมีคนรายงานว่า กินแค่ครึ่งลิตรแล้วฉี่ไม่สุดหรือฉี่บ่อย ถ้าทิ้งไว้ครึ่งวันจะบูด ซึ่งเป็นสัญญาณว่ามีสารบางชนิดปนอยู่ มหาวิทยาลัยภาครัฐวิจัยพบสารสเตรอยด์ โปรตีน สารขับพิษ แร่ธาตุหลายชนิดพวกแคลเซียม โพแทสเซียม แมกนีเซียม รวมทั้งแบคทีเรียอีโคไลและโคลิฟอร์ม ปนอยู่ น้ำที่ปลอดภัยที่สุดคือ น้ำในลำห้วยที่ใสและไหล

ถ้าน้ำหมดระหว่างทาง ไม่ควรเสี่ยงเดินต่อไปยังจุดหมายที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะอดน้ำได้ แต่ควรตัดไปหาลำห้วยที่ใกล้ที่สุด เพื่อเติมน้ำ ถึงแม้จะต้องเดินไปคนละเส้นทางกับจุดหมาย อาจเสียเวลาทำให้ไปไม่ถึงจุดหมาย แต่ดีกว่าที่จะฝืนเดินทางต่อไป แล้วต้องอดน้ำกลางทาง จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ ยกเว้นจะชำนาญเส้นทาง รู้แน่ชัดว่าระหว่างทางมีน้ำอยู่ตรงจุดไหน ใช้เวลาเดินอีกนานเท่าใดกว่าจะถึงน้ำ ถ้าอยู่บนยอดเขาที่ไม่มีลำธาร จำเป็นต้องหยุดตัดต้นไม้ที่มีน้ำ เพื่อสะสมน้ำให้มากพอ ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไป

ถ้าไม่มีกระติกน้ำ สามารถตัดกระบอกไม้ไผ่มาใส่น้ำได้ ถ้าจะหิ้วให้ใช้มีดพกเจาะรูร้อยสายสะพาย แล้วหาจุกอุดรูตรงปากเพื่อกันน้ำกระเด็นออกมา จุกอาจใช้ใบไม้ม้วนเป็นก้อน หรือ ทำจุกไม้ขนาดพอดีกับปากรู ถ้าไม่มีไม้ไผ่ สามารถนำท่อนไม้ตันมาเจาะรูตรงกลาง โดยใช้ถ่านไม้ที่ติดไฟแดงจี้ให้ลึกลงไปเรื่อยๆ

แก้วน้ำ สามารถทำได้โดยนำใบไม้มาม้วนเป็นรูปกรวย แล้วใช้มือบีบตรงก้นไว้ไม่ให้น้ำรั่ว หรือใช้มือวักกิน หรือใช้ปากจ่อกับน้ำโดยตรง

การต้มน้ำในภาชนะที่เผาไฟไม่ได้ อย่างเช่น ภาชนะที่ทำจากไม้ ให้นำก้อนหินไปเผาไฟ จนร้อน แล้วนำหินไปจุ่มในน้ำเพียงไม่กี่ก้อน น้ำจะเดือดได้ วิธีคีบหินคือ ใช้ไม้มีง่าม 2 อัน ข้อควรระวังในการนำก้อนหินมาเผาไฟคือ อย่าใช้ก้อนหินเปียก เพราะอาจจะระเบิดได้

ธรรมชาติของน้ำบริสุทธิ์ จะต้องใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส ถ้าน้ำในแหล่งน้ำ มีสี แสดงว่ามีสิ่งปนเปื้อน เช่น ถ้ามีสีขุ่นๆ อย่างสีขาวหรือสีเขียว อาจมีพวกแบคทีเรีย ถ้าสีน้ำตาล อาจมีเศษดินหรือสนิมเหล็ก ถ้ามีสีดำแสดงว่า มีซากพืชซากสัตว์ ถ้าน้ำใส แต่เมื่อโดนแสงเป็นสีฟ้าเขียว แสดงว่ามีแร่ธาตุอย่างพวกแคลเซียม

ที่พัก

กฎข้อที่สองของการเดินป่าคือ ที่พัก

เรื่องแรกที่ควรจะคิดก่อนออกเดินทางคือ คืนนี้จะนอนที่ไหน และตรงนั้นนอนหลับได้หรือไม่ คนเมืองมักจะเคยชินกับการนอนดึก และมักจะไม่ค่อยคิดถึงเรื่องที่พักกัน พอมืดค่ำจะได้ที่พักที่ไม่เหมาะสม ใกล้ทางด่านสัตว์ หรือ ไม่มีน้ำเพียงพอ อยู่ในดงทากหรือดงเห็บ ถ้าโดนกัดตอนนอน จะโดนเยอะกว่าตอนเดิน เพราะเวลาอยู่เฉยๆแล้วพวกมันจะเดินมาหาได้ง่าย  มืดแล้วจะทำอะไรก็ติดๆขัดๆ

การเดินในป่า ต้องพึ่งแสงอาทิตย์เป็นหลัก แสงจากไฟฉายยังน้อยเกินกว่าที่จะเดินในเวลากลางคืนได้อย่างปลอดภัย ดังนั้น กฎของการเดินทางในป่าคือ หาที่พักที่เหมาะสมให้ได้ก่อนมืดค่ำ ไม่ว่าจะลุยสักแค่ไหนก็ตาม ควรถึงจุดหมายก่อนบ่าย 3 โมงครึ่ง  เพราะหลังจาก 3 โมงครึ่งไปแล้วป่าจะเริ่มมืด ช่วงบ่าย 3 โมงเย็น-8โมงเช้า เป็นเวลาที่สัตว์ป่าออกหากิน เพื่อหลีกเลี่ยงความร้อนในตอนกลางวัน ซึ่งจะทำให้มันหิวน้ำง่าย แสงแดดหลังบ่าย 3 โมงเย็น จะเริ่มหลอกตาทำให้หลงทางได้ง่าย ถ้ามองไปทางที่แสงแดดส่องมา แสงจะส่องเข้าตาทำให้ตาพร่ามองไม่เห็นทาง ถ้ามองไปทิศอื่น แสงแดดจะส่องทะลุใบไม้หรือสะท้อนกับใบไม้ ตัดกับป่ารอบข้างที่เริ่มมืดทำให้เกิด contrast สูง ทำให้มองเห็นทางไม่ชัด บริเวณที่แสงตกกระทบจะสว่างผิดปกติ จนดูเหมือนกับจะมีทาง แต่เมื่อเดินเข้าไปดูกลับไม่ใช่ แม้แต่ทากก็ชุกชุมในตอนกลางคืน มากกว่าตอนกลางวัน ถ้าหลัง 6 โมงเย็นจะเริ่มมองไม่เห็นทาง หากหลงทางก่อนบ่าย 3 โมง เรายังมีเวลาคลำทางหาที่พักอีก 3-4 ชั่วโมง หรือถ้าที่พักไม่เหมาะสม เรายังมีเวลาเหลือพอที่จะย้ายได้อีก ยกเว้น ถ้ามีที่พักอยู่แล้ว และ ชำนาญทาง อาจจะกลับช้ากว่าบ่าย 3 โมงครึ่งได้ แต่อย่างน้อยประมาณบ่าย 3 โมงเย็น ก็ควรหมดเวลาสำรวจ และกลับเข้าทางที่รู้จักได้แล้ว แต่ไม่ควรจะเดินในป่าเกิน 5 โมงเย็น เพราะมีโอกาสเจอสัตว์ป่าสูงมาก การหาที่พักช่วงใกล้ค่ำ อาจได้ที่พักแบบมัดมือชก ถ้าต้องเดินทางไกล ควรตื่นแต่เช้ามืด แล้วรีบออกเดินทางตั้งแต่เช้า ดีกว่าที่จะเดินทางจนมืดค่ำ

เมื่อถึงที่พักแล้วยังต้องทำธุระอีกหลายอย่าง ตั้งแต่หาฟืน เตรียมฟืน ทำอาหาร อาบน้ำ ซักเสื้อผ้า ตากผ้า กางฟลายชีท ผูกเปล กินข้าว ล้างจาน ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะถึงที่พักบ่าย 3 โมงครึ่ง กว่าจะทำธุระเหล่านี้เสร็จก็ค่ำพอดี

ปกติเมื่อเดินป่าถึงบ่าย 3 โมง แล้วยังไม่ถึงจุดหมาย ควรจะหาแหล่งน้ำที่ใกล้ที่สุด จะไม่ฝืนเดินทางต่อไปยังจุดหมายที่ไม่แน่ใจ รอรุ่งเช้าค่อยออกเดินทางต่อ การฝืนเดินป่าในช่วงใกล้มืดนั้น มองเห็นทางไม่ชัด ทำให้มีโอกาสหลงได้ง่าย และ ยังมีโอกาสเผชิญหน้ากับสัตว์สูง อาจจะเหยียบงู เพราะงูส่วนใหญ่จะอยู่บนต้นไม้ในตอนกลางวัน และลงมาหากินตามพื้นในตอนกลางคืน คนส่วนใหญ่จะเผชิญหน้ากับสัตว์ป่าหลังจากบ่าย 3 โมงเย็นไปแล้ว เคยมีคนที่เดินป่าตอน 6 โมงเย็น มัวแต่มองทาง จนไปชนกับช้าง จึงโดนช้างใช้งวงจับเข็มขัดเขาไว้ แล้วเหวี่ยงไปมา โชคดีที่เข็มขัดขาดเสียก่อน เขาจึงรอดมาได้

เมื่อไปถึงจุดหมายแล้ว มีขั้นตอนการเตรียมที่พักดังนี้
  1. สำรวจสถานที่ เพราะบางแห่งอาจไม่เหมาะเป็นที่พัก เช่น ไม่มีต้นไม้ผูกเปล มียุงหรือแมลงเยอะ เป็นดงเห็บ มีลมพัดแรง ไม่มีน้ำ ฯลฯ ทำให้ต้องย้ายสถานที่
  2. เลือกต้นไม้ผูกเปล ดูว่าต้นไม้ไม่มีมดไต่ อยู่เป็นทาง ทดลองดึงและขย่มต้นไม้ดูว่า จะไม่งอหรือหักโค่นลงมา ต้นไม้ที่เล็กเกินไปจะมีโอกาสงอได้ง่าย ต้นไม้ที่ตายแล้วมีโอกาสหักโค่นสูง
  3. ถางป่า ที่นอนควรอยู่นอกทางด่านสัตว์ เพื่อไม่ให้โดนสัตว์รบกวน แต่จุดที่อยู่นอกทางด่านสัตว์ มักจะรก จึงต้องใช้มีดขอหวดถางวัชพืชให้เกลี้ยง
  4. ผูกเปล ยกเว้นถ้าฝนตก ควรกางฟลายชีทกันฝนก่อน เปลเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการนอน ถ้าผูกแล้วมีปัญหาจะได้ย้ายที่ได้ง่าย โดยไม่ต้องเก็บอุปกรณ์อื่น หลังจากผูกเปลเสร็จแล้ว ควรทดลองนอน ลองขย่มดูว่า ไม่มีอะไรหักหรืองอ ถ้าไม่ทดลองแล้วพอถึงเวลาเข้านอนจริงแล้วมีปัญหา จะต้องลำบากหาที่นอนใหม่ตอนมืดค่ำ ซึ่งหายากแถมยังอันตรายกว่าการหาที่นอนในช่วงที่ยังมีแสงแดดอยู่ ผมเคยเจอมาหลายรูปแบบ ทั้งต้นไม้ไม่แข็งพอ ทำให้เปลและฟลายชีทหย่อน พอฝนตกน้ำจึงไหลจากฟลายชีทมาลงเปล หรือ ต้นไม้ผุหักลงมาทับตัวขณะกำลังจะปีนขึ้นนอน โชคดีที่เป็นต้นไม้ไม่ใหญ่จนเกินไป จึงไม่เป็นอะไรมาก แต่การเปลี่ยนที่ผูกเปลตอนมืด โดยเฉพาะช่วงใกล้เข้านอน ก็เป็นเรื่องยุ่งพอสมควร
  5. กางฟลายชีท
  6. กางผ้าปูพื้นเพื่อวางของ
เรื่องที่ควรระวังในการจัดที่พักคือ เสื้อผ้าเครื่องนอนตกน้ำเปียก เพราะ ที่พักมักจะอยู่ใกล้น้ำ ถุงนอนหรือเสื้อผ้าที่วางไว้ตามต้นไม้หรือก้อนหินริมน้ำ มีโอกาสที่จะกลิ้งลงน้ำ หากมือเผลอไปโดน หรือแม้แต่ต้นไม้ขย่มเวลาทดลองนอนเปล พอเสื้อผ้าเครื่องนอนเปียก จะใช้นอนไม่ได้ ถ้าตากไว้ ตอนเช้ามักจะไม่แห้ง วิธีป้องกันไม่ให้ของใช้ตกน้ำคือ อย่านำออกมาจากเป้จนกว่าจะใช้ หรือ ถ้าจำเป็นต้องนำมาวางไว้ข้างนอก ให้ใส่ถุงแล้วผูกไว้ ถ้ายังไม่ได้ผูกเปลก็ผูกของไว้กับต้นไม้ ถ้าผูกเปลแล้ว อาจจะผูกไว้กับเปล

ในป่าที่มีสัตว์ ควรหากำแพงธรรมชาติ อาจเป็นแนวต้นไม้ใหญ่ล้มจนรกท่วมหัว ดงเถาวัลย์ หน้าผาชัน ที่สัตว์จะเดินฝ่ามาไม่ได้ สัตว์ป่าจะคล้ายๆคน ถ้ารกมาก หรือชันมาก จะเดินไม่ไหว การหันหลังเข้าหากำแพงจะช่วยให้เราไม่ต้องระวังภัยจากด้านหลัง โดยเฉพาะเวลาก่อไฟหรือหุงข้าว เคยมีเหตุการณ์ที่หมีได้กลิ่นอาหาร แล้วย่องเข้ามาด้านหลังของคน ทำให้คนถูกทำร้าย แต่ถ้าหันหน้าเข้าหากัน สัตว์จะไม่กล้าเข้ามามากนัก ถ้าไม่มีกำแพงธรรมชาติ เราสามารถสร้างขึ้นมาได้ โดยใช้ฟลายชีทอีกอันมาขึง หรือใช้ไม้มาทำรั้ว เหมือนคอกส้ตว์ ถ้ารั้วสูงกว่าหัวสัตว์ คือประมาณระดับหน้าอกคน ก็สามารถป้องกันสัตว์กระโดดข้ามรั้วได้ (แต่ถ้าสูงแค่คอมัน บางตัวสามารถกระโดดข้ามมาได้) การทำรั้วทำได้หลายวิธี อาจจะตัดกิ่งไม้ที่มีพุ่มใหญ่ๆ มาวางซ้อนๆกัน ถ้าต้นไม้ไม่สูงมาก อาจโน้มยอดลงมาผูกไว้ด้วยกันเป็นโดม ถ้ามีต้นไม้สองต้นทำเป็นเสาได้ ให้ตัดกิ่งไม้มาพาด แล้วผูกเชือกไว้ ถ้าไม่มีต้นไม้เป็นเสา ให้ทำสามขา ถ้าฝั่งหนึ่งมั่นคงแล้ว อีกฝั่งไม่ต้องทำถึงสามขา จะทำแค่สองขาก็ได้ รั้วต้องทำให้รอบ อย่าเปิดโล่งแม้แต่ริมน้ำ เพราะสัตว์สามารถลุยน้ำอ้อมเข้ามาได้ แม้แต่เสือก็ว่ายน้ำได้ อย่างน้อยใช้เชือกทำรั้วก็ยังดีกว่าไม่มีอะไรเลย รั้วที่ทำไว้ดี สามารถป้องกันสัตว์ป่าได้ทุกชนิด ยกเว้นช้าง ซึ่งสามารถวิ่งชนหรือรื้อรั้วได้ แต่อย่างน้อย เราก็จะได้ยินเสียงรั้วหัก ก่อนที่ช้างจะมาถึงตัว การนอนติดกับหน้าผาชัน ถึงแม้ว่าจะปลอดภัยจากสัตว์ เพราะสัตว์ไม่เดินทางชัน แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอดินถล่ม โดยเฉพาะจุดที่มีน้ำไหลลงมา แต่ไม่มีลำธารชัดเจน น้ำจะกัดเซาะดินและหินถล่มลงมาได้

อย่านอนตากลม การนอนตากลมมีผล 2 อย่างคือ หนาวตาย หรือ หนาวจนนอนไม่หลับทั้งคืน หลายจุดที่ช่วงเย็นไม่มีลมหรือลมอ่อนๆเย็นสบาย แต่พอมืดลงก็จะมีลมพัดแรงมาก พอถึงตอนนั้น ถ้ารื้อของออกมาทำที่พักเสร็จแล้ว จะเก็บก็ลำบาก แค่อุณหภูมิต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียส ถ้าอากาศชื้น บวกกับ ลมแรงตลอดเวลา ก็สามารถทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดต่ำลงจนเกิดอาการป่วยที่เรียกว่า hypothermia ภายในเวลาไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะใส่เสื้อผ้าแห้งสนิทและใส่ชุดกันลมก็ตาม อาการสั่นคืออาการเริ่มแรกของ hypothermia ที่ร่างกายพยายามสร้างความอบอุ่น พอเริ่มสั่นก็เริ่มเฉื่อย ร่างกายเริ่มตอบสนองช้าลงเรื่อยๆ จนเริ่มขยับตัวไม่ได้ ถึงตอนนั้นก็ไม่มีแรงพอที่จะเก็บของแล้ว พอหยุดสั่นเมื่อไหร่ นั่นคือใกล้ตายแล้วบางคนเริ่มประสาทหลอนหรือเริ่มร้อนจนต้องถอดเสื้อแสดงว่า ใกล้หมดสติถึงตายแล้ว คนที่เครื่องกันหนาวไม่พอ ถุงนอนไม่หนาพอ มักจะหนาวตายในที่สุด แต่เวลาอยู่ในป่า มีเครื่องกันหนาวจำกัด เพราะเราไม่สามารถแบกเครื่องกันหนาวไปได้มากนัก ถึงแม้จะไม่หนาวตาย แต่ก็จะหนาวจนนอนไม่หลับทั้งคืน สังเกตุง่ายๆบริเวณที่ตอนกลางคืนมีลมแรงคือ จุดที่มองเห็นวิวเปิดโล่ง ไม่มีต้นไม้บัง อาจเป็นบนยอดเขา หรือ ตรงช่องเขา ถึงแม้ว่าบริเวณที่มีลมจะไม่มีแมลง  แต่ลมตอนกลางคืนจะแรงจนหนาวจนทนไม่ไหว ดังนั้นทางที่ดี ควรป้องกันไว้ล่วงหน้าด้วยการ หาที่พักที่หลบลมได้ ยอมทนแมลงอยู่ในที่อับลมดีกว่า เพราะเราสามารถป้องกันแมลง ได้ด้วยการสวมเสื้อผ้าให้มิดชิด ฉีดตะไคร้หอม และ ก่อกองไฟไล่แมลงได้ ถ้าอยู่บนสันเขาเปิดโล่ง ให้หาแนวต้นไม้บังลม หรือ เดินลงเขามาเล็กน้อย เพื่ออาศัยสันเขาช่วยบังลม หรือหาไม้มาทำกำแพงบังลมไว้

ภูสอยดาวช่วงพายุเข้า มีต้นไม้ล้มจำนวนมาก บางต้นล้มทับเต็นท์ขณะคนนอนหลับ ทำให้มีคนบาดเจ็บ


ทางด่านสัตว์ คือทางที่สัตว์เดินผ่าน คำว่าด่าน แปลว่า ทางผ่าน รูปบนคือแม่เสือกับลูก รูปล่างคือฝูงหมูป่า


โป่งมักมีสัตว์นักล่าตามมา


น้ำป่าจะสีขุ่นแดง มาแรง และน้ำขึ้นสูง


น้ำป่ามาเร็ว พาท่อนซุงมาด้วย


น้ำกัดเซาะทำให้เกิดดินถล่ม

อย่าไปอยู่ใกล้ต้นไม้ใหญ่ ทั้งเวลานอนและยังไม่นอน เพราะ ต้นไม้อาจจะหักโค่นลงมาทับ มีทั้งล้มลงมาทั้งต้นเพราะลำต้นฉีกขาดออกจากราก หรือหักลงมาเป็นกิ่ง เพราะกิ่งที่ยื่นออกจากลำต้น ส่วนปลายจะแตกแขนงออกไปเรื่อยๆ จึงเพิ่มน้ำหนักขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้าย โคนกิ่งส่วนที่ยึดกับลำต้น รับน้ำหนักไม่ไหว แค่ฝนตกปรอยๆในช่วงต้นจนถึงปลายฤดูฝนก็เพียงพอแล้ว ที่จะเพิ่มน้ำหนัก ทำให้โคนกิ่งฉีกออกมาจากลำต้นได้ทุกเมื่อ ไม่จำเป็นต้องมีลมแรงหรือมีฝนตกหนัก บางทีฝนตกอยู่ 2 วัน พอวันที่สามไม่มีฝน ก็ยังหักโค่นลงมา จึงไม่แปลกที่เวลาที่เราอยู่ป่าแล้วได้ยินเสียงไม้หักโค่นเอง ตามธรรมชาติ แต่ถ้ามีพายุเข้าก็มีโอกาสหักโค่นมากขึ้น ทางที่ดีเวลามีพายุเข้า ไม่ควรเข้าป่า ถ้าอยู่ในป่าควรรีบออกจากป่า ถ้าออกไม่ได้ต้องหาที่ปลอดภัยที่สุด เพราะจะมีต้นไม้ล้มจำนวนมากกว่าปกติ ผมเคยเจอมากับตัวเองครั้งหนึ่ง ขณะนั้นเป็นช่วงหัวค่ำของต้นฤดูฝน ฝนหยุดตกแล้ว ไม่มีลม แต่อยู่ดีๆก็ได้ยินเสียงไม้หักดังเปรี๊ยะ แล้วกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ก็ขาดออกจากลำต้น หักโค่นลงมาทับข้าวของที่วางอยู่ตรงหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีคำเตือนใดๆ เรียกว่า ได้ยินเสียงไม้หักก็หนีไม่ทันแล้ว โคนกิ่งมีขนาดใหญ่กว่าโคนขา ปลายกิ่งยังหนักขนาดที่ว่าขยับไม่ได้เลย ไม่ต้องพูดถึงเรื่องยก ถึงแม้ว่าจะตัดกิ่งย่อยๆออกจนหมดแล้ว เหลือแต่กิ่งหลัก ก็ยังยกไม่ขึ้น ทำได้แค่ดันขยับออกไป หรือถ้าจะยกก็ต้องใช้กิ่งไม้ยาวๆมางัดขึ้น เรียกว่า ไม้ซีกงัดไม้ซูง โดยสอดไม้ซีกเข้าไปใต้ไม้ซูง ให้ปลายอยู่เลยไปพอสมควร แล้วยกไม้ซีกฝั่งหนึ่งขึ้นปล่อยให้ไม้ซูงไถลไปทางปลายไม้ซีกฝั่งที่อยู่ ต่ำกว่า ซึ่งไม้ซูงหนักขนาดนี้ แน่นอนว่าถ้าคนโดนทับ ก็คือตายแน่ แค่โดนปลายกิ่งโขกใส่ทีเดียวก็กระดูกแตกแล้ว ต้นไม้ที่ขึ้นชื่อว่าชอบสลัดกิ่ง อย่างต้นยางนา โคนกิ่งอาจมีขนาดใหญ่เท่าลำตัวคน เคยมีคนโดนกิ่งยางนาหล่นทับรถ จนกระจกแตก กระโปรงหน้ายุบ เราจึงมักไม่พบต้นไม้ที่ชอบสลัดกิ่งเหล่านี้ใกล้บ้านเรือนคน แม้แต่ต้นไม้ที่อยู่ใกล้บ้านเรือนคนอย่างเช่น ต้นก้ามปู ก็เคยหักโค่นลงมาทั้งต้น ล้มทับสายไฟ โคนต้นมีขนาดแค่เท่าตัวคน แต่ยังทำเสาไฟฟ้าหักเป็นสิบต้น ต้นไม้เล็กๆถือว่าปลอดภัย แต่ก็ต้องดูให้ดีๆว่าไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่แตกกิ่งก้านสาขามาคลุมอยู่ด้านบน โดยเฉพาะกิ่งที่เอียงทำมุมเกือบตั้งฉากกับลำต้น และเริ่มย้อยลงมา มีโอกาสหักสูงมาก กิ่งที่ค่อนข้างปลอดภัยคือ กิ่งที่ชี้ขึ้นฟ้า

อย่าอยู่ใกล้ต้นไม้ที่ยืนต้นตาย เพราะ อาจจะมีปลวกเข้าไปกัดกินอยู่โคนต้น พอถึงเวลาที่เหมาะสม จะหักโค่นลงมา ถึงแม้จะเป็นฤดูร้อน ที่ไม่มีลมก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องผูกเปลกับต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ควรสำรวจโคนต้นให้ดีว่า ไม่มีปลวกมาทำรัง ทดลองนอนขย่มหลายๆรอบจนกว่าจะแน่ใจ และดูแนวต้นไม้ล้มว่าจะไม่ล้มมาทับตัวเรา ถึงแม้ต้นไม้ที่ผูกเปลจะไม่มีปัญหา แต่ต้นไม้บริเวณรอบๆอาจล้มลงมาทับเปลได้เช่นกัน จึงควรสำรวจต้นไม้ใหญ่บริเวณรอบๆด้วย

ถ้าต้นไม้มีมดไต่อยู่ และจำเป็นต้องผูกเปล สามารถทำได้โดยใช้แป้งเด็กทาบริเวณเชือก จะกันได้ระดับหนึ่ง ส่วนที่เหลือที่อาจไต่ข้ามมา ป้องกันได้โดยใช้เปลที่มีมุ้ง

อย่านอนในที่สัตว์เดิน ทางด่านสัตว์จัดว่าเป็นพื้นที่สังหาร ห้ามนอนเลย กลางคืนอาจจะหลับไม่สบาย ต้องผวากับสัตว์ที่ผ่านมา ควรหลบเข้าข้างทาง แล้วถางป่าเป็นที่นอนจะสบายกว่า สังเกตุว่าไม่มีร่องรอยสัตว์ ทั้งรอยเท้าและขี้สัตว์ ถือว่าใช้ได้ ในป่าใหญ่ที่สัตว์ชุกชุม ควรจะหลบไปไกลๆทางด่านเท่าที่จะทำได้ เพราะช้างอาจจะมาเป็นฝูงจนล้นทางด่าน แล้วกระจายหากินกันอยู่รอบๆบริเวณนั้น ฝูงขนาดใหญ่จะมีเป็นสิบๆตัว วิธีสังเกตุว่าที่ไหนสัตว์เดินคือ จะมีรอยเท้า และ ขี้สัตว์ คณะของผมเคยเจอมากับตัวเองขณะนอนค้างกลางป่าเขาใหญ่ ทุกคนหลบเข้าข้างทางเพื่อผูกเปล พอตอนดึกช้างตัวหนึ่งร้องแปร๊นวิ่งมาตามทางด่าน

อย่านอนในบริเวณที่มีอาหารสัตว์ เช่น โป่ง ดงผลไม้ ดงกล้วย ดงหน่อไม้ เพราะจะมีสัตว์ใหญ่อย่างหมี หมูป่า หรือช้าง มาหาอาหารกิน แม้จะมีสัตว์ที่ไม่อันตรายอย่างกวาง แต่ก็จะมีสัตว์อันตรายอย่างเสือ หมาป่า ตามมา สังเกตุว่า บริเวณที่เป็นโป่ง จะเป็นดินล้วนๆ ไม่มีต้นไม้ขึ้น แต่มีรอยเท้าสัตว์และขี้สัตว์จำนวนมาก ถ้ามีฝนตกหนักสักพัก จะมีน้ำขังคล้ายบึงขนาดเล็ก สัตว์ทุกชนิด ทั้งกินพืชและกินเนื้อ จะชอบมาเลียดินโป่ง คือดินที่มีแร่ธาตุสูง เพื่อให้มีชีวิตรอด มีตัวอย่างงานวิจัยสัตว์เลี้ยงที่ไม่ได้กินเค็มแล้วตาย มีแต่ตัวที่ให้กินเกลือแล้วรอดชีวิต ถ้าเป็นดงหวายก็เป็นอาหารของช้างมากินยอดหวาย แต่ถ้าช้างมากินไปหมดแล้ว สามารถพักได้

อย่านอนในพื้นที่ๆสัตว์นอน เพราะนอกจากจะมีโอกาสเจอสัตว์แล้ว ที่เหล่านั้นจะมีเห็บมาก พื้นที่ที่สัตว์นอนมักจะเป็นที่โล่งในป่า เช่น ที่ราบ ที่ชุ่มน้ำ โคนต้นไม้ โดยเฉพาะบริเวณที่แสงแดดส่องถึง สัตว์จะชอบมานอนอาบแดดตอนเช้าๆ ตั้งแต่งู จนถึงสัตว์ใหญ่อย่างหมาไน ส่วนที่สัตว์ไม่นอน เช่น ตามโหนก ที่รกๆ ชันๆ หรือสถานที่ไม่เรียบ

หาทางหนีทีไล่ไว้ด้วย ทั้งทางหนีสัตว์ป่าอย่างช้าง จนถึงทางหนีน้ำป่า ห้วยเล็กๆจะดีกว่าลำน้ำสายใหญ่ ตรงที่น้ำสะอาดและค่อนข้างปลอดภัยจากน้ำป่า ห้วยสายใหญ่อาจจะมีสิ่งปนเปื้อนมาจากต้นน้ำ ถ้าเดินตามลำห้วยสายใหญ่ ควรมองหาลำธารสายเล็กข้างทาง ที่ไหลมาชนกับสายใหญ่ แล้วปีนขึ้นไปพักริมลำธารสายเล็ก พยายามอย่าพักริมลำห้วยสายใหญ่ เพราะ มีโอกาสเจอน้ำป่าได้ง่าย บางทีฝนตกหนักบนยอดเขา แต่บริเวณที่พักอาจไม่ตก บางทีมีแดดเปรี้ยงๆด้วยซ้ำ การนอนใกล้น้ำริมลำธารสายใหญ่สามารถทำได้ ในกรณีที่แน่ใจว่าจะไม่มีน้ำป่า อย่างในฤดูแล้งที่ไม่มีฝนตก จะนอนตรงไหนก็ได้ แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำป่าหรือไม่ พยายามอย่านอนฝั่งที่น้ำพัดมาปะทะ เช่น ถ้าน้ำโค้งไปทางซ้าย อย่านอนฝั่งขวา มิฉะนั้นเวลาน้ำป่ามาจะโดนเต็มๆ เหมือนรถแหกโค้งมาชน และควรนอนบนตลิ่งที่สูงพอที่น้ำป่าจะขึ้นไปไม่ถึง ถ้าหานอนบนที่สูงไม่ได้ ควรนอนฝั่งที่ติดกับภูเขาที่จะสามารถหนีขึ้นที่สูงได้ หรือหาจุดที่มีก้อนหินใหญ่บังกระแสน้ำ เวลาน้ำป่ามา น้ำอาจจะไหลแรงขึ้นเรื่อยๆ หรืออาจจะทะลักมาทีเดียวเป็นคลื่นยักษ์ แต่มักจะมีสัญญาณเตือนก่อน เช่น มีเสียงซู่ดังมาจากเหนือน้ำ บางครั้งอาจมีเสียงเหมือนระเบิดหรือฟ้าผ่าหรือเสียงรถไฟ หรือเสียงกิ่งไม้หัก เสียงก้อนหินกระทบกัน เสียงน้ำในจุดที่อยู่เริ่มดังมากขึ้นเรื่อยๆ น้ำเปลี่ยนเป็นสีขุ่นแดง น้ำเริ่มเย็น มีกลิ่นดินโคลนคละคลุ้ง ที่แน่ๆคือ น้ำเริ่มสูงขึ้น เหล่านี้เป็นสัญญาณว่า น้ำป่ากำลังมา และอีกไม่กี่นาที น้ำจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจสูง 2-3 เมตร คนที่รอดตายจากน้ำป่า ก็เพราะได้ยินเสียงเหล่านี้แล้วสะดุ้งตื่น หนีขึ้นที่สูงทัน คนที่ติดอยู่กลางน้ำแล้วรอดมาได้ คือคนที่อาศัยปีนขึ้นบนก้อนหินใหญ่มากพอที่น้ำท่วมไม่ถึง หรือหาต้นไม้เกาะอยู่กลางน้ำ คนที่อยู่เฉยๆไม่ทำอะไร จะเจอน้ำแรงขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถพัดคนให้ลอยไปตามน้ำได้ คนที่โดนน้ำพัดไปแล้ว โอกาสรอดยาก เพราะจะจมน้ำตาย หรือร่างไปกระแทกกับก้อนหินและกิ่งไม้ หรือไปติดอยู่กับซอกหินใต้น้ำ น้ำป่าไม่จำเป็นต้องเกิดในป่าที่ถูกบุกรุกเสมอไป แม้แต่ป่าที่อุดมสมบูรณ์ ถ้ามีฝนตกหนักตลอดทั้งวัน หรือ ฝนตกบนภูเขาติดต่อกันหลายวัน ก็ทำให้เกิดน้ำป่าได้ เพราะมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ อย่างดินถล่มจากร่องน้ำที่ไหลมากัดเซาะ หรือโค้งน้ำที่โดนน้ำกัดเซาะด้านล่างจนดินด้านบนถล่มลงมา หรือต้นไม้ล้มขวางทางน้ำ ทำให้กิ่งไม้อุดตันน้ำไหล แล้วมีดินโคลนไหลมาสะสม จนกลายเป็นแอ่งน้ำ พอถึงจุดหนึ่งจึงเหมือนเขื่อนแตก กระแสน้ำพัดพาท่อนซุงมาด้วย ก้อนหินขนาดไม่ใหญ่มากอาจจะโดนน้ำพัดไปได้ สังเกตุว่าจุดที่เคยมีน้ำป่า จะมีก้อนหินขนาดใหญ่จำนวนมากอยู่ในลำธาร เพราะน้ำป่าพัดพาก้อนหินเหล่านั้นมา

หลีกเลี่ยงการนอนใกล้หน้าดินที่สูงชันมากเกินไป เพราะอาจเกิดดินถล่มได้ ดินถล่มสามารถเกิดได้ตามธรรมชาติในบริเวณที่สูงชัน ไม่ได้เกิดจากการบุกรุกทำลายป่า ถ้าเป็นทางน้ำซึมผ่านด้วยจะมีโอกาสถล่มง่ายขึ้น

จุดที่นอน ควรระวังก้อนหินและกิ่งไม้หล่นลงมา สังเกตุว่าไม่มีก้อนหินหรือกิ่งไม้แห้งอยู่ด้านบนหรือบริเวณรอบๆ มิฉะนั้น ถ้าลมแรงพัดมา กิ่งไม้อาจจะหักลงมา กิ่งไม้ที่อยู่มานานจะมีเถาวัลย์พันอยู่ ก็จะพาเถาวัลย์ลงมาทั้งพวง ดึงเอากิ่งรอบข้างลงมาด้วย แค่กิ่งไม้ขนาดเขื่องหล่นใส่ตัว ก็เพียงพอที่จะทำให้กระดูกหัก หรือไหล่หลุดได้แล้ว

การนอนบนเนินหรือบริเวณที่เห็นวิวโดยรอบ จะได้เปรียบ เวลาสัตว์อะไรเดินมา เราจะมองเห็นได้ง่าย

ถ้าก่อกองไฟไว้ อย่านอนในทิศทางลม มิฉะนั้นจะต้องนอนดมควันไฟ ถ้าอยู่ริมลำธาร ลมจะพัดทวนน้ำหรือตามน้ำ

เมื่อแน่ใจว่าจะนอนตรงไหนแล้ว ควรเริ่มด้วยการ ใช้มีดถางวัชพืชบริเวณที่พักให้โล่ง เพื่อเวลาเดินไปมาบริเวณที่พัก จะได้ไม่โดนกิ่งไม้เกี่ยว และ ไม่โดนสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ตามต้นไม้กัด ตามต้นไม้โดยเฉพาะกิ่งไม้แห้ง อาจจะมีมด ปลวก เห็บ งู ฯลฯ ถ้าพื้นรกก็ควรจะหากิ่งไม้ขนาดเล็กๆอย่างเช่น แกนของใบต้นปาล์ม นำมามัดรวมกัน ใช้กวาดพื้นได้ ถ้ามีดอกแขมที่ชาวบ้านเรียกกันว่าต้นไม้กวาด สามารถนำมาทำไม้กวาดแบบเดียวกับไม้กวาดที่ใช้ตามบ้าน

ถ้าเครื่องกันหนาวเพียงพอ ควรจะจัดที่นอนก่อนเป็นอันดับแรก แต่ถ้าไม่แน่ใจว่าเครื่องกันหนาวพอหรือไม่ ควรหาฟืนให้พอก่อน เพราะถ้ามืดค่ำจะหาฟืนลำบาก ถ้ามืดแล้วเครื่องกันหนาวไม่พอ ยังสามารถมาผิงไฟได้ แต่ถ้าเจออากาศหนาวจนร่างกายรับไม่ไหวกลายเป็น hypothermia เวลานั้น ร่างกายจะตอบสนองช้ามาก จนไม่มีแรงแม้แต่จะก่อไฟ

ถ้าไม่มีเครื่องนอน ควรปีนขึ้นไปนอนบนก้อนหินใหญ่ หรือทำห้างไว้บนต้นไม้ จะได้ปลอดภัยจากสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลาน จนถึงสัตว์ใหญ่ ถ้าก้อนหินไม่เรียบ ให้หาหญ้า หรือ ตัดใบไม้มาปูรองหนาๆ โดยเวลาหาใบไม้ ให้ดูพวกเห็บ บุ้ง แมงมุม ที่เกาะอยู่ตามใบไม้ด้วย แต่ถ้าฝนตก ควรหาที่พักที่มีร่มเงา เช่น ใต้ชะง่อนหิน หรือ ในรูต้นไม้ใหญ่ ซึ่งปกติสถานที่เหล่านี้มักจะเป็นบ้านของสัตว์ จึงควรตรวจสอบก่อนเข้าไปว่าไม่มีสัตว์อยู่ และเวลาพัก ให้ทำรั้วกันสัตว์เข้ามา

อาหาร

กฎข้อที่สามของการเดินป่าคือ อาหาร นายพรานจะพกอาหารอย่างน้อยที่สุดคือ ข้าวและเกลือ เพราะ 2 สิ่งนี้ทำให้เขามีชีวิตรอดได้ ข้าวเป็นตัวหลักในการสร้างพลังงาน ส่วนเกลือโซเดียมเป็นแร่ธาตุที่เกี่ยวกับ การทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เมื่อขาดเกลือแล้ว ขาจะอ่อนแรง เดินแล้วล้มง่าย ถ้าขาดมากๆ จะไม่มีแรงเดิน เคยมีเหตุการณ์จริงของคนที่เข้าป่า แล้วลืมเกลือไว้กลางทาง ทำให้เป็นตะคริว เดินต่อไปไม่ได้

อาหารเดินป่าพวกของแห้ง ควรเตรียมไปจากบ้าน ไม่ควรไปหาซื้อกลางทาง เพราะ แถวบ้านป่ามีคนอยู่น้อย จึงไม่ค่อยมีอะไรให้เลือกมากนัก ทำให้มักจะได้ของไม่ครบตามต้องการ หรือได้ของแบบมัดมือชก แถมยังต้องเสียเวลาหาซื้อ อาจไปแล้วไม่มี ต้องเดินทางไปหาซื้อไกลจนทำให้เข้าป่าล่าช้า แม้แต่อาหารปรุงสำเร็จยังหายาก เพราะปกติเราจะไปเข้าป่าตอนเช้า แต่ตลาดเช้าไม่ค่อยมีอาหารพร้อมกิน และตอนกลางวันไม่มีตลาด ร้านที่มีอยู่ก็ไม่มีตัวเลือกมากนัก ตลาดเย็นมีอาหารสำเร็จเยอะหน่อย แต่ไปเข้าป่าไม่ทันแล้ว ในกรณีที่ต้องไปตอนค้างคืนชายป่า เพื่อเข้าป่าตอนเช้า อาจจะซื้ออาหารปรุงสำเร็จติดตัวไปตั้งแต่ตอนเย็น เพื่อเก็บไว้กินตอนเช้าโดยไม่ต้องเสียเวลาทำอาหาร แต่ต้องเลือกอาหารที่ทิ้งไว้ค้างคืนแล้วไม่บูด ไม่ควรพกข้าวเหนียวค้างคืนจะแข็ง ยกเว้นข้าวเหนียวกะทิปิ้งห่อใบตอง (ใส้กล้วยหรือเผือก) สามารถเก็บได้ 2-3 วัน อาหารที่มีน้ำมันอย่างพวกทอดผัด หรือถ้าต้มหรือลวกก็ต้องใช้แบบแห้งๆ จะเก็บค้างคืนได้สบาย ไม่ควรใช้อาหารที่มีน้ำแฉะๆอย่างยำจะเสียไว เพราะแบคทีเรียชอบน้ำ ยกเว้นเมื่อถึงที่พักนำมาอุ่นจึงจะเก็บต่อไปกินวันรุ่งขึ้นได้ ส่วนข้าวสวยที่หุงสุกแล้วทิ้งไว้ค้างคืนอาจจะบูดหรือไม่บูด ขึ้นอยู่กับหม้อที่หุงว่ามีเชื้อแบคทีเรียติดอยู่หรือไม่ ถ้าจะให้ชัวร์นอกจากจะซื้อข้าวหุงสุกไปแล้ว ควรพกหม้อและข้าวสารไปเผื่อด้วย

ช่วงที่ผมเริ่มเดินป่าใหม่ๆ มักจะเจอปัญหาเรื่องข้าวหมดในช่วงวันสุดท้าย ทำให้ต้องหิวโซกันอยู่เป็นประจำ เพราะ แต่ละคนพอออกแรงแล้วกินเยอะกว่าปกติที่ประมาณไว้ จนได้บทเรียนมาว่า เวลาเข้าป่า ต้องสำรองอาหารเผื่อผิดพลาดอีก ประมาณ 2-3 วัน เผื่อกรณีที่หลงป่า หรือ บาดเจ็บทำให้เดินช้า จะได้มีอาหารกินจนกว่าจะออกจากป่า ปกติแล้ว เวลาหลงป่า มักจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นอีก 1-2 วัน แต่ก็มีหลายสาเหตุที่ทำให้เราต้องติดอยู่ในป่าเป็นเวลานานกว่านั้น ผมเคยมีเพื่อนที่เคยโดนตัวต่อรุมต่อยแถวที่พัก ถึงแม้ว่าเขาจะกระโดดลงน้ำหนี แต่ก็บวมไปทั้งตัว ต้องนอนพักอยู่ในป่าถึง 1 สัปดาห์ กว่าจะพอเดินออกมาไหว

อาหารสำรองควรเป็นอาหารที่กินในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว เช่น ข้าว ไข่ ฯลฯ เมื่อออกจากป่ามาแล้วมีเหลือสามารถนำมากินต่อได้เลย ไม่ควรซื้อพวกอาหารประหลาดๆมาสำรอง อย่างเช่น อาหารอวกาศ หรืออาหารผง เพราะนอกจากจะหาซื้อยากและมีราคาแพงแล้ว ถ้าเก็บไว้ไม่ได้ใช้นานๆจะหมดอายุ

คนเดินป่า เป็นโรคขาดสารอาหารได้ง่าย เพราะ เวลาเข้าป่า มักจะแบกอาหารไปได้ไม่หลากหลาย เวลากินข้าวก็เช่นกัน เรามักจะกินข้าวได้ไม่มาก เพราะกับข้าวน้อย แถมไม่อร่อยเพราะเครื่องปรุงไม่ครบ ประกอบกับการเดินป่าตลอดทั้งวัน ต้องเสียเหงื่อมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียเกลือแร่มาก หากกินอาหารไม่ครบ จะทำให้ร่างกายอ่อนแอ ไม่มีแรงเดิน เข้าป่าไปได้ไม่กี่วันก็เริ่มแย่ อยากจะออกจากป่าแล้ว หลายคนไปไม่ถึงปลายทาง ก็เพราะสาเหตุนี้ ถ้าขาดสารอาหารอยู่ในป่า จะป่วยง่าย เพราะเชื้อโรคในร่างกายจะขยายตัวได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะออกจากป่ามาแล้ว ถ้ายังขาดสารอาหาร จะมีอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง เมื่ออยู่ในเมืองก็จะทำงานได้ไม่เต็มที่ เพราะ เหนื่อยง่าย สมองไม่แจ่มใส ดังนั้น เวลาเข้าป่า ควรพกกับข้าวไปมากๆ เน้นอาหารที่มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง เช่น ผลไม้แห้ง, เห็ด, เวย์โปรตีน, อาหารทะเลแห้ง, สาหร่ายทะเล  ถ้าเป็นพวกผักเช่น ต้นหอม ผักชี หอมแดง ให้หั่นเป็นฝอย แล้วนำไปตากแดดจนแห้ง เก็บใส่กระปุกไว้  สังเกตุว่าส่วนใหญ่จะเป็นอาหารแห้ง เพราะมีน้ำหนักเบา ช่วยลดน้ำหนักเวลาแบกเป้

ในอาหาร 5 หมู่ อาหารแห้งที่หาซื้อยากที่สุดคือ ผักแห้ง ถ้าซื้อผักสดมาตอนเช้า พอตอนเย็นก็จะเริ่มเหี่ยว เพราะผักคายน้ำออก ผักบางชนิดเก็บได้หลายวัน เช่น แตงกวา, มะเขือเทศ, ถั่วฝักยาว เก็บได้ 2-3 วัน ถ้ากะหล่ำปลีอาจเก็บได้ 4-5 วัน แต่ปัญหาของผักสดคือ มีน้ำหนักมากเพราะมีน้ำปนอยู่ แต่ถ้าเราไม่กินผัก จะเป็นโรคขาดสารอาหารอย่างพวกแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมพบน้อยในข้าวและเนื้อสัตว์ แมกนีเซียมในผักจะอยู่กับคลอโรฟิลล์ ทำให้ผักมีสีเขียว ผักที่ขาดแมกนีเซียมจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองคาต้น ถ้าหาผักแห้งไม่ค่อยได้ อย่างน้อยควรพกแมกนีเซียมติดตัว ไปด้วย

ในป่าไม่ค่อยมีอาหาร โอกาสเจอพวกผักผลไม้ในป่ามีน้อย  แม้แต่นายพรานยังต้องแบกข้าวสารและน้ำพริกเข้าไปด้วย ถ้าไปเจอกบ เจอเต่ากลางทางก็จับกินเพื่อประหยัดกับข้าว  ถ้าอาหารขาด อาจเดินไปขอจากคนรู้จักในป่า เช่น พวกลักลอบตัดไม้ แม้แต่พระธุดงค์ก็ต้องแบกอาหารเข้าไป ยกเว้นท่านที่เก่งแล้วขอบิณฑบาตอาหารจากเทวดาได้ หรืออยู่ด้วยธรรมปิติคือไม่ต้องกินข้าว คนที่หาอาหารในป่าได้ มักจะรู้แหล่งอาหารในป่า เช่น รู้ว่ามีบ่อน้ำเก่าอยู่ตรงไหน มีดงผักอยู่ตรงไหน แต่ถ้าปีไหนอากาศแปรปรวน ผักที่เคยกินได้ก็อาจจะไม่มีให้กิน คนหาของป่า มีความรู้ไม่มากนักว่า ผักผลไม้อะไรกินได้ อะไรกินไม่ได้ เพราะต้องอาศัยเรียนรู้มาจากคนรุ่นก่อน ไม่มีสอนในโรงเรียน และไม่มีในตำรา ดังนั้น ถ้าไม่รู้จัก เขาจะไม่กิน เช่นเดียวกับสัตว์ป่าที่คนนำมาเลี้ยงจนโต พอนำไปปล่อย ก็จะหากินเองไม่ได้ เพราะสัตว์เรียนรู้จากแม่ของมัน

การเปิดตำราพืชกินได้ ไม่ใช่ว่าจะปลอดภัย มีตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง Into the wild 2017 ที่สร้างจากเรื่องจริง ของนักศึกษาจบใหม่ ที่เปิดตำราเก็บพืชมากินจนเสียชีวิต เพราะพืชมีพิษมีหน้าตาคล้ายกัน แต่อยู่ในหนังสืออีกหน้าถัดไปซึ่งเขาไม่ได้เปิดไปดู มาเปิดดูอีกครั้งตอนเริ่มรู้สึกป่วย แต่ก็สายไปแล้ว

พื้นที่แต่ละแห่งจะมีพันธุ์ไม้แตกต่างกัน ต้นไม้ที่ขึ้นในป่าดิบแล้งเช่น แถบเขตฯทุ่งใหญ่นเรศวร จะไม่พบตามป่าดิบชื้น เช่น อช.เขาใหญ่  คนที่รู้ว่าอะไรกินได้ จำเป็นต้องอาศัยศึกษามาจากคนในพื้นที่ หรือใช้วิธีสังเกตุ จากร่องรอย เช่น รอยเท้าของสัตว์ใหญ่มากิน รอยแทะของกระรอกหรือหนู ถ้าสัตว์กินได้คนก็กินได้ ถ้าเป็นพืชน้ำก็มีปลากิน แต่ถ้าเป็นผลไม้ลูกเล็กๆที่นกกิน อาจจะมีพิษ หรือกินได้แต่ไม่อิ่ม แต่ถ้าไม่มีสัตว์มาแตะต้อง ก็ไม่ควรกิน วิธีสังเกตุพืชมีพิษคือ จะไม่มีแม้แต่แมลงมาแตะต้องเลย ถ้าต้องการทดลอง ให้เริ่มต้นด้วยการเด็ดมา ลองดมกลิ่นดู พืชที่มีกลิ่นแรง มักจะมีสารเจือปนมาก กินไม่ได้ พืชที่มียาง มักจะฝาดและขม กินไม่ได้ ลองเด็ดมาถูที่เนื้ออ่อน อย่างเช่นหลังมือ ดูว่าแพ้หรือไม่ ลองใช้ลิ้นแตะ ลองชิม แล้วลองเคี้ยวดู จำนวนน้อยๆก่อน ถ้ารู้สึกผิดปกติให้รีบล้างปาก

พิษในพืชป่า มักจะมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ ชิมดูจะมีรสขม อาจเป็นไซยาไนด์ แตะผิวหนังหรือลิ้นแล้วคัน อาจเป็นออกซาเลต (เพราะออกซาเลตมี ลักษณะเป็นเข็มเล็กๆ) พืชส่วนใหญ่จะมีออกซาเลต มากบ้างน้อยบ้าง พืชที่มีออกซาเลตมากคือพวก ใบชะพลู ผักโขม เผือกดิบ ส่วนมันสำปะหลังดิบ จะมีไซยาไนด์ (มันสำปะหลังมี 2 พันธุ์คือแบบหวาน และแบบขม แบบหวานมีไซยาไนด์น้อย หากนำมาผ่านความร้อนแล้ว คนและสัตว์จึงกินได้ ส่วนแบบขมมีไซยาไนด์มาก ปลูกเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม), บิโกเนีย(ที่พบบนยอดเขาทางภาคใต้) และมะขาม เป็นยาระบายอ่อนๆ ฯลฯ  ถึงแม้ว่าถ้านำมาผ่านความร้อน อาจทำให้พิษลดลงได้บ้าง แต่ถ้ากินแทนข้าว เราก็จะป่วย พืชบางชนิดกินจำนวนน้อยๆก็ป่วย ผมเคยกินแกงบิโกเนียบนเขาแค่ไม่กี่ต้น วันรุ่งขึ้นยังถ่ายตั้งหลายรอบ นอกจากนี้ ลำใส้ของมนุษย์ไม่มีแบคทีเรียย่อยสลายพวกเซลลูโลสหรือไฟเตทเหมือนสัตว์กิน พืช มนุษย์จึงไม่สามารถอยู่รอดได้ ด้วยการกินพืชเพียงอย่างเดียวเหมือนสัตว์

เผือกและมัน เป็นอาหารที่คนอยู่ป่ากินเป็นประจำ ต้นเผือกจะเหมือนต้นบอน แต่ก้านตรงโคนใต้ใบเป็นสีม่วง ดึงขึ้นมาจากดินจะมีหัว สามารถกินแกนได้ด้วย บางพันธุ์อาจมีจุดสีม่วงตรงกลางใบด้านบนโคน หรือพลิกดูใต้ใบอาจเห็นแกนใบเป็นสีม่วง บางพันธุ์อาจมีหัวเผือกโผล่ขึ้นมาจากดินเล็กน้อย ต่างจากต้นบอนที่เป็นสีเขียวทั้งโคน บอนคันจะโคนมีสีม่วงเหมือนเผือก แต่ไม่เข้มเท่า ส่วนต้นมันสำปะหลัง จะมีใบเป็นนิ้วมือมี 7-9 ใบ ต้นสูงไม่เกินมือเอื้อมถึง ขึ้นใกล้ลำห้วย ก้านใต้ใบสีแดง มีหัวอยู่ใต้ดินเช่นกัน บางหัวอาจลึกถึง 3 เมตร ใบอ่อนสามารถกินได้ด้วย แต่ใบแก่จะแข็งไม่อร่อย ทั้งหัวเผือกและมันต้องนำมาทำให้สุกก่อน เพราะมีพิษอยู่ตามธรรมชาติ


บอนหวาน ขึ้นเป็นดง

ริมลำธารในป่ามีผักขึ้นอยู่หลายชนิด สามารถเด็ดมากินได้ แต่พืชบางชนิดมีพิษ กินแล้วตายได้ ก่อนที่จะเก็บมากิน จึงต้องรู้จักพืชชนิดนั้นแน่ชัด อย่างเช่น ต้นบอน ที่ขึ้นอยู่ตามริมน้ำ มี 3 ชนิด แต่มีหน้าตาคล้ายกัน คือมีใบรูปหัวใจ ส่วนใหญ่สูงระดับเอว บอนชนิดที่กินได้คือ บอนหวาน กินสดๆได้เลย สังเกตุว่า ใบจะมีสีเขียวสด ไม่มีสีขาวปน ลำต้นจะมีสีเขียว อาจแกมแดงหรือแกมม่วง แต่ไม่มีสีขาวเคลือบ ยางไม่มีสี ยางโดนหลังมือแล้วไม่คัน กินได้ทั้งต้นอ่อน ยอดอ่อน และใบอ่อน แต่ถ้าจะกินลำต้นต้องลอกเปลือกแข็งออก บอนอีกชนิดที่หน้าตาคล้ายกัน คือ บอนคัน มีออกซาเลต กินสดๆแล้วจะคันปากคันคอ ต้องแก้พิษด้วยพืชที่มีรสเปรี้ยวอย่าง มะขามหรือมะนาว อมทิ้งไว้หลายๆวันจะค่อยๆดีขึ้น สังเกตุว่า ใบจะมีสีขาวนวล ต้นสีเขียวอ่อนมีสีนวลเคลือบจนเกือบขาว ยางมีสีเขียวน้ำเงิน ยางโดนหลังมือแล้วคัน บอนคันนำมากินได้เช่นกัน แต่ต้องนำมาทำลายพิษ ด้วยการผ่านความร้อนเป็นเวลานาน จนจับดูแล้วเละ จึงจะกินแล้วไม่คัน อาจนำมานึ่ง ต้ม หรือ ใส่กระบอกไม้ไผ่ย่าง ประมาณครึ่งชั่วโมง หรือจะนำลำต้นมาเผาไฟทั้งเปลือก จนเปลือกดำหรือเปลือกพอง แล้วจึงลอกเปลือกออกมากินเนื้อข้างใน นอกจากนี้ ในดงบอน ยังมีบอนมีพิษอีกชนิด ขึ้นปะปนอยู่ด้วย คือต้นโหรา สังเกตุว่าจะมีใบใหญ่กว่า สีเข้มกว่าและหนากว่า ยางมีสีส้มอ่อนๆ เคยมีคนไม่ระวัง ตัดต้นโหรามาปน แล้วนำมาทำแกงส้ม ปรากฎว่าคนกินป่วยกันหมด บางคนน้ำลายฟูมปาก บางคนช็อคหมดสติ บางคนอมไว้ในปากจะรู้สึกเผ็ดมาก ยิ่งอมยิ่งเผ็ด ตามด้วยลิ้นแข็ง น้ำลายยืด แสบลงไปถึงคอ จะเห็นว่าวิธีแรกที่จะดูว่าบอนกินได้หรือไม่ คือ ดูที่ยาง ยางต้องใส ไม่มีสี ถึงแม้ว่าจะต้มแล้ว


ผักหนาม ขึ้นตามริมน้ำ มีหนามตามลำต้นจนถึงยอดอ่อน
ผักหนาม เป็นตัวอย่างของผักมีพิษอีกชนิด ที่กินได้ แต่กินดิบไม่ได้ เพราะ ในผักหนามดิบ จะมีไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารพิษชนิดหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ก่อนนำมาปรุงอาหาร จึงต้องนำมาต้มแล้วเทน้ำทิ้งก่อน ผักหนามชอบขึ้นอยู่ริมน้ำ บริเวณที่มีร่มเงา ลำต้นขนาดเล็ก ตั้งเกือบตรง สูงเหนือหัวเข่าจนถึงเอว ไม่มีใบตรงกลางลำต้น แต่มีใบอยู่ตรงปลาย ใบมีขนาดใหญ่ บานออกเป็นแฉก วิธีสังเกตุนอกจากใบคือ จะมีหนามตามลำต้น จึงเรียกว่าผักหนาม วิธีกินคือ เด็ดยอดอ่อนมาต้ม หรือทำพวกแกงส้ม กินพร้อมหนาม

พืชที่พบได้ทุกภาค เช่น หน่อไม้และกล้วย โดยเฉพาะกล้วย กินได้เกือบทุกส่วน ทั้งหัวปลีสีม่วง ที่ลอกเปลือกออก จนถึงเนื้อสีขาวด้านใน, หยวกกล้วย คือแกนกลางของต้นกล้วย เลือกต้นที่ไม่แก่และไม่อ่อนเกินไป คือลำต้นขนาดประมาณข้อมือ เพราะถ้าต้นอ่อนเกินไปจะไม่มีแกน ถ้าแก่เกินไปจะเริ่มมีเส้นใย, ผลกล้วยอ่อนสีเขียวเล็กๆเท่านิ้วก้อย เม็ดจะอ่อนกินได้ทั้งเม็ดและเปลือก นำมาล้างน้ำแล้วกินดิบๆ หรือต้มกิน โดยลองหักดู ถ้าเม็ดสีดำแสดงว่าแก่ เม็ดจะแข็ง กินไม่ได้ เนื้อก็มีน้อย กินไม่อิ่ม

พืชตระกูลเฟิร์น 3 ชนิดที่คนกินกัน คือ ผักกูด, ผักแว่น, และ ลำเท็ง(ผักกูดแดง) ทุกชนิดล้วนขึ้นอยู่ริมน้ำ ถ้าเป็นป่าทางใต้ จะมีเฟิร์นอีกชนิดหนึ่งขึ้นอยู่ริมน้ำ คือ ต้นมหาสดำ ยอดอ่อนสามารถกินได้เช่นกัน แต่ยอดอ่อนอยู่ด้านบนสุด และต้นจะสูงเกินกว่ามือเอื้อมถึง ลำต้นเป็นขนแข็งๆลื่นๆ ปีนไม่ไหว


ผักกูด คือ ยอดเฟิร์นที่ขึ้นริมน้ำ ส่วนยอดที่กินได้ จะหงิกๆงอๆ

ผักกูด เป็นผักที่พบบ่อยมาก ในป่าที่มีความชื้นสูง และมีแสงแดดน้อย เวลาอยู่ริมน้ำ มองหาตามตลิ่ง ตรงรอยต่อระหว่างน้ำกับผืนดิน เป็นจุดที่น้ำท่วมถึง จะเจอต้นเฟิร์น ดูเหมือนเฟิร์นทั่วไป ต้นเตี้ยๆสูงประมาณหัวเข่า บางต้นอาจชี้ขึ้นมาสูงกว่านั้น แต่ไม่เกินระดับเอว เมื่อเข้าไปใกล้ มองหาดีๆ จะเจอยอดอ่อนแซมอยู่ บางยอดม้วนเป็นก้นหอย ส่วนที่เก็บมากินได้คือ ต้นอ่อน สังเกตุว่าใบสีเขียวอ่อน ทุกใบยังหงิกๆงอๆอยู่ และเด็ดง่าย แต่ถ้าเป็นต้นแก่แล้ว ใบจะตรง เป็นสีเขียวแก่ ไม่นำมากิน หากเด็ดต้นอ่อนมาลองดมดู จะมีกลิ่นเขียวของผัก เป็นกลิ่นอ่อนๆ ถ้าลองเคี้ยวดูจะกรอบๆ รสชาดเหมือนผักกูดที่ขายในตลาด ถือว่าใช้ได้ ส่วนเฟิร์นที่อยู่ไกลน้ำ จะไม่ใช่ผักกูด สังเกตุว่าหน้าตาจะแตกต่างออกไป

ปกติในป่าที่มีสัตว์ จะหาผักกูดยาก เพราะโดนสัตว์แย่งกินหมด บางครั้งอาจต้องพักในจุดที่ไม่มีผัก ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องพกผักติดตัวไปส่วนหนึ่ง ผักที่พกง่ายที่สุดคือ สาหร่ายทะเลแห้ง

ธรรมชาติของคน เวลากินผัก จะกินเฉพาะส่วนที่อ่อนๆ อย่างเช่น ใบอ่อน ยอดอ่อน ฝักอ่อน จะไม่กินส่วนที่แก่ อย่างใบแก่ เพราะย่อยยาก ส่วนที่แก่จะกินเมื่อไม่มีทางเลือก แม้แต่สัตว์อย่างกวางหรือช้าง ก็ยังเลือกกินแต่ยอดอ่อน

ผักแต่ละชนิด มีพิษปนอยู่ไม่เท่ากัน บางชนิดมีพิษน้อยมาก กินได้ในปริมาณมากหน่อย และกินต่อเนื่องได้ทุกวัน อย่างเช่น ย่านาง ซึ่งรู้ได้จากการอ่านงานวิจัยที่คนทดลองกับสัตว์ แต่ผักบางชนิดมีพิษปนอยู่มากกว่า หากกินมากเกินไปอาจจะป่วยได้ ดังนั้นถึงแม้จะรู้แน่ชัดแล้วว่าเป็นผักที่คนกินได้ แต่ไม่รู้ว่ากินได้ในปริมาณเท่าไหร่ การกินผักให้ปลอดภัยคือ กินแต่พอดี เพื่อไม่ให้ร่างกายได้รับพิษมากเกินไป อาศัยกินให้หลากหลายเพื่อให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน ผักชนิดไหนที่คนไม่กิน เพราะมีพิษมาก มีตัวอย่างของเด็ก ที่เก็บเมล็ดสบู่ดำหรือผักที่หน้าตาคล้ายผักตามบ้านมากิน แล้วป่วยเข้าโรงพยาบาลกันหมด หรืออย่างมะเขือเทศ เคยมีเด็กกินตอนเขียวๆแล้วโดนพิษทำให้คลื่นใส้จนสลบ เถาวัลย์บางชนิดก็เป็นยา จริงๆแล้วยาหลายตัวในโลกก็สกัดมาจากพืช ถ้ากินพืชในปริมาณเล็กน้อย จะไม่มีปัญหา ร่างกายจะขับพิษส่วนเกินออกได้ แต่ถ้ากินในปริมาณมากหรือกินซ้ำๆ เราก็จะป่วย

จะเห็นว่าหลักการกินพืชคือ ถ้าไม่รู้จักแน่ชัด ไม่ควรกินเลย โดยเฉพาะเห็ดในป่า ห้ามกินเลย เห็ดที่กินได้ ส่วนใหญ่จะขึ้นตามทุ่งหญ้า เห็ดพิษส่วนใหญ่จะขึ้นในป่า กินเข้าไปแค่ชิ้นเดียวก็ตายได้ มีกะเหรี่ยงหรือชาวบ้านหาของป่า ตายเพราะกินเห็ดพิษที่เก็บมาจากในป่า อยู่เป็นประจำ เห็ดพิษอาจมีหน้าตาคล้ายกับเห็ดที่คนกินจนแยกไม่ออก บางทีเห็ดพิษก็ขึ้นปะปนอยู่กับเห็ดไม่มีพิษ เห็ดพิษที่ตายกันบ่อยมากคือ เห็ดระโงกหินพิษหรือเห็ดระงาก ที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดระโงกขาวกินได้ แต่เห็ดพิษจะมีกลิ่นเอียนและค่อนข้างแรง หรืออย่างเห็ดที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดโคน เห็ดโคนพิษจะมีก้านตัน ส่วนเห็ดโคนที่ไม่มีพิษจะมีก้านกลวง เคยมีชาวบ้านหลายคนเก็บเห็ดที่มีหน้าตาคล้ายเห็ดโคนและเห็ดนางฟ้า กินเข้าไป 3 ชม.จึงเริ่มออกอาการ เวียนหัวอาเจียน มือเท้าชา ถ่ายเหลว คนที่กินเยอะกว่า จะออกอาการมากกว่า ต้องรีบหามส่งโรงพยาบาลล้างท้อง บางรายโชคดีที่เห็ดยังไม่มีพิษมากนัก จึงรอดมาได้ เห็ดพิษไม่จำเป็นว่าจะต้องมีสีสันสวยงามเสมอไป อย่างเช่น เห็ดระโงกหินชนิดที่รูปกะทะคว่ำสีขาว การต้มไม่สามารถกำจัดพิษจากเห็ดได้ บางคนบอกใช้ช้อนเงินทดสอบเห็ด หรือดูจากรอยสัตว์แทะนั้นเป็นวิธีที่ไม่แน่นอน แต่มีวิธีสังเกตุอย่างหนึ่งคือ ถ้าชิมดูแล้วมีรสขม หรือมีกลิ่นแปลกๆ (แต่เวลาดมต้องระวังสปอร์เห็ดจะเข้าจมูก ไปตกค้างในปอด ทำให้มีอันตรายได้) หรือถ้าขึ้นบนมูลสัตว์หรือใกล้ๆกัน ควรสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมีพิษ

ชาวป่าจะรู้วิธีกำจัดสารพิษออกจากพืช โดยอาศัยการสังเกตุ แล้วสอนกันมารุ่นต่อรุ่น หรืออาจจะทดลองให้สัตว์เลี้ยงกิน การนำมาผ่านความร้อน จะทำให้สารพิษสลายตัวไปได้มาก หรือ นำมาหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วจึงนำไปแช่น้ำค้างคืน สารพิษจะละลายน้ำไปจนเหลือน้อย พืชบางชนิดนำไปหมัก สารพิษจะสลายตัวไป  พืชที่กินสดๆได้คือ ผลไม้ แต่ไม่กินเปลือกหรือเมล็ด เพราะนอกจากจะย่อยยากแล้ว ยังมีพิษมาก อย่างเช่นเปลือกมะนาว มีออกซาเลตสูง เมล็ดพืชบางชนิดก็มีไซยาไนด์สูง ร่างกายย่อยเมล็ดพืชไม่ได้ อย่างเช่นเม็ดกระท้อนที่เป็นข่าว เมื่อไหลลงไปในลำใส้จะแทงทะลุลำใส้ทำให้ปวดท้อง เป็นแผลติดเชื้อถึงตายได้ รากและหัวที่ขุดมาจากใต้ดินก็สะสมพิษไว้มาก คนจึงนำส่วนของรากมาใช้เป็นยารักษาโรค หรือ ยาฆ่าแมลง

พืชที่เป็นหัวในดิน อย่างเช่น หน่อไม้ มักจะมีไซยาไนด์ปนอยู่ตามธรรมชาติ คนจะรู้วิธีกำจัดพิษคือ นำมาดอง ต้ม หรือเผา จะลดพิษลงไปได้มากพอสมควร หน่อไม้มีหลายชนิด แต่ละชนิด จะมีไซยาไนด์ในปริมาณไม่เท่ากัน หน่อไม้ที่กินดิบได้ คือพวกหน่อไม้หวาน ชิมดูไม่มีรสขม ต้มแล้วเนื้อมีสีขาว น้ำต้มยังใสไม่เหลือง ชิมน้ำต้มไม่มีรสขม แสดงว่าไม่มีไซยาไนด์ (ยกเว้นต้มทั้งเปลือก น้ำต้มอาจเป็นสีม่วงของเปลือก ซึ่งเหมาะสำหรับกินกับน้ำพริก เพราะการต้มทั้งเปลือกจะได้กลิ่นหอมหวานเหมือนข้าวโพด แล้วจึงยกออกจากไฟ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 20 นาที) ส่วนหน่อไม้ที่มีไซยาไนด์ ลองชิมดิบๆ จะมีรสขม ถ้ายิ่งขมมาก จะยิ่งมีไซยาไนด์ปนอยู่มาก ต้มแล้วเนื้อจะมีสีเหลือง น้ำต้มมีสีเหลือง ชิมน้ำต้มมีรสขม นั่นคือไซยาไนด์ที่ละลายออกมา ต้องเทน้ำทิ้ง แล้วต้มจนน้ำหมดรสขม จึงจะกินเนื้อได้ เวลาต้มให้หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ จะช่วยให้จืดเร็วขึ้น ถ้ามีพิษน้อย อาจจะต้มแค่ 10 นาที แต่ถ้ามีพิษมาก อาจต้องต้มนานถึง 2 ชั่วโมง แต่ถ้าต้มทั้งหัวอาจต้องต้มนานอย่างน้อย 4-5 ชั่วโมง การเผาก็เช่นกัน ต้องเผาจนกว่าจะหมดรสขม เมื่อผ่านความร้อนแล้ว จะมีพิษเหลือตกค้างอยู่น้อย ถ้ากินไม่มากเกินไป กินแบบคนทั่วไปกิน คือประมาณ 1 จานหรือ 1 กำมือ จัดว่าปลอดภัย ร่างกายสามารถใช้โปรตีนและแร่ธาตุขับไซยาไนด์ออกได้ทางปัสสาวะ มีตัวอย่างของคนแอฟริกา ที่กินมันสำปะหลังแล้วกินโปรตีนไม่พอ ทำให้ป่วยกันมาก แต่ถ้าได้รับไซยาไนด์มากเกินไปจนขับออกไม่ทัน จะมีอาการทางระบบประสาท เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง หน้ามืดตาลาย หูหนวก แน่นหน้าอก ปวดหัว เวียนหัว ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง อัมพาติฉับพลัน ฯลฯ ในเมืองไทยเคยมีเด็กหลายคน (ข่าวปีพ.ศ.2550,2555) ที่ตายเพราะกินมันสำปะหลังดิบ โดยก่อนตายมีอาการ คลื่นใส้อาเจียน ชักดิ้น น้ำลายฟูมปาก แม้แต่สัตว์ตัวใหญ่ๆอย่าง วัวควาย ก็เคยตายเพราะกินมันสำปะหลังดิบมาแล้ว

เนื้อสัตว์ ถึงแม้จะปลอดภัยกว่าพืช เพราะไม่มีพิษปนเปื้อนเหมือนพืช แต่เนื้อสัตว์ก็ไม่ควรกินดิบๆ โดยเฉพาะสัตว์น้ำ เพราะ อาจมีเชื้อโรคหรือพยาธิอยู่ เคยมีหลายคนจับปูน้ำจืดมากินดิบๆ แล้ว 2-6 เดือนต่อมา เกิดอาการปวดตามลำตัว หายใจลำบาก ตรวจพบพยาธิหลายชนิดตามอวัยวะต่างๆตั้งแต่ปอดลงไปจนถึงท้องน้อย บางคนกินหมูดิบแล้วตาย แม้แต่ไข่หรือนมดิบๆ ก็มีแบคทีเรียที่ทำให้คนกินแล้วป่วย สัตว์เล็กๆ ตั้งแต่นก กบ อึ่งอ่าง ไปจนถึงแมลง บางชนิดมีพิษที่ได้มาจากอาหารตามธรรมชาติ เช่น กบกินแมลงมีพิษ แล้วพิษสะสมอยู่ตามผิวหนัง สัตว์บางชนิดมีพิษสร้างขึ้นเอง เช่น คางคกจะมีต่อมพิษอยู่เหนือตาทั้งสองข้าง ถ้าทำให้มันตกใจ เช่น จับมันมาวางไว้บนฝ่ามือ บางตัวจะปล่อยพิษ ซึมออกมาเป็นยางสีขาวๆ (บางตัวก็ไม่ปล่อย) ถึงแม้ว่าพิษของคางคก โดนมือแล้วไม่มีอาการร้ายแรง ถ้าปล่อยให้ซึมเข้าไปในผิวหนัง อาจแค่ชาๆ มีเลือดคั่ง แต่ถ้ากินเข้าไปจะมีอันตรายมาก เคยมีคนตายเพราะกินคางคก โดยไม่ได้เอาส่วนที่มีพิษออก แม้แต่ไข่คางคก ก็เคยมีคนกินแล้วตาย แม้แต่ปลาถ้ากินไข่คางคกหรือลูกอ๊อดก็ยังตาย ถ้าคนนำปลาตัวนั้นมากินก็จะได้รับพิษไปด้วย ถึงแม้ว่าจะนำไปทำให้สุก ก็ไม่สามารถทำลายพิษด้วยความร้อน (ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่ควรกินสัตว์ที่ตายโดยไม่รู้สาเหตุ เพราะมันอาจตาย เพราะได้รับพิษจากอาหารหรือสารเคมี) หรือแม้แต่สัตว์น้ำบางฤดูก็อาจมีพิษ อย่างเช่น ปลาที่อยู่ในลำห้วย อาจกินลูกไม้ที่มีพิษเข้าไปสะสมไว้ ถ้าคนกินเนื้อปลาจะเมา อ้วก หรือป่วย ดังนั้น การกินสัตว์ที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ ควรได้รับคำแนะนำจากคนในพื้นที่

ธรรมชาติของคนจะกินแต่เนืัอสัตว์ ไม่กินเครื่องใน เพราะ เครื่องในมีพิษมาก เช่น มีทองแดงสูง เมื่อเทียบกับเนื้อล้วนๆซึ่งมีทองแดงน้อยมาก ทองแดงที่มากเกินไปจะทำให้ฮอร์โมนผิดปกติ หรืออย่างกรดยูริกที่พบตามเครื่องในทั่วไป ที่ทำให้คนป่วยเป็นโรคข้อเสื่อม หรืออย่างตับ ที่ถึงแม้จะเป็นแหล่งสะสมวิตามินและแร่ธาตุ แต่ก็มีสารพิษสะสมไว้มากเช่นกัน เพราะตับทำหน้าที่กรองสารพิษออกจากร่างกาย ถึงแม้จะเป็นอาหารตามธรรมชาติ ก็มีสารพิษซ่อนอยู่ เมื่อเวลาผ่านไป สารพิษเช่น dioxin และโลหะหนักอย่าง สารหนู ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม จะเข้าไปสะสมในตับ

โปรตีน ควรจะพกไปให้เพียงพอ เพราะการเดินป่าทั้งวัน ต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายต้องการโปรตีนมากขึ้น เพื่อไปซ่อมแซมอวัยวะส่วนที่สึกหรอ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องใช้แรงมากๆ และเวลาขึ้นภูเขาสูงที่มีออกซิเจนน้อย ร่างกายจะต้องใช้โปรตีนเพื่อสร้างเม็ดเลือดเพิ่มขึ้น เวลาที่เริ่มรู้สึกว่าไม่สบาย กินโปรตีนแล้วนอนมากๆ ตื่นมาจะแข็งแรงเหมือนเดิม เพราะโปรตีนช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ ถึงแม้ว่าเวลากินโปรตีนไม่พอ ร่างกายจะดึงโปรตีนจากอวัยวะส่วนต่างๆมาใช้ แต่เวลานั้นระบบต่างๆในร่างกายจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้อ่อนเพลีย ภูมิคุ้มกันต่ำ ร่างกายดูดซึมแมกนีเซียมได้น้อยลง ร่างกายขับสารพิษได้น้อยลง และเนื่องจาก ร่างกายไม่สามารถสะสมโปรตีนไว้ใช้ในยามขาดแคลนได้จำนวนมาก เหมือนคาร์โบไฮเดรตและไขมัน แถมโปรตีนยังเป็นส่วนประกอบของพลังงานถึง 15-20% จึงควรพยายามกินโปรตีนสม่ำเสมอตลอดทั้งวัน เวลาที่ต้องใช้แรงมากๆ จะไม่เหนื่อยง่าย แหล่งโปรตีนที่ดี เช่น อาหารทะเลแห้ง (หาซื้อที่ตลาดแม่กลองจะราคาถูกและมีให้เลือกมาก ส่วนจังหวัดอื่นอย่าง ฉะเชิงเทรา จะมีให้เลือกน้อยและแพง เพราะรับมาจากที่อื่น), เวย์โปรตีนแบบ concentrate, ไข่ แหล่งโปรตีนที่ดีที่สุดมาจากเนื้อสัตว์ แต่ไม่ควรพึ่งโปรตีนจากแหล่งเดียว จะทำให้ได้รับสารอาหารไม่ครบ เช่น นมมีแคลเซียมสูงแต่ธาตุเหล็กต่ำ ทำให้คนป่วยเป็นโรคแคลเซียมเกินหรือโลหิตจาง และไม่ควรพึ่งโปรตีนจากพืชเป็นหลัก เพราะพืชมีกรดอะมิโนไม่ครบตามที่ร่างกายต้องการ และพืชมีพิษปนอยู่ เช่น จมูกข้าวสาลีอบแห้งมีกรดออกซาลิกสูง

กล่องใส่ไข่

ไข่ เป็นโปรตีนที่พกเข้าป่าดีมาก เพราะเก็บได้นาน และ กินกับข้าวได้ทุกวัน โดยเฉพาะไข่เค็มจะช่วยให้ไม่ต้องเติมน้ำปลา ยิ่งใส่มะนาวไปจะยิ่งอร่อย แต่ปัญหาของไข่คือจะแตกง่าย ถ้าไม่มีกล่องพลาสติกใส่ อาจเปลี่ยนมาใช้ฝอยทองกรอบแทนได้ ไข่ที่ต้มสุกแล้วะเก็บได้ไม่นานเท่าไข่ดิบ การพกไข่ดิบต้องใส่ไว้ในกล่องแข็งๆที่ป้องกันไม่ให้ไข่ขยับเขยื้อน ซึ่งปัจจุบันมีกล่องใส่ไข่โดยตรงขาย มีน้ำหนักเบาเพราะทำจากพลาสติก แต่แข็งโดนกดทับแล้วไข่ไม่แตก ส่วนวิธีอื่นๆที่ใช้ได้คือ ใส่ในกล่องทั่วไป โดยห่อไข่ด้วยพลาสติกฟองอากาศกันกระแทก แต่วิธีนี้เหมาะสำหรับเวลาไปกันหลายๆคน ซึ่งสามารถกินไข่ในกล่องให้หมดได้ในมื้อเดียว เพราะ การดึงไข่ออกมาฟองหนึ่ง จะเริ่มมีช่องว่างในกล่องทำให้ไข่ส่วนที่เหลือขยับได้ บางคนใช้วิธีใส่ข้าวสารลงในหม้อสนามจำนวนหนึ่ง ใส่ไข่ตามลงไป แล้วเทข้าวสารกลบไข่จนมิด แต่วิธีนี้จะลำบากเวลาที่ต้องหุงข้าว ต้องรื้อไข่ออกมาแล้วใส่กลับเข้าไปใหม่ ในกรณีที่ไม่มีภาชนะใส่ แต่ใช้กล่องพลาสติกบางๆที่แถมมากับไข่ ควรใส่ลงในกล่องสี่เหลี่ยมอีกชั้น เพื่อกันไข่แตก หรือใส่ไข่แต่ละใบลงในถุงพลาสติกแล้วมัดปากถุง เพื่อเวลาไข่แตกจะได้อยู่แต่ในถุง ไม่เลอะออกมาข้างนอก

ถึงแม้ว่าการขาดโปรตีนจะไม่ดีต่อสุขภาพ แต่การกินโปรตีนมากเกินไปก็มีอันตรายเช่นกัน เพราะทำให้เกิดกรดในร่างกายมากเกินไป (ส่วนย่อยของโปรตีนคือกรดอะมิโน) ร่างกายต้องใช้โซเดียมมาล้างกรดออก ถ้าโซเดียมไม่พอจึงใช้แคลเซียมและแมกนีเซียมมาช่วย ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุมาก อาการที่สังเกตุได้ว่าร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไปคือ อาการขาดแมกนีเซียม เช่น ปวดเมื่อย ตะคริว นิ้วล็อก มือเท้าชา นอนไม่หลับ ซึ่งจะเป็นมากช่วงตื่นนอน

การวัดว่าร่างกายขาดโปรตีนหรือไม่ คือ ตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมงเพื่อดูค่า Urine urea nitrogen เพราะไนโตรเจนเป็นส่วนประกอบหลักของโปรตีน คนปกติควรจะขับออกมาประมาณ 10-15กรัม ถ้าน้อยกว่า 10 เป็นสัญญาณว่ากินร่างกายต้องการโปรตีนจากอาหารมากขึ้น แต่ถ้ามากกว่า 15 แสดงว่าร่างกายอาจกินโปรตีนเกิน คนปกติที่ไม่ได้ออกแรงมากนัก จะกินโปรตีนจากสัตว์ประมาณวันละ 30-40 กรัม แต่ถ้าต้องใช้แรงมากหรือร่างกายขาดโปรตีนอาจต้องการมากกว่านี้ อาจมากถึง 2 เท่า

อาหาร 100 กรัม
โปรตีน (กรัม)
ข้าวขาวดิบ
6
เวย์โปรตีน concentrate
80
กุ้งแห้งตัวเล็ก
46.4
ปลาช่อนทะเลแห้ง
41.8
หมูหยอง
43.1

คนปกติที่ไม่เป็นเบาหวาน ต้องใช้คาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 เช่น ถ้าใช้โปรตีน 45 กรัม จะใช้คาร์โบไฮเดรต 45*4=180 กรัม  แต่คนที่แข็งแรงและแก่ช้า จะกินโปรตีนมากกว่านี้ คือ กินคาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนในอัตราส่วน 4 ต่อ 1 ถึง 3 ต่อ 1 เช่น ถ้ากินคาร์โบไฮเดรตวันละ 180 กรัม ควรกินโปรตีนระหว่าง 180/4= 45 กรัม ถึง 180/3 = 60 กรัม ต่อวัน ยกเว้นคนที่ออกแรงเกินตัว จนกล้ามเนื้อฉีกขาด จะต้องการโปรตีนสูงขึ้นอีก อย่างเช่นพวกยกน้ำหนัก อาจต้องใช้ คาร์โบไฮเดรตต่อโปรตีนสูงถึง 2 ต่อ 1

อาหาร 100 กรัม
คาร์โบไฮเดรต(กรัม)
ข้าวขาวดิบ
80
กล้วยตาก
80

ถ้าต้องเดินป่าแบกของขึ้นหรือลงเขาทั้งวัน ร่างกายอาจต้องใช้คาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว นั่นคือ จะต้องกินโปรตีนเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อยเท่าตัว เช่น จากเดิม 45 กรัม ในวันที่ไม่ได้ออกแรง ก็ต้องเพิ่มเป็นอย่างน้อยวันละ 90 กรัม

อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงคือพวกข้าว ผลไม้ ก่อนออกเดินทางตอนเช้า กินข้าวจะดีที่สุด เพราะข้าวคู่กับของเค็มๆ การกินข้าวมากๆ จะช่วยให้มีแรงเดินได้ทั้งวัน โดยไม่จำเป็นต้องกินข้าวกลางวัน มื้อกลางวันควรเป็นอาหารแห้ง ที่หยิบมาฉีกเดินไปกินไปก็ได้ เช่น ขนมปัง กล้วยตาก จะกินง่ายกว่าการพกข้าวใส่ถุงไป เพราะการกินข้าวนอกจากจะต้องหาที่นั่งแล้วยังเลอะเทอะ ถ้าจะซื้อข้าวไปกินกลางทางควรใส่ถุง อย่าใส่กล่องโฟม เพราะว่ากล่องโฟมเดินไปแล้วมีโอกาสแตกหรือหกเลอะเทอะกลางทาง

ข้าวสารตามธรรมชาติจะแข็งกินไม่ได้ แต่เมื่อเจอกับน้ำและความร้อน ข้าวจะดูดน้ำจนนิ่มฟูกินได้ วิธีหุงข้าวสาร คือ ใช้ข้าว 1 ถ้วย ใส่น้ำ 1.5 ถ้วย ถ้าเป็นข้าวกล้องก็ใช้ข้าว 1 ถ้วย ใส่น้ำ 4 ด้วย ปิดฝาแล้วนำไปวางบนกองไฟ ต้มไปเรื่อยๆ คอยดูอย่าให้น้ำแห้ง เพราะถ้าน้ำแห้ง อุณหภูมิก้นหม้อจะสูงเกิน 100 องศาเซลเซียส ทำให้ข้าวไหม้ได้ (ถ้ายังมีน้ำอยู่ อุณหภูมิก้นหม้อจะอยู่ที่ 100 องศาเซลเซียส จึงไม่มีทางที่ข้าวจะไหม้) ใช้เวลาอย่างน้อย 20 นาที สังเกตุว่าเม็ดข้าวแตก ลองชิมดูข้าวนิ่มเคี้ยวได้ คือกินได้แล้ว อาจจะเทน้ำที่เหลือทิ้ง หรือ ต้มต่อไปจนน้ำแห้งก็ได้ แต่ต้องใช้ไฟอ่อน มิฉะนั้นข้าวก้นหม้อจะไหม้ ลองเทดูแล้วไม่มีน้ำไหลออกมา  จึงยกออกมาตั้งทิ้งปิดฝาไว้อย่างน้อย 5 นาที เพื่ออบข้าวให้นิ่ม

น้ำหนักของอาหารจริงๆอยู่ที่คาร์โบไฮเดรต ส่วนกับข้าวนั้นไม่ค่อยมีปัญหาเพราะ กับข้าวบางอย่างมีน้ำหนักเบา เช่น สาหร่าย 1 ห่อสามารถกินได้เป็นอาทิตย์ แต่ข้าวสาร 1 ถ้วยตวงใหญ่มีปริมาตรประมาณ 0.18 ลิตร จะหนักประมาณ 150 กรัมกว่าๆ จะเท่ากับข้าวสุกพูนจาน หรือมาม่า 3 ห่อ คนที่กินจุ จะกินข้าวพูนจานได้ประมาณ วันละ 2-3 จาน ดังนั้น ข้าว 1 กิโลกรัม จะอยู่ได้ 2-3 วัน ปัญหาของข้าวสารคือ
เวลาเดินป่า ต้องใช้พลังงานมาก ร่างกายจึงต้องการคาร์โบไฮเดรตมาก แต่เวลาอยู่ป่า เรามักจะไม่สามารถกินคาร์โบไฮเดรตได้มากเท่ากับพลังงานที่ใช้ไป วิธีช่วยให้แบกคาร์โบไฮเดรตน้อยลงได้บ้าง คือ ตุนคาร์โบไฮเดรตไว้ในร่างกาย ธรรมชาติของร่างกายคนคือ เวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นน้ำตาลหรือคาร์โบไฮเดรตที่ย่อยยากก็ตาม ส่วนเกินจากที่ร่างกายนำไปใช้ จะสะสมไว้ในตับและกล้ามเนื้อ ในรูปของไกลโคเจน(glycogen) เพื่อเวลาที่เรากินคาร์โบไฮเดรตไม่พอ ร่างกายจะปล่อยไกลโคเจนออกมาใช้ในรูปของน้ำตาลกลูโคสในเลือด ไกลโคเจนจึงมีน้ำหนักเท่ากับน้ำตาลกลูโคส  แต่การตรวจหาไกลโคเจนที่สะสมในร่างกายทำยาก การควบคุมไกลโคเจน จึงใช้วิธีประมาณ โดยไม่ต้องตรวจ โดยลดคาร์โบไฮเดรตลงวันละเล็กน้อย บวกกับจำกัดอาหารพวกไขมัน ช่วงที่ไกลโคเจนลดลงนี้ น้ำหนักตัวจะลดลงอย่างรวดเร็ว รอให้น้ำหนักตัวลดลงเกิน 2-3 กิโลกรัม จึงจะพอมั่นใจได้ว่าไกลโคเจนที่สะสมไว้หมด พอไกลโคเจนหมดแล้ว น้ำหนักตัวจะเริ่มคงที่ เพราะร่างกายจะนำไขมันมาเผาผลาญต่อทำให้น้ำหนักตัวลดลงช้ามาก โดยมีข้อควรระวังในการวัดน้ำหนัก คือ ดื่มน้ำให้เพียงพอ มิฉะนั้นน้ำหนักตัวที่ลดลงไป อาจเป็นน้ำหนักน้ำก็ได้ หลังจากใช้ไกลโคเจนหมดแล้ว จึงเริ่มกินคาร์โบไฮเดรตเพิ่มขึ้น ร่างกายแต่ละคนสะสมไกลโคเจนได้แตกต่างกัน จึงต้องทดลองด้วยตนเอง คนที่มีกล้ามเนื้อมาก ร่างกายจะสะสมไกลโคเจนได้มาก ช่วงที่สะสมไกลโคเจน น้ำหนักตัวจะขึ้นเร็ว เพราะ การสะสมไกลโคเจนจะสะสมน้ำอีก 3 เท่าของน้ำหนักของมัน เช่น ถ้าสะสมไกลโคเจนไว้ 1 กิโลกรัม ร่างกายจะสะสมน้ำอีก 3 กิโลกรัม ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 4 กิโลกรัม เมื่อไกลโคเจนสะสมเต็มแล้ว คาร์โบไฮเดรตส่วนเกินที่กินเข้าไป จะสะสมในรูปของ triglyceride ซึ่งเป็นไขมันชนิดหนึ่ง การเก็บไกลโคเจน จึงไม่ควรเก็บจนเต็มขอบเขตที่ร่างกายสะสมได้ ควรเผื่อไว้สำหรับอาหารมื้อต่อไป เพราะทุกมื้อที่เรากินเข้าไป คาร์โบไฮเดรตส่วนใหญ่จะเข้าไปในเซลเพ่อใช้เป็นพลังงาน ส่วนเกินจะไปสะสมเป็นไกลโคเจนไว้ใช้ในช่วงเวลาต่อไปของวัน

คาร์โบไฮเดรตที่ไม่ต้องหุง คือ ข้่าวผง หรือ ธัญพืช(cereal)ผงที่ขายเป็นซองๆ ใส่น้ำ หรือ เทใส่ปาก กินได้เลย นอกจากจะเบา เล็กกะทัดรัด แล้วยังราคาไม่แพง มีหลายขนาด หลายรสชาด ทั้งหวาน เค็ม จืด หาซื้อได้ตามร้านค้าของโครงการหลวง โอทอป และ ซุปเปอร์มาร์เก็ต ถ้าต้องการสารอาหารเพิ่ม อาจซื้อ ผักผง เห็ดผง ฯลฯ ธัญพืชแบบซองขนาด 30-100 กรัม มีข้อดีตรงทีสามารถกินหมดได้ในมื้อเดียว และสามารถเลือกกินหลายๆแบบได้ แต่มีข้อเสียคือย่อยง่ายและหิวง่าย จึงเหมาะจะใช้เฉพาะเวลาฉุกเฉิน มีคุณประโยชน์มากกว่ากินอาหารเชิงเดี่ยวอย่างน้ำตาล

แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดี นอกเหนือจากข้าวสาร ได้แก่ กล้วยตาก เป็นอาหารแห้งที่ดีมาก เพราะมีน้ำหนักเบา และเป็นแหล่งของแร่ธาตุพวกโพแทสเซียมและแมกนีเซ๊ยม ซึ่งหาได้ยากในข้าวขาว กล้วยตากมีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 80% ของน้ำหนัก พอๆกับข้าวสาร ในขณะที่กล้วยแบบ freeze-dried มีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 90% ซึ่งหมายถึง เมื่อแบกกล้วยตาก 1 กิโลกรัม จะได้คาร์โบไฮเดรต 800 กรัม แต่ถ้าแบกกล้วยแบบ freeze-dried 1 กิโลกรัม จะได้คาร์โบไฮเดรต 900 กรัม ซึ่งต่างกันเพียง 100 กรัม ซึ่งถือว่าไม่มากนัก กล้วยตากจึงเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคา สามารถแกะกินได้เลย ข้อควรระวังในการกินกล้วยคือ ควรจะกินอาหารเค็มๆเพิ่มเพื่อให้ร่างกายได้รับโซเดียมเพียงพอเช่นเดียวกับ การกินข้าวมื้อหนึ่ง

เวลาหิวๆ น้ำตาลทรายไม่สามารถช่วยแก้หิวขณะเดินป่าได้มากนัก เพราะมันมีกลูโคสและฟรุกโตสอย่างละครึ่ง ถึงแม้ว่ากลูโคสเป็นน้ำตาลที่ร่างกายนำไปใช้ได้เลย แต่เมื่อเทียบกับปริมาณน้ำตาลที่กินเข้าไปแล้วถือว่ามีน้อย ส่วนฟรุกโตสต้องใช้เวลาแปลงเป็นกลูโคสที่ตับทีละน้อย อย่างเร็ว 2-3 ชั่วโมงกว่าจะแปลงได้สักครึ่งหนึ่งของที่กินเข้าไป น้ำตาลที่จะช่วยแก้หิวได้เร็วที่สุด คือ น้ำตาลกลูโคส แต่การกินน้ำตาลกลูโคสจะทำให้ระดับอินซูลินในเลือดสูงขึ้น แล้วอินซูลินจะไปลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด ทำให้หมดแรง น้ำตาลกลูโคสในปริมาณน้อยๆ อย่างที่อยู่ในซองเกลือแร่ จะเหมาะสำหรับกินช่วงหยุดเดินแล้ว แต่ถ้ายังต้องเดินต่อ ข้าวขาวจะดีที่สุด โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ เมื่อกินเปล่าๆ จะมีดัชนีน้ำตาล (glycemic index หรือ GI) ค่อนข้างสูงถึงประมาณ 60-80 (เทียบกับกลูโคสคือ 100) จะช่วยให้อิ่มได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่เร็วเท่ากับกลูโคส ข้าวขาวจึงเหมาะที่จะหุงตอนเช้า เพื่อเก็บไว้กินกลางทาง รวมทั้งกินตอนเย็น ทันทีที่หยุดเดิน จะแก้หิวได้เร็วที่สุด และได้ประโยชน์มากที่สุด เช่น ช่วยลดการสูญเสียกล้ามเนื้อจากน้ำตาลในเลือดต่ำ ถ้าต้องการให้ข้าวขาวดูดซึมช้าลง แค่ใส่กับข้าวเข้าไปด้วย ค่า GI จะลดลง 20-40% ถ้าจะให้ดูดซึมช้าลงไปอีก ควรเปลี่ยนมาใช้ข้าวกล้องจะดีต่อสุขภาพมากที่สุด

มะนาว นอกจากจะเพิ่มรสชาดให้อาหารแล้ว ยังช่วยปรับสมดุลกรดด่างในเลือดด้วย วงการแพทย์ทราบกันดีว่า ร่างกายจะแปลงกรดซิตริกเป็นไบคาร์บอเนต ซึ่งเป็นด่างที่ช่วยลดกรดในเลือด ผมเจอผู้ป่วยหลายคนที่ไม่กินเปรี้ยว ไม่กินมะนาวเลย มีอาการวูบ ปวดหัว คลื่นใส้  ตรวจเลือดพบเลือดเป็นกรด ค่า anion gap สูงกว่าค่าอ้างอิง ด้วยเหตุนี้เราจึงควรกินมะนาวทุกวัน แต่ปัญหาของการแบกมะนาว คือ มีน้ำหนักมาก โชคดีที่ปัจจุบันมีมะนาวผงขาย ซึ่งได้แก่น้ำมะนาวที่ระเหยน้ำออก หรือถ้าหาไม่ได้จริงๆ สามารถใช้กรดซิตริกแบบผงแทนได้ (จะเป็นแบบ hydrous หรือ anhydrous ก็ได้ แต่แบบ anhydrous ไม่มีน้ำอยู่เลย หากพกในปริมาณมาก จะเบากว่าแบบ hydrous เล็กน้อย)

การเดินป่ามักจะต้องเสียเหงื่อมาก ทำให้ร่างกายสูญเสียแร่ธาตุต่างๆไปกับเหงื่อ แร่ธาตุหลักที่สูญเสียมากคือ โซเดียม (สังเกตุว่าเหงื่อจะมีรสเค็ม) และ โพแทสเซียม และแร่ธาตุอื่นๆอย่างละเล็กละน้อยจนนับได้ว่าไม่สำคัญ เช่น ไอโอดีน, แคลเซียม, แมกนีเซียม, สังกะสี, ทองแดง, โครเมียม ฯลฯ ร่างกายสามารถสะสมแร่ธาตุ และปล่อยออกมาใช้ เวลาที่ขาดแคลน อย่างเช่น สะสมโซเดียมไว้ที่กระดูกประมาณ 40% เวลาเสียโซเดียมไปกับเหงื่อ ร่างกายก็จะดึงโซเดียมจากกระดูกมาใช้เพื่อปรับระดับโซเดียมในเลือดให้ ปกติตลอดทั้งวัน

แร่ธาตุที่สำคัญที่สุดคือ โซเดียม สำคัญกว่าโปรตีนเสียอีก เพราะ ถ้าระดับโซเดียมในเลือดต่ำ จะทำให้หมดแรงและถึงตายได้ ต่างจากโปรตีน ซึ่งสามารถสลายกล้ามเนื้อมาใช้ได้ คนปกติร่างกายมักจะได้รับโซเดียม ได้ง่ายอยู่แล้วจากการกินเกลือหรือน้ำปลา การกินเค็มๆให้สม่ำเสมอตลอดทั้งวัน จะช่วยป้องกันไม่ให้ร่างกายขาดโซเดียม การกินเค็มๆในช่วงเย็น หลังจากที่เสียเหงื่อมาตลอดทั้งวัน จะช่วยฟื้นฟูร่างกาย ด้วยการเพิ่มปริมาณโซเดียมในร่างกาย และการกินเค็มก่อนนอน จะช่วยไม่ให้ตื่นมาฉี่กลางดึก เพราะโซเดียมจะช่วยเพิ่มระดับฮอร์โมน ADH ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้ร่างกายขับน้ำออก แหล่งความเค็มที่ดีที่สุดคือน้ำปลา เพราะนอกจากจะมีรสชาดดีแล้ว น้ำปลายังทำจากเกลือเม็ด ซึ่งมีแร่ธาตุจากทะเลครบถ้วนเกือบร้อยตัว แถมยังมีแร่ธาตุจากปลาเพิ่มเข้ามาอีก แต่การพกน้ำปลานอกจากจะหนักแล้ว ยังหกเลอะเทอะได้ง่าย ผงน้ำปลาจะพกง่าย แต่หาซื้อยาก แหล่งความเค็มที่พกสะดวกที่สุด และยังคงมีประโยชน์ต่อร่างกายคือ เกลือที่ขายตามนาเกลือ จะเป็นดอกเกลือหรือเกลือเม็ดสีเทาก็ได้ ทั้งคู่มีปริมาณแร่ธาตุจากทะเลไม่แตกต่างกันมากนัก แต่เกลือเม็ดจะหยิบกินง่ายกว่า และมีรสชาดดีกว่าดอกเกลือ เพราะเกลือเม็ดไม่เค็มเกินไป ซื้อมาถุงหนึ่งใส่กระปุกเก็บไว้ได้ไม่มีวันหมดอายุ ถ้าเหลือก็เอาไปโรยโป่งสัตว์ได้อีก ส่วนเกลือที่ไม่ควรใช้เลยคือ เกลือผงที่ผ่านการแปรรูปแล้ว แร่ธาตุต่างๆจากทะเลจะถูกกำจัดออกหมด เหลือเพียงโซเดียมคลอไรด์ ซึ่งแร่ธาตุโดดๆนี้เองที่เป็นผลเสียกับร่างกาย

แร่ธาตุที่สำคัญรองลงมาคือ แมกนีเซียม แต่คนทั่วไปไม่มีรู้จักมัน เพราะตรวจเลือดด้วยวิธีปกติไม่เจอ จนกว่าจะเริ่มแย่แล้วจึงจะแสดงออกทางผลเลือด แมกนีเซียม เป็นตัวควบคุมแร่ธาตุตัวอื่นในร่างกาย และเป็นแหล่งพลังงาน นักเรียนแพทย์จะรู้ว่า ร่างกายสร้างพลังงาน ในรูปของโมเลกุลที่เรียกว่า ATP ซึ่งจับกับแมกนีเซียม ถ้าไม่มีแมกนีเซียมก็จะไม่มีพลังงาน สาเหตุสำคัญที่เราเดินป่าแล้วไม่มีแรง เหนื่อยง่าย ก็เพราะขาดแมกนีเซียม ซึ่งจากที่ผมเคยใช้วิตามินและแร่ธาตุรักษาโรคมา ก็มีแมกนีเซียมนี้เอง ที่ทำให้คนมีแรงมากขึ้นจนเห็นได้ชัด การเดินป่าในที่ร้อนชื้น จะเสียเหงื่อมาก ร่างกายจะสูญเสียแมกนีเซียมมากกว่าปกติ นอกจากนี้ ความเครียดทางร่างกาย จากการเดินป่าอย่างหนัก ก็ทำให้ร่างกายสูญเสียแมกนีเซียมมากขึ้น เคยมีการทดลองในทหารหน่วยซีลและนักวิ่งมาราธอนพบว่า หลังจากการฝึกหนักเพียง 1 เดือน พวกเขาจะเริ่มมีอาการขาดแมกนีเซ๊ยม และถ้าไม่กินแมกนีเซียมเสริม อาการจะยังคงอยู่อีก 3-6 เดือน ถ้าหลังจากเดินป่าแล้ววันรุ่งขึ้นปวดกล้ามเนื้อ เจ็บหัวใจ ก็แสดงว่าร่างกายขาดแมกนีเซียม เพราะแมกนีเซียมเป็นส่วนประกอบของเอนไซม์ที่ขับกรดแลคติก ซึ่งกรดแลคติกนี้เองที่เป็นตัวทำให้ปวดนั่นปวดนี่ แมกนีเซียมจะสะสมในร่างกายตามกล้ามเนื้อและกระดูก คนที่ขาดแมกนีเซียม จะมีอาการที่เกี่ยวกับกล้ามเนื้อ และระบบประสาทไวเกินไป เช่น ปวดหลัง เป็นตะคริว มือสั่น ใจหวิว กระตุก เครียดง่าย หดหู่ วิตกกังวล ปวดไมเกรน หลับได้ไม่กี่ชั่วโมงก็ตื่น พอตื่นแล้วหลับต่อไม่ได้ เจอแสงจ้าแล้วปวดหัว พอเหนื่อยๆแล้วเจ็บหน้าอก ท้องผูก อาการเหล่านี้เป็นเมื่อเกิดร่วมกันอย่างน้อย 2-3 อาการ ก็ชัดเจนว่าขาดแมกนีเซียม บางคนอาจมีแค่อาการเดียวอย่างเช่น ปวดหลัง บางคนไม่มีอาการเลยก็มี คนอ้วนก็น่าสงสัยว่าขาดแมกนีเซียม ทำให้แคลเซียมไปล้อมเซล ทำให้น้ำตาลเข้าไปในเซลไม่ได้ ทำให้การเผาผลาญอาหารต่ำ จึงอ้วนง่าย พอขาดแมกนีเซียมไปนานๆ ก็จะเป็นความดัน ไขมันสูง โคเลสเตอรอลสูง และ โรคหัวใจ เป็นตรงไหนก็แสดงว่าแคลเซียมเข้าไปสะสมตรงนั้น แต่เป็นการสะสมในระดับเซล จึงตรวจด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ไม่พบ คนที่ขาดแมกนีเซียมได้ง่าย คือ พวกที่เครียด หรือดื่มเหล้าบ่อยๆ ร่างกายจะขับแมกนีเซียมออกมาทางปัสสาวะ คนที่อายุมากขึ้น ปริมาณแมกนีเซียมที่สะสมในร่างกายจะลดลงเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า คนแก่ออกอาการทุกคนก็ได้ ถึงแม้ว่าตรวจเลือดแล้วพบว่าระดับแมกนีเซียมในเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติก็ ตาม แต่ระดับแมกนีเซียมที่สะสมในอวัยวะต่างๆเหลือน้อย การดื่มนมมากเกินไปและนานเกินไป ก็ทำให้เป็นโรคขาดแมกนีเซียมได้เช่นกัน เพราะนมมีแคลเซียมสูง แคลเซียมจะไปขับแมกนีเซียมออก ผู้หญิงวัยประจำเดือนจะขาดแมกนีเซียมมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการสร้างฮอร์โมนในแต่ละรอบเดือน วิธีตรวจหาว่าขาดแมกนีเซียม คือ ตรวจระดับแมกนีเซียมในเลือด ถ้าตรวจดู serum magnesium ต่ำกว่า 1.8 mg/dl ก็ชัด แต่จากที่ผมเจอมา ถ้าต่ำกว่า 2.0 ก็เริ่มจะชัด สามารถยืนยันได้ด้วยการตรวจแมกนีเซียมไออน(ionized magnesium) ซึ่งสัมพันธ์กับระดับแมกนีเซียมที่สะสมในร่างกาย ปัจจุบันเมืองไทยมีตรวจอยู่ตามโรงพยาบาลใหญ่ๆไม่กี่แห่ง เช่น รพ.รามา รพ.กรุงเทพ วิธีแก้โรคขาดแมกนีเซียมง่ายๆคือ กินผักผลไม้ทุกวัน โดยอย่ากินผสมกับนมหรือเนื้อสัตว์ เพราะแมกนีเซียมจะไปจับกับฟอสฟอรัส ทำให้ดูดซึมไม่ได้ ผลไม้ที่ปลอดภัยกินได้ทุกวันคือ กล้วย วิธีพกผลไม้เข้าป่าคือ ใช้ผลไม้แห้ง พวก freeze-dried ซึ่งดูดน้ำออกหมดแล้ว ทำให้มีน้ำหนักเบา  และยังคงสารอาหารไว้ครบถ้วน หรือ พวกตากแห้ง  เช่น กล้วยตาก หรือ ผลไม้กวน เช่น สัปปะรดกวน ส่วนอีกวิธีหนึ่งคือกินแมกนีเซียมเสริม ซึ่งต้องกินตอนท้องว่างเช่นกัน ผมเคยแนะนำให้ผู้ป่วยรายหนึ่งกินกล้วย ปรากฎว่าเขากินกล้วยน้ำว้าถึงวันละหวี เรียกว่ากินแทนข้าวเลย กินผ่านไปอาทิตย์หนึ่ง อาการปวดเมื่อยเริ่มทุเลาลง เริ่มนอนหลับสบายขึ้น

คนที่ไปเดินป่านานๆครั้ง ผลไม้แบบ freeze-dried จะเหมาะสมสำหรับซื้อกักตุนไว้ เพราะ เก็บได้นาน และถ้าใกล้หมดอายุก็สามารถนำมากินได้ แต่ข้อเสียของผลไม้ freeze-dried คือราคาแพง

เราอาจจะได้ยินโฆษณาบ่อยๆว่า แคลเซียมเป็นแร่ธาตุที่ทำให้กระดูกแข็ง เวลาหกล้มกระแทก จะไม่มีปัญหาเรื่องกระดูกหักง่ายเกินไป แต่การกินแคลเซียมระหว่างเดินป่า มีอันตราย เพราะ เวลาที่ร่างกายใช้พลังงานมาก จะต้องการแมกนีเซียมสูง แต่แคลเซียมเป็นศัตรูกับแมกนีเซียม เคยมีนักกีฬาที่กินแคลเซียมก่อนฝึกซ้อม ปรากฎว่า บางคนเป็นตะคริว คนไหนที่ซ้อมหนักๆถึงกับชัก ซึ่งอธิบายได้ว่า แคลเซียมไม่ได้อยู่ในกระดูกอย่างเดียว แต่สามารถเข้าไปอยู่ในกล้ามเนื้อได้ด้วย เมื่อกินแคลเซียมมากเกินไปแมกนีเซียมก็จะต่ำ แล้วแคลเซียมก็จะไหลเข้าไปอยู่ตามอวัยวะต่างๆ แคลเซียมอยู่ในอวัยวะใดมากเกินไป จะทำให้อวัยวะนั้นหดตัวแล้วไม่ยอมคลายตัว เพราะแคลเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อหดตัว ในขณะที่แมกนีเซียมช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว นี่คือเหตุผลที่ทำให้คนเป็นตะคริวหรือชัก ที่จริงแล้วร่างกายเรา ดึงแคลเซียมจากกระดูกมาใช้ได้เวลาที่ขาดแคลน และร่างกายมีระบบป้องกันการสูญเสียแคลเซียมทางปัสสาวะอยู่แล้ว แต่คนที่ขาดวิตามินดี ร่างกายจะดูดซึมแคลเซียมจากอาหารได้ไม่ดี และจะสูญเสียแคลเซียมออกทางปัสสาวะมากกว่าปกติ  ด้วยเหตุนี้ วิธีที่ถูกต้องในการเสริมแคลเซียมคือ ได้รับวิตามินดีให้เพียงพอจากการตากแดดตอนเที่ยงๆ (แสงแดดตอนเช้าและเย็น ไม่มีวิตามินดี) ถ้าต้องการเสริมแคลเซียม จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการตรวจปัสสวะเพื่อดูแคลเซียมส่วนเกิน แล้วทำล่วงหน้าวันละเล็กน้อย อาจจะกินนมไม่เกินวันละกล่อง หรือปลาตัวเล็กๆกินพร้อมกระดูก พวกปลาป่นหรือปลากรอบ อาหารเหล่านี้มีแคลเซียมเพียงพอแล้ว ที่จะสะสมในร่างกายจนเต็ม ไม่จำเป็นต้องการแคลเซียมแบบเม็ดเสริม โดยมีข้อควรระวังคือ กินอาหารที่มีแมกนีเซียมสูงควบคู่ไปกับแคลเซียม เพราะแมกนีเซียมเป็นตัวป้องกัน ไม่ให้แคลเซียมเข้าไปในเซล คนที่ขาดแมกนีเซียมแล้วกินแคลเซียมอย่างเดียว จะมีอันตรายมากขึ้น เพราะแคลเซียมที่มากเกินไป จะเข้าไปทำลายเซล ทำให้เกิดอาการป่วยแบบเดียวกับขาดแมกนีเซียม แต่จะชัดเจนกว่า และมีอาการอื่นมากกว่า เช่น เป็นตะคริว ท้องผูก ตื่นมาฉี่กลางดึก กลางวันก็ฉี่บ่อย หิวน้ำบ่อย ปากแห้ง ปากแตก เวลาเดินป่าจะเหนื่อยง่าย ถ้าเริ่มเป็นหนักก็จะปวดคอ ปวดหลัง ปวดท้อง กินอะไรก็อาเจียน พอหยุดกินแคลเซียมแล้วกินแมกนีเซียมเพิ่มขึ้น อาการเหล่านี้ก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว ภายในเวลาแค่ไม่กี่วัน

คนที่เหนื่อยง่ายโดยไม่มีอาการขาดแมกนีเซียม อาจจะเกิดจากฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ แร่ธาตุ 2 ตัวคือ ไอโอดีน และ ซิลิเนียม เป็นส่วนประกอบของฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์  คนที่ขาดแร่ธาตุเหล่านี้ไปนานๆ จะทำให้ฮอร์โมนที่ผลิตจากต่อมไทรอยด์ต่ำ (ถ้าขาดไอโอดีนจะมี Free T4 ต่ำ แต่ถ้าขาดซิลิเนียม จะมี Free T3 ต่ำ) ทำให้อัตราการเผาผลาญอาหารต่ำ ทำให้เหนื่อยง่าย หิวบ่อย หนาวง่าย ร้อนง่าย เวลาร้อนแล้วเหงื่อออกมาก คนที่เป็นไทรอยด์ทั้งสูงและต่ำจะขาดไอโอดีนทุกคน แต่ไทรอยด์บางประเภทขาดซิลิเนียมร่วมด้วย ถึงแม้ว่าร่างกายจะสะสมไอโอดีนได้ และ ฮอร์โมนที่ผลิตต่อมไทรอยด์สามารถสะสมไว้ใช้ได้นานเกือบ 1 สัปดาห์ แต่เราก็ควรจะมั่นใจได้ได้รับไอโอดีนจากอาหารอย่างเดียวพอตลอดเวลา เพราะ เวลาเสียเหงื่อ ร่างกายจะเสียไอโอดีนมากกว่าเวลาอยู่เฉยๆ ไอโอดีนจะมีอยู่ในอาหารทะเล และ อาหารที่มาจากผืนดินใกล้ทะเล เพราะ ไอน้ำที่ระเหยขึ้นมาจากทะเลจะมีแร่ธาตุปะปนมาด้วย แล้วไอน้ำเหล่านั้นก็จะถูกลมทะเลและฝนพามาตกลงบนผืนดิน สังเกตุง่ายๆว่าเวลายืนอยู่ริมทะเล จะตัวเหนียว คนที่อยู่ไกลทะเล จึงมักจะเป็นโรคตามอวัยวะที่สะสมไอโอดีน เช่น คอพอก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ (โรคขาดไอโอดีนอาจเกิดจากสาเหตุอื่นด้วย เช่น ติดเชื้อเรื้อรัง หรือ มีโลหะหนักสะสม) ปริมาณไอโอดีนที่แนะนำต่อวันคือ อย่างน้อยวันละ 150-200 ไมโครกรัม เทียบได้กับ สาหร่ายแผ่นโนริ 4 กรัม นั้นเพียงพอแค่ต่อมไทรอยด์ แต่ไม่พอสำหรับอวัยวะอื่นในร่างกาย และอาจไม่เพียงพอสำหรับต่อมไทรอยด์ ถ้ากินพืชที่มีสารยังยั้งการดูดซึมไอโอดีน เช่น ถั่วเหลือง ฯลฯ อาหารที่มีไอโอดีนและซิลิเนียมสูง คือ พวกอาหารทะเล สาหร่ายทะเล พกเข้าป่าดีมาก เพราะว่ามีน้ำหนักเบา แถมยังมีแมกนีเซียมสูง ส่วนเกลือทะเลไม่ใช่แหล่งไอโอดีน เพราะเกลือทะเลตามธรรมชาติ มีไอโอดีนน้อยมาก จนเรียกได้ว่าไม่มี รัฐบาลจึงต้องบังคับให้เติมไอโอดีนลงในเกลือทะเล กลายเป็นเกลือเสริมไอโอดีน แต่คนที่ออกกฎเรื่องนี้จริงๆคือแพทย์ในกระทรวงสาธารณสุขไทย ซึ่งไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องไอโอดีน จึงไม่รู้ว่าการใส่ไอโอดีนลงในเกลือ ไม่ได้ช่วย เพราะ ไอโอดีนที่เติมลงไป ถ้าเปิดฝาไว้ จะระเหยไปหมด ถึงแม้จะไม่ระเหย แต่ก็ยังไม่ได้ช่วย เพราะร่างกายดูดซึมไอโอดีนจากในเกลือไปใช้ได้เพียง 10% เท่านั้น ในเกลือเม็ด ซึ่งได้มาจากนาเกลือ จะมีไอโอดีนรวมทั้งแร่ธาตุอื่นๆปนอยู่ด้วย เช่น แมกนีเซียม แต่พอกลายเป็นเกลือป่นแล้ว แร่ธาตุพวกนี้จะหายไป ด้วยเหตุนี้ ถ้าจะกินเกลือ เกลือเม็ดที่เรียกว่าดอกเกลือจะปลอดภัยกว่า แต่แหล่งไอโอดีนที่ดีในเวลาปกติ คือพวกอาหารทะเล และน้ำปลา

วิธีเตรียมอาหารเข้าป่าที่สะดวกสุดคือ แบ่งใส่ถุงเล็กๆ ถุงหนึ่งพอกินมื้อหนึ่ง ยกเว้นข้าวสาร ไม่ต้องแบ่ง แต่ควรพกถ้วยตวงไปด้วย เพราะจำเป็นต้องใช้ถ้วยตวง เพื่อตวงน้ำที่ใช้หุงข้าว (ถ้วยตวงนี้อาจจะครอบไว้บนกระติกน้ำ เพื่อระหว่างทางจะใช้ตักน้ำใส่กระติก) โดยเฉพาะอาหารประเภทผง ถ้าพกไปทั้งถุง เวลากินจะตักแบ่งลำบาก ควรแบ่งใส่ถุงพลาสติกถุงเล็กๆ ถุงหนึ่งแค่พอกินครั้งหนึ่ง ใช้ถุงพลาสติกใสเพียงพอแล้ว ไม่จำเป็นต้องใช้ถุงอลูมิเนียมฟอยล์เพราะหนัก อลูมิเนียมฟอยล์เหมาะสำหรับใส่พวกวิตามินที่โดนแสงไม่ได้ เมื่อแยกใส่ถุงเล็กแล้ว อาจมักปากถุงด้วยหนังยางรัดของ หรือ ถ้ามีเครื่องรีดปากถุงพลาสติกด้วยความร้อนจะสะดวกขึ้น แต่รีดเสร็จแล้ว จะมีอากาศเหลือในถุง จะทำให้ถุงแตกเวลากดทับ แก้ไขโดยใช้เข็มเจาะต่ำกว่ารอยปิดปากถุงเล็กน้อย แล้วใช้มือรีดอากาศออกจากถุงอีกรอบ แล้วจึงใช้เครื่องรีดปิดปากถุงอีกรอบ ในแนวต่ำกว่ารูที่เจาะ พวกขนมขบเคี้ยวก็มักจะอัดไนโตรเจนมาจนโป่งก็เช่นกัน ถ้าพกไปแบบโป่งๆจะเปลืองเนื้อที่ในเป้มาก แก้ไขโดยใช้เข็มเจาะตรงปลายด้านหนึ่ง รีดอากาศออกจนแฟบ แล้วใช้เครื่องรีดปากถุงพลาสติก ปิดปากถุงไม่ให้อากาศเข้าออกอีก

อาหารที่ไม่ควรพกเข้าป่าเป็นเวลานานๆคือ อาหารที่ขึ้นราได้ เช่น ฝอยทอง ส่วนอาหารที่ไม่ขึ้นรา คือ อาหารที่ปิดผนึกสำเร็จรูปมาจากโรงงาน มีบอกวันหมดอายุชัดเจน

ถึงแม้ว่าจะไปกับกลุ่มก็ควรพกอาหารส่วนตัวติดไปด้วย เพราะเราอาจหลงป่า, หิวกลางทาง, ต้องรอกลุ่มทำกับข้าวเสร็จ หรือ กับข้าวไม่ถูกปาก เพราะในป่าจะหากับข้าวเหมือนในเมืองไม่ได้ ถ้าส่วนรวมพกอะไรมา หรือใครทำกับข้าวอะไร ก็ต้องทนกิน บางคนกินอาหารโดยไม่ห่วงสุขภาพมากนัก แค่มีข้าวสารกับกุนเชียง เขาก็อยู่ได้แล้ว โดยที่เขาไม่รู้ว่า เขาจะเป็นโรคที่เกิดจากขาดสารอาหารตามมา เช่น มะเร็ง เบาหวาน ผมร่วง

ปัญหาของการพกอาหารเข้าป่าคือ ประมาณไม่ถูกว่า ตัวเองกินอะไร ปริมาณเท่าไหร่ ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากทริปสั้นๆ 1-3 วัน ใกล้ๆบ้าน เพื่อเวลาไปทริปไกลๆ ใช้เวลานานๆ จะได้ไม่ต้องลำบากแบกอาหารไปเกินความจำเป็น การเดินป่าช่วงสั้นๆ ยังช่วยให้เรารู้พละกำลังของตัวเองอีกด้วย เพราะถ้าเดินแค่วันหรือสองวัน แล้วรู้สึกเหนื่อยมาก แสดงว่าร่างกายผิดปกติ อาจเป็นโรคขาดแมกนีเซียม แต่ถ้ายังมีพละกำลังเหลือเฟือ แสดงว่าเดินทางไกลกว่านี้ได้
ช้างป่าเหยียบเต็นท์นักท่องเที่ยว ที่ลานกางเต็นท์ผากล้วยไม้เขาใหญ่ จนเสียชีวิต ตอนตี 3 พบส้มโออยู่ในรถ และเปลือกส้มโออยู่ในเต็นท์


อาหารควรเก็บไว้ให้มิดชิด อย่าให้มีกลิ่น กลิ่นอาหารจะดึงดูดสัตว์หลายชนิด ตั้งแต่หนูจนถึงช้าง หนูจมูกไวมาก แม้แต่อาหารแห้งที่อยู่ในถุงปิดเคลือบจนไม่มีกลิ่นออกมา มันยังหาเจอ หนูจะแทะเป้สะพายหลังราคาแพงของเรา จนเป็นรูเพื่อมุดเข้าไปกินอาหาร บางทีไม่มีอาหารมันก็ยังกัด ดังนั้น ควรแยกถุง อาหารไปไว้บนเกาะกลางลำธาร หรือใช้เชือกแขวนห้อยไว้ใต้กิ่งไม้ แต่ปัญหาใหญ่คือ ช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่จมูกไวที่สุดในบรรดาสัตว์ทั้งหมด จมูกดีกว่าหนูและหมา คณะของผมเคยเจอช้างบุกที่พักในป่ากลางดึกมาแล้ว 2 ครั้ง โดยไม่ได้ทำอันตรายคน แต่ทำลายแหล่งอาหารจนพังหมด รื้อเป้สะพายหลังซึ่งทำจากผ้าไนล่อนหนาๆ จนขาดเป็นชิ้นๆ เพื่อจะกินอาหารข้างใน ช้างจะกินอาหารแห้งไปทั้งถุง โดยเฉพาะพวกถุงใส่ไมโลโอวัลตินและมาม่า มันชอบมาก ยกเว้นข้าวสารบ้วนทิ้งหมด ทำให้คืนนั้นพวกเราไม่ได้นอนกันเลยทั้งคืน เพราะต้องหนีออกมาที่พักจนถึงรุ่งเช้า รอให้ช้างไปแล้ว จึงกลับมาเย็บเป้สะพายหลัง จึงเดินทางออกมาได้ แม้แต่นักท่องเที่ยวบนเขาใหญ่ก็เคยโดนช้างเหยียบเต็นท์จนเสียชีวิต พบว่านำส้มโอเข้าไปกินในเต็นท์

ขยะจำพวก ถุงพลาสติกใส่อาหาร อย่าทิ้งในป่า เพราะ สัตว์ป่าอย่างกวางหรือช้างจะมากิน พลาสติกเหล่านี้จะขังอยู่ในกะเพาะ ถ่ายออกได้บ้าง ไม่ได้บ้าง กวางมักจะสะสมถุงพลาสติกไว้ในท้องจนตาย ถ้าไม่อยากแบกขยะไปด้วย ควรเผาทิ้งหรือฝังดิน

กวางป่าตาย ผ่าท้องพบเศษถุงพลาสติกอุดตันอยู่ 3 กิโลกรัม

อาหารเป็นสัมภาระที่หนักที่สุด ถ้าต้องเข้าป่านานอย่างน้อยหลายสัปดาห์ ไม่จำเป็นต้องแบกทุกอย่างไป แค่แบ่งอาหารบางส่วนไว้ข้างนอก แล้วจ้างชาวบ้านขนเข้าป่ามาให้ หรือเดินออกจากป่าไปรับเสบียงตามจุดที่นัดหมายกันไว้ ถ้าไม่มีคนข้างนอกช่วย อาจใช้วิธีซ่อนเสบียงไว้ตรงปากทางเข้า แต่ต้องระวังสัตว์มากิน

ฟลายชีท

ฟลายชีทเป็นด่านกั้นระหว่างความเปียกกับความแห้ง ช่วยไม่ให้เครื่องนอนเปียก เครื่องนอนพวกถุงนอนและชุดนอน ถ้าเปียกแล้วแห้งยาก เราจึงไม่ต้องกลัวฟลายชีทเปียก เพราะมันเป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาให้เปียกอยู่แล้ว ถ้าเปียกก็แห้งเร็ว แค่นำไปตากลมหรือไอแดดเพียงครู่เดียว ถ้ายังไม่มีเวลาตากก็ยัดใส่ถุงตาข่ายข้างเป้ไว้ก่อน เพื่อเวลาเดินไปจะได้แห้งง่าย แล้วค่อยหาเวลาตากตอนหยุดพักกินข้าวกลางวัน ของที่เปียกไม่ควรใส่ถุงพลาสติกแล้วอบไว้ ถึงแม้ว่าไม่เปื้อนเหงื่อก็เหม็นได้ เพราะ เชื้อโรคทุกชนิดทั้งแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อรา จะเติบโตได้ดีในสถานที่เปียกและมืด และอากาศไม่เย็นเกินไป

เวลาเดินป่า เสื้อผ้ามักจะเปียกอยู่ตลอดเวลา เนื่องจาก เหงื่อ ฝนตก หรือลุยน้ำ ไม่ว่าจะลุยสักเพียงใดก็ตาม ตอนนอนจำเป็นต้องตัวแห้ง มิฉะนั้น แผลที่ผิวหนังจากการลื่นกระแทกหิน ถูกหนามตำ ฯลฯ จะลุกลาม แผลเปื่อยนานๆ จะกลายเป็นแผลเปิด ทำให้เชื้อโรคเข้าไปในร่างกายได้ง่าย มีโอกาสเจ็บป่วยสูง ถ้ามีแมลงมาตอม แมลงอาจวางไข่ แล้วต่อมาแผลจะมีหนอนไช แต่ถ้าได้นอนในที่แห้งๆตลอดคืน แผลจะดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด สามารถเดินทางต่อไปได้สบาย เพราะเชื้อโรคจะเจริญเติบโตในบริเวณที่แห้งได้ไม่ดีเหมือนบริเวณที่ เปียก เปรียบเมือนเนื้อสัตว์หรือผลไม้ ที่นำไปตากแห้งหรือย่างไฟให้แห้ง จะเก็บไว้ได้นานขึ้น

fly sheet คือสิ่งสำคัญ เพียงสิ่งเดียว ที่ใช้กันฝน ถ้าไม่กางฟลายชีท หรือ ฟลายชีทกันฝนไม่ได้เต็มที่ เกิดฝนตกขึ้นมา ตอนกลางคืน ที่นอนจะเปียก พอเปียกแล้ว จะเป็นช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด เพราะ ฝนตกบวกกับมืด จึงแก้ไขอะไรยาก กลางดึกซึ่งเป็นช่วงเวลานอน จะทำอะไรก็มองเห็นไม่ชัด แถมยังฝนตกอีกต่างหาก ถ้าจะทำก็ต้องตากฝนออกไปทำ คนที่ที่นอนเปียก จึงมักจะทนนอนทั้งที่เปียกๆ ทำให้นอนน้อยและนอนหลับไม่สบาย พอตอนเช้า ต้องเดินทางต่อ จะต้องแบกเสื้อผ้าและเครื่องนอนที่เปียก ทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น พอคืนต่อมา นอกจากจะต้องทนนอนกับที่นอนเปียกแล้ว ของที่อบมาทั้งวัน ยังเหม็นอีกด้วย

สภาพอากาศเขตร้อนอย่างเมืองไทยคือ ช่วงเช้าถึงบ่ายมักจะมีแดดออก พอหลังบ่ายสองถึงค่ำมักจะมีฝนตก เมื่อถึงที่พักจึงควรกางฟลายชีททุกครั้ง ในป่าฝนตกไม่แน่นอน ตอนหัวค่ำ มองเห็นดาว กลางดึกอาจฝนตก เพราะลมบนสามารถพัดพาเมฆฝนมาได้ แม้แต่ช่วงหน้าแล้ง อย่างตอนปีใหม่ ถ้าช่วงนั้นความกดอากาศเปลี่ยน ก็อาจมีฝนตกได้ ถึงแม้ในเมืองฝนไม่ตก แต่ในป่ามักจะมีฝนตกบ่อยกว่าในเมือง ถึงแม้ว่าฝนไม่ตก แต่ถ้าเป็นช่วงหลังฝนตกใหม่ๆ ก็จะมีน้ำค้างอยู่ตามใบไม้ เมื่อโดนลมจะหยดลงมาใส่ พอแดดออกก็ต้องโดนแดด ที่ทะลุลงมาตามใบไม้ส่องใส่หน้า ฟลายชีทจึงควรจะทึบแสง ถึงแม้จะมั่นใจว่าฝนไม่ตก แต่ก็ยังอาจมีเศษกิ่งไม้ใบไม้ ละอองเกสร หรือลูกไม้ หล่นลงมาใส่เปล การกางฟลายชีทจึงช่วยป้องกันได้ดีกว่า จะไม่กางฟลายชีทได้ ก็ต่อเมื่อ ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง ไม่มีความกดอากาศเปลี่ยนไปเปลี่ยนมา อย่างเช่น ช่วงเดือน กุมภาพันธ์ , มองท้องฟ้าแล้วไม่มีแนวโน้มว่าฝนจะตก เพราะฟ้าใสมองเห็นดาวหรือเมฆยกตัวสูง ,และใบไม้ทุกใบแห้งสนิท เนื่องจากไม่มีฝนตกมานาน ลองเขย่าต้นไม้ดูว่ามีน้ำหยดลงมาหรือไม่ ดูตามพื้นว่าจะมีลูกไม้หรืออะไรตกลงมาหรือไม่

การกางฟลายชีท แบบปีกเป็นทรงสามเหลี่ยม เป็นวิธีที่กางง่ายและกันแดดกันฝนได้ดี สีสดช่วยให้เวลาหลงป่า แล้วเครื่องบินมองเห็นได้ง่าย แค่กางไว้ในที่โล่ง เช่นกลางลำห้วย

การกางฟลายชีทระหว่างต้นไม้สองต้น ทำได้ 2 แบบ

รูปบน ใช้เชือกดักน้ำ รูปล่าง ใช้ตัวล็อคเชือกเต็นท์แทน

หลักสำคัญที่ทำให้ฟลายชีทกันฝนได้จริง คือ อย่าให้ตกท้องช้าง การขึงฟลายชีทระหว่างต้นไม้ จะตกท้องช้างตรงแนวแกนกลาง เวลากางจึงต้องเริ่มจากขึงเชือกระหว่างต้นไม้ เพื่อทำเป็นแกนกลางก่อน แล้วจึงวางฟลายชีททับลงไปบนเชือก แต่ปัญหาที่ตามมาของการขึงเชือกเป็นแกน คือ หลังจากฝนตกหนักต่อเนื่องหลายๆชั่วโมง น้ำจะไหลมาตามเชือก พอน้ำไหลมามากขึ้น จะเริ่มหยดใส่เปล เชือกขึงแกนฟลายชีทจะมีน้ำหยดก่อนเชือกผูกเปล เพราะผูกอยู่สูงกว่า จึงเป็นด่านแรกที่รับน้ำที่ไหลลงมาตามลำต้นของต้นไม้ วิธีป้องกันเบื้องต้น คือ หาอะไรมากั้นเพื่อดักน้ำ ให้น้ำเปลี่ยนเส้นทาง เช่น หาเชือกอีกเส้นมาคล้องไว้บนแกน (ตามรูป) น้ำจะไหลลงไปตามเชือกที่มากั้น ถ้าฝนตกมากก็ต้องทำหลายๆจุด ถ้ายังมีน้ำเล็ดลอดมา ให้หาผ้าที่ซับน้ำได้ดี มาแขวนไว้ทำเหมือนตากผ้าธรรมดา ผ้าจะซับน้ำที่ไหลลงมาตามเชือก ส่วนวิธีที่สะดวกที่สุดคือ ใช้ตัวล็อคเชือกเต็นท์ โดยนำมาร้อยไว้ในเชือก จะทำให้เชือกเปลี่ยนเส้นทางเล็กน้อย น้ำที่ไหลมาตามเชือกก็จะไหลต่อไปตามตัวล็อคเชือกเต็นท์ แล้วหยดลงพื้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการใช้เชือกขึงแกนฟลายชีท จะยุ่งยากเพราะต้องป้องกันเรื่องน้ำหยด แต่ก็มีข้อดีคือ ใช้แขวนสิ่งของได้ โดยเฉพาะแขวนมุ้งของเปล

ในป่าที่มีต้นไม้ปกคลุมหนาแน่น จะไม่มีลมแรง เวลาฝนตก จะหยดลงมาตรงๆ จึงไม่จำเป็นต้องใช้ฟลายชีทขนาดใหญ่นัก ขนาดของ flysheet ควรจะยาวกว่าความยาวของผ้าเปลสนาม ประมาณ 50-70 ซม  ถ้ายาวเกินไปอาจจะชนต้นไม้ ทำให้ขึงไม่ตึง  ถ้าเป็นฟลายชีทที่กางปีกทรงสี่เหลี่ยม ทั้งผืนกว้าง 1.5 เมตร ถือว่าเพียงพอแล้ว เพราะ มีขนาดเล็กกะทัดรัด แต่สามารถคลุมเปลได้พอดี แต่ถ้าขึ้นไปใกล้ยอดเขา หรือที่โล่ง จะเริ่มลมแรง โดยเฉพาะเวลาพายุเข้า ลมจะพัดเข้ามาทุกทิศทุกทางแม้แต่ด้านข้าง เม็ดฝนขนานมากับพื้นเลย ต้องใช้ด้านกว้างคลุมเปลให้หมด คือ ทั้งผืนต้องกว้างประมาณ 3 เมตร ถ้ากว้าง 2 เมตรจะน้อยเกินไป ถ้ากว้างมากกว่านี้จะเกะกะ ถ้าฟลายชีทกว้างไม่พอ ต้องสร้างกำแพงธรรมชาติขึ้น เช่น หาพุ่มไม้มาบัง

ถ้าไปซื้อฟลายชีทสำเร็จรูป มักจะถูกโกงขนาด เช่น 3 เมตร แต่วัดได้แค่ 2.7 เมตร เพราะผ้าตัดขายเป็นหลา บางทีหนาไป บางทีไม่มีสีที่ต้องการ ผมจึงไปซื้อผ้ามาตัดเอง และใช้จักรธรรมดาเย็บขอบได้ แหล่งขายคือ ถนนเจริญรัถ วงเวียนใหญ่ โดยซื้อผ้าเคลือบกันน้ำแบบ silver coating ซึ่งมีข้อดีคือ นอกจากกันน้ำ 100% แล้วเมื่อสารเคลือบลอกก็จะรู้ได้ ถ้าเป็นผ้าโพลีเอสเตอร์จะบางมาก และ เบากว่าผ้าไนล่อนเกือบครึ่ง แถมยังราคาถูกกว่าด้วย ผ้าไนล่อนถึงแม้ว่าจะยืดหยุ่นได้ดีกว่า แต่ฟลายชีทไม่ต้องรับน้ำหนัก จึงไม่ต้องการคุณสมบัติยืดหยุ่นเหมือนเปล วิธีสังเกตุผ้าโพลีเอสเตอร์คือ นอกจากจะบางกว่าผ้าไนล่อนแล้ว เวลาขยำจะมีรอยยับ ต่างจากผ้าไนล่อนซึ่งเวลาขยำแล้วจะไม่มีรอยยับ แต่เวลาซื้อผ้าต้องลองส่องแสงไฟดูว่าเคลือบได้สม่ำเสมอหรือไม่ ส่วนการทำหูร้อยเชือก ไม่ควรจะตอกตาไก่ แต่ควรจะใช้สายไนล่อนขนาดหน้ากว้างประมาณ 1 นิ้วมาเย็บทำเป็นหูจะแข็งแรงกว่า หาซื้อได้จากบริเวณเดียวกับที่ซื้อผ้า

ผ้าม้วนที่ตัดขาย จะมีหน้ากว้างประมาณ 1.5 เมตร ถ้าทำฟลายชีทกว้างเกิน 1.5 เมตรจะต้องใช้ผ้า 2 ผืนมาต่อกัน และรอยเย็บต่อกันนี้เอง ที่น้ำซึมลงมาได้ ยิ่งเวลาขึงฟลายชีทให้ตึง รูจะยิ่งกว้างขึ้น วิธีแก้ไขคือ ซื้อกาวที่กันน้ำและยืดหยุ่นได้มาทา เพื่ออุดรูรั่ว โดยกาวจะต้องเป็นชนิดเดียวกับสารเคลือบกันน้ำ ก่อนซื้อผ้าจึงควรสอบถามคนขายว่าใช้อะไรเคลือบ ซึ่งคนขายมักจะไม่รู้ เราจึงต้องเดาเอาเอง ส่วนใหญ่ผ้ากันน้ำราคาถูก น้ำหนักเบา แม้แต่ผ้า silver coating มักจะเคลือบ polyurethane (PU) จึงต้องทากาว PU แต่ถ้าทากาว PU แล้วไม่ติดผ้า แสดงว่าผ้าอาจเคลือบ silicone เรียกว่า silnylon จะต้องเปลี่ยนไปใช้กาว silicone อุดแทน ผ้าเคลือบ acrylic หรือ PU จะเคลือบแค่ด้านเดียว ส่วนผ้าที่เคลือบ silicone ถึงแม้จะเคลือบทั้ง 2 ด้าน แต่มีน้ำหนักเบากว่า และราคาแพงกว่า ส่วนพวกเทปกาวส่วนใหญ่จะนำมาแปะไม่ได้ผล เพราะกาวเมื่อโดนน้ำจะละลายแล้วลอก ถ้าฉุกเฉินลองใช้กาวยางทา

สารเคลือบผิวพวก PU ถ้าใช้งานหนักติดต่อกันหลายปี มีโอกาสลอกได้ ข้อควรระวังในการใช้ผ้าเคลือบ PU คือ ใช้เสร็จแล้วต้องตากให้แห้ง อย่าเก็บทั้งที่ยังเปียกๆเป็นเวลานาน เพราะว่า น้ำจะค่อยๆละลายสารเคลือบจนผ้าติดกันเป็นก้อน

การใช้เชือกขึงฟลายชีทในป่าซึ่งมีต้นไม้มาก ไม่จำเป็นต้องพกสมอบกไปให้หนัก สมอบกเหมาะสำหรับใช้ตามลานกางเต็นท์โล่งๆ ถ้าไม่มีต้นไม้ให้ยึด การขึงฟลายชีทในป่า พยายามส้งเกตุรอบข้างให้ทะลุปรุโปร่ง มักจะมีจุดให้ผูกเสมอ หรือคิดดัดแปลงจนได้ เช่น ถ้าอยู่ในถ้ำหรือบนก้อนหิน อาจมีติ่งเล็กๆ ถ้าไม่มีก็สามารถนำก้อนหินขนาดใหญ่พอที่จะไม่เคลื่อนที่เมื่อถูกดึง มาวางแล้วผูกเชือกกับแง่งของก้อนหินเพื่อไม่ให้ลื่นหลุดง่าย หรือหากิ่งไม้สั้นๆยาวประมาณหนึ่งคืบ แล้วนำกิ่งไม้ไปขัดกับซอกหินที่ขยับเขยื้อนไม่ได้ ถ้าอยู่กลางทุ่งหญ้าอาจรวบหญ้าเป็นกอแล้วพันเชือกไว้ ถ้าอยู่บนดิน อาจตัดกิ่งไม้สด มาเหลาปลายให้แหลม ปักลงดิน โดยใช้ก้อนหินตอกแทนค้อน ควรใช้ไม้ที่มีกิ่ง เพื่อให้ปลายอีกด้านเป็นตะขอ ถ้าไม่มีตะขอ ให้เซาะไม้เป็นร่อง สำหรับผูกเชือก  ถ้ายังไม่มีที่ผูกใกล้ๆ ให้มองไปให้ไกลขึ้น อาจต้องขึงเชือกข้ามลำห้วยเพื่อผูกกับกิ่งไม้ฝั่งตรงข้าม

ถ้าก่อกองไฟ แล้วฝนตกตอนกลางคืน กองไฟจะดับ จึงอาจหาฟลายชีทผืนเล็กๆอีกผืน ไปคลุมกองไฟด้วย โดยกางให้ด้านหนึ่งต่ำกว่าอีกด้านหนึ่ง เพื่อไล่ควันไปทางด้านที่สูงกว่า

ถ้าไม่มีฟลายชีท เราสามารถทำหลังคาขึ้นเอง โดยตัดไม้ตรงๆมาพาดระหว่างต้นไม้ ทำเป็นคาน สูงประมาณหัวไหล่ เพื่อเวลาผูกเชือกจะได้ใช้หัวไหล่รองไม้ไว้ ถ้าไม่มีต้นไม้ ให้ทำสามขารองไว้แทน ส่วนที่เหลือคือโครงหลังคา โดยหาไม้ตรงๆมาเพิ่ม ด้านหนึ่งมาวางพาดไว้กับคาน เป็นซี่ๆ ห่างกันประมาณหนึ่งคืบ แล้วใช้เชือกผูกไว้กับคาน ส่วนปลายอีกด้านปักลงดิน ถ้าไม่มีดิน สามารถหาไม้ใหญ่ๆหรือก้อนหินใหญ่มายันไว้ หรือทำเนินโดยใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกัน แล้วใช้ดินกลบ หลังจากนั้นจึงมุงหลังคา โดยตัดกิ่งไม้ที่มีใบกว้างๆ เช่น ใบกล้วย มาวางทับโครงเพื่อกันฝน

เปลสนาม

ที่นอนในป่าที่แย่ที่สุด คือที่พื้น เพราะ ตามพื้นเป็นที่อยู่ของสัตว์ ตั้งแต่สัตว์เล็กๆอย่าง ทาก เห็บ มด ตะขาบ แมงป่อง ฯลฯ จนถึงสัตว์ใหญ่อย่าง งู เม่น หมาใน หมี เสือ ฯลฯ ล้วนอยู่กับพื้นหมด ส่วนสัตว์ที่อยู่สูงอย่าง ค่าง ชะนี นก ฯลฯ จะไม่มารบกวนคน ที่นอนที่ปลอดจากสัตว์รบกวน จึงควรจะสูงจากพื้นตั้งแต่ระดับเอวขึ้นไป คนที่มีประสบการณ์ ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใดในโลกก็ตาม ทั้งป่า ทะเล หรือแม้แต่ทะเลทราย เขาจะไม่นอนกับพื้นเลย เพราะ ทุกแห่งมีสัตว์อยู่ตามพื้น แม้แต่ในทะเลทราย ก็ยังมีสัตว์เลื้อยคลานซ่อนอยู่ใต้ทราย แต่ที่เราเห็นคนชอบนอนเต็นท์คือ พวกขาดประสบการณ์ หรือไม่มีทางเลือก เพราะไม่มีต้นไม้ให้ผูกเปล แม้แต่การนอนบนแคร่ก็ยังไม่ปลอดภัยมากนัก เพราะเคยมีหนุ่มอีสานนอนอยู่บนกระท่อมนา แล้วมีงูจงอางตัวใหญ่ยาว 3.8 เมตร เลื้อยขึ้นมาบนกระท่อมแล้วกัดขาเขา

การนอนในป่า ไม่ควรใช้เต็นท์ เพราะอาจมีสัตว์ป่าเดินผ่านมา ถ้าอยู่ในเต็นท์มองออกไปทางหน้าต่าง จะมองเห็นแค่บางมุม ไม่เห็นรอบๆ ยิ่งถ้าตอนนอน ยิ่งมองไม่เห็นอะไรเลย สัตว์ป่าอาจจะตะครุบเต็นท์ เคยมีหลายคนโดนหมีใช้เล็บตะปบผ้าเต็นท์จนขาด แล้วตบคนที่นอนหลับอยู่ในเต็นท์หลายครั้ง บางทีก็คาบคนออกมา หรือ ม้วนเต็นท์แล้วทำร้ายจากข้างนอก ถ้าเป็นช้าง อาจเหยียบเต็นท์หรือใช้งวงรวบขึ้นมาได้ทันที เคยมีคนโดนเหยียบเต็นท์มาแล้ว จะหนีก็ยาก เพราะว่าทางเข้าออกจำกัด กว่าจะรูดซิปก็ไม่ทันเสียแล้ว นอกจากนี้ยังเคยมีคนโดนงูจงอางฉกจนเต็นท์ทะลุมาแล้ว บางคนก็เจองูขดอยู่ใต้พื้นเต็นท์ ถึงแม้จะไม่มีสัตว์ และเต็นท์จะปิดซิปมิดชิด แต่ก็มีโอกาสพลาด เช่น กางเต็นท์เสร็จแล้วเผลอเปิดประตูทิ้งไว้ ทำให้ยุงหรือแมลงเข้าไป แล้วไล่ออกไม่ได้ เพราะประตูเต็นท์แคบ, บางทีแมงมุมก็ติดขากางเกงเข้าไป บางทีก่อนกางเต็นท์ วางเครื่องนอนไว้บนก้อนหินหรือกิ่งไม้ที่มีมดไต่อยู่ พอนำเครื่องนอนเข้าไปในเต็นท์ มดก็ติดเข้าไปด้วย พอมดเข้าไปแล้วก็เป็นงานใหญ่ เพราะ ขอบเต็นท์ยกสูง จะกวาดออกธรรมดาไม่ได้ แถมพื้นเต็นท์ที่ขายในท้องตลาด มักใช้สีดำ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งแปลกปลอม เวลาเจอยุงหรือมดก่อนนอน จะไม่มีอารมณ์ทำอะไรแล้ว ถ้าอยู่ในสถานที่ๆอากาศไม่เย็นจริงๆ ในเต็นท์จะร้อนกว่าข้างนอก การเคลื่อนไหวในเต็นท์จะทำให้เหงื่อออกง่าย ถ้าเปิดเต็นท์เพื่อไล่เจ้าพวกนี้ แมลงก็จะเข้ามาอีก แมลงหลายชนิดตามแสงไฟมา ถ้าเป็นยุงก็ตามกลิ่นคนเข้ามา บางทีลืมเปิดประตูเต็นท์ทิ้งไว้ พอฝนตก น้ำก็เข้าไปในเต็นท์ จะเทออกก็ลำบาก เพราะขอบเต็นท์ยกสูง ต้องทนนอนแช่น้ำอยู่อย่างนั้นทั้งคืน การนอนเต็นท์ยังต้องแบกอุปกรณ์เสริมจำนวนมาก เช่น ผ้าปูพื้นกันพื้นเต็นท์เปื้อนทำให้หลังจากเก็บเต็นท์แล้ว น้ำค้างหรือทรายติดเข้ามาในเต็นท์ ต้องมีแผ่นรองนอน เพราะถ้านอนกับพื้น หลังจะสัมผัสกับพื้นโดยตรง นอกจากจะเจ็บหลัง จากก้อนหินหรือกิ่่งไม้ตำ แล้วยังต้องหนาวเพราะ ความร้อนจากลำตัวถ่ายเทลงพื้นอย่างรวดเร็ว เมื่อนอนพื้นก็ต้องมีหมอนหนุนหัว บางคนทำงานนั่งโต๊ะมาก จึงนอนยืดตัวตรงบนพื้นแข็งไม่ได้ ก็ต้องมีหมอนรองน่องอีก ต่างจากเปล แค่ผ้าผืนเดียวนอนได้เลย เหล่านี้คือเหตุผลที่ต้องนอนเปล ยิ่งผูกเปลสูงๆยิ่งปลอดภัยจากสัตว์

เต็นท์เหมาะสำหรับสถานที่ๆอากาศหนาวจัด ซึ่งเปลนอนแล้วเย็นหลัง หรือในสถานที่ๆผูกเปลไม่ได้ เช่น บนดอยหัวโล้น หรือที่ไม่อนุญาติให้ผูกเปล เช่น ลานกางเต็นท์ในอุทยานแห่งชาติ ถ้าจะนอนเต็นท์จึงควรมีเต็นท์หรือเปลสนามสำรองไปด้วย เพราะผมเคยเจอในกรณีที่นอนเต็นท์ไม่ได้หลายครั้ง เนื่องจากมีมด ยุง หรือน้ำ เข้าไปข้างใน 

เปลสนาม ควรเลือกความยาวมากกว่าส่วนสูงประมาณ 50-60 ซม จะนอนสบาย หรือวัดง่ายๆคือ ยกแขนขึ้นจนสุด แบมือออก เขย่งเท้าขึ้น  วัดตั้งแต่ปลายนิ้วมือ ลงมาจนถึงปลายนิ้วเท้า แล้วเผื่อออกไปอีก 10-20 ซม. เพื่อที่จะสามารถนอนยกแขนขึ้นได้ เปลที่สั้นเกินไป จะบีบไหล่และหลังงอมากเกินไป ทำให้นอนปวดไหล่และปวดหลัง แต่ถ้ายาวกว่านี้ก็ไม่เห็นความแตกต่างมากนัก แถมยังเกะกะเวลากางและเก็บ จะใช้สองมือรวบได้ไม่หมด ทำให้ผ้าหรือเชือกมักจะตกพื้นเปื้อนดินและน้ำ

เปลสนามสามารถหาซื้อผ้ามาตัดเองได้ ผ้าใยสังเคราะห์ 190T เหมาะสำหรับใช้ทำเปล เพราะ รับน้ำหนักคนได้ ลื่น นุ่ม ยืดหยุ่นดี นอนสบาย และ ระบายน้ำได้ ส่วนผ้าที่ทำจากเส้นใยธรรมชาติเช่น ผ้าฝ้าย จะหนักแต่รับแรงดึงได้น้อยกว่า การตัดเปลแค่พับปลายผ้าทั้ง 2 ด้านให้เป็นหูร้อยเชือกแล้วเย็บทับ 2-4 เที่ยว ด้วยด้ายไนล่อนซึ่งเส้นใหญ่กว่าด้ายโพลีเอสเตอร์ที่ใช้ตัดเสื้อผ้าทั่วไป และด้ายไนล่อนยืดหยุ่นดีกว่าด้ายโพลีเอสเตอร์ด้วย เปลควรใช้ผ้า 2 ชั้น เพราะ ถ้าผ้าขาดจะได้มีอีกผืนรองนอน ผ้า 190T ที่มีรอยขาดนิดเดียว เมื่อรับน้ำหนัก ก็จะขาดต่อไปตลอดทั้งแนว

เปลส่วนใหญ่ขาดเพราะกิ่งไม้เกี่ยว พอมีรอยนิดเดียว แล้วรับน้ำหนัก ก็จะขาดต่อเป็นแนว เคยมีคนเปลขาดทั้งแนวยาว และแนวขวาง คนที่ใช้เปลชั้นเดียวจะตกลงมาหลังกระแทกพื้น  และผ้าชั้นเดียวยังอาจโดนยุงกัดทะลุได้อีกด้วย ถึงแม้ว่าผ้าแบบ ripstop จะกันฉีกขาดได้ดีกว่าผ้าเรียบๆ แต่ถ้าผ้ามีรอยขาด ก็จะไม่แข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักคน ถ้าลงไปนอนก็จะฉีกขาดต่อไปเป็นแนวยาวเช่นกัน นอกจากนี้ ผ้า ripstop ยังมีแบบให้เลือกน้อย และส่วนใหญ่เคลือบกันน้ำ ซึ่งเวลานอนจะมีหยดน้ำเกาะ ดังนั้น วิธีป้องกันเปลขาดที่ดีที่สุดคือ ก่อนนำมาใช้ ควรจะตรวจสอบเนื้อผ้าให้ดี ถ้าผ้ามีจุดอ่อนเป็นรอยขาด หรือถูกเกี่ยวเป็นแนว ไม่ควรนำมาใช้ ผ้าสีขาวใช้ทำเปลได้ดีที่สุด เพราะมองเห็นสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย

การนอนบนเปลสนามจะโดนแมลงบินมากัดได้ ปกติเปลสนามจะมี 2 ชั้น ด้านหนึ่งเปิดไว้ให้มุดเข้าไปนอนในช่องว่างระหว่างชั้น สามารถป้องกันแมลงได้ แต่ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อน อาจนอนแล้วอบจนเหงื่อออก เปลี่ยนมาใช้เปลมุ้งตาห่างจะช่วยได้ วิธีง่ายๆในการทำมุ้ง คือ ตัดมุ้งให้มีขนาดเดียวกับเปล เย็บทับลงไปบนเปล แล้วทำซิปด้านข้างให้มุดเข้าไปได้ พอเวลานอนมุ้งจะลงมาแนบหน้า ซึ่งแก้ไขได้ด้วยการทำหูร้อยเชือกที่ตรงกลางของมุ้งบริเวณหัว เพื่อดึงมุ้งขึ้นไปผูกไว้กับแกนฟลายชีทด้านบน แต่ถ้าทำแค่นี้ ด้านข้างของมุ้งก็ยังคงแนบแก้มได้ ซึ่งแก้ไขทำถุงข้างเปลทั้ง 2 ข้างตรงบริเวณแก้ม แล้วหาสิ่งของที่มีน้ำหนักเล็กน้อย เช่น ไฟฉาย มาใส่ในถุง แล้วห้อยถุงออกไปนอกเปล จะห้อยมุ้งด้านข้างตามลงไปด้วย

ปัญหาของมุ้งแบบมีซิปคือ เข้าออกลำบาก หากมีสัตว์มาอาจจะหนีไม่ทัน มุ้งอีกแบบที่เหมาะสำหรับนอนในป่า คือ แยกอิสระจากเปล โดยตัดมุ้งให้มีขนาดเท่ากับเปล แล้วตรงหัวท้ายทำเป็นหูร้อยเชือกแบบรูดได้ นำมารัดและรูดเข้ากับหัวเปลและท้ายเปล ส่วนด้านข้างเปล ให้ห้อยมุ้งลงมา แล้วเย็บถุงตาข่ายสี่มุม เพื่อใส่ก้อนหินถ่วง ป้องกันมุ้งปลิว

ปัญหาของเปลสนามคือ
คาราบิเนอร์รูปตัว D
จะแข็งแรงที่สุด และ
ขาเปิดปิดแบบใช้
ลวดล็อกจะเบาที่สุด
คาราบิเนอร์ที่มียี่ห้อ จะออกแบบมาสำหรับปีนหน้าผา มีสเปคบอกแรงดึงที่รับได้ ซึ่งจะอยู่ที่ประมาณ 20kN เทียบเป็นน้ำหนักขณะหยุดนิ่งได้ประมาณ 2000 กิโลกรัม ซึ่งสาเหตุที่ต้องมีค่ามากขนาดนี้ เพราะ ถ้ามีการเคลื่อนไหวที่ระยะทางมาเกี่ยวข้อง อย่างเช่น ตกเขา แรงดึงจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง แต่ในการผูกเปล จะไม่ต้องกังวลมากขนาดนั้น เพราะสายเปลจะกระจายน้ำหนักไปฝั่งละครึ่ง และการขย่มเปลไม่ได้เกิดระยะทางมากนัก เราจึงประมาณได้ว่า สายเปลแต่ละข้าง รับน้ำหนักเท่ากับน้ำหนักตัวคนหารสอง การผูกเปลจะใช้คาราบิเนอร์อลูมิเนียม ที่ไม่มียี่ห้อและไม่บอกแรงดึงก็ได้ เพราะคาราบิเนอร์อลูมิเนียมที่รับน้ำหนักไม่ไหว จะเริ่มจากเสียรูปก่อน เช่น อ้าออก หรือ ยืดออก (โดยวัดตอนรับน้ำหนัก เพราะถ้าเอาน้ำหนักออกแล้ว มันอาจจะหดกลับได้) ถ้ายังรับแรงมากขึ้นไปอีก จึงจะขาดออกจากกัน หากทดลองนำมาผูกเปล ลองขย่มดู และนอนไปนานๆ แล้วไม่เสียรูป ถือว่าใช้ได้ แต่จากที่ผมทดลองมา คาราบิเนอร์ไม่มียี่ห้อของจีนที่ไม่บอกสเปค นำมาผูกเปลแล้วจะรับน้ำหนักคนไม่ได้ จะอ้าออก การเลือกคาราบิเนอร์ ควรเลือกทรงตัว D จะแข็งแรงกว่าทรงตัว 0 เพราะการรับน้ำหนักของทรงตัว D จะตกอยู่ตรงแกนตรงเป็นหลัก ในขณะที่การรับน้ำหนักของทรงตัว 0 จะกระจายไปทั้ง 2 ข้าง ซึ่งข้างที่มีขาเปิดปิดนี้เองที่เป็นจุดอ่อน โดยเฉพาะเมื่อขาเปิดปิดไม่มีขอเกี่ยวช่วยรับแรงดึง หรือเปิดขาอ้าไว้โดยไม่เกี่ยว จะทำให้ความสามารถในการรับน้ำหนักจะลดลงไปเกินครึ่ง ตัวล็อกแบบแกนที่มีเกลียวจะแข็งแรงที่สุด แต่จะหนักขึ้น ส่วนแบบใช้ลวดล็อก (ตามรูป) จะแข็งแรงน้อยที่สุดแต่เบาที่สุด แบบลวดล็อกจึงเหมาะสำหรับใช้ผูกเปล

เชือกผูกเปลสนามกับต้นไม้ ควรใช้เชือกถักแบน จะยึดติดกับเสาได้ดีกว่า เชือกกลมจะแนบไม่สนิท ทำให้ลื่นง่าย เชือกแบนหน้ากว้าง 15mm เพียงพอที่จะรับน้ำหนักคนนอนเปลได้ถึง 1-2 คนโดยไม่ขาด

ถ้าไม่มีต้นไม้ให้ผูกเปล สามารถผูกกับก้อนหินใหญ่ได้

วิธีเลือกต้นไม้ที่จะผูกเปลคือ ทดลองขย่มดูหลายๆรอบ ต้นไม้ที่ยังไม่ตาย มักจะมีความยืดหยุ่น ทดลองผูกเปลแล้วลองนอนดู หากเริ่มนอนแล้วต้นไม้ไม่หักลงมาแสดงว่าใช้ได้ ถึงแม้ว่าจะนอนไปนานๆก็จะไม่หักลงมา

ก่อนจะผูกเปล ควรกางฟลายชีทก่อน เพราะ นอกจากจะช่วยกันฝนเปียกเปลแล้ว ยังใช้เชือกที่ขึงกลางฟลายชีทแขวนเปลที่ยังไม่ได้ผูกได้อีกด้วย เพราะ เวลาคลี่เปลออกมา เปลจะยาวมาก พอผูกเปลด้านหนึ่งกับต้นไม้ อีกด้านที่ยังไม่ได้ผูก มักจะร่วงไปกองอยู่กับพื้น ทำให้เปลสกปรก ถึงแม้จะนำเปลมาแขวนคอไว้ก็มีโอกาสร่วงได้ แต่ถ้าแขวนเปลไว้กับเชือก จะไม่ค่อยมีปัญหา เวลาเก็บเปลก็เช่นกัน ควรเก็บฟลายชีททีหลัง

ถ้าไม่มีเปลสนาม อย่านอนกับพื้น ถ้าไม่มีที่นอนตามธรรมชาติที่อยู่สูง เช่น บนก้อนหินใหญ่ ให้ทำแคร่ โดยตัดไม้สดตรงๆ หลายๆท่อนมาวางเรียงกันบนคานสองฝั่ง แล้วใช้เชือกมัดไม้ไว้กับคาน ถ้าเป็นแคร่บนต้นไม้เรียกว่า ห้าง การทำห้างบนต้นไม้ ต้องเลือกต้นไม้ที่มีกิ่งหรือมีเถาวัลย์ที่พอจะปีนขึ้นไปได้ ถ้าเป็นต้นตรงๆก็ต้องทำบ้นไดขึ้นไป ส่วนด้านบนต้องมีกิ่งที่จะวางคานได้ และมีกิ่งอีกชั้นให้ทำหลังคากันฝนได้ด้วย

การทำเปลจากวัสดุธรรมชาติ ทำได้หลายวิธี เช่น ผ่าไม้ไผ่ให้เป็นซี่ๆเหลือปลายติดกัน แล้วกางออกเป็นเปล วิธีการคือ ใช้ไม้ไผ่สดที่ยาวกว่าความยาวของลำตัว วัดความยาวตรงกลางส่วนที่จะใช้นอน แล้วใช้มีดผ่าไม้ไผ่ส่วนนั้นออกครึ่งลำ แต่ยังคงเหลือปลายหัวท้ายไว้ไม่ต้องตัดออก แล้วกรีดไม้ไผ่ส่วนที่เหลืออีกครึ่งลำ ออกเป็นซี่ๆ กางออกเป็นเปลได้ แล้วใช้เถาวัลย์ผูกปลายห้วท้ายไว้กับต้นไม้ นอกจากไม้ไผ่แล้ว ยังสามารถนำเชือกที่หาจากวัสดุธรรมขาติแถวนั้น อย่างเช่น เถาวัลย์ หรือ เปลือกไม้ยาวๆเหนียวๆ มารวมกันหลายๆเส้นเป็นตาข่ายแล้วกางออกมา ก็กลายเป็นเปลได้ ถ้านอนแล้วเจ็บหลังก็หาใบไม้มาปูทับอีกชั้น ก่อนจะตัดใบไม้มาใช้ ควรดูให้ดีก่อนว่า ไม่มีตัวอะไรเกาะอยู่ตามใบไม้

เครื่องครัว

หม้อที่ทำจากอลูมิเนียม ใช้ต้มน้ำ หุงข้าวพอได้ แต่ไม่ควรใช้ทำอาหาร เพราะอลูมิเนียมรวมไปถึงอลูมิเนียมฟอยด์ ทำปฎิกริยากับอาหารได้ง่าย ด้วยเหตุนี้กระติกน้ำอลูมิเนียมจึงมักจะเคลือบพลาสติกไว้ด้านใน มีตัวอย่างในชีวิตจริง ของคนที่หยุดใช้ภาชนะอลูมิเนียมเปลี่ยนมาใช้สเตนเลสแล้ว โรคเรื้อรังอย่าง streptococcus หายไป หรือ สตรีที่เลิกใช้ภาชนะอลูมิเนียมต้มอาหารเสริมให้ทารก แล้วทารกหายจากโรคท้องร่วงเรื้อรัง ดังนั้น ถ้าเลือกได้ ควรใช้ชามสเตนเลส หรือ หม้ออลูมิเนียมแบบ anodized จะปลอดภัยกว่า ปัญหาอีกอย่างของหม้ออลูมิเนียม คือทนความร้อนของเปลวไฟไม่ดี ถ้าด้ามจับโดนไฟ จะงอและหักง่าย

หม้อที่ดีที่สุดคือ หม้อไททาเนียม มีน้ำหนักเบากว่าอลูมิเนียม ทำปฎิกริยากับอาหารได้ยากที่สุด พอๆกับแก้วและอะคริลิก เพราะมีเนื้อแน่น แถมยังทนไฟได้ดี แต่ข้อเสียคือ ราคาแพง

หม้อที่ควรหลีกเลี่ยงคือพวก non-stick จะเคลือบพลาสติก PTFE หรือที่เรียกกันว่า เทฟลอน พลาสติกตัวนี้ ทนความร้อนได้เพียง 260 องศา ถ้าหม้อโดนความร้อนจากเปลวไปนานๆ อุณหภูมิอาจสูงขึ้นไปเกิน 500 องศาเซลเซียส ทำให้พลาสติกกลายเป็นควัน ถ้าสูดดมเข้าไป จะเกิดอาการป่วยเหมือนเป็นหวัด แต่ไม่ถึงตาย

หม้อขนาด 600 cc หุงข้าวกินได้คนเดียว หม้อขนาดเหมาะที่สุดสำหรับพกติดตัว คือ หุงข้าวกินได้ประมาณ 2 คน หรือหุงข้าวกินคนเดียวได้ 2 มื้อ หม้อขนาดเล็กกว่านี้ เวลาไปเจอผักในป่าแล้วต้องการนำมาหุงกิน อาจเล็กเกินไป แต่ถ้าหม้อขนาดใหญ่กว่านี้ จะเริ่มหนักและเทอะทะ ยกเว้นไปกันหลายๆคน

หม้อแบบมีหูหิ้วด้านบน เช่น หม้อสนาม เวลาใช้ให้หาท่อนไม้มาทำที่แขวน แต่ถ้าเป็นหม้อทั่วไปแบบมีหูจับด้านข้าง แขวนไม่ได้ ต้องวางกับพื้น โดยให้หาท่อนไม้ 2 ท่อน มาวางทับกองไฟไว้ เพื่อเป็นฐานรอง พอให้ไฟลอดขึ้นมาได้ แล้ววางหม้อไว้บนท่อนไม้ หรือจะใช้ก้อนหินสัก 3 ก้อนมาวางไว้รอบๆกองไฟ เพื่อใช้เป็นฐานรองหม้อก็ได้ แต่อย่าใช้ก้อนหินเปียก เพราะจะระเบิด

เมื่อหุงข้าวเสร็จแล้ว ควรหม้อข้าวไว้บนกิ่งไม้ที่เรียงกันอยู่บนพื้น อย่างวางไว้กับผ้าพลาสติก เพราะพลาสติกจะละลายได้

เขียง ไม่จำเป็นต้องพกไป เราสามารถหั่นผักกับมือ โดยวางผักลงบนนิ้วชี้ แล้วใช้มีดกดลงบนผัก พอให้ผักขาด แต่มีดไม่บาดนิ้ว หรือ ทำเขียง ได้หลายวิธี เช่น ใช้เปลือกไม้หนาๆพวกวงศ์ไม้ขนุน หรือ ผ่าครึ่งกิ่งไม้ จะได้ด้านเรียบ กิ่งไม้ควรมีขนาดลำต้นกว้างประมาณ มือกำได้ครึ่งหนึ่งของเส้นรอบวง และยาวประมาณข้อมือถึงศอก เพื่อเมื่อหั่นเสร็จแล้ว จะได้ยกไปเทใส่หม้อได้เลย


จานข้าวทำจากใบไม้
ช้อน หากทำอาหารร้อนๆ จำเป็นต้องใช้แบบโลหะ ช้อนที่ดี ควรจะเรียบๆ ไม่มีลวดลาย ไม่มีซอกมุม จะได้ทำความสะอาดง่าย แค่จุ่มน้ำแล้วใช้มือลูบก็สะอาด ไม่ต้องมาเสียเวลาแคะเศษอาหารที่ติดตามซอก และ ควรจะมีความยาวน้อยกว่าปากหม้อ เพื่อที่จะได้เก็บช้อนไว้ในหม้อได้ ช้อนที่มีส้อมในตัวเรียกว่า spork ใช้ตักเส้น พวกก๋วยเตี๋ยวหรือสปาเก็ตตี้

ถ้าไม่มีหม้อหุงข้าว เราสามารถหุงข้าวในกระบอกไม้ไผ่ หรือถุงพลาสติก ส่วนวิธีอื่นๆที่ช่วยทำให้อาหารสุก เช่น นำก้อนหินไปเผาไปจนร้อน แล้วนำมาคลุกกับอาหาร หรือ ขุดหลุมใส่ทราย นำอาหารไปฝังไว้ในทราย แล้วก่อไฟไว้ข้างบน เพราะทรายจะนำความร้อนได้ดีกว่าดิน ถ้าไม่ต้องการให้อาหารเปื้อน ให้ห่อไว้ด้วยใบไม้หรือมอสแผ่น หรือ ทอดอาหารบนก้อนหินเรียบๆ แล้วก่อไฟไว้ใต้ก้อนหิน

วิธีหุงข้าวด้วยถุงพลาสติกคือ ใช้ถุงร้อน กลับข้างในออกข้างนอก ใส่ข้าวและน้ำปริมาณเท่ากับหุงข้าวในหม้อปกติ พับปากถุงแล้วใช้ไม้เสียบปากถุงเป็นรอยเย็บ เพื่อไม่ให้ถุงเปิด แต่พอให้อากาศระบายได้ นำไปวางใกล้ๆกองไฟ ในระยะห่างเพียงพอที่ถุงจะได้รับความร้อนโดยไม่ละลาย ทิ้งไว้สักพักน้ำในถุงจะเดือดเอง ถึงแม้ว่าน้ำไม่เดือด ข้าวจะค่อยๆดูดน้ำจนพองแล้วสุก วิธีนี้ต้องผ่านการฝึกฝน มิฉะนั้น อาจจะอดกินได้

วิธีกินข้าวโดยไม่ต้องล้างจาน คือ ใช้ใบไม้ขนาดใหญ่ อย่างเช่น กาบไผ่ หรือใบตอง มาปูรองบนจาน

ถ้าไม่มีจาน เราสามารถทำจานได้หลายวิธี เช่น นำใบไม้ทรงแบนกลมมาม้วนเป็นรูปกรวยหรือกระทง แล้วผ่าปลายกิ่งไม้เล็กน้อยนำมาหนีบไว้ หรือ จะเย็บด้วยเศษไม้ที่เหลาเป็นชิ้นเล็กๆก็ได้ หรือ นำใบไม้ยาวๆ มาสานเป็นจานชาม ถ้าจะให้กันน้ำได้ ให้นำน้ำมันยางซึ่งได้จากพืชตระกูลยาง มาทาตรงรอยต่อด้านนอกเพื่ออุดรู น้ำมันยางที่จะใช้อุดรู ควรจะใช้ผ้าขาวกรองออกมา

ถ้าไม่มีช้อน เราสามารถใช้มือกินข้าว หรือ เหลาไม้มาทำเป็นตะเกียบ หรือ ทำช้อนไม้โดยเริ่มจากทำหลุมขึ้นมาก่อน อาจจะใช้มีดแกะสลักไม้ หรือ ใช้ไฟจี้ไม้ให้เป็นหลุม โดยนำกิ่งไม้แห้งไปลนไฟจนปลายร้อนแดง  แล้วนำมาจี้ เมื่อได้รูแล้ว จึงค่อยใช้มีดแกะส่วนที่เหลือ

ตะเกียบยังสามารถใช้จับของแทนคีมได้ ทั้งของร้อน หรือ ไม้ที่มีหนาม

ถ้าไม่มีส้อม เราสามารถเหลาไม้เป็นไม้จิ้มฟันแทนได้

ถ้ามีกิ่งไม้และก้อนหินมากพอ นำมากองรวมกันเป็นเนิน แล้วใช้ดินกลบ ทำเป็นโต๊ะได้

อาบน้ำ แปรงฟัน

เมื่อถึงที่พักแล้ว ควรรีบอาบน้ำแปรงฟันจัดที่พักก่อนค่ำ การอาบน้ำในช่วงเย็น น้ำจะยังอุ่นอยู่ แต่ถ้าพระอาทิตย์ตกไปแล้ว น้ำจะเริ่มเย็น การอาบน้ำเวลากลางคืนนอกจากจะต้องเจอสัตว์เลื้อยคลานเช่นงูหรือตะขาบ แล้ว ช่วงหัวค่ำคือช่วงที่แมลงออกหากิน อาจจะโดนยุงหรือริ้น กัดจนลายไปหมดทั้งตัว ถ้าอาบน้ำก่อนค่ำ ยังมีเวลาเหลือแต่งตัวให้มิดชิดป้องกันแมลง ถ้าหากต้องใช้เวลาเดินทางมากๆ ควรจะรีบออกเดินทางตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น

การอาบน้ำในลำธารตอนกลางคืน ควรหาเพื่อนอีกคน ช่วยส่องไฟให้ และ คอยยืนดูความปลอดภัย ไฟฉายกระบอกเดียวส่องในน้ำก็พอ แต่ถ้าส่องหัวส่องท้ายได้ยิ่งดี ถ้าส่องดูจนทั่วแล้วไม่มีอะไร ก็คือไม่มีอะไร ธรรมชาติง่ายๆแบบนี้ จะไม่มีอะไรโผล่ออกมาอีกเหมือนในหนัง ยกเว้นระหว่างอาบน้ำ อาจมีสัตว์แถวนั้นผ่านมา เหตุการณ์ที่ผมเคยเจอมากับตัวเอง คือ ขณะส่องไฟให้เพื่อนที่อาบน้ำในลำห้วยกลางป่าเขาใหญ่อยู่นั้น เจองูเหลือมตัวหนึ่งว่ายตามน้ำมาบนผิวน้ำ โชคดีที่ผมเห็นผิวน้ำกระเพื่อมผิดปกติ จึงส่องไฟไปเจอเสียก่อน เพื่อนที่อยู่ในน้ำจึงกระโดดหนีขึ้นมาจากน้ำได้ทัน แล้วใช้ก้อนหินปาลงน้ำตรงหน้ามัน มันจึงตาเหลือกว่ายทวนน้ำหนีไป

ถ้าอาบน้ำคนเดียวตอนกลางคืน การวางไฟฉายไว้บนก้อนหิน อาจจะลื่นหรือส่องไม่ทั่ว ควรหาไม้มาปักไว้  แล้วเสียบไฟฉายลงบนง่ามไม้ส่องมายังจุดที่อาบน้ำ หรือ ทำสามขาแล้วแขวนไฟฉายไว้ หรือ ใช้เทียน ปักไว้ตามก้อนหิน หรือ ขึงเชือกข้ามลำห้วย แล้วแขวนไฟฉาย และเสื้อผ้า ไว้กับเชือก

การอาบน้ำในป่า ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าเช็ดตัว เพราะนอกจากแบกหนักแล้ว เวลาเปียกจะหนักเพิ่มขึ้น และเหม็นอีกด้วย ผ้าที่เปียก แล้วตากไว้ในป่าที่ชื้นๆ ตอนเช้าจะยังไม่แห้ง ถ้าหมกใส่เป้แล้วเดินต่ออีกวัน ผ้าจะเหม็น แต่ถ้าใส่ไว้ในถุงตาข่ายข้างเป้ มีสิทธิ์เปื้อนดิน ดังนั้น อาบน้ำเสร็จแล้ว ให้ใช้มือลูบตัวแทน ถ้าผมสั้น ใช้มือลูบ แล้วทิ้งไว้สักพักจะแห้ง แต่ถ้าผมยาว จำเป็นต้องใช้จริงๆ อาจพกผ้าผืนเล็กๆ  บางๆ ไม่มีขน ไปสักผืน ผืนเล็กจะเบา และ ผืนบางๆ จะแห้งง่าย

แปรงสีฟันสำหรับเดินทาง
มีฝาครอบถอดมาทำด้ามได้

และ ไม่จำเป็นต้องพกเครื่องสำอางพวก สบู่ ยาสีฟัน  ยาสระผม ไปด้วยให้หนัก น้ำในลำห้วย เพียงพอแล้วที่จะล้างตัวไม่เหม็นหรือเหนียวเวลานอน การแปรงฟันก็เช่นกัน ใช้แปรงสีฟันอย่างเดียว ไม่ต้องใช้ยาสีฟัน ก็สะอาดได้ แถมลดความยุ่งยาก หลักสำคัญที่จะป้องกันฟันผุ ได้ดีกว่าการแปรงฟัน คือการบ้วนปากหลังกินข้าว อย่าให้มีเศษอาหารติดฟัน เมื่อตัดเครื่องสำอางเหล่านี้ออกไปแล้ว เหลือแต่แปรงสีฟันเพียงอย่างเดียว น้ำหนักของสัมภาระจะลดลงได้อีกเกือบครึ่งกิโลกรัม แถมยังช่วยให้ไม่มีสารเคมีปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง ที่ชาวบ้านอาจอาศัยกินน้ำในลำห้วย

ถึงแม้ว่าจะอาบน้ำโดยไม่ใช้สบู่ แต่ควรจะพกสบู่ไปเล็กน้อย เผื่อต้องล้างมือ และ สบู่จะมีประโยชน์ ในป่าที่มีแมงแดง เพราะแมงแดง โดนสบู่แล้วจะหลุด แต่ไม่ควรพกสบู่เหลวหรือยาสระผมและน้ำยาล้างจานเข้าไป เพราะจะเพิ่มน้ำหนักโดยไม่จำเป็น สบู่เหลวก็คือสบู่แข็งผสมน้ำ 4-5 เท่า ส่วนยาสระผมหรือน้ำยาล้างจานก็คือผงซักฟอกผสมน้ำ กลายเป็นของเหลวที่เรียกว่า N70 แถมของเหลวยังมักจะหกเลอะเทอะง่าย ถ้าโดนกระแทก อาจทำให้ขวดพลาสติกแตก สบู่เหลวจะเหมาะสำหรับการเดินทางด้วยรถ ต้องรีบอาบรีบเก็บของ ไม่มีเวลาตากสบู่ แต่การในเดินป่า สบู่ก้อนจะดีที่สุด เพราะว่าเวลาโดนบีบแล้วไม่แตกเลอะเทอะ แต่ควรจะใส่ถุงพลาสติกไป เวลาเปียกจะได้ไม่เลอะเทอะ เวลาเปียกแค่นำมาวางบนก้อนหินให้แห้งสักพักก่อนใส่ถุงพลาสติก และ ถ้าไม่จำเป็นต้องพกสบู่ก้อนใหญ่ไป ให้ใช้มีดตัดแบ่งออกมา สบู่ก้อนเดียวใช้ได้ทั้งอาบน้ำ สระผม ล้างจาน เพราะมีหน้าที่เหมือนกันคือ ละลายไขมัน

ปัญหาของสบู่คือ เวลาเจอน้ำกระด้างในบางพื้นที่ จะไม่มีฟอง ล้างไม่ออก ทั้งสบู่ก้อนและสบู่เหลวที่ทำจากน้ำมันพืช (สังเกตุว่าจะมีสีขุ่นทึบ และมีส่วนผสมอย่างพวก sodium palmitate คือสบู่ที่ทำจากน้ำมันปาล์มทำปฎิกริยากับโซดาไฟ) วิธีแก้ปัญหาน้ำกระด้างคือ ใช้สบู่กลีเซอรีนซึ่งมีลักษณะค่อนข้างใส หรือซื้อสารเคมีที่ชื่อ sodium lauryl sulfate (SLS) ซึ่งเป็นส่วนผสมของผงซักฟอก, สบู่เหลวหลายยี่ห้อ, และยาสระผมทุกยี่ห้อ หาซื้อได้ตามร้านขายสารเคมี แต่ต้องซื้อครั้งหนึ่งเป็นกิโล สบู่น้ำมันหรือกลีเซอรีนจะเป็นสารธรรมชาติที่ย่อยสลายง่าย จึงมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด ต่างจาก SLS ที่เป็นสารสังเคราะห์ใช้เวลาย่อยสลายนานและมักกลายเป็นฟองอยู่บนผิวน้ำ

ถ้าทางลงไปการอาบน้ำเป็นดินลื่น ให้นำก้อนหินหรือกิ่งไม้มาวางเรียง จะใช้วัสดุใด ขึ้นอยู่กับว่า มีวัสดุใดอยู่ใกล้ ถ้าตลิ่งเป็นโคลน ให้นำก้อนหินมาวางเรียงจนเป็นสะพานยื่นลงไปในน้ำ

รองเท้า

รองเท้าเดินป่า แตกต่างจากรองเท้าทั่วไปที่ใส่เดินพื้นราบตรงที่ ควรมีหัวแหลม เพื่อเวลาลงเขาแล้ว เล็บเท้าจะต้องไม่ชนกับหัวรองเท้า มิฉะนั้นจะทำให้เล็บหลุดได้ นอกจากนี้ ควรจะหนาและสูงพอ เพื่อป้องกันงูกัด และ ป้องกันพยาธิไชเข้าไปในเท้า แต่ควรมีผ้าอยู่สูงพอที่จะใช้ฉีดยาป้องกันเห็บหรือทากโดยไม่เปื้อนดิน เทียบรองเท้าใส่ในเมืองได้กับรถขับเคลื่อน 2 ล้อ ที่ใช้บนถนนลาดยางได้สบาย แต่พอไปตามทางลูกรังเจอหล่ม หรือเจอทางชันๆ ฝุ่นหนาๆ มักจะไปไม่รอด รถออฟโรดจึงต้องใช้แบบขับเคลื่อน 4 ล้อ

รองเท้าที่ไม่ควรใส่ คือ รองเท้าเปิดหัว เนื่องจากอาจเตะก้อนหินเลือดสาดได้ ที่สำคัญ คือโดนงูกัด คนส่วนใหญ่จะโดนงูกัดที่นิ้วเท้า เนื่องจากธรรมชาติของงูจะกัดใกล้ๆกับสิ่งที่มาโดนตัวมัน หลายคนใส่รองเท้าเปิดหัว เนื่องจาก เคยฝังใจจากการใส่รองเท้าไม่ดี ทำให้เวลาลงเขาแล้วรองเท้ากัดเล็บ วิธีป้องกันรองเท้ากัดเล็บที่ถูกต้องคือ หารองเท้าหัวแหลม หรือ ถ้าจำเป็นต้องใส่รองเท้าหัวทู่ เวลาเดินลงเขาพยายามอย่าใช้หัวนิ้วเท้าลงตรงๆ ควรใช้ข้างเท้าหรือส้นเท้าลง แต่วิธีนี้จะเดินไม่เต็มเท้า ทำให้ทรงตัวไม่ดี

รองเท้าหุ้มส้น คือ หุ้มไม่ถึงข้อเท้า ไม่เหมาะใช้เดินป่า เพราะ เดินไปนานๆมีโอกาสกัดหลังข้อเท้าเป็นแผลได้  เวลาลุยน้ำมีโอกาสที่น้ำเข้าง่าย พอน้ำเข้าแล้วไม่ออก ถอดอีกทีเท้าเปื่อยไปแล้ว เวลาลุยโคลน อาจจะจมลึกลงไปถึงข้อเท้า ทำให้โคลนและพยาธิเข้าไปในรองเท้า เวลาเดินเลาะริมลำธาร ก็จะมีกรวดทรายเข้าไปในรองเท้าได้ง่าย กรวดทรายในรองเท้าจะเป็นเหมือนกระดาษทราย ที่เสียดสีจนเท้าเป็นแผล แม้แต่รองเท้าหุ้มข้อเตี้ยๆก็ยังเจอปัญหาเหล่านี้ โดยเฉพาะ รองเท้ายางหล่อสีดำหุ้มส้น  ที่พื้นเหมือนรองเท้าเตะบอล ที่บางคนเรียกว่าสตั๊ดดอย เดินได้แค่วันเดียวขอบรองเท้าจะเสียดสีจนข้อเท้าเป็นแผล พอเป็นแผลแล้ว วันต่อไปจะเดินลำบาก แต่ที่เราเห็นชาวบ้านบางคนชอบใส่รองเท้ายางหล่อแบบนี้ เพราะเหตุผลหลักคือ ราคาถูก และพื้นรองเท้ายึดเกาะดินหรือหินแห้งๆ ได้ดีพอสมควร แต่ถ้าเจอโคลนหรือหินเปียกก็แย่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนก็ใส่ตามชาวบ้าน เพื่อเวลาตามจับพวกลักลอบตัดไม้ รอยเท้าจะได้แยกกันไม่ออก พอเท้าเจ็บก็อาศัยทนๆเอา หรือหาวิธีแก้ขัดไป

หินลื่น มักต้องเจอตลอดเส้นทางเดินป่า เนื่องจากในป่าจะเป็นพื้นดินสลับกับก้อนหิน พื้นดินไม่มีปัญหา ถึงแม้ว่าดินจะเปียก อาจลื่นบ้างแต่พอทรงตัวอยู่ได้  หินแห้งจะไม่ลื่น ใส่รองเท้าอะไรก็ได้ หินลื่นคือ
วิธีป้องกันเท้าพลิกเวลาเดินตามที่ลื่นๆ คือ พยายามจับต้นไม้หรือก้อนหินไว้ก่อน แล้วค่อยก้าวเท้าออกไป ขยับเท้าให้แน่ใจว่า ก้าวต่อไปจะไม่ลื่น แล้วจึงค่อยเหยียบเต็มเท้า

วิธีทำให้รองเท้าเกาะหินเปียกได้ดีมาก คือ หารองเท้าพื้นเรียบ ใช้คัตเตอร์กรีดพื้นรองเท้าให้เป็นเส้นๆ ในแนวตั้งฉากกับความยาวรองเท้า รองเท้าประเภทนี้ที่มีวางขายอยู่ เช่น vibram fivefingers หรือพวกรองเท้าผ้าใบนันยางสามารถใช้แทนกันได้

รองเท้าที่มีดอกยางลึกๆ ไม่มีประโยชน์ในการเดินป่า ถ้าเหยียบโคลน โคลนจะฝังในร่องดอกยาง จนกลายเป็นรองเท้าพื้นเรียบ และจะลื่นไม่ต่างจากรองเท้าพื้นเรียบ

ทากอย่างเดียว หรือ เห็บอย่างเดียว ป้องกันได้ไม่ยาก ใส่รองเท้าอะไรก็ได้แล้วฉีดยาที่รองเท้าหรือถุงเท้าไว้ แต่ถ้ามีทั้งทากและเห็บ จะเริ่มมีปัญหา เพราะว่ายากันทาก และยากันเห็บ เป็นคนละตัวกัน และผสมกันไม่ได้ เพราจะทำปฎิกริยากลายเป็นสารที่มีอันตราย จำเป็นต้องฉีดแยกพื้นที่กัน ถ้าใส่รองเท้าผ้าใบ ใส่ถุงกันทากทับถุงเท้าไว้ จะช่วยให้แก้ขัดได้ ถุงกันทาก ควรรัดถึงแค่ใต้หัวเข่าพอแล้ว ไม่มีประโยชน์ที่จะใช้แบบที่รัดเหนือหัวเข่า เพราะเหนือหัวเข่า จะเรียวลงมา ไม่มีร่องขาให้ยึดเหมือนใต้หัวเข่า เวลาเดินไปส่วนที่รัดเหนือหัวเข่า จะรูดลงมาเรื่อยๆจนชนหัวเข่า เหตุผลที่แท้จริงของส่วนที่รัดเหนือหัวเข่าคือ ออกแบบมาเพื่อใส่ยาฉุน เวลาเดินป่าหน้าฝน ยาฉุนจะโดนน้ำฝน ละลายลงไปด้านล่างเพื่อกันทาก แต่ปัจจุบันเราไม่ใช้ยาฉุนแล้ว เพราะเลอะเทอะ และใช้ยาก ต้องจุ่มน้ำ แล้วนำมาทา ดังนั้น ถ้าถุงกันทากสูงกว่าหัวเข่า ควรจะตัดทิ้งเสีย เวลาเดินจะได้ไม่เกะกะ รูดลงไปกองอยู่ใต้หัวเข่า ทำให้ต้องคอยดึง ข้อเสียของถุงกันทากที่ทำจากผ้าดิบหรือผ้าไนล่อนคือลื่น ทำให้เดินลำบาก และ ด้วยความลื่น ทำให้เวลาเดิน เท้าต้องเลื่อนไปข้างหน้าบ้างข้างหลังบ้าง  สุดท้ายถุงมักจะขาดตรงบริเวณรอยเย็บที่เท้า

รองเท้าเดินป่าที่ดี ควรมีพื้นหนาเพื่อเวลาเหยียบก้อนหินแหลมๆจะได้ไม่เจ็บเท้า และป้องกันหนามหวายตำทะลุขึ้นมาที่เท้า

เท้าเปียกน้ำ เกิดจากลุยน้ำสูงกว่ารองเท้า หรือ ฝนตกนานๆ รองเท้าที่ป้องกันเท้าเปียกได้ดีคือ รองเท้าบูทยาง ฝรั่งเรียกรองเท้าพวกนี้ว่า rain boot  เน้นว่า ต้องหัวแหลมซึ่งเป็นรองเท้าบูทของผู้หญิงเท่านั้น เพราะถ้าเป็นหัวกลม เวลาเดินลงเขา เล็บจะไปชนกับหัวรองเท้า

ข้อดีของรองเท้าบูทยาง คือ แห้งง่าย แค่เทน้ำออกแล้วสะบัดก็แห้งหมาดๆแล้ว ถอดง่ายใส่ง่าย และกันงูกัดได้ระดับหนึ่ง  สาเหตุที่คนไม่ชอบใส่รองเท้าบูทยางเพราะกลัวร้อน แต่สาเหตุที่แท้จริงเกิดจากเขาไม่ใส่ถุงเท้า ถุงเท้าจะช่วยซับเหงื่อและป้องกันการเสียดสี ถ้าใส่ถุงเท้ากับรองเท้าบูทยางแล้วรับรองว่าเดินสบายทั้งวัน ไม่โดนรองเท้ากัดด้วย ถุงเท้าที่จะใช้กับรองเท้าบูทยาง ควรเป็นถุงเท้าเตะบอล ยาวถึงหัวเข่า เพื่อจะได้ป้องกันการเสียดสีระหว่างขอบรองเท้าบูทกับหน้าแข้ง แต่ถ้าอากาศร้อน พอเดินไปนานๆ นิ้วเท้าอาจเสียดสีกันเองทำให้เป็นแผลพุพองได้เช่นกัน ควรเปลี่ยนมาใช้ถุงเท้าแบบสวมนิ้วเท้าได้ทั้ง 5 นิ้ว

ปัจจุบันเห็นมีรองเท้าบูทยางหัวแหลมขายเพียงยี่ห้อเดียวคือของ arrow หาซื้อได้ตามร้านขายรองเท้าในตลาดต่างจังหวัด ราคาคู่ละร้อยกว่าบาท ถ้าหาซื้อในเมืองหลวงอาจจะไม่มีแบบให้เลือก เพราะว่าคนที่ใส่รองเท้าแบบนี้คือชาวนา ชาวสวน และชาวเขา ข้อเสียของรองเท้ารุ่นนี้คือ ดอกยางออกแบบมาไม่ดี ทำให้เวลาเดินจะลื่นได้ง่าย เรื่องลื่นนั้นเราไม่ค่อยกังวลมากนักเพราะใช้ไม้เท้าช่วยพยุง หรือจับต้นไม้ก้อนหินไว้ได้ และเมื่อเดินจนชินกับรองเท้าแล้ว ร่างกายจะปรับการเดินไม่ให้ลื่นได้เอง แต่ข้อเสียที่สำคัญจริงๆคือพื้นบาง หากเดินตลอดทั้งวันอาจจะต้องงอเท้าบ่อยๆจนเมื่อยเท้าได้เหมือนกัน และถ้าเหยียบหินแหลมๆ จะรู้สึกได้ง่ายกว่ารองเท้าพื้นหน้า จึงควรติดรองเท้าสำรองพวกรองเท้าแตะที่ทำด้วยโฟม eva พื้นหนาๆไปอีกคู่เผื่อเจ็บเท้า

รองเท้าบูทยางดัดแปลง
โดยนำถุงกันทากมาเย็บต่อ
เพื่อใช้ฉีดยากันเห็บและทาก

รองเท้าบูทยางถ้าเจอฝนปรอยๆทั้งวันเท้าก็ยังแห้งอยู่ แต่ถ้าเจอฝนตกหนักๆ มีโอกาสกลายเป็นอ่างเก็บน้ำได้ ถ้าไม่กังวลนักก็เดินไปเทไป แต่ถ้าจะป้องกัน ให้หาผ้ามารัดตั้งแต่ใต้หัวเข่าลงไปจนคลุมรองเท้า ถ้าตัดถุงกันทากมาเย็บต่อกับรองเท้า(เหมือนในรูป)ได้จะดีมาก เพราะสามารถฉีดยากันได้ทั้งทากและเห็บและ ยังกันฝุ่นและทรายเข้าไปเสียดสีในรองเท้าได้อีกด้วย หรือถ้าไม่ต้องการดัดแปลง อย่างน้อยให้หาผ้าหรือพวก headband มาคล้องข้อเท้าไว้แล้วค่อยฉีดยา แต่ผ้าที่เป็นขุยๆเช่น headband เวลาเดินป่าทุ่งหญ้าจะเจอดอกหญ้าติดมาด้วย

รองเท้าผ้าใบแบบที่มีฟองน้ำอยู่ข้างใน ซึ่งราคาแพงนั้น มี 2 แบบ แต่ละแบบเหมาะสำหรับการใช้งานแตกต่างกันไป เช่น
รองเท้าที่ข้างในอมน้ำ ชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไม่นิยมใช้กัน แม้แต่พวกฝรั่งที่เดินป่าก็มีปัญหาแบบเดียวกันคือ ต้องลุยน้ำเกินความสูงของรองเท้าจะทำให้ด้านในเปียก พวกฝรั่งที่มีประสบการณ์จึงนิยมใช้รองเท้าที่แห้งเร็ว ซึ่งได้แก่รองเท้าแบบ nylon mesh รองเท้าที่แห้งเร็วที่สุด คือรองเท้าที่มีรูระบายน้ำออกทางด้านข้างติดกับพื้นรองเท้า เวลาเดินน้ำจะรีดออกทางด้านข้างพื้นรองเท้า แต่ไม่ควรใช้รองเท้ามีรูด้านข้าง เพราะฝุ่นทรายเข้าไปได้ และทากจะมุดเข้าไปจนเต็มด้านในรองเท้า ขนาดรองเท้าผ้าใบหุ้มข้อ ทากยังมุดเข้าไปตามข้อเท้าและรูร้อยเชือกได้

รองเท้าผ้าใบราคาแพง ที่วางขายตามห้าง นิยมใช้กันในหมู่นักเดินทางที่ขาดประสบการณ์ ใส่เดินเล่นอยู่ตามสถานที่ท่องเที่ยวที่จัดไว้ ดูเผินๆเหมือนจะสมบุกสมบัน แต่นักผจญภัยแท้ๆ จะไม่ใช้กัน ถึงแม้จะเป็นรองเท้าหุ้มข้อ ก็ยังเตี้ยเกินไป สามารถเปิดให้ฝุ่นหรือน้ำเข้าไปในรองเท้า ถ้าทรายเข้าไป จะกัดเท้าเป็นแผลได้ รองเท้าพวกนี้ มักจะมีหลายชิ้นส่วนประกอบกัน พื้นรองเท้าติดกาวแยกจากผ้าใบหุ้มเท้า รองเท้าเก่าเดินไปแล้วอาจพื้นอ้ากลางทาง เมื่อพื้นอ้า แก้ไขด้วยการใช้เชือกมัดไว้หรือติดกาวยูรีเทน นอกจากนี้ รองเท้าพวกนี้จะเปิดขากางเกงให้สัตว์เลื้อยคลานไต่ขึ้นมา วิธีแก้ขัดเบื้องต้น คือ ใส่ถุงกันทากไว้ข้างใน  รองเท้าที่ใช้ผจญภัยจริงๆ ไม่ว่าจะเดินป่าหรือปีนภูเขาหิมะ จะต้องสูงถึงใต้หัวเข่า เพื่อกันฝุ่นทรายจากพื้น ถึงแม้จะหุ้มสูงถึงหัวเข่า แต่ถ้าปลายเปิดอ้าไว้ ฝุ่นทรายก็มีโอกาสเข้าไปได้ ต้องรัดปลายติดกับขาไว้ รองเท้าที่ออกแบบมาพิเศษพวกนี้ นักท่องเที่ยวฉาบฉวยทั่วไปไม่ใช้กัน จึงไม่มีขายตามร้านค้าทั่วไป

รองเท้าเดินป่าที่ดี  พื้นด้านหน้าและด้านหลังควรจะอยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ควรมีส้น เพราะรองเท้ามีส้น เวลาเดินหรือยืนบนทางราบ เท้าจะดันไปข้างหน้า ทำให้เท้าไหลไปชนกับหัวรองเท้า ทำให้เจ็บปลายเท้าได้ง่าย


รองเท้าโฟมฉีด EVA
น้ำหนักเบา ใส่ลุยน้ำ
เกาะหินดี ใส่เดินป่า
ป้องกันหนามได้
รองเท้าบูทยางคู่เดียว ถือว่าพอแล้วกับทุกสถานการณ์ เวลาอยู่ที่พักก็ใส่ได้ จะช่วยป้องกันสัตว์เลื้อยคลานจากพื้นได้ดี โดยเฉพาะเวลากลางคืน ใส่รองเท้าบูทยางจะป้องกันงูกัดข้อเท้าได้  คนส่วนมากมักโดนงูกัดที่เท้าตอนกลางคืน ผมเคยเจอคนที่ โดนงูตัวใหญ่พอสมควร โผล่ออกมาจากข้างทาง มาฉกที่เท้าแต่ฉกไม่เข้าเพราะเขาใส่รองเท้าบูทยางหุ้มข้ออยู่ เวลาเหยียบรังมดก็ยังช่วยป้องกันมดไต่ขึ้นขาได้ดี เพราะ มดที่เจอรองเท้าบูทยาง มักจะไม่ไต่ขึ้นมาสูง แต่รองเท้าบูทยางไม่สามารถป้องกันเห็บและแมงแดงได้ดีนัก ส่วนใหญ่ยังคงไต่ขึ้นมาตามสัญชาติญาณล่าเหยื่อ

ถ้ากังวลว่ารองเท้าจะหายหรือขาด ควรจะพกไปเผื่ออีกคู่ เคยมีกรณีที่รองเท้าลอยน้ำไป ถึงเวลานั้น ถ้าไม่อยากเดินเท้าเปล่าออกมา ก็ต้องหาผ้ามาพันเท้าไว้พอจะช่วยกันหนามได้บ้าง รองเท้าสำรองคู่นี้ต้องสามารถเดินป่าได้ด้วย จึงไม่ควรใช้รองเท้าหัวเปิด เพราะเวลาอยู่ที่พัก อาจจะไปเตะก้อนหิน หรือตอไม้ ทำให้เล็บเท้าเป็นแผลได้ แค่เดินไปเกี่ยวต้นหนามที่พื้นแล้วหนามหักติดเท้ามา ก็ทำให้เท้าเจ็บและบวมแล้ว พอเจอโคลนก็มีโอกาสเท้าเลอะได้ง่าย เพราะรองเท้าแตะหัวเปิดส่วนใหญ่พื้นจะค่อนข้างเตี้ย ใครที่เคยใส่รองเท้าแตะหัวเปิดเดินในป่าจะรู้ดี แนะนำให้ใช้รองเท้าโฟมฉีด EVA แบบกึ่งแตะ คือหุ้มหัวไว้ แต่ไม่หุ้มส้น มีสายรัดส้นซึ่งจะขาดง่ายตรงรอยต่อ เมื่อขาดแล้วก็แค่หาเชือกมาผูกไว้ เดินต่อไปได้ ข้อดีของรองเท้าแบบนี้คือน้ำหนักเบา ส่วนหัวหุ้มเท้าไว้ป้องกันเตะก้อนหิน และกันงูที่มากัดเท้าได้ระดับหนึ่ง (ผมเคยใส่แบบนี้เหยียบงูตัวเล็กๆตอนกลางคืน รู้สึกว่ามีอะไรมาฉกที่ด้านบนของรองเท้า จึงก้มลงไปดู พบงูเลื้อยหนีไป แต่ไม่มีแผลโดนกัด) แต่จะกินที่ในเป้พอสมควร ถ้าเป้มีที่เหลือก็ควรจะพกไว้ เวลาต้องการใช้ขึ้นมา จะมีประโยชน์มาก เวลารองเท้ากัดต้องเปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะ หรือ เวลาต้องเดินบนฝั่งสลับกับลุยน้ำบ่อยๆ รองเท้าบูทจะขังน้ำไว้ ทำให้หนัก เปลี่ยนมาใส่รองเท้าแตะจะสบายกว่า

แต่ข้อเสียของรองเท้าเปิดส้น คือเวลาเจออากาศหนาวๆ อาจส้นเท้าแตก เมื่อส้นเท้าแตกแล้วจะเจ็บ ทำให้ต้องเดินเขย่ง วิธีป้องกันส้นเท้าแตก คือใส่รองเท้าหุ้มส้น หรือ ถ้าใส่รองเท้าเปิดส้นให้ใส่ถุงเท้าไว้ตลอดเวลา ถ้าส้นเท้าแตกไปแล้ว ใส่ถุงเท้าไว้ 1-2 วัน จะเริ่มดีขึ้น

รองเท้าที่น้ำเข้าได้ง่าย ไม่ควรใส่เดินป่า เพราะ ถ้าเท้าเปื่อยหรือมีแผล เชื้อโรคในน้ำจะสามารถเข้าไปได้ ผมมีเพื่อนใส่รองเท้าแตะคลุมแค่ปลายเท้า เดินป่าที่เขาใหญ่ ลุยน้ำลุยโคลนบ้าง แต่เท้ามีแผลเพราะโดนยุงและแมงแดงกัด พอออกจากป่าแล้วไข้ขึ้นหนาวสั่น ตรวจเลือด(ทั้งแบบ rapid และ pcr) ที่ รพ.เวชศาสตร์เขตร้อน พบว่าเป็นโรคฉี่หนู

เวลาอยู่ในป่า อย่าเดินเท้าเปล่า ควรใส่รองเท้าอยู่เสมอ เท้าเปล่าอาจจะโดนหนามตำ โดนเศษไม้บาด ส่วนบนพื้นดินที่เฉอะแฉะ อาจมีตัวอ่อนของพยาธิ เช่น พยาธิปากขอที่อยู่ในลำใส้ของสัตว์ถ่ายออกมาทางอุจจาระ เจาะเข้าไปในผิวหนัง ทำให้เราเป็นโรคต่างๆตามมา นอกจากนี้ บนผืนป่ายังเปียก แม้แต่บนก้อนหินก็ยังปกคลุมด้วยตะไคร่น้ำเปียกๆ การเดินเท้าเปล่านานๆจะทำให้เท้าเปื่อย ถ้าอากาศหนาว ร่างกายจะสูญเสียความร้อนจากเท้าลงสู่พื้นดินได้ง่าย

ก่อนออกเดินทางจากบ้าน ควรทดลองใส่รองเท้าพร้อมถุงเท้าแบบเดียวกับที่ใส่เดินป่า ทดลองเดินดูว่า มีส่วนใดของเท้าที่เกิดการเสียดสี ถึงแม้ว่าจะรู้สึกเจ็บเพียงเล็กน้อย แต่ถ้าเดินไปแค่วันเดียว จะกลายเป็นแผลพุพองได้ ควรเปลี่ยนรองเท้า

เท้าเป็นจุดที่สำคัญที่สุดในการเดินทาง เราจึงควรรักษาเท้าไว้ให้ดีที่สุด ถ้ารองเท้ากัดเล็บ หรือ ไม่ใส่รองเท้า แล้วลื่นล้ม นิ้วเท้าไปกระแทกหินบวม หรือ เหยียบหนาม หรือ โดนสัตว์เลื้อยคลานกัด การเดินทางครั้งนั้น จะเริ่มมีปัญหาทันที อาจเดินกระเผก ต้องทนเดินไปทั้งที่เท้่าเจ็บ ถ้าเดินไม่ได้ ต้องหยุดอยู่กับที่ หมายถึงเดินออกจากป่าไม่ได้ด้วย

GPS

หน้าที่ของ gps คือ ช่วยให้มองเห็นปลายทาง และภูมิประเทศรอบข้าง ที่มองไม่เห็นด้วยตา เพราะในป่ามีต้นไม้บัง เวลาอยู่ตามที่โล่ง มองเห็นจุดหมายปลายทางได้ เราสามารถเดินไปหาปลายทางโดยไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรเลย ถึงแม้จะมองไม่เห็นปลายทาง แต่ถ้ามองเห็นแนวภูเขารอบข้าง เราก็สามารถใช้ภูเขาเหล่านั้นเป็นหลักอ้างอิงได้ แต่เวลาอยู่ในป่า มักจะมองไปได้ไกลไม่เกิน 10 เมตร เมื่อไม่เห็นจุดหมาย และไม่คุ้นเคยกับภูมิประเทศ ย่อมเหมือนหลับตาเดิน ต้องใช้การคาดคะเนอย่างเดียว การคาดคะเนจะต้องเสียเวลาไปกับการสำรวจและหลงทาง  คนที่เดินป่าในที่ๆไม่เคยไป โดยไม่มี gps ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์สูง ก็สามารถเดินหลงไปโผล่ผิดที่อยู่เสมอ เหมือนเวลาขับรถไปในสถานที่ๆไม่เคยไป ขนาดมีป้ายบอกทาง ยังหลงไปหลงมา แต่ถ้ามี gps ก็จะช่วยได้มาก

พอมี gps ถึงแม้จะมองไม่เห็นปลายทางด้วยตา เราก็ยังสามารถดูจากหน้าจอได้ว่า ปลายทางอยู่ทางทิศไหน อยู่ไกลเท่าใด ถ้า gps ใส่แผนที่ทหารไว้ด้วย ก็สามารถจะดูได้ว่า สภาพภูมิประเทศรอบข้างเป็นอย่างไร สันเขาอยู่ตรงไหน ลำธารอยู่ตรงไหน โดยไม่ต้องเสียเวลาปีนต้นไม้ดูวิว หรือ เดินเข้าไปสำรวจ จะเห็นว่า gps เหมาะสำหรับพื้นที่ๆไม่เคยไปมาก่อน แต่ถ้าเคยไปมาครั้งหนึ่ง จำสภาพภูมิประเทศได้ จำภูเขาต้นไม้ก้อนหินได้หมดแล้ว gps จะไม่จำเป็น ถ้ารู้สภาพภูมิประเทศ  อาศัยเดินมองซ้ายมองขวาจะสะดวกกว่า แม้แต่สัตว์ป่าเวลาเดินในป่า ก็อาศัยความจำ เช่น เมื่อถึงทางแยก อาจจะมีต้นไม้รูปทรงแปลกๆ หรือก้อนหินประหลาดอยู่ แต่สัตว์จะเก่งกว่าคนตรงที่อาศัยดมกลิ่นได้ด้วย ผมเคยเห็นชาวบ้านที่เดินเข้าไปในน้ำตกโกรกอีดก ส่วนหมาที่ตามมา มัวแต่หากินอยู่ตรงปากทาง จึงตามเข้าไปทีหลัง แต่มันก็สามารถตามเข้าไปจนเจอเจ้าของที่อยู่ไกลเป็นกิโล เพราะมันอาศัยดมกลิ่นไป ถ้าเป็นช้าง ยังสามารถฟังเสียงได้ไกลเป็นกิโลอีกด้วย

ถ้าไม่มี gps ถึงแม้จะมีแผนที่ทหารแบบกระดาษอยู่ในมือ แต่แผนที่ไม่ได้บอกละเอียดถึงจุดสนใจในบริเวณนั้น เช่น ต้นไม้แต่ละต้นหรือก้อนหินก้อนใหญ่ๆ เราจึงไม่รู้ว่า ตอนนี้อยู่ตรงไหนของแผนที่ ต้องอาศัยอ้างอิงจากภูมิประเทศขนาดใหญ่ เช่น ภูเขารอบข้าง แต่บ่อยครั้งที่ภูมิประเทศเป็นที่ราบ หรือ เนินเตี้ยๆสลับซับซ้อน หรือ รอบข้างถูกปกคลุมด้วยต้นไม้รกทึบ มองไม่เห็นวิว ถึงแม้จะเดินเลาะหน้าผา ต้นไม้ที่อยู่ต่ำลงไป ก็ยังสูงกว่าหน้าผา ทำให้บังวิว จะปีนต้นไม้ก็ลำบาก เพราะ ต้นไม้ส่วนใหญ่ในป่าดิบชื้น จะตรงเหมือนเสา ไม่มีกิ่งให้เกาะขึ้นไป คนที่จะปีนต้นไม้ตรงๆได้ ต้องฝึกฝนมาจนชำนาญ หรือไม่ก็ต้องขึ้นไปบนยอดเขา ต้นไม้จึงจะเริ่มเตี้ยลง พอปีนได้ แต่ถึงแม้จะมองเห็นวิว อาจจะเห็นได้ไม่ไกล เพราะ มีเมฆหมอกปกคลุม

ถ้าไม่มี gps ผมจะไม่ไปในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ยกเว้นจะมีเวลามากพอที่จะสำรวจไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกับชาวบ้าน ถ้าเส้นทางไหนที่เขาไม่เคยไป เขาจะไม่ไป เพราะ การเดินไปหาจุดหมายปลายทางกลางป่าอย่างแม่นยำ โดยไม่รู้ทาง และไม่มี gps นั้นแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ถึงแม้จำแผนที่ทหารได้ละเอียดทุกซอกทุกมุม ก็ยังต้องเสียเวลาหลงไปหลงมา อย่างเวลาเดินตามสันเขา ถ้าไปเจอที่ราบบนสันเขา จะไม่รู้ว่าจะเดินไปทางไหนต่อ เข็มทิศอย่างเดียวมีโอกาสจับทิศผิด ขนาดมี gps ที่ใส่แผนที่ ยังมีโอกาสเลี้ยวผิด เช่น มีสันเขาหลายๆสันอยู่ใกล้กันเป็นรูปนิ้วมือ เมื่ออยู่ตีนเขาจะไม่เห็นความแตกต่างของเส้นชั้นความสูงชัดเจน สันเขาที่ถูกทางอาจจะรกตรงตีนเขาพอดี แต่สันเขาผิดทางอาจจะโล่ง มีทางเดินไป กว่าจะรู้ว่าขึ้นสันเขาผิดลูก ก็ขึ้นไปไกลแล้ว มีวิธีเดียวที่จะไปถึงจุดหมายได้แม่นยำโดยไม่ใช้ gps คือ หาลำห้วยที่ไหลไปถึงจุดหมาย แล้วเดินตามลำห้วยไป แต่ไม่ใช่เดินทวนลำห้วย เพราะ บางทีมีลำห้วยหลายสายไหลมาชนกัน ถ้าเราเดินทวนลำห้วย อาจจะเดินไปทางลำห้วยอีกเส้นหนึ่ง ซึ่งอยู่คนละทางกับจุดหมาย เพียงเพราะ ตรงทางแยกของลำห้วย มีต้นไม้หรือเนินบัง ทำให้มองไม่เห็นแยก

gps ไม่ใช่อุปกรณ์นำทางที่ดี เป็นเพียงอุปกรณ์ที่ช่วยหาจุดหมายปลายทาง และ หาทางกลับ ซึ่งหมายถึง ถ้าจะกลับทางเดิม ระหว่างเดิน ก็ต้องเก็บ track ไว้ ถ้าใช้ gps นำทางตลอดเวลา มีสิทธิ์เดินวนได้ แม้แต่การดู gps เวลาขับรถในเมืองก็ยังหลง เนื่องจาก gps มีหน้าจอเล็ก ดูยาก ต้อง zoom เข้าๆออกๆให้ดี แต่ก็ใช้เวลานาน และในการเดินป่าจริงๆแล้ว เราไม่อาจดูหน้าจอ ไว้ตลอดเวลาได้ เครื่องรุ่นที่ใส่แผนที่ได้จะมีขนาดใหญ่ พอดึงเข้าดึงออกจากกระเป๋าสักพัก จะเริ่มขี้เกียจ นานๆจะดึงออกมาดูสักที ช่วงที่ไม่ได้ดูหน้าจอ นั้นเองคือ ช่วงที่เดินออกนอกเส้นทาง ขนาดมีเส้นทางไว้ในเครื่องแล้ว ยังมีโอกาสหลงออกนอกเส้นทาง เพราะ gps มีความคลาดเคลื่อนสูง ถึงแม้ว่า จะเดินตาม track gps ถ้าไปเจอทางแยกที่ใกล้ๆกัน จะไม่รู้แล้วว่าแยกไหน เนื่องจากเส้นทางที่เห็นบนหน้าจอ อาจมีความคลาดเคลื่อน

คุณสมบัติของ gps สำหรับเดินป่าคือ
gps ที่ไม่ได้ออกแบบมาสำหรับเดินป่า อย่างเช่น แบบที่ใช้ขับรถ หรือติดมากับโทรศัพท์มือถือนั้น ไม่เหมาะที่จะใช้เดินป่าเลย เพราะว่า นอกจากจะไม่มีคุณสมบัติหลายข้อข้างต้นแล้ว ยังเปลืองถ่าน เพราะ เวลาจะดูหน้าจอ ไฟหน้าจอจะติดอยู่ตลอดเวลา ถ้าไฟดับก็จะมองไม่เห็น (ยกเว้นโทรศัพท์รุ่นที่ดูด้วยแสงอาทิตย์ได้ ซึ่งมีไม่กี่ตัว) ต่างจาก gps ที่ออกแบบมาให้ใช้เดินป่า ถึงแม้จะปิดไฟหน้าจอ แต่ถ้ามีแสงอาทิตย์ ก็ยังสามารถดูหน้าจอได้ ถ้ามืดมาก ก็มีปุ่มเปิดปิดไฟหน้าจอแยกต่างหาก  และปรับความสว่างได้ด้วย ช่วยให้ไม่เปลืองถ่าน

หน้าจอ gps
ใส่แผนที่ทหาร
เส้นสีดำทึบคือ
เส้นชั้นความสูง
สีแดงคือถนน

แผนที่ที่ติดมากับ gps เมื่อไปใช้ในป่ามักจะไม่ค่อยละเอียด ไม่มีเส้นชั้นความสูง แผนที่ที่ละเอียดซื้อได้จากกรมแผนที่ทหาร แผนที่ใส่ gps คือแบบ vector มีหลายรูปแบบ รูปแบบดั้งเดิมคือไฟล์ dgn จะมีรายละเอียดครบที่สุด นำมาแปลงจนกระทั่งได้รูปแบบที่ต้องการ วิธีการจะค่อยข้างซับซ้อน จะไม่ขอกล่าวในที่นี้

ถ้าไม่มีแผนที่อยู่ใน gps แต่มีแผนที่ทหารแบบกระดาษอยู่ในมือ จะเทียบพิกัดบน gps กับแผนที่ได้ยาก ให้เปลี่ยนมาใช้วิธีกลับกันคือ หาพิกัดบนแผนที่ของจุดที่คาดว่าจะอยู่ใกล้ๆ ป้อนลงใน gps

เวลาดู gps ควรจะเทียบทิศกับเข็มทิศเสมอ ถึงแม้จะใช้ gps แบบมีเข็มทิศ ก็เชื่อไม่ได้ 100% เพราะ เข็มทิศใน gps เป็นเข็มทิศอิเลกทรอนิกส์ ซึ่งมีโอกาสคลาดเคลื่อนได้ง่าย บางทีเข็มทิศใน gps หยุดทำงานก็มี


แผนที่ OsmAnd บนโทรศัพท์มือถือ มีเส้นชั้นความสูงและเงาภูเขา
gps ที่ใช้ในงานอดิเรกจะมีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 3-10 เมตร ถ้าอยู่ในป่ารกครึ้ม อาจมีความคลาดเคลื่อนสูงกว่านี้ ส่วน gps ที่ใช้เพื่องานสำรวจและการทหารซึ่งมีราคาแพงกว่ากันหลายสิบเท่า จะมีความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ประมาณ 3 ซม. ดังนั้น ถ้าต้องการเก็บ track โดยใช้ gps ที่มีความคลาดเคลื่อนสูง ควรใช้ 2 ตัวแล้วนำ track ที่ได้ มาวาดเส้นทางเฉลี่ยใหม่

เนื่องจาก gps ที่ใช้ในงานอดิเรกมีความคลาดเคลื่อนสูง ถึงแม้ว่าจะยืนอยู่บนเส้นทางเดินที่เห็นในเครื่อง แต่ในสถานที่จริงอาจจะไม่มีเจอทางเดินอยู่ จำเป็นต้องเดินไปสำรวจทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวาเสมอ ฝั่งที่เห็นว่าไม่น่าจะมีทางเดินเพราะรกมาก พอฝ่าไปดู อาจจะเจอทางเดินโล่งๆก็ได้

gps แบบรัดข้อมือ มีข้อเสียคือ ถ้าเป็นรุ่นที่เปลี่ยนถ่านไม่ได้ เวลาถ่านหมดกลางทางจะชาร์จลำบาก แต่ถ้าเป็นรุ่นที่เปลี่ยนถ่านได้ จะใหญ่เกะกะ เวลางอข้อมือก็จะติด และที่สำคัญ เวลาแกว่งข้อมือ ถ่านจะหลวมง่าย ทำให้ติดๆดับๆ

ปัญหาจากการใช้ gps หลักๆมีอยู่อย่างเดียวคือ ลืมเปิดทิ้งไว้ทั้งคืนจนถ่านหมด

ถ้าไม่มี gps สำหรับเดินป่าโดยตรง ปัจจุบันโทรศัพท์ smart phone รุ่นใหม่ๆ มี gps ติดมาหมดแล้ว และมีโปรแกรมแผนที่ติดมาให้ด้วย แต่เป็นแผนที่ online อย่าง google maps ซึ่งสามารถแสดงเส้นชั้นความสูงและเงาภูเขา แต่พอซูมเข้ามาใกล้ๆแล้วไม่ละเอียด แผนที่ online อย่าง longdo traffic จะมีเส้นชั้นความสูงที่เห็นได้ชัดกว่า แต่ก็ยังถือว่ารายละเอียดต่ำเช่นกัน ที่สำคัญ ปัญหาของแผนที่ online คือ ต้องต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อดูแผนที่ แต่ในป่ามักจะไม่ค่อยมีสัญญาณ พอเริ่มเข้าป่าก็จะเริ่มไม่มีสัญญาณ หรือมีสัญญาณแต่ไม่มีอินเตอร์เน็ต หรือมีอินเตอร์เน็ต แต่เรียกได้ช้ามาก ซึ่งเป็นธรรมชาติของแผนที่ online ที่หาความแน่นอนไม่ได้ ทำให้แผนที่ online ในโทรศัพท์มือถือดูไม่ได้ โปรแกรมเหล่านี้จึงเหมาะจะใช้อยู่ตามถนนมากกว่า แผนที่ๆเหมาะจะใช้ในป่า คือ แผนที่ offline ซึ่งถึงแม้ว่า google maps จะดาวน์โหลดแผนที่บางจุดแบบมาดู offline ได้ แต่รายละเอียดไม่ชัด โปรแกรมที่ใช้แผนที่ offline อย่าง OsmAnd ดาวน์โหลดฟรี และดีกว่าโปรแกรม online พวกนั้นมาก มีแผนที่ถนน และมี plugin ที่สามารถดูเส้นชั้นความสูงและแสงเงาของภูเขามาดูเก็บไว้ดูได้ด้วย ถ้า plugin ต้องเสียเงินซื้อ มีวิธีเลี่ยงที่จะดาวน์โหลด plugin ฟรีได้ อย่างถ้าเป็นระบบ android ให้ค้นหาไฟล์นามสกุล apk จากในอินเตอร์เน็ต ถ้าไม่แน่ใจว่าจะเป็นไวรัสหรือไม่ ก็ทดลองลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ผ่านโปรแกรม bluestacks ดูก่อน ถึงแม้ว่าการดูแผนที่จาก smart phone จะยังสู้ gps สำหรับเดินป่าแท้ๆไม่ได้ เพราะหลายสาเหตุ เช่น ไม่กันน้ำ ไม่มีเข็มทิศในตัว ต้องเปิดไฟหน้าจอเพื่อดูแผนที่ทำให้เปลืองถ่าน ฯลฯ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีเครื่องมืออะไรช่วยเลย

ถ้า gps เสีย และไม่ชำนาญเส้นทาง ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ รีบออกจากป่า โดยเดินตามลำห้วยออกมา บางคนบอกว่าให้ปีนต้นไม้ดูทาง วิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะเวลาอยู่บนภูเขาที่ความสูงเกิน 1000 เมตร ซึ่งมีต้นไม้เตี้ยๆ แตกกิ่งกว้าง ปีนไม่ยาก แต่ถ้าอยู่ที่ต่ำลงมา จะเป็นป่าดิบเขา มีแต่ต้นไม้ลำต้นตรงเหมือนเสา ปีนไม่ได้เลย หรือกว่าจะหาต้นไม้หรือเถาวัลย์ที่พอจะปีนได้ ก็เสียเวลามาก แถมยังต้องปีนเหนื่อยมาก เพราะแต่ละต้นสูงหลายสิบเมตร

เข็มทิศ

ในป่าพื้นราบ มองไปทางไหนก็เหมือนกันหมด เข็มทิศจะเป็นเหมือนลูกศรชี้บอกเราว่าต้องเดินไปทางไหน และ ป้องกันไม่ให้เดินวนเป็นวงกลม ถึงแม้ว่าการเดินตามภูมิประเทศที่ชัดเจน เช่นสันเขา หรือลำน้ำ หรือทางที่คนทำไว้ ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือนำทางอะไรเลย แต่พอไปเจอที่ราบบนสันเขาที่เส้นทางไม่ชัด หรือ ลำน้ำที่มีห้วยอีกสายอื่นมาชน จุดนั้นเองที่มักจะหลงทาง อาจเดินวนกลับที่เดิมโดยไม่รู้ตัว การดูทิศจากแสงแดดหาความแน่นอนไม่ได้ เพราะอาจโดนใบไม้หรือหน้าผาบัง จนหาดวงอาทิตย์ไม่เจอ หรือ บางทีก็ไม่มีแดด


เข็มทิศเดินป่า ใช้คล้องคอหมุนจอได้ เพื่อจำทิศ (เส้นและลูกศรสีดำในกระจก) เข็มทิศพลาสติกอย่างในรูปนี้ น้ำหนักเบา ราคาถูก แถมใช้ได้นานนับสิบปี เพราะกระจกไม่เหลือง และเข็มลอยอยู่ในน้ำ จึงไม่มีชิ้นส่วนใดพังง่าย
ถึงแม้ว่าจะใช้ gps ก็มีสิทธิ์เดินวนได้ เพราะหน้าจอเล็กดูยาก จึงยังจำเป็นต้องใช้เข็มทิศควบคู่ไปด้วย  เพราะ เข็มทิศดูง่ายกว่า สามารถเดินไปดูไปได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องกลัวถ่านหมด เล็กและเบา จึงคล้องคอได้ โดยไม่ต้องกลัวแกว่ง คุณสมบัติของเข็มทิศที่ดี
ข้อเสียของเข็มทิศคือ มีความคลาดเคลื่อนสูง เข็มทิศมีประโยชน์สำหรับพาไปในทิศทางที่ต้องการ แต่ไม่ใช่ พาไปยังจุดหมายที่ต้องการ เพราะเวลาเข้าป่าไปแล้ว จะมองไม่เห็นจุดหมาย แค่เจอสิ่งกีดขวาง เลี้ยวผิดนิดเดียว ก็มีสิทธิ์เดินอ้อมไปไกล ถึงแม้ว่าจะมีแผนที่ทหาร แต่ไม่รู้ว่าขณะนี้อยู่จุดไหนของแผนที่ ต้องอาศัยเดินไปชนภูมิประเทศที่เด่นชัด เช่น ลำห้วยสายใหญ่ หรือ หน้าผาเพื่อดูวิว  แต่ในป่ามีลำห้วยมาก จึงยากที่จะรู้ว่าจุดนั้นคือห้วยสายไหน ถึงแม้จะอยู่ริมหน้าผาที่น่าจะมองเห็นวิว แต่ต้นไม้บริเวณใต้หน้าผา อาจสูงกว่าหน้าผา หรืออาจจะมีหมอก ทำให้มองไม่เห็นวิว ดังนั้น การใช้เข็มทิศเดินป่าเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ ยกเว้นจะมีเวลาหลงไปได้เรื่อยๆ การใช้เข็มทิศเดินไปหาจุดหมายในป่าอย่างแม่นยำ ต้องใช้คู่กับ gps คือ เปิด gps ดูว่า จุุดหมายอยู่ทางทิศใด แล้วใช้เข็มทิศเดินไปทางทิศนั้น ระหว่างทางอาจต้องดู gps เพื่อปรับแก้ทิศอยู่เป็นระยะ

วิธีใช้เข็มทิศ คือ หันหน้าไปหาจุดหมาย ยกเข็มทิศขึ้นดูว่า ทิศเหนือชี้ไปทางใด และ จุดหมายที่เราจะไปทำมุมเท่าใดกับทิศเหนือ เวลาเดินป่าจะนับมุมหยาบๆแค่ 45 องศา ตามทิศที่มีชื่อเรียกแค่ 8 ทิศ เพื่อให้จำง่าย และสื่อสารกับผู้อื่นเข้าใจง่าย ได้แก่ 4 ทิศหลักคือ เหนือ(N), ใต้(S), ออก(E), ตก(W) และ อีก 4 ทิศที่เหลือ อยู่ระหว่างทิศหลัก ได้แก่ ตะวันออกเฉียงเหนือ(NE), ตะวันออกเฉียงใต้(SE), ตะวันตกเฉียงเหนือ(NW), ตะวันตกเฉียงใต้(SW) ถ้าจุดหมายใกล้ทิศใดที่สุด ก็ให้ยึดทิศนั้น เพราะ เวลาเดินจริง เส้นทางจะคดเคี้ยวไปตามภูมิประเทศ จึงไม่จำเป็นต้องจับทิศแม่นยำมากไปกว่านี้ หัวใจสำคัญของเข็มทิศอยู่แค่ว่า ต้องไม่เดินย้อนกลับทางเดิม นั่นคือ เมื่อหันหน้าไปหาจุดหมายแล้ว ต้องเผื่อให้สามารถเดินทำมุม ห่างจากจุดหมายไม่เกินข้างละ 90 องศา

การสื่อสารเรื่องเส้นทางกับผู้อื่น ถ้าพูดถึงจุดใดจุดหนึ่งบนแผนที่ จะไม่สามารถบอกทิศแบบซ้ายขวาหน้าหลัง เพราะ ไม่รู้ว่าคนพูดหันหน้าไปทางไหน การสื่อสารที่เป็นสากลเข้าใจง่าย จะต้องใช้ทิศทั้ง 8 ที่กล่าวมา ยกเว้นถ้าพูดถึงเวลาเดินไปหาจุดหมาย จึงจะสามารถบอกทิศแบบซ้ายขวาหน้าหลังได้

เข็มทิศแบบเข็ม ดีกว่าเข็มทิศดิจิตอล เพราะ เข็มทิศดิจิตอล มีโอกาสถ่านหมด และ พอใช้ไปสักพัก ทิศจะเคลื่อน ต้องตั้งค่า(calibrate) ใหม่

เข็มทิศแบบคล้องคอจะใช้สะดวกที่สุด เพราะว่า สามารถยกขึ้นมาดูและขยับจนเข็มหมุนถูกทิศได้ ส่วนแบบใส่ข้อมือ จะดูลำบาก เพราะเวลาเดินป่าต้องใส่เสื้อแขนยาว ทำให้ต้องถลกแขนเสื้อขึ้นมาเพื่อดูเข็มทิศ ถ้ารัดไว้นอกแขนเสื้อก็จะทำให้ร้อน เพราะแขนเสื้อระบายอากาศไม่ได้ ส่วนเข็มทิศแบบติดนาฬิกา มักจะคลาดเคลื่อนเพราะได้รับอิทธิพลจากโลหะที่ใช้ทำตัวเรือน ถึงแม้ว่าตัวเรือนจะใช้สเตนเลส แต่สเตนเลสมีหลายชนิด บางชนิดดูดเข็มทิศได้  ส่วนเข็มทิศแบบ carabiner ติดกับสายสะพายเป้ จะดูลำบากเช่นกัน เพราะว่าแนบกับลำตัวมากเกินไป ต้องก้มลงไปดู ทำให้เมื่อยคอ


ดวงอาทิตย์ที่เห็นจากในประเทศไทย ไม่ได้เคลื่อนที่จากตะวันออก ไปตะวันตกพอดี แต่ในฤดูหนาว(ของภาคกลาง)จะอ้อมไปทาง ทิศใต้ พอถึงต้นฤดูฝน(ของภาคกลาง) จะอ้อมไปทางทิศเหนือ
ในช่วงเวลาที่มีแดด เราสามารถดูทิศคร่าวๆจากแสงแดดได้ ถ้ารู้ว่าในแต่ละฤดู แสงแดดเดินทางอย่างไร เพราะ ดวงอาทิตย์ในช่วงสาย ไม่ได้อยู่ทางทิศตะวันออกพอดี และช่วงบ่ายไม่ได้อยู่ทางทิศตะวันตกพอดี ยกตัวอย่างเช่น ดวงอาทิตย์ที่มองจากประเทศไทย
สาเหตุที่ดวงอาทิตย์ไม่อยู่ในทิศทางเดิมเลยในแต่ละวัน เพราะ แกนโลกเอียง 23.5 องศา เมื่อเทียบกับระนาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ บวกกับ โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี  คนทั่วโลกจึงเห็นเส้นทางของดวงอาทิตย์เลื่อนจากเหนือลงใต้หรือใต้ขึ้น เหนือ เปลี่ยนไปวันละ 15 ลิปดา ดวงอาทิตย์จะเดินทางขึ้นเหนือ ตั้งแต่ 24 ธันวาคม ผ่านมาตรงหัวที่กรุงเทพวันที่ 27 เมษายน แล้วเดินทางขึ้นเหนือต่อ ไปสิ้นสุดทางตอนใต้ของประเทศจีน แถวใต้ของคุนหมิง ที่ละติจูด 23.5 องศาเหนือ ในวันที่ 22 มิถุนายน แล้ววกกลับลงใต้ มาตรงหัวที่ กทม.วันที่ 16 สค. หลังจากนั้นจะเคลื่อนลงใต้ต่อไปเรื่อยๆ จนถึงละติจูด 23.5 องศาใต้ ซึ่งอยู่แนวเดียวกับตอนกลางของทวีปออสเตรเลีย ในวันที่ 24 ธันวาคม จึงเริ่มวกกลับ จากใต้ขึ้นเหนือใหม่ วนเวียนอยู่เช่นนี้ทุกปี การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์นี้เอง ส่งผลให้แต่ละพื้นที่ของไทยในวันเวลาเดียวกัน เห็นดวงอาทิตย์ในทิศทางแตกต่างกันออกไป อย่างในช่วงที่ดวงอาทิตย์เดินทางขึ้นเหนือ คนกรุงเทพจะเห็นดวงอาทิตย์ตรงหัวเร็วกว่าคนเชียงราย 3 สัปดาห์ ในทางกลับกัน เมื่อดวงอาทิตย์เดินทางลงใต้ คนกรุงเทพจะเห็นดวงอาทิตย์ตรงหัวช้ากว่าคนเชียงราย 3 สัปดาห์ เช่นเดียวกับทางภาคใต้ อย่างแถวสงขลา จะเห็นดวงอาทิตย์เร็วหรือช้ากว่ากรุงเทพ 3 สัปดาห์

จะเห็นว่า การดูทิศจากดวงอาทิตย์จะมีความคลาดเคลื่อนสูง จึงใช้อ้างอิงทิศจริงจังไม่ได้ การดูทิศจากดวงอาทิตย์ในแต่ละพื้นที่ ให้แม่นยำ ต้องรู้เส้นทางการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ในพื้นที่นั้น ในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ถ้าไม่รู้ จะสามารถใช้ดวงอาทิตย์เพียงแค่บอกทิศโดยประมาณ และใช้ตรวจสอบว่าเข็มทิศยังใช้ได้อยู่หรือไม่ เพราะ ดวงอาทิตย์ช่วงเช้าถึงสายจะอยู่แถวๆทิศตะวันออก พอช่วงบ่ายถึงเย็นจะอยู่แถวๆทิศตะวันตก
บริเวณที่มีแร่เหล็กใต้ดิน เข็มทิศจะชี้ไปผิดทาง หรือหมุนเองได้

ตอนกลางวันที่มองไม่เห็นดวงอาทิตย์ เพราะมีเมฆปกคลุมทั่วท้องฟ้า บางครั้งอาจใช้วิธีปักไม้ โดยไม้ตรงๆ ยันไว้กับพื้นในแนวตั้งฉาก หรือจะใช้นิ้วมือก็ได้ แล้วดูทิศของเงา ดวงอาทิตย์จะอยู่ในทิศตรงกันข้ามกับเงาเสมอ แต่วิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะในที่โล่ง อย่าใช้ใต้เงาไม้บัง เงาจะผิดทิศได้ ถ้าไม่แน่ใจให้ลองหลายๆจุด แต่วิธีนี้ไม่แน่นอนเสมอไป บางครั้งอาจจะผิดทิศ เพราะทิศที่แสงอาทิตย์ส่องมาอาจจะมีเมฆหนากว่า ส่วนทิศอื่นอาจมีเมฆน้อยกว่า ซึ่งจะสังเกตุจากเงาที่ไม่ชัดเจน

การเทียบทิศของแสงแดดกับเข็มสั้นของนาฬิกา นอกจากจะยุ่งยากเพราะ ต้องพึ่งนาฬิกาแบบเข็มกับต้องมีแสงแดด แล้วยังมีความผิดพลาดสูง เช่น ที่กรุงเทพ ช่วงต้นเดือนสิงหาคม ตอนบ่ายโมง ดวงอาทิตย์จะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ(NW) ทำมุม 280 องศาเหนือ เมื่อขี้เข็มสั้นของนาฬิกาซึ่งอยู่ที่เลข 1 ไปหาดวงอาทิตย์ แล้วแบ่งครึ่งมุมระหว่างเลข 1 กับเลข 12 ตามสูตร จะอ่านได้ว่าทิศใต้ควรจะอยู่ที่ 270 องศาเหนือ แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่ใช่ เพราะ 270 องศาเหนือ คือทิศตะวันตก จะเห็นว่าทิศคลาดเคลื่อนไปถึง 90 องศา ดังนั้นวิธีนี้จึงไม่ควรนำมาใช้ในเมืองไทย

การปักไม้แล้วรอดูทิศทางของเงาของปลายไม้ 2 จุด นอกจากจะเสียเวลารอ 1-2 ชม. แล้วยังมีความคลาดเคลื่อน 10-20 องศา เพราะดวงอาทิตย์เคลื่อนที่เป็นเส้นโค้ง

การดูทิศทางลม จะต้องรู้ล่วงหน้าว่า แถวนั้นตอนกลางวันมีลมพัดมาจากทิศใด แต่ละฤดูอาจมีลมพัดมาคนละทาง นอกจากนี้ยังต้องอยู่ในที่โล่งไม่มีภูเขากั้นด้วย จึงจะพอเชื่อได้ ถ้าอยู่ในหุบเขา ลมอาจจะพัดมาชนภูเขา แล้วม้วนตัวลงมาคนละทิศกับทิศทางจริง ส่วนการดูก้อนเมฆนั้นเชื่อใจไม่ค่อยได้ บางฤดูอาจมีลมบนพัดไปในทิศเดียวกันตลอด แต่บางฤดู ลมบนอาจเปลี่ยนทิศไปมาตลอดทั้งวัน

วิธีดูทิศหลายวิธีที่เป็นเพียงความเชื่อ ใช้ไม่ได้ผลจริง เพราะคนที่นำมาบอกก็ไม่เคยทำจริง อาศัยนั่งเทียนคิด อย่างบางคนบอกให้ดูทิศจากเถาวัลย์ หากเราเข้าป่าไปดูจะพบว่า ไม่มีส่วนไหนของเถาวัลย์ที่สามารถบอกทิศได้ หรือ อย่างการนำเข็มเย็บผ้า ใบมีดโกน หรือลวด ไปลอยน้ำ ก็ไม่ได้ผล เนื่องจากวัสดุเหล่านี้ ไม่ได้เป็นแม่เหล็กในตัว จึงไม่ได้รับผลกระทบจากสนามแม่เหล็กโลก บางคนบอกว่า ให้นำไปถูกับ ผ้าไหม, ผม, หรือขนสัตว์ แล้วจะกลายเป็นเข็มทิศได้ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะ ถึงแม้ว่าการเสียดสีจะทำให้เกิดไฟฟ้าสถิต แต่ไฟฟ้าสถิตไม่ได้เกี่ยวข้องกับสนามแม่เหล็กโลก แต่ที่เห็นบางคนใช้ได้ผล เพราะโลหะบางยี่ห้อ อาจบังเอิญถูกแปลงเป็นแม่เหล็กในขั้นตอนการผลิต ซึ่งเรื่องนี้เอาแน่นอนอะไรไม่ได้ ถ้าเป็นแม่เหล็กมาอยู่แล้ว จะถูหรือไม่ถูก็ได้ผลเหมือนเดิม เข็มเย็บผ้าสามารถทำให้เป็นเข็มทิศได้ โดยใช้เข็มที่มีเหล็กเป็นส่วนผสม ส่วนโลหะอื่นๆพวก อลูมิเนียม, ทองแดง จะเป็นแม่เหล็กไม่ได้ การทำมี 2 วิธี
เมื่อเข็มเย็บผ้ากลายเป็นแม่เหล็กแล้ว เวลาจะใช้ ต้องทำให้เข็มหมุนได้โดยอิสระ โดยนำไปวางบนน้ำ ถ้าวางเบาๆ แรงตึงผิวของน้ำจะช่วยให้เข็มลอยน้ำได้ แต่ถ้าวางยังไงก็ยังจม แสดงว่าเข็มเปียกต้องเช็ดให้แห้งก่อน หรือ นำใบไม้มาวางบนผิวน้ำ แล้วจึงวางเข็มลงไปบนใบไม้ ส่วนวิธีนำเข็มไปแขวนไว้ตั้งฉากกับด้ายนั้น ใช้ไม่ค่อยได้ผล เพราะ แรงบิดจากเกลียวของด้าย มักจะมากกว่าแรงจากแม่เหล็กบนเข็ม

มีด

มีดกับป่า เป็นของคู่กัน เหมือนเวลาอยู่ในเมืองที่ต้องมีเงินใช้ซื้อของ ต่างกันตรงที่เวลาอยู่ป่าไม่ต้องใช้เงิน แต่ใช้มีดเพื่อตัดไม้มาทำเครื่องมือต่างๆ เช่น ทำไม้เท้าเวลาขาเจ็บ ทำที่พักเวลาไม่มีเครื่องนอน ตัดไม้มาก่อไฟ และตัดกิ่งไม้ที่ขวางทางเวลาเดิน เพื่อเปิดทางให้เดินง่ายขึ้น คนที่เข้าป่าโดยไม่มีมีดเล่มใหญ่พอ คือคนที่ขาดประสบการณ์ เมื่อถึงเวลาคับขันขึ้นมา จะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เพราะขาดเครื่องมือ เคยมีเหตุการณ์จริงที่พระหลงป่าขึ้นไปอยู่บนเขาตามลำพัง แล้วอาศัยมีดตัดหยวกกล้วยกินประทังชีวิต ขณะพยายามหาทางกลับก็ตัดต้นไม้เพื่อกันหลง แต่เดินวนกลับมาที่เดิม จึงอยู่รอดในป่ามาได้ถึง 1 เดือนจนมีคนไปช่วย เพราะมีชาวบ้านเห็นต้นกล้วยบนเขาล้ม จึงตามขึ้นไปดู

ในเมืองมีต้นไม้น้อย คนเมืองจึงไม่เคยชินกับการตัดต้นไม้ แต่ในป่ามีต้นไม้ขึ้นมากเกินไปจนรก เดินยาก แต่ไม้ล้มและทางรกถือเป็นธรรมชาติของป่าฝน ที่ต้นไม้แย่งกันเจริญเติบโต ส่วนต้นไม้ที่มีอยู่ก็ต้องสลัดกิ่งผลัดใบ พอไม่มีคนมาเก็บกวาดก็เลยรก การลุยฝ่าที่รกไป เราจะเจ็บตัว เพราะถูกหนามเกี่ยว จนแขนเป็นรอยข่วน เสื้อผ้าขาด ถูกหนามตำ หรือถูกกิ่งไม้ดีดใส่ และโดนสัตว์มีพิษที่อยู่ตามใบไม้ติดตัวมาเช่น มด เห็บ ไร แมงมุม และที่สำคัญคือ โดนงูกัด คนเดินนำหน้าจึงต้องมีมีดเล่มใหญ่และยาว ใช้ตัดกิ่งไม้ที่ขวางทาง เพื่อให้เดินง่ายขึ้น มีดฟันไม้จะทำจากเหล็กเท่านั้น ไม่ใช้สเตนเลส เพราะสเตนเลสทำให้ทั้งแข็งทั้งเหนียวพร้อมกันเหมือนเหล็กไม่ได้ (เหนียวคือไม่บิ่นง่าย) ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งสเตนเลสส่วนใหญ่จะทำมาให้เหนียวอย่างเดียว จึงไม่แข็งเท่าเหล็ก พอฟันไม้เนื้อแข็งจึงทื่อเร็ว แต่พอทื่อแล้วลับยากกว่าเหล็ก

คนทั่วโลก เมื่อเข้าไปในที่รก ต้องใช้มีดช่วย
คนที่ลุยป่าโดยไม่ใช้มีดคือ ขาดประสบการณ์

คนนำทางเคยบอกผมว่า "เข้าป่าต้องมีมีดติดตัวเสมอ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ก็ตาม" แต่ผมไม่เชื่อ เนื่องจากเติบโตมาในเมือง และกฎข้อหนึ่งของการอยู่ในเมืองคือห้ามพกมีด มีข่าวอยู่แทบทุกวันว่า คนที่พกอาวุธ (มีดหรือปืน) เมื่อไม่พอใจใคร ก็จะนำอาวุธมาทำร้ายคนอื่น ผมจึงคิดว่าแค่ไม้เท้าเดินป่าก็เกินพอแล้ว จนกระทั่งวันหนึ่ง ผมมีโอกาสเดินป่าด้วยตนเอง โดยไม่อาศัยคนนำทาง และออกนอกเส้นทางที่คนทั่วไปเดินกัน แล้วไปเจอดงเถาวัลย์รกเกินกว่าจะฝ่าไปได้ ทำให้ต้องถอยหลังกลับ หรือเดินอ้อมไปไกล จนบ่อยครั้งกลายเป็นเดินวนอยู่กับที่ ต่อมา ผมจึงทดลองใช้มีด ปรากฎว่าสามารถเจาะผ่านไปได้อย่างง่ายดาย ทำให้ผมรู้ได้ด้วยตนเองว่า มีดมีหน้าที่ทำลาย และเป็นอุปกรณ์ที่ทำลายสิ่งกีดขวางได้เร็วที่สุด เมื่อเทียบกับอุปกรณ์ชนิดอื่น ไม่ว่าจะเป็นขวาน เลื่อย กรรไกร ความเร็วในการทำลายล้าง สู้มีดไม่ได้เลย และมีดยังใช้งานได้หลากหลายที่สุด จะผ่าฟืนหรือตัดไม้มาทำอะไรก็ได้ ดังนั้น ที่เราเห็น เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางแห่ง เดินป่าโดยไม่ใช้มีด คือ ขาดความชำนาญ  หรือ เขาไม่ออกนอกเส้นทางที่คนหรือสัตว์เดินประจำ แต่ถ้าเขาอยู่ชายป่าซึ่งมักจะรก หรือต้องลงไปเจอหุบเขาบางแห่งที่เต็มไปด้วยดงหนาม เขาจะฝ่าไปไม่ได้ ปัจจุบัน เวลาเข้าป่า ผมจึงมักจะพกมีดไปด้วยเสมอ ถึงแม้จะไม่ได้ใช้ก็ตาม แต่พอมีมีดแล้วก็จะมีเรื่องให้ได้ใช้เสมอ แม้แต่ตามเส้นทางท่องเที่ยวที่โล่งๆ ก็ยังได้ใช้ บางทีก็ตัดไม้เท้าให้ตัวเองเวลาหมดแรง ผมเคยเจอลุงกับป้าคู่หนึ่ง เดินบนเส้นทางไปน้ำตกทอทิพย์ แต่พวกแกเดินไม่ไหว จึงไปเก็บไม้แห้งตายข้างทางมาแทนไม้เท้า แต่ไม้คดและสั้นเกินกว่าจะใช้ค้ำยันได้อย่างสบาย ผมจึงตัดไม้ไผ่มาทำไม้เท้าให้ ทั้งสองคนจึงเดินสะดวกขึ้นมาก


ดงหนาม สูงท่วมหัว ตรงทางลงหุบเขา จะอ้อมไปทางไหนก็รกแบบนี้ ทางที่พอจะมุดไปได้ ก็ออกนอกเส้นทางที่จะไป

ทางเดินในป่า ไม่เหมือนทางเดินโล่งๆในเมือง หรือในสถานที่ท่องเที่ยวที่คนใช้มีดถางทางไว้ให้แล้ว เมื่อออกนอกเส้นทาง อาจจะหลงไป มักจะต้องเจอกับที่รกสลับกับทางโล่ง ถ้าเป็นทางด่านที่คนหรือสัตว์อาศัยเดินประจำ อาจจะโล่งเดินได้สบาย แต่ถ้าเดินไปออกนอกเส้นทาง หรือ เจอทางขาดเพราะต้นไม้ล้ม เราจะต้องเจอกับที่รก บางที่รกมากจนฝ่าไปไม่ได้ เกิดจากต้นไม้ใหญ่ล้ม แล้วดึงเถาวัลย์ที่พันอยู่ตามกิ่งลงมาด้วย แล้วเถาวัลย์ก็ดึงต้นไม้ข้างเคียงลงมาด้วย เรียกกันว่า ป่าถล่ม ป่ายุบ หรือป่าทรุด มีเถาวัลย์ขวางหน้ากินบริเวณกว้าง จนฝ่าไปไม่ไหว และเปิดให้แสงแดดส่องถึงพื้น เมื่อเวลาผ่านไป วัชพืชจึงขึ้นสูงท่วมหัว หนาเกินกว่าเราจะแหวกไปได้ อาจไม่มีทางอ้อมเพราะเดินมาผิดเส้นทาง ไม่มีสัตว์หรือคนเดินผ่านเส้นนั้น ถ้าอ้อมไปก็อาจจะไปเจอแบบเดียวกันอีก ถ้าขืนฝ่าไป ก็จะโดนเถาวัลย์พันแขนพันขาติดอยู่ตรงนั้น แต่ถ้ามีมีดต้ดต้นไม้เปิดทาง จะสามารถผ่านไปได้ง่าย ถ้าเดินบนสันเขา แล้วป่าถล่มกินพื้นที่ทั้งสันเขา ถ้าด้านข้างเป็นเหวจะไปต่อไม่ได้ หรือถ้าเดินอ้อมลงเขาได้ อาจยิ่งไปเจอที่รก เพราะ ยิ่งใกล้ๆลำห้วยจะเต็มไปด้วยต้นหนาม บางทีเป็นดงหวาย บางทีก็เป็นดงหมามุ่ย หรืออาจเป็นเถาวัลย์มีหนามขวางหน้าอยู่ ถ้าไม่จับมันยกขึ้นก็ผ่านไปไม่ได้ แต่ถ้าใช้มือจับ หนามก็จะตำมือ แต่ถ้าใช้มีดเกี่ยวนิดเดียวก็ขาดแล้ว บางที่เป็นทางด่านเก่าที่กิ่งไม้เล็กๆล้มขวางทาง แค่ตัดกิ่งไม้ที่ขวางหน้าอยู่ แค่ไม่กี่เมตรก็ผ่านไปได้ ไม่ต้องอ้อม สรุปง่ายๆว่ามีดจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อ ไปเจอที่ๆรกจนเดินฝ่าไปไม่ไหว มีดจะช่วยให้ผ่านที่รกๆได้ง่ายกว่ามือเปล่า ช่วยให้เดินได้เร็วกว่าการใช้มือแหวก และช่วยให้เจ็บตัวน้อยลง นอกจากนี้เวลาถึงที่พัก จำเป็นที่จะต้องถางบริเวณนั้นให้โล่ง เพื่อให้เดินสบาย และ ป้องกันอันตรายจากสัตว์มีพิษ ที่ชอบอาศัยอยู่ตามที่รกๆ ถ้าใช้มือหักกิ่งไม้สดก็จะหักไม่ขาด หรือขาดแต่ไม่เกลี้ยง เหลือตอไว้ ถ้าเผลอสะดุดไปชนเข้า อาจเป็นอันตรายได้ไม่น้อยกว่ามีด

ประสบการณ์ที่ผมเคยเจอมากับตนเองคือ ขณะเดินตามลำห้วยคลองมะเดื่อลงมาคนเดียวนั้น ได้เจอกับน้ำตกแห่งหนึ่งเป็นหน้าผาสูงประมาณ 5 เมตร ด้านข้างน้ำตกมีเถาวัลย์ห้อยลงไป ผมจึงโหนเถาวัลย์ลงไปยังพื้นเบื้องล่าง พอลงมาถึงพื้นแล้วเดินต่อไปอีกเล็กน้อย ก็พบน้ำตกอีกชั้นเป็นหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร แต่คราวนี้ไม่มีทางลง มองรอบข้างก็มีแต่หน้าผาชัน 90 องศา กับก้อนหินขนาดมหึมา เกินกว่าจะปีนขึ้นไหว ตอนนี้จนมุมแล้ว หลังจากเดินสำรวจรอบๆ ก็ไปพบด้านข้างด้านหนึ่ง มีซอกตรงก้อนหินใหญ่ที่ติดกับเชิงเขา ถูกปกคลุมด้วยไม้ล้ม มีเถาวัลย์ขวางทางสูงท่วมหัว เต็มไปด้วยหนาม การจะฝ่าไปได้ ต้องใช้มีดฟันเถาวัลย์เปิดทางไป ถ้าครั้งนั้นไม่มีมีด ผมคงจะติดอยู่ตรงนั้น หรือปีนฝ่าออกมาแบบมีแผลเต็มตัว

การเดินวน เกิดจากข้างหน้าเจอที่รก ถ้าไม่มีมีดจะฝ่าไปไม่ได้ ต้องเดินอ้อม พอเดินอ้อมไปแล้ว เจอที่รกอีก ต้องอ้อมไปเรื่อยๆ บางทีก็อ้อมกลับมาที่เดิม บางทีเป้าหมายอาจเป็นถนนอยู่ข้างหน้าแค่ 10 เมตร แต่ทางรก จึงต้องอ้อมไปโผล่ไปกว่าเป้าหมายเป็นร้อยเมตร

หลักการอยู่ป่าคือ อย่ายื่นมือหรือเท้า ไปในที่ๆเรามองไม่เห็น เพราะอาจโดนตัวอะไรกัด โดยเฉพาะในรู มักจะเป็นที่อยู่ของสัตว์ตั้งแต่เล็กๆอย่างแมงมุม งู จนถึงสัตว์ใหญ่อย่างหมูป่าหรือหมาป่า ดังนั้น เวลาเดินป่า อย่างน้อย ควรจะมีไม้สักอันไว้เขี่ยดู ไม้รูปตะขอตรงปลายจะใช้เกี่ยวได้ แต่ถ้าเจอกิ่งไม้แข็งๆ หรือมีขนาดใหญ่ๆ อย่างพวกเถาวัลย์ จะเขี่ยไม่ไป ต้องใช้มีดฟันออกเท่านั้น

ทางรกในป่ามีไม้ขวางทาง 2 แบบ แบบแรกคือ กิ่งไม้เป็นท่อนๆ อย่างเช่นเถาวัลย์ อีกแบบคือ วัชพืชต้นเล็กๆขึ้นเป็นดง การฟันไม้เป็นท่อนๆ อย่างเช่นเถาวัลย์ กิ่งไม้ กิ่งไผ่ จะใช้มีดรูปร่างอย่างไรก็ได้ทั้งนั้น ขอเพียงให้ปลายบานออกเพื่อมีน้ำหนักเหวี่ยงแค่นั้นเอง จะเป็นใบมีดบานออกตรงๆอย่างมีดพร้า หรือโค้งออกอย่างมีดเหน็บ หรือเว้าเข้าอย่างมีดขอ ก็สามารถฟันกิ่งไม้ให้ขาดได้ ไม่ต่างกันมากนัก  ความแตกต่างของมีดแต่ละแบบ จะเห็นได้ชัด เมื่อฟันดงวัชพืชต้นเล็กๆ มีดที่เหมาะจะฟันวัชพืช ควรมีใบมีดเว้าเข้าเพื่อใช้เกี่ยววัชพืชมารวมกัน ยิ่งถ้าไม่มีมีดเลย จะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน เพราะจะไม่มีทางตัดอะไรได้ง่ายๆ วิธีที่พอจะตัดกิ่งไม้เล็กๆให้ขาดได้คือใช้จับมือหมุนไปเรื่อยๆเหมือน ปั่นจักรยาน

ปัจจัยสำคัญในการถางทางคือความเร็ว  มีดเดินป่า ถางทาง จึงมีลักษณะแตกต่างจากมีดทั่วไปคือ

มีดขอหวด
สิ่งที่กีดขวางทางเดินในป่า ส่วนใหญ่เป็นวัชพืช ไม่ใช่ต้นไม้ใหญ่ เพราะต้นไม้ใหญ่ขึ้นห่างๆกัน ส่วนวัชพืชต้นเล็กๆจะชอบขึ้นเป็นดง มีดที่เหมาะจะใช้ฟันวัชพืชที่สุด จึงได้แก่ มีดพร้าขอ หัวตัด ต่อด้าม ที่ชาวอรัญญิกเรียกว่า มีดขอหวด หรือเรียกสั้นๆว่า มีดขอ คนทั่วไปก็เข้าใจได้ ความยาวของมีดบวกกับใบมีดที่เว้าเข้า ทำให้มันมีอัตราการทำลายล้างวัชพืชสูงมาก ถ้าลองยกมีดให้ขนานกับพื้น แล้วถือกลางด้ามหลวมๆ จะพบว่าใบมีดจะหงายขึ้น นั่นคือ ออกแบบมาให้ฟันขึ้น โดยไม่ต้องออกแรงถือมากนัก ในขณะที่ยังสามารถใช้ฟันลงได้สบาย การฟันวัชพืชที่ปลายอ่อน ถ้าฟันลงจะไม่ขาด เพราะลำต้นอ่อนจะลูู่ไปตามสิ่งที่มากระทบ จึงต้องฟันขึ้น เพื่ออาศัยแรงยึดลำต้นสวนในทางตรงกันข้าม แค่เขี่ยเบาๆก็ขาด  และการฟันขึ้นจะปลอดภัยกว่าฟันลง เพราะไม่ต้องเสี่ยงกับใบมีดแกว่งมาโดนขา ความยาวที่ดีที่สุดของมีดขอหวดคือ ถ้าถือสุดด้ามแล้วห้อยลงมาจะถึงตาตุ่มแต่ยังไม่ถึงพื้น ถ้าด้ามยาวกว่านี้จะเริ่มเกะกะ มีดที่ยาวเกินไปเมื่อถือจนสุดด้าม จะควบคุมน้ำหนักที่ปลายลำบาก อย่างตัวผมเองสูง 173 ซม. ใช้ความยาวของปลายมีดจนถึงปลายด้าม 31 นิ้วสะดวกที่สุด ไม่มีอะไรที่ขวางหน้าแล้วฟันไม่ถึง เคยใช้สั้นกว่านี้แล้วเหวี่ยงไปโดนหนามตำมือ แต่พอใช้ความยาวเท่านี้แล้ว ไม่เคยโดนหนามตำมืออีกเลย ยกเว้นจะหลุดเข้าไปอยู่ในดงหนามแคบๆ แต่เวลาอยู่ในที่โล่งพอจะกวาดมีดได้แล้ว มีดที่สั้นกว่านี้ มักจะฟันวัชพืชได้ไม่ถึงโคนต้น เนื่องจากวัชพืชบางต้น มีกิ่งยื่นออกมายาวเมตรกว่าๆ ถึงแม้ว่าจะก้มตัวเข้าไปแล้ว ปลายมีดสั้นก็ยังเอื้อมไม่ถึงโคนต้น บางต้นแตกกิ่งก้านจนเป็นดง ถ้าฟันที่ปลายกิ่ง จะต้องฟันหลายรอบ กว่าจะเกลี้ยง ไม่เหมือนฟันที่โคนต้น ฟันทีเดียว ล้มทั้งต้น ปกติใบมีดขอหวดจะขายแยก ต้องนำมาต่อด้ามไม้เอง เวลาเลือกซื้อควรพกตาชั่งไปด้วย เท่าที่ผมพบมา ด้ามไม้เบาๆจะหนักประมาณ 2 ขีด ส่วนมีดเบาๆคือมีดอรัญญิกเบอร์ 3 ใบมีดยาวประมาณ 11 นิ้ว ไม่รวมด้าม หนัก 3-4 ขีดกว่าๆ พอต่อด้ามแล้วจะหนักประมาณ 5-6 ขีดกว่าๆ กำลังคล่องตัว ยิ่งเบายิ่งดี แต่ใบมีดที่เบากว่า 3 ขีดจะเล็กและไม่ค่อยมีแรงเหวี่ยง ด้ามมีดที่ดีไม่ควรใช้แบบแกนเหล็กเสียบเข้าไปในด้ามไม้ มีโอกาสด้ามหลุดง่ายมาก ด้ามมีดที่ดีจะเสียบเข้ากับท่อที่เป็นเหล็กที่เป็นเหล็กชิ้นเดียวกับใบ มีด ไม่ได้เชื่อมต่อกัน แล้วอาศัยใส่แกนตามขวางเพื่อป้องกันด้ามไม้หลุดออกจากท่อ แกนตามขวางควรใช้สกรู อย่าใช้ตะปู เพราะเวลาเจอแรงกระแทกตอนฟัน หรือเวลาไม้หด ตะปูจะหลวมและหลุดง่าย แกนที่ทำเองโดยใช้สกรูขัน จะแข็งแรงขนาดที่ ใบมีดจะหักก่อนด้ามหลุดหรือหลวม ด้ามควรใช้เป็นไม้ ไม่ควรใช้เหล็กเพราะด้ามเหล็กนอกจากจะสะท้านมือแล้ว ยังหนักมาก ที่สำคัญคือไม่แข็งแรง ด้ามเหล็กที่เชื่อมติดกับใบมีด เวลาฟันแรงๆมักจะหักตรงรอยเชื่อม คนขายมีดที่อรัญญิกเคยเตือนมาแล้ว พอผมลองใช้ก็หักจริงๆ ขนาดแค่ใช้ตามสวน ยังไม่ได้เอาเข้าป่าเลย มีดที่เชื่อมแล้วไม่หัก ใบมีดจะเป็นเหล็กชิ้นเดียวกับท่อที่ใช้ใส่ด้ามแล้วอาศัยเชื่อมตรงรอยต่อ ระหว่างด้ามแทน แต่ก็ยังมีปัญหาเดิมคือ หนักและสะท้านมือ ปกติแล้ว มีดขอหวดจะไม่มีหงอนตรงปลายสันมีด ถ้ามีก็ควรจะตัดออกด้วยเครื่องเจียรลูกหมู เพื่อป้องกันอันตรายเวลาสันมีดกระเด้งมาโดนตัว ข้อเสียของมีดต่อด้ามคือด้ามยาว สะพายลำบาก ต้องถือไว้ตลอดเวลา ซึ่งปกติเวลาเดินป่าก็ต้องใช้มีดอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว ยกเว้นเวลาที่เดินทางโล่งๆไปตลอด หรือ ต้องปีนลงเขาชันมากๆ จำเป็นต้องเสียเวลาเก็บมีดไว้กับเป้ก่อน

จากที่ผมใช้มีดมาหลายแบบ มีดขอหวด จะเหมาะสำหรับเดินป่ามากที่สุด เล่มเดียวเอาอยู่ ฟันใกล้ก็ได้ ฟันไกลก็ได้ เพราะมีด้ามยาว จึงปรับระยะมือจับได้ ถ้าต้องฟันระยะประชิดตัวก็เลื่อนมือไปจับใกล้ๆใบมีด แต่ถ้าฟันไกลๆก็เลื่อนมือลงมาจับให้สุดด้าม เปลี่ยนมือจับก็ไม่ยาก ใบมีดเว้าเข้า ใช้แหวกวัชพืชแทนมือ โดยไม่ต้องยื่นมือไปสัมผัสใบไม้ให้โดนตัวอะไรกัด ส่วนเว้าของมีด ใช้เกี่ยวกิ่งไม้ที่ตัดแล้วล้มขวางทาง ให้ไปทางอื่นได้ ซึ่งมีดทรงตรงทำไม่ได้ ปลายหัวตัด ยังใช้ดันต้นไม้ที่ตัดแล้วให้ล้มไปทางอื่น จึงไม่แปลกที่มีดขอหวดเล่มเดียว ใช้ถางป่าหรือทำทางเดินโล่งๆในป่าได้อย่างง่ายดาย ไม่ว่าจะรกหรือหนามเยอะแค่ไหน ถ้าอยากจะฝ่าไปแล้ว ทำได้เสมอ เวลาขึ้นลงทางชัน ก็ใช้แทนไม้เท้าเดินป่าได้ แต่ดีกว่า เพราะใช้ปลายหัวตัดขุดดิน ทำเป็นร่อง ให้เท้าเหยียบกันลื่น หรือ เวลาไม่มีต้นไม้ให้เกาะ ก็ใช้ปลายแหลมเฉาะกับขอนไม้ใหญ่เหมือนตะขอ ใช้ดึงตัวขึ้น หรือ เวลาเดินบนทางชันแล้วไม่มีอะไรให้เกาะ ก็ใช้ปลายเหลี่ยมตรงสันมีดอีกมุมหนึ่ง ค้ำยันกับต้นไม้หรือก้อนหิน เวลาวางมีด ก็ใช้ปลายแหลมเฉาะขอนไม้ด้านข้าง จะได้ไม่ต้องวางมีดกับพื้นให้ตัวอะไรไต่ขึ้นมา ปลายแหลมยังป้องกันคมมีดไม่ให้โดนก้อนหิน (การฟันโดนก้อนหินถือเป็นเรื่องปกติที่มีโอกาสเจอ ซึ่งเราต้องทำใจ โดยเฉพาะใกล้ลำธารจะมีก้อนหินมาก ถึงแม้ว่ามีดขอหวดจะมีปลายงอป้องกันอยู่แล้ว แต่บางครั้งคมมีดก็มีโอกาสโดนเหมือนกัน วิธีป้องกันเบื้องต้น ไม่ให้มีดฟันโดนก้อนหินคือ ก่อนฟันควรมองแนวที่มีดจะกวาดไป ถ้าแนวกวาดมีด มีพุ่มไม้บังอยู่ ก็ต้องเขี่ยดูก่อน แต่จะเสียเวลามากขึ้น) ถ้าเจอสัตว์ป่าทำร้ายกระทันหัน สามารถใช้ป้องกันตัวได้ระดับหนึ่ง ถึงแม้ว่าจะใช้แทงตรงๆไม่ได้ แต่สามารถใช้มีดต้ดต้นไม้ตรงๆยาวๆมาเหลาปลายแหลมใช้แทนหอกและไม้เท้าได้ มีดขอหวดมีความปลอดภัยสูง เพราะมักจะใช้ฟันขึ้น หรือเหวี่ยงออกข้างตัว จึงไม่เหวี่ยงลงไปโดนขา และสันมีดไม่มีส่วนแหลมคม เวลามีดเด้งกลับมาโดนตัวแล้วไม่อันตราย ส่วนมีดเว้าเข้าทรงอื่นๆเช่น ทรงเคียว ยังสู้มีดขอหวดไม่ได้ เพราะว่า ใช้เป็นไม้เท้าไม่ได้ ขุดดินก็ไม่ได้ แม้แต่พวก brush knife ของฝรั่งที่ทรงคล้ายเคียว แต่สั้น คือยาวแค่ประมาณ 20 นิ้ว เวลาเหวี่ยงมีโอกาสโดนหนามตำมือได้ง่าย หลายคนสงสัยว่า เมื่อมีดขอหวดดีอย่างนี้แล้ว เหตุใดเราจึงไม่ค่อยเห็นคนนำทางใช้กัน ซึ่งจากที่ผมเคยพบมาคือ พวกเขาไม่รู้ หรือไม่มีใช้ เพราะชีวิตคนชนบทไม่ค่อยมีทางเลือกมากนัก อะไรใกล้ตัวก็หยิบมาใช้ และใช้ตามๆกันมาโดยไม่คิดหาวิธีที่ดีกว่า จากที่ผมเดินทางมาตั้งแต่ป่าเหนือจนถึงป่าใต้ เมื่อผมให้ชาวบ้านคนใดทดลองใช้มีดขอหวด ปรากฎว่า ติดใจทุกคน ถ้าต้องการพิสูจน์ แนะนำให้ลองหาจุดผูกเปลที่พื้นค่อนข้างรก แล้วลองใช้มีดขอหวดถางดู เทียบกับมีดชนิดอื่นๆอย่างมีดเหน็บ แล้วจะเห็นความแตกต่าง

มีดเหน็บ

มีดเหน็บเหมาะเป็นมีดสำรอง มีข้อดีคือพกสะดวก มีดเล็กด้ามสั้น มีแรงเหวี่ยงน้อย จำเป็นต้องใช้ใบมีดโค้งออก เพื่อฟันแบบเจาะ จะกินเนื้อไม้ได้มากที่สุด เพราะแรงรวมกันที่จุดเดียว ถ้าใช้ใบมีดทรงตรง หรือเว้า แรงจะกระจายไปทั่วใบมีด ทำให้กินเนื้อไม้ได้น้อย แต่ข้อเสียของใบมีดโค้งออกคือ ฟันได้ทีละต้น จึงเหมาะจะใช้กับกิ่งไม้ที่มีขนาดพอสมควร อย่างเช่น เถาวัลย์ที่ขวางทาง ไม่สามารถใช้ตัดไม้เป็นพุ่มได้ ต้องเปลี่ยนไปใช้มีดเว้าอย่างมีดขอหวด แต่ปัญหาของมีดขอหวดยาวๆ คือพออยู่ในที่แคบๆ แล้วติดนั่นติดนี่ ทำให้ต้องเสียเวลาฟันมากขึ้น อุปกรณ์ที่เหมาะจะใช้ตัดกิ่งไม้ในที่แคบๆ คือ มีดสั้น ที่สามารถตัดไม้ได้ด้วยมือเดียว อย่างเช่น มีดเหน็บขนาดกลาง ใบมีดยาวประมาณ 8-9 นิ้วไม่รวมด้าม หนักประมาณ 3-4 ขีด กำลังคล่องตัว มีดเหน็บที่เล็กเกินไปจะฟันไม้ใหญ่ลำบาก ถ้าใหญ่เกินไปจะเทอะทะพกลำบาก และเวลาฟันในที่แคบจะติดนั่นติดนี่ เวลาฟันไม้เล็กๆก็เหมือนขี่ช้างจับตั๊กแตน เวลาจำเป็นต้องตัดในที่แคบซึ่งมีระยะเหวี่ยงมีดจำกัด มีดทรงโค้งออกจะตัดกิ่งไม้ได้ลึกกว่ามีดทรงเว้าเข้าอย่างมีดขอ เพราะมีพื้นที่สัมผัสกับเนื้อไม้น้อยกว่า จึงมีแรงกดเฉพาะจุดมากกว่า ซึ่งตรงกับธรรมชาติของกิ่งไม้คือแข็งตรงกลาง การตัดให้ขาดเร็วต้องใช้มีดทรงโค้งออกเจาะให้ถึงตรงกลาง ข้อดีของมีดเหน็บคือ มีน้ำหนักพอที่จะตัดกิ่งไม้ได้ด้วยมือเดียว มีปลายแหลมไว้แทงป้องกันตัว คมมีดตรงใกล้ด้ามจับจะแคบเพื่อใช้ทำงานใกล้ๆ มีดเหน็บเหมาะสำหรับตัดไม้เนื้ออ่อน อย่างเถาวัลย์และต้นไผ่ เพราะใบมีดบางกว่าขวาน เวลาฟันไม้เนื้ออ่อนจะกินเนื้อไม้ลึกกว่าขวาน ไม้จึงขาดได้เร็วกว่า แต่ถ้าเป็นไม้เนื้อแข็งและกิ่งไม้ขนาดใหญ่ เหมาะจะใช้ขวานมากกว่า เพราะหนากว่ามีด ถ้าใช้มีดไปฟันจะงอเสียรูปได้ง่าย ด้วยความหนาของใบขวานนี้เอง ถ้าฟันเฉียงทำมุมกับกิ่งไม้น้อยเกินไป มักจะแฉลบได้ง่าย แต่ถ้าทำมุมมากเกินไปจะไม่ค่อยกินเนื้อไม้ ซึ่งถ้ากิ่งไม้ไม่เล็กเกินไป และไม่ใหญ่เกินไป จะสะดวกมาก คือ ขนาดไม่เกินข้อมือ ฟันแต่ละครั้งสามารถกินเนื้อไม้ลึกถึงแกนกลางหรือมากกว่านั้น ฟันรอบๆลำต้นแค่ 2-4 มุมก็ขาด แต่ถ้าต้นใหญ่กว่านี้ทำให้ต้องฟันซ้ำๆหลายๆรอบ จะสู้ขวานไม่ได้ เพราะขวานมีมุมแหลมสามารถฟันแบบเจาะ จึงกินเนื้อไม้ได้ลึกกว่า แต่การฟันแบบเจาะจะใช้ไม่ได้ผลกับกิ่งไม้ขนาดเล็ก เพราะมักจะเจาะไม่ตรงลำต้น กิ่งไม้ที่มีขนาดเล็กใช้ใบมีดตัดจะได้ผลดีกว่า เพราะใบมีดลงตรงไหนก็กินเนื้อไม้เหมือนกัน ส่วนจุดอ่อนของมีดเหน็บคือ ไม่เหมาะสำหรับต้นไม้ที่เล็กหรือใหญ่เกินไป ถ้าขอนไม้ขนาดใหญ่ จะลำบากมาก เพราะใบมีดบาง หรือถ้ามีแต่วัชพืชต้นเล็กๆ จะเสียเวลามาก เพราะ ใบมีดที่โค้งออก ทำให้วัชพืชลู่ออกจากใบมีดหมด การจับรวบจะช่วยได้บ้าง แต่สู้มีดทรงตะขอไม่ได้
เถาวัลย์ขวางทาง เหวี่ยงมีดยาวไม่ได้ ต้องใช้มีดสั้น
คนที่พวกมีดเหน็บเล่มเดียวเดินป่า เวลาเจอดงหนาม จึงต้องถอยหนีอย่างเดียว ถอยอ้อมไปอ้อมมาจนหลง แถมมีดปลายแหลมยังไม่เหมาะจะใช้ตัดต้นไม้มากนัก เพราะนอกจากเวลาใช้ในที่แคบมากๆ ปลายแหลมจะติดนั่นติดนี่ แล้วเวลามีดเด้งกลับมาโดนตัวจะเจ็บหนัก มีดปลายแหลมเหมาะที่จะใช้เป็นอาวุธ ซึ่งที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านหลายคน รอดตายจากการทำร้ายของเสือและหมี หรือแม้แต่งูรัด ด้วยปลายแหลมของมีดเหน็บนี้เอง สาเหตุที่ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคน นิยมพกมีดเหน็บเล่มเดียวเดินป่า ทุกคนให้เหตุผลว่า พกสะดวก เพราะคาดเอวได้ สามารถติดตัวไว้ได้ตลอดเวลา โดยไม่ต้องถือ ส่วนมีดยาวๆเกะกะ โดยเฉพาะคนที่ต้องพกปืน แต่จากที่ผมใช้มา สรุปได้ว่า คนที่พกมีดเหน็บเล่มเดียวเข้าป่า ไม่ใช่นักเดินป่าแท้ๆ เป็นแค่มือสมัครเล่นอาศัยเดินตามทาง เพราะการเดินป่าแท้ๆต้องลุยฝ่าทางรกอยู่เป็นประจำ มีดเหน็บเหมาะใช้ตัดไม้ที่ขวางทางในระยะประชิดตัว เหมาะสำหรับพกติดตัวเวลาเดินทางไปทางเดินโล่งๆ อย่างตามทางด่านสัตว์ ซึ่งแทบจะไม่ต้องใช้มีดเลย แค่เผื่อเวลาจำเป็นต้องใช้มีดตัดอะไรเล็กๆน้อยๆ ถึงแม้จะเสียเวลาบ้างก็ยังดีกว่าไม่มี ใช้ป้องกันตัวก็ได้ พกติดตัวผ่านที่ชุมชนก็ไม่ค่อยมีใครสังเกตุ ต่างจากมีดเล่มใหญ่ๆยาวๆอย่างมีดขอหวด ถ้าพกเข้าไปในที่ชุมชนโดยไม่ห่อให้ดี ผู้คนก็จะแตกตื่น แต่ถ้าต้องลุยป่าจริงๆจังๆแล้ว มีดเหน็บจะไม่เหมาะเลย เพราะนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังต้องเจ็บตัวมากขึ้นอีกด้วย


กรรไกรตัดกิ่ง มีฟันเฟือง
เวลามุดฝ่าดงหนามแคบๆ มีดจะไม่มีประโชน์มากนัก เพราะ ต้นหนามส่วนมากจะเป็นวัชพืชต้นเล็กๆจำนวนมาก เวลาเหวี่ยงไป มีโอกาสโดนหนามตำมือได้ง่าย ทั้งหนามจากกิ่งที่ฟัน และหนามจากรอบข้างที่มือไปโดนขณะง้างมีด กรณีนี้ เลี่ยงไปทางอื่นจะไวที่สุด แต่ถ้าสามารถพกอุปกรณ์เพิ่มได้ กรรไกรตัดกิ่งจะตัดวัชพืชต้นเล็กๆได้เร็วกว่ามีดเหน็บมาก และใช้ในที่แคบๆได้เร็วกว่ามีดขอ โดยเฉพาะต้นที่พริ้วๆซึ่งมีดฟันหลายรอบแล้วยังไม่ขาด แม้แต่เวลาเดินแล้วโดนหนามเกี่ยวเสื้อไว้ เดินต่อไม่ได้ ใช้มือจับก็ไม่ได้ เพราะหนามตำมือ ใช้มีดใหญ่ฟันก็ไม่ได้เพราะจะทำให้เสื้อขาด ต้องอาศัยกรรไกรตัดกิ่ง จึงจะตัดหนามขาดได้อย่างง่ายดาย  ถึงแม้ว่ากรรไกรจะมีใบมีดเล็กและมีน้ำหนักเบาแค่ไม่กี่ขีด แต่มีความแม่นยำสูง ถ้าชี้ไปจุดใดแล้ว จุดนั้นต้องขาด นอกจากตัดแล้ว บางครั้งยังต้องขยับกิ่งไม้ที่ขาดแล้วให้พ้นทางอีกด้วย ซึ่งปากกรรไกร สามารถทำงานได้เหมือนคีม ใช้ดันกิ่งไม้ที่ตัดแล้วให้ล้มไปทางอื่น หรือ หนีบกิ่งหนามที่ตัดแล้วดึงออกมา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะที่มีดทรงตรงอย่างมีดเหน็บทำไม่ได้ การใช้มีดเหน็บ ต้องใช้อีกมือจับต้นไม้ ซึ่งเสี่ยงที่จะโดนหนามตำมือและโดนสัตว์ที่อยู่ตามต้นไม้กัด อย่างไรก็ตาม กรรไกรตัดกิ่งก็มีข้อจำกัดคือ ใช้ถางทางรกๆมากไม่ได้ เพราะสั้นเกินไป ใช้ได้เฉพาะตัดเถาวัลย์หรือกิ่งไม้ที่ขวางทางในระยะประชิดตัว ทีละ 1-2 ต้น ถึงแม้ว่าการรวบวัชพืชมารวมกันจะช่วยได้บ้าง แต่การรวบแต่ละครั้งก็จะเสียเวลามากเช่นกัน ถ้าเราเปลี่ยนไปใช้กรรไกรแบบยาวๆก็จะเกะกะมาก และตัดในระยะประชิดตัวไม่ได้ ถ้ากรรไกรไม่ยาวจริงก็ตัดได้ไม่ถึงพื้นอีก ด้วยเหตุนี้ กรรไกรตัดกิ่งขนาดสั้นๆจึงเหมาะสมที่สุด กรรไกรตัดกิ่งที่ดีควรตัดไม้ใหญ่ได้ง่าย เช่นแบบ ratchet ที่มีฟันเฟืองช่วยผ่อนแรง และปุ่มล็อกไม่ให้กรรไกรง้างออก ควรเลื่อนได้ด้วยมือข้างเดียวกับที่จับกรรไกร เผื่อมืออีกข้างถือมีดอยู่ จะได้ไม่ต้องวางลง ถึงแม้ว่า กรรไกรตัดกิ่งมีโอกาสพังง่ายกว่ามีด เพราะมีกลไกเยอะกว่า แต่หากเทียบกับประโยชน์ที่ได้รับจากมันแล้ว ถือว่าคุ้มค่ากว่า เรื่องพังไม่น่ากังวล เพราะเราพกมีดแบบอื่นสำรองไปด้วย ซึ่งจากที่ผมทดลองใช้งานหนักติดต่อกันมานานหลายปี พบว่าถึงแม้จะเป็นยี่ห้อธรรมดาอย่างโซโล แต่ก็ทนทานมาก โอกาสเสียยาก ปัญหาที่เคยพบหลังจากใช้ไปนานๆ คือสปริงล้า ซึ่งถึงไม่มีสปริงก็ยังใช้ตัดได้อยู่ โดยใช้มือช่วยง้างกรรไกรออก ด้ามอลูมิเนียมไม่ขึ้นสนิม แต่ใบมีดและชิ้นส่วนกลไกด้านในที่เป็นโลหะ อาจขึ้นสนิมได้เช่นเดียวกับมีดที่ไม่ได้รับการดูแลรักษา

มีดเดินป่าควรมีสำรองอีกเล่ม เผื่อเล่มหนึ่งหักหรือหายกลางป่า บางทีด้ามหลุดออกจากใบมีด บางคนวางมีดทิ้งไว้แล้วหาไม่เจอ บางคนเหวี่ยงมีดแล้วหลุดมือบินหายไปทั้งเล่ม อย่างมีดเหน็บของอรัญญิกจะมีเชือกสีแดงผูกไว้ เวลาตกหายก็หาได้ง่ายขึ้น คนมีประสบการณ์  จึงไม่พกมีดเข้าป่าเพียงเล่มเดียว เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องไม่มีมีดฝ่าออกจากป่า ปกติผมจะพกมีดขอหวดเล่มหนึ่ง สำหรับฟันแบบกวาด ทีละหลายๆกิ่ง ใช้ถางทางทุกชนิด ถ้าไปหลายคนก็จะให้คนอื่นพกมีดขอหวดไปอีกเล่ม แต่ถ้าไปคนเดียว ก็จะดูระยะทาง ถ้าระยะทางสั้นๆ ไปกลับทางเดียวกัน อาจไม่จำเป็นต้องพกมีดขอหวดสำรองไป นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์สำรองแบบอื่นอีก อุปรณ์สำรองที่ดีควรใช้งานคู่กับอุปกรณ์หลักได้ด้วย กรรไกรตัดกิ่งไม้กับมีดเหน็บ เป็นอุปกรณ์สำรองที่ควรพกติดตัวไปเสมอ เวลาหลงเข้าไปในดงไม้แคบๆ พวกดงเถาวัลย์ หรือดงต้นหนาม ซึ่งมีระยะฟันจำกัด ดงไม้อาจจะลึกหลายเมตร เมื่ออยู่ปากทางก็สามารถใช้มีดขอหวดเหวี่ยงเปิดทางให้มุดเข้าไปได้ง่าย แต่พอมุดเข้าไปแล้วระยะเหวี่ยงจะจำกัด ถ้าเราฟันเปิดทางกว้างๆไว้ตั้งแต่แรกก็จะเสียเวลามาก หรืออาจทำไม่ได้ เพราะติดก้อนหินหรือต้นไม้ใหญ่ บางครั้งไม่มีทางอ้อมไปทางอื่น เวลาใช้มีดขอหวดเล่มใหญ่แล้วหมดแรง ก็ใช้กรรไกรตัดกิ่งหรือมีดเหน็บซึ่งเบากว่าแทนได้ หรือ เวลาผ่าฟืน ปลายแหลมของมีดขอ จะกระแทกกับหินได้ง่าย ใช้มีดเหน็บจึงง่ายกว่า แต่ถ้ามีดขอหวดพัง เหลือแต่อุปกรณ์สั้นๆ ก็ต้องตัดไม้ยาวๆมาทำไม้เท้าเขี่ยดูงู และไม้เท้าควรมีตะขอใช้เกี่ยวรวบวัชพืชเพื่อจะตัดได้เร็วขึ้น แน่นอนว่าตามธรรมชาติแล้ว ไม่มีใครต้องการแบกของเยอะ แต่เราต้องยอมรับความจริงว่า นอกจากเรื่องพังกลางทางแล้ว มีดก็เหมือนเครื่องมือทั่วไป คือมีข้อจำกัดในการใช้งาน ไม่มีมีดเล่มใดเป็นมีดอเนกประสงค์ ทำได้ทุกอย่าง มีดที่ใช้ตัดหญ้า ก็จะเป็นคนละแบบกับมีดที่ใช้ตัดต้นไม้ใหญ่ เพราะธรรมชาติของหญ้ากับต้นไม้ใหญ่ไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้เราจึงต้องพกมีดหลายแบบ และก่อนจะใช้มีดเล่มใด นอกจากจะต้องรู้ว่าใช้งานอย่างไรแล้ว เราต้องรู้ด้วยว่ามันมีข้อจำกัดอย่างไร เพราะถ้าดัดแปลงไปใช้งานอื่น จะใช้ได้ไม่ดี และ ถ้าเราใช้เกินขีดจำกัดของมัน มีดก็จะพัง ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเรานำมีดเหน็บเล่มเล็กๆ ไปฟันไม้สดขนาดใหญ่กว่าน่อง ด้ามอาจจะแตกได้ ผมเคยใช้มีดเหน็บเล่มใหญ่ ใบมีดยาวถึง 13 นิ้ว ฟันไม้สดในแนวตั้งฉากแล้วบิดเพื่อให้เนื้อไม้แตกออก ปรากฎว่า ใบมีดงอ กลายเป็นลูกคลื่นเลย ด้วยเหตุนี้ ก่อนจะใช้มีดเล่มใดเข้าป่าไปทำอะไร ควรทดสอบให้แน่ใจก่อน ถ้าต้องฟันไม้เนื้อแข็งขนาดใหญ่ ใช้ขวานจะเหมาะกว่ามีด เพราะขวานหนากว่า จึงมีโอกาสบิดงอน้อยกว่า

ถึงแม้ว่าการพกมีดหลายแบบทั้งมีดสั้นและมีดยาว จะช่วยให้ใช้งานคล่องตัวขึ้นในแต่ละสถานการณ์ แต่การสับเปลี่ยนอุปกรณ์ขณะกำลังใช้งาน จะเสียเวลามากกว่าการใช้อุปกรณ์ชิ้นเดียว เช่น ถ้าใช้มีดขออยู่ ถ้าจะเปลี่ยนมาใช้มีดเหน็บ ก็ต้องดึงมีดออกมาจากฝัก ใช้เสร็จแล้วต้องใส่กลับเข้าฝัก ดังนั้น มีดสั้นซึ่งเป็นมีดสำรอง จึงควรจะออกแบบฝักให้ดึงออกหรือเก็บเข้าง่าย

การสะพายมีดขอหวดกับเป้สะพายหลัง มีหลายวิธี วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ใส่ปลอก แล้วยัดไว้ตรงถุงตาข่ายด้านข้างเป้ แต่ถ้าต้องหยิบเข้าหยิบออกบ่อยๆ วิธีนี้จะไม่สะดวก ต้องเปลี่ยนมาใช้วิธีแขวนปลายมีดไว้กับสายคาดเอว ในแนวตั้งฉากกับพื้น แล้วผูกด้ามมีดที่ยื่นขึ้นมา ไว้กับสายสะพายไหล่ ซึ่งหมายถึง ต้องดัดแปลงปลอกมีดให้แขวนกับสายคาดเอวได้

เส้นทางที่มีสิ่งกีดขวางเล็กๆน้อยๆ การเดินไปฟันไป โดยไม่ต้องหยุด สามารถทำได้ ถ้าเรามองเห็นหรือจำพุ่มไม้นั้นได้ว่า ลำต้นหรือกิ่งอยู่ตรงไหน การเดินฟันกิ่งไม้ไปเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าจะเหนื่อย แต่มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ออกกำลังกาย, เสียงฟันไม้ยังใช้ไล่งู และ ไล่สัตว์ป่าต่างๆ,  ป้องกันเห็บที่ติดมาจากใบไม้,  ที่สำคัญคือ เศษใบไม้สดที่ตกอยู่ตามพื้น ช่วยให้รู้ว่าเคยเดินผ่านเส้นนี้มาแล้ว ดังนั้น ถ้าต้องการทำเครื่องหมายตรงทางแยก ให้ฟันกิ่งไม้แบนๆเช่น เฟิร์น ทิ้งลงกับพื้น โดยหงายใบขึ้น จะมองเห็นได้แต่ไกล เพราะใบไม้ตามธรรมชาติจะไม่หงายขึ้น ยกเว้นจะมีช้างไปเหยียบ

เส้นทางที่รกมาก มีสิ่งกีดขวางมาก ถึงแม้ว่าใช้เครื่องทุ่นแรง อย่างเครื่องตัดหญ้าหรือเลื่อยไฟฟ้าก็ยังเสียเวลา ถ้าเจอต้นไม้เหนียวๆ อย่างต้นข่อยหนาม ที่พบมากแถวน้ำตกนางรอง มีหนามตามกิ่งและลำต้น ใบคล้ายใบมะกรูด โคนต้นใหญ่กว่านิ้วโป้งเล็กน้อยแต่เหนียวมาก ต่อให้อุปกรณ์ดีแค่ไหน กว่าจะตัดได้แต่ละต้นก็เหนื่อย คนนำทางรู้กันดีว่า ยิ่งถ้าต้องฟันเยอะ ยิ่งจะทั้งเสียแรงและเสียเวลามากขึ้น มีดจึงเหมาะสำหรับเส้นทางที่มีต้นไม้เล็กๆไม่กี่ต้นล้มขวางทางบ้างเป็น ระยะ แต่ถ้าต้องเจอกับทางรกเป็นระยะทางยาวๆติดต่อกันแล้ว ทางเลือกที่เร็วกว่าการตัดฝ่าทางรกไปคือ ถอยหลังแล้วเลี่ยงไปทางอื่นที่โล่งกว่า  ถึงแม้ว่าเราจะมองเห็นทางที่น่าจะถูกต้องอยู่ แต่ก็ไม่ควรลัดไป ควรถอยหลังไปเริ่มต้นใหม่จะปลอดภัยกว่า แม้แต่นักเลงที่ตีรันฟันแทงเก่ง ถ้ารู้ว่าสู้เขาไม่ได้ก็ต้องถอยกลับไปตั้งหลักเพื่อต่อสู้กับเขาใหม่ ถ้าไม่หนีแสดงว่าไม่ใช่นักเลง แต่เป็นคนโง่ ผู้ชำนาญป่าทั้งหลายก็เช่นกัน รู้จักถอยเมื่อรู้ว่าไปไม่ไหวจริงๆ แต่ถ้าพอมุดได้ก็มุดไป อาศัยวิธีอื่นช่วยด้วยเช่น ทายากันเห็บ ยกเว้นว่าถอยแล้วยังหาทางเลี่ยงไม่ได้จริงๆ จึงจำเป็นต้องเสียเวลาใช้มีดตัดฝ่าไป

วิธีเลือกซื้อมีด คือ ดูว่าใบมีดคม ตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย เพราะมีดบางเล่มอาจทำมาไม่เรียบร้อย คมแค่ตรงปลายมีดส่วนตรงใกล้ๆด้ามจับ ยังเป็นสันอยู่ ทำให้ฟันไม้ไม่เข้า ถ้าด้ามมีดเป็นไม้ ให้ดูว่าไม่มีรูมอดเจาะ และไม่มีรอยแตก

มีดเดินป่าที่ไม่ควรใช้ คือพวกมีดประหลาด อย่างเช่น มีด 2 คม หรือ สันมีดเป็นใบเลื่อย เพราะว่าเวลาฟันกิ่งไม้ มีโอกาสที่มีดมักจะกระเด้งกลับมาโดนตัว โดยเฉพาะในช่วงบ่าย ซึ่งมีดเริ่มทื่อ และคนเริ่มล้า ผมเคยเห็นคนที่โดนสันมีดขอหวด กระเด้งมาโดนกลางหน้าผากหรือโดนมือ ซึ่งถึงแม้จะโดนแค่สันมีดซึ่งไม่มีคม แต่ก็ยังเลือดไหลซิบๆ นอกจากนี้ เวลาเดินมีโอกาสเตะมีด ถ้าเป็นมีดที่มีคมด้านเดียว แล้วหันสันมีดเข้าหาลำตัว จะไม่ค่อยมีปัญหาอะไร ที่สำคัญ เวลาผ่าฝืนหรือตัดไม้ใหญ่ ด้วยวิธีใช้มีดทำเป็นลิ่ม แล้วใช้ไม้ตอกตรงสันมีด แต่มีด 2 คม ทำไม่ได้ ส่วนด้ามมีด ควรเป็นท่อนตรงๆธรรมดา ไม่ควรมีด้ามจับที่มีวงแหวนป้องกันนิ้วเป็นรูปตัว D ถึงแม้ว่าจะป้องกันมีดหลุดมือ สะดวกเวลาปีนป่าย สามารถห้อยมีดไว้กับมือได้ ไม่ต้องเก็บ แต่สลับเปลี่ยนมือยาก และเวลาล้มหรือตกเขา มีดอาจจะติดมือมาโดนตัวเอง ควรใช้มีดด้ามตรงปกติ เวลาปล่อยมือแล้วมีดหลุดจากมือทันที ปกติมีดจะหล่นไปด้านข้างลำตัว จึงไม่ค่อยพลาดมาโดนตัว ถ้าจะป้องกันมีดหลุดมือเวลาห้อยโหน ใช้เชือกที่ห้อยตรงปลายด้ามที่เรียกว่า lanyard แขวนไว้กับมือแทนได้ แต่ของมีคมเก็บใส่ฝักจะปลอดภัยกว่า การใช้ lanyard จะเหมาะสำหรับของที่ไม่มีคม

ความปลอดภัยเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในป่า เพราะ พอพลาดแล้วแก้ไขยาก ถ้าเจ็บป่วย ก็ต้องเดินออกมา ไม่มีรถไปรับ ไม่มีคนหาม เหมือนเวลาอยู่ในเมือง โดยเฉพาะเรื่องของมีคม ต้องเรียนรู้วิธีใช้ให้ปลอดภัย คือ
ธรรมชาติของต้นไม้ ถ้าฟันในแนวตั้งฉาก จะไม่ขาดง่ายๆ ต้องฟันเฉียง ให้ใบมีดทำมุมเอียงกับกิ่งไม้ประมาณ 30 องศา ถ้า 45 องศาจะไม่ค่อยกินเนื้อไม้  ถ้าลำต้นแข็ง ฟันตรงไหนก็ขาด แต่ถ้าลำต้นอ่อน ต้องฟันสวนทางกับแรงดึงจากลำต้น หรือใช้มือดึงไว้ จึงจะขาด ถ้าจะฟันให้ขาดทุกครั้ง ก่อนฟันควรหาลำต้นหรือกิ่งให้เจอ ถ้าฟันมั่ว โดยไม่หาลำต้นหรือกิ่ง อาจต้องฟันหลายรอบ โดยเฉพาะพวกกิ่งไผ่ที่แตกออกมาจากลำต้น ถ้าไม่ฟันตรงรอยต่อระหว่างกิ่งกับลำต้นแล้ว โอกาสขาดแทบจะไม่มี และก่อนตัดต้นไม้ ต้องเล็งดูก่อนว่า ส่วนไหนที่จะตกลงพื้น เพราถ้าตัดเสร็จแล้ว ยังห้อยอยู่เหมือนเดิม ก็จะเสียแรงตัดฟรี ไม้ที่ควรระวังคือ พวกไม้ไผ่หรือไม้รวก ไม้พวกนี้มีคม สามารถเด้งมาบาดหรือแทงได้ เคยมีคนโดนกิ่งไผ่ลื่นมาเสียบใส้ทะลักมาแล้ว ไม้ไผ่กิ่งเล็กมักจะไม่ค่อยมีปัญหา แต่กิ่งใหญ่มักจะค้ำยันกิ่งอื่นไว้ เมื่อกิ่งใหญ่เอียง กิ่งอื่นก็จะดีดตามออกมา หรือ ซากกิ่งไม้ด้านบนหล่นลงมาใส่หัว ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงตัดไม้พวกนี้ วิธีตัดไม้ไผ่ให้ปลอดภัยคือ อย่าฟันให้ขาด ฟันให้เกือบขาด แล้วใช้มือหรือเท้าดันให้ล้มไปทางอื่น โดยดูว่าจะให้ฝั่งไหนงอเข้าหากัน แล้วฟันฝั่งตรงข้าม แต่ถ้าพื้นที่จำกัด จะฟันฝั่งเดียวกับที่งอก็ได้ โดยฟันเป็นรูปตัว V ลองขยับจนแน่ใจแล้วว่าจะไม่มีอะไรเด้งมา จึงค่อยฟันตรงจุดที่งอให้ขาดออก เมื่อไม้งอแล้วก็จะฟันได้ตรงจุดมากขึ้นด้วย ถ้ากิ่งใหญ่มากให้ฟันทีละกิ่งแล้วขยับดูว่ามีอะไรขยับตามหรือไม่ ถ้าไม่แน่ใจว่ากิ่งที่ฟันอยู่จะเด้งหรือไม้ ก็ต้องใช้มือจับไว้จนกว่าไม้จะขาดออกจากกัน ทั้งนี้เวลาจับไม้ไผ่ ต้องระวังลำต้นแตกบาดมือด้วย เพราะแค่โดนบาดมือทีเดียว มือข้างนั้นก็จะจับมีดไม่ได้อีกเลยตลอดเส้นทาง

วิธีฟันไม้ของคนนำทาง จะแตกต่างจากคนทำไร่ คนทำไร่จะฟันแบบบู๊ล้างผลาญ ฟันทีเดียวราบไปทั้งแถบ  ส่วนคนนำทางจะฟันเพียงเพื่อเปิดช่อง เอากิ่งไม้ที่ขวางทางออก ให้ตัวเองเดินผ่านไปได้  บางทีตัดมากเกินไป กิ่งไม้ล้มลงมาขวางทาง ทำให้เดินลำบากอีก แต่ถ้าเข้าไปในที่รก จำเป็นต้องโหดหน่อย อาจต้องฟันกิ่งใหญ่ๆหรือ อาจต้องฟันโคนต้นไม้เนื้อแข็ง เพราะถ้ามัวแต่ฟันกิ่งเล็กๆกิ่งน้อย จะต้องใช้เวลาฟันหลายรอบกว่าจะผ่านไปได้ ทำให้เดินช้า กิ่งไม้ที่ถูกฟันทิ้งไว้ไม่นาน มักจะงอกขึ้นมาใหม่

ถึงแม้ว่าขาไป จะฟันไม้ มาบ้างแล้ว แต่ขากลับ อาจหาทางที่เดินมาไม่เจอ เพราะฟันไม่เกลี้ยงพอ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะถึงแม้จะเป็นทางโล่งๆตามสนามหญ้าที่คนเดินเป็นประจำ ก็ยังเจอเหตุการณ์เชนนี้ ดังนั้น อย่าพยายามเสียเวลาไปคลำหาทางเก่า ให้ฟันทางใหม่ไปเลย อาจบังเอิญไปเจอทางเก่า แต่ไม่นาน ทางจะหายอีก

วิธีทำปลอกมีดอย่างง่ายคือ ใช้ผ้าพันไว้ บางอย่างที่เก็บคมแล้วอย่างเช่น กรรไกรตัดกิ่ง อาจจะใช้ผ้าไนล่อนมาเย็บทำซองได้ แต่ถ้ามีคมมาก อย่างมีดขอหวด ต้องทำซองที่ป้องกันคมมีดได้ อย่างเช่น แผ่นพลาสติก PE ซื้อได้จากร้านขายอะหลั่ยกระเป๋า แถว ถ.เจริญรัถ วงเวียนใหญ่ แผ่น PE บางเกินไปจะอ่อน ป้องกันคมมีดไม่ได้ แต่ถ้าหนาเกินไปจะหนัก ขนาดบางที่สุดที่ใช้ทำปลอกมีดได้คือ 1มม. ใช้กรรไกรตัดแผ่น PE ตามขนาดของใบมีด แล้วยึดด้วยตะปูย้ำ ที่ทำจากโลหะที่ไม่เป็นสนิม อย่างเช่น ทองเหลือง โดยออกแบบซองให้เวลาเก็บมีดแล้ว คมมีดและปลายมีด เสียบอยู่กับตะปูย้ำ จะได้ไม่บาดปลอกมีดจนขาด และเวลาดึงมีด ออกจากฝัก อย่าจับฝักด้านเดียวกับคมมีด เพราะว่ามีโอกาสที่มีดจะบาดมือได้

มีดเหล็กที่ทิ้งไว้นานหลายเดือน จะเริ่มขึ้นสนิม การป้องกันใบมีดขึ้นสนิม มีหลักอยู่ว่าหาอะไรมาเคลือบไว้อย่าให้ใบมีดสัมผัสกับความชื้นในอากาศ อาจใช้น้ำมันอะไรที่ไม่ระเหยมาทาก็ใช้ได้แล้ว แม้แต่ ทาสี เคลือบเทฟลอน หรือใช้ epoxy เคลือบไว้ น้ำมันเหลวๆ ถ้าทาหนาเกินไปจะหยดเลอะเทอะ น้ำมันแร่ (เรียกว่า mineral oil หรือ white oil หรือ paraffin liquid) จะดีที่สุด ไม่ระเหย ไม่บูด แต่อาจเสื่อมสภาพตามกาลเวลา เช่นเดียวกับน้ำมันเครื่องรถ จะใช้ baby oil หรือ น้ำมันจักร ก็ได้ เพราะ baby oil คือน้ำม้นแร่ผสมน้ำหอม ส่วนน้ำมันจักรก็คือน้ำมันแร่ ที่กลั่นไม่สะอาดมาก อาจผสมสารอื่นเล็กน้อย น้ำมันแร่โดนมือได้ ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ จะใช้น้ำมันพืชหรือไขมันสัตว์ก็ได้ แต่จะบูดเร็ว และจับตัวเป็นก้อน จึงเหมาะสำหรับใช้ช่วงสั้นๆเวลาเดินทาง น้ำมันเหนียวๆ อย่างปิโตรเลี่ยมเจลลี่ จะไม่หยดเลอะเทอะ ไม่ระเหย ไม่บูด และติดทนนาน ถึงจะล้างน้ำแล้วเช็ดอีกรอบก็ยังหลุดไม่หมด แต่มีข้อเสียคือ เหนียวเกินไป ทำให้เวลาลับมีด เศษเหล็กที่หลุดออกมา ไปติดตามร่องขรุขระของผิวที่ลับมีด ล้างออกยาก เหมือนโคลนที่ติดอยู่ตามซอกรองเท้า ด้วยเหตุนี้ น้ำมันแร่จึงเหมาะสมที่สุด การทาน้ำมันลงบนมีด ถ้าใช้มือถูตรงๆ จะเสี่ยงมีดบาดมือ ใส่ถุงนิ้วยางหนาๆจะช่วยได้

หลังจากใช้มีดเสร็จแล้ว มักจะมียางไม้ติดมาด้วย ถ้าเก็บใส่ฝักไว้จะขึ้นสนิม ควรนำมาล้างแล้วใช้แปรงพลาสติกขัดให้สะอาด เช็ดให้แห้ง ทาน้ำมัน แล้วจึงค่อยเก็บ ไม่ควรเก็บในฝัก เพราะในฝักอาจจะเปียกหรือสกปรก โดยเฉพาะฝักที่ทำจากหนัง จะดูดความชื้นทำให้มีดขึ้นสนิมง่าย แต่ถ้าวางเปิด
โล่งสัมผัสกับอากาศ ใบมีดด้านบนที่สัมผัสกับอากาศมักจะขึ้นสนิม ถึงแม้ว่าจะทาน้ำมันหรือปิโตรเลี่ยมเจลลี่แล้วก็ตาม วิธีป้องกันสนิมคือ ใส่ถุงพลาสติก หรือ เก็บมีดไว้ในภาชนะปิดสนิท เพื่อป้องกันไม่ให้อากาศเข้า  ปกติแล้วมีดเดินป่า จะใช้งานเฉพาะเวลาออกนอกบ้าน พอกลับถึงบ้านก็มักจะเก็บขึ้นหิ้งเป็นเวลานาน การทาน้ำมันแล้วห่อด้วยฟิล์มยืดใสที่ใช้ถนอมอาหาร จึงเหมาะสมที่สุดสำหรับเก็บที่บ้าน (ฟิล์มยืดอย่างเดียว ยังไม่ดี เพราะออกซิเจนสามารถซึมผ่านพลาสติกได้) แต่ฟิล์มยืดไม่เหมาะกับมีดที่ใช้งานเป็นประจำ เพราะเมื่อแกะฟิล์มยืดออกแล้ว ต้องทิ้งเลย ทำให้ไม่มีอะไรห่อ กรณีนี้ ใส่ถุงพลาสติกธรรมดาแล้วมัดปากถุงให้แน่น จะสะดวกกว่า ควรใช้ถุงใส เพื่อจะดูได้ง่ายว่ามีดขึ้นสนิมหรือสกปรกหรือไม่ และถุงควรหนาพอสมควรเพื่อจะไม่ขาดง่าย

วิธีลับมีดให้คมเร็ว คือ
ลับสวนคมมีด ให้ใบมีด
เอียงทำมุมกับหินลับ
ประมาณ 20 องศา

ที่ลับมีด ควรพกไปพร้อมกับมีดเสมอ เพราะ เมื่อใช้มีดฟันไม้บ่อยๆ ใบมีดอาจจะเริ่มทื่อ
มีดทื่อจะฟันไม้ไม่ค่อยเข้า นอกจากจะต้องออกแรงฟันมากขึ้น ทำให้เหนื่อยง่าย แล้วยังมีโอกาสเด้งกลับ หรือ ลื่นไถลไปทางอื่น หินลับมีดไม่เหมาะสำหรับพกติดตัวเดินป่า เพราะหนัก ที่ลับมีดที่เหมาะสำหรับเดินป่า ต้องมีน้ำหนักเบา อันเดียวลับมีดได้ทุกประเภท และมีความแข็งสูง ลองขูดเนื้อมีดแล้วเป็นรอย สามารถลับได้เร็ว ขูดไม่กี่ที ใบมีดก็คม ซึ่งได้แก่แบบแท่ง ทำจากวัสดุสังเคราะห์ เช่น  ceramic หรือ เหล็กเคลือบกากเพชร แต่ปัญหาของ ceramic คือ มีเนื้อละเอียดเกินไป จึงเหมาะสำหรับลับครั้งสุดท้ายเพื่อให้มีดคมมาก ที่สำคัญคือ แตกง่าย แค่ตกพื้นก็แตกเป็นเสี่ยงๆแล้ว ถ้าต้องพกติดตัวระหว่างเดินทาง ควรใช้ที่ลับมีดแบบเหล็กเคลือบกากเพชร เพราะมีน้ำหนักเบามาก สามารถเลือกได้ว่าจะใช้เนื้อหยาบหรือละเอียด ให้เลือกเนื้อกลางๆ ไม่ต้องสนใจว่าจะเป็น monocrystalline หรือ polycrystalline เพราะถึงแม้ว่า monocrystalline จะทนกว่า แต่ตามสเปคแล้ว polycrystalline ก็สามารถใช้ได้นานกว่าอายุมีดอยู่แล้ว ถ้าผู้ผลิตไม่ได้เขียนไว้ว่ากากเพชรทำจากวัสดุอะไร น่าจะเป็น polycrystalline

ที่ลับมีด ที่ทำจากวัสดุสังเคราะห์ ถึงแม้ว่าจะสามารถลับแห้งได้ โดยไม่ต้องใช้น้ำ ใช้น้ำเพียงเพื่อล้างเศษเหล็กออกจากหินลับเท่านั้น แต่ในการใช้งานจริง การลับด้วยน้ำหรือน้ำมันจะช่วยล้างเศษเหล็กออก ทำให้ลับได้ง่ายขึ้น การลับน้ำจะสะดวกที่สุด เพราะลับเสร็จแล้ว ทำความสะอาดง่าย ไม่เหนียวเลอะเทอะเหมือนน้ำมัน แต่ต้องเช็ดมีดให้แห้ง ป้องกันมีดขึ้นสนิม  ส่วนการลับน้ำมันใช้น้ำมันแร่ได้ หรือ น้ำมันพืชที่ไม่แห้งเร็วเกินไปจนกลายเป็นคราบขณะที่ยังลับไม่เสร็จ มีดที่ใช้ทำกับข้าวไม่ควรใช้น้ำมันแร่ เพราะสังเคราะห์มาจากน้ำมันดิบ ถึงแม้ว่าน้ำมันแร่กินเข้าไปแล้วจะไม่มีอันตรายมากก็ตาม แต่ก็ไม่ดีต่อสุขภาพ ถ้าต้องใช้มีดมาทำกับข้าวด้วย ควรใช้น้ำมันแร่แบบ food grade หรือ ใช้น้ำมันพืชมาทามีดแทน

ปัญหาของที่ลับมีด ที่ทำจากเหล็กเคลือบกากเพชร คือ อาจขึ้นสนิมได้ เมื่อใช้เสร็จแล้ว ก่อนเก็บควรทาด้วยน้ำมันแร่  เวลาทาน้ำมันแร่ ให้จุ่มหรือหยดแล้วใช้นิ้วลูบได้เลย แต่ใช้สำลีทาไม่ได้ผล เพราะเศษสำลีจะติดกับผิวของเหล็กเคลือบกากเพชร ข้อดีของน้ำม้นแร่คือ ช่วยระบายเศษเหล็กออก ซึ่งเป็นคุณสมบัติของสารลับมีดที่ดี เวลาจะลับมีดรอบแรก ไม่ต้องล้างน้ำมันแร่ออก เพราะน้ำมันแร่ใช้สำหรับลับมีดอยู่แล้ว แต่ลับมีดรอบต่อไปอาจต้องล้างเศษเหล็กออกก่อน

ที่ลับมีดแบบราบ จะใช้ได้ดีเฉพาะกับใบมีดทรงตรงหรือโค้งออก แต่มีดเดินป่า เช่น มีดเหน็บ มีดขอ จะมีใบมีดโค้งเว้าเข้าด้านใน ถ้าเอียงใบมีดทำมุมกับที่ลับแล้ว ส่วนเว้าจะไม่สัมผัสกับที่ลับ สำหรับมีดทรงตรงหรือโค้งออก ที่ลับแบบผิวเรียบจะลับได้เร็วกว่าแบบผิวโค้ง

ถ้าอยู่ในป่าแล้วไม่มีที่ลับมีด สามารถใช้หินตามธรรมชาติแทนได้ หินอะไรก็ได้ เพราะ หินมี quartz เป็นส่วนประกอบหลัก และ quartz แข็งกว่ามีด คือมีความแข็งถึง 70 rockwell C scale ในขณะที่มีดส่วนใหญ่มีความแข็งไม่เกิน 60 rockwell หินทรายกลมๆตามก้นลำห้วย จะดีที่สุด เพราะ ทรายก็คือ quartz  และ เลือกได้ทั้งเนื้อละเอียดและเนื้อหยาบ

การฟันไม้ ไม่จำเป็นต้องฟันกิ่งไม้ที่ขวางทางเสมอไป อาจจะฟันกิ่งไม้ที่อยู่ไกลตัว แต่บังวิ

ถ้าไม่มีมีด สามารถใช้แง่งหินคมๆแทนมีดเล็กได้ ถ้าต้องการหินที่เคลื่อนย้ายได้ ให้หาหินกรวดมากระแทกหินภูเขา จนแตกเป็นหลายๆส่วน จะได้หินบางก้อนที่มีคม หินภูเขาจะหาตามลำห้วยก็ได้ วิธีการกระแทกอาจจะใช้หินที่มือจับได้ 2 ก้อนหรือจะนำหินภูเขาไปกระแทกกับหินกรวดก้อนใหญ่ๆ หรือถ้าต้องผ่าไม้ขนาดใหญ่ ให้ใช้ก้อนหินเจาะไม้ให้แตกก่อน แล้วหาไม้ที่เป็นรูปลิ่ม ปลายด้านหนึ่งคม มาตอกลงไป แต่ถ้าต้องการตัดของอ่อนๆ อย่างเช่น เชือกหรือผลไม้ สามารถใช้ไม้ไผ่คมๆแทนมีดได้

เส้นทาง

การเดินป่าที่ไม่รู้ทางมาก่อน จะเดินช้า เพราะไม่รู้ว่าทางไหนไปไหน ต้องหลงไปหลงมา คนพื้นที่จะรู้ทาง จึงเดินเร็ว คนต่างถิ่นที่ไม่รู้ทาง จึงต้องอาศัยคนพื้นที่นำทาง และช่วยเหลือเรื่องต่างๆระหว่างทาง เขตป่าสงวนอย่างอุทยานแห่งชาติเป็นพื้นที่ของรัฐ มีกฎหมายควบคุมคนเข้าออกและใช้งานต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ การจ้างเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำทางจะดีกว่าการเดินเอง เพราะถ้าเกิดปัญหาขึ้นระหว่างทางแล้วต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภายนอกจนกลาย เป็นข่าว เราจะไม่ถูกปรับข้อหาลักลอบเข้าป่า แถมยังถูกคนไม่รู้ในสังคมประณามว่า ลักลอบเข้าเขตหวงห้าม จนอาจกลายเป็นปัญหาให้กับนักเดินป่าที่ตามมาภายหลัง ป่าสงวนหลายพื้นที่อนุญาตให้ใช้ชาวบ้านนำทางได้ ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้ให้คนพื้นที่แล้ว ยังช่วยให้พวกเขาเห็นคุณค่าของผืนป่าแห่งนั้น แล้วพวกเขาก็จะเกิดจิตสำนึกร่วมกันรักษาไว้ ชาวบ้านมีหูมีตามาก จึงช่วยสกัดกั้นนายทุนที่ย่องเข้ามาทำลายป่าได้ดีที่สุด แต่บางครั้งเราจำเป็นต้องเดินป่าด้วยตนเอง เพราะ
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องรู้วิธีเดินป่าด้วยตนเอง ทางเข้าป่าไม่มีกำแพง เราจึงเดินเข้าไปทางไหนก็ได้ โดยไม่ต้องมีคนนำทาง ถึงแม้ว่าจะเป็นป่าปิดห้ามเข้า แต่ถ้าไม่มีใครเห็นก็เดินเข้าไปได้ ถ้ามีคนเฝ้าอยู่ก็เดินอ้อมไปเข้าทางอื่น แต่คนที่เดินเข้าป่าไปสุ่มสี่สุ่มห้า โดยไม่คุ้นเคยกับสภาพภูมิประเทศนั้น มักจะลงเอยด้วยการหลงป่า เพราะเวลาอยู่ในป่า มักจะมองเห็นได้ไม่ไกล เดินไปไม่กี่สิบเมตรก็หลงแล้ว ถึงแม้ว่าจะมองเห็นรอบตัว แต่ถ้าไม่รู้จักภูมิประเทศเลย ก็หลงได้ ถึงแม้จะเป็นผู้ชำนาญป่า ถ้าไม่รู้จักภูมิประเทศแถวนั้น ก็จะเสียเวลาหลงไปหลงมา สาเหตุที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ไม่อนุญาติให้นักท่องเที่ยวเดินเอง ก็เพราะกลัวหลงหรือมีอันตรายจากสัตว์ป่า แล้วพวกเขาจะต้องเดือดร้อนเข้าไปช่วยเหลือ เหมือนอย่างที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่หลังจากมีนักท่องเที่ยวเดินเองแล้วหลงบ่อยๆ หัวหน้าอุทยานฯบางคนจึงแก้ปัญหาแบบคนขี้เกียจ ด้วยการรื้อถอนป้ายเส้นทางเดินป่าหลายๆเส้นทางออก เปลี่ยนมาเป็นป้ายห้ามนักท่องเที่ยวเดินป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าไปแล้ว เอาตัวรอดออกมาได้เอง ก็คงไม่มีปัญหา เพราะ ธรรมชาติของเจ้าหน้าที่ป่าไม้คือ ถ้าไม่มีใครไปแจ้ง หรือไม่เห็นอะไรผิดปกติ เช่นมีรถไปจอดทิ้งไว้นานๆ เขาก็จะไม่มาวุ่นวายกับเรา

ในป่าต่างกับในเมืองตรงที่ ไม่มีคนให้ถามทาง ไม่มีป้ายบอกทางว่า จุดที่อยู่คือที่ไหน ข้างหน้าจะต้องเจออะไรบ้าง ทางไหนใช่ ทางไหนไม่ใช่ การเดินป่าไม่ให้หลงจึงต้อง วางแผนก่อนออกเดินทางเสมอ ว่าจะไปเส้นทางไหน อย่าไปหาทางเอาข้างหน้า วิธีการคือ ศึกษาสภาพภูมิประเทศแถวนั้น แล้วเวลาเดินให้หาหลักยึด โดยเกาะภูมิประเทศที่ชัดเจน เช่น สันเขา หุบเขา หน้าผา หรือลำน้ำ บวกกับ เกาะทิศเพื่อกันหลง ทำเหมือนการล่าขุมทรัพย์บนแผนที่ โดยขุมทรัพย์แต่ละจุดคือภูเขาหรือลำห้วยที่ต้องผ่าน ถ้าไม่มีภูมิประเทศที่ชัดเจน ให้เดินเกาะทิศไป จนกว่าจะเจอภูมิประเทศที่ชัดเจน ปกติแล้วถ้ายังขึ้นไม่ถึงยอดเขา เส้นทางมักจะเดินเกาะน้ำ แต่ถ้าใกล้ถึงยอดเขาแล้ว มักจะเดินเกาะสันเขา สำหรับคนพื้นที่ เขาเดินยังไงก็ไม่หลง เพราะ เขามีโอกาสสำรวจบริเวณนั้นมาตั้งแต่เกิด จนแผนที่อยู่ในหัวเขาหมดแล้ว อยู่จุดไหนก็นึกภาพออกว่ารอบตัวมีสภาพภูมิประเทศอย่างไร แต่ถ้าไม่รู้เส้นทาง เขาจะยังไม่ไป คนนำทางขึ้นเขาฝามี เคยบอกผมว่า "ลุงเก่งไหม เดินป่าโดยไม่ต้องใช้จีพีเอส ไม่ต้องใช้เข็มทิศ" ผมจึงชี้ให้แกพาไปที่เขาพรหมโลกที่อยู่ใกล้ๆกัน แต่แกบอกว่า "ไปไม่ได้ เพราะไม่เคยไป" จะเห็นได้ว่า คนพื้นที่ไม่เดินออกนอกเส้นทาง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ก็อาศัยตามทางที่ชาวบ้านเดินมาก่อน ไม่ค่อยออกนอกเส้นทาง เส้นทางที่ไม่มีชาวบ้านเดิน คือเส้นทางที่ตกสำรวจ ขนาดเครื่องบินตกในป่ายังหากันไม่เจอเลย ใช้ชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นร้อยคน ปูพรมตามหากัน ก็ยังไม่เจอ เพราะว่าเครื่องบินตกในจุดที่ป่ารกมาก อยู่ห่างกันแค่ไม่กี่ร้อยเมตรยังมองไม่เห็น ไปเจออีกทีคือ ผ่านไปหลายปีแล้ว ช้างเข้ามาเปิดทางไว้ให้ และบังเอิญมีคนเดินหลงไปเห็น ส่วนนักบินไม่เหลือร่องรอยให้เห็นแม้แต่กระดูก คาดว่าสัตว์คาบไปกินหมด พอยกเศษเครื่องบินขึ้นมา จึงพบเศษกระดูก ซึ่งสัตว์เข้าไปกินไม่ได้ เพราะเครื่องบินทับอยู่

การเดินป่าของคนที่ชำนาญพื้นที่ จะอาศัยความจำเป็นหลัก เช่น จำได้ว่าสันเขาวางตัวอย่างไร ลำธารอยู่ฝั่งใด ตรงทางแยกมีต้นไม้อะไร จุดไหนที่จะหลงได้ง่าย ข้างหน้าเจออะไร แต่สำหรับคนต่างถิ่นที่ไม่ชำนาญพื้นที่ วิธีที่ จะรู้ภูมิประเทศโดยไม่ต้องเข้าไปสำรวจจริง คือ ศึกษาแผนที่ วิธีศึกษาแผนที่ที่ได้ผลดีคือ ดูบ่อยๆ แล้วหัดวาดแผนที่จากความทรงจำ เพราะคนจะจำได้ดีที่สุดเมื่อเขียนด้วยมือตัวเอง ถ้าทำงานกับคอมพิวเตอร์ อาจนำแผนที่มาใส่ไว้ใน wallpaper บนหน้าจอ สำหรับคนที่ไม่มีแผนที่ วิธีที่จะรู้สภาพภูมิประเทศคือ ต้องมีเวลาเดินสำรวจภูมิประเทศแถวนั้นจนทะลุปรุโปร่งจำได้หมด ถ้าอยู่บนยอดเขาจะมองเห็นวิว ถ้าต้นไม้บัง ก็จำเป็นต้องปีนต้นไม้ดู ต้นไม้บนยอดเขามักจะเป็นต้นเตี้ยๆปีนไม่ยาก (ไม่เหมือนต้นไม้บริเวณที่ต่ำ ซึ่งแต่ละต้นสูงมากจนปีนไม่ไหว) แต่บางทีปีนต้นไม้ดูวิวอาจจะไม่เห็นวิว เพราะโดนหมอกบัง

แผนที่ที่ดี จะต้องนำแผนที่จากหลายๆแหล่งมารวมกัน เพราะมักจะไม่มีแผนที่จากแหล่งใดสมบูรณ์ที่สุด เช่น แผนที่สำหรับเดินทางด้วยรถ จะต้องดูง่าย จึงไม่จำเป็นต้องมีรายละเอียดมาก ไม่จำเป็นต้องมีเส้นชั้นความสูงหรือลำห้วย แต่ต้องมีสิ่งปลูกสร้างให้สังเกตุเป็นระยะ แต่แผนที่เดินป่า ต้องมีรายละเอียดมากที่สุด ทั้งเส้นชั้นความสูงและลำห้วยเล็กๆ แต่ยิ่งมีรายละเอียดมาก ก็ยิ่งเหมาะสำหรับดูเฉพาะพื้นที่เล็กๆ หากนำมาดูเป็นบริเวณกว้างจะตาลาย เพราะ มีรายละเอียดมากเกินไป แผนที่ทหาร อาจจะขาดถนนบางเส้น ในขณะที่เอกชนมีรายละเอียดเหล่านี้ แผนที่ดาวเทียมอาจมองเห็นว่ามีหน้าผาหินตรงไหน เราควรเลี่ยงหน้าผาหิน เพราะ หน้าผาหินชันอาจจะสูงจนปีนไม่ไหว และหน้าผาบางที่อาจยาวนับกิโล ถ้าเดินไปชนหน้าผา จะต้องเดินอ้อมไกล แผนที่ที่เห็นความสูงต่ำได้ชัดเจนที่สุดคือ แผนที่แบบมีแสงเงาเปรียบเทียบ อย่างเช่น แผนที่ terrain ใน Google Maps จะเห็นแนวสันเขาได้ชัดเจนกว่าแผนที่ทหาร ซึ่งเมื่อใช้โปรแกรมภายนอกดึงออกมา อย่างเช่น โปรแกรม Google Maps Downloader จะได้ภาพแผนที่ขนาดใหญ่ สามารถนำมาใส่ใน gps รุ่นใหม่ๆได้ด้วย หรือแม้แต่การดู Google Earth ในบางพื้นที่ก็ช่วยให้เรา เข้าใจสภาพภูมิประเทศจริงได้มากขึ้น

ถ้าเป็นเส้นทางบังคับ เช่น ลำห้วยที่ขนาบด้วยภูเขาสูงทั้งสองฝั่ง หรือ เส้นทางที่นักท่องเที่ยวเดินกันเป็นประจำ จะมีเส้นทางชัดเจน มีป้ายบอกทาง มีรั้วกั้นป้องกันคนหลงออกนอกเส้นทาง เส้นทางเหล่านี้ สามารถใช้แผนที่ภาพวาดธรรมดาได้ แต่ควรจะมีรายละเอียดตรงกับความเป็นจริง ไม่ใช่วาดจากจินตนาการ เพราะแผนที่ที่วาดจากจินตนาการจะมีความคลาดเคลื่อนสูง

การเดินในป่าที่มีภูมิประเทศสลับซับซ้อน จำเป็นต้องรู้สภาพภูมิประเทศอย่างละเอียด ถึงแม้จะเดินขนานไปกับลำห้วย ถ้าเดินออกห่างจากลำห้วย ก็มีโอกาสหลงได้ง่าย ลำห้วยอาจจะคดไปคดมา ทำให้เดินช้า ถ้ารู้สภาพภูมิประเทศ ก็สามารถหาทางลัดได้ ไม่ต้องเดินอ้อม แผนที่ที่บอกสภาพภูมิประเทศ ต้องมีเส้นชั้นความสูง อย่างเช่น แผนที่ทหาร

แผนที่ทหารแบบกระดาษ
จะบอกเส้นชั้นความสูง
(สีน้ำตาล) ทางเดิน
(เส้นประ) ถนน(สีเลือดหมู)
ลำห้วยและสระน้ำ
(สีน้ำเงิน) ทุ่งหญ้า(สีขาว)

แผนที่ในป่า ที่ละเอียดที่สุดในเมืองไทยที่สามารถหาซื้อได้ คือแผนที่ทหาร ซื้อได้ที่กรมแผนที่ทหาร แผนที่ดิจิตอลแบบ vector จะดีที่สุด เพราะดูใน gps ก็ได้ ดูในคอมพิวเตอร์ก็ได้ ไม่ต้องกลัวเปียกน้ำ หรือจะพิมพ์ใส่กระดาษก็ได้ แต่คนที่จะทำเป็น ต้องมีความรู้มากพอสมควร อีกแบบคือ แผนที่ทหารแบบกระดาษ ที่วางขายมีอัตราส่วน 1 ต่อ 50,000 (ระยะทางบนแผนที่ 1 ซม.เท่ากับระยะทางจริง 50,000 ซม.หรือ 500 เมตร) เหมาะสำหรับกางดูกับคนอื่น เพราะแผนที่มีขนาดใหญ่ถึง A1 มองหาตำแหน่งบนแผนที่ได้ง่าย ถึงแม้จะเป็นคนที่ไม่ค่อยมีความรู้ ก็ดูเข้าใจได้ไม่ยาก ต่างจากแผนที่ดิจิตอล ซึ่งต้องดูกับอุปกรณ์ซึ่งมีหน้าจอเล็ก ถึงแม้จะดูในคอมพิวเตอร์ก็ยังเล็กเกินไป ทำให้มองเห็นภาพรวม แต่แผนที่กระดาษมีข้อเสียคือพังง่าย ถ้าเปียกน้ำหรือ พับแล้วใช้บ่อยๆ จะแตกตรงรอยพับ การรักษาแผนที่แบบกระดาษ ให้ใช้วิธีม้วนใส่ท่อพลาสติกแบบเดียวกับที่พวกเขียนแบบใช้ จะใช้ท่อ pvc แทนก็ได้ แต่ท่อต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะม้วนแผนที่เข้าไปไว้ในท่อได้

แผนที่ส่วนใหญ่ไม่ละเอียด ถึงแม้จะเป็นแผนที่ทหารก็ยังไม่ละเอียดพอ ลำห้วยหรือเนินเล็กๆอาจจะไม่เจอในแผ่นที่ทหาร เราจึงต้องอาศัยเครื่องมือนำทางอย่างอื่นช่วยด้วย เครื่องมือนำทางต้องมีหลายอย่าง ใช้ร่วมกัน จึงจะได้ผลดี คือ gps, เข็มทิศ, ตา(ดูสภาพภูมิประเทศ), ปาก(ถามคนพื้นที่) และ ความรู้เรื่องการแกะรอย (รู้ธรรมชาติของคนและสัตว์) ถ้าเครื่องมือนำทางไม่พร้อม เราจะต้องเดา ว่าข้างหน้าเป็นอะไร และอาจจะเดาผิด เครื่องมือนำทางที่ดีที่สุดคือ สายตา ของเรานี่เอง ดูภูมิประเทศรอบตัวให้ ออกว่าตรงไหนสูง ตรงไหนต่ำ และ เป้าหมายอยู่ซ้ายหรือขวา เช่น ถ้าจะขึ้นเขาก็ต้องเดินทวนน้ำ ถ้าจะลงเขาก็ต้องเดินตามน้ำ เพราะน้ำย่อมไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอ ถ้าน้ำไหลนิ่งแสดงว่าเป็นป่าพื้นราบ แต่ถ้ามีน้ำตกแสดงว่าเป็นภูเขา ยิ่งน้ำตกสูง ภูเขายิ่งชันมาก หรือ ถ้าเดินตามลำห้วย เพื่อจะขึ้นเขาทางซ้ายมือ ก็อย่าขึ้นเนินทางขวามือ เพราะเนินทางขวามือ จะพาไปขึ้นเขาทางขวามือ เป็นต้น คนที่เดินป่าไม่เป็น จะมองแต่พื้น ทำให้หลงได้ง่าย ส่วนคนที่เดินเป็น จะมองขึ้นสูง เพื่อหาภูมิประเทศอ้างอิง

หลักการเดินป่า คือ หาเส้นทางที่เดินสั้นที่สุด และ เดินง่ายที่สุด คือราบที่สุด โล่งที่สุด โดยเริ่มจาก หาถนนหรือ เรือที่พาเข้าไปลึกที่สุด และใกล้จุดหมายมากที่สุด เพื่อประหยัดเวลาเดิน เมื่อไปถึงป่าแล้ว พยายามหาทางที่คนเดิน พอหมดทางคนเดินแล้ว จึงค่อยหาทางที่สัตว์ใหญ่เดิน แต่บางทีตามรอยสัตว์เดินอยู่ดีๆแล้วทางหายก็มี เพราะเป็นแค่ทางที่สัตว์เข้าไปหากิน ถ้า ไม่มีทางที่สัตว์ใหญ่เดิน ก็ต้องหามุดฝ่าไปเรื่อยๆ อาศัยเกาะภูมิประเทศบ้าง เกาะทิศบ้าง ถ้าเดินในลำห้วยโล่งกว่าเดินบนบก ก็ลงมาเดินในลำห้วยลุยน้ำไป แต่ถ้าจุดไหนในลำห้วยเดินยากกว่า ก็ขึ้นมาเดินบนบก ทำแบบนี้ก็จะหาทางไปได้เรื่อยๆ ทางคนเดินจะสังเกตุว่า มีรอยมีดตัดต้นไม้ ส่วนทางสัตว์เดิน จะมีร่องรอยของสัตว์ เช่น ขี้สัตว์ กลิ่นเยี่ยวสัตว์ และ รอยเท้าสัตว์

ธรรมชาติของป่าฝน จะมีต้นไม้ขึ้นรกทุกหนทุกแห่ง ยกเว้นในลำธาร ถ้าเจอทางเดินในป่าแสดงว่า เคยมีคนหรือสัตว์เดินผ่าน ทางที่คนหรือสัตว์ใหญ่เดินเป็นประจำ จะโล่งเดินสบาย ป่าที่ไม่มีคนหรือสัตว์ใหญ่เดิน จะรกมาก แม้แต่ทางเดินที่เคยโล่ง ถ้าไม่ค่อยมีใครเดินผ่านเพียงไม่กี่ปี ก็จะเริ่มรกจนมองไม่เห็นทาง  ถ้าทางไหนรกมากก็อย่าไป ยกเว้นจะไม่มีทางเลือก เพราะทางรกๆนั้นเดินได้ช้า แค่ร้อยเมตร อาจใช้เวลาเดินหลายชั่วโมง แต่พอถางจนทางโล่งแล้ว อาจใช้เวลาเดินแค่สิบนาที โดยเฉพาะบริเวณชายป่า ริมน้ำ หรือริมถนนมักจะรกมาก เพราะโล่ง จึงรับแสงแดดได้มาก ทำให้วัชพืชขึ้นหนาแน่น บางที่อาจจะเป็นไร่ของชาวบ้านมาก่อน ทำให้กลายเป็นป่าเสื่อมโทรม ถ้าต้องเลือกระหว่างเดินสั้นกับเดินง่าย ให้เลือกเดินง่ายไว้ก่อน ถึงแม้จะเดินไกลขึ้น แต่จะเดินได้เร็วกว่าทางสั้นแต่เดินยาก ซึ่งแน่นอนว่า ถึงแม้จะเป็นเส้นทางที่เดินง่าย ก็ยังเดินยากกว่าถนนในเมือง เพราะ ธรรมชาติของป่าที่ไม่มีคนไปเก็บกวาด จะเต็มไปด้วยสิ่งกีดขวาง อาจต้องปีนข้ามขอนไม้บ้าง มุดบ้าง เจอทางเฉอะแฉะ ขึ้นๆลงๆ พื้นดินรกด้วยใบไม้ หินไม่เรียบ เหล่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของธรรมชาติที่แท้จริง ถ้าอยากเดินสบาย ควรจะไปเดินห้าง มีบันไดเลื่อนให้ด้วย

เมื่อรู้ภูมิประเทศแล้ว ขั้นแรกก่อนออกเดิน ต้องรู้ทิศที่จะไปก่อน แล้วเทียบทิศที่จะไปกับเข็มทิศ จีพีเอส และดวงอาทิตย์ เวลาเจอทางแยกหรือที่ราบที่มองไม่เห็นสภาพภูมิประเทศ จะได้อาศัยเกาะทิศไป ขั้นต่อมาคือ สำรวจหาทางเดินของคนหรือสัตว์ เพราะทางที่คนหรือสัตว์ไม่เดินเป็นประจำ นอกจากจะรกมากแล้ว ทางยังไม่ชัด ทำให้มีโอกาสหลงได้ง่าย พอเวลา เดินจริง ควรมองไปไกลๆ เพื่อจะได้ไม่เดินออกนอกเส้นทาง
การเดินป่าในเส้นทางที่ไม่เคยไปมาก่อน จำเป็นต้องไปอย่างน้อย 2 เที่ยว เที่ยวแรกไปสำรวจตัวเปล่า แบบไปเช้าเย็นกลับ เพื่อติดต่อรถ และ หาเส้นทางเข้าป่าที่ถูกต้องก่อน เมื่อรู้ทางแล้ว เที่ยวหลังจึงค่อยแบกสัมภาระเครื่องนอนไป การไปสำรวจตัวเปล่านอกจากจะเดินทางได้เร็วแล้ว ถ้าหลงก็จะเหนื่อยน้อยกว่าการแบกสัมภาระไปด้วย

ถนนที่พาเข้าไปลึกที่สุด มักจะไม่มีรถประจำทาง และเปลี่ยว ขับรถเข้าไปจอดทิ้งไว้ไม่ได้ เพราะการจอดรถในที่เปลี่ยวโดยไม่มีคนเฝ้า อาจโดนขโมยรถหรือทุบกระจกขโมยของข้างในได้ และที่แย่คือ มีคนไปแจ้งเจ้าหน้าที่ของรัฐ แล้วเกิดการตามหาตัวเจ้าของรถขึ้น ทำให้เกิดความวุ่นวายตามมา เราจึงต้องเหมารถรับจ้างไปส่ง ซึ่งหมายถึง ต้องมีเบอร์โทรของคนขับรถเข้าไปส่ง และเข้ามารับด้วย จะเป็นรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างก็ได้ ถ้าต้องการประหยัดให้หารถรับจ้าง ตรงจุดที่เริ่มไม่มีรถประจำทางวิ่ง ถึงแม้ว่าทางเข้าป่าจะมีรถให้โบกก็ตาม ถ้าออกจากป่ามาแล้ว ไม่มีรถให้โบก จะได้โทรเรียกรถมารับ ไม่ต้องเดินเท้าบนถนนออกมาอีก แต่ถ้าจุดที่ออกจากป่า ไม่มีคลื่นโทรศัพท์ ก็ควรจะนัดวันเวลาที่รถมารับให้แน่นอน ถ้าไม่ชำนาญเส้นทาง ก็ต้องเผื่อเวลาเดินช้าหรือหลงป่าอีก 1 วัน อย่างเช่น ถ้าเข้าป่า 3 วันก็ควรนัดรถมารับวันที่ 4 แล้วควรมารอแถวๆปากทางออก ตั้งแต่วันที่ 3 อาจจะรออยู่ในป่าในจุดที่ รู้ทางเดินออกจากป่าได้ตรงเวลา แต่การเหมารถต้องระวัง ควรจ้างรถของคนนอกพื้นที่ จะปลอดภัยกว่ารถของคนแถวนั้น เพราะ ผมเคยเจอคนแถวนั้นไปส่งเสร็จแล้ว ไปบอกต่อ เมื่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ได้รับแจ้ง แน่นอนว่าต้องออกมาตาม วิธีที่ไม่ต้องเหมารถคือ ใช้มอเตอร์ไซค์หรือจักรยานของตัวเอง จะขนขึ้นรถไฟไปหรือจะขี่ไปจากบ้านก้ได้ เมื่อไปถึงปลายทางแล้วจึงเอารถไปซ่อนไว้ในป่า

จุดที่ยากที่สุดคือ ปากทางเข้าป่า บางทีพอไปถึงแล้ว มักจะหาทางเข้าไม่เจอ เพราะต้นไม้ขึ้นรก อาจมีคนนำกิ่งไม้มาปิดทางเข้า เพื่อป้องกันนักท่องเที่ยวเข้าไปแล้วหลง หรืออาจจะมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือชาวบ้านเฝ้าอยู่ พอมีคนก็เริ่มจะมีปัญหา อาจจะโดนถามหรือโดนห้ามไม่ให้เข้าไป เมื่อโดนทักแล้ว วันนั้นก็จะมีปัญหาตลอดทั้งวัน เรามักจะโดนจ้องอยู่อย่างนั้น เจอแบบนี้มีทางเดียวคือ ต้องถอยกลับ แล้วมาใหม่วันหลัง หรือเปลี่ยนแผนไปเข้าทางอื่นแทน แค่มีชาวบ้านสักคนรู้หรือเห็นว่าเราแอบเข้าป่า เขาอาจจะไปฟ้องเจ้าหน้าที่ให้เข้ามาตามเรากลับ โดยอ้างเหตุผลต่างๆ ตั้งแต่เรื่องกลัวว่าเราจะมีอันตราย จนถึงกลัวว่าเราจะแอบเข้าไปตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านมีหลายประเภท ชาวบ้านแท้ๆมักจะซื่อๆ ไม่สนใจว่าใครจะเข้าหรือออกจากป่า แต่ชาวบ้านบางคนชอบไปฟ้อง โดยเฉพาะพวกทำงานให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้งภาครัฐและเอกชน จะกระตือรือร้นเป็นพิเศษ เราจึงไว้ใจบอกใครไม่ค่อยได้ ถ้าจำเป็นต้องบอก อย่างเช่นกรณีจ้างรถเข้าไปส่ง ก็ต้องถามหน้าที่การงานและตกลงกันก่อนว่าจะไม่ไปฟ้องหรือบอกใคร ผมเคยเจอมาหลายครั้ง ครั้งล่าสุดที่เจอคือ แอบขึ้นภูกระดึงทางบ้านวังยาง มีสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่ม บอกชาวบ้านแถวนั้นที่ขับรถไปส่งว่า พวกเราจะขึ้นไปผาส่องโลก ปรากฎว่า เช้าวันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ภูกระดึง แห่เข้าป่ามาเป็นสิบนาย ตามหาพวกเราจนถึงแค้มป์ที่อยู่กลางทาง แถมยังบอกด้วยว่า ถ้าไม่เจอก็จะไปดักอยู่ที่ผาส่องโลก นี่คือเหตุผลสำคัญที่ เราต้องไปสำรวจเที่ยวแรกแบบไปตัวเปล่าก่อนเข้าป่า เพื่อหาทางเข้าตรงจุดที่มั่นใจว่าไม่มีคนเห็น ถ้ามีคนก็อย่าเสี่ยงเข้าไปเลย เพราะที่ไหนที่มีคน ที่นั่นย่อมมีแต่การจ้องมอง พวกคนเฝ้าก็มักจะขยันกันเกินเหตุ เห็นอะไรผิดปกติหน่อยก็จับตาดูแล้ว เขาอาจจะหันไปทางอื่น ทำเหมือนไม่มองเรา แต่จริงๆแล้วเขากำลังเหลือบมองเราอยู่ บางทีก็มีคนแอบซ่อนอยู่ในจุดที่เรามองไม่เห็น จุดที่มีคนเฝ้าจึงเป็นได้แค่ทางออกจากป่าเท่านั้น

การหาทางคนเดิน ต้องถามเส้นทางจากคนในพื้นที่ เริ่มจากขอแผนที่จากที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ถ้าเป็นเส้นทางที่ไม่มีในแผนที่ ต้องหลอกถามจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้หรือชาวบ้าน แต่ถ้าถามเฉยๆเขาอาจจะไม่อยากบอก เพราะเขากลัวว่าเราจะแอบเข้าไปเองแล้วหลง ทำให้เขาต้องเดือดร้อนไปช่วยเหลือ จึงต้องหลอกถามประมาณว่า จะหาคนนำทาง แต่จะไปครั้งหน้า จึงจะมีโอกาสได้ข้อมูลมากกว่า คน พื้นที่จะรู้ว่าทางไหนไปได้ ทางไหนไปไม่ได้ บางเส้นทางดูจากแผนที่เส้นชั้นความสูงแล้ว เหมือนจะเป็นทางลัด แต่ชาวบ้านจะรู้ว่าเส้นทางนั้นไปไม่ได้เพราะติดหน้าผา ต้องอ้อมไปอีกทางซึ่งเดินไกลกว่า แต่เดินสบายกว่า ป่าใกล้ แหล่งชุมชน มักจะมีทางที่คนใช้เดินเข้าออกเป็นประจำ ทางจะถูกถางจนโล่ง และถูกเหยียบจนเตียน เดินง่าย เห็นรากไม้โผล่ขึ้นมาชัด อาจเป็นเส้นทางที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้พานักท่องเที่ยวเดินป่า หรือเส้นทางที่ชาวบ้านเดินหาของป่า ถ้าเป็นอุทยานแห่งชาติจะทำถนนดินเป็นแนวกันไฟ ไว้รอบๆเขต และกลางป่าก็มีอาจมีแนวกันไฟตามสันเขา (แนวกันไฟคือพื้นดินส่วนที่ไม่มีหญ้า เพื่อไม่มีเชื้อให้ไฟลามต่อไปได้ ปกติจะใช้เป็นแนวถนนด้วย) ถึงแม้จะเดินเลาะริมน้ำอาจมี 2 ฝั่ง ถ้าเราไม่หาข้อมูลมาก่อน อาจไปเดินฝั่งที่คนไม่เดินกัน นอกจากนี้ ควรถามต่อด้วยว่า เส้นทางนั้น คนส่วนใหญ่เดินเข้าหรือเดินออก ถ้าเป็นทางเดินออก แล้วเราใช้เดินเข้า อาจจะต้องไปเจอกับทางแยกบ่อยๆ ที่เกิดจากคนเดินมาจากคนละทางมาออกทางเดียวกัน ขาออกจึงเดินได้ง่ายกว่าขาเข้า เพราะมีคนทำเครื่องหมายกันหลงไว้ให้แล้ว

พอเจอทางเข้าแล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะมักจะมีทางหลักทางเดียว แค่ตามทางไปเรื่อยๆ ยกว้นป่าใกล้แหล่งชุมชน อาจจะมีทางแยกหลายทาง เป็นเส้นทางที่ชาวบ้านอาศัยเดินไปทำธุระ เช่น หาของป่า หรือต่อท่อน้ำมาใช้ มีโอกาสหลงอยู่แถวปากทางได้เช่นกัน การจะรู้ได้ว่าเส้นไหนไปเจออะไร จะต้องมีเวลาสำรวจบริเวณนั้น

การสำรวจเที่ยวแรกอาจจะต้องเข้าไปหลายรอบ เพราะรอบแรกๆอาจหลงทาง และปากทางเข้าป่ามักจะรก ต้องเสียเวลาถาง การสำรวจควรพยายามเข้าไปให้ลึกที่สุด เพื่อให้แน่ใจว่าทางนั้นไปได้จริงๆ มิฉะนั้น เวลาเดินไปถึงอาจหลงทาง หรือ ไปเจออุปสรรค เช่น ลำห้วยที่ลื่นมาก หรือขนาบด้วยหน้าผาสูงชัน มีน้ำลึก ทำให้เดินได้ช้าลงกว่าที่คิดไว้ การเข้าไปหลายรอบเป็นเรื่องปกติของคนไม่ชำนาญพื้นที่ ขนาดเดินหาร้านค้าในเมือง ยังหาไม่ค่อยเจอเลย บางทีต้องไปหลายเที่ยว

เส้นทางเดินป่าของคนและสัตว์ จะมี 2 แบบเหมือนกันคือ เดินเลาะลำธาร กับเดินตามสันเขา ทางเข้าป่ามักจะเริ่มต้นจาก เกาะลำห้วย เดินบนฝั่งขนานไปกับลำห้วย เพราะธรรมชาติของคนและสัตว์ต้องดื่มน้ำอยู่ตลอดเวลา เวลาเดินสังเกตุว่า จะได้ยินเสียงน้ำไปตลอดทาง เห็นน้ำเป็นช่วงๆ มองด้านข้างจะเห็นฝั่งหนึ่งสูง อีกฝั่งหนึ่งต่ำ ฝั่งที่สูงจะเป็นดินหรือป่าทึบ มองไม่เห็นท้องฟ้า ฝั่งที่อยู่ต่ำมองทะลุร่องใบไม้ไป จะเห็นแสงส่องต้นไม้อีกฝั่งของลำธาร สว่างกว่าใบไม้ฝั่งที่ยืนอยู่ หรืออาจเห็นท้องฟ้าอยู่ค่อนข้างต่ำ ถ้าได้ยินเสียงน้ำแรงแสดงว่าเป็นทางชัน ทางเดินมักจะขึ้นเนิน ถ้าไม่ได้ยินเสียงน้ำแสดงว่าเป็นทางราบ เมื่อเทียบกับทางเดินที่ราบจริง จะไม่ตกใจว่าหลงทาง แล้วจับทิศทางจากต้นไม้อีกฝั่งของลำธารแทน เส้นทางที่ไกลน้ำ มักเป็นทางสั้นๆ ที่ใช้เดินลัดจากลำห้วยเส้นหนึ่ง ไปหาลำห้วยอีกเส้น หรืออาจเป็นลำห้วยเส้นเดิมที่โค้งมากเกินไป จึงต้องเดินลัด หรือเป็นน้ำตกสูง จึงต้องเข้าข้างทาง ปกติแล้วคนจะเดินริมน้ำฝั่งเดิมตลอด ไม่พยายามข้ามฝั่ง ยกเว้นจะไปเจอทางตัน หรือทางชัน หรือเส้นทางที่จะไปอยู่คนละทิศ จึงจำเป็นต้องข้ามน้ำ เส้นทางที่แกะรอยยากที่สุด คือ ช่วงที่เดินเลาะไปตามก้อนหินในลำห้วย เพราะไม่มีรอยทางเดิน เดินบนก้อนหินอยู่ดีๆอาจจะตัดข้ามไปขึ้นอีกฝั่ง เพราะข้างหน้าอาจมีน้ำตกขวางอยู่ เส้นทางที่ไม่แน่ใจ จึงควรจ้างคนพื้นที่ นำทางเข้าไปสักครั้ง แล้วใช้ gps บันทึกเส้นทางไว้ วันหลังจะได้เข้าไปเองได้ ให้เขาพาไปดูจนถึงตีนสันเขา ทางต่อไปจะง่ายแล้ว เพราะการเดินบนสันเขาเป็นทางบังคับคือ เวลาเดินจะเห็นแนวผืนดินตัดกับท้องฟ้า ฝั่งใดฝั่งหนึ่งหรือทั้งสองฝั่ง การจ้างคนนำทางแบบไปเช้าเย็นกลับ จะสะดวกกับคนพื้นที่มากที่สุด เพราะการนอนในป่า จะต้องมีสัมภาระเพิ่มขึ้นอีกมาก

ทางขึ้นยอดเขา ที่ไม่เดินตามสันเขา จะค่อนช้างชัน มีหน้าผาปะปนอยู่ จนดูเหมือนไม่มีทางไป กรณีนี้ ให้หาทางด่านสัตว์ให้เจอ แล้วตามทางสัตว์ขึ้นไป จะไม่ต้องเสี่ยงไปเจอหน้าผา ทางชัน หรือทางรก

ถ้าต้องการเข้าทางหนึ่ง ออกอีกทางหนึ่ง ควรจะเข้าไปสำรวจจากปากทางเข้าทั้งสองทาง อย่าเดินรวดเดียวจากฝั่งหนึ่งเพื่อจะไปโผล่อีกฝั่งหนึ่ง เพราะอาจไปหลงอยู่ใกล้ๆทางออก เมื่อเข้ามาไกลแล้วจะกลับทางเดิมลำบาก

ถ้าแบกสัมภาระเข้ามาลึกแล้ว ต้องการไปสำรวจทางข้างหน้า สามารถทิ้งสัมภาระไว้ที่พัก แล้วเดินไปสำรวจตัวเปล่า ใช้วิธีนี้จะสามารถเข้าลึกเข้าไปเรื่อยๆได้ โดยต้องเสี่ยงไปหลงทาง หรือต้องนอนในที่ๆไม่เหมาะสม แต่การทิ้งสัมภาระไว้ มีข้อควรระวัง คือ อาจจะย้อนกลับไม่ถึงจุดเดิม ดังนั้น ต้องแน่ใจว่าย้อนกลับได้ เช่น ใช้ gps บันทึกตำแหน่งจุดเริ่มต้นไว้ และทำเครื่องหมายไว้ตามทาง อาจจะตัดใบไม้หงายไว้กับพื้น หรือใช้มีดทำเครื่องหมายไว้ตามต้นไม้ใหญ่ เพื่อขากลับจะได้เห็นชัดว่าเดินมาทางไหน

การเดินไปดูแผนที่ไป นอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังมีโอกาสพลาดสูงเพราะ ไม่มีเวลาดูให้ละเอียด ก่อนเข้าป่า ก่อนออกเดินทางจึงควรเตรียมตัวดังนี้
  1. นำแผนที่เข้าไปไว้ในหัว ด้วยการดูแผนที่แล้ววาดรูปตาม จนกว่าจะวาดได้โดยไม่ต้องดูแผนที่
  2. วางแผนเส้นทางที่จะเดิน โดยลากเส้นทางเดิน (trail) ที่จะไปโดยประมาณ ลงในแผนที่ เวลาเดินก็เกาะเส้นที่ลากไว้ 
วิธีนำแผนที่เข้าไปไว้ในหัว คือ ต้องกางดูแผนที่ และต้องจำได้หมดว่ามีอะไรอยู่ตรงไหน
แน่นอนว่า เราไม่อาจจะจำแผนที่ได้ทั้งหมด เวลาเดินจึงควรมีแผนที่ติดไปด้วย เมื่อไปถึงสถานที่จริงจะได้เปรียบเทียบสภาพภูมิประเทศกับแผนที่อีกครั้ง เพราะแผนที่อาจจะไม่ละเอียด ไม่แสดงเนินเขาเล็กๆ บางจุดในแผนที่ที่เราจำได้ไม่หมด จะได้เปิดดูได้ ถ้าเป็นแผนที่ดิจิตอลที่ใส่ใน gps จะเหมาะสำหรับใช้ดูเฉพาะจุด ถ้าดูไกลออกไปจะดูยากเพราะหน้าจอเล็ก ถ้าต้องสำรวจภูมิรปะเทศ ต้องดูนานทำให้เปลืองถ่าน การพกแผนที่กระดาษไปด้วย จะดูง่ายกว่า แลจะมั่นใจได้ว่า เวลา gps มีปัญหา จะได้มีแผนที่ไว้สำรองใช้ แต่แผนที่กระดาษจะเปียกน้ำได้ง่าย จึงควรใส่ถุงกันน้ำใสและหนาพอสมควร แบบที่หยิบถุงมาดูได้เลย ไม่ต้องดึงแผนที่ออกมาจากถุง ถ้าเป็นแผนที่ทหารแบบกระดาษที่ขายอยู่ มักจะแบ่งขอบเขตบนแผนที่ได้ไม่ตรงกับความต้องการของเรา บางพื้นที่ในแผนที่ เราไม่ได้ใช้ หรือบางพื้นที่อยู่ตรงขอบพอดี ต้องใช้แผนที่หลายๆแผ่นมาต่อกัน ทำให้เราต้องแบกแผนที่ติดตัวไปมากเกินความจำเป็น วิธีพกแผนที่กระดาษที่สะดวกที่สุดคือ แผนที่ทหารแบบดิจิตอลเลือกเฉพาะพื้นที่ๆต้องการใช้ พิมพ์ใส่กระดาษ A4 พอพับครึ่งจะใส่ถุงพลาสติกขนาด A5 ได้พอดี ดูได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลัง และถุงขนาด A5 ยัดใส่เป้ง่าย ไม่เหมือนถุงใหญ่กว่านี้คือ A4 จะยัดใส่เป้ลำบาก ถ้าพิมพ์แผนที่ใส่กระดาษ A4 แผ่นเดียวไม่พอ อาจต้องแบ่งเป็นหลายๆแผ่น โดยขอบเขตของแผนที่ ควรอยู่ที่ถนน หรือลำห้วยที่พาไปถึงถนน เพราะการเดินทางมักจะเริ่มต้นและสิ้นสุดลงที่ถนนหรือลำห้วย อาจพักค้างคืนที่ริมห้วยแล้วค่อยวางแผนการเดินทางต่อ หรือเวลาที่จำเป็นต้องออกจากป่าโดยไม่รู้ทาง มักจะต้องเดินเข้าหาถนน หรืออาศัยเกาะลำห้วยไปจนถึงถนน

สำหรับภูมิประเทศที่ชัดเจน คือ มีสันเขาสูง ลำห้วยลึก ทางเดินในป่าจะเป็นเส้นทางบังคับ สามารถลากเส้นทางเดินลงบนแผนที่ได้เลย ลากไปตามภูมิประเทศที่ชัดเจน  ซึ่งนอกจากจะช่วยให้เราจำภูมิประเทศได้ง่ายขึ้นแล้ว เวลาเดินสามารถอาศัยเกาะเส้นที่ลากไว้ ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเส้นทางที่ไม่เคยผ่านมาก่อน เดินยังไงก็ไม่หลง ถ้าไม่ลากเส้นทางเดินไว้ล่วงหน้า แค่ดูสภาพภูมิประเทศจริงผิดนิดเดียว อาจเดินหลงไปผิดเส้นทาง

การทำทางเดิน (trail) ใส่ gps จะสะดวกที่สุด เพราะสามารถเดินไปดูไปได้ ถ้า gps ใส่แผนที่ทหารได้ ก็ทำ trail ใส่แผนที่ แล้วนำแผนที่ไปใส่ในเครื่อง gps ได้เลย แต่ถ้า gps ใส่แผนที่ไม่ได้ เครื่อง gps ส่วนใหญ่จะใส่ trail ลงไปเพิ่มได้ ให้เปิดแผนที่ทหารในคอมพิวเตอร์ แล้วลากเส้น แล้วนำเส้นที่ได้ ไปใส่ใน gps อีกที เมื่อมี trail แล้วจะสามารถดูระยะทางที่เดินได้ และระยะทางจะสามารถนำมาคำนวณเวลาเดิน ทางเดินใน ป่าที่ไม่ค่อยเรียบ ขึ้นหรือลงเขาเล็กน้อย รกเป็นบางช่วง ต้องฟันทางบ้าง เดินตัวเปล่า คือแบกของเล็กน้อยแบบไปเช้าเย็นกลับ จะใช้เวลาเดินประมาณ 1 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง ถ้าทางโล่ง แต่แบกของหนัก ก็จะเดินได้ความเร็วประมาณเท่านี้ แต่ถ้าทางรกเป็นช่วงๆต้องเดินไปฟันไป บวกกับแบกของหนัก จะเดินช้าลงอีกประมาณ 30% ถ้าทางโล่งแต่ต้องแบกของหนักและต้องขึ้นลงเขาชันมาก จะเดินช้าลงประมาณ 30% เช่นกัน ทางที่เดินเร็วที่สุด คือ เดินตัวเปล่าบนทางราบๆโล่งๆ จะเดินได้ประมาณ 3 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (งานวิจัยบอก 5 กม/ชม นั้นเป็นการคำนวณจากระยะทางสั้นๆ ไม่ใช่ตอนเดินจริง) ถ้าเป็นผู้หญิงหรือคนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย อาจจะเดินช้ากว่านี้ เมื่อรู้เวลาเดินแล้ว จะหาจุดพักที่เหมาะสมได้ ไม่ต้องไปอดน้ำกลางทาง


การเดินผ่านสันเขาจะเจอยอดเขา
เป็นช่วงๆ ทางเดินของคนหรือสัตว์
จะอ้อมด้านข้าง เพื่อที่จะได้เดินที่
ระดับความสูงเท่าเดิม ไม่ต้องไต่
ขึ้นลงเนินให้เหนื่อย ยกเว้นเป็น
สันคมมีด ลงไม่ได้ จึงต้องขึ้นไป
ข้อควรระวังในการลากเส้นทางเดินบนแผนที่คือ อย่าลากเส้นตามใจตนเอง คนที่ขาดประสบการณ์ จะเดินตรงไปหาจุดหมาย ถ้าเริ่มรู้เรื่องหน่อยก็จะเกาะสภาพภูมิประเทศที่ชัดเจน เช่น สันเขา หรือลำน้ำเพื่อไปหาจุดหมาย แต่พอเจอสภาพภูมิประเทศจริง อาจจะไปไม่ได้ เพราะไปเจอทางชันที่ต้องปีนป่าย หรือ ทางรก ทำให้เดินได้ช้า เพราะต้องเดินไปถางไป หรือไม่ก็ต้องมุดไป ถ้าลุยเข้าทางรกแล้ว มักจะต้องฝ่าทางรกไปตลอด

คนที่มีประสบการณ์ จะหาทางเดินของสัตว์ป่า ถึงแม้จะเดินอ้อม แต่ทางจะค่อนข้างราบ และโล่งตลอด จึงเดินได้เร็ว ทางราบๆโล่งๆ ชั่วโมงเดียวอาจเดินได้หลายกิโลเมตร และทางโล่งๆ ยังช่วยให้เราเดินออกจากป่า ได้อย่างรวดเร็วในกรณีฉุกเฉิน บางเส้นถึงแม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีสัตว์เดินแล้ว แต่คนก็ยังอาจจะอาศัยเดินอยู่ การลากเส้นให้เดินง่าย จึงควรลากทางเดินของสัตว์ป่าขึ้นมาให้หมดก่อน แล้วจึงค่อยดูว่าจะเดินไปเส้นไหน เพื่อไปโผล่ยังจุดหมาย คนที่จะลากเส้นได้แม่นยำ จะต้องเดาใจสัตว์ป่าได้ว่าเดินอย่างไร สัตว์ป่าจะคล้ายคนคือ อาศัยเกาะภูมิประเทศที่ชัดเจน และ เลือกเดินทางที่ชันน้อยที่สุด รกน้อยที่สุด ถ้ามีทางแยก 2 ทาง ทางหนึ่งโล่งเตียน กับอีกทางมีขอนไม้ล้มขวางทาง ที่สูงเกินหัวเข่าคน สัตว์จะไม่เลือกไปทางที่มีไม้ล้ม แต่จะเลือกไปทางที่โล่งเตียน

สัตว์ต้องใช้ตาดู เช่นเดียวกับคน จึงต้องเดินตามสภาพภูมิประเทศที่ชัดเจน เพื่อกันหลง เช่น เดินตามสันเขา หรือเลาะหน้าผา หรือเลาะบนฝั่งริมน้ำ แต่ถ้าเป็นป่าพื้นราบ ยากที่จะรู้ได้ว่าสัตว์จะเดินทางไหน เส้นทางที่พอจะเป็นไปได้คือ เดินเลาะบนฝั่งริมน้ำ

ทางชันที่คนเดินได้โดยไม่ต้องใช้มือเกาะ สัตว์สี่เท้าจะสามารถเดินได้เช่นเดียวกับคน แต่สัตว์จะเลือกเดินทางที่ชันน้อยที่สุด เพื่อจะได้ไม่เหนื่อยมาก ถ้าเดินไปตามสันเขา แล้วเจอยอดเขาเป็นเนินขวางหน้า สัตว์ก็จะไม่ขึ้นไป แต่จะอ้อมไปด้านข้าง เพื่อเดินในระดับความสูงเท่าเดิม สัตว์จะเดินทางชันก็ต่อเมื่อ เป็นเส้นทางบังคับช่วงสั้นๆ เช่น ขึ้นจากลำห้วย หรือเชื่อมสันเขาที่อยู่ใกล้กัน  แต่จะไม่ชันมากไป ทางขึ้นลงเขาที่ชันขนาดที่คนต้องเริ่มใช้มือเกาะต้นไม้ จะไม่เจอทางที่สัตว์เดิน เพราะ สัตว์ไม่มีแขนเกาะต้นไม้เหมือนคน  ถ้าสัตว์เดินไปเจอหุบเขาหรือหน้าผา จะเลือกเดินเลี้ยวด้านข้าง เพื่อให้เดินในระดับความสูงเท่าเดิม อาจจะเดินอ้อมหุบเขา ไปหาภูเขาอีกลูกที่อยู่ฝั่งตรงข้ามไป จนกว่าจะถึงทางลงที่สบาย ยกเว้นถ้าไม่มีทางเลือกอาจจะย้อนกลับ หรือ อาจจะลงหุบได้ แต่เป็นทางที่ชันน้อยที่สุดในบริเวณนั้น ทางชันมากๆจนคนเดินไม่ได้ ต้องปีนป่ายนั้น มีแต่เลียงผาที่ปีนไหว การปีนมีโอกาสเจอดินร่วนหรือหินลื่น แล้วพลาดตกลงมา เวลาตกลงมาแล้ว มักจะไถลลงไปอีกไกล สังเกตุได้จากเวลาโยนก้อนหินลงเขาไป จะมีแรงส่งให้ก้อนหินกลิ้งลงไปเรื่อยๆ จนกว่าจะถึงก้นเหว จึงจะหยุด ฟังเสียงก้อนหินกระทบก้นเหวแล้วจะรู้ว่า ถ้าเป็นคนไถลลงไปแบบนั้น ไม่ตายก็เจ็บหนัก ตายเพราะหัวกระแทกก้อนหินหรือโดนกิ่งไม้เสียบ ถ้าเจ็บหนักก็กระดูกหักเดินไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เส้นทางที่ควรหลีกเลี่ยง หรือใช้เป็นทางเลือกสุดท้าย คือ ทางขึ้นหรือลงทางชันเกิน 45 องศา เพราะการบาดเจ็บส่วนใหญ่ มาจากการขึ้นลงทางชันแล้วพลาด คนที่ไม่มีประสบการณ์ในการเดินป่าจะขึ้นลงทางชัน แต่คนมีประสบการณ์จะไม่ทำ ยกเว้นจะจำเป็นจริงๆ ถ้าต้องปีนทางชัน สามารถทำได้ โดยระวังเรื่องเดียวคือ พลาดตกลงมา ดินต้องนุ่มพอสมควรที่จะช่วยเบรคได้ และต้องจับทีละ 2 มือ เผื่อมือหนึ่งพลาด ถ้าลงเขาทางชันมาก ต้องหันหลังไต่ลง แต่ถ้าไม่มีอะไรให้เกาะ ต้องดัดแปลงธรรมชาติ เช่น ถ้าเป็นพื้นดินนุ่มๆในหน้าฝน อาจจะขุดดินทำเป็นร่องให้เท้าเหยียบ แต่ถ้าเป็นหน้าแล้ง ดินจะร่วน ลื่นง่าย แถมยังแข็งขุดไม่ได้ ควรหลีกเลี่ยง หรือถ้าเจอหน้าลานหินชัน ก็จะไปไม่ไหว จะลื่นง่ายเช่นกัน ถ้าหมดทางเลือกจริงๆ จำเป็นต้องผ่าน ควรป้องกันลื่น ด้วยหาเกาะรากไม้หรือเถาวัลย์ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องทำขึ้นมาใหม่ อาจจะตัดไม้ยาวๆมาผูกกับต้นไม้ ทำเป็นราวเกาะ หรือตัดเถาวัลย์ยาวๆหลายๆเส้นมาทำเชือกไต่ ควรทำอย่างน้อย 2 เส้น เผื่อเส้นหนึ่งขาด ถ้าเถาวัลย์ลื่น ให้ใช้เถาวัลย์เส้นเล็กมาพันรอบๆ จะเป็นที่เกาะได้ดี ก่อนใช้ทดลองโหนดูก่อนว่าจะไม่ขาด ถ้าไม่มีเถาวัลย์เส้นใหญ่ สามารถนำเถาวัลย์เส้นเล็กมาพันกันจนเส้นใหญ่ขึ้น
เมื่อลากเส้นลงบนแผนที่แล้ว เวลาเดินจริง จำเป็นต้องดูทาง ไม่สามารถดูเส้นที่ลากไว้ในแผนที่หรือใน gps ได้ตลอดเวลา เราจึงต้องใช้วิธี จำเส้นทางเข้าไปไว้ในหัว เส้นที่ลากไว้บนแผนที่จะใช้ดู เฉพาะเวลาที่ไม่แน่ใจ ว่าถ้าเกาะแถวๆเส้นนี้ไว้ ก็มั่นใจได้ว่าน่าจะมีทางไป หรือถ้าออกนอกเส้นที่ลากไว้ ก็หาเส้นใหม่ที่เคยลากไว้ในบริเวณใกล้เคียงได้ไม่ยาก ไม่ต้องมาหยุดแปลแผนที่ใหม่ว่าตรงไหนตรงไปได้ ตรงไหนไปไม่ได้

ถึงแม้ว่าจะมีแผนที่ และลากเส้นทางเดินบนแผนที่ไว้แล้ว เวลาเดินจริง ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ตรงไหนของแผนที่ ถึงแม้ว่าจะไม่มี gps เราก็สามารถสร้าง gps ไว้ในหัวได้ โดยเวลาเดินต้องนึกภาพตลอดเวลาว่า ขณะนี้อยู่จุดใดของแผนที่ ถึงแม้จะมี gps ก็ควรทำแบบนี้ เพราะเราไม่อาจเดินดูหน้าจอได้ตลอดเวลา วิธีเดินป่าไม่ให้หลง คือ เกาะภูมิประเทศ พยายามมองให้เห็นจุดหมาย แล้วเดินไปหาจุดหมาย ถ้ามองไม่เห็นจุดหมาย ก็ต้องมองหาภูมิประเทศที่จะนำไปสู่จุดหมาย อาจจะเป็นแนวสันเขาที่อยู่ด้านข้าง หรือ ลำห้วย 
รูปตัวอย่างทางด่านสัตว์ไปโป่งหมู (เส้นสีแดงทึบ) ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เส้นทางนี้คนทั่วไปไม่เดินกัน ไม่มีป้ายบอกทาง เป็นทางด่านสัตว์ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ อาศัยเดินตามๆสัตว์ เมื่อหาข้อมูลจากในอินเตอร์เน็ต จะรู้ว่าโป่งหมูอยู่ติดแม่น้ำเพชร และหลังจากหลอกถามเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้ความว่า ทางไปโป่งหมู ไปทางเดียวกับทางไปเคยูแค้มป์ โดยเดินเลยทางแยกไปน้ำตกทอทิพย์ ไปไม่ไกล จะเจอทางแยก ที่เลี้ยวซ้ายจะไปโป่งหมู แต่ถ้าตรงไปจะไปเคยูแค้มป์ เมื่อได้ข้อมูลจากปากคนพื้นที่แล้ว ผมจึงเริ่มจาก สำรวจเส้นทางไปเคยูแค้มป์  ซึ่งเป็นเส้นทางที่คนทั่วไปเดินกัน มีทางชัดเจน มีป้ายบอกทาง แล้วจึงนำมาบันทึกไว้บนแผนที่ (เส้นประสีดำ) พอมาเปิดดูแผนที่ทหารอีกรอบ จะเห็นว่า พอเลยแยกไปน้ำตกทอธิพย์มาเล็กน้อย จะมีแนวสันเขาอยู่สันหนึ่ง แยกออกไปทางซ้ายมือ และทางเส้นนี้มีแค่สันเดียวที่แยกออกไป จึงมั่นใจได้ว่า สันเขานี้ น่าจะเป็นทางไปโป่งหมู เพราะแถวนี้เป็นภูสูงห้วยลึก สัตว์จะเดินตามสันเขาเป็นหลัก ไม่เดินสะเปะสะปะ เหมือนป่าพื้นราบ พอรู้จุดนี้ก็ง่ายแล้ว แค่ลากเส้นต่อไปตามสันเขา (เริ่มจากรอยต่อระหว่างเส้นประสีดำ กับเส้นสีแดงทึบ) เริ่มจาก เดินลงไปตามสันเขา เพราะเส้นทางที่ผ่านมา เดินบนสันเขาตลอด ทางต่อไปก็ควรจะเดินบนสันเขา พอลงไปสุดสันเขาลูกแรก จะมีภูเขาลูกที่สองขวางหน้า ซึ่งแน่นอนว่าสัตว์จะไม่ขึ้นไป จึงลากเส้นเดินอ้อมภูเขา ที่ระดับความสูงเท่าเดิม เพราะเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดที่เชื่อมกับเส้นทางที่ผ่านมา ขณะเดินตรงนั้นจะเห็นภูเขาอยู่ทางซ้ายมือ และหุบเขาทางขวามือ พอเดินเลยภูเขาลูกที่สอง จะถึงรอยต่อระหว่างภูเขาสองลูก (ตรงรอยต่อระหว่างเส้นทึบสีแดง เส้นทึบสีส้ม และเส้นประสีแดง) ถึงตรงนี้เริ่มงงแล้ว สันนิษฐานได้ว่า มีทางไป 2 ทาง ทางแรกคือ ตรงไปตามสันเขาที่ชี้ไปทางทิศตะวันตก(เส้นประสีแดง ซึ่งมารู้ภายหลังจากสำรวจว่าเป็น ทางขาด) สังเกตุว่า ทางนี้ถึงแม้ว่าจะเดินสบายในช่วงแรก แต่พอถึงทางลงตรงใกล้แม่น้ำเพชรน่าจะชันมาก เพราะเส้นชั้นความสูงอยู่ชิดกัน แสดงว่าทางนี้ไม่น่าจะใช่ ส่วนแยกไปอีกทางหนึ่งคือ หักลงหุบเขาไปตามเส้นสีส้ม (มารู้ภายหลังว่าทางลงหุบเขาตรงนี้ เจ้าหน้าที่ป่าไม้เรียกกันว่า ช่องหนีบ) ซึ่งเส้นนี้ไม่แน่ใจว่าจะมีอยู่จริงหรือไม่ แต่ถ้าลงไปได้ก็จะสบายเพราะหลังจากเลยไปแล้ว จะเดินตามสันเขาที่ชันน้อยไปตลอด

การจะรู้ว่า ในสภาพภูมิประเทศจริง ทางแยกเลี้ยวซ้ายไปโป่งหมู อยู่จุดไหน ให้ใช้วิธีเดิมคือ ดูจากทิศและภูมิประเทศ จำว่าต้องเดินเลยจากแยกไปน้ำตกทอธิพย์ ไปทางทิศตะวันตก จนเจอหุบเขาทางซ้ายมือ จึงอ้อมหุบเขาไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ เดินไปไม่ไกล ก็จะเจอสันเขาแยกออกไปทางซ้ายมือ (แต่ถ้าเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ แสดงว่าเลยแล้ว ต้องย้อนกลับมา) ถ้าเดินนับก้าวด้วย จะช่วยตรวจสอบได้อีกชั้น การเทียบระยะทางกับการจำนวนก้าว เป็นวิธีที่ได้ผลค่อนข้างแม่นยำ หากทางไม่ชันเกินไป โดยเริ่มจากทดลองเดินที่บ้าน ว่าตัวเราเดินกี่ก้าว ได้ระยะทางเท่าใด ผู้ชายไทยส่วนใหญ่จะเดิน 3 ก้าวได้ระยะทาง 2 เมตร เมื่อรู้ค่าหนึ่ง เราก็จะสามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์ หาอีกค่าหนึ่งได้ เช่น ถ้าวัดระยะทางบนแผนที่ได้ 3 กิโลเมตร จะคำนวณได้ประมาณ 4,500 ก้าว (คำนวณจาก 3,000x3/2) เวลาเดินจริงก็จะได้ใกล้เคียงนี้ ขาดเกินบ้างไม่มาก หรือถ้าเดินโดยไม่รู้ระยะทาง แล้วนับก้าวได้ 8,000 ก้าว นำมาคำนวณจะได้ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตรเศษ (คำนวณจาก 8,000x2/3) แต่การนับก้าวแบบนี้ จะลืมง่าย ทางเลือกคือใช้เครื่องนับก้าว(pedometer)

หลังจากลากเส้นแล้ว จึงต้องจำรายละเอียดของเส้นทางบนแผนที่ไว้ในหัว โดยจำง่ายๆว่าต้องเดินทิศไหน และต้องผ่านภูมิประเทศอะไรบ้าง การจำภูมิประเทศ เริ่มจากจำเฉพาะลักษณะใหญ่ๆ เช่น พอเลี้ยวซ้ายเข้าโป่งหมูแล้ว ต้องผ่านภูเขา 2 ลูกคือลงเขา 1 ลูกและอ้อมภูเขาด้านซ้ายมืออีก 1 ลูก จึงจะถึงทางแยก เช่นเดียวกันการจำทิศ ไม่ต้องจำทิศละเอียดทุกมุม แต่จำทิศโดยประมาณ อย่างเช่น พอเลี้ยวซ้ายเข้าโป่งหมู เดินไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ อยู่ระหว่างทิศตะวันตกกับทิศใต้ ไม่เกินนี้

พอถึงเวลาเดินจริง เรามักจะพบว่า เส้นทางเป็นไปตามที่วางแผนไว้ เช่น พอเลี้ยวซ้ายเข้าไปทางโป่งหมู แล้วเดินมาสักพัก จะเจอภูเขาลูกที่สองขวางหน้าอยู่ แล้วก็พบว่า สัตว์เดินอ้อมภูเขาจริงๆ พอเลยมาอีก จะถึงทางแยกจริงๆ และพบว่าถ้าขึ้นสันเขาไปทางทิศตะวันตก (เส้นประสีแดง) ทางจะค่อนข้างรก แสดงว่าสัตว์ไม่ค่อยเดิน ส่วนทางลงช่องหนีบ(สีส้ม) มีอยู่จริงๆ เป็นทางโล่งมาก จึงตัดสินใจได้ว่าทางโล่งที่สุด น่าจะเป็นทางที่ถูกต้อง พอเลือกเดินลงไปตามช่องหนีบ ก็เป็นทางโล่งตลอดไปจนถึงโป่งหมูที่อยู่ริมแม่น้ำเพชร

เส้นทางที่สัตว์เดินจริงในธรรมชาติ อาจไม่ตรงกับเส้นทางที่ลากไว้ ควรจะเชื่อทางธรรมชาติที่สัตว์ทำไว้ เพราะ สัตว์อยู่แถวนั้นมานาน จึงรู้เรื่องเส้นทางในป่าดีกว่าคน ว่าทางไหนไปได้ ทางไหนไปไม่ได้ เจอหน้าผาสูงแค่ไม่กี่เมตร สัตว์ก็ไม่สามารถผ่านไปได้แล้ว ถึงแม้คนจะปีนป่ายไปได้ แต่ทางจะรกมาก เพราะไม่มีสัตว์เดิน ในขณะที่เส้นชั้นความสูงในแผนที่ห่างกันถึง 20 เมตร (เส้นสีน้ำตาลในรูปข้างบน) จึงดูไม่รู้ว่าตรงนั้นมีหน้าผา แต่สัตว์เจ้าถิ่นรู้ จึงไม่เดินเส้นนั้นเป็นประจำ เช่นเดียวกับเวลาขับรถในเมือง ดูแผนที่แล้วมีถนน แต่พอไปถึง ถนนเส้นนั้นอาจไปไม่ได้ เพราะเป็นวันเวย์เดินรถทางเดียว หรือปิดซ่อม ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตามความเป็นจริง ถ้าทางสัตว์ออกนอกเส้นที่ลากไว้ ต้องเปิดแผนที่ดูใหม่ แล้วลากเส้นใหม่ไปตามทางสัตว์ ถ้าเส้นทางไม่สลับซับซ้อนอาจใช้ความจำได้ แต่ถ้าเส้นทางสลับซับซ้อน ควรลากเส้นไว้บนแผนที่กระดาษ มีตัวอย่างของทางลงโป่งหมู ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน (ตามรูปข้างบน) พอเดินมาถึงปากทางลงช่องหนีบ จะเจอทางแยกไป 2 ทาง ตรงไปทางทิศตะวันตก (เส้นประสีแดง) จะขึ้นสันเขา ซึ่งทางค่อนข้างรก แสดงว่าสัตว์ไม่ค่อยเดิน ในขณะที่ทางลงช่องหนีบ(เส้นทึบสีส้ม) เป็นทางลงหุบเขา ซึ่งทางโล่งมาก จนรู้ได้ว่าเป็นทางที่สัตว์เดินประจำ ถ้าตามทฤษฎีแล้ว ควรจะขึ้นสันเขา เพราะสันเขาเดินง่าย แต่ถ้าตามภาคปฎิบัติแล้ว ควรจะลงทางช่องหนีบ เพราะสัตว์เลือกเดินทางนี้ พอทดลองขึ้นสันเขาก็พบว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิด เพราะ พอเดินตามสันเขาไปใกล้ถึงแม่น้ำ จะเจอหน้าผาและทางรก นี่คือสาเหตุที่สัตว์เลือกที่จะไม่เดินเส้นนี้ ถึงแม้ว่าช่วงแรกจะเดินสบายก็ตาม สัตว์เลือกที่จะเลี้ยวซ้ายลงช่องหนีบ ที่ถึงแม้จะชันเล็กน้อยพอเดินได้ แต่พอลงไปแค่ระยะทางสั้นๆ ก็ไปเชื่อมกับสันเขาอีกเส้นที่่ชันน้อย สามารถเดินไปโผล่แม่น้ำเพชรได้อย่างสบาย บทเรียนจากการเดินทางครั้งนี้สอนให้รู้ว่า การเดินทางโดยไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า มีโอกาสพลาดสูง แต่การมัวแต่ทำตามแผนหรือทฤษฎี โดยไม่รู้จักปรับเปลี่ยนตามสภาพปัจจุบัน ก็มีโอกาสพลาดได้ไม่ต่างกัน

ทางเดินในป่าที่มีสัตว์ชุกชุม มี 2 ประเภท คือทางด่านสัตว์ และ ตรอกซอกซอยที่สัตว์เข้าไปหากินพืช ทางเดินในป่าที่มีสัตว์ชุกชุม จะเป็นเหมือนบ้านเมืองของคน มีทางหลักที่สัตว์ทุกชนิดใช้สัญจรไปมา เรียกว่า ทางด่านสัตว์ เปรียบเสมือนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ สัตว์จะอาศัยลงเขาเพื่อกินน้ำ และขึ้นเขาเพื่อหาอาหาร โดยใช้ทางเส้นนั้นกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษแล้วสอนกันมารุ่นต่อรุ่น ถ้าตอนกลางคืนเฝ้าดูอยู่ข้างทางด่านสัตว์ จะเห็นสัตว์เดินผ่านไปมา บนทางด่านสัตว์ จะมีตรอกซอกซอยแยกออกไป ที่สัตว์เข้าไปหากินพืช พอกินแล้วก็จะวกกลับมาเข้าทางด่านสัตว์ เจ้าหน้าที่ป่าไม้หลายแห่งที่เฝ้าติดตามช้างพบว่า เส้นทางที่ช้างเดิน จะเหมือนกับเส้นทางที่ช้างตัวอื่นเคยเดินมาในอดีต ถึงแม้ว่าช้างจะเลี้ยวออกจากทางด่านสัตว์ไปหากินไกลเท่าใดก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะหันหลังกลับมาหาทางเดิมได้เสมอ ถึงแม้ว่าจะถูกคนต้อนไปทางอื่น แต่สุดท้ายแล้วมันก็จะไม่ยอมไป จะต้องย้อนกลับมาหาทางด่านสัตว์เดิมเสมอ แต่ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่า มันรู้ทางได้อย่างไร จะเห็นได้ว่า ถ้าเราเดินเลี้ยวออกจากทางด่านสัตว์ เข้าไปในซอย มักจะเจอทางตัน ถ้าออกจากซอย ก็จะเจอทางด่านสัตว์ ทางด่านสัตว์แท้ๆ สังเกตุว่าทางจะโล่ง ขนาดที่เดินกางแขนได้ โดยไม่มีใบไม้มาโดนตัวเลย อาจมีบางช่วงที่ทางแคบลง แต่ยังเดินได้สบายโดยไม่ต้องง้างมีด เพราะไม่มีเถาวัลย์หรือกิ่งไม้ขวางทาง บนพื้นดินไม่มีต้นไม้ขึ้น ดินจะแน่นจนเห็นรากไม้โผล่ขึ้นมา มองเห็นดินชัด ไม่มีใบไม้ปกคลุมมากนัก สาเหตุที่ทางด่านสัตว์โล่ง เพราะ เมื่อมีคนหรือสัตว์เดินผ่าน จะช่วยกันเหยียบจนดินแน่น โดยเฉพาะช้าง มีน้ำหนักตัวมากถึง 3 ตัน เหยียบแต่ละครั้ง เหมือนรถบดถนน (ช้างสามารถใช้เท้าเหยียบทุเรียนให้แตก เพื่อกินเนื้อข้างในได้) พอฝนหยุดตก ดินก็จะแข็งมาก พอดินแน่น ลูกไม้ส่วนใหญ่จะร่วงในช่วงหน้าแล้ง เมื่อตกลงบนพื้น จึงไม่สามารถงอกได้ หรือ ถ้างอกออกมา ก็ไม่สามารถชอนไชไปในดินได้ดี ทำให้ต้นไม้ไม่โต หากเราทดลองใช้ไม้ปลายแหลมปักลงบนดิน ยังปักไม่ค่อยลง หรือพูดในทางกลับกันคือ เราสามารถที่จะรู้ได้ ว่า เส้นทางนี้ มีคนหรือสัตว์เดินผ่านมากน้อยเพียงใด โดยดูจากพื้นดิน พื้นดินที่คนหรือสัตว์เดินผ่านประจำ จะเตียนโล่ง แต่ถ้าพื้นมีต้นวัชพืชขึ้นรก แสดงว่า ทางเส้นนี้ไม่มีใครเดินผ่านเลย ถ้าพื้นเริ่มมีต้นวัชพืชขึ้นประปราย หรือ พื้นยังโล่งแต่รอบข้างเริ่มรกทำให้ต้องมุด เริ่มมีกิ่งไม้ใบไม้มาโดนตัว หรือพื้นมีใบไม้ปกคลุมหนา สันนิษฐานได้ว่าเป็นทางเก่าที่ไม่มีใครผ่านมาหลายปี อาจไม่ใช่ทางด่านสัตว์ แต่เป็นซอกซอยที่สัตว์เดินผ่านนานๆครั้ง เพื่อเข้าไปหากิน แล้วถอยหลังกลับมาหรืออ้อมไปทางอื่น ถ้าเราหลงเข้าไปในทางที่สัตว์หากิน จะต้องไปเจอทางรก มีเห็บเกาะติดมา พอเดินไปสุดทางก็จะเจอทางตัน เพราะ เส้นทางในป่าที่สัตว์ไม่ใช้สัญจร มักเป็นเส้นทางที่มีปัญหา ข้างหน้าอาจเป็นทางชัน หรือทางรก มีต้นไม้ล้มขวางอยู่

เวลาเดินบนทางด่านสัตว์ จึงควรมองไปไกลๆ เพื่อไม่ให้หลุดเข้าไปในซอย ถ้ามีแยก จะเห็นล่วงหน้าว่า ทางเส้นไหนชัดที่สุด ถ้ามัวแต่ก้มหน้าเดิน พอเจอแยกมักจะเลี้ยวผิดทาง ถ้ามองสุดทางแล้วยังไม่แน่ใจ ให้มองดูต้นไม้ต่อไปว่าข้างหน้ามีต้นไม้ใหญ่อยู่ เพราะต้นไม้ใหญ่หมายถึงพื้นโล่งเดินง่าย แต่ถ้าไม่มีต้นไม้ใหญ่หมายถึงแถวนั้นเต็มไปด้วยวัชพืช

การเดินตามทางด่านช้างจะเดินง่ายที่สุด เพราะทางกว้างที่สุด โดยเฉพาะช้างที่อยู่เป็นโขลงมีลูกอ่อน จะไม่ขึ้นลงทางชัน (ช้างโทนตัวผู้จะขึ้นลงทางชันมากกว่า) ถ้าเดินไปเจอหุบเขา ช้างมักจะไม่ลงไป แต่จะเลี้ยวอ้อมเขาอีกลูก ยกเว้นจะลงไปหาอาหาร จะลงไประยะทางสั้นๆ ตามปกติช้างจะเดินวนเป็นวงกลม อาจเดินผ่านมาทางเดิมแค่ปีละครั้ง เพราะ ผลไม้มักจะงอกปีละครั้ง พอมันกินหมดทั้งต้นแล้วก็จะเดินต่อไป แต่ช้างป่าบางแห่งวนรอบบ่อยกว่านั้น อาจจะแค่ 3 เดือน วิธีสังเกตุทางด่านช้างคือ จะมีขี้ช้าง ถ้าเป็นทางด่านกระทิงจะมีขี้กระทิง ทางกระทิงจะกว้างพอดีตัวคนเดิน

ปัญหาคือ ป่าพื้นราบ หรือมีเนินเตี้ยๆ เป็นป่าที่หลงง่ายที่สุด เพราะไม่มีภูมิประเทศที่ชัดเจน ถ้าหลงออกนอกเส้นทางแล้ว จะหากลับเข้าทางด่านสัตว์ลำบาก และยังเป็นป่าที่หาทางยากที่สุด เพราะสัตว์จะไม่มีทางเดินที่แน่นอน คือจะเดินเป็นใยแมงมุม บางทีทางด่านสัตว์ อาจจะเลาะลำห้วยเพื่อหาแก่งข้าม บางทีลงหุบไปขึ้นเนินอีกฝั่ง   เราจึงไม่สามารถลากทางเดินลงบนแผนที่ได้แม่นยำ เพราะเดาไม่ได้ว่าสัตว์จะเดินทางไหน ทำได้อย่างมาก แค่ลากเส้นทางที่จะไปโดยประมาณ แล้วค่อยไปหาทางสัตว์เอาข้างหน้า อาศัยเส้นที่ลากไว้เพื่อเกาะไม่ให้หลงออกนอกเส้นทางที่ควรจะไป ถ้าผ่านจุดไหนที่มีภูมิประเทศชัดเจน จึงค่อยลากเส้นตามภูมิประเทศ

การหาทางสัตว์เดินในป่าพื้นราบนั้น อาจจะเริ่มจากภูมิประเทศที่ชัดเจนที่สุดที่พอจะหาได้ เช่น ริมน้ำ ริมหน้าผาบนภูเขายอดตัด ขึ้นเนิน หรือกึ่งกลางระหว่างลำห้วยสองเส้นขนานกัน แต่ถ้าอยู่กลางป่าที่ไม่มีภูมิประเทศชัด ให้หันหน้าไปหาจุดหมาย แต่ยังไม่ต้องเดินตรงไป ให้เริ่มจากสำรวจ ด้วยการเดินเลี้ยวไปทางซ้ายหรือทางขวา ขึ้นอยู่กับว่าฝั่งไหนสูงกว่ากันให้ไปฝั่งที่สูงกว่า เพราะฝั่งที่สูงกว่าจะโล่งกว่า ถ้าสูงเท่ากันลองไปสำรวจทั้งสองทาง ถ้ารกทั้งซ้ายขวาและข้างหน้า จะมีทางเลือก 2 ทางคือ ฟันฝ่าไปข้างหน้า กับ ย้อนกลับทางเดิม การย้อนกลับทางเดิมจะดีที่สุด เพราะปกติแล้วเวลาย้อนกลับ เรามักจะเจอเส้นทางเดินเสมอ แล้วจึงค่อยไปเริ่มต้นใหม่ตรงทางแยก แต่ถ้าฝืนฟันฝ่าไปข้างหน้า อาจจะหลงไปไกลขึ้น ถ้าฝ่าไปข้างหน้า จนเจอซอยที่สัตว์เข้ามาหากินแล้ว อยากรู้ว่าทางไหนเลี้ยวเข้าไปแล้วเจอทางตัน ทางไหนเลี้ยวไปแล้วเจอทางด่านสัตว์ นอกจากจะ มองไปไกลๆว่าไม่มีไม้ล้มกลายเป็นทางรกข้างหน้าแล้ว ต้องลองเดินไปดู ปกติซอยที่สัตว์เข้ามาหากินจะไม่ลึก ถ้าเจอทางตันก็วกกลับมาอีกทาง ก็จะเจอทางด่านสัตว์

ปัญหาของการเดินป่าพื้นราบคือ เดินวนเป็นวงกลม แม้แต่ที่ราบเล็กๆบนสันเขาก็อาจจะทำให้เดินเป็นวงกลมได้ เข็มทิศจึงเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากนี้ ก่อนเดินให้มองไปไกลๆ หาหลักที่อยู่ไกลที่สุดที่จะเดินไปหา อาจเป็นต้นไม้ใหญ่ ดงไม้ล้ม หรือก้อนหินใหญ่ แล้วพยายามเดินตรงไปหาจุดนั้น ถ้าเจอสิ่งกีดขวาง อาจต้องเดินอ้อม แต่พยายามไปถึงหลักให้ได้ พอไปถึงหลักแล้ว ให้มองย้อนกลับไป หาจุดก่อนหน้านี้ แล้วลากเส้นตรงจากจุดก่อนหน้า ผ่านจุดที่ยืนอยู่ ไปหาหลักต่อไป ทำแบบนี้จะเดินเป็นเส้นตรงได้ตลอดเวลา

ถ้าเดินไปเจอทางแยก ให้นึกย้อนอดีตไปว่าทางแต่ละเส้นเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยมองไปไกลๆว่าแต่ละเส้นทางมีอะไรอยู่บ้าง และไปสิ้นสุดที่ไหน ถ้าเส้นหนึ่งมีไม้ล้มขวางอยู่ สาเหตุเกิดจากในอดีตเคยมีไม้ล้มขวางทาง จึงเกิดเส้นอ้อมที่สัตว์ทำไว้ ทางแยกเช่นนี้มักจะไปบรรจบกัน ให้เลือกเดินทางที่โล่งที่สุด แต่ถ้าแยกตามสภาพภูมิประเทศ เช่น มีเนินเขาขวางหน้า ทำให้ต้องเลือกเดินอ้อมเนินซ้ายกับขวา เป็นไปได้ว่าจะแยกไปคนละทาง กรณีนี้ให้หันหน้าไปหาจุดหมาย แล้วดูว่าทางไหนตรงไปยังจุดหมาย ถ้ายังไม่แน่ใจ ให้ลองเดินไปเส้นหนึ่ง แล้วหันหลังกลับมาเปรียบเทียบกับอีกเส้นหนึ่ง การมองจากมุมกลับกัน อาจจะพบแนวเส้นทางเดินที่ต่อเนื่องมาจากเส้นทางเก่า

เวลาไม่แน่ใจเรื่องเส้นทาง หรือ เจอทางขาด วิธีที่ผู้ชำนาญป่าใช้ได้ผลกันคือ หยุด แล้วมองไปข้างหน้ากวาดเป็นมุม 180 องศาระหว่างไหล่ทั้งสองข้าง ไม่เกินนี้ มิฉะนั้นจะกลายเป็นทางย้อนกลับ ปกติทางมักจะตรงไป เพียงแต่มีสิ่งกีดขวาง ทำให้มองไม่เห็นทาง สิ่งกีดขวางอาจเป็นลำธาร ไม้ล้ม หรือ ก้อนหินใหญ่ ที่ลวงตาอยู่ ถ้าเดินข้ามไป ก็จะเจอทาง ถ้าไม่เจอทาง พยายามเดินสำรวจรอบๆ จนกว่าจะเจอทาง ดีกว่าฝ่าทางผิด ถ้าหาทางไม่เจอจริงๆ ควรมองย้อนกลับทางเดิม ถ้าหลงทางก็เดินย้อนกลับทางเดิม ถอยไปจนกว่าจะเจอทางที่แน่ใจ ผู้ชำนาญป่า รู้ทุกเส้นทาง เพราะเคยเดินไปดูทุกเส้นทาง เวลาหลงเขาก็จะเดินย้อนกลับไปดูว่าหลงตรงไหน วันหลังจะได้ไม่หลงอีก ยิ่งถ้าเรามีประสบการณ์มากพอแล้ว แค่ดูสภาพภูมิประเทศก็จะรู้ได้ว่าควรเดินไปทางไหน อย่างเช่น เวลาที่เราอยู่ริมลำห้วย แล้วต้องการขึ้นฝั่ง แต่มีทางแยกสองทาง ทางหนึ่งขึ้นไปสูง ส่วนอีกทางหนึ่งค่อนข้างราบ เราก็แน่ใจได้ว่า ทางที่ค่อนข้างราบ มักจะเดินวนอยู่แถวลำห้วยนั้น จึงไม่ใช่ทางที่ถูกต้อง ถ้าต้องการพิสูจน์ก็ลองเดินไปดู

เราสามารถอาศัยทางสัตว์ได้ช่วงหนึ่ง จนกระทั่งสัตว์เปลี่ยนเส้นทาง จึงหาทางด่านสัตว์ใหม่ไปเรื่อยๆ  ถ้าเดินตามทางแล้วไปเจอทางขาด ให้สังเกตุว่าสิ่งที่ขวางหน้าอยู่คืออะไร ถ้าเป็นพุ่มไม้ แค่ตัดออกทางก็จะโล่ง แต่ถ้าเป็นที่รกๆ มองไปไกลๆจะพบว่าข้างหน้ามีต้นไม้ล้ม ถ้าล้มมาได้สักพัก มักจะมีทางอ้อมที่สัตว์ทำไว้ อาจอ้อมได้ทั้งซ้ายและขวา ส่วนใหญ่จะอ้อมไปทางราก เพราะ รากจึงกินพื้นที่น้อย ไม่อ้อมไปทางยอด เพราะจะมีกิ่งไม้เต็มไปหมด มีวัชพืชขึ้นรก มีเถาวัลย์ที่พันอยู่กับกิ่ง จนไม่รู้ว่าจะยาวไปสิ้นสุดที่ใด แต่บางครั้งทางอ้อมก็อาจจะอ้อมไปทางยอด เพราะไม้ล้มขวางแล้วยอดลงมาสิ้นสุดบริเวณนั้นพอดี แต่ถ้าอ้อมไปก็ยังเจอทางตัน อาจถอยหลังกลับมาเรื่อยๆ เพื่อหาทางที่พอจะอ้อมได้  เวลาเดินจึงควรมองให้ไกลๆ ว่าข้างหน้ามีไม้ล้มอยู่หรือไม่ จะได้หาทางเลี้ยวได้ทันก่อน จะได้ไม่ต้องถอยหลังกลับมา เมื่ออ้อมพ้นแล้วพยายามมองหาทางเดิม เพื่อวกกลับเข้าเส้นทาง


ช้างใช้หัวและลำตัวถู
ต้นไม้เพราะว่าคัน ถึง
แม้ว่าไม่มีเห็บก็ยังคัน
การที่จะรู้ว่าแถวนั้นมีคนหรือสัตว์เดินผ่านบ้างหรือไม่ ให้สังเกตุจากร่องรอย รอยมีดฟันกิ่งไม้เฉียงจนขาด มีแต่คนเท่านั้นที่ทำได้ หรือ อาจเป็นเชือกผูกต้นไม้ไปเรื่อยๆ รอยบากต้นไม้ที่คนทำไว้อาจเป็นลูกศร หรือ หัวกะโหลไขว้ จะไม่เหมือนรอยเล็บสัตว์ และจะเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของแต่ละคนไม่เหมือนกัน หรือบางทีอาจเป็นความเข้าใจเฉพาะกลุ่ม คนไหนทำเครื่องหมายไว้อย่างไร ก็จะทำเครื่องหมายเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน เช่น คนชื่อผอมอาจทำตัวอักษร P ไว้ตามทางแยกเพื่อกันตัวเองหลง ถ้าเขาไม่กลับมาทำเครื่องหมายซ้ำเป็นเวลานาน ต้นไม้จะเริ่มรักษาแผลตัวเอง จนรอยเริ่มหายไป แสดงว่าคนทำเครื่องหมายอาจจะแก่ตายไปแล้ว ถ้าเป็นเส้นทางที่มีสัตว์เดินผ่าน ก็จะมีรอยเท้าสัตว์ และ ขี้สัตว์ อาจมีร่องรอยของสัตว์บนพื้นดิน เช่น รอยคุ้ยดินของหมูป่า รอยเล็บหมีข่วนตามต้นไม้ หรือ ร่องรอยของช้างตามต้นไม้ เช่น รอยขาวๆตามเปลือกไม้ที่เกิดจากช้างเอาตัวถูกับต้นไม้ รอยเปลือกไม้สึกจนเห็นเนื้อไม้เรียบๆด้านใน ที่เกิดจากช้างเอาหัวไปถู , ต้นปาล์มถูกช้างเหยียบล้มราบกับพื้นโดยไม่มีรอยมีดตัด หรือ ต้นไม้เล็กๆตรงๆสูงกว่าหัว ถูกช้างหักลงมาเพื่อกินยอดอ่อน แต่จะหักไม่ขาด ถ้าเป็นไม้ไผ่ก็จะงอตรงรอยแตก ถ้าเจอรอยเหล่านี้ ดีใจได้ว่าแถวนั้นมีทางโล่ง ที่สัตว์ทำไว้ให้แล้ว แต่ถ้าไม่มีร่องรอยคนหรือสัตว์ แสดงว่าไม่มีใครเดินผ่านเส้นนี้

เส้นทางที่คนหรือสัตว์ไม่ได้เดินประจำ จะรกมาก ยิ่งถ้าไม่มีคนหรือสัตว์เดินเลย จะไม่มีทาง เต็มไปด้วยเถาวัลย์ ต้นหนาม และไม้ล้ม แต่ถ้ามีคนหรือสัตว์เดินนานแล้ว ทางจะไม่ชัด ทางขาดเป็นช่วงๆ ถึงแม้ว่าการเดินบนสันเขาจะเดินง่ายที่สุด แต่ถ้าไม่มีทางคนหรือสัตว์เดินก็จะรกมากเช่นกัน การผ่านทางรก มีทางเลือกคือ เปิดทางใหม่ หรือ ลงมาเดินไปตามลำห้วย

ถ้าอยู่ไกลลำห้วย มีทางเลือกทางเดียวคือ เปิดทางใหม่ การเปิดทางใหม่ ต้องเดินไปถางไป จะเดินได้ช้าและเหนื่อยมาก เหมาะสำหรับทางที่ต้องไปกลับ เพื่อขากลับจะได้เดินสบาย ไม่ต้องเสียเวลาคลำทางใหม่ แต่วิธีนี้ควรมีเวลามากพอที่จะถางทาง อาจต้องไปตัวเปล่าเพื่อถางทางโดยเฉพาะ และอาจต้องไปหลายวันด้วย เพราะ การถางทาง ไม่ได้เสียเวลาตอนตัดต้นไม้ แต่เสียเวลาตอนหลงทาง ต้องคลำหาทาง หลักการเปิดทางใหม่คือ พยายามเดินเป็นเส้นตรง เห็นตรงไหนโล่งอย่าชะล่าใจเข้าไป เพราะที่โล่งในป่า มักจะโล่งแค่ไม่กี่เมตร แต่เรามองไม่เห็น เดินไปสักสิบเมตรก็เจอทางตันอีก อาจจะรกกว่าเดิมด้วย แต่ถ้าเดินเป็นเส้นตรงอย่างเดียว อาจจะไปเจอป่าถล่ม มีเถาวัลย์ปกคลุม เถาวัลย์แต่ละต้น อาจมีขนาดมือกำไม่มิด แถมยังแข็ง กว่าจะฟันขาด จะเสียเวลามาก และเหนื่อยมาก จนไปไม่ถึงไหน ด้วยเหตุนี้ เวลาเดินควรมองไปไกลๆ ถ้าเห็นป่าถล่ม ควรเดินอ้อมดีกว่า การเปิดทางใหม่ จะทำจนกว่า จะเจอทางในป่าที่ชัดเจนจริงๆ แต่บางครั้ง เราไม่มีเวลามากนัก ถ้าไม่ต้องย้อนกลับทางเดิน การลุยฝ่าไปทางรกไปโดยไม่ฟันทางให้เกลี้ยง ถือเป็นทางเลือกที่เสียเวลาน้อยที่สุด ถึงแม้จะต้องเจ็บตัว และโดนเห็บเกาะก็ตาม

การเดินผ่านทุ่งหญ้าพวกหญ้าคา หญ้าปล้อง โดยเฉพาะดงวัชพืชที่มีหนาม ถ้าใช้มีดฟันจะเสียเวลามาก มีทางเลือกหนึ่งคือ ใช้ไม้ทาบ โดยตัดท่อนไม้ตรงๆแข็งๆยาวสัก 2-3 เมตร ขึ้นอยู่กับกำลัง คือ ไม่หนักจนถือลำบาก และไม่เล็กจนงอหรือหักได้ง่าย ชี้ปลายไม้ไปยังเส้นทางที่จะเดินไป แล้ววางทาบลงบนต้นหญ้า ให้หญ้าลู่ไปทางใดทางหนึ่ง ทางนั้นจะเปิดโล่ง แล้วจึงเดินเหยียบลงไปบนท่อนไม้ หญ้าจะหักลู่ลงไป

การเดินขนานไปกับลำห้วย จะเดินลุยน้ำหรือเดินบน ฝั่ง ให้ดูว่าทางไหนไปได้เร็วที่สุด ทางที่เดินได้เร็วที่สุดมักจะเป็นทางที่โล่งที่สุด ถึงแม้ว่าในลำธารจะค่อนโล่ง แต่บางครั้งก็เดินได้ไม่เร็ว เพราะ หินไม่เรียบ มีก้อนหินใหญ่ขวางอยู่ ยิ่งถ้ามีน้ำด้วยก็จะยิ่งเดินช้า เพราะหินลื่น แถมยังต้องฝ่ากระแสน้ำ บางจุดน้ำลึก การเดินบนบกที่ไม่รกมากและมีทางชัดเจนจึงเป็นทางเลือกอันดับแรกที่เร็วกว่า ยกเว้นไม่มีทางเดินบนบก ถ้าลำห้วยไม่มีน้ำ หรือน้ำตื้น หินไม่ลื่น มีแต่ก้อนกรวด เดินลุยน้ำจะเร็วกว่า เส้นทางบนบกที่มีคนหรือสัตว์เดินประจำ ให้ขี้นฝั่งไปเล็กน้อย จะเจอเดินโล่งๆขนานไปกับลำห้วย แต่ถ้าไม่มีคนหรือสัตว์เดิน ทางจะรกมาก ถ้ามัวแต่หาทางเดินบนบก จะเสียเวลามาก คนที่พยายามขึ้นไปเดินบนบก ด้วยการข้ามน้ำไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ทั้งๆที่เดินลุยน้ำไปได้ แต่ไม่ลุย คือคนที่ขาดประสบการณ์ การเดินแบบนี้ นอกจากจะเพิ่มระยะทางมากขึ้นจากการเดินซิกแซกแล้ว พอขึ้นบกก็จะต้องเจอกับทากและเห็บ แต่ยาที่ฉีดไว้ละลายน้ำไปหมดแล้ว ทำให้ต้องลำบากฉีดยาใหม่อยู่เรื่อยๆ ถ้าบนบกรก ลงมาเดินลุยน้ำจะเร็วกว่า ถ้าลำห้วยไม่ค่อยมีน้ำ สามารถเดินตามก้อนหินไปได้เลย แต่ถ้ามีน้ำพอสมควร ก็เตรียมตัวเดินลุยน้ำไปเลย อย่ามัวแต่หาที่แห้งเดิน เพราะถึงแม้จะเป็นหน้าแล้งที่ไม่ค่อยมีน้ำ แต่ลำห้วยบางจุดมีแอ่งน้ำขังขนาดใหญ่ ไม่มีตลิ่งทั้งสองฝั่ง ในไม่ช้าก็ต้องเปียกแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นช่วงต้นหน้าแล้งหรือต้นฤดูฝน จะไม่ค่อยมีพื้นที่แห้งริมน้ำให้เดิน แต่การเดินในลำห้วยก็มีข้อจำกัดคือ ถ้าน้ำลึกมากคือมองไม่เห็นพื้นน้ำ น้ำเชี่ยวมาก หินลื่นเพราะมีตะไคร่น้ำเกาะ หรือเป็นโคลนเหยียบแล้วจมลึก หรือมีหินก้อนใหญ่เต็มไปหมด กรณีเหล่านี้จะเดินลำบาก ถ้าบนบกก็ไม่มีทาง เดินในน้ำก็ไม่ไหว ถ้าต่อแพเวลาเจอแก่งจะพังง่าย ทางเลือกสุดท้ายคือฟันฝ่าไปซึ่งจะเสียเวลามาก ทางเลือกอื่นคือเปลี่ยนเส้นทาง เช่น ขึ้นสันเขา หรือ กลับมาใหม่วันหลังในหน้าแล้งที่น้ำไม่มาก

ถ้าต้องลุยน้ำช่วงสั้นๆ หลังจากนั้นต้องขึ้นบกตลอด เมื่อมาเดินบนบก ถุงเท้าและกางเกงที่เปียก จะทำให้อึดอัด กรณีนี้ ควรเตรียมชุดลุยน้ำไปเปลี่ยน

การเดินบนฝั่ง มีหลักสำคัญ คือ อย่าขึ้นข้างทางไปสูง พยายามเกาะติดน้ำไว้ เพราะถ้าขึ้นไปสูง จะเจอทางรก และยังต้องลงมาไกลกว่าจะถึงน้ำ หลายคนสงสัยว่า จะเดินฝั่งซ้ายหรือขวา เมื่อไหร่ควรจะขึ้นฝั่ง หลักการคือ ให้ดูว่าตรงไหนเดินง่ายที่สุด แม้แต่ชาวบ้านก็จะเลือกทางที่เดินง่ายที่สุด ธรรมชาติของสายน้ำคือ
การเดินบนฝั่งเลาะริมลำห้วย ถ้าเป็นทางที่คนเดินประจำ จะมีทางค่อนข้างชัดและต่อเนื่อง แต่มักจะเจอทางขาดอยู่บ่อยๆ สังเกตุว่า ข้างหน้าเป็นสิ่งกีดขวาง อาจเป็นหน้าผาของน้ำตก หรือก้อนหินใหญ่ กรณีนี้ ให้มองดูรอบๆ จะเจอทาง ซึ่งอาจะตัดขึ้นสูง หรือ อาจข้ามน้ำไปอยู่ฝั่งตรงข้าม หรือ อาจต้องเลาะไปตามก้อนหินอีกหน่อย จึงจะเจอทางเดิน


เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาแหลม ถูกน้ำวน ดูดจมเสียชีวิต
เวลาข้ามแก่ง ถ้าจุดไหนมีน้ำลึก โยนก้อนหินใหญ่ๆลงไป น้ำจะตื้นขึ้น หรือทำสะพานข้าม โดยหาขอนไม้มาพาด แถวริมน้ำมักจะมีขอนไม้ที่ลอยมาติดแก่ง

จุดที่น้ำลึกเกินกว่าจะยืนถึง ถ้าต้องว่ายน้ำข้ามไป ก่อนอื่นต้องดูว่ามีน้ำวนหรือไม่ ถ้าไม่มีน้ำวน อย่างน้อยควรมีขอนไม้ไว้เกาะเวลาว่ายข้าม กันพลาด เช่น เป็นตะคริว หรือโดนน้ำพัด

น้ำวนเกิดจากกระแสน้ำไปกระทบสิ่งกีดขวาง แล้วไหลย้อนกลับ พบได้ทั้งในลำห้วยและทะเล น้ำวนจะดูดทุกสิ่งลงไป แม้แต่ใส่เสื้อชูชีพหรือผูกเชือกยังเอาไม่อยู่ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องเกาะขอนไม้ มีตัวอย่าง สค. 63 เจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาแหลมที่ออกลาดตระเวน ว่ายข้ามแม่น้ำรันตีในเวลา 1 ทุ่ม เพื่อนำเชือกไปผูกฝั่งตรงข้าม ให้เพื่อนที่เหลือข้ามไปพักที่หน่วยสะกัด ซึ่งเขาเคยทำเช่นนี้มาก่อนแล้ว แต่ครั้งนี้มีฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำรันตีสูงขึ้น ทำให้เขาเจอน้ำวนดูดจมลงไป ถึงแม้ว่าเพื่อนจะช่วยกันดึงร่างขึ้นมา แต่ร่างหนักมาก กว่าจะดึงขึ้นมาได้ก็เสียชีวิตแล้ว ทางหน่วยป่าไม้ต้องนำเรือเข้ามาเก็บศพตอนเช้า เพราะการเข้ามาตอนกลางคืนเสี่ยงมาก ทำให้เพื่อนร่วมทีม ต้องนอนเฝ้าร่างของผู้เสียชีวิตอยู่จนถึงเช้า เป็นอีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า การหยุดพัก ปลอดภัยกว่าการลุยต่อโดยไม่แน่ใจ แล้วพลาด
การข้ามน้ำเชี่ยว ควรตัดไม้ทำราวจับ หรือสะพาน


ถ้าเจอน้ำป่า ควรรอสัก 2-3 ชั่วโมงจะดีกว่าเสี่ยงข้ามไป เพราะน้ำป่ามาเร็วไปเร็ว แต่เคยมีบางครั้ง ที่ฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน น้ำมาแรงทั้งวันทั้งคืน กรณีจำเป็นต้องข้ามจริงๆ ต้องทำสะพาน โดยตัดไม้ยาว หลายๆท่อน มามัดรวมกัน พาดข้ามน้ำ ใช้เป็นทางเดิน อาจใช้ไม้ยาวๆอีกท่อนค้ำยันเวลาเดิน หรือถ้าน้ำไม่แรงมาก พอจะลุยข้ามได้ อย่างน้อยที่สุด ควรจะตัดไม้มา 1 ท่อนพาดข้ามน้ำ ทำราวเกาะ ถ้าลำห้วยกว้างมาก จนทำสะพานข้ามไม่ได้ อาศัยต่อแพได้ถ้าน้ำไม่แรงมาก แต่ถ้าไม่ไหวจริงๆ ควรหยุดพักยาวจนกว่าน้ำจะลด ปกติฝนจะตกต่อเนื่องอย่างมากไม่เกินสัปดาห์

การเดินลุยน้ำ มีปัญหาคือ เดินยาก เพราะต้องเจอกับน้ำตกเป็นช่วงๆ ถึงแม้จะเป็นทางราบ แต่ต้องเดินบนก้อนหิน มีโอกาสเจอหินบางก้อนที่ลื่น หรือหินพลิก ทำให้ล้มเจ็บตัวได้ง่าย วิธีเดินตามก้อนหินไม่ให้เจ็บตัวคือ พยายามเดินบนก้อนหินใหญ่ อย่าเดินบนก้อนหินก้อนเล็ก จะพลิกได้ง่าย และถึงแม้จะเป็นก้อนหินใหญ่ ก็อย่าเดินบนก้อนหินที่มีตะไคร่น้ำสีเขียว หรือสีน้ำตาล มิฉะนั้นจะลื่น ทดลองเหยียบแล้วขยับเท้าไปมาว่าลื่นหรือไม่ ก่อนจะยื่นเท้าไปเหยียบหินก้อนหน้า ควรใช้สองมือจับก้อนหินข้างๆตัวไว้ก่อนเพื่อทรงตัว ถ้าก้าวต่อไปไม่ได้ เพราะก้อนหินพลิกหรือลื่น จะได้ชักเท้ากลับมาได้ โดยไม่เสียการทรงตัว ถึงแม้ว่าจะระวังตัวแล้วก็ยังอาจพลาดได้ โดยปกติ เวลาลื่น มักจะกระแทกที่หน้าแข้งและที่หัวเข่าบ่อยที่สุด ถ้าหัวเข่ากระแทก อาจรุนแรงถึงขั้นเดินไม่ได้ ถ้าไม่ชำนาญ อาจใส่สนับเข่า และสนับแข้ง จะช่วยป้องกันการกระแทก สนับเข่าที่ดี ไม่ควรอุ้มน้ำ สนับเข่าใช้ของพวกเล่นสเก็ตหรือบีบีกันได้ และ สนับแข้งใช้ของนักบอลได้

การเดินบนก้อนหิน หรือปีนป่ายไปบนหน้าผาหิน ต้องระวังหินที่ขยับได้ เคยมีหลายคนโดนก้อนหินทับแขนหรือขา จนขยับไม่ได้ หินอาจจะกลิ้งหรือหลุดแยกออกมาขณะกำลังปีนป่าย บางคนลื่นแล้วมือหรือขาไปติดอยู่ในซอกหิน ก้อนหินขนาดใหญ่จะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะขยับไม่ได้ ก้อนหินขนาดเล็กก็ไม่มีปัญหาเพราะ เรารู้อยู่แล้วว่าต้องขยับได้ และเราสามารถเคลื่อนย้ายได้ไม่ยาก แต่ที่น่ากลัวคือก้อนหินขนาดกลางๆ มุมหนึ่งอาจขยับไม่ได้ อีกมุมหนึ่งอาจจะกลิ้งได้  เรื่องยกก้อนหินไม่ต้องพูดถึง แค่ก้อนหินกลมๆขนาดเท่าคนโอบก็หนักหลายร้อยกิโลกรัมแล้ว ซึ่งเมื่อขยับตัวไม่ได้ ย่อมหมายถึง ออกจากป่าไม่ได้ด้วย คนที่ติดอยู่ตรงนั้นจะอดน้ำตายภายในไม่กี่วัน เคยมีชาวบ้านแถบน้ำตกเขาสอยดาว โดนหินทับแล้วขุดดินที่พื้น จึงสามารถขยับออกมาได้ บางคนติดซอกหินแล้วทาวาสลีนจึงลื่นออกมาได้ แต่คนที่โดนหินทับทั้งสองข้างกดอยู่ ต้องขอให้ภายนอกส่งเครื่องมือหรือคนเข้ามาช่วยยกออก เคยมีฝรั่งออกจากที่พักตัวเปล่าเพื่อไปขับถ่ายกลางดึก แต่ปีนไปบนก้อนหินแล้วหินแยกตกลงมาทับขาของเขา โชคดีที่เพื่อนอีกคนได้ยินเสียงร้อง จึงมาดูแล้วรีบวิ่งออกจากป่าเพื่อไปตามคนมาช่วย นำไฮดรอลิกเข้ามายกหินขึ้น แต่ถึงเขาจะถูกช่วยออกมาได้ ก็ต้องตัดขาทั้ง 2 ข้างทิ้ง (เรื่องนี้นำมาทำเป็นสารคดี I shouldn't be alive ตอน Trapped by a boulder) และเคยมีฝรั่งที่ไปคนเดียวแล้วแขนติดอยู่ในซอกหิน แถมติดต่อภายนอกไม่ได้ ทำให้ต้องตัดแขนตัวเองทิ้ง (เรื่องของเขาถูกนำมาทำเป็นหนังเรื่อง 127 hours) วิธีโบราณที่ใช้ตัดหินคือ ถ้าหินก้อนไม่ใหญ่นัก ใช้ขวานทื่อๆฟันหรือตอกลงไปตามแนวที่ต้องการให้หินแยกออก ตอกให้แต่ละจุดกินเนื้อหินเล็กน้อย แต่ตอกเป็นแนวยาว แล้วหินจะแยกออกมาเอง แต่ถ้าหินก้อนใหญ่ ต้องใช้เครื่องมือจากภายนอก คือ ใช้สว่านเจาะรูตามแนวที่ต้องการให้หินแยกออก ดูดฝุ่นออกแล้วใส่ลิ่มหินลงไป (ฝรั่งเรียกว่า feather and wedge) ค่อยๆตอกลิ่มทุกรูให้ลงไปลึกเท่าๆกัน หินจะแยกออกมาเอง ถ้าหินก้อนใหญ่มาก ก็ใช้ลิ่มหินขนาดใหญ่ขึ้น หรือ ใช้จำนวนมากขึ้น ส่วนวิธีที่พอจะทำเองได้ในป่า คือ เผาไฟ จะใช้ได้ผลกับหินทั้งเล็กและใหญ่ โดยสุมไฟตามแนวพื้นผิวของหินที่ต้องการให้แยกออก อย่างน้อยครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง แล้วหินจะแตกออกมาเอง คนโบราณจะใช้ไฟเผารอบๆหินก้อนใหญ่เพื่อให้มันแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย พอหินร้อนแล้ว หาอะไรหนักๆมากระแทก หรือราดน้ำเย็นลงไป จะทำให้หินแตกเร็วขึ้น ถ้าหินข้างในเปียกอยู่แล้วจะแตกได้ง่ายขึ้น เพราะมีแรงดันน้ำเดือดจากข้างใน แต่ต้องระวังหินเปียกจะระเบิด แล้วมีเศษหินชิ้นเล็กๆกระเด็นออกมาจากผิว ซึ่งไม่ได้มีอันตรายมากนัก ยกเว้นจะเข้าตา ถ้าหินเดิมมีรอยแยกเดิมอยู่แล้ว จัดการตรงรอยแยก จะแตกได้ง่ายขึ้นเช่นกัน

ทางเลือกสุดท้าย ถ้าเดินลุยน้ำในลำห้วยไม่ได้ ขึ้นมาเดินบนฝั่งริมน้ำก็รกมากจนฟันฝ่าไปไม่ไหว อาจต้องเปลี่ยนเส้นทาง เช่น ตัดไปหาลำห้วยเส้นอื่น หรือ ขึ้นสันเขา ภูมิประเทศที่โล่งที่สุดในป่า รองลงมาจากในลำห้วย คือ สันเขา เพราะทางสองฝั่งค่อนข้างราบเสมอกัน จึงเดินง่าย และ ป่าจะโล่งที่สุด เพราะเก็บน้ำไว้น้อยที่สุด จึงมองเห็นวิวได้ง่าย ถึงแม้ว่าจะต้องฟันฝ่าไปตามสันเขา แต่ก็ง่ายกว่าการฟันฝ่าไปในป่าริมน้ำ ถ้าหลงออกนอกเส้นทาง ก็กลับเข้าหาทางหลักได้ไม่ยาก เพราะเป็นทางบังคับ ส่วนด้านข้างสันเขา เรียกว่าที่ลาดเชิงเขา จะเป็นทางลาดลง ถ้าใช้เดินขึ้นลงเขาจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเดินเลาะขนานไปในระดับความสูงเท่าเดิม จะเดินยาก เพราะเดินได้ไม่เต็มเท้า เดินไปสักพักจะต้องเจอกับลำห้วยที่ไหลลงมาจากภูเขา แม้จะเป็นหุบเล็กๆ แต่ก็ต้องปีนลง แล้วปีนขึ้นจนเหนื่อย ปัญหาใหญ่คือ ลานหินลาดลง จะชันและลื่นเกินกว่าจะเดินผ่านไปได้ การเดินตามที่ลาดเชิงเขา จะใช้เฉพาะกรณีที่อยู่บนยอดเขาสูง และ สันเขาเป็นลูกคลื่น ซึ่งการเดินไปตามสันเขา จะต้องขึ้นเขาลงเขาจนเหนื่อย แต่จะไม่ใช้เดินบนฝั่งถัดจากริมลำห้วยขึ้นไป

การเดินป่าในเส้นทางท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวรายอื่น เคยไปและถ่ายรูปมาก่อน อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งคนพื้นที่มาชี้จุดให้ว่า จุดไหนชื่ออะไร ให้ save รูปสถานที่ท่องเที่ยวแต่ละจุด เก็บไว้ในโทรศัพท์มือถือ พอไปถึงแต่ละจุด แล้วเปิดดูรูป จะรู้ได้ทันที ว่าสถานที่นั้นชื่ออะไร ไม่ควรใช้ความจำ เพราะถึงเวลาอาจจะจำไม่ได้ และ ไม่ควรรอให้ไปถึงแล้วค่อยดูจากอินเตอร์เน็ต เพราะจุดนั้นอาจไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ หรือสัญญาณไม่ชัด


ตามทางด่าน อาจมีแร้วดักสัตว์ หรือ ปืนผูก ถ้าเผลอไปเตะเข้า ไม่เจ็บหนักก็ตาย ทางที่ไม่คุ้นเคย จึงควรเดินช้าๆ ดูให้ดีก่อนก้าว
สิ่งที่ต้องระวังเวลาเดินป่าคือ
ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่เราจะเดินดูทางอย่างเดียว โดยไม่ดูป่ารอบข้างเลย นั่นเป็นเพราะเราเดินป่าในเส้นทางที่ไม่มีอันตรายมาก  แต่เมื่อใดก็ตามที่เราต้องเข้าไปในป่าที่มีสัตว์ใหญ่มาก เราจะรู้จักดูซ้ายดูขวา เป็นไปเองโดยอัตโนมัติ

การสื่อสาร

มีหลายสาเหตุที่ทำให้เราต้องเจ็บป่วยอยู่ในป่า เช่น โดนสัตว์ทำร้าย เป็นไข้ ถูกปืนดักสัตว์ยิง ฯลฯ ถ้ามีเวลาจำกัด ได้รับความช่วยเหลือไม่ทันก็คือตายแน่ ในป่าไม่มีความช่วยเหลือเหมือนในเมือง มีทางเดียวที่จะได้รับความช่วยเหลือคือ ต้องขอความช่วยเหลือจากโลกภายนอก นั่นคือ เวลาอยู่ในป่าจุดใดก็ตาม ควรจะมีวิธีติดต่อกับโลกภายนอก ทางใดทางหนึ่งเสมอ ถ้าไม่มีทางสื่อสารกับโลกภายนอก ควรมีคนรู้ทางอย่างน้อย 2 คน จะได้มีคนออกไปตามคนมาช่วย ที่ควรมี 2 คนเผื่อคนรู้ทางคนหนึ่งบาดเจ็บเสียเอง ถ้าไปคนเดียวหรือไม่มีคนรู้ทางไปด้วย ควรบอกทางบ้านหรือเพื่อนสนิทหรือรถรับจ้างที่ไปส่งว่า จะไปไหน ไปกี่วัน ถ้าหายไปเกินกำหนด เขาจะได้แจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้ออกค้นหาได้ถูกจุด คนที่จะไปคนเดียวโดยไม่บอกใคร จะต้องรู้จักใช้พลังเหนือธรรมชาติพอจะเอาตัวรอดได้

โทรศัพท์มือถือ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่ควรพกติดตัวเข้าป่าเสมอ ป่าที่มีเมืองล้อมรอบ ย่อมมีเสาส่งสัญญาณโทรศัพท์มือถืออยู่รอบๆ ถ้าขึ้นไปในที่สูงหรือจุดเปิดโล่งมองเห็นวิว มีโอกาสเจอคลื่นโทรศัพท์บางค่ายได้ หากอยู่ในอุทยานแห่งชาติ ให้โทรศัพท์หาเจ้าหน้าที่มารับ โดยบอกพิกัด gps เจ้าหน้าที่ป่าไม้ในปัจจุบันมี gps ใช้กันหมด แค่บอกพิกัด เขาจะตามเข้ามาถูก ก่อนเข้าป่าจึงควรบันทึกหมายเลขโทรศัพท์ของคนแถวนั้นไว้  เช่น ที่ทำการอุทยานแห่งชาติ ถ้าอยู่ใกล้หมู่บ้านก็เป็นเบอร์โทรศัพท์ของชาวบ้านแถวนั้น ใครก็ได้สักคนที่ติดต่อได้ แต่การขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรทำเฉพาะเวลาเกี่ยวกับความเป็นความตายจริงๆ มิฉะนั้น ต่อไปคนที่เข้าป่าในภายหลังจะลำบาก เพราะหลังจากเจ้าหน้าที่ป่าไม้เข้าไปช่วยนักท่องเที่ยวแล้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติบางแห่งที่ใจแคบ อาจจะมีการตั้งกฎตามมา เพื่อป้องกันตัวเองเดือดร้อน เช่น ติดป้ายห้ามนักท่องเที่ยวเข้าป่าโดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ มีการรื้อถอนป้ายสถานที่เดินป่าต่างๆออก อย่างเช่นที่เกิดขึ้นที่เขาใหญ่

โทรศัพท์คลื่นความถี่ต่ำที่สุดจะส่งสัญญาณได้ไกลที่สุด เพราะสามารถทะลุทะลวงผ่านต้นไม้และหุบเขาได้ดีกว่า อย่างเช่น คลื่น 900 Mhz จะพบสัญญาณในที่ไกลความเจริญได้บ่อยกว่าคลื่น 1800 Mhz แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเสาของผู้ให้บริการด้วย บางครั้งจุดหนึ่งอาจจะมีคลื่นของค่ายหนึ่ง แต่อีกจุดหนึ่งกลับมีคลื่นของอีกค่ายหนึ่ง เราจึงควรมีตัวเลือกอย่างน้อย 2 ค่าย โดยใช้เฉพาะ ค่ายที่มีโอกาสเจอคลื่นตามสถานที่กันดารบ่อยๆ จากที่ผมทดลองใช้มา คลื่น 850 Mhz ของ กสท.มีโอกาสเจอคลื่นตามป่าตามเขามากที่สุด รองลงมาคือคลื่น 900 Mhz ซึ่งมีไม่กี่จุดที่ 850 ไม่มีสัญญาณแต่ 900 รับสัญญาณได้ เมื่อใช้ 2 คลื่นนี้แล้ว ก็มั่นใจได้ว่า จะครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมด

พวก smart phone จะสามารถลงโปรแกรม อย่างเช่น No Signal Alert เพื่อส่งเสียงเตือนให้รู้ว่า ตรงไหนมีสัญญาณโทรศัพท์ ตรงไหนไม่มี

การเปิดสัญญาณโทรศัพท์ไว้ตลอดเวลาจะเปลืองแบตเตอรี่มาก โดยเฉพาะพวก smart phone ที่เปิดได้แค่วันเดียวหมด ถ้าจำเป็นต้องใช้โทรศัพท์มือถือเพื่อเรื่องอื่นที่ไม่ใช่สื่อสารเช่น ดูเวลา หรือตั้งปลุก ควรตั้งให้เป็นโหมดเครื่องบิน จะปิดการสื่อสารทุกชนิด จะใช้แบตเตอรี่เพียง 1-2% ต่อวัน เมื่อต้องการใช้โทรศัพท์ก็แค่ปิดโหมดเครื่องบิน จะหาคลื่นได้เร็วกว่า และประหยัดแบตเตอรี่มากกว่าการเปิดปิดเครื่อง ถ้าจำเป็นต้องรอรับโทรศัพท์ โดยไม่รับส่งข้อมูล การปิด data เปิดสัญญาณโทรศัพท์เพียงอย่างเดียว จะช่วยประหยัดแบตเตอรี่ได้มาก

สำหรับเครื่องโทรศัพท์ ควรระวังยี่ห้อที่คิดโดยคนเกาหลี ไต้หวัน หรือจีน พวกนี้ออกแบบมาไม่ค่อยรอบคอบ ยกตัวอย่าง บางรุ่น ปิดเครื่อง ชาร์จไฟแล้วไฟหน้าจอยังติดค้างไว้ ถ้าชาร์จจากแบตเตอรี่พกพาจะทำให้เปลืองมาก หรือ บางทีปิดเครื่องไปแล้วไฟยังกะพริบอยู่จนแบตเตอรี่หมด ยี่ห้อเหล่านี้แม้แต่ ใช้ในเมืองก็ยังเชื่อถือได้ยาก บางทีติดๆดับๆ

โทรศัพท์มือถือแต่ละยี่ห้อ จะรับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน แม้แต่ยี่ห้อเดียวกันแต่คนละรุ่น ก็รับสัญญาณได้ไม่เท่ากัน ซึ่งไม่เกี่ยวกับรุ่นเก่าหรือรุ่นใหม่ ในจุดอับสัญญาณ โทรศัพท์บางตัว จะยังรับสัญญาณได้ดี แต่บางตัวอาจไม่มีสัญญาณ โทรศัพท์ที่ก๊อปปี้ของฝรั่งอย่าง เวลคอม ซัมซุง ไอโมบาย ส่วนใหญ่จะรับสัญญาณได้แย่กว่าโทรศัพท์ของฝรั่ง อย่างโนเกีย หรือ โมโตโรลา บางรุ่น ซึ่งเรื่องความแรงในการรับส่งสัญญาณนี้ ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีตัววัด จึงไม่ได้เขียนไว้ในคู่มือ วิธีเดียวที่จะรู้คือ ต้องทดสอบด้วยตนเอง

ตามหุบเขามักจะไม่มีสัญญาณ
ต้องปีนขึ้นไปบนที่สูง

ถึงแม้จะเป็นป่าที่ล้อมรอบด้วยเมือง แต่ถ้าเริ่มเข้าไปลึก ก็อาจไม่มีสัญญาณ หรือถ้าเป็นป่าที่อยู่ไกลความเจริญอย่างเช่น แถบชายแดน จะไม่มีคลื่นโทรศัพท์เลย จุดที่มีสัญญาณ คือจุดที่ติดตั้งเครื่องขยายสัญญาณเพื่อใช้เฉพาะแถวนั้น อาจจะใช้ในรัศมีรอบๆแค่ไม่กี่สิบเมตร และใช้ได้อย่างมากแค่เสียง รับส่งข้อมูลไม่ได้ 

วิทยุสื่อสารเป็นช่องทางขอความช่วยเหลือโดยตรง แถวชายแดนที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ วิทยุสื่อสารสามารถติดต่อได้ไกลกว่าโทรศัพท์มือถือมาก โทรศัพท์มือถือยิ่งมีกำลังวัตต์สูง ยิ่งรับส่งสัญญาณได้ไกล แต่โทรศัพท์มือถือทั่วไปที่วางขายในท้องตลอด เวลาเข้าป่าแล้วไม่ค่อยมีสัญญาณ เพราะ มีกำลังรับส่งต่ำ คือไม่เกิน 1 วัตต์ ถ้าเกินกว่านี้อาจมีผลต่อสมองคน จึงไม่มีใครผลิตมาขาย แถมโทรศัพท์ใส่เสาเพิ่มไม่ได้ ในขณะที่วิทยุสื่อสาร สามารถใช้กำลังรับส่งสูงถึง 5 วัตต์ และ ถ้าใส่เสาที่เหมาะสมก็จะขยายระยะทางที่ติดต่อได้ไปอีก แค่ขึ้นไปบนยอดเขาก็สามารถติดต่อจากชายแดนไปถึงในเมืองได้สบาย

การใช้วิทยุสื่อสารในเมืองไทย มีกฎหมายบังคับไว้ชัดเจนทั้งเรื่องตัวเครื่องและช่วงความถี่ที่อนุญาติ ให้ใช้ได้ คนที่ไม่ทำตามกฎหมายจะมีโทษ ปัจจุบันความถี่ที่ใช้กันมากมี 3 ช่วงคือ
กฎหมายกำหนดว่าความถี่ 145.000 MHz ใช้สำหรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน และมักจะมีนักวิทยุสมัครเล่นฟังอยู่ทุกพื้นที่ แต่เวลาอยู่ในป่า บางทีเรียกไปแล้วก็ไม่มีใครตอบ ย่านความถี่ที่มีคนฟังอยู่จริงคือ คลื่นของเจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหาร ซึ่งคนทั่วไปจะไม่รู้ว่ารับคลื่นไหน ส่งคลื่นไหน ต้องสอบถามจากทางเจ้าหน้าที่หรือ ทดลองสแกนหาเอง แต่ปัญหาคือ คลื่นของทางราชการ ถ้าบุคคลทั่วไปเข้าไปใช้ จะผิดกฎหมาย แต่ถ้าในกรณีเกิดปัญหาหนักจริงๆ คงจะต้องขอความเห็นใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะ ธรรมชาติของกฎหมายมักจะเขียนรัดกุมมากเกินไป อย่างเช่น เด็ดใบไม้ใบเดียวก็ผิด แต่ในทางปฎิบัติแล้ว ถ้าเราไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนหรือไม่มีใครไปฟ้อง ย่อมมีการยกเว้นเมื่อเรามีเหตุผลเพียงพอ โดยเฉพาะเวลาที่กำลังประสบความยากลำบากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การช่วยชีวิตคนถือเป็นกฎของสังคมมนุษย์ ที่สำคัญเหนือกฎอื่นใด

วิทยุสื่อสารที่วางขายทั่วไป จะใช้ได้แค่ช่วงความถี่เดียว ไม่ครอบคลุมทั้ง 3 ช่วง การสื่อสารกับทางราชการ จึงต้องใช้วิทยุสื่อสารยี่ห้อที่ใช้ช่วงความถี่ของทางราชการได้ด้วย แต่การพกเครื่องที่ใช้ช่วงความถี่นี้จะผิดกฎหมาย ถ้าไม่อยากทำผิดกฎหมาย ก็ต้องใช้เครื่องตรงกับช่วงความถี่ที่คนทั่วไปใช้ได้ แต่สามารถตั้งค่าเปิดใช้ช่วงความถี่อื่นได้เมื่อจำเป็น เรียกกันว่า เปิดแบนด์ และปิดช่วงความถี่อื่นได้เมื่อเลิกใช้ เรียกว่า ปิดแบนด์

แต่ละประเทศจะมีกฎหมายกำหนดให้ใช้ช่วงความถี่ไม่เหมือนกัน วิทยุสื่อสารที่ใช้ในประเทศอื่น จึงอาจจะไม่สามารถนำมาใช้สื่อสาร กับระบบราชการในเมืองไทย

การสื่อสารผ่านดาวเทียมถือเป็นทางเลือกสุดท้าย ในพื้นที่ๆการสื่อสารวิธีอื่นใช้ไม่ได้ผล โทรศัพท์ผ่านดาวเทียม มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง ไม่เหมาะสำหรับคนที่เข้าป่าเป็นงานอดิเรกนานๆครั้ง อุปกรณ์ขอความช่วยเหลือผ่านดาวเทียม ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายรายเดือนคือ Personal Locator Beacon (PLB)

นาฬิกา

คนที่อยู่ในเมือง มักไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใส่นาฬิกา เพราะสามารถดูเวลาได้จากรอบข้างหรือในโทรศัพท์มือถือ พอมืดก็มีไฟถนนและจากบ้านเปิดขึ้นมา แต่การเดินป่าต้องพึ่งแสงจากดวงอาทิตย์เป็นหลัก เมื่อแสงอาทิตย์ใกล้หมดจึงหยุดเดิน การดูเวลาจากแสงแดดในป่า หาความแน่นอนไม่ได้ บางทีฝนตกฟ้าครึ้มตอนเที่ยง ในป่าอาจจะมืดจนดูเหมือนใกล้ค่ำ จั๊กจั่นที่ปกติจะร้องเสียงหงิ่งๆตอนเย็นๆ อาจจะเริ่มร้องตั้งแต่บ่าย 2 โมงก็ได้หากฟ้าเริ่มมืดเพราะฝนใกล้ตก เราจึงต้องพึ่งนาฬิกาแทน และเวลาอยู่ป่า จำเป็นต้องใช้นาฬิกามากกว่าปกติ ตั้งแต่ตื่นยันหลับ ต้องรู้ว่าจะนอนกี่โมง ถ้าสะดุ้งตื่นมาตอนกลางคืนเราต้องรู้ว่ากี่โมง ต้องตื่นกี่โมง ต้องออกเดินทางกี่โมง ต้องถึงที่พักกี่โมง โดยเฉพาะเวลาเดินป่า นาฬิกาสำคัญมากเพราะ การเดินทางไปในที่ๆไม่เคยไป จำเป็นต้องกำหนดเวลาเดิน เช่น ถ้าเริ่มออกเดิน 9 โมงเช้า ต้องถึงปลายทางก่อนบ่าย 3 โมง นั่นคือ เรามีเวลาเดินแค่ 6 ชั่วโมง แบ่งเป็นเวลาเดินไป 3 ชั่วโมง เดินกลับอีก 3 ชั่วโมง ถ้าเที่ยงแล้วยังไปไม่ถึงครึ่งทาง เราจำเป็นต้องหันหลังกลับ ถ้ากำลังหลงป่าอยู่ จะได้กำหนดเวลา ที่จะออกไปถึงเส้นทางที่สำรวจไว้แล้ว เพื่อที่จะกลับถึงที่พักให้ทัน มิฉะนั้น ถ้าพยายามหาเส้นทางในช่วงใกล้ๆค่ำ อาจต้องทำด้วยความเร่งรีบ ทำให้พลาดได้ง่าย  สุดท้ายอาจไปมืดค่ำกลางทางในที่ๆไม่ต้องการอยู่ นี่คือเหตุผล เราจึงจำเป็นต้องดูนาฬิกาตลอดเวลา นาฬิกาสำหรับเดินป่าควรจะมีคุณสมบัติดังนี้
คุณสมบัติอื่นๆ ที่มีดีกว่าไม่มี เช่น เข็มทิศ , บอกอุณหภูมิ, ความดันอากาศ แต่จะทำให้นาฬิการาคาแพงขึ้น ถ้าจะประหยัดเงินก็ไม่จำเป็นต้องซื้อ อาศัยพกอุปกรณ์อื่นไปช่วยแทน
คุณสมบัติอื่นๆ เช่น บอกระดับแบตเตอรี่ได้นั้นมักมีราคาแพงและไม่จำเป็นนัก เพราะถ่านนาฬิกาไม่หมดง่ายๆ นาฬิกาแบบตัวเลข ที่ไม่ค่อยกดดูไฟ จะมีอายุนานถึง 10 ปี แต่ถ้ากดดูไฟบ่อยๆ อายุจะสั้นลงอาจจะเหลือสัก 7 ปี และนาฬิกาแบบตัวเลขเวลาถ่านใกล้หมด จะสังเกตุล่วงหน้าได้ง่าย  เช่น หน้าจอไฟอ่อนหรือกดไฟหน้าจอไม่ติด แต่ขณะนั้นยังสามารถใช้ต่อได้อีกหลายปีหน้าจอจึงดับ เวลาจะยังเที่ยงตรงไปจนถึงวันที่จอดับ ต่างจากนาฬิกาแบบเข็มที่เวลาถ่านเริ่มอ่อนจะเดินช้าลงเรื่อยๆ ยกเว้นจะเป็นนาฬิกาที่ดีมาก จึงจะมีระบบควบคุมความเที่ยงตรงเวลาถ่านอ่อน เรื่องความเที่ยงตรงนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นาฬิกาแบบเข็มไม่น่าใช้เข้าป่า

นาฬิกาตัวเลข มีข้อดีเหนือกว่านาฬิกาแบบเข็มหลายอย่าง เช่น ตั้งปลุกได้ ในขณะที่นาฬิกาแบบเข็ม ส่วนใหญ่จะดูเวลาได้อย่างเดียว ทำอย่างอื่นไม่ค่อยได้ นาฬิกาแบบเข็มบางยี่ห้ออาจมีเข็มทิศ, บอกอุณหภูมิ ฯลฯ เช่น Timex, Tissot แต่อาจจะไม่ค่อยทน และที่สำคัญคือในเมืองไทย ใช้นาฬิกาแบบเข็มบอกทิศจากแสงแดดไม่ได้ผล (ดูรายละเอียดในเรื่องเข็มทิศ) นาฬิกามีเข็มจึงไม่มีประโยชน์เลย นาฬิกาแบบเข็มมีข้อดีเฉพาะ รุ่นที่ใช้กลไก เรียกว่า mechanic หรือ automatic ไม่ต้องใส่ถ่าน ถ้าขยับมืออยู่ทุกวัน นาฬิกาก็จะไม่หยุดเดิน และทนอุณหภูมิหนาวจัดได้  ในขณะที่นาฬิกาดิจิตอลส่วนใหญ่ทนได้อย่างมากแค่ -10 ถึง -20 องศาเซลเซียส (ขึ้นอยู่กับรุ่น) ถึงแม้ว่านาฬิกาจะได้รับความร้อนจากร่างกายอยู่แล้ว แต่ในที่อากาศหนาวจัด  จำเป็นต้องใส่นาฬิกาไว้นอกเสื้อกันหนาว เพราะ ถ้าดึงแขนเสื้อขึ้นดูนาฬิกา ส่วนที่ร่างกายสัมผัสกับลมหนาวจะโดนหิมะกัด(frostbite) ได้ แค่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส พอเจอลมแรง จะกลายเป็น -40 องศาเซลเซียส นาฬิกาที่ทนความเย็นระดับนี้ได้ คือนาฬิกาแบบกลไกเท่านั้น

ก่อกองไฟ

คนในเมืองสงสัยว่า จำเป็นด้วยหรือที่ต้องก่อไฟ นั่นเป็นเพราะเขายังไม่รู้ว่า กองไฟมีประโยชน์อย่างไร แต่เมื่อใดก็ตามที่เราเหลือแต่ตัวเปล่า ไม่มีเสบียงติดตัว มีดและไฟจะช่วยให้เรามีชีวิตรอดได้ มีตัวอย่างของชายหนุ่มหลงป่าที่เขาช่องลมเมื่อ มิย.65 บอกมีหญิงชุดขาวจูงเข้าไป แล้วหญิงคนนั้นหายตัวไป เขาไม่รู้อยู่ตรงไหนและไม่มีแรง โชคดีโทรศัพท์ยังมีคลื่นโทรคุยกับข้างนอก ชาวบ้านจึงบอกให้เขาก่อไฟ ชาวบ้านที่ไหว้ขอเจ้าที่จึงเห็นควันไฟแล้วตามไปช่วยได้ทันก่อนค่ำ

กองไฟเป็นเพื่อนของมนุษย์ในป่ามายาวนาน จุดประสงค์หลักคือ ทำให้คนกินอิ่มนอนหลับ เช่น หุงข้าว ไล่ความหนาว และไล่สัตว์ป่า ชาวบ้านกลายเป็นผู้ชำนาญป่าได้ เพราะเขารู้จักใช้ประโยชน์จากมีดและไฟ ในเวลาที่ทุกอย่างมืดมิด มีแต่กองไฟเท่านั้นที่จะให้แสงสว่าง อาหารจากธรรมชาติอย่างข้าวสารหรือไข่ ต้องทำให้สุกก่อนจึงจะกินได้ มีแต่กองไฟเท่านั้นที่ช่วยให้เราอิ่มท้อง ในเวลาที่ไม่มีแดด กองไฟคือแสงแดดที่มนุษย์สร้างขึ้น ในเวลาที่เสื้อผ้าเปียกใส่แล้วหนาว มีแต่กองไฟเท่านั้นที่จะช่วยให้เสื้อผ้าแห้ง ในเวลาที่อากาศหนาวเหน็บ มีแต่กองไฟเท่านั้นที่ให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ในป่าตอนกลางคืนอากาศหนาว ถ้าเครื่องกันหนาวไม่พอ อาจหนาวตายได้ มีทางรอด คือ ผิงไฟ ยิ่งถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียสไปแล้ว ถ้าเครื่องกันหนาวไม่พอ จะอยู่ห่างจากกองไฟไม่ได้เลย แต่ถ้ามีเครื่องกันหนาวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งกองไฟ เพราะการผิงไฟจะต้องสูดดมควันไฟ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และ การผิงไฟยังทำให้ร่างกายไม่ปรับตัวกับความหนาว หากออกห่างจากกองไฟหรือไฟหมด จะรู้สึกหนาวมากกว่าเวลาที่ไม่มีกองไฟ

ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้กองไฟทำอะไร ควันจากกองไฟยังช่วยไล่แมลงได้ เวลาที่อยู่ป่าแล้วได้ยินเสียงสัตว์อยู่ใกล้ แค่สุมกองไฟให้แรงขึ้น หรือ จุดเทียนไว้รอบๆ ก็เพียงพอแล้วที่จะไล่สัตว์ป่า ยิ่งไฟแรงขึ้นหรือยิ่งมีควันมากขึ้น ก็ยิ่งไล่สัตว์ป่าได้ดีขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นเพราะพวกมันเคยเจออานุภาพของไฟป่ามาก่อนแล้ว ธรรมชาติของสัตว์ป่า ถ้าเจออะไรที่เป็นสัญญาณของภัยอันตราย อย่างเช่น เสียงเคาะหม้อ พวกมันก็จะกลัวแล้วหนีไป แม้แต่สัตว์ร้ายอย่างเสือยังหนี (ยกเว้นสัตว์ที่คุ้นเคยกับคน ซึ่งถึงแม้จะมีกองไฟ ถ้าได้ยินเสียงช้อนกระทบจานหรือเสียงขย้ำถุง กลับเดินเข้ามาขอของกิน) ถึงแม้ว่าสัตว์บางตัวเช่น เสือหรือช้าง จะไม่กลัวกองไฟ นั่นเป็นเพราะมีเหตุผลอื่นมากลบความกลัว ช้างบางตัวอาจจะมากระทืบกองไฟ สาเหตุเกิดจากมันจวนตัว คือไม่มีทางเลี่ยงเดินไปทางอื่น เพราะเราไปนอนขวางทางมัน เสือบางตัวอาจจะมาเดินวนรอบกองไฟ ด้วยความสงสัย ในฐานะเป็นเจ้าถิ่น จึงต้องมาสำรวจ ตื่นมาตอนเช้าอาจเจอรอยเท้าอยู่รอบๆ หรือแม้แต่กลิ่นอาหารก็สามารถล่อสัตว์ได้สารพัด แต่ในเวลาปกติ ถ้าไม่มีไฟเลย จะมีโอกาสเสี่ยงที่จะเจอสัตว์ป่ามากกว่า เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่แก่งกระจานคนหนึ่ง เวลานอนในป่าจะก่อไฟทุกคืน อย่างมากก็ได้ยินแค่เสียงช้างร้องอยู่ห่างๆ ไม่กล้าผ่านมา แต่คืนหนึ่งลืมก่อกองไฟเนื่องจาก วันนั้นเดินมาเหนื่อย ปรากฎว่า คืนนั้นช้างวิ่งผ่านมาเบียดถึงข้างเปล และยังมีเรื่องที่ผมเจอมากับตนเอง ขณะพักอยู่ริมลำห้วยในป่า อช.เขาใหญ่ มีเพื่อนร่วมคณะคนหนึ่ง แยกหนีไปนอนบนเนิน ซึ่งห่างจากกองไฟจนมองไม่เห็น ตอนกลางคืน ช้างโทนตัวหนึ่งมาหักต้นไม้อยู่ใกล้ๆ แล้วดึงฟลายชีทของเขาขึ้น เขาจึงตกใจแล้วรีบวิ่งลงเนินมาหาคณะ แต่ช้างตัวนั้นตามลงมาด้วย โชคดีที่ครั้งนั้น มีพระธุดงค์ไปด้วย ท่านจึงเสกกำแพงขึ้นมา เห็นเป็นกำแพงดิน พอตอนเช้า ก็พบว่าของกินที่แขวนไว้ตามต้นไม้นอกกำแพง โดนช้างทำลายจนเละเทะหมด

ควันไฟของคนหลงป่า มองเห็นได้จาก ฮ.เพราะมีขนาดใหญ่พอ

กองไฟยังสามารถใช้ส่งสัญญาณให้เครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ที่มาค้นหาเจอได้ แม้จะอยู่ในป่าทึบ โดยก่อกองไฟขนาดใหญ่ (ถ้ากองเล็กควันจะไม่ลอยขึ้นไป และไม่มีควันพอที่จะมองเห็น) แล้วใส่ใบไม้สดลงไป จะทำให้เกิดควันจำนวนมากลอยขึ้นไป ถึงแม้จะมีลมพัดบ้าง แต่ก็ยังมีควันพอเป็นกลุ่มก้อนมีขนาดใหญ่พอให้เครื่องบินเห็นได้ เพราะสิ่งสำคัญที่จะทำให้เครื่องบินมองเห็นคือขนาด ดังตัวอย่างของชาวบ้านหลงป่าทุ่งแสลงหลวงเมื่อ พค.63 ถึงแม้จะถูกเดินปูพรมตามหา ตามด้วยใช้เครื่องบินตามหาตามลำห้วย จนแทบจะถอดใจแล้ว จนเช้าวันที่ 6 ภรรยาและชาวบ้านขึ้นเขาไปขอขมาเจ้าที่ พอตอนบ่ายเครื่องบินจึงเห็นควันไฟ คนที่หลงเล่าว่าไม่ได้ยินเสียงเครื่องบินจนกระทั่งวันนี้

แม้แต่ตอนกลางคืน คนที่อยู่สูงกว่า ก็สามารถจะมองเห็นไฟจากกองไฟหรือไฟฉายได้แต่ไกล ถึงแม้ว่าจะมีต้นไม้บังก็ตาม การก่อกองไฟไว้ตลอดคืนจึงสำคัญมากสำหรับคนที่มาตามหา เรื่องที่ผมเจอมากับตนเอง ขณะเดินป่าขึ้นไปเที่ยวภูสอยดาวตามลำพังคือ ผมเริ่มออกเดินช้ามากเกือบบ่าย 4 โมงเย็น พอเดินไปได้สักพัก ไปลื่นข้อเท้าพลิกอยู่ริมลำห้วยตรงทางขึ้นเขา ตอนนั้นเท้าบวมมากจนยืนไม่ได้ แถวนั้นไม่มีคน ผมจึงต้องใช้อิทธิฤทธิ์ช่วย เท้าที่บวมก็ยุบลง สามารถลุกขึ้นยืนและเดินต่อไปได้สบาย แต่ยังไม่หายสนิท ผมจึงค่อยๆเดินไป พอขึ้นไปถึงบนสันเขากลางทางก็มืดพอดี ผมจึงใช้ไฟฉายคาดหัวเดินต่อไป พอค่ำลง เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่อยู่บนยอดเขา ตรวจสอบกับลูกหาบแล้วว่ายังมีนักท่องเที่ยว ขึ้นมาไม่ถึงอีกคน จึงเดินไปดูที่หน้าผา ถึงแม้ว่าผมจะใช้ไฟฉาย led หรี่ๆพอมองเห็นทางได้ และ บนสันเขามีต้นไม้ปกคลุม เจ้าหน้าที่ป่าไม้ก็ยังมองเห็นแสงไฟฉายวับๆแวมๆ ที่ห่างไปหลายกิโลเมตร แล้วเดินลงเขาไปหาผมจนเจอได้

วัสดุที่ใช้ก่อไฟในป่าคือกิ่งไม้ เพราะ ในป่ามีกิ่งไม้มากมาย และ กิ่งไม้สามารถติดไฟได้นาน แต่คนที่ไม่รู้ธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ก่อไฟ  ก็จะก่อไฟติดยาก ธรรมชาติของวัสดุที่ใช้ก่อไฟ คือ
วิธีก่อไฟที่ง่ายที่สุด คือ หากิ่งไม้ตาย ขนาดเล็กที่สุด คือตรงปลายยอด จะมีขนาดเล็กกว่าใส้ดินสอ รวมกันให้ได้ขนาด 1 มือกำ ปลายด้านหนึ่งวางกับพื้น ส่วนปลายอีกด้านหนึ่งยกสูงจากพื้น โดยวางพาดไว้บนขอนไม้ (หรือกิ่งไม้ขนาดเล็กๆ รวมกันเป็นกำ แทนขอนไม้จะดีกว่า เพราะสามารถปรับความสูงได้) สังเกตุว่าจะมีช่องว่างตรงกลางด้านล่าง เป็นรูปสามเหลี่ยม ให้ใช้ไฟลนจากตรงนั้นขึ้นมา พยายามเรียงกิ่งไม้ให้มีความสูงพอที่กิ่งไม้ด้านล่าง จะช่วยเผากิ่งไม้ด้านบนได้  และ พยายามวางกิ่งไม้ให้ความยาวอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางลม โดยให้ปลายกิ่งไม้ฝั่งที่ยกขึ้นอยู่เหนือลม (คือเป็นจุดแรกที่โดนลม) และปลายฝั่งที่วางกับพื้นอยู่ใต้ลม เพื่อเวลาใช้ไฟลนตรงฝั่งที่ยกสูงแล้ว ลมจะได้พัดเปลวไฟ ไปโดนกิ่งไม้ส่วนที่อยู่ต่ำกว่า ถ้าปลายฝั่งที่ยกสูงโดนบังลมทางขอนไม้ที่นำมาเป็นฐานรอง สามารถดัดแปลงได้โดยเปลี่ยนขอนไม้เป็นคานไม้เล็กๆวางพาดบนปลายไม้ง่าม ที่ด้านล่างปักดิน เมื่อเรียงกิ่งไม้เข้าที่แล้ว จึงเริ่มจุดไฟ
ส่วนการเรียงไม้วิธีอื่นๆจะก่อไฟยากกว่านี้ เช่น ถ้าวางกิ่งไม้ทับเชื้อไฟ เชื้อไฟจะดับง่าย, ถ้ายกพื้นให้สูง โดยพาดปลายกิ่งไม้ทั้งสองฝั่งไว้บนขอนไม้ กิ่งไม้อาจจะอยู่สูงเกินไปจนเชื้อไฟเผาไปไม่ถึง หรืออยู่ต่ำเกินไปจนขยับเชื้อไฟไม่ได้ ถ้าขยับเชื้อไฟ กิ่งไม้ที่เรียงอยู่ก็จะล้ม วิธีวางกิ่งไม้ที่แย่ที่สุดคือ วางรูปกรวยคว่ำ เพราะล้มง่าย และวางกิ่งไม้ซ้อนกันได้น้อย ทำให้ไฟลามยาก จะเห็นว่า แค่วางไม้ผิดอย่างเดียว ก็สามารถเปลี่ยนจากก่อไฟติดง่าย เป็นก่อไฟไม่ติด


กิ่งไม้เรียงกันเป็นรูปกรวยคว่ำ เหมาะสำหรับเติมกองไฟ แต่ไม่เหมาะสำหรับเริ่มก่อไฟ
พอลนไฟจนได้ยินเสียงไม้แตก นั่นคือกิ่งไม้ติดไฟแล้ว สังเกตุว่าจุดไหนไฟทะลุขึ้นมา จึงค่อยเติมกิ่งไม้ทับลงไปตรงจุดนั้น นี่คือเหตุผลที่ ไม่ควรเรียงกิ่งไม้จำนวนมากไว้ล่วงหน้า เพราะ เราไม่รู้ว่าไฟจะทะลุขึ้นมาตรงไหน หรือ ลมอาจจะเปลี่ยนทิศกะทันหัน ทำให้กิ่งไม้ที่สุมไว้ล่วงหน้าในแนวอื่นไม่โดนเผา จำเป็นต้องขยับแนวกิ่งไม้ นี่คือเหตุผลที่ ควรเริ่มต้นก่อไฟด้วยกิ่งไม้เพียงกำมือเดียว

การเติมกิ่งไม้ ใช้สองมือรวบกิ่งไม้มาเติม จะช่วยให้ไฟลามได้ง่ายกว่าการเติมทีละน้อย ถ้ากองไฟยังกองเล็กอยู่ อย่าพยายามแตะต้องกองไฟเดิม เพราะถ้าเชื้อไฟแยกกัน หรือ กิ่งไม้พลิกนิดเดียว ไฟจะดับได้ง่าย โดนฝนก็ดับ ควรรอให้ไฟแรงก่อน จะใส่กิ่งไม้ลงไปเพิ่มระเนระนาดอย่างไรก็ได้ จะเขี่ยยังไงก็ดับยาก ทิ้งไว้ตากฝนก็ไม่ดับ แต่ถ้าวางกิ่งไม้จำนวนมากทับในแนวเดียวกัน กองไม้จะไม่สูง แต่จะล้ม แก้ไขโดยวางหันปลายเข้าหากันเป็นรูปกรวยคว่ำ ดังนั้น เวลาหักกิ่งไม้ ถ้าเป็นกิ่งไม้ขนาดเล็กที่ใช้เริ่มก่อไฟ อาจไม่จำเป็นต้องใช้ยาวมาก แค่คืบกว่าๆก็เริ่มใช้ได้แล้ว แต่ถ้ากิ่งไม้ขนาดใหญ่ขึ้น ควรจะยาวขึ้น เพราะ เมื่อสุมกิ่งไม้มากขึ้น กิ่งไม้จะกองสูงขึ้น

การเติมกิ่งไม้ขนาดเหมาะสม ลงไปเพิ่มเรื่อยๆ ตรงจุดที่ไฟลุก ถึงแม้จะเป็นไม้เปียก ก็รับประกันได้ว่าไฟจะไม่ดับ  คนส่วนใหญ่ที่ไม่ชำนาญในการก่อกองไฟ พอเห็นไฟเริ่มลุก ก็จะรีบใส่กิ่งไม้ใหญ่ขนาดใหญ่เท่าแขนหรือขาลงไป เพราะเคยเห็นภาพของกองไฟที่ใหม้หมดแล้ว เหลือแต่ขอนไม้ขนาดใหญ่ สุดท้ายไม้ใหญ่ก็ไม่ทันติดไฟ แล้วไฟก็ดับ ที่ถูกต้องควรค่อยๆเพิ่มขนาดกิ่งไม้ขึ้นทีละน้อย โดยสังเกตุว่ากิ่งไม้ขนาดเดิมที่เติมลงไป สามารถติดไฟได้ จึงค่อยเพิ่มขนาดกิ่งไม้ขึ้น ส่วนกิ่งไม้ขนาดใหญ่เท่าแขนหรือขา ควรรอจนกระทั่งกองไฟมีขนาดใหญ่พอ ที่จะติดอยู่ได้นานเป็นชั่วโมง ซึ่งการจะให้ไฟคงอยู่ได้นานเป็นชั่วโมง ต้องเติมกิ่งไม้อย่างน้อย 4-5 กำ โดยใช้สองมือกำ ไล่จากเล็กไปใหญ่ ถึงแม้ว่าการหาและการเตรียมกิ่งไม้ขนาดเล็กจำนวนมาก จะต้องใช้เวลานานและเหนื่อยมาก แต่เวลาที่ไฟเริ่มลุกใหม่ๆ จะใช้กิ่งไม้เปลืองมาก จนกิ่งไม้ที่หามากองไว้ หมดไปอย่างรวดเร็ว ถ้ากิ่งไม้ไม่พอ การหากิ่งไม้ขณะที่ไฟกำลังขยายตัว จะไม่ทันเสียแล้ว เพราะไฟกองเล็กจะดับง่ายมาก

กิ่งไม้สด ใช้เติมกองไฟที่ลุกอยู่ไม่ได้ผล เพราะตัวมันเองไม่ติดไฟ แม้แต่ไม้สดที่มีน้ำมันก็ไม่ติดไฟ ถ้าโดนไฟเผาก็จะไหม้ เปลี่ยนจากสีดำเป็นขี้เถ้า เหมือนเวลาเผาผักผลไม้ แต่ไม่มีไฟลุก ถ้าเผาไฟไปนานๆอาจจะมีไฟลุก แต่ลุกเฉพาะตรงส่วนที่โดนเผา พอนำออกมาจากกองไฟก็จะดับ ไม่ติดไฟต่อไปเหมือนไม้แห้ง  ถ้าไม่มีไม้จริงๆ ใช้ไม้เปียกมาเผาไฟให้แห้งยังดีกว่า แต่ไม่ควรใส่ไม้สดหรือไม้เปียกลงในกองไฟโดยตรง เพราะจะระเบิด ก่อนจะใส่ไม้เปียก ควรนำมาผิงไฟให้แห้งก่อน ถ้าจะทำให้ไม้สดติดไฟได้ ต้องนำมาตากแดดให้แห้ง หรือ นำมาผิงไฟสักครึ่งวันจนแห้ง จนสังเกตุว่าใบไม้เริ่มเหี่ยว จึงจะติดไฟ กิ่งไม้สดเหมาะสำหรับทำเครื่องมือ เช่น ไม้ขุดดิน หรือ ทำคบไฟ เพราะเหนียว และไม่ติดไฟ ส่วนกิ่งไม้แห้งจะเปราะและติดไฟ จึงใช้ทำเครื่องมือไม่ได้

ไม้ที่ใส่ลงในกองไฟ ถึงแม้จะติดไฟแค่บางส่วน ก็ไม่ควรใช้มือจับ เพราะอาจพลาดไปโดนถ่านที่ร้อนลวกมือได้ ถึงแม้จะจับตรงจุดที่ยังไม่ใหม้ไฟ แต่จุดนั้นอาจร้อนมาก ควรหากิ่งไม้ตรงๆ 2 ท่อนมาทำเป็นตะเกียบคีบ หรือถ้าเป็นไม้ท่อนใหญ่ ใช้กิ่งไม้มีง่ามรองด้านล่างก็จะยกขึ้นได้



กิ่งไม้เรียงขนานกับพื้น
เหมาะสำหรับปูพื้น
ช่วยให้ไฟติดนานขึ้น
การเริ่มก่อไฟให้ติดทุกครั้ง ไม่มีพลาด นอกจากจะยกกิ่งไม้ข้างหนึ่งให้สูงจากพื้น และ เติมกิ่งไม้ลงไปเพิ่ม ตรงจุดที่ไฟทะลุขึ้นมาแล้ว ยังควรมีกิ่งไม้ปูพื้น โดยหากิ่งไม้ที่ตายแล้ว ท่อนตรงๆ หลายๆท่อน มาวางเรียงกัน มีประโยชน์หลายอย่าง นอกจากจะเป็นด่านกั้นกองไฟจากพื้นเปียกๆแล้ว เมื่อเริ่มก่อไฟแล้วกิ่งไม้ด้านบนไฟดับเพราะใส่ไม้น้อยเกินไป กิ่งไม้ด้านล่างมักจะติดไฟต่อไปได้อีกเป็นเวลานาน กิ่งไม้ที่ปูพื้นจะมีขนาดและจำนวนเท่าใด ขึ้นอยู่กับว่าเราต้องการก่อกองไฟอยู่นานเท่าใด ถ้าก่อไฟไม่นาน อาจใช้กิ่งไม้เล็กๆปูพื้นแค่ชั้นเดียว ใช้กิ่งไม้ขนาดหัวนิ้วโป้งก็พอ (กิ่งไม้เล็กกว่านี้จะติดไฟได้ไม่นาน กิ่งไม้ใหญ่เกินไปจะติดไฟยาก) ถ้าต้องการให้ไฟติดนานเป็นชั่วโมง อาจใช้กิ่งไม้มาปูซ้อนกันหลายๆชั้น แต่ละชั้นวางตั้งฉากกัน ชั้นล่างใช้ไม้ขนาดใหญ่ที่สุด ชั้นต่อมาจึงมีขนาดเล็กลง พอจุดไฟไว้ด้านบนสุด ไฟจะค่อยๆไหม้ลุกลามไปยังไม้ชั้นล่าง กองไฟที่ไม่มีไม้ปูพื้นจะต้องตื่นมาเติมฟืนทุกชั่วโมง เพื่อไม่ให้ไฟดับ ถ้าต้องการให้ไฟติดตลอดทั้งคืน ให้หาไม่ปูพื้นขนาดใหญ่ เท่าแขนหรือเท่าขา ถึงแม้ว่าไฟจะไม่ลุกโชน แต่ก็ยังมีควันไฟใช้ไล่สัตว์ป่าได้จนถึงเช้า

เวลาไฟดับ เนื่องจากกิ่งไม้ไหม้หมด สังเกตุว่าเปลวไฟหมด ถ้าต้องการให้ไฟลุกขึ้นมาใหม่ ให้สังเกตุจากลักษณะของกองไฟ ถ้ากองไฟกองเล็กมาก จะเติมไม้ลงไปหรือเป่ายังไงก็มักจะไม่ติดไฟ แต่สำหรับกองไฟกองใหญ่ ถ้าตอนกลางคืนยังเห็นถ่านเป็นสีแดง หรือ ถ้าตอนกลางวันยังเห็นควัน หรือ ลองใช้มืออิงดูแล้วยังร้อนอยู่ แค่ใส่กิ่งไม้ขนาดเล็กๆไม่เกินปากกา ลงไปเพิ่มแล้วรอสักพัก ไฟจะลุกขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าทิ้งไว้นานจนถ่านเปลี่ยนเป็นสีขาว ไม่มีควัน และไม่มีความร้อนแล้ว จะใส่กิ่งไม้ลงไปยังไงก็ไม่ได้ผล แต่ถ้ายังมีขอนไม้ที่ใหม้เหลือแต่ปลายแยกออกจากกัน และปลายยังร้อนอยู่ แสดงว่าปลายขอนไม้ยังมีไฟอยู่ ให้นำปลายที่ยังมีไฟมาชนกัน แล้วเติมกิ่งไม้เล็กๆลงไปเพิ่มบนจุดที่ไฟต่อกัน แล้วรอสักพัก พอสังเกตุว่าควันจะมากขึ้น แสดงว่าไฟเริ่มลุกลาม ไม่นานก็จะมีไฟลุกขึ้นมาใหม่ ถ้าต้องการให้ไฟลุกเร็ว ก็เป่าหลายๆครั้ง แต่การเป่าจะทำให้หน้ามืด จึงควรเปลี่ยนมาใช้พัด โดยตัดกิ่งไม้สดที่ตรงปลายมีใบไม้หลายๆใบเป็นพุ่มมาใช้แทนพัด

เวลาอยู่ในป่าที่ใดที่หนึ่งเป็นเวลานาน จะเริ่มหากิ่งไม้ขนาดเล็กๆมาก่อไฟได้ยากขึ้น จึงต้องเปลี่ยนมาผ่าไม้ใหญ่ เรียกว่าผ่าฟืน โดยเลือกกิ่งไม้ขนาดกลาง คือพอดีมือกำ เพราะกิ่งไม้เล็กเกินไปจะผ่ายาก กิ่งไม้ใหญ่เกินไปก็ผ่ายาก วางฟืนตั้งฉากกับพื้น แล้วใช้มือหนึ่งเหวี่ยงมีด ผ่าออกมาเป็นแท่งเล็กๆ นำมาใช้ก่อไฟแทนกิ่งไม้ แต่วิธีนี้จะยากตรงที่ทำให้ฟืนอยู่นิ่งกับที่ ถ้าใช้มืออีกข้างจับไว้ มีดอาจจะพลาดมาโดนมือได้ มีวิธีแก้ไขคือ หากิ่งไม้อีกอัน มากดไว้ ให้กิ่งไม้ตั้งฉากกับฟืน ปลายด้านหนึ่งแตะอยู่บนฟืนที่จะผ่า เว้นที่ว่างสำหรับจุดที่จะฟัน  วิธีอื่นคือ ใช้มีดเป็นลิ่ม วิธีนี้สามารถใช้ได้ตั้งแต่ขวานจนถึงมีดเล็กเท่ามีดทำครัว แต่มีดเล็กต้องมีความหนาพอสมควร วางคมมีดลงบนไม้ที่ต้องการผ่า แล้วหาท่อนไม้ขนาดใหญ่พอมือกำและจับยกได้ ตีลงไปตรงสันมีด มีดจะทะลุเนื้อไม้อย่างรวดเร็ว จะใช้ก้อนหินตีมีดก็ได้ แต่หินจะแข็งเกินไปทำให้มีดสึกได้ พอมีดจมลงไปในเนื้อไม้แล้ว จึงค่อยๆตอกตรงปลายมีดที่โผล่ออกมาด้านข้าง มีดจะจมลึกลงไปเรื่อยๆ ถ้าผ่าไม้ไผ่ซึ่งแตกง่ายอยู่แล้ว จะใช้มือดันมีดและตอกมีดเลยก็ได้  ถ้าเป็นไม้ท่อนเล็ก ไม่ต้องตอกจนถึงพื้น แค่ตอกลงไปพอให้ไม้เริ่มแตก แล้วบิดมีดให้รอยแยกกว้างขึ้น ส่วนที่เหลือจะแตกออก โดยวิธีนี้ต้องระวังมีดพังเวลาบิด แต่ถ้าใช้มีดสั้น ผ่าไม้ใหญ่จะไม่มีปลายโผล่ออกมา ต้องใช้ไม้อีกแท่งทำเป็นลิ่ม ยาวเกือบเท่าไม้ที่ต้องการผ่า แล้วตอกทับลงไปบนสันมีดอีกที ถ้ามีดติดอยู่ในเนื้อไม้ ให้หงายมีดขึ้น แล้วกระแทกไม้ลงกับพื้น สวนกับทิศทางที่ใช้ผ่าเดิม เพื่อให้เกิดแรงดึงในทิศทางตรงกันข้าม มีดจะหลุดออกมา

หลังฝนตก ทุกอย่างจะเปียกไปหมด แม้แต่ตามที่โล่ง ที่มีแสงแดดส่องถึง เช่น ตามก้อนหินริมน้ำตก ก็ยังหาใบไม้แห้งๆไม่ได้ เชื้อไฟที่พกติดตัวมาจากบ้าน เป็นทางเลือกที่สะดวกรวดเร็วที่สุดในเวลานั้น คนที่เคยก่อไฟในป่าดิบชื้นจะรู้ว่า เชื้อไฟที่พกติดตัวจำเป็นพอๆกับไฟแช็ค ถึงแม้ว่าเชื้อไฟที่ดีที่สุดสำหรับพกติดตัว คือ สำลี เพราะ เบาที่สุด และ ติดไฟง่ายที่สุด แค่เจอประกายไฟจากไฟแช็คแบบล้อหมุน ที่เปิดฝาครอบออก ก็ติดไฟได้ แต่ข้อเสียของสำลีคือ ติดไฟอยู่ได้ไม่นาน และ ดูดความชื้น คุณสมบัติของเชื้อไฟที่พกติดตัว นอกจากจะต้องน้ำหนักเบา และติดไฟง่าย แล้วยังต้องติดไฟอยู่นานพอที่จะลนกิ่งไม้เปียกขนาดเล็ก หรือกิ่งไม้แห้งขนาดใหญ่ ให้ติดไฟได้ ซึ่งได้แก่พวกที่มีน้ำมัน เช่น

ใช้คมมีดเหลาไม้เป็นเส้น
บางๆเล็กๆ ใช้ทำเชื้อไฟ
เชื้อไฟที่วางกับพื้น ส่วนที่ติดกับพื้นจะเผาไหม้ไม่หมด เพราะอากาศเข้าไปไม่ถึง โดยเฉพาะพวกเชื้อไฟที่แบนๆ อย่างยางในรถจักรยาน จะเหลือส่วนที่ยังไม่เผาไหม้ค่อนข้างมาก แก้ไขโดย เวลาเชื้อไฟไหม้ใกล้หมด ให้พลิกเชื้อไฟด้านล่างขึ้นมาไว้ด้านบน ไฟจะลุกเพิ่มขึ้นได้อีก

เวลาทุกอย่างเปียกหมด และไม่ได้พกเชื้อไฟไปด้วย การเก็บเชื้อไฟระหว่างทางจะช่วยได้ ทางเลือกสุดท้าย คือ นำกิ่งไม้มาเหลาเป็นเชื้อไฟ (วิธีนี้เป็นทางเลือกสุดท้าย ก็เพราะยุ่งยากเสียเวลา ถ้าไม่จำเป็นจึงไม่ควรทำ และถ้าวิธีนี้ยังใช้ไม่ได้อีก ก็ไม่มีวิธีอื่นแล้ว) กิ่งไม้ตามธรรมชาติจะมีเนื้อแน่น ติดไฟยาก จึงต้องนำมาย่อยก่อน พอแบ่งเป็นเส้นเล็กๆ จะเพิ่มพื้นที่ผิว ทำให้ติดไฟง่าย โดยใช้มีดเหลาออกมาเป็นพุ่ม แต่วิธีนี้จะใช้ได้เฉพาะกับไม้เนื้ออ่อน อย่างเช่นไม้ไผ่ และ ไม้ที่ด้านในแห้ง เช่น กิ่งไม้ที่ตกตากแดดอยู่ตามก้อนหินริมน้ำตก แต่ไม้ตายในป่าดิบชื้น มักจะเป็นไม้เนื้อแข็ง และ ด้านในมักจะเปียก จึงนำมาใช้ไม่ได้ ไม้เนื้อแข็งไม่ว่าจะเหลาให้เล็กเท่าใดก็ตาม จะแตกออกเป็นชิ้นๆ พอนำมารวมกันแล้ว จะไม่มีที่ว่างพอให้อากาศเข้าไปช่วยให้ไฟลุก สังเกตุว่าไม้ที่ไฟจะลุกลามได้ดี เมื่อเหลาออกมาแล้วจะได้เป็นเส้นงอๆ ฟูๆ เมื่อได้ไม้ที่จะทำเชื้อไฟแล้ว ไม่ควรเหลาจากเปลือกนอก เพราะเปลือกมักจะลื่นและเปียก ควรใช้ไม้แห้งด้านในแทน ไม้ที่นำมาขูดควรยาวประมาณ 1 ศอก ขูดแต่ละครั้งก็จะได้เศษไม้ที่มีความยาวมากๆ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาขูดหลายเที่ยว เมื่อได้ไม้แล้ว ให้นำมาผ่าออกเป็นสี่ส่วน เพื่อให้มีเหลี่ยมข้างใน จะใช้มีดเหลาตรงเหลี่ยมได้ง่ายกว่า แล้วใช้มีดเล็กเหลาเนื้อไม้ด้านใน ออกมาเป็นเส้นเล็กๆ บางๆ ถ้าใช้มีดใหญ่จะต้องถือมีดสองมือหัวท้าย ปักไม้ข้างหนึ่งลงดิน ส่วนอีกข้างพิงไว้กับไหล่  ลองเหลาออกมาก้อนหนึ่งก่อน แล้วลองลนไฟดู ถ้าไฟลุกอย่างรวดเร็ว ถือว่าใช้ได้ ถ้าไม้ยังไม่ติดไฟ ต้องเหลาให้เส้นบางลงไปอีก แต่ไม่ต้องบางเกินไปเพราะจะไหม้เร็ว ดับเร็ว  เหลาให้เหลือปลายติดแกนไว้ มีข้อดีคือ เคลื่อนย้ายได้ง่าย และเผาไหม้ได้ดีกว่าการวางเศษไม้กองทับกันไว้ เพราะ เศษไม้ที่เหลาออกมาจะงอๆ ทำให้มีที่ว่างมากขึ้น เมื่อได้เศษไม้จำนวนมากพอแล้ว จะตัดทั้งยวงออกจากแกนก็ได้ แต่การเหลาให้ติดแกนจะใช้เวลามาก ถ้าเร่งรีบ ควรเหลาออกมาเป็นชิ้นๆแยกกัน จะเร็วกว่า การเหลาไม้เร็วๆ มีโอกาสที่คมมีดจะไปกระแทกกับพื้น แก้ไขโดยหาขอนไม้มารองคมมีด หรือ ยกปลายกิ่งไม้ให้ลอยสูงจากพื้น แล้วเหลาไม้ขนานไปกับพื้น เศษไม้ที่หลุดออกมา ให้หาวัสดุที่เป็นแผ่นและไม่เปียกมารอง เช่น ใบไม้ขนาดใหญ่ หรือ ถุงพลาสติกที่เหลือจากการใส่อาหาร

การหากิ่งไม้ในป่าดิบชื้น กิ่งไม้ที่แห้งที่สุด คือ กิ่งไม้ที่ยังตกไม่ถึงพื้นดิน จะเป็นกิ่งไม้ที่หลุดจากต้นแล้ว หรือ กิ่งไม้ที่แห้งตายคาต้นก็ได้  สำคัญที่ว่า ลองหักดูแล้วขาดทันที แตกดังเปรี๊ยะ ข้างในเป็นสีขาว (ไม้เปียกจะมีสีน้ำตาลเข้มออกดำ) ไม่มีสีเขียวปน ลองจับดูเปลือกอาจจะชื้นบ้าง แต่ไม่ถึงกับเปียก แสดงว่าแห้งใช้ได้ แต่ถ้าหักไม่ขาด ยังเหนียวๆ แสดงว่ายังสดหรือยังเปียก ดมดูไม้แห้งจะไม่มีกลิ่นไม้สด ส่วนไม้แห้งที่เปียกอาจมีกลิ่นชื้นๆ จะติดไฟยาก ต้องใช้เชื้อไฟช่วย กิ่งไม้แห้ง ถ้าลองลนด้วยไฟแช็คดู แล้วดึงไฟแช็คออก กิ่งไม้จะยังมีไฟลุกอยู่ ถึงแม้ว่าไฟจะลุกต่อไปอีกแค่ไม่กี่วินาทีก็ตาม แต่ถ้าไม้เปียก เมื่อลนด้วยไฟแช็ค ก็จะไหม้เฉพาะส่วนที่โดนไฟเท่านั้น พอดึงไฟแช็คออก กิ่งไม้จะไม่มีไฟลุก ท่อนไม้ที่วางกับก้อนหิน ข้างในมักจะแห้ง แต่ถ้าวางกับพื้นดิน ข้างในมักจะเปียก เพราะดูดความชื้นจากพื้นเข้าไปถึงข้างใน ถ้าอยากรู้ว่าข้างในแห้งหรือเปียก ต้องลองใช้มีดเฉาะดู ถ้าเจอกิ่งไม้ลอยน้ำแสดงว่าด้านในแห้ง ยกเว้นไม้ที่มีน้ำมันมากอาจจะจมน้ำ

ควรหาไม้ให้เพียงพอที่จะจุดไฟได้ทั้งคืน เผื่อกลางคืนอากาศหนาวจัดจนทนไม่ไหว จะได้ตื่นขึ้นมาผิงไฟได้ การก่อกองไฟ ต้องอาศัยทำบ่อยๆจะรู้ว่า ต้องใช้กิ่งไม้จำนวนเท่าใด ไฟถึงจะอยู่ได้นานเท่าใด ถ้าประมาณไม่ถูก ให้เก็บไม้มาจนคิดว่าพอแล้ว แล้วเก็บมาเพิ่มอีกเท่าตัว

ขั้นตอนการก่อไฟที่เสียเวลามากที่สุด คือ การหากิ่งไม้ และ การหักกิ่งไม้ให้เป็นท่อนตรงๆ ขั้นตอนเหล่านี้ สามารถลดเวลาลงได้ โดยพยายามหากิ่งไม้ตายที่แตกกิ่งก้านสาขามากๆ ลากมาแค่กิ่งเดียวก็พอที่จะใช้เริ่มก่อไฟได้หลายชั่วโมง ไม่ควรเดินเก็บกิ่งเล็กกิ่งน้อยทีละกิ่ง จะเสียเวลา  แต่ถ้าลากมาไม่ได้ ควรจะหักเป็นท่อนตรงๆ โดยหักตรงข้อต่อที่งอๆ อย่าหักสั้นเกินไป เพราะ ไม้ยาวจะเคลื่อนย้ายสะดวกกว่าไม้สั้น ไม้ที่หักได้ นำมารวมกันเป็นกำแล้วใช้เชือกมัดไว้ ก็จะหิ้วได้ง่าย เวลาหาไม้จึงควรพกเชือกติดตัวไปด้วย จะได้ไม่ต้องเสียเวลาหาเชือกจากไม้สดแถวนั้น กิ่งไม้ที่หามาได้ สามารถวางกับพื้นและตากฝนได้ แต่ถ้าต้องการให้กิ่งไม้แห้ง ควรจะวางไว้ในร่ม และ วางให้สูงจากพื้น เช่น เสียบไว้ตามซอกต้นไม้ หรือ หาไม้มาปูพื้น หรือ ใช้ท่อนไม้ 2 ท่อน มาวางบนพื้น เพื่อทำเป็นคาน พอถึงเวลาก่อไฟ การหักกิ่งไม้เล็กๆที่มีขนาดเท่ากัน ก็สามารถประหยัดเวลาได้ ด้วยการรวมไว้ด้วยกันเป็นกำ แล้วหักทีเดียวทั้งกำ ถ้านั่งหักทีละกิ่งต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงเลยทีเดียว

ไฟแช็คล้อ
หมุน ใช้บน
ภูเขาสูงได้

ไฟแช็คแบ่งตามที่จุดได้ 2 แบบคือ จุดด้วยปุ่มกด ที่เรียกว่า piezo electric และ จุดด้วยล้อหมุน ขูดถ่าน flint ถึงแม้ว่าแบบกดปุ่มจะสะดวก เพราะกดปุ่มเดียวจุดได้เลย แต่เวลาอยู่บนภูเขาสูงเกิน 1600 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะเริ่มจุดไม่ติด เพราะที่สูงมีออกซิเจนไม่พอผสมในห้องเผาใหม้ ถ้าหรี่แก๊สลงอาจจะช่วยได้ ส่วนไฟแช็คแบบล้อหมุน ให้เกิดประกายไฟ  ถึงแม้จะจุดยากกว่า แต่ใช้บนภูเขาสูงระดับ 8000 เมตรได้ ไฟแช็คที่เชื่อใจได้มากที่สุด ได้แก่ แบบใช้แล้วทิ้ง ราคาถูกๆ ทำจากพลาสติกใส ใช้ล้อหมุน ด้านในบรรจุก๊าซ butane ส่วนไฟแช็คแบบเติมแก๊ส จะมีปัญหาตอนเติมแก๊ส บางยี่ห้อต้องใช้แก๊สที่กลั่น 3-5 รอบ มิฉะนั้นจะทำให้สิ่งสกปรกเข้าไปอุดตันด้านใน ทำให้หัวแก๊สตัน จุดไม่ติดหรือไฟอ่อน ยิ่งพวกไฟแช็คเติมแก๊ส ราคาถูกๆของจีน จะพังง่าย บ้างก็เติมแก๊สไม่เข้า ถ้าไฟแช็คเติมแก๊ส ไม่มีฝาปิดรูเติมแก๊ส ฝุ่นก็จะเข้าไปตรงนั้น ทำให้ไฟแช็คตันได้เช่นกัน ถ้าต้องการใช้ไฟแช็คเติมแก๊ส ควรใช้แบบที่เปลี่ยนใส้ได้ โดยใช้ใส้ไฟแช็คล้อหมุนจะหาเปลี่ยนง่าย อย่างเช่นไฟแช็คยี่ห้อ iroda มีขายที่ร้านโชคชัย แถวบ้านหม้อ ส่วนไฟแช็คแบบเติมน้ำมันอย่างยี่ห้อ zippo จะหนัก และน้ำมันที่เติมไว้จะระเหยไปหมดใน 2-3 วัน ต้องพกน้ำมันติดตัวไปด้วย คนที่ต้องการใช้ไฟแช็คแบบเติมน้ำมัน เวลาคับขัน มักจะพบว่าจุดไม่ติดเพราะไม่มีน้ำมัน ไฟแช็คแบบเติมน้ำมัน มีข้อดีเหนือกว่าแบบ butane ตรงที่จุดได้ที่อากาศหนาวจัดต่ำกว่าจุดเยือกแข็งได้ เพราะเมื่อใกล้ถึงจุดเยือกแข็ง ไฟแช็คที่ใช้แก๊ส butane จะเริ่มจุดไม่ติด ต้องใส่ไว้ใต้เสื้อให้ได้รับความร้อนจากร่างกาย 2-3 นาทีจะช่วยได้ 

ไฟแช็คที่ให้ไฟแรงกับไฟอ่อน ให้ผลแตกต่างกันระหว่างก่อไฟสำเร็จกับล้มเหลวเลยทีเดียว ไฟแช็คที่ไฟอ่อน จะมีเปลวไฟน้อย จึงจุดเชื้อไฟได้จำนวนน้อย ถ้าไม่ใช้เชื้อไฟที่ลุกลามง่ายจริงๆแล้ว ไฟจะดับง่าย ต้องจุดใหม่หลายเที่ยว ก็ยังไม่ติด แถมยังทำให้นิ้วพอง เพราะต้องจับที่จุดไฟแช็คที่โดนไฟจนร้อนบ่อยๆ ในขณะที่ไฟแช็คที่มีเปลวไฟสูงๆ เวลาจุดเชื้อไฟ สามารถพ่นไฟเข้าไปลึก จึงช่วยให้จุดเชื้อไฟได้จำนวนมากขึ้น จุดทีเดียวก็สำเร็จ จากที่ผมทดลองไฟแช็คมาหลายยี่ห้อ ไฟแช็คล้อหมุนยี่ห้อ TAIYO รุ่นที่ใส่แก๊ส 2 ช่อง จะเชื่อใจได้มากที่สุด เวลาที่ไม่มีลม จะให้เปลวไฟสูงที่สุดถึง 5-7 ซม. ถึงแม้ว่าใช้จนแก๊สใกล้หมด ก็ยังให้เปลวไฟสูงเท่าเดิม ส่วนรุ่นที่มีช่องใส่แก๊ส 3 ช่องยังไม่ค่อยดี เพราะเวลาแก๊สใกล้หมด แก๊สจะไหลไปอยู่ช่องข้างๆ ทำให้ไฟอ่อน ส่วนยี่ห้ออื่นๆหลายยี่ห้อ เชื่อใจไม่ได้ บางยี่ห้อจุดใหม่ๆอาจให้เปลวไฟสูง แต่ใช้ไปได้สักพัก เปลวไฟเริ่มต่ำลง พอเอียงแล้วจุดไม่ติดก็มี ยกเว้นยี่ห้อ Bic พอใช้ได้ ถึงแม้จะปรับความแรงของไฟไม่ได้ และให้ไฟไม่แรงมากนัก แต่มีผู้ทดลองใช้บนภูเขาสูงทั่วโลก มาแล้วได้ผลว่า เชื่อถือได้

ปัญหาของไฟแช็ค คือ น้ำ และ ลม ถ้าไฟแช็คตกน้ำ (อาจลื่นล้มไฟแช็คหลุดมือ หรือเผลอวางตากฝนไว้) แล้วจะจุดไฟไม่ติด ต้องเช็ดให้แห้ง หรือ ทิ้งไว้ให้แห้งหลายชั่วโมง จึงจะใช้ได้ใหม่ แก้ไขโดยใส่ไว้ในถุงพลาสติก และ พกไฟแช็คสำรองไปด้วย ส่วนปัญหาเรื่องลมคือ ที่โล่งในป่ามักจะมีลมพัดเอื่อยๆ ถ้าไฟแช็คเจอลมก็จะแผ่วหรือดับ ต้องใช้ไฟแช็คที่ออกแบบมาให้ต้านลม เช่นแบบไฟฟู่ที่เรียกว่า butane torch จะสู้ลมอ่อนๆได้ แต่ถ้าลมแรงมากก็จะดับเหมือนกัน ปัญหาเรื่องลมแก้ไขโดยหาที่บังลมขนาดใหญ่ เช่น หลังพุ่มไม้ ตามปกติที่โล่งในป่าหรือริมลำธารจะมีลมอ่อนๆ ไฟแช็คแบบไฟฟู่ จะดีกว่าแบบเก่าที่ให้เปลวไฟสีน้ำเงินเหลืองปลิวไปตามลม เพราะนอกจากจะกันลมได้บ้างแล้ว ยังให้ไฟตรงจุด ทำให้จุดง่ายกว่า ส่วนไม้ขีดไฟธรรมดา ถ้าชื้นจะจุดไม่ติด จึงมีผู้นิยมใช้แท่งเหล็กจุดไฟ ข้อดีคือ ใช้ได้ทุกสภาพอากาศ แม้แต่เวลาเปียก หรืออยู่บนภูเขาสูงที่มีออกซิเจนเบาบาง


แท่งจุดไฟแบบ ferrocerium (บน) และ magnesium (ล่าง) ใช้ได้ทุกสภาพอากาศ ช่วยให้ชีวิตง่ายขึ้นเวลาไม่มีไฟแช็ค ไม่ต้องเสียเวลาปั่นไม้สีกันเพื่อจุดไฟ
โลหะจุดไฟ เป็นแท่งโลหะที่ไม่ติดไฟ แต่สามารถติดไฟได้เมื่อขูดออกมา มี 2 ชนิด
จากที่ผมเคยใช้มาพบว่า การพกแท่งเฟอโรอย่างเดียวเข้าป่า เพียงพอแล้วที่จะใช้เป็นไฟสำรอง เพราะใช้เฉพาะเวลาจำเป็นจริงๆ แท่งของจีนเหมาะสมที่สุด เพราะราคาถูกและอ่อนขูดง่าย เวลาจำเป็นสามารถขูดออกมาเป็นเชื้อไฟแทนแท่งแมกนีเซียมได้ ส่วนแท่งแมกนีเซียม นอกจากจะขูดลำบากแล้ว ยังทำให้มีอุปกรณ์มากชิ้นนเกะกะและหนักขึ้น หากพกติดตัวจะมีเหลี่ยมคมเวลาล้มจะบาดผิวหนังได้

ถ้าเป็นเชื้อไฟที่เปื้อนง่าย เพราะมีน้ำมันปนอยู่ เช่น สำลีชุบปิโตรเลี่ยมเจลลี่ ถ้าขูดแบบไถลไปข้างหน้า ตัวขูดจะเปื้อนน้ำมันได้ง่าย ต้องตวัดมีดขึ้นก่อนถึงปลาย หรือเปลี่ยนมาใช้วิธีตรงกันข้าม คือถือตัวขูดลอยไว้นิ่งๆ แล้วดึงเหล็กจุดไฟถอยหลัง แต่เนื่องจากวิธีนี้จะไม่ได้ลูกไฟขนาดใหญ่ จึงเหมาะกับเชื้อไฟที่ติดไฟง่ายเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเป็นเชื้อไฟที่ติดไฟยาก เช่น กระดาษเขียนหนังสือ หรือ แม้แต่ยางในรถจักรยาน ก็สามารถใช้เหล็กจุดไฟ จุดติดได้ แต่ต้องทำให้เกิดเปลวไฟบนผิววัสดุ โดยเริ่มจากขูดแบบไม่ให้มีประกายไฟ เพื่อให้ได้ผงโลหะจำนวนหนึ่ง หลุดร่วงลงมากองไว้ที่พื้น หากระดาษหรือใบไม้มารอง เมื่อได้มากพอแล้วจึงเขี่ยมากองรวมกันบนวัสดุที่ต้องการจุด (ถ้าผงโลหะไม่รวมกัน จะไม่เกิดเปลวไฟ) แล้วจึงขูดรอบสุดท้าย ให้เกิดประกายไฟเพียงเล็กน้อย ไปจุดผงโลหะที่กองไว้ จะมีเปลวไฟลุกขึ้นมา ยิ่งมีผงโลหะรวมกันมาก จะยิ่งมีเปลวไฟมาก ยิ่งเป็นวัสดุที่ติดไฟยากขึ้น ยิ่งต้องใช้ผงโลหะจำนวนมากขึ้น ยิ่งขูดแรงขึ้น ยิ่งได้ผงโลหะขนาดใหญ่ขึ้น จะยิ่งมีเปลวไฟมากขึ้น  วิธีขูดแบบไม่ให้มีประกายไฟคือ ควบคุมความเร็วของใบมีดให้ช้าๆ โดยเอียงใบมีดทำมุมกับเหล็กจุดไฟน้อยลง แล้วใช้นิ้วโป้ง ของมือที่จับเหล็กจุดไฟกดใบมีดลง ในขณะที่อีกมือหนึ่งที่จับด้ามมีด ใช้เบรค วิธีนี้จะช่วยให้ใบมีดไถลลง ด้วยความเร็วช้าๆแต่คงที่ เวลาขูดแล้ว จึงไม่เกิดประกายไฟขึ้น และเมื่อขูดรอบสุดท้ายเพื่อให้เกิดประกายไฟ จะต้องขูดให้เร็วขึ้น จึงไม่ต้องใช้นิ้วโป้งดัน  วิธีนี้สามารถจุดเชื้อไฟทุกชนิดที่ไฟแช็คจุดติด ยกเว้นเชื้อไฟที่ไฟแช็คจุดไม่ติด เพราะอัดแน่นเกินไป เหล็กจุดไฟก็จุดไม่ติดเช่นกัน

การใช้เหล็กจุดไฟ ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น
การใช้เหล็กจุดไฟ จุดวัสดุธรรมชาติ อย่างเช่น หญ้าแห้ง หรือ ใบไม้ที่ฉีกเป็นเส้นอย่างใบกล้วย ถ้าแห้งสนิท จากการตากแดด สามารถจุดไฟติดได้ พอไฟติดแล้วจึงเขี่ยให้ฟูๆ แล้วจึงนำไฟไปต่อ หรือถ้าจะใช้ก้อนนั้น พอไฟลุกสูงแล้วควรคว่ำลง เพื่อให้ไฟลุกลามได้ดีขึ้น แต่ถ้าเชื้อไฟเริ่มชื้น จะจุดด้วยเหล็กจุดไฟยาก เพราะไฟจากแท่งไม่มากพอ ถ้าเป็นพวกใบสน เศษโลหะก็จะร่วงทะลุลงไปอยู่ที่พื้นหมด ต้องเปลี่ยนไปใช้วัสดุอื่นที่ยังแห้งอยู่ วัสดุธรรมชาติอื่นๆมีขนาดใหญ่ ต้องหาแบบที่ย่อยเป็นฝอยได้ เช่น เปลือกไม้แห้ง ที่เป็นแผ่น มีเส้นใย และขูดเป็นขุยได้ อย่างเช่น เปลือกต้นกล้วย ฉีกมาให้ความประมาณ 1 ฝ่ามือ คือกว้างพอที่จะใช้เหล็กจุดไฟ จุดได้ และยาวประมาณ 1 ศอก เพื่อที่จะใช้เท้าเหยียบไว้ข้างหนึ่ง และใช้มือดึงไว้อีกข้าง แล้วใช้คมมีดขูดผิว จนกระทั่งกลายเป็นขุย เหลือผิวบาง จึงจะสามารถจุดด้วยเหล็กจุดไฟ ติดได้ง่าย หรือจะใช้กิ่งไม้ที่ด้านในยังแห้งอยู่ก็ได้ โดยใช้สันมีด(ไม่ใช่คมมีด) ที่มีเหลี่ยมคม ขูดเนื้อไม้ให้เป็นฝอย โดยเอียงมีดให้ทำมุมกับเนื้อไม้ พอที่จะขูดเนื้อไม้ได้มากที่สุด หรือ ถ้าจะใช้คมมีดขูดก็ได้ แต่ต้องใช้คมมีดตรงใกล้ๆด้าม ขูดทำมุมกับไม้ 90 องศา ถ้าคมมีดทำมุมน้อยกว่านี้ จะไม่สามารถขูดให้เป็นฝอยได้ แต่จะได้เป็นเส้นใหญ่ๆแทน สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า ฝอยที่ได้จะต้องโค้งงอ มีความฟู จึงจะติดไฟได้ การขูดไม้นี้ ใช้จำนวนไม่มากนัก แค่พอที่จะนำไฟไปต่อได้

การขูดให้มีเศษโลหะชิ้นใหญ่หลุดออกมานั้น  ตัวขูดต้องคม ถ้าตัวขูดไม่คม จะต้องออกแรงกดมากขึ้น อาจจะช่วยได้บ้าง เหล็กขูดที่แถมมาตอนซื้อจะเล็กใช้ลำบาก และสึกหรอง่าย ใช้สันมีดขุดจะดีที่สุด ถ้าใช้คมมีดขูดจะได้ผลดี แต่ปกติเราจะต้องเก็บคมมีดไว้ทำอย่างอื่น คนส่วนใหญ่จึงเปลี่ยนมาใช้สันมีดตรงเหลี่ยมขูดแทน แต่สันมีดส่วนใหญ่ถูกลบเหลี่ยมมาจากโรงงาน ทำให้เหลี่ยมไม่คม ก่อนใช้งาน จึงต้องแต่งสันมีด ให้เป็นเหลี่ยมก่อน (ดูวิธีการทำในเรื่องมีดพก) วิธีสังเกตุ สันมีดที่คมใช้ได้คือ ถือเหล็กจุดไฟลอยๆไว้ แล้วขูด จะสามารถจุดสำลีให้ติดไฟได้ในครั้งเดียว

เหล็กจุดไฟ มีข้อเสียคือ การเอาเหล็กมาขูดกับเหล็ก จะทำให้ตัวขูดสึกได้ พอสึกแล้วต้องลับใหม่ เพราะสึกตรงเหลี่ยมพอดี ผิวแท่งเหล็กจุดไฟ จะมีความแข็ง 62 rockwell C scale ขึ้นไป ถ้าอ่อนกว่านี้ ตัวขูดจะกินเข้าไปในเนื้อ ทำให้ไม่เกิดประกายไฟ ในขณะที่ มีดที่ทำจากเหล็ก high carbon จะมีความแข็งอย่างมาก 60 rockwell C scale (ถ้าแข็งกว่านี้จะเปราะ ถ้าใช้ tool steel มาทำอาจจะได้ความแข็งถึง 62 rockwell แต่จะสึกหรอกยากทำให้ลับยาก) ส่วนมีดที่ทำจากสเตนเลส จะมีความแข็งอย่างมาก 58 rockwell ถึงแม้ว่าทั้งเหล็กและสเตนเลส จะสามารถขูดให้เกิดประกายไฟได้ แต่เหล็กแข็งกว่าสเตนเลส จึงขูดได้ประกายไฟมากกว่าเล็กน้อย และสเตนเลสอ่อนกว่า จึงสึกเร็วกว่า ถ้าจะขูดให้ได้ประกายไฟเท่ากับเหล็ก ต้องออกแรงกดมากกว่า (ความแข็ง 57 rockwell จะต้องออกแรงมากเพื่อให้ได้ประกายไฟ ความแข็ง 58 rockwell จะขูดง่ายขึ้น และ ความแข็ง 59 rockwell จะขูดง่ายมาก) ด้วยเหตุผลที่ตัวขูดสึก และแท่งเหล็กจุดไฟ ด้อยกว่าไฟแช็คตรงที่ ต้องพึ่งเชื้อไฟอย่างเดียว ไม่เหมือนไฟแช็คที่สามารถลนนานๆ สามารถลนกิ่งไม้หรือเชื้อไฟที่ติดไฟยาก ให้ติดไฟได้ เหล็กจุดไฟจึงเหมาะจะใช้เป็นวิธีสำรอง ส่วนการก่อไฟในเวลาปกติ ใช้ไฟแช็คจะง่ายกว่า แต่วิธีนี้ก็ควรฝึกฝนไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน

เหล็กจุดไฟแต่ละยี่ห้อ จะแตกต่างกันบ้างเล็กน้อย เช่น ของจีนจะเนื้ออ่อน ใช้มีดสเตนเลสขูดกำลังดี มีดเหล็กจะแข็งไป ขูดแล้วไม่ค่อยเกิดประกายไฟ เพราะจะขูดเศษโลหะหลุดออกมาแทน บวกกับผิวลื่น ทำให้โอกาสเกิดประกายไฟน้อย ถ้าขูดช้าๆก็จะไม่ได้ประกายไฟ ต้องขูดเร็วๆแรงๆ จึงจะมีเศษโลหะขนาดใหญ่ หล่นลงไปเป็นลูกไฟ แต่ข้อดีก็คือ เศษโลหะขนาดใหญ่ให้ไฟลูกใหญ่ จึงจุดเชื้อไฟได้ง่ายกว่า ต่างจากพวกของสวีเดน ที่ผิวจะแข็งกว่า และ ผิวขรุขระ ขูดทีไรก็ได้ประกายไฟ ขูดช้าๆก็ยังได้ประกายไฟ แต่จะขูดได้เศษโลหะเป็นผงๆ ไม่ได้เศษโลหะขนาดใหญ่หลุดออกมา ทำให้จุดเชื้อไฟยากขึ้น ถ้าใช้มีดแข็งๆอย่างมีดเหล็ก บวกกับกดแรงๆ จะช่วยได้บ้าง แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด ต้องใช้วิธีขูดเศษโลหะออกมากองที่พื้น สรุปว่า ถ้าฝึกฝนจนใช้เป็นแล้ว ไม่ว่าเหล็กจุดไฟยี่ห้อไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน

การก่อไฟโดยถูไม้ อาศัยแรงเสียดทานระหว่างไม้ทำให้เกิดขึ้เถ้า แล้วนำขี้เถ้าไปใส่ในเชื้อไฟฝอยๆที่แห้งสนิท เช่น สำลี หญ้าแห้ง แล้วเป่าจนไฟลาม จะมีไฟลุกขึ้นได้ ส่วนการถูไม้ให้เกิดขึ้เถ้า ทำได้หลายวิธีเช่น นำไม้รวกแห้งๆมาถูกัน, หรือ เซาะร่องเล็กๆในไม้แห้ง แล้วใช้ไม้สด เหลาปลายให้แหลมพอที่จะเสียดสีกับร่องได้ ถูไปมาในร่อง หรือ ปั่นกิ่งไม้สดในรูไม้แห้ง ที่เจาะรูไว้ ให้มีขนาดพอดีกับไม้ปั่น แล้วเซาะร่องข้างรูให้ขี้เถ้าไหลออกมา วิธีเหล่านี้ต้องผ่านการฝึกฝนมาเป็นอย่างดี โดยเฉพาะการปั่นไม้ แม้แต่คนที่ชำนาญก็อาจปั่นจนมือพองได้ วิธีที่เร็วขึ้น คือ bow drill จะไม่กล่าวถึงในที่นี้

การก่อไฟโดยใช้หินกระแทกกัน ต้องหาหินภูเขามา 2 ก้อน หินกรวดตามลำห้วยจะใช้ไม่ได้  หินภูเขาชนิดไหนกระแทกกัน แล้วเกิดประกายไฟถือว่าใช้ได้ ใช้สันมีดกระแทกกับหินแล้วเกิดประกายไฟก็ถือว่าใช้ได้ แล้ววางเชื้อไฟไว้ข้างใต้ ให้ประกายไฟกระเด็นไปโดนเชื้อไฟ การจุดไฟด้วยวิธีนี้จะยากที่สุด ในแถบยุโรปและอเมริกาในอดีตจะใช้หินเหล็กไฟ คือ นำเหล็กมากระแทกกับหิน flint ให้เกิดประกายไฟ ส่วนในเมืองไทย เริ่มผลิตไม้ขีดไฟได้ในเองปีพ.ศ. 2473 ตั้งแต่นั้นมา ไม้ขีดไฟก็เริ่มแพร่หลาย ยี่ห้อที่นิยมใช้กันคือ ตราพญานาค แต่ยุคก่อนหน้านั้น คุณตาของผม เป็นคนไทยบ้านนอก ไม่มีไม้ขีดไฟใช้ จะจุดไฟโดยนำหิน 2 ก้อนมากระแทกกัน แล้วมีกระบอกใส่นุ่นวางไว้ด้านข้าง พอประกายไฟกระเด็นไปโดนนุ่น กลายเป็นเถ้าสีแดงแล้ว จึงเป่าให้ไฟลาม ถ้าจะดับไฟก็แค่ปิดฝากระบอก หินพวกนี้ไปเก็บมาจากป่า ชาวบ้านจะรู้ว่าหินแบบไหนมีไฟ ส่วนนุ่นจะมีคนปลูก และนำมาขายเป็นถุง สมัยก่อนไม่ใช้สำลี เพราะราคาแพง ส่วนนุ่นราคาถูก คนที่กระแทกเป็น กระแทกแค่ทีเดียวก็จุดไฟได้แล้ว แต่ถ้าคนทำไม่เป็น จะจุดไฟไม่ติด ถึงแม้ว่าต่อมาจะมีไม้ขีดไฟแล้ว แต่บางทีไม้ขีดไฟชื้น จุดไม่ติด ก็ต้องใช้วิธีนี้จุดหัวไม้ขีด ต่อมาวิธีนี้ค่อยๆหายไป เพราะคนรู้จักเก็บรักษาไม้ขีดไฟไม่ให้ชื้น หรือบางทีไม้ขีดไฟชื้นแล้ว ก็ต้องพยายามจุด สมัยตอนที่ผมเป็นเด็กๆ ที่บ้านใน กทม.ยังใช้แต่ไม้ขีดไฟ พอโตขึ้นมาหน่อย ก็มีไฟแช็คมาแทน ทำให้ไม้ขีดไฟค่อยๆหายไป ต่อมาพัฒนามาเป็นเตาแก๊สแบบ piezo ที่แค่บิดก็จุดไฟได้เลย เหลือแต่ไฟแช็คไว้สำหรับจุดเทียน เวลาไฟดับ

หัวพ่นไฟ ช่วยให้
การก่อกองไฟ
ง่ายขึ้นเยอะ

การก่อไฟในป่า ไม่ควรจะพึ่งวิธีช้าๆเพียงอย่างเดียว เพราะบางครั้งจำเป็นต้องรีบก่อไฟ เช่น พักกินข้าวเที่ยง หรือ โดนยุง ริ้น ผึ้ง เหลือบ มารุมกัด หรืออากาศหนาวจนต้องตื่นมาผิงไฟกลางดึก หรือลมพัดแรงทำให้เชื้อไฟปลิวหรือดับ หัวพ่นไฟหรือเชื้อไฟที่พกติดตัว จะช่วยให้การก่อไฟเร็วขึ้นมาก วิธีช้าๆเหมาะสำหรับ เวลาที่ไม่ได้คิดจะเข้าป่าจริงจัง จึงพกแค่ไฟแช็คไปเผื่อฉุกเฉิน

วิธีก่อกองไฟอย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องมีเชื้อไฟ ไม่ต้องมีกิ่งไม้เล็กๆ ไม่ต้องนั่งเรียงกิ่งไม้ ไม่ต้องผ่าไม้ ใช้ไม้ท่อนใหญ่ๆได้เลย คือ ใช้หัวพ่นไฟแบบเสียบเข้ากับกระป๋องแก๊ส butane พ่นไปที่กิ่งไม้เพียงครู่เดียว ไฟจะติด ถ้ากิ่งไม้ชื้น อาจจะต้องพ่นนานขึ้น แต่ถ้ากิ่งไม้เปียกจะไม่ติดไฟ ไฟจาก butane สามารถควบคุมทิศทางได้ดีแม้เจอลม และ สามารถปิดเปิดได้ตลอดเวลา ช่วยลดความสิ้นเปลือง เวลากองไฟมอด ก็ไม่ต้องเป่าจนหน้ามืด แค่พ่นไฟลงไป กองไฟก็จะลุกขึ้นมาใหม่ หัวพ่นไฟที่ดี ควรจะให้เปลวไฟมีพื้นที่กว้าง แก๊ส butane กระป๋องยาว 1 กระป๋อง (net weight 220g) ถ้าใช้ก่อไฟวันละครั้ง จะได้ประมาณ 2 สัปดาห์ (เมื่อใช้หัวพ่นไฟที่มี consumption 80g/h ถ้า consumption น้อยกว่านี้ เปลวไฟจะแคบและสั้นลง ทำให้จุดกิ่งไม้ยากขึ้น) หัวพ่นไฟรวมกับแก๊สกระป๋องจะค่อนข้างหนัก ถึงประมาณ 300 กว่ากรัม ถ้าไม่ต้องการแบกน้ำหนักมาก และมีเวลาหาฟืนเล็กๆ พกเชื้อไฟติดตัวไปด้วยจะเบากว่า

ปัญหาของหัวพ่นไฟคือ ถ้าเปียกน้ำอาจจะจุดไม่ติด ต้องจุดไฟแช็คล่อ และ ถ้าเจออากาศหนาวจัดจะจุดไม่ติด หัวพ่นไฟตามปกติใช้กับก๊าซ butane ซึ่งจะกลายเป็นของเหลวที่จุดเยือกแข็ง ทำให้จุดไม่ติด จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนไปใช้ก๊าซที่ผสม propane เพิ่มขึ้น แต่เนื่องจาก propane มีแรงดันสูง จึงต้องใส่กระป๋องที่ออกแบบมาแข็งแรง

ไม่ว่าจะใช้เชื้อไฟแบบใดก็ตาม ควรจะเตรียมเผื่อไปอีกอย่างน้อยเท่าตัว เช่นเดียวกับอาหารที่ต้องเผื่อไว้ เพราะ มีโอกาสที่จะต้องใช้มากขึ้น เช่น ไม้เปียกหมด ทำให้ก่อไฟติดยาก หรือฝนตกไฟดับ หรือ ต้องก่อไฟวันละหลายครั้ง ถ้าเชื้อไฟหรือใช้แก๊สกระป๋องหมดกลางทาง จะต้องเสียเวลาก่อไฟแบบธรรมชาติ ดังนั้น ถ้าจะพกแก๊สกระป๋องเข้าป่า ถึงแม้ว่าจะไปแค่ไม่กี่วัน ก็ควรจะไปเต็มกระป๋องเสมอ 

กิ่งไม้ที่เผาไหม้ไม่หมดจะมีควันมาก เพราะมีอากาศหรือความร้อนไม่พอ และควันลอยไปด้านข้าง สร้างความรำคาญให้แก่คนที่ต้องดมควัน แก้ไขโดยเร่งไฟให้แรงๆ ควันจะน้อยและลอยขึ้นข้างบน

ประโยชน์อื่นๆของไฟ เช่น ใช้ตัดท่อนไม้ท่อนใหญ่ๆ โดยนำท่อนไม้มาเผาไฟจนส่วนที่โดนไฟนั้นใหม้หมด หรือ ใช้ไฟเจาะรูบนท่อนไม้ เพื่อทำเรือขุด โดยใช้ไม้ที่ปลายเป็นถ่านแดง จี้ลงไปบนไม้อีกท่อนที่มีขนาดใหญ่มาก แต่วิธีนี้จะต้องใช้เวลานานเป็นวันๆ ส่วนถ่านไม้สีดำ ก็ใช้แทนดินสอได้

การหักกิ่งไม้แห้งขนาดไม่ใหญ่นัก สามารถใช้สองมือหักโดยตรงกลางไม้ยันไว้กับหัวเข่า หรือ ใช้เท้าเหยียบแล้วใช้อีกมือดึงขึ้นมา แต่ถ้าไม้ขนาดใหญ่เกินกว่าจะใช้สองมือหักได้ ทำได้หลายวิธี เช่น นำไปตีกับก้อนหินหรือกิ่งไม้แข็งๆ หรือ นำปลายทั้งสองไปวางบนก้อนหิน ที่มีช่องว่างตรงกลาง แล้วกระโดดเหยียบตรงช่องว่างนั้น หรือ นำกิ่งไม้ไปสอดไว้ในง่ามต้นไม้ แล้วเดินวนไปรอบๆต้นไม้ เพื่ออาศัยง่ามต้นไม้ดันในทิศทางตรงกันข้าม ถ้าต้องการความแม่นยำ ให้ใช้มีดเฉาะรอบๆจุดที่ต้องการให้ขาด เพื่อให้จุดนั้นอ่อนกว่าจุดอื่น กิ่งไม้ขนาดใหญ่ที่หักไม่ได้ง่ายๆ คือ ไม้เนื้อแข็ง

ข้อควรระวังในการก่อไฟคือ ไฟป่า ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากคนจุดไฟเผา แล้วไฟลุกลามจนควบคุมไม่ได้ ดังนั้น ก่อนจะจุดไฟ จึงต้องระวังเรื่องไฟป่าให้มาก ถ้ามีเศษไม้แห้งอยู่รอบๆ ควรใช้กิ่งไม้กวาดเศษไม้ออกก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ไฟลุกลามออกไป และเมื่อต้องออกเดินทางต่อ กองไฟที่อยู่บนพื้นหินหรือพื้นทราย อาจไม่ต้องกังวลเรื่องการดับไฟมากนัก แค่แยกไม้ที่ติดไฟออกจากกัน ไฟก็จะดับไปเอง แต่ถ้าอยู่บนผืนดิน ควรจะดับไฟให้เรียบร้อย อย่าให้เหลือแม้แต่ถ่านที่ยังร้อน อีกวิธีหนึ่งที่ไม่ต้องกวาดและดับไฟคือ หาดินและทรายมาโรยเป็นพื้นกองไฟ ถึงแม้ป่าบางประเภทอย่างพวกป่าไผ่ ป่าเต็งรัง อาจเกิดไฟป่าบนดิน แต่ป่าบางประเภท มีโอกาสเกิดไฟใต้ดินด้วย ไฟใต้ดินดับยากมาก อย่างเช่น ในป่าพรุทางภาคใต้ ป่าไค้ในบึงน้ำ พอดับไฟจุดหนึ่งก็ลุกขึ้นมาอีกจุดหนึ่ง เป็นเช่นนี้อยู่เป็นเดือนๆ สาเหตุเกิดจาก มีคนแอบจุดไฟเผาป่าบนดิน แล้วไฟลามไปยังรากไม้ที่อยู่ใต้ดิน แล้วลามจากรากไปสู่ราก โดยไม่ต้องใช้ออกซิเจน ทำให้รากไม้กลายเป็นถ่าน จนเจอสถานที่เหมาะสม ที่มีออกซิเจนและเชื้อไฟอย่างดี จึงเกิดไฟลุกขึ้น ต้องอาศัยฝนตกแรงๆสักพัก หรือตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน หรือเจอจุดที่มีน้ำใต้ดินเพียงพอ ไฟจึงจะดับสนิท

วิธีดับไฟคือ เทน้ำลงไป ถ้าต้องการทำลายหลักฐาน ให้โกยขี้เถ้าโปรยลงน้ำ อย่าโปรยลงดิน เพราะมีโอกาสทำให้เกิดไฟป่าได้ ถ้าจะโปรยลงดินก็ต้องราดน้ำจนไฟดับสนิทก่อน แล้วจึงใช้มือโกยไปไว้ที่อื่นเพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเศษขี้เถ้าร้อน หลังจากนั้นจึงหาใบไม้มากลบตรงตำแหน่งที่เคยก่อไฟ แค่นี้บริเวณที่เคยก่อไฟก็จะดูไม่ออก

เรื่องที่ควรระวังในการใช้กองไฟคือ อย่านอนใกล้กองไฟ เคยมีคนถุงนอนใหม้ หรือ แขนไปถูกกองไฟแล้วไม่รู้ตัว ต้องเสียแขนข้างนั้นไป ถ้าต้องนอนข้างกองไฟ ควรทำรั้วกั้นไว้

ไฟฉาย

การเดินตอนกลางคืนโดยไม่มีไฟฉายนั้น จะทำได้เฉพาะในที่โล่ง ในคืนที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น การใช้เทียนจะลำบากต้องจุดต้องเป่าให้ดับ เวลาเข้าป่าจึงควรจะมีไฟฉายไป 2 อัน เผื่ออันหนึ่งเสียหรือถ่านหมด จะได้มีไฟฉายเหลือ แต่ไม่จำเป็นต้องพกไปมากกว่านั้นให้เกะกะ ทางที่ถูกต้องคือ ต้องเลือกไฟฉายยี่ห้อที่เชื่อใจได้ว่า จะไม่ไปดับกลางทาง ผมเคยพกไฟฉายราคาถูกๆของจีนไปเข้าป่าถึง 3 อัน ปรากฎว่าพอเจอทั้งฝนและความชื้นแค่คืนเดียว ไฟฉายเปิดไม่ติดเลยสักกระบอก บางอันกดไปกดมา ปุ่มยุบไปก็มี ไฟฉายยี่ห้อที่ผมทดลองใช้ในป่าที่ชื้นๆ ลุยโหดๆเป็นเดือนๆโดยไม่ดับเลย แล้วยังคงใช้อยู่ได้ถึงปัจจุบันคือ energizer, black diamond, petzl แต่ละยี่ห้อแต่ละรุ่น จะมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป แต่มักจะพังเพราะสาเหตุเดียวกันคือ ตกกระแทก แล้วแยกเป็นชิ้น เปิดไม่ติดอีกเลย ซึ่งถ้าใช้อย่างระวังก็จะไม่ตกหล่นเสียหาย ไฟฉายที่ทนกระแทกได้จะเป็นพวกอลูมิเนียม หรือพลาสติกหุ้มยางที่ออกแบบมาเฉพาะให้รับแรงกระแทกได้ ยี่ห้อที่เคยใช้แล้วทนคือ zebralight ถึงแม้ว่าก้นจะเป็นสปริงก็ตาม

ไฟฉายคาดหัว ได้ผ่านการพิสูจน์ด้วยการเวลาแล้วว่า เป็นไฟฉายที่ดีที่สุดสำหรับใช้งานกลางแจ้ง เพราะ ช่วยให้มือว่างทั้ง 2 ข้าง เวลาไม่ใช้สามารถแขวนคอไว้ได้ ไม่ต้องพกใส่กระเป๋าให้เสี่ยงตกหาย ส่วนไฟฉายแบบแท่งใช้ไม่สะดวกเลย เพราะใช้มือถือได้อย่างเดียว จะเหลือมือเพียงข้างเดียว เวลาที่ต้องหยิบของด้วยสองมือเช่น ตักน้ำใส่หม้อ จะต้องใช้ปากคีบไฟฉายจะทำให้ลำบากมาก ใช้เป็นไฟฉายสำรองก็ไม่ได้ ผมเคยเจอ เพื่อนร่วมทางขอยืมไฟฉายคาดหัวไปใช้ แล้วตัวเองเหลือแต่ไฟฉายแบบมือถือ ทำให้ทำงานลำบากมาก

แบบแรกคือ ไฟฉายสำหรับใช้เวลาอยู่ที่พัก จัดข้าวจัดของ ไฟฉายตัวนี้จะใช้งานบ่อยที่สุด จึงควรเป็นหลอดประหยัดไฟ เช่นหลอด led เพื่อที่จะใช้ได้นานๆ และการทำงานระยะใกล้ ต้องใช้ไฟที่มีมุมกว้างพอสมควร ไม่ควรใช้ไฟฉายมุมแคบ เพราะจะมีไฟพุ่งเป็นจุด ซึ่งเหมาะสำหรับใช้มองสิ่งที่อยู่ไกลๆ แต่ถ้าใช้ระยะใกล้จะต้องขยับหัวบ่อย ไฟฉายใช้งานระยะใกล้จะต้องใช้บ่อย จึงควรจะใช้ง่าย แค่กดเปิดปิดอย่างเดียว ไม่มีไฟแดง ไฟหรี่ ไฟกระพริบ มิฉะนั้นจะต้องกดหลายรอบ กว่าจะได้ไฟที่ต้องการ ใครที่เคยใช้ไฟฉายมาหลายแบบ จะพบว่าไฟฉายแบบนี้ถูกใจที่สุด ใช้ได้บ่อยที่สุด ด้วยเหตุผลหลักคือใช้ง่าย

แบบที่สองเป็นไฟฉายที่ไฟแรงๆสว่างๆ เพื่อที่จะได้ส่องดูสิ่งที่อยู่ไกลๆ ตัวนี้เป็นไฟฉายสำรอง จึงควรปรับได้ทั้งไฟอ่อนและไฟสว่าง เพราะหากไฟฉายตัวแรกเสีย จะได้ใช้ตัวนี้ทำงานระยะใกล้แทน หรือถ้าต้องการส่องไกลก็ใช้ไฟฉายตัวนี้ช่วย ปัญหาของไฟฉายที่สว่างๆ คือ ถ่านหมดไว เมื่อถ่านอ่อนแล้ว ความสว่างจะไม่ต่างจากไฟฉายไฟอ่อนทั่วไป ดังนั้น ไฟฉายสว่างๆ จึงควรเก็บไว้ใช้เฉพาะเวลาจำเป็น

ไฟฉายที่ปรับได้ทั้งไฟแรงและไฟอ่อน ถ้าเป็นแบบที่ใช้ปุ่มเดียวกดสลับไปมา จะใช้ยุ่งยาก เพราะมักจะต้องกดหลายรอบ กว่าจะได้ไฟที่ต้องการ ไฟฉายที่ใช้งานได้สะดวกขึ้นคือ แบบปรับไฟโดยไม่ใช้กดปุ่ม แต่ใช้วิธีอื่นเช่น ใช้ dimmer แบบหมุนได้ หรือถ้าฉลาดกว่านั้นก็สามารถปรับไฟได้อัตโนมัติ

ไฟฉายทั่วไปจะใส่ถ่าน 3 ก้อน ถ้าเข้าป่าไปไม่กี่วัน คงจะไม่มีปัญหา แต่ถ้าเข้าป่าไปเป็นอาทิตย์แล้วถ่านอ่อน จะไม่สามารถใช้ถ่านจากอุปกรณ์อื่นได้ เพราะอุปกรณ์อื่นอย่างเช่น gps, กล้องถ่ายรูปราคาถูกๆ ล้วนแต่ใช้ถ่าน 2 ก้อนทั้งนั้น เราจึงควรใช้ไฟฉายที่ใช้ถ่านจำนวนเท่ากับอุปกรณ์อื่น จะได้ไม่ต้องแบกถ่านสำรองไปหลายๆแบบ ถึงแม้ว่าถ่านจะใช้กับอุปกรณ์อื่นจนไฟหมดแล้ว แต่มักจะเหลือไฟพอให้ใช้กับไฟฉายต่อได้อีกนาน

เวลาเดินตอนกลางคืนในป่าที่อันตราย จำเป็นต้องมองซ้ายขวาอยู่ตลอดเวลา จึงไม่เหมาะที่จะใช้ไฟฉายคาดหัว เพราะว่าหัวจะต้องหมุนไปหมุนมาตามไฟฉาย เพื่อส่องดูสิ่งต่างๆ ทำให้เวียนหัว ถ้าใช้ไฟฉายคาดหัวก็สามารถถอดออกจากหัวแล้วใช้มือถือได้ การเดินตอนกลางคืนในป่าที่อันตราย ควรใช้ไฟฉายทั้งมุมกว้างและมุมแคบ มุมกว้างสำหรับมองดูบริเวณเท้า เพื่อไม่ให้เหยียบงู ส่วนมุมแคบใช้มองดูไกลๆ ว่ามีสัตว์ป่าอยู่หรือไม่ ไฟฉายบางยี่ห้อจะส่องทั้งมุมกว้างและมุมแคบในคราวเดียวกัน แต่ก็ยังใช้ลำบาก เพราะ ถ้าจะมองไกลก็ต้องเงยหัวขึ้น ถ้าจะมองใกล้ก็ต้องกดหัวลง วิธีที่สะดวกที่สุดเวลาเดินคือ ใช้ไฟฉาย 2 อัน อันหนึ่งมุมกว้างใช้คาดหัว อีกอันหนึ่งมุมแคบใช้มือถือเพื่อส่องไกลออกไป ยกเว้นจะเดินในป่า ในสถานที่ๆไม่มีอันตราย อาจใช้ไฟฉายมุมกว้าง เพื่อส่องดูพื้นอย่างเดียวได้

ไฟฉายคุณภาพดีดูที่
หน้าสัมผัสกับถ่านใช้
แผ่นเหล็กไม่ใช้สปริง

ไฟฉายสีอุ่นหรือสีเหลืองจะดีกว่าไฟสีขาวจากหลอด led ตรงที่สามารถแยกแยะความแตกต่างของงูกับกิ่งไม้ และตัดหมอกได้ดีกว่า ส่วนแสงสีแดง ไม่มีประโยชน์อะไร ที่พอเห็นจะใช้ได้คือ เวลาตื่นมากลางคืนเพื่อหาของ แสงจากหลอดไฟปกติสว่างเกินไป ไฟสีแดงจะช่วยไม่ให้แสบตาตอนที่เปิดใหม่ๆ แต่ถ้าแค่ดูนาฬิกาแนะนำให้ใช้นาฬิกาแบบมีไฟในตัวจะดีกว่า

ไฟฉายคุณภาพดี ดูตรง battery contact ที่เป็นหน้าสัมผัสกับถ่าน จะไม่ใช้สปริง แต่จะใช้แผ่นเหล็กแทน เนื่องจาก สปริงที่ใส่ถ่านไว้สักพัก จะเริ่มอ่อนตัว ถ้าเขย่าไฟฉาย สปริงที่อ่อน จะทำให้ถ่านเด้งไปมา จนไม่สัมผัสกับสปริง เวลากระเทือนจะทำให้ไฟดับ ต้องคอยกดใหม่อยู่เรื่อยๆ ไฟฉายที่รังถ่านใช้สปริง อย่างเช่น ฟีนิกส์ของจีน หรือออสแรมของเยอรมัน เวลาเขย่าแล้วไฟดับได้

ส่วนตะเกียงนั้นไม่จำเป็นต้องพกไปให้หนัก เพราะไฟฉายคาดหัว สามารถแขวน ใช้แทนตะเกียงได้ ไฟฉายคาดหัวจะวางกับพื้นหรือแขวนไว้กับกิ่งไม้ก็ยังส่องได้

เวลาเดินในป่าตอนกลางคืน ควรจะใช้ไฟฉายเสมอ ถึงแม้ว่าจะยังไม่มืดมาก เพราะอาจเดินไปเหยียบงู หรือตะขาบ แล้วโดนมันกัดได้ แค่โดนตะขาบกัด ก็อาจทำให้เท้าบวมจนใส่รองเท้าไม่ได้

ไฟฉายที่เชื่อถือได้ นอกจากจะทนชื้นทนกระแทกแล้ว เวลาที่ถ่านอ่อน จะต้องยังมีไฟอยู่ ไฟฉายบางตัว พอถ่านอ่อน จะดับไปเลย


ต้นยางนา ให้น้ำมันยาง
ใช้อุดรูกันน้ำ และทำขี้ไต้
ช่วงหัวค่ำ เป็นช่วงที่แมลงออกหากิน ไฟฉายคาดหัวจะมีแมลงบินมาตอม บางตัวบินมาเข้าตาเลย แค่แมลงบินเข้าตาสักตัวก็เสียศูนย์แล้ว ช่วงนี้จึงควรใส่แว่นตาป้องกัน

ถ้าไม่มีไฟฉาย โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่จะมีไฟฉายติดมาด้วย นำมาแปะหน้าผาก แล้วรัดเชือกรอบหน้าผาก จะใช้แทนไฟฉายคาดหัวได้ เพียงแต่แบตเตอรี่โทรศัพท์จะหมดเร็ว การก่อไฟจะเห็นได้ไกลประมาณ 5 เมตร แต่ถ้าสุมไฟให้แรงๆ จะเห็นได้ไกลประมาณ 10 เมตร ถ้าจะเดินไปไหนไกล ต้องทำคบไฟขึ้นมาใช้แทน ถ้าเป็นไม้แห้งตามธรรมชาติ ให้ใช้กิ่งไม้เล็กๆ รวมกันให้เป็นกำ แต่จะติดไฟอยู่ได้ไม่นาน และต้องควบคุมไฟไม่ให้ดับ ด้วยการกดหัวลงและพลิกไปมา ถ้าต้องการให้ติดไฟนานขึ้น และสามารถถือให้ไฟลุกอยู่ด้านบนได้ ต้องใช้เศษไม้มาคลุกน้ำมันพวก ยางสน หรือ น้ำมันยางซึ่งได้จากพืชตระกูลยาง เมื่อคลุกแล้วจะเรียกว่าขี้ไต้ แล้วนำมาห่อด้วยใบไม้ขนาดใหญ่สัก 2 ชั้น มัดไว้เป็นท่อนๆ พอมือถือได้ ถ้าต้องการทำด้ามไม้สำหรับถือ ให้ใช้ไม้เนื้ออ่อนเช่น ไม้ไผ่ ผ่าปลายออกเป็นอย่างน้อยสองส่วน เพื่อให้อ้าออก แล้วยัดไม้คลุกน้ำมันลงไป ถ้าใช้ไม้แข็งผ่าแล้วไม่ยอมอ้าออกมา ให้หาไม้มาเหลาเป็นรูปลิ่มแล้วตอกลงไป

พืชตระกูลยาง จะแทงยอดสูงกว่าต้นไม้รอบๆ มักจะสูงถึง 30-50 เมตร ลำต้นตรงเหมือนเสา เริ่มตั้งแต่โคนต้นขึ้นไป เมื่ออยู่ที่ความสูง 0-300 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะเป็นต้นยางนา อาจมีต้นตะเคียนปนอยู่ด้วย การดูชนิดของต้นไม้ นิยมดูที่ กิ่ง ใบ เปลือก และลำต้น ยางนาจะมีกิ่งจะงอกออกมาจากลำต้นในแนวเกือบตั้งฉาก แตกกิ่งออกเป็นพุ่ม ตั้งแต่ระดับกลางลำต้นขึ้นไป เพราะกิ่งที่อยู่เตี้ยๆ มักจะหลุดร่วงลงมาหมดแล้ว  ใบยางนาจะคล้ายใบมะม่วง แต่ใบใหญ่กว่าและยาวกว่า คือขนาดใหญ่กว่ากว่าฝ่ามือเล็กน้อยทั้งด้านกว้างและด้านยาว ลำต้นขนาดเกือบ 2 คนโอบ เปลือกแตกเป็นสะเก็ด ลองแกะดู จะแกะได้บ้าง บางต้นแกะยาก บางต้นเลาะเปลือกออกมาแล้ว บางครั้งมีน้ำยางติดมาด้วย แสดงว่าใช่ บางต้นเป็นแผลอยู่แล้ว เพราะมีแมลงเข้าไปทำรัง จะเห็นน้ำยางได้ชัดโดยไม่ต้องแกะเปลือก (ซึ่งเรามักจะเห็นขี้แมลงเป็นสายขี้เลื่อยปนอยู่ด้วย) คนที่นำน้ำมันยางนามากลั่นเป็นน้ำมันดีเซล จะเจาะรูเข้าไปลึกประมาณ 15-20ซม. เจาะทำมุมชี้ขึ้น 45องศา พอใช้เสร็จจึงนำกิ่งยางนามาตอกเข้าไป จะสมานแผลกลับคืนมาเป็นเนื้อไม้ธรรมชาติ ต้นยางนาจะออกดอกช่วงหน้าร้อน เดือน มีค.-พค. ดอกจะกลายเป็นผลช่วงต้นมรสุม เดือน พค.-มิย. ผลยางนามีปีกเป็นสัญลักษณ์เฉพาะตัว เพื่ออาศัยลมมรสุมพัดพาไปตกในที่ห่างไกลเพื่อขยายพันธุ์ แต่ถ้าปีไหนที่อากาศไม่ร้อนจัด เช่น มรสุมเข้าช่วงสงกรานต์ ยางนาจะไม่ออกผล เพราะ ดอกเล็กๆที่ยังไม่สมบูรณ์ พอเจอมรสุม ก็จะร่วงหมด ไม่ทันได้เจริญพันธุ์เป็นดอกที่สมบูรณ์ ถ้าเป็นป่าดิบเขาที่ความสูง 300-1000 เมตรจากระดับน้ำทะเล จะไม่มียางนา แต่เปลี่ยนเป็นต้นยางพันธุ์อื่น ซึ่งปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ เช่น ยางเสี้ยน ยางปาย ยางแดง ส่วนที่ความสูงเกิน 1000 เมตรจะเปลี่ยนเป็นต้นสน สามารถใช้ยางสนมาจุดไฟได้ โดยขูดเปลือกไม้ออกมาให้ถึงเนื้อไม้ หรือ ตัดกิ่งไม้ออกมา แล้วรอสักพัก จะมียางสนซึมออกมาเรื่อยๆ

แว่นตา

ในป่ามักจะมีแมงหวี่ชอบบินชนลูกตา ที่อื่นก็ไม่ไป ชอบบินวนอยู่ตรงใบหน้า เจอเยอะเป็นพิเศษช่วงหน้าร้อนและต้นฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ผลไม้เริ่มร่วงหล่น ตะไคร้หอมฉีดตามเสื้อผ้ารอบคอ ไล่แมงหวี่ได้ดี แต่บางครั้งมันอาจจะบินเข้าตาเราก่อนที่จะได้กลิ่น ส่วนพวก deet ไม่แนะนำเนื่องจากกลิ่นที่อาจจะทำให้เวียนหัว

นอกจากคนนำหน้าจะต้องเจอใยแมงมุมเข้าตาต้องคอยปัดอยู่บ่อยๆแล้ว ยังอาจโดนผงจากเศษไม้ร่วงใส่หน้า หรือหนามดีดเข้าตาได้ บางคนเดินอยู่ดีๆเจองูเห่าพ่นพิษใส่ตา ทำให้ปวดแสบร้อนขึ้นเรื่อยๆจนลืมตาไม่ขึ้น วิธีแก้ไขคือต้องรีบใช้น้ำล้างตาออกให้สะอาดจัดว่าปลอดภัย หากไม่รีบล้างน้ำออกให้เกลี้ยงจะตาบอดได้ อย่าขยี้ตาเพราะจะทำให้พิษซึมแพร่กระจายและซึมเข้าตาทำให้ตาบอดได้ ถึงการใส่แว่นตาจะช่วยได้ดี แต่แว่นตาแบนๆธรรมดายังไม่ปลอดภัย เพราะละอองพิษยังมีโอกาสลอยเข้าตาได้ ต้องเป็นแว่นที่ครอบตาจนมิดทุกมุมเหมือนแว่นตาว่ายน้ำหรือแว่นตาช่าง

แว่นตาที่ใส่ในป่า ควรเป็นสีใสหรือสีเหลือง (หรือกระจกที่ตัดแสงสีฟ้าให้สะท้อนออกมา จะเห็นเป็นสีเหลืองได้เช่นกัน) เพราะในป่ามืด ถ้าเป็นแว่นกันแดดหรือกระจกสีอื่น จะมองไม่เห็นทาง และแว่นตาไม่ควรมีกรอบ เพื่อจะสามารถมองเห็นวิวได้รอบ

ปัญหาของแว่นตาคือ กระจกแว่นมักจะเลอะเหงื่อทำให้มองไม่เห็นทาง วิธีป้องกันคือ ใส่ headband เป็นยางยืดคาดหน้าผากซับเหงื่อ หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์แบตมินตันและเทนนิส จะช่วยให้เดินทั้งวันไม่มีเหงื่อไหลลงมาถึงตาเลย แต่ headband จะหนา เวลาเปียกแล้วจะแห้งยาก จึงใช้ได้อย่างมากแค่ไปเช้าเย็นกลับ กรณีที่ต้องเดินทุกวันโดยไม่เจอแดดเลย ควรเปลี่ยนมาใช้ผ้าสี่เหลี่ยมบางๆ ยาวพอรัดเอวได้ ถ้าอากาศร้อนก็พันหลายๆทบใช้รัดหน้าผาก แต่ถ้าอากาศเย็นก็สามารถรัดคลุมทั้งหัวได้เลย จะสามารถป้องกันเหงื่อไหลเข้าตาได้เหมือนกัน เวลาเปียกก็คลี่ออกมาผึ่งจะแห้งง่ายขึ้น แถมผ้ายังใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น พับทำเป็นหมวก ปิดคอด้านหลัง หรือปิดหน้ากันยุง หรือแม้แต่กรองน้ำ

ปัญหาของแว่นตาพลาสติก คือ เป็นรอยขีดข่วนได้ง่าย แค่เก็บในกระเป๋าใส่แว่นตาแล้วดึงเข้าดึงออกก็เป็นรอยแล้ว แว่นที่เป็นแก้วจะป้องกันรอยขีดข่วนได้ดีกว่าพลาสติก แต่หนักและแตกง่าย แว่นพลาสติก จึงควรใช้แบบเคลือบสารป้องกันรอยขีดข่วน เรียกว่า scratch resistant หรือ anti-scratch แว่นบางตัวมี anti-fog กันฝ้าด้วย

สายที่ใช้คล้องขาแว่นกับคอนั้นจะทำให้เกะกะเปล่าๆ เพราะเวลาคล้องคอ แว่นจะไปโดนเสื้อผ้าที่เปียกอยู่แล้ว ทำให้กระจกแว่นเปียกไปด้วย ทางที่ดีคือ มีกระเป๋าใส่แว่นตาที่สามารถเก็บแว่นกับผ้าเช็ดกระจก ดึงเข้าออกได้ง่าย

ถึงแม้ว่าฝนไม่ตก แต่เหงื่ออาจจะทำให้กระเป๋าใส่ผ้าเช็ดเลนส์เปียก พอเช็ดแล้วไม่แห้ง จึงควรใส่ผ้าเช็ดเลนส์ไว้ในถุงพลาสติก

เสื้อผ้า

เวลาเข้าป่า ควรมีเสื้อผ้าทั้งหมด 3 ชุด คือ ชุดนอน ชุดใส่อยู่ที่พัก และ ชุดลุย

ชุดนอนใส่เฉพาะเวลาเข้านอนเท่านั้น เพราะตอนนอนต้องการเสื้อผ้าแห้ง จะได้นอนหลับสบาย ใส่ขากลับก็ได้ ถ้าจำเป็นจริงๆก็สามารถนำมาใส่แทนชุดลุยได้ ถ้าต้องการลดน้ำหนักสัมภาระจริงๆ ชุดนอนสามารถตัดออกได้ แต่ต้องพกถุงนอนหนาขึ้น และ ถ้าไม่ใส่ชุดนอน ถุงนอนจะเหม็นได้ง่าย

ชุดใส่อยู่ที่พัก มีความจำเป็น เพราะหลังจากอาบน้ำแล้ว ตัวสะอาด แต่ชุดลุยมักจะเปียก และสกปรก จึงไม่นำมาใส่ เพราะจะทำให้ตัวสกปรกอีกรอบ ชุดใส่อยู่ที่พักไม่ควรใช้ชุดนอน เพราะ ต้องใช้ทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งก่อนนอนและหลังตื่นนอน เช่น ทำอาหาร กินข้าว อาจเลอะเทอะหรือเหงื่อออก ถ้าซักผ้า ล้างจาน อาจลื่นตกน้ำเปียก ถ้าชุดเปียกหรือเหม็น จะใส่นอนไม่สบาย พอเข้านอนจึงค่อยเปลี่ยนเป็นชุดนอน แล้วแขวนไว้ในร่ม เพราะอาจมีฝนตกตอนเช้า ถ้าไม่มีชุดเปลี่ยนเพื่อออกไปตากฝน จะทำให้ชุดนอนเปียกได้ ชุดใส่อยู่ที่พักที่ดี ควรจะกันฝน และเป็นเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ปกคลุมมิดชิดเพื่อกันแมลงกัดแขนขา ถ้าใส่กางเกงขาสั้น อาจโดยยุงหรือริ้นกัดจนคันไปหมด กางเกงขายาวยังกันต้นหนามตำขาได้ด้วย แต่ไม่ควรใช้เสื้อกางเกงกันฝนที่วางขายในท้องตลาด เพราะไม่แข็งแรง แค่นั่งก็เป้าขาดแล้ว จึงควรจะซื้อผ้ากันน้ำบางๆ มาตัดทำเสื้อและกางเกง ข้อดีของผ้ากันฝนคือ เบา เปียกแล้วแห้งง่าย ควรใช้ผ้าทึบแสงทำกางเกงเพราะผ้าโปร่งแสงจะโป๊ มีโอกาสที่คนอื่นจะมองทะลุเข้าไปข้างในได้ กางเกงใช้สีอ่อนๆ เพื่อให้เห็นสิ่งแปลกปลอม พวกทากและเห็บ ส่วนเสื้อควรใช้สีสดๆอย่างสีส้ม เผื่อเวลาฉุกเฉิน อย่างเช่น เครื่องบินออกตามหา จะได้มองเห็นได้ง่าย แค่หาที่โล่งไม่มีต้นไม้บัง เช่นกลางลำห้วยสายใหญ่ ก็เพียงพอแล้วที่เครื่องบินจะเห็นเสื้อผ้าสีสด อย่างเช่น คุณปูโลกเบี้ยว หลงป่าเขาใหญ่ แล้วจุดไฟให้มีควันให้ ฮ.มองเห็น แล้วคนบนเครื่องบินมองเห็นสีส้ม เคลื่อนไหวอยู่เบื้องล่าง ซึ่งก็คือคุณปูซึ่งใส่เสื้อสีส้ม กำลังกระโดดอยู่ แต่ถ้าใส่เสื้อผ้าสีจืดๆ แม้แต่อยู่ที่โล่ง ฮ.ก็ยังมองไม่เห็น ยกเว้นตอนลงจอดใกล้ๆ เพราะแม้แต่สีผิวของคนโบกมือยังมองไม่เห็น ยกเว้นจะเป็นผ้าผืนใหญ่ๆ อย่างฟลายชีท ถึงแม้จะเป็นสีพื้นๆอย่างสีขาว คนบน ฮ.ก็มีโอกาสมองเห็นได้ (ลองนึกถึงตัวเราเองมองเห็น ฮ.เพราะมีขนาดใหญ่ แต่มองไม่เห็นใน ฮ.ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า) มีตัวอย่างของพระที่หลงป่าเขาใหญ่ แล้วเฮลิคอปเตอร์ออกตามหา แล้วเห็นผ้าสีส้มวางอยู่กลางทุ่งหญ้า หรือคนช่วยเด็กหลงป่าในฟลอริดาที่ใช้กระดาษทิชชู่ 2 ม้วน ปูไปบนพื้นแบบสลับฟันปลาเป็นบริเวณกว้าง ทำให้ ฮ.ที่มาค้นหามองเห็นได้

ชุดลุย จำเป็นต้องปกปิดร่างกายให้มิดชิด ใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว เพื่อป้องกันแมลงกัด หนามเกี่ยว หญ้าคาและกิ่งไม้แห้งบาด และยังต้องระบายเหงื่อดี เพราะแม้แต่เดินป่าในที่อากาศหนาวถึงจุดจุดเยือกแข็งก็ยังมีเหงื่อออก ได้ ปัญหาจะเกิดขึ้น เมื่อต้องเดินป่าในที่ร้อน และไม่มีลมพัด เช่น ตามน้ำตกบนพื้นราบ หากเสื้อผ้าระบายความร้อนไม่ดี จะทำให้เหงื่อออกมาก และร้อนอบจนอาจไม่สบายได้


ตากเสื้อบนพื้นหิน
ร้อนๆแห้งไวคล้าย
กับใช้เตารีด
ผ้าบางจะแห้งเร็วกว่าผ้าหนา เวลาอยู่ในป่า เสื้อผ้าจะเปียกง่าย ตอนกลางคืนต้องตากผ้าไว้ในร่มและชื้นตลอดเวลา ตื่นเช้ามาผ้าจะไม่แห้ง ผ้าหนาจะแห้งยาก ไม่ว่าจะตากเสื้อผ้าไว้ในที่ร่มสักกี่วัน ก็ยังไม่แห้ง ต้องนำมาผิงไฟ เพื่อให้ความร้อนช่วยระบายน้ำออกไป ถ้าเป็นตอนกลางวัน ตากเสื้อผ้าไว้บนก้อนหินที่ตากแดดจนร้อน จะแห้งไวกว่า แต่ถ้าใช้ผ้าบาง แค่ตากลมสักพักก็แห้ง ผ้าฝ้าย(cotton) หรือ ผ้าใยสังเคราะห์ ที่ความหนาเท่ากัน จะใช้เวลาทำให้แห้งเท่ากัน ทั้งนี้เพราะ อัตราการแห้งขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำที่สะสมในเนื้อผ้า และ ความหนาของผ้า ไม่เกี่ยวกับเนื้อผ้าตามที่บริษัทขายชุดกีฬาโฆษณา แม้แต่ผ้า microfiber ที่หนาๆก็แห้งช้าเช่นกัน ผ้าที่ดูดน้ำเร็วอย่างเช่น ผ้าฝ้าย หรือ microfiber จะแห้งช้ากว่าเพราะดูดน้ำไว้มากกว่าเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าผ้าใยสังเคราะห์จะดูดน้ำช้ากว่า แต่เมื่อใส่เดินป่าเจอเหงื่อทั้งวัน ก็จะเปียกโชกไม่ต่างจากผ้าชนิดอื่น ผ้าโพลิเอสเตอร์หนาๆเหมือนกางเกงวอร์ม ก็ต้องตากแดดแรงๆถึงครึ่งวันกว่าจะแห้งสนิท เวลาเสื้อผ้าเปียก สามารถนำมาผิงไฟให้แห้งได้ แต่ควรใช้ความร้อนจากถ่านไม้แดงๆซึ่งไม่มีเปลวไฟ ไม่ควรอิงกับเปลวไฟโดยตรง เพราะ เปลวไฟอาจปลิวมาโดนเสื้อผ้าได้ ถึงแม้ผ้าจะไม่โดนเปลวไฟ แต่ถ้าอยู่ใกล้เปลวไฟมากเกินไป ความร้อนจากเปลวไฟสามารถทำลายผ้าทุกชนิด เปลวไฟมีอุณหภูมิ 800 - 1400 องศาเซลเซียส ในขณะที่ ผ้าโพลิเอสเตอร์จะละลายที่อุณหภูมิ 490 องศาเซลเซียส  ส่วนผ้าฝ้าย จะไม่ละลาย แต่ไหม้ที่อุณหภูมิ 240 องศาเซลเซียส ส่วนผ้าที่มีหลายๆส่วนผสม จะรับอุณหภูมิได้แตกต่างกันไป ถึงแม้ว่าจะผิงไฟบนถ่านไม้ที่กำลังร้อน แต่ไม่มีเปลวไฟ แต่ถ้าลมพัดก็อาจจะมีไฟลุกขึ้นมาอีก เสื้อผ้าจึงไม่ควรผิงไฟใกล้เกินไป

เส้นใยธรรมชาติอย่างเช่น ผ้าฝ้าย ใส่แล้วรู้สึกเย็นกว่าผ้าใยสังเคราะห์ เพราะดูดซับเหงื่อดี และระบายเหงื่อดี ส่วนผ้าใยสังเคราะห์ใส่แล้วร้อน ยกเว้นจะมีรูระบายอากาศมากๆเหมือนตาข่าย แต่ผ้ารูห่างๆจะโดนหนามเกี่ยวง่าย ข้อเสียของผ้าฝ้ายคือ ถ้าเป็นผ้าไม่ยืด หรือผ้ายืดด้านเดียว จะยับง่าย ส่วนผ้าใยสังเคราห์จะยับยาก ดังนั้น วิธีสังเกตุว่าเป็นผ้าฝ้ายหรือผ้าใยสังเคราะห์ นอกจากจะลองขยำดูรอยยับ และลองเผาไฟแล้ว ให้ลองส่องไฟนีออนดูที่ผิว ผ้าใยสังเคราะห์จะเรียบสนิท ไม่มีขนเลย ส่วนผ้าฝ้ายมักจะมีขนเล็กๆเรียกว่า lint ผ้าใหม่ที่ยังไม่เคยซัก อาจจะมองเห็นขนไม่ค่อยชัด ต้องส่องดูดีๆ

ชุดเดินป่าสีขาวจะดีที่สุด เพราะ เพื่อมองเห็นสิ่งแปลกปลอมได้ง่าย เช่น เห็บ มด สีที่ไม่ควรใส่คือ สีดำ เพราะล่อยุง แต่ถ้าต้องผ่านแหล่งชุมชน แล้วไม่ต้องการให้ดูผิดปกตินัก อาจเปลี่ยนมาใช้สีครีมหรือสีเทาอ่อนแทน สามารถมองเห็นแมลงได้เช่นกัน ปัญหาของชุดขาวไม่ใช่เลอะเทอะ เพราะสามารถซักได้ แต่มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งคือ อาจตกเป็นเป้าได้ง่าย เคยมีคนใส่หมวกสีขาวแล้วโดนนกอินทรีย์จิกหัวจนเลือดออก นายพรานจึงแนะนำว่า หมวกสีขาว อาจทำให้นกอินทรีย์คิดว่าเป็นกระต่าย และยังอาจทำให้สัตว์นักล่ามองเห็นตัวเราได้ง่าย สีที่ไม่ควรใช้เลยคือ สีเขียว หรือ ลายพราง เพราะ อาจโดนลอบยิง โดยไม่ถามแม้แต่คำเดียว พวกลักลอบตัดไม้ หรือชาวบ้านที่ออกล่าสัตว์ หรือขบวนการยาเสพติด อาจเข้าใจผิดว่า เป็นเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ถ้าเป็นแถวชายแดนพวกทหารกะเหรี่ยงหรือพม่า อาจเข้าใจผิดว่า เป็นทหารฝ่ายตรงข้าม อย่างเช่นในวันที่ 11 กค. 54 เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้อุ้มผาง โดนลอบยิงอาการสาหัส ขณะกำลังลาดตระเวน โดยไม่รู้ว่าใครเป็นคนยิง

ปัญหาของผ้าสีอ่อน คือ เปื้อนยางไม้ เช่น ยางกล้วย โดยเฉพาะเวลาที่ตัดกิ่งไม้ที่ขวางทาง แล้วมียางไหลออกมา พอเดินผ่านไปโดนเข้า ยางก็จะเปื้อนเสื้อผ้า โดยเฉพาะผ้าฝ้ายจะเปื้อนง่ายมาก ถ้านำผ้าที่เปื้อนมาแช่น้ำทิ้งไว้ค้างคืน รอยเปื้อนจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแดง ใช้ผงซักฟอกซักไม่ออก ไม่ว่าจะใช้กรด หรือ ด่าง หรือ น้ำมัน ก็ไม่ออก เนื่องจากยางไม้ซึมเข้าไปในเนื้อผ้าเหมือนเวลาย้อมสี (ด้วยเหตุนี้พระป่าจึงใช้สีกลัก คือ นำเปลือกไม้และยางไม้มาย้อมผ้า เวลาผ้าเปื้อนยางไม้ก็จะมองไม่เห็น) ต้องใช้น้ำยาซักผ้าขาวซักตอนแห้งๆ แต่จะทำให้ผ้าบริเวณนั้นกลายเป็นสีขาว ถ้าเป็นผ้าสีอ่อนจะไม่ค่อยเห็นความแตกต่างมากนัก

ชุดลุย สามารถใช้ลุยน้ำ ลุยฝน เปียกทั้งวันได้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะ เวลานอน เราต้องตัวแห้งอยู่แล้ว เวลาถึงที่พัก ก็ลงไปแช่น้ำทั้งชุดได้เลย

ชุดลุยจะเปียกเหงื่อ หากตากทิ้งไว้ค้างคืน ตื่นเช้ามาจะเหม็นเหงื่อ ทำให้ดึงดูดแมลง ตั้งแต่ผึ้งจนถึงยุง ถึงแม้จะผิงไฟก็แค่เพิ่มกลิ่นควันไฟเข้าไป ไม่ได้ช่วยให้หายเหม็น มีทางเดียวที่จะทำให้หายเหม็น คือ ซักด้วยผงซักฟอก

ผ้ายืด คือผ้า cotton หรือ polyester ผสมเส้นใยยืดได้เช่น spandex (บางประเทศเรียก lycra, elastane ฯลฯ) มีข้อดีคือ กางแขนขาได้ง่าย ไม่ต้องกลัวขาด แต่ถ้าใส่เดินป่า ควรใช้ผ้าที่ยืดได้ในแนวยาวเพียงแนวเดียว ไม่ควรใช้ผ้ายืดได้ทุกแนวอย่างเช่น เสื้อยืดหรือกางเกงวอร์ม เพราะเวลาโดนหนามเกี่ยว จะหลุดออกมาเป็นเส้น ส่วนผ้าที่บางจนเกือบแนบผิวหนัง อย่างเช่น กางเกงเต้นแอโรบิก จะโดนยุงกัดทะลุผ้า

ผ้าเนื้อแน่น (เวลากรองน้ำแล้วน้ำผ่านได้เป็นหยด) หนามจะเกี่ยวได้ยากกว่าผ้าเนื้อโปร่ง (เวลากรองน้ำแล้วน้ำไหลผ่านเป็นสาย) แต่ผ้าเนื้อแน่นใส่แล้วก็จะร้อนกว่าผ้าเนื้อโปร่ง

กางเกงทั่วไป เวลาลุยผ่านดงหญ้า จะมีดอกหญ้าติดกางเกงมาด้วย ต้องใช้มีดขูดออก ผ้ารูเล็กมากๆ หรือไม่มีรูเลย อย่างเช่น ผ้าไนล่อน สามารถป้องกันหญ้าเจ้าชู้ได้ดีกว่า แต่ผ้าไนล่อนระบายอากาศไม่ดี ใส่แล้วร้อน

กางเกงเดินป่าราคาแพงที่มีกระเป๋าด้านข้างเยอะๆนั่น เหมาะจะใช้ใส่เดินเล่นตัวเปล่าในเมืองหรือตามสถานที่ท่องเที่ยวที่คนจัด ไว้มากกว่า เผื่อมือไม่ว่างถือของ จะได้ใส่กระเป๋าได้ แต่เวลาเดินป่า ของทุกอย่างสามารถเก็บใส่เป้สะพายหลังได้ กระเป๋ากางเกงพวกนี้จึงไม่ได้ใช้ แถมยังทำให้กางเกงมีน้ำหนักมากขึ้น และใส่แล้วร้อนขึ้น เพราะตรงกระเป๋ามักจะมีผ้าซ้อนกันหลายชั้น

ปัญหาของกางเกงยางยืด อย่างเช่น กางเกงวอร์ม คือ เวลารัดสายคาดเอวของเป้แล้ว สายคาดเอวจะไปกดยางยืดทับกับเอว พอเดินไปนานๆจะเจ็บจนทนไม่ไหว กางเกงขอบเรียบ หรือกางเกงที่เอวสูงเหนือสะดือจะช่วยได้ กางเกงในก็เช่นกัน ควรใช้แบบขอบเรียบ ไม่มีจีบ

ปลายขากาเกง ไม่ควรยาวจนลากกับพื้น ควรจะตัดให้ลอยขึ้นมาเหนือตาตุ่มเล็กน้อย เพื่อจะได้ไม่เปื้อนดินเปียกน้ำง่าย แต่ไม่ควรจะลอยสูงเกินไป เพราะยุงหรือริ้นกัดขาง่าย กางเกงปลายขาแคบๆจะใช้คล่องตัวกว่าปลายขากว้าง และ กันแมลงได้ดีกว่า

ปัญหาของเสื้อไม่มีปก คือ สายสะพายไหล่ จะเสียดสีกับคอ เสื้อคอปกหรือเสื้อที่มี hood คลุมหัว จะช่วยได้ แถมยังช่วยป้องกันเห็บที่ไต่ขึ้นมาจากตามเสื้อ ไม่ให้เข้าคอด้วย

ในป่าอาจมีตัวต่อบินมาชนหัว การใส่หมวกจะป้องกันได้ หมวกที่มีผ้าคลุมยาวลงมาถึงไหล่ จะช่วยกันยุงและแมลงที่จะมากัดคอได้ ถ้าไม่มีหมวก สามารถใช้ผ้าขนาดเท่าผ้าขาวม้าพันหัวแทนได้ หมวกมีปีกรอบๆ จะช่วยป้องกันไม่ให้หนามมาเกี่ยวหน้าจนเป็นแผล แต่หมวกนอกจากจะบังวิว ทำให้มองไม่เห็นอันตรายที่อยู่ด้านบนเช่น งู แล้วยังร้อน ทำให้เราชอบถอดหมวกอยู่บ่อยๆ แต่เวลาไม่ใช้หมวก จะห้อยไว้ข้างหลังได้ ก็ต่อเมื่อหมวกไม่ชนกับเป้สะพายหลัง ถ้าต้องแบกเป้สูงถึงไหล่ขึ้นไป หมวกจะห้อยคอไว้ข้างหลังไม่ได้ ต้องห้อยคอไว้ด้านหน้า ทำให้เกะกะ มีวิธีแก้ไขคือ เปลี่ยนมาใช้เสื้อที่มี hood คลุมหัว แต่เสื้อพวกนี้ที่วางขายจะเป็นเสื้อกันลม ซึ่งใส่เดินป่าแล้วร้อน

จะเห็นว่า เสื้อผ้าเดินป่าดีๆหาซื้อไม่ได้ แม้แต่ยี่ห้อดังๆของฝรั่งยังใช้ไม่ได้ ผมจึงใช้วิธีซื้อผ้าจากสำเพ็ง แล้วจ้างร้านตัดเสื้อและกางเกงเดินป่าขึ้นมาเอง เสื้อผ้าที่ตัดเองมีข้อดี คือ เลือกเนื้อผ้าเลือกสีได้ และ เสื้อผ้าเดินป่าไม่จำเป็นมีกระเป๋าจำนวนมาก ทำให้น้ำหนักเบาลง และแห้งไวขึ้น ผมตัดเสื้อมี hood และรูดซิปด้านหน้าถึงคอ เวลาเดินป่าแล้วร้อน ก็รูดซิปลงช่วยคลายร้อนได้มาก เวลาอากาศหนาวก็รูดซิปปิดคอช่วยให้อุ่นขึ้นมาก ถ้ายุงกัดคอหรือแดดร้อนก็ดึง hood มาคลุมหัว ส่วนกางเกงผมจะตัดสูงกว่าสะดือ เพื่อเวลาคาดสายรัดเอวของเป้แล้ว จะไม่เจ็บเอว และยังป้องกันเห็บที่ไต่ขึ้นมาถึงเอว ไม่ให้เข้าไปกัดในสะดือด้วย

สำหรับคนที่ไม่มีหมวกและเสื้อไม่มี hood มีวิธีแก้ขัดคือใช้ผ้าขาวม้า คล้องคอแล้วผูกหลวมๆเหมือนผูกเท็คไท เหมือนพวกทหารเขมรทำ พอจะใช้คลุมหัวก็รูดผ้าด้านหลังขึ้นมา ในขณะที่ด้านหน้ายังคงผูกกันไว้อยู่

เวลาเดินป่าควรจะมีถุงเท้า 2 คู่ คู่หนึ่งใส่เดิน อีกคู่หนึ่งใส่นอน เวลาเท้าเปียกก่อนนอน ถุงเท้าจะช่วยให้เท้าแห้งได้ดีที่สุด

เราสามารถทำไม้แขวนเสื้อขึ้นใช้ได้ โดยหากิ่งไม้ขนาดความยาวเท่ากับไม้แขวนเสื้อ แล้วนำเชือกมาผูกตรงกลาง ส่วนปลายเชือกอีกด้าน นำไปผูกไว้กับราว ข้อควรระวังในการทำราวตากผ้าจากกิ่งไม้หรือเถาวัลย์คือ ไม้บางชนิดจะมียาง ทำให้เสื้อผ้าเปื้อนแล้วซักไม่ออก

ถ้าไม่มีเสื้อผ้า เราสามารถทำเสื้อผ้าได้จากเปลือกไม้ตระกูลขนุน (Moraceae) เช่น ขนุน โพ ไทร ฯลฯ นำไปจุ่มน้ำจนเปียก แล้วใช้ไม้ตีจนบางเหมือนกระดาษ วิธีสังเกตุไม้ตระกูลขนุนคือ เด็ดใบ หรือใช้มีดเฉาะทุกส่วนของลำต้น จะมียางสีขาวไหลออกมา หรือจะทำเสื้อผ้าจากใบไม้ โดยนำใบไม้ยาวๆ มาร้อยรวมกันเป็นแผงๆ เหมือนหลังคามุงจาก ถ้าทำหลายๆชั้นก็จะช่วยให้อุ่นขึ้น

ถุงมือ

เวลาเข้าป่า มือมีโอกาสบาดเจ็บได้ง่าย อาจจะโดนหนามตำ, หกล้ม, โดน ยุง เหลือบ ริ้น บินมากัด, เผลอไปโดนกองไฟ,  เผลอไปจับพืชหรือสัตว์มีพิษ, แม้แต่เวลาจับมีด หรือ จับไม้เท้านานๆ ก็จะมือพอง ฯลฯ แค่ลื่นแล้วแกว่งมือไปก็อาจจะโดนหนามตำได้แล้ว แต่เวลาอยู่ป่า ถึงมือจะเจ็บ ก็ยังต้องฝืนใช้ พักไม่ได้ ตั้งแต่รื้อของออกจากเป้ จนถึงจัดของกลับใส่เป้ ต้องใช้มือตลอดเวลา ถ้าตรงไหนเจ็บก็จะโดนซ้ำ ทำให้ยิ่งเจ็บหนักขึ้น ถ้าต้องเดินทางต่อ ก็ต้องทนเจ็บต่อไปจนกว่าจะออกจากป่า

เวลาเดินป่าจึงควรสวมถุงมืออยู่เสมอ เพื่อช่วยลดการบาดเจ็บ อย่างเวลาโดนหนามตำ ถ้าไม่สวมถุงมือ หนามจะหักติดกับผิวหนัง ไม่เหลือโคนโผล่ออกมา ทำให้ดึงออกยาก แต่ถ้าสวมถุงมือ โอกาสหนามตำจะน้อยลง เพราะมีถุงมือป้องกันอยู่ ถึงแม้จะโดนหนามตำ หนามจะหักเหลือแกนไว้ตามความหนาของถุงมือ สามารถดึงออกง่าย

ปัญหาของการสวมถุงมือ คือถ้าเดินป่าที่อากาศร้อนๆ เช่น ตามน้ำตกใกล้พื้นราบ จะร้อนจนทนไม่ไหว ดังนั้น ควรหลีกเลี่ยงไปในสถานที่เหล่านั้น หรือไปในช่วงฤดูหนาว

ถุงมือที่ใช้เดินป่า อาจเป็นถุงมือผ้าฝ้ายถักที่เรียกว่า ถุงมือก่อสร้างราคาถูกๆก็ได้ สำคัญที่ควรจะระบายอากาศได้ดี เพื่อเวลาใส่ไปนานๆจะไม่ร้อนอบอ้าว แต่ถ้าต้องจับไม้เท้าหรือจับด้ามมีดแล้วลื่น ควรจะหาถุงมือแบบที่เคลือบยางเป็นจุดๆที่ฝ่ามือ เพื่อให้ระบายอากาศได้ดี ไม่ควรใช้ถุงมือที่เคลือบยางแผ่นเดียวทั้งฝ่ามือ ใส่แล้วจะร้อนอบอ้าว

แหนบ และเข็มเย็บผ้า


หนามตำในแนวนอน ให้เขี่ยหนัง
ด้านบนออก แล้วใช้เข็มงัดขึ้นมา
แหนบและเข็มเย็บผ้า เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ดึงหนามออก ถ้าแหนบดึงไม่ออก ต้องใช้เข็มเย็บผ้าช่วย ถ้าไม่มีแหนบ อย่างน้อยควรมีเข็มเย็บผ้า เพราะ เข็มเย็บผ้าเป็นอุปกรณ์สำรองที่มีน้ำหนักเบามาก แต่มีประโยชน์มากเวลาที่ต้องการใช้ นอกจากจะใช้เย็บเสื้อผ้าที่ขาดแล้ว ยังใช้บ่งหนามได้ด้วย การบ่งหนามใช้เข็มหมุดจะจับสะดวกกว่า แต่เข็มเย็บผ้าก็ใช้ได้เช่นกัน

ถ้าโดนหนามตำแล้วไม่เอาออก ผิวหนังจุดนั้นจะปวด ยิ่งไปสัมผัสโดนอะไรก็จะยิ่งปวด เหมือนโดนเข็มทิ่มแทง การเอาหนามออก จะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดลงได้มาก ถ้าไม่บ่งหนามออก ปล่อยทิ้งไว้ข้ามคืนจะเริ่มเป็นหนองห่อหนามไว้ มีอาการปวด ถ้ายังปล่อยทิ้งไว้ ร่างกายจะผลักหนามนั้นออกมาเอง แต่ต้องใช้เวลาหลายวัน โดยหนองจะโตขึ้นเรื่อยๆ พอหนองแตกออก หนามก็จะออกมาด้วย แต่ถ้ามีอาการผิดปกติ เช่น มีไข้ หรือ กล้ามเนื้อหดเกร็ง ให้สันนิษฐานว่าจะติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีหลายชนิด ถ้ากล้ามเนื้อหดเกร็งสันนิษฐานว่าจะติดเชื้อบาดทะยัก ปล่อยทิ้งไว้อาจถึงตายได้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อให้ยาฆ่าเชื้อ

ถ้าโดนหนามตำหักติดอยู่ โดยไม่มีปลายโผล่ออกมา จะใช้แหนบจับไม่ติด ให้ทำตามโบราณว่า "หนามยอก เอาหนามบ่ง" เข็มเล่มเดียวเพียงพอแล้ว ที่จะอาเสี้ยนหนามออก ตั้งแต่หนามเล็กๆ อย่างหนามหวาย จนถึง หนามใหญ่ๆ อย่างหนามทุเรียน ไม่จำเป็นต้องใช้แหนบช่วย เพียงแต่ต้องใช้เวลาเขี่ยพอสมควร โดยขั้นแรกให้ดูว่า หนามตำเข้าไปในแนวใด

เครื่องกันหนาว

อากาศในป่าจะต่างจากในเมือง ในป่าตอนกลางคืน แม้แต่บริเวณน้ำตกใกล้พื้นราบในฤดูร้อน จะค่อนข้างเย็น ถ้าเครื่องกันหนาวไม่พอ จะสะดุ้งตื่นกลางดึกเพราะหนาว หรือตื่นมาฉี่่ เพราะอากาศเย็นทำให้คนฉี่บ่อย ยิ่งเย็นมากอาจฉี่คืนละหลายรอบ ทำให้นอนหลับไม่เต็มอิ่ม แต่ถ้าเครื่องกันหนาวอุ่นพอ จะหลับสบายได้ถึงเช้า

อากาศหนาวจริงๆเกิดจากลม ที่อุณหภูมิ 10-18 องศาเซลเซียส ถ้าลมเอื่อยๆไม่แรงมาก ใส่เสื้อกันลมตัวเดียวสามารถเดินไปมาได้สบาย เสื้อกันฝนพลาสติก ราคาถูกๆ นัำหนักเบาๆ แบบคลุมถึงหัวเข่า จะป้องกันทั้งลมทั้งฝน และยังใช้รองนั่งกับพื้นได้อีกด้วย ไม่ต้องแบกเสื้อกันลมไปเพิ่มให้หนัก เพียงแต่ต้องระวังเสื้อกันฝนบางๆ จะเกี่ยวกิ่งไม้ขาดง่าย  ปัญหาของเสื้อกันฝนแบบยาวถึงหัวเข่าคือ กางขามากไม่ได้ และ เวลาก้มลงไป ขอบจะเลี่ยกับพื้น ทำให้ทากไต่ขึ้นมาได้ จึงควรใช้เสื้อกันฝน และกางเกงกันฝน แยกกัน จะสะดวกกว่า แต่ถ้าอุณหภูมิ 1-10 องศา จำเป็นต้องใส่เสื้อ fleece (คือผ้าใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์ที่นำมาขูดให้เป็นขน) กับ กางเกงกันลมเพิ่ม จึงจะอยู่ได้

ถึงแม้ว่าวิธีปรับสภาพร่างกายให้เข้ากับความหนาว คือ สู้กับความหนาว โดยพยายามใส่เสื้อผ้าให้น้อยชิ้นที่สุด เพราะ ถ้ายิ่งใส่เสื้อกันหนาว สักพักจะยิ่งหนาว ต้องหาเสื้อกันหนาวมาใส่เพิ่ม หรือแม้ว่าการอาบน้ำเย็น จะช่วยให้นอนหลับอุ่นสบาย แต่วิธีนี้ใช้ได้ดีเฉพาะเวลาที่อยู่แถวพื้นราบ ที่ความสูงไม่กี่ร้อยเมตร จากระดับน้ำทะเล ถ้าขึ้นไปบนภูเขาสูงในวันแรกๆ อย่าสู้กับความหนาว เพราะ เวลาร่างกายปรับตัวเข้ากับความหนาว จะต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพื่อเผาผลาญอาหารให้เกิดความอบอุ่น ในขณะที่กำลังสั่น ร่างกายจะต้องใช้ออกซิเจนเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า แต่บนภูเขาสูง มีออกซิเจนน้อย จะทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่พอ แล้วจะป่วยง่าย ดังนั้น เมื่อขึ้นเขาในวันแรกๆ ที่ร่างกายยังไม่ปรับตัวเข้ากับอากาศเบาบาง ควรใส่เสื้อกันหนาวให้เพียงพอ การใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้นเพื่อต่อสู้กับความหนาว ควรทำหลังจากที่อยู่บนที่สูงนานๆ จนร่างกายปรับตัวได้แล้ว คือ มีระดับออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น จนเท่ากับเวลาอยู่ที่ระดับน้ำทะเลแล้ว วิธีวัดระดับออกซิเจนในเลือดดูได้จากในหัวข้อ อันตรายจากการขึ้นภูเขาสูง ด้านล่าง

คนที่เป็นโรคโลหิตจางเพราะขาดธาตุเหล็ก หรือ ฮอร์โมนไทรอยด์ที่ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย(Free T3) ต่ำ จะหนาวมากกว่าคนปกติ จึงต้องการเครื่องกันหนาวเพิ่มขึ้น

เครื่องกันหนาวที่สำคัญจริงๆคือถุงนอน ต้องกันหนาว ถึงขนาดที่ไม่ใส่เสื้อผ้านอนได้ เพราะบางครั้ง ชุดนอนอาจจะเปียก หรือชุดเดินป่าอาจจะขาด ต้องนำชุดนอนมาใส่เดินป่าแทน ถุงนอนที่หนาเพียงพอ จะช่วยให้ไม่ต้องแบกเสื้อผ้าไปเพิ่ม

ก่อนขึ้นเขาควรสอบถามอุณหภูมิบนยอดเขาก่อน ถ้าไม่รู้ มีวิธีคำนวณอุณหภูมิที่แม่นยำ คือ ให้ดูพยากรณ์อากาศว่าอุณหภูมิต่ำสุดของบริเวณใกล้เคียงเป็นเท่าใด แล้วเพิ่ม 0.6 องศาทุกๆความสูงที่เพิ่มขึ้น 100เมตร เช่น ถ้าอุณหภูมิต่ำสุดของจังหวัดคือ 26 องศา ที่ความสูง 100 เมตรจากระดับน้ำทะเล และเราต้องขึ้นไปนอนบนยอดเขาที่อยู่ใกล้ตัวจังหวัด ซึ่งสูงถึง 1,100 เมตร นั่นคือความสูงเพิ่มขึ้น 1,100-100=1,000 เมตร อุณหภูมิจะลดลง (1,000/100)*0.6=6 องศา แสดงว่า อุณหภูมิที่จะไปพักคือ 26-6=20 องศา และเผื่อลมพัดจะลดลงอีก 2-3 องศา คือ 17 องศา เมื่อรู้แล้วเราจะได้เตรียมถุงนอนให้เหมาะสมกับอุณหภูมิ

การเลือกถุงนอน ไม่ควรเชื่อ temperature rating ที่ผู้ผลิตเขียนไว้ เพราะแต่ละคนทนอุณหภูมิได้ไม่เท่ากัน ดังนั้นควรทดสอบช่วงอุณหภูมิของถุงนอน ด้วยการไปนอนในสถานที่จริง โดยไม่ต้องใส่เสื้อกันหนาว สังเกตุอุณหภูมิที่เมื่อดึง hood ปิดหมดไม่ให้อากาศเข้าออกแล้ว เริ่มหนาวจนต้องสะดุ้งตื่นตอนกลางคืน นั่นคืออุณหภูมิที่หนาวที่สุดที่นอนตัวตรงได้ ถุงนอนยี่ห้อดีๆจะมีบอกอุณหภูมิ เช่น มาตรฐานยุโรป EU (EN13537) จะใช้เป็นค่า comfort และ limit อุณหภูมิที่สูงกว่า comfort สามารถนอนตัวตรงได้ ช่วงอุณหภูมิที่ต่ำกว่า comfort จนถึง lower limit จะต้องนอนขด เราจึงต้องเปรียบเทียบระหว่าง อุณหภูมิหนาวที่สุดที่เราสามารถนอนตัวตรงได้ กับ comfort ของถุงนอน ก็จะรู้ว่าตัวเราต่างจากมาตรฐานเท่าใด เช่น ถ้า comfort ของถุงนอนคือ 10 องศาเซลเซียส แต่พอนอนจริงเริ่มรู้สึกหนาวที่อุณหภูมิ 17 องศาเซลเซียส แสดงว่าเราต่างจากมาตรฐานอยู่ 7 องศาเซลเซียส ครั้งต่อไปเวลาซื้อถุงนอน ให้ดูที่ comfort แล้วบวกไปอีก 7 องศาเซลเซียส จะได้อุณหภูมิจริงที่ใช้งานได้ ถึงแม้ว่าจะซื้อยี่ห้ออื่น แต่ถ้ามาตรฐานเดียวกันมักจะไม่ต้องไปวัดใหม่ ยกเว้นใช้ถุงนอนที่คุณภาพต่ำ ที่รับอุณหภูมิได้ไม่หนาวจริงเท่ากับที่ถุงนอนระบุไว้ หรือใช้ถุงนอนคุณภาพสูง ทำให้รับอุณหภูมิได้หนาวกว่าที่ถุงนอนระบุไว้


รอยเย็บเป็น
cold spot
ถุงนอนที่กันหนาวได้ดี จะต้องไม่มี cold spot คือ จุดที่ความร้อนรั่วออก ความร้อนมักจะรั่วออกตามจุดที่บางๆ คือ ซิป และ รอยเย็บ  ถุงนอนคุณภาพต่ำ จะมีรอยเย็บอยู่ตรงกลางผืน เป็นลวดลาย รูปหัวใจบ้าง รูปดอกไม้บ้าง เพื่อยึดเส้นใยให้ติดกับผ้า ซึ่งรอยเย็บเหล่านี้เองคือ จุดที่ผ้าชั้นในติดกับชั้นนอก ทำให้จุดนั้นไม่มีเส้นใยกักอากาศ ปล่อยให้ความร้อนทะลุผ่านได้ง่าย ตรงซิปก็เช่นกัน ถุงนอนคุณภาพดีจะมีผนังอีกชั้นเพื่อปิดไม่ให้อากาศไหลออกทางซิป ยกเว้นถุงนอนบางๆ อาจะไม่จำเป็นต้องคำนึงถึง cold spot มากนัก ถ้าต้องใช้ถุงนอนที่มี cold spot ควรนำอีกใบมาสวมทับให้ cold spot อยู่คนละจุดกัน ถุงนอนคุณภาพดี ถึงแม้จะมีรอยเย็บ แต่มีการเสริมเส้นใยใต้รอยเย็บเพื่อไม่ให้จุดนั้นบาง

ถ้ารีบนอน รีบสวมถุงนอน จะรู้สึกร้อนจนต้องเปิดซิปออก แต่กลางดึกจะต้องตื่นขึ้นมาหนาวสั่น ดังนั้น ก่อนนอนควรลดอุณหภูมิของร่างกาย ดัวยการใส่ชุดเหมือนตอนจะนอน แล้วนั่งนิ่งๆตากลมสักระยะหนึ่ง อย่างน้อยสักครึ่งชั่วโมง รอจนร่างกายหนาวจนเริ่มทนไม่ไหว จึงค่อยมุดลงถุงนอน วิธีนี้จะปรับอุณหภูมิร่างกายตนเองให้ลดลงเหมือนตอนนอน เมื่อสวมถุงนอนจะปรับได้ถูกว่าควรจะคลุมแค่ไหน จะช่วยให้หลับสบายทั้งคืน อาจนอนไปแล้ว ตื่นมากลางดึก รู้สึกร้อนต้องคลี่ถุงนอนออกด้วยซ้ำ แต่ก็ยังดีกว่าหนาวกลางดึก เพราะ ร้อนกลางดึก แค่คลายร้อนแล้วหลับต่อได้ แต่ถ้าหนาวกลางดึก ถึงแม้จะปิดถุงนอนแล้วก็ยังนอนต่อไปไม่ไหว ต้องสร้างความอบอุ่นให้แก่ร่างกายก่อน เช่น ออกกำลังกาย ผิงไฟ หรือกินน้ำร้อน


hood รอบใบหน้า
คือตัวปรับอุณหภูมิ
วิธีปรับอุณหภูมิภายในถุงนอนมัมมี่ คือ ดึงสายรัด hood รอบใบหน้า ถ้าอากาศหนาว ให้ดึงสายรัด hood มารัดใบหน้าให้มิดชิด อย่าให้อากาศไหลออก แต่ถ้านอนไปแล้วรู้สึกร้อน ค่อยคลายสายออก ถ้าเป็นถุงนอนสำหรับอากาศหนาวจัด จะมีทั้งสายรัด hood รอบใบหน้า และสายรัดรอบคอด้านในอีกชั้น

ถุงนอนแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ ถุงนอนใยสังเคราะห์ และ ถุงนอนขนห่าน ถุงนอนราคาถูกๆอาจใช้ขนเป็ดแทน ถุงนอนใยสังเคราะห์มีข้อดีคือ ถ้าเปียกแล้วยังรักษาความอบอุ่นไว้ได้ แต่ข้อเสียคือ ถุงนอนที่มีน้ำหนักเกิน 1 กิโลกรัม เวลายัดใส่เป้จะเริ่มเกะกะ ถ้าเกิน 1.5 กิโลกรัมจะเริ่มยัดใส่เป้ไม่ลง ส่วนพวกถุงนอนขนห่าน จะมีข้อดีตรงที่ น้ำหนักเบากว่าใยสังเคราะห์เกือบเท่าตัว และยัดได้เล็กกว่าใยสังเคราะห์เกือบเท่าตัวเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เวลาขึ้นเขาที่มีอากาศหนาว ถุงนอนขนห่านจะเหมาะที่สุด แต่ถุงนอนขนห่านมีข้อเสียคือ เวลาเปียกน้ำแล้ว จะกันหนาวไม่ได้เลย ถุงนอนยี่ห้อที่ใช้ผ้าชั้นนอกไม่ดี หรือเย็บไม่ดีพอ เช่น deuter จะเหม็นกลิ่นขนสัตว์ และ ขนจะทะลุออกมา ปะปนไปกับเครื่องใช้ ถุงนอนขนห่านต้องซักด้วยน้ำยาเฉพาะ ถ้าซักด้วยผงซักฟอกธรรมดาหรือน้ำยาซักแห้ง จะละลายน้ำมันที่เคลือบขนออก ทำให้ขนลีบ และกันหนาวไม่ได้อีกต่อไป ถุงนอนใยสังเคราะห์ใช้สบู่ล้างได้ แต่ก็ไม่ควรใช้น้ำยาซักแห้ง เพราะน้ำยาจะติดผ้าชั้นนอก ล้างออกยาก

ถุงนอนซิบซ้ายหรือซิบขวา ออกแบบมาสำหรับคนที่ถนัดซ้ายหรือขวา คนถนัดขวาจะยื่นมือเปิดซิปทางซ้าย แต่ในการใช้งานจริง คนที่มีแขนครบทั้ง 2 ข้างจะใช้ซิบอยู่ข้างไหนก็ได้ แต่ยังมีอีกปัญหาหนึ่งคือ บางคนเจออากาศหนาวแล้ว จมูกข้างหนึ่งตัน หรือบางคนเวลานอนแล้วหน้าเอียงไปข้างหนึ่ง ทำให้น้ำมูกไหลไปอุดตันข้างนั้น (ซึ่งแก้ได้โดยเอียงหัวมาอีกด้านเพื่อให้น้ำมูกไหลออก) การใช้ถุงนอนที่ซิบอยู่คนละด้านกับจมูกข้างที่ตันก็ช่วยได้บ้าง เพราะบางแห่งที่อากาศไม่หนาวมาก อาจต้องนอนในถุงนอนแล้วเปิดซิบออก ทำให้ด้านที่รูดซิปจะเย็นกว่าอีกด้านที่ไม่มีซิป ถ้าจมูกด้านที่มีปัญหาอยู่ด้านเดียวกับซิป จะทำให้ร่างกายด้านนั้นเย็น ทำให้จมูกตันจนหายใจไม่ออก

หลังจากตื่นนอน ควรหาที่โล่งตากเสื้อผ้า เครื่องนอน และ ถุงนอน ก่อนที่จะออกเดินทาง ถ้าถุงนอนเปียก จะต้องต้องบีบน้ำออก แล้วอาจต้องรอถึงครึ่งวัน กว่าถุงนอนจะแห้ง อาจทำให้เดินทางต่อไม่ทัน ดีกว่าที่จะนอนหมกในถุงนอนเปียกๆในคืนต่อไป เพราะยิ่งเข้าป่าลึก หรือยิ่งขึ้นเขาสูง อากาศจะยิ่งชื้น สิ่งที่เปียกจะยิ่งไม่แห้ง อาจจะไปไม่ถึงปลายทาง ก็ถือเป็นบทเรียนว่าครั้งต่อไปควรพกถุงพลาสติกกันน้ำห่อไว้อีกชั้น การตากถุงนอน ที่ปลอดภัยกับวัสดุที่ใช้ที่สุดคือ ผึ่งกับแดดหรือลมในที่โล่ง ถึงแม้ถุงนอนจะไม่เปียก แต่การกลับด้านในออกมา จะช่วยไล่ความชื้นที่สะสมไว้ในช่วงกลางคืน ทำให้คืนต่อไปถุงนอนแห้ง นอนสบายขึ้น แต่ถ้าตากไม่ได้เพราะฝนตก หรือไม่มีที่โล่งบริเวณที่พัก อาจใช้เวลาช่วงพักกลางทางตากแทน แต่ไม่ควรรอถึงตอนเย็น เพราะตอนเย็นมีโอกาสฝนตกมากกว่าตอนเช้า กรณีที่ไม่ต้องตากถุงนอน คือ ถุงนอนเปียกไม่มาก อาจจะเปียกแค่ชั้นนอก พอทนนอนได้

ความสามารถในการกันหนาวของถุงนอน ขึ้นอยู่กับความฟู ถุงนอนที่อัดอยู่ในถุงใส่นานๆ จะแฟบ ถ้าดึงออกมาใช้จะกันหนาวได้ไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น หลังจากดึงถุงนอนออกมาจาถุงชั้นนอกแล้ว ควรจะสะบัดตามยาว เพื่อให้ถุงนอนฟูขึ้น และเวลาเก็บถุงนอนใส่ถุงชั้นนอก อย่าม้วน เพราะจะทำให้ถุงนอนแบน แต่ให้ใช้ยัดลงไปแบบไม่ต้องเป็นระเบียบจะดีกว่า ควรยัดส่วนหัวเข้าไปก่อนเพราะส่วนหัวจะกินเนื้อที่มาก ถ้ายัดทีหลังจะยัดลำบาก และเมื่อกลับถึงบ้านแล้ว อย่าเก็บในถุงชั้นนอก เพราะถุงนอนที่อัดไว้นานๆ จะไม่คืนรูปฟูเหมือนเดิม ปกติปลายถุงนอนจะมีหู 2 อัน สำหรับแขวนไว้กับราว แต่ราวในตู้เสื้อผ้าจะเตี้ยไป ควรจะทำราวขึ้นมาใหม่ โดยใช้ราวผ้าม่านมาติดกับผนัง

ถุงนอนยิ่งหนา จะยิ่งรับช่วงอุณหภูมิได้กว้างขึ้น ถุงนอนบางๆจะรับช่วงอุณหภูมิได้แคบมาก คืออุณหภูมิที่เริ่มหนาวกับเริ่มร้อน ต่างกันแค่ไม่กี่องศาเซลเซียส ใช้นอนได้แค่แถวพื้นราบตามชนบทในช่วงหน้าร้อน เวลาแบกเป้เข้าป่า ควรจะใช้ถุงนอนที่หนากว่าอุณหภูมิของสถานที่นั้น ถ้าร้อนก็คลี่มาทำผ้าห่มได้  คนส่วนใหญ่กลัวแบกหนัก จึงชอบใช้ถุงนอนบางๆ ที่รับอุณหภูมิต่ำสุดได้แค่อุณหภูมิของสถานที่นั้น แต่พอเจออากาศหนาวกว่าที่ถุงนอนจะรับได้ เขาอาจจะหนาวจนนอนไม่หลับ หรืออาจหนาวตายได้  มีหลายสาเหตุที่ทำให้อากาศหนาวลงกะทันหัน เช่น ช่วงนั้นความกดอากาศเปลี่ยน หรือ เจอลมพัดแรง มีตัวอย่างที่ผมเจอมากับตัวเองหลายครั้ง เช่น ตอนขึ้นไปนอนบนยอดเขาหลวง นครศรีธรรมราช เพียงคนเดียว แล้วไปพักตรงใกล้ยอดเขาตรงจุดที่ลมพัดแรงมาก เผอิญว่าไปถึงใกล้ค่ำ ก่อไฟไม่ทัน พอเริ่มมืด ลมเริ่มแรงขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้จะอยู่ที่ความสูงแค่ 1600 เมตร และอุณหภูมิในที่อับลมแค่ 18 องศาเซลเซียส แต่ความชื้นสูง ถึงแม้ว่าจะใส่เสื้อผ้าที่แห้งสนิท และ ใส่เสื้อกันฝนเพื่อกันลมแล้วก็ตาม แต่ก็เริ่มสั่น จึงรู้ว่าอาการ hypothermia เริ่มต้นขึ้นแล้ว ตอนนั้นเสื้อกันหนาวไม่มี พอสั่นไปได้ไม่กี่นาที เริ่มปวดไปถึงกระดูก จนขยับแทบไม่ได้ ปวดเหมือนกับเวลาอมน้ำแข็งแล้วปวดหัว จึงรู้ได้ทันทีว่าความหนาวเข้าไปถึงกระดูกแล้ว เรื่องเก็บของหนีลงเขา เป็นไปไม่ได้แล้ว เพราะอย่าว่าแต่เดินเลย ลุกขึ้นยืนยังไม่ค่อยไหว ตอนนั้นผมรู้ตัวว่าป่วยหนัก ถ้าไม่ได้ความอบอุ่นเพียงพอ จะต้องตายแน่ โชคดีที่ผมผูกเปล คลี่ถุงนอน ไว้แล้วทันทีที่มาถึง และ ผมใช้ถุงนอนหนามาก กันลมได้ พอรีบมุดเข้าถุงนอน จึงหายปวดทันที เมื่อได้นอนหลับสบายตลอดคืน ตื่นขึ้นมาจึงหายป่วย ครั้งนั้นทำให้ผมรู้ว่า หนาวตายเป็นอย่างไร

การเดินทางโดยรถส่วนตัว ถ้าใช้ถุงนอนสี่เหลี่ยม จะนอนสบายกว่าถุงนอนมัมมี่ เนื่องจากถุงนอนสี่เหลี่ยมมีพื้นที่ขยับขามากกว่า แต่อากาศจะรั่วออกทางไหล่ได้ง่าย จึงควรเลือกแบบหนาๆ ส่วนถุงนอนมัมมี่ซึ่งมีขนาดกะทัดรัดกว่า ควรเก็บไว้ใช้เฉพาะในสถานที่ๆรถเข้าไม่ถึง ต้องแบกเป้เดินเองเท่านั้น

ถ้าไม่มีถุงนอน พยายามหาที่พักหลบลม จะช่วยได้มาก อาจหาวัสดุที่ลมผ่านไม่ได้ มาปิดรอบที่พักให้มิดชิด อาจใช้ เปลือกไม้ มอส หรือ ใบไม้ ถ้าใบไม้เล็กจะต้องใช้จำนวนมากพอ แล้วก่อไฟไว้ในที่พักหรือตรงทางเข้า

เชือก

เชือกเป็นอุปกร์ที่มีประโยชน์มากสำหรับการเดินทาง ไม่ว่าจะนอนในป่าหรือนอนโรงแรม อย่างแรกคือ ใช้ตากผ้า ถ้าหมกเสื้อผ้าไว้โดยไม่ตาก เสื้อผ้าจะเปียกและเหม็น ทำให้ใส่ไม่สบายตัว ยิ่งเวลาอยู่ในป่าจำเป็นต้องใช้เชือกมาก เพื่อผูกเปล และขึงฟลายชีท

เชือกควรทำจากใยสังเคราะห์ อย่าใช้เชือกผ้าฝ้ายซึ่งมีขน เพราะจะเปียกง่าย แห้งยาก และรับน้ำหนักไม่ดี ไม่ควรใช้เชือกฟาง เนื่องจากแตกง่าย ไม่ควรใช้เชือกที่ถักจากพลาสติกแข็ง เพราะว่า จะเปื่อยง่ายแค่เวลาโดนของมีคมบาดเล็กน้อยก็เปื่อยแล้ว เชือกถัก ทั้งไนล่อนนิ่ม และพลาสติกแข็ง สามารถเปียกน้ำได้ทั้งนั้น เพราะว่า น้ำจะขังอยู่ตามรอยถักของเชือก เราจึงไม่ควรกังวลเรื่องเชือกเปียกมากนัก ตามปกติตื่นมาตอนเช้าเชือกมักจะเปียก ไม่มากก็น้อย แค่นำไปแขวนตากลมหรือเจอไอแดดสักพักก็แห้งแล้ว ถ้าไม่มีเวลา อาจใส่ถุงพลาสติกแยกไว้ หรือ ใส่ไว้ในกระเป๋าตาข่ายข้างเป้ เวลาหยุดพักกลางทาง ค่อยจะนำเชือกมาตาก

การใช้งานเล็กๆ ควรจะใช้เชือกเส้นเล็ก ถ้ารับน้ำหนักไม่พอจึงค่อยเปลี่ยนเป็นเส้นใหญ่ เพราะเชือกเส้นเล็ก เวลาเปียกจะแห้งเร็วกว่าเชือกเส้นใหญ่ ถ้าใช้ขนาดใหญ่อย่างเดียว จะต้องแบกน้ำหนักมากเกินไป ถ้าใช้ขนาดเล็กอย่างเดียว จะรับน้ำหนักมากๆไม่ไหว เชือกที่ใช้เดินป่ามักจะมี 3 ขนาด คือ เล็ก กลาง ใหญ่ ความยาวของเชือกที่เหมาะสม จะใช้งานได้คล่องตัวที่สุด ถ้ายาวเกินไปจะพะรุงพะรัง ถ้าสั้นเกินไปจะต้องต่อเชือกบ่อย ถ้ายาวไม่พอ นำมาต่อกันได้ เชือกเกินไม่เป็นไร แต่ถ้าเชือกไม่พอแล้วจะลำบาก
เชือกขึงปีกปลายชีท ควรผูกด้วยเงื่อน
รูดปรับเลื่อนได้ เพื่อใช้ปรับเชือกให้ตึง
  1. เส้นเล็กยืดได้เล็กน้อย ใช้ขึงฟลายชีทด้านข้าง เชือกไนล่อนถักแบบนิ่ม โปร่ง กลม ไม่มีแกน จะยืดได้เล็กน้อย ซึ่งเพียงพอแล้วที่จะยืดเวลาเดินสะดุดเชือก โดยไม่ทำให้ฟลายชีทขาด แต่ไม่ควรใช้ยางยืด จะยืดง่ายเกินไป ควรใช้เชือกสีขาวจะมองเห็นง่าย จะได้ไม่เดินสะดุด การขึงฟลายชีทด้านข้าง มักจะใช้เชือกยาวเมตรกว่าๆ แต่บางครั้งอาจต้องยาวไปถึง 3 เมตร เพราะต้นไม้ที่จะผูกอยู่ไกล แต่น้อยครั้งที่จะยาวไปถึง 4 เมตร  การใช้เชือกยาว 3 เมตร จะช่วยไม่ให้ต้องต่อเชือกบ่อย เชือกที่ยาวกว่านี้จะเริ่มเกะกะ แต่เชือกยาว 3 เมตรก็เริ่มถือลำบาก ซึ่งสามารถแก้ไขได้ด้วยการ พับเกือบครึ่งแล้วผูกสองเส้นไว้ด้วยกันเป็นห่วง โดยใช้เงื่อนรูด (ตามรูป) จะช่วยลดความยาวของเชือกลง แต่บางครั้งเชือกยาว 3 เมตรอาจไม่พอ จึงควรเตรียมเชือกไปเผื่อต่อด้วย เชือกที่นำมาต่อ ควรยาวเส้นละประมาณ 2 เมตร พับเกือบครึ่งแล้วผูกไว้ด้วยกันเป็นห่วงโดยใช้เงื่อนรูดเช่นกัน จะทำให้ถือสะดวกขึ้น เชือกที่นำไปต่อนี้ ยังสามารถนำไปผูกสิ่งของได้อีกด้วย
  2. เส้นขนาดเล็กยืดไม่ได้ และไม่ดูดน้ำ ใช้ขึงแกนฟลายชีทตามยาว กันกิ่งไม้หล่นใส่ได้ระดับหนึ่ง  และ ใช้ตากผ้า ซึ่งต้องรับน้ำหนักเสื้อผ้าเปียก จึงต้องใช้เชือกที่ยืดไม่ได้ ซึ่งได้แก่ เชือกไนล่อนถักแบบนิ่ม มีแกนตรงกลาง แม้ว่าจะผูกให้หย่อนเล็กน้อย เวลาแขวนเสื้อจะไม่หย่อนเท่ากับเชือกที่ไม่มีแกน ควรใช้ยาวเส้นละ 7 เมตร จะผูกต้นไม้ได้แทบทุกต้น ถ้าใช้สั้นกว่านี้ บางต้นอาจจะห่างกันเกินไปจนผูกเชือกไม่ถึง และควรเตรียมไปเผื่ออีกเส้น เผิ้อต้นไม้ใหญ่ หรือ ต้นไม้อยู่ห่างกันมาก เชือกเส้นนี้จะต้องเนื้อแน่น ไม่ดูดน้ำ เพราะ เวลาฝนตก น้ำจะได้ไม่ซึมมาตามเชือก
  3. เส้นใหญ่ ใช้แขวนเปลกับต้นไม้ ยาวเส้นละ 7 เมตร จำนวน 2 เส้น เวลาใช้พับครึ่ง และควรเตรียมไปเผื่ออีกเส้น เผื่อต้นไม้ใหญ่ หรือต้นไม้อยู่ห่าง

เงื่อนกระตุก ใช้ผูกเชือกกับต้นไม้
การผูกเชือกกับต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นเชือกเปล หรือฟลายชีท ให้ใช้เงื่อนกระตุกเหมือนเวลาผูกเชือกรองเท้า เปลก็ใช้เงื่อนกระตุก ถึงแม้ว่านอนไปนานๆก็จะไม่หลุด ส่วนการต่อเชือก 2 เส้นเข้าด้วยกัน ใช้เงื่อนบ่วงบาศจะปลดง่ายที่สุด

ปัญหาของเงื่อนกระตุกคือ เวลาผูกกับต้นไม้ฝั่งหนึ่งแล้ว จะมาผูกอีกฝั่ง เชือกจะไม่ตึง วิธีแก้เวลาผูกอีกฝั่งคือ เวลาผูกเงื่อนชั้นแรกแล้ว ให้ใช้นิ้วกดเงื่อนไว้ไม่ให้หลวมแล้วจึงผูกเงื่อนชั้นที่สอง หรือถ้ามีเชือกเหลือให้พันรอบต้นไม้อีกรอบ โอกาสที่เชือกเลื่อนเวลาผูกจะน้อยลง

วิธีตากผ้าไม่ให้โดนน้ำค้างคือ ใช้เชือกอีกเส้น ขึงใต้เปล หรือ ถ้าฟลายชีทกว้าง อาจขึงด้านข้างเปล ในแนวขนานกับเปล แต่ให้อยู่ใต้ฟลายชีท วิธีนี้จะช่วยให้ไม่ต้องใช้ฟลายชีทเพิ่มเพื่อใช้ตากผ้า

เชือกถักไนล่อนหาซื้อได้ที่ตลาดคลองถมวันอาทิตย์ และ ถ.เจริญรัถ วงเวียนใหญ่

ถ้าไม่มีเชือก สามารถใช้ไม้สด เช่น เถาวัลย์เส้นเล็ก หญ้า เปลือกไม้ หรือ ผ่ากิ่งไม้สด ออกมาเป็นเส้น ทำเป็นเชือก  อาจจะบิดกิ่งไม้สดให้แตกออก เพื่อให้งอง่าย หรือ ถักเชือกจากกิ่งไม้หรือใบไม้หรือเปลือกไม้ที่เป็นเส้นใย เช่น เปลือกชั้นกลางและชั้นในของต้นกฤษณา ถ้าเป็นต้นไม้มีหนาม ให้ใช้มีดขูดหนามออกก่อนนำมาใช้ นำเส้นใยมารวมกัน ให้มีความหนาเท่ากับเชือกที่เราต้องการ แล้วแยกเป็น 2 มัด  ถักเชือก 2 มัดไขว้กันไว้ครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเหลือไว้ต่อเชือก โดยเพิ่มเส้นใยมัดใหม่เข้าไป แล้วจึงถักต่อไป

วิธีมัดเชือกที่ทำจากไม้สด คือ นำมามัดของให้เหลือปลายเชือกไว้ แล้วนำปลายเชือกทั้ง 2 เส้นมาบิดรวมกันเป็นเกลียวจนกลายเป็นเชือกเส้นเดียว แล้วนำปลายเชือกที่ได้ไปสอดไว้ใต้รอยมัด เงื่อนที่ใช้กับเชือกทั่วไป จะนำมาใช้กับเชือกที่ทำจากไม้สดไม่ได้ผล เพราะไม้สดจะขาดง่าย

วิธีตัดเชือกที่ทำจากไม้สด นอกจากจะใช้มีดแล้ว ถ้าเป็นเชือกเส้นเล็กๆ สามารถใช้มือหมุนให้ขาด โดยใช้มือข้างหนึ่งจับเชือกไว้นิ่งๆ ส่วนอีกข้างหนึ่งจับเชือกหมุนเหมือนปั่นจักรยาน ส่วนที่ถูกหมุนจะแตกออก แล้วขาดได้ง่าย

การยึดไม้ 2 ท่อนไว้ด้วยกัน นอกจากผูกเชือกแล้ว อาจทำตะปูจากไม้ โดยใช้เหล็กเจาะรูเชื่อมรอยต่อของไม้ทั้งสองท่อน แล้วสอดไม้ที่เหลาให้มีขนาดใหญ่กว่ารูเล็กน้อยเข้าไป ตอกจนไม้ติดอยู่ในรูแน่น

เป้สะพายหลัง

เป้สะพายหลังที่สะพายต่ำกว่าไหล่ หากต้องสะพายของหนักเกิน 1-2 กิโลกรัม  เดินไปนานๆ จะเริ่มกดไหล่ ทำให้เมื่อยไหล่ การรัดสายคาดเอวแล้วผ่อนสายสะพายไหล่ให้เป้หย่อนไปข้างหลัง จะช่วยบรรเทาความหนักได้บ้าง

วิธีป้องกันเป้กดไหล่ คือใช้เป้โครงที่มี load lifter สูงกว่าไหล่ หรืออย่างน้อยที่สุด ควรอยู่ระดับเดียวกับไหล่  โดยคาดสายคาดเอวให้ต่ำที่สุดให้ยันกับตะโพกไว้ เพราะเวลาเดินไปเรื่อยๆ น้ำหนักของเป้ จะดึงสายคาดเอว ให้เลื่อนลงมาอยู่ในระดับนี้ เมื่อรัดสายคาดเอวแล้ว จึงดูระดับ load lifter ไม่ให้ต่ำกว่าไหล่ แล้วดึงสาย load lifter ให้ตึง สายเส้นนี้จะทำหน้าที่รับน้ำหนักแทนสายสะพายไหล่ ช่วยให้น้ำหนักของเป้ไปกดที่หน้าอกแทน สังเกตุว่าไหล่จะไม่ต้องรับน้ำหนักเลย

load lifter
(สีแดง) ควร
สูงกว่าไหล่

ความสูงของเป้สะพายหลัง จึงควรสูงกว่าไหล่ แต่ต้องสามารถเงยคอขึ้นได้พอสมควร เพราะเวลาคลานขึ้นเขา จำเป็นต้องเงยหน้าขึ้นดูทาง เมื่อเงยคอขึ้นถึงระดับหนึ่งแล้ว เป้ควรมีที่รองคอด้วย เพื่อป้องกัน ในกรณีล้มหงายหลัง ทำให้หัวกระแทกก้อนหิน หรือ คอหัก เป้ที่มีขนาดเหมาะสมกับตัว load lifter จะทำมุม 45 องศากับพื้น คือ สูงประมาณท้ายทอย(ระดับที่กะโหลกศรีษะต่อกับคอ) ถ้าน้อยกว่านี้แสดงว่าเป้เตี้ยเกินไป ถ้ามากกว่านี้แสดงว่าเป้สูงเกินไป เป้ขนาดใหญ่ๆ สามารถใส่ของน้อยๆได้ ใส่ของมากก็ได้ ไม่เหมือนเป้ขนาดเล็ก ใส่ของได้จำกัด และเป้ใบใหญ่ๆ สามารถที่จะใส่ของเข้าไปได้ โดยไม่ต้องเสียเวลา กดให้แน่น เหมือนเป้ใบเล็กที่มีพื้นที่จำกัด

เป้สะพายหลังที่ดี ไม่ว่าจะเป็นใบเล็กหรือใบใหญ่
เวลาตั้งเป้กับพื้น  เป้มักจะตั้งตรงไม่ได้ มักจะคว่ำหน้าลงกับพื้น  วิธีตั้งเป้ให้ตรง เพื่อจัดของ คือ ใช้เชือกแขวนหูหิ้วด้านบนของเป้ ไว้โดยให้ก้นเป้ติดพื้นอยู่ อาจแขวนไว้กับกิ่งไม้ด้านบน หรือ ขึงเชือกไว้ระหว่างต้นไม้ 2 ต้น แล้วแขวนเชือกอีกเส้นไว้ลงมาผูกกับหูหิ้วด้านบนของเป้

เป้สะพายหลัง อาจจะมีสารเคลือบกันน้ำ ส่วนใหญ่ใช้โพลียูรีเทน ซึ่งเป็น polymer มีคุณสมบัติ water resistant ไม่ใช่ waterproof คือ กันน้ำได้ แต่ไม่มีโพลียูรีเทนที่กันน้ำได้ 100%  นั่นคือ เมื่อตากฝนเป็นเวลานานๆ น้ำจะซึมเข้าไปถึงด้านในเป้ ทำให้เสื้อผ้าชื้น ดังนั้น เสื้อผ้าจึงควรใส่ถุงพลาสติกอีกชั้น และ เมื่อออกจากป่าแล้ว ควรจะนำเป้มาผึ่งลมให้แห้ง อย่าเก็บทั้งที่เปียกๆ มิฉะนั้น เมื่อโพลียูรีเทนโดนน้ำไปนานๆ จะลอกออกจากผ้า ทำให้คุณสมบัติกันน้ำหมดไป การลอกสารเคลือบเป้ก็ทำวิธีเดียวกันคือ นำเป้ไปแช่น้ำนานๆ

ถ้าไม่มีเป้สะพายหลัง สามารถใช้ผ้าขาวม้าห่อของไว้ตรงกลาง แล้วผูกปลายทั้งสองฝั่งเข้าด้วยกันทำเป็นสายสะพาย แม้แต่เสื้อหรือกางเกง ผูกปลายไว้ไม่ให้รั่ว ใช้ใส่ของได้ หรือ จะใช้เชือกมาถักเป็นถุงตาข่ายใส่ของได้เช่นกัน

ถุงพลาสติก

ก่อนออกเดินทาง สัมภาระทุกชิ้นจะแห้งและสะอาด เราจึงไม่เห็นความสำคัญของถุงพลาสติก แต่หลังจากเข้าไปในป่า ผ่านไปคืนแรก อุปกรณ์ต่างๆจะเริ่มเปียก อาจเกิดจากความชื้นหรือหยดน้ำ และ เสื้อผ้าจะเริ่มสกปรก พอตื่นเช้าต้องเดินทางต่อ เราจำเป็นต้องแยกเสื้อผ้าที่สะอาดและแห้ง ออกจากเสื้อผ้าที่เปียกหรือเหม็น เพื่อไม่ให้เปื้อนไปด้วยกัน เราจึงควรเตรียม ถุงพลาสติกไปหลายๆใบ อย่างน้อย 3 ใบเพื่อใส่เสื้อผ้า ใบหนึ่งใส่เสื้อผ้าที่แห้งสะอาด ใบหนึ่งใส่เสื้อผ้าที่เปียกแต่สะอาด ใบหนึ่งใส่เสื้อผ้าที่เหม็น นอกจากนี้ ควรจะเตรียมถุงพลาสติกไปสำรองอีกอย่างน้อย 10 ใบ เผื่อใส่ของอื่น และเผื่อถุงขาด ใครเคยเข้าป่าจะรู้ว่า ถุงพลาสติกได้ใช้แน่ๆ

ก่อนออกเดินทาง อุปกรณ์ต่างๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ ควรใส่ถุงพลาสติกให้หมด โดยเฉพาะเครื่องนอน คือ ชุดนอน เปลสนาม และถุงนอน ต้องใส่ถุงพลาสติกไว้ เพราะเครื่องนอนต้องแห้งอยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าถุงใส่ถุงนอนจะกันน้ำ แต่น้ำก็มีโอกาสเข้าได้ โดยเฉพาะทางหูรูด ถึงแม้เป้จะกันน้ำได้ดีสักเพียงใดก็ตาม ความชื้นหรือน้ำก็ยังมีโอกาสเล็ดลอดเข้าไปทำให้ด้านในเป้เปียก บางทีเปิดฝาแล้วฝนตกซึมเข้าไป บางทีใส่ถุงเปียกเข้าไป บางทีน้ำหกในเป้ บางครั้งเราอาจลื่นตกน้ำ

ถุงพลาสติกใส่เสื้อผ้าควรเป็นถุงใส เพื่อที่จะมองเห็นสิ่งของในถุงได้ง่าย เผื่อใส่ของหลายชิ้น ถุงบาง จะช่วยให้แบกไปได้หลายใบโดยไม่หนักมาก

ถุงพลาสติกอเนกประสงค์ คือ ถุงร้อนขนาด 14"x22" สามารถใช้ใส่เสื้อผ้า หรือ ใส่น้ำแล้วใช้เชือกมัดมุมหนึ่งห้อยไว้กับต้นไม้

ภาชนะใส่ของเหลว

ปัญหาของของเหลวทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็น น้ำ ยากันทาก ยากันเห็บ สบู่เหลว น้ำมันแร่ น้ำปลา น้ำยาล้างจาน ฯลฯ คือมักจะหกเลอะเทอะได้ง่าย พอหกแล้วจะไหลออกมาจนหมดขวด

ภาชนะใส่ของเหลวที่แถมมาตอนซื้อ มักจะออกแบบมาไม่แข็งแรง ฝาปิดไม่แน่น แค่ใช้ที่บ้านยังต้องวางตั้งอย่างเดียว วางนอนเมื่อไหร่ จะรั่วหมด ถ้าพกไปนอกบ้าน แค่ตะแคงก็มีโอกาสหกเลอะเทอะแล้ว ขวดส่วนใหญ่ใช้ฝากด เปิดง่าย ปิดง่าย แค่โดนบีบก็อ้าแล้ว เวลาเดินทาง ขวดมีโอกาสโดนกดทับ เช่น วางไว้บนรถทัวร์ หรือลื่นล้มทับ และขวดส่วนใหญ่จะบาง มีโอกาสบุบบี้ ขวดแตกได้ง่ายเช่นกัน ภาชนะใส่ของเหลวบางชนิด ต้องซื้อมาเป็นขวดใหญ่ ถ้าพกติดตัวไปทั้งขวดก็จะลำบาก ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรซื้อขวดพลาสติกมาแบ่ง ถ้าเป็นพวกยาฆ่าแมลงที่ต้องฉีด ก็ซื้อขวดแบบหัวสเปรย์ ถึงแม้จะของเหลวที่ซื้อมา จะเป็นขวดเล็ก ก็ไม่ควรใช้ขวดดั้งเดิม ยกเว้นจะทดสอบแล้วว่ามีคุณสมบัติตามต้องการคือ แข็งและไม่รั่ว

ถึงแม้ว่าขวดโลหะจะไม่แตก แค่บุบ แต่หาซื้อยาก ที่มีขายอยู่จึงไม่ค่อยมีตัวเลือก ถ้าออกแบบมาไม่ดี มีโอกาสรั่วได้เช่นกัน วัสดุที่ทดแทนได้ คือพลาสติกแข็งๆ พวก HDPE หรือ PP โดยสังเกตุว่า HDPE จะทึบแสง ค่อนข้างหนา และแข็ง ส่วน PP จะโปร่งแสง สีขุ่นๆ แต่ไม่ใส และค่อนข้างแข็ง ต่างจาก LDPE ซึ่งถึงแม้จะโปร่งแสงเหมือนกัน แต่จะค่อนข้างนิ่ม บีบได้จนแบนเหมือนยาสวนทวาร ถ้าเลือกได้ ควรเลือก PP เพราะไม่ค่อยทำปฎิกริยากับอาหารหรือสารเคมี แต่ถ้าเลือกไม่ได้ PET, HDPE หรือแม้แต่ LDPE ก็พอจะทดแทนได้ ข้อดีของขวดพลาสติกคือ เบา มีตัวเลือกหลากหลาย สามารถเลือกแบบที่กันรั่วได้ 100% โดยเวลาซื้อให้สังเกตุว่าตรงรอยต่อระหว่างฝากับขวด จะมียางหรือพลาสติกกั้นอยู่อีกชั้น และก่อนนำมาใช้ ควรทดลองใส่ของเหลววางตะแคง ดูว่ารั่วหรือไม่ และทิ้งไว้หลายๆวัน เพื่อดูว่าของเหลวทำปฎิกริยากับขวดหรือไม่

ถ้าหาซื้อขวดพลาสติกไม่ได้ อย่างน้อยสามารถใช้ขวดน้ำดื่ม หรือขวดนม แบบใช้แล้วทิ้ง ที่ขายตามร้านสะดวกซื้อ จะมีฝาเกลียวปิดแน่นกันหกได้

ผ้าปูพื้น

ผ้าปูพื้นหรือ ground sheet เป็นเสมือนด่านกั้นระหว่างความสกปรกเฉอะแฉะจากพื้นดินกับความสะอาดของตัวเรา ผ้าปูพื้นและเปลสนาม เปรียบได้กับโต๊ะในป่า ถ้าไม่มีผ้าปูพื้น จะไม่มีที่วางของหรือจัดของ  ไม่มีที่นั่งต้องนั่งกับก้อนหินหรือท่อนไม้ ซึ่งเสี่ยงกับพวกสัตว์บนพื้นดิน แต่ถ้าใช้ผ้าปูพื้น ก็สามารถป้องกันสัตว์เลื้อยคลานได้มาก โดยเฉพาะมด ถ้าโรยแป้งมันจะไม่กล้าไต่ขึ้นมา

ผ้าปูพื้นที่ดีควรเป็นผ้ากระสอบถัก แบบเดียวกับพื้นเต็นท์ หาซื้อได้ที่ร้านริมถนนแถวโบ้เบ๊ ไม่ควรใช้ผ้าพลาสติกเนื้อแน่นเหมือนยาง ตอนเช้าจะเปียก เพราะน้ำซึมขึ้นมา  และควรใช้ผ้าสีขาว เพื่อที่จะมองเห็นสัตวฺ์เลื้อยคลานที่ไต่ขึ้นมาได้ง่าย แต่ปัญหาของผ้ากระสอบถักคือ ถ้าใช้กรรไกรตัดขอบ ใช้ไปสักพัก ขอบจะแตกรุ่ย จึงต้องเปลี่ยนมาใช้ความร้อนตัด เช่น ใช้หัวบัดกรีหัวแหลมกรีด (บัดกรีใช้กี่วัตต์ก็ได้) โดยใช้กระดาษแข็งรองข้างใต้ แต่อย่าใช้เปลวไฟตัด เพราะ ผ้าพลาสติกติดไฟได้

คนส่วนใหญ่ขี้เกียจพกผ้าปูพื้น เนื่องจากเวลาพับแล้วฟู ใช้แล้วสกปรก แนะนำให้ตัดให้เหลือขนาดเล็กๆ เพียงเพื่อให้วางของเวลาจัดเป้ได้ จะได้ไม่ต้องไปวางของตามก้อนหินหรือแขวนไว้ตามกิ่งไม้ ผ้าขนาดเล็กจะพับเก็บง่ายขึ้น

ถ้าไม่มีผ้าปูพื้น เราสามารถทำเสื่อได้หลายวิธี เช่น ตัดใบตอง หรือใบไม้ใหญ่ๆ มาซ้อนกัน หรือ หากิ่งไม้มาเรียงกันแล้วมัดไว้ไม่ให้เคลื่อน หรือ สับไม้ไผ่ตามยาว ให้เป็นซี่ๆ อย่าให้ขาดหมด ให้แต่ละซี่กันประมาณ 1 ซม ผ่าด้านหนึ่งให้ขาดแล้วคลี่ออกมา จะได้เป็นแพ (ไม้ไผ่จะคลี่ออกได้ ต้องตัดตรงข้อต่อทิ้งด้วย), หรือ หาใบไม้ยาวๆตรงๆ แล้วใช้เชือกถักให้ติดกันเป็นแพ ส่วนเก้าอี้นั่ง สามารถสร้างได้โดยใช้กิ่งไม้ใหญ่มาวางบนง่ามไม้ 2 ฝั่งที่ปักลงดิน

หมวกปีนเขา

หมวกปีนเขา ใส่อุปกรณ์เสริมได้พื้นโลกมีรากฐานเป็นหิน มีดินปกคลุมอยู่ แต่ก็ยังพบหินโผล่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะตามทางชันและในลำธาร หมวกปีนเขา ใส่เพื่อป้องกันหัวกระแทกหิน แตกต่างจากหมวกกันน็อกทั่วไปตรงที่มีรูระบายอากาศ จึงใส่แล้วไม่ร้อน มีประโยชน์เวลาปีนป่ายทางชัน เคยมีเหตุการณ์จริงเมื่อปี 2560 ผู้หญิงที่ขึ้นไปดูพระอาทิตย์ตกบนยอดเขาช้างเผือก แล้วขาลงพลัดตกเขาลงไปในเหวลึก ถึงแม้ว่าจะยังไม่ตาย แต่กะโหลกยุบ ส่งผลให้หัวหน้าอุทยานสั่งปิดการท่องเที่ยวทันที อีกเหตุการณ์หนึ่งในปี 2561 นักกู้ภัยถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอน ถูกคนอยู่สูงกว่าทำหินหล่นลงมาใส่หัว โชคดีที่ใส่หมวกปีนเขาไว้จึงไม่เป็นอะไร ถัดมาอีกปี 2562 อาสาดับไฟป่าตรงดอยรอยต่อแม่สลอง-แม่จัน พลาดตกเขาหัวกระแทกหินเสียชีวิตทันที

การตกเขาจะพบไม่บ่อยนัก โดยเฉพาะคนที่ชำนาญป่า และเดินอย่างระมัดระวังจะไม่ค่อยมีปัญหา บวกกับมีเป้สะพายหลังกันหัวกระแทกได้ หมวกกันกระแทกจึงอาจไม่จำเป็น แต่หมวกกันกระแทกก็ยังมีประโยชน์ตรงที่สามารถใส่อุปกรณ์เสริม เช่น แว่นตาหรือตาข่ายกันแมงหวี่บินเข้าตา หรือแม้แต่ติดกล้องถ่ายวีดีโอ

ไม้เท้าเดินป่า

สำหรับคนเดินตาม ไม้เท้าจะมีประโยชน์สำหรับช่วงขึ้นเขาลงเขา การเดินในลำธารที่มีก้อนกรวดลื่นๆ ไม่มีก้อนหินให้เกาะ สามารถใช้ไม้เท้าช่วยในการทรงตัวได้ ถ้าไม่มีไม้เท้า จะทรงตัวไม่ดีทำให้มักจะพลาดไปจับหนาม หรือมือแกว่งไปถูกหนาม การจับต้นไม้ ยังเสี่ยงที่จะ สัมผัสกับสัตว์มีพิษที่เกาะอยู่ตามต้นไม้ เช่นบุ้ง หรือ ถูกงูกัด  งูเขียว และงูหลายชนิด พันอยู่ตามเถาวัลย์ หรือ กิ่งไม้ สูงระดับเอวขึ้นไป แต่เรามองไม่เห็นเพราะพุ่มไม้บังอยู่ หรือสีลำตัวที่กลมกลืนไปกับกิ่งไม้  ถ้าจับต้นไม้ผุอาจจะหัก ทำให้เสียหลักได้ ถ้าไม่มีต้นไม้ให้เกาะ จะต้องย่อเขาใช้มือยันพื้น ซึ่งเสี่ยงที่จะสัมผัสกับสัตว์และหนามที่พื้น ถ้าต้องเดิมบนขอนไม้ มีโอกาสที่จะพลาดตกลงไปง่ายมาก ไม้เท้าดินป่าจะช่วยพยุงตัวได้

ปัญหาของการใช้ไม้เท้าคือบางพื้นที่จะเดินได้ช้า ป่าบางแห่ง ไม่ค่อยมีสัตว์ใหญ่เช่นช้าง ทำให้ใบไม้ทับถมกันสูง ถ้าใช้ไม้เท้าจิ้ม จะทะลุลงไปลึกจนไม่มีที่สิ้นสุด ในกรณีนี้ ถ้ามีต้นไม้ ควรอาศัยจับต้นไม้ แล้วใช้ไม้เท้าเฉพาะเวลาที่ไม่มีต้นไม้ให้เกาะ  การเดินตามก้อนหินก็เช่นกัน ถ้าใช้ฝ่ามือจับก้อนหินไว้ จะยึดเกาะได้ดีกว่าไม้เท้า อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ใช้ ก็ควรจะพกไม้เท้าไปเผื่อไว้เสมอ กรณีจำเป็นสามารถหยิบมาใช้ได้

ข้อควรระวังในการจับต้นไม้คือ ควรจับทั้ง 2 มือๆละต้น กันพลาด และ ต้องดูดีๆก่อนจับ เพราะอาจไปจับโดนกิ่งไม้ผุ  หรือหนาม หรือ อาจสัมผัสกับสัตว์มีพิษ  ดังนั้น ถ้าจะจับต้นไม้ ควรสวมถุงมือด้วย

การไปหาตัดไม้ระหว่างทางในป่านั้นหายาก มีขนาดไม่แน่นอน และเสียเวลา เวลาเดินป่าอาจไม่มีเวลาหยุดเพื่อหากิ่งไม้ ไม้เท้าเดินป่าต้องแข็ง แต่ไม้ในป่าหากเป็นไม้ตายก็จะผุพัง ถ้าเป็นต้นไม้ที่ยังไม่ตายก็จะอ่อน  และส่วนที่สำคัญของไม้เท้าดินป่าคือ เชือกคล้องข้อมือ เพื่อที่เวลาไม่ใช้ ไม้เท้า เช่น เวลาปีนป่าย จะได้แขวนไว้กับข้อมือ ไม่ต้องถือ ดังนั้น ทางที่ดีควรพกไม่เท้าเดินป่าแบบอลูมิเนียมหรือ carbonite ซึ่งเบากว่าไปด้วย และควรพกไป 2 อัน จะช่วยเวลาทรงตัวและขึ้นเขาได้ดีกว่าอันเดียวอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าขาพลิก ไม้เท้าจะช่วยพยุงเราออกมาจากป่าได้

เห็บและทากอาจจะไต่ขึ้นมาตามไม้เท้า ถ้าฉีดยาจะสิ้นเปลืองเนื่องจากไม้เท้าเล็ก ให้ใช้ยาชนิดทาแทน

ถึงแม้ว่าไม้เท้าเดินป่าจะช่วยผ่อนแรงหัวเข่าได้ แต่มีข้อแม้ว่า อย่าวิ่งลงเขา เพราะการวิ่งลงเขาหรือการกระโดดนั้น เท้าจะต้องรับน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติ แถมเป็นการเพิ่มลงที่เข่าข้างเดียวเสียด้วย กรณีนี้ ไม้เท้าจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะการวิ่งลงเขา ขาจะกระแทกพื้นก่อนแล้วค่อยใช้ไม้เท้ายันตาม สังเกตุว่าไม่ว่าจะใช้ไม้เท้าหรือไม่ก็ตาม พอลงมาถึงพื้นราบแล้วพักคืนหนึ่ง รุ่งเข้าหัวเข่าจะระบมจนเดินไม่ไหว

ไม้เท้าที่ยาวเกินไป เวลาเดินทางราบนานๆ จะต้องยกจนเมื่อย ไม้เท้าที่สั้นเกินไป เวลาลงเขาหรือปักก้อนหินที่อยู่ไกล จะต้องก้มตัวมาก 

ไม้เท้าดินป่าที่มี 3 ท่อน ยืดหดได้ ท่อนล่างสุดจะเล็ก ถ้าเวลาขึ้นลงเขาแล้วใช้ไม้เท้าปักดิน แล้วใช้ยันกับไม้เท้ากันลื่น อาจทำให้ไม้เท้าท่อนล่างงอได้

การลุยน้ำข้ามลำธาร ถ้าไม่มีไม้เท้าเดินป่า ควรตัดไม้ 1-2 ท่อน มาทำไม้เท้าเพื่อช่วงทรงตัว

ถ่านไฟฉาย

อุปกรณ์หลายชนิดต้องใส่ถ่าน เช่น gps, ไฟฉาย ฯลฯ แต่การเข้าป่าแต่ละครั้ง มักจะใช้ไฟในถ่านไม่หมด เมื่อต้องเดินทางใหม่ ต้องการถ่านที่ไฟเต็มเสมอ ดังนั้น จึงควรใช้ถ่านชาร์จแบบ NIMH จะมีความจุมากกว่าถ่าน alkaline หลายเท่า และ ควรเลือกถ่านรุ่นที่เก็บประจุได้นาน เพื่อที่จะชาร์จไฟทิ้งไว้ล่วงหน้า เมื่อถึงเวลาเดินทาง สามารถหยิบมาใช้ได้เลย ไม่ต้องเสียเวลาชาร์จใหม่

ที่ชาร์จถ่าน อย่าใช้รุ่นเก่าเป็นแบบ timer ตั้งเวลาตัด 10 กว่าชม. จะทำให้ถ่านเสื่อมคุณภาพเร็ว เนื่องจากชาร์จไฟเกิน ควรเลือกแบบที่ตัดไฟอัตโนมัติเมื่อไฟเต็ม สังเกตุข้างกล่องจะเขียนไว้ว่า dV dT  และควรเลือกแบบที่ สามารถตั้งเวลาชาร์จเร็วหรือชาร์จช้าได้  การชาร์จช้า 4-5 ชม. จะช่วยรักษาคุณภาพของถ่าน ส่วนการชาร์จแบบเร็ว 1-2 ชม.จะทำให้ถ่านร้อนจัด และเสื่อมคุณภาพเร็ว  ควรทำเฉพาะเวลาเร่งรีบเท่านั้น

ที่ชาร์จพลังแสงอาทิตย์ ใช้ในป่าไม่ได้ผล เพราะในป่าไม่ค่อยมีแดด ทั้งวันอาจมีแดดแค่ครึ่งชั่วโมง ที่ชาร์จที่เหมาะสำหรับในป่าคือ เครื่องปั่นไฟพลังน้ำแบบพกพา สามารถชาร์จไฟขณะนอนหลับได้ โดยอาศัยกระแสน้ำในลำห้วย

แป้งเด็ก

แป้งเด็กช่วยซับเหงื่อ ยี่ห้ออะไรก็ได้ มีส่วนผสมของ talc ชื่อเต็มคือ talcum ป้องกันมดและแมลงได้สารพัด ป้องกันทากได้ด้วย

เวลาเข้าป่า ควรพกแป้งเด็กไปด้วยทุกครั้ง บางทีต้องใช้ทาสายเปล เพื่อป้องกันมดจากต้นไม้ ไต่มาทางสายเปล

ยา

เวลาเข้าป่ามักจะโดนแมลงกัดต่อย ทั้งมด ทาก เห็บ ยาทาแก้แพ้ ที่มีส่วนผสมของไดเฟนไฮดรามีน (diphenhydramine hcl) 2% ทาแล้วหายคันได้อย่างรวดเร็ว ที่มีขายในเมืองไทยมีหลายยี่ห้อเช่น cadramine-v (คนละยี่ห้อกับคาลาไมล์ที่ไม่มีส่วนผสมของไดเฟนไฮดรามีน) หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป แต่ถ้าคันไปทั้งตัวจนทายาไม่ไหว อาจใช้ยาแก้แพ้แบบกิน อย่างเช่น เซทิริซีน (cetirizine) กิน 5-10mg ก่อนนอน จะช่วยให้หลับสบายได้ตลอดทั้งคืน (ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ประมาณ 1 ชม.) แถมยาจะออกฤทธิ์ต่อไปเกือบ 24 ชม. ต่างจากยาแก้แพ้แบบเก่าอย่างเช่น คลอเฟนิรามีน (chlorphenamine maleate) ซึ่งออกฤทธิ์แค่ 4-6 ชม. ถึงแม้ว่าจะกินในปริมาณมากขึ้นก็ไม่ได้ช่วยให้ออกฤทธิ์นานขึ้น ถ้ากินก่อนนอน ก็จะตื่นขึ้นมาคันกลางดึก คือจะนอนหลับสบายได้ไม่เกิน 6 ชม. แล้วถ้ากินกลางดึกก็จะไม่เห็นผลทันที เพราะกว่ายาจะออกฤทธิ์เต็มที่ ต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง วิธีบรรเทาอาการคันกลางดึกที่ได้ผลเร็วที่สุดคือใช้ยาทา ควรพกติดตัวไว้เวลานอน

ยาแก้แพ้ควรใช้เฉพาะตอนกลางคืนก่อนนอน เพื่อป้องกันไม่ให้สะดุ้งตื่นขึ้นมากลางดึกเพราะคัน ส่วนตอนกลางวันควรจะทนเอา เพราะ ยาแก้แพ้จะทำให้เส้นเลือดไม่ขยายตัว ทำให้ภูมิคุ้มกันเข้าถึงแผลได้ช้า ทำให้แผลหายช้าลง

ข้อดีของยาแก้แพ้พวกไดเฟนไฮดรามีนคือ ไม่มีผลเสียตามมา ไม่เหมือนพวกสเตรอยด์ (อย่างเช่นยากิน prednisolone) ซึ่งจะมีผลข้างเคียงมาก ถ้ากินมากเกินไป ก็จะไปกดภูมิคุ้มกันไว้หมด ทำให้เชื้อโรคที่ซ่อนอยู่ในร่างกายขยายตัว พอหยุดกินยาจึงอาจจะป่วยตามมา ถึงแม้จะเป็นยาทาอย่าง hydrocortisone หรือ TA cream แต่ก็สามารถซึมเข้าไปในกระแสเลือดได้ เพียงแต่จะใช้เวลานานกว่าแบบกินหรือฉีดเข้าเส้นเลือด เพราะว่าช่วงวันแรกๆยาจะกระจุกตัวอยู่ตรงผิวหนังบริเวณที่ทา ถึงแม้ว่าใช้ทาในปริมาณน้อยจะไม่มีผลอะไรมากนัก แต่บางครั้งโดนแมลงกัดเต็มตัว ต้องทาทั้งตัว จะเริ่มมีปัญหา ที่จริงแล้วยาสเตรอยด์ เหมาะสำหรับใช้เฉพาะในกรณีที่ ใช้ไดเฟนไฮดรามีนแล้วไม่ดีขึ้น เพราะ เป็นอาการแพ้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสารฮิสตามีน สังเกตุว่าไม่มีอาการบวมแดง แต่มีอาการอื่นอย่างลอกเป็นขุย แต่ถ้าโดนพิษจากแมลงกัด ถึงแม้จะเป็นเห็บก็ตาม คนปกติทาไดเฟนไฮดรามีนแค่อาทิตย์เดียวก็หายคันแล้ว

แอมโมเนีย (3.5% w/v) หรือ ผงฟูที่ใช้ทำขนมปัง มีฤทธิ์เป็นด่าง ใช้ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อยที่เป็นกรด ได้แก่ ผึ้ง มด ยุง ตะขาบ แมงป่อง แมงมุม ริ้นดำ ฯลฯ เมื่อทาทันทีที่โดนกัด จะซึมเข้าไปใต้ผิวหนัง ทำปฎิกริยากับกรดในพิษของสัตว์ แล้วพิษจะกลายเป็นกลาง ทำให้รอยบวมยุบลง ถึงแม้ว่าพิษของสัตว์จะประกอบด้วยสารอื่นๆ อย่างพวกโปรตีน แต่เราไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของภูมิคุ้มกันกำจัด แต่อย่างน้อยเราก็พยายามแก้พิษให้ได้มากที่สุด

น้ำมันแร่นอกจากจะใช้ก่อกองไฟหรือเช็ดมีดป้องกันสนิมแล้ว ยังสามารถใช้หยอดหูเวลาเห็บหรือแมลงเข้าไปในหูได้อีกด้วย เวลานอนเปิดโล่ง มีโอกาสที่แมลงจะเข้าหูได้ เวลาแมลงเข้าหู อย่าใช้นิ้วแหย่เข้าไป เพราะมันอาจจะต่อยหูได้ ควรจะเอียงหู ถ้ามันยังไม่ออกมา จึงค่อยหยดน้ำมันแร่ลงไป เวลาหยดน้ำมัน ให้ดึงใบหูไปข้างหลังแล้วดันกลับมาข้างหน้า (วิธีนี้ใช้สำหรับผู้ใหญ่เท่านั้น) แมลงจะโดนน้ำมันแล้วหายใจไม่ออกตายลอยขึ้นมา

ยาทาฆ่าเชื้อ อย่างเช่น ไอโอดีน รวมทั้ง ผ้าปิดแผล สำลีก้อน และ พลาสเตอร์ยาแบบผ้า ทั้งหมดน้ำหนักรวมกันไม่ถึงขีด แต่มีประโยชน์มหาศาลเวลาจำเป็นต้องใช้  ส่วนพลาสเตอร์แบบพลาสติกกันน้ำได้นั้น มีปัญหาคือเวลาโดนน้ำจะหลุดง่าย

เวลาอยู่ในป่าแล้วมีแผล เช่น ลื่นล้ม หรือ ถูกของมีคมบาด อย่าปล่อยทิ้งไว้ หรือ ปิดแผลในขณะที่ยังสกปรก เพราะเศษดินมีเชื้อโรคอยู่ แล้วเชื้อโรคจะทำให้แผลเน่า ต้องใช้น้ำสะอาด อย่างเช่น น้ำที่ต้มแล้ว ฉีดล้างเศษดินออกจากแผลให้หมด น้ำใสไหลแรงในลำห้วยก็พอแก้ขัดได้ เสร็จแล้วทายาฆ่าเชื้อ แล้วรอจนกว่าแผลจะแห้ง พอแผลแห้งแล้วสนิท แสดงว่าไม่มีเชื้อโรคอยู่ข้างในแล้ว จึงจะสามารถเปิดโล่งได้

ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย อย่าง doxycycline เป็นยากินที่ควรพกติดตัวไว้ แผงละไม่กี่เม็ด แต่จะช่วยบรรเทาอาการไข้ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไข้ในป่ามักเกิดจากแผลตามจุดต่างๆ ทำให้เชื้อแบคทีเรียเข้าไปในกระแสเลือด แบคทีเรียเป็นเชื้อโรคที่ร้ายมาก เพราะสามารถขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ในเวลาแค่ 12 ชั่วโมง สามารถขยายได้จนเต็มรางกายเรา ถึงตอนนั้น เราจะเป็นไข้นอนซม เดินไม่ไหว ปล่อยทิ้งไว้อาจเสียชีวิตได้ ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะช่วยให้อาการทุเลาลงภายใน 1-2 วัน พอที่จะเดินออกจากป่าได้เอง โดยไม่ต้องตามคนมาช่วย วิธีสังเกตุว่า ไข้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียคือ ไม่เป็นหวัด และอาการจะทรุดลงอย่ารวดเร็วในวันเดียว ซึ่งต่างจากเชื้อไวรัส ที่มักจะเป็นหวัด ไอมีน้ำมูกก่อน แล้วอาการจะทรุดลงช้าๆ ใช้เวลาหลายวันจึงเริ่มเดินไม่ไหว

แผลเปียก สามารถเปิดให้เชื้อโรคเข้าไปในแผล จะทำให้แผลมีหนองและบวมขึ้นเรื่อยๆ เชื้อโรคบางตัวจากแผลสามารถเข้าไปในกระแสเลือด แล้วจะทำให้เป็นไข้ แผลเปียกอาจมีแมลงมาตอม แล้ววางไข่ที่แผล หนอนจะชอนไชไปอาศัยอยู่ใต้ผิวหนัง เมื่อหนอนกลายเป็นแมลง ผิวหนังจะเป็นตุ่ม เมื่อแตกจะมีแมลงบินออกมาจากผิวหนัง ดังนั้น ถ้าแผลยังไม่แห้งสนิท ต้องหาผ้าก๊อซปิดแผลไว้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลานอนอยู่ในที่แห้งสนิท และไม่มีแมลง เช่น ใต้ถุงนอน ควรเปิดแผลให้สัมผัสกับอากาศ เพื่อให้ออกซิเจนในอากาศฆ่าเชื้อแบคทีเรียพวก anaerobic ที่ไม่ใช้ออกซิเจนในการเจริญเติบโต แต่ถ้าแผลเปียก แล้วต้องลุยต่อ การใช้ผ้าปิดแผลจะไม่ได้ผล เพราะผ้าจะเปียกน้ำ หรือเหงื่อ ควรใช้เสื้อผ้าสะอาดคลุมแทน หรือทาแผลด้วยปิโตรเลียมเจลลี่แทน จะช่วยป้องกันน้ำและเชื้อโรคได้ จึงช่วยให้แผลหายง่ายขึ้น นอกจากปิโตรเลี่ยมเจลลี่แล้ว จะใช้น้ำมันจากยางไม้แทนก็ได้ เช่น ยางสน หรือ น้ำมันจากต้นยาง

ผ้าก๊อซใช้ปิดแผลป้องกันแมลงและสิ่งสกปรก หากใส่ยาฆ่าเชื้ออย่างไอโอดีนให้ชุ่มจะช่วยให้ยาอยู่ได้นานขึ้น ช่วยให้แผลมีโอกาสหายเร็วขึ้น โดยไม่ต้องทายาย่อยๆ มี 2 แบบคือ ตัดมาแล้ว กับ เป็นม้วนยังไม่ได้ตัด แบบหลังดีกว่า เพราะตัดได้ตามขนาดแผล แต่ควรมีแบบแรกติดไปเผื่อเล็กน้อย เผื่อหามีดสะอาดตัดไม่ได้

ถ้าแผลบวม มีน้ำเหลือง แสดงว่าเชื้อโรคเข้าไปในแผล ถ้าเป็นไข้ แสดงว่าเชื้อโรคเข้าไปในเส้นเลือด กรณีเหล่านี้ ควรรีบออกจากป่าทันที คนปกติที่ติดเชื้อโรค พักไม่กี่วันก็จะหายได้เอง แต่คนที่ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ อาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือน กว่าจะหาย ช่วงที่ป่วย อาจจะเดินไม่ไหว

ถ้าไม่มีผ้าปิดแผล สามารถใช้ใบตองแทนได้ โดยทำความสะอาด แล้วใช้ด้านมันติดกับแผลไว้ แต่ใบตองควรใช้กับจุดที่ระบายเหงื่อได้ดี เช่น แขน ขา ลำตัว ไม่เหมาะสำหรับข้อพับต่างๆ เช่น ข้อมือ รักแร้

ถ้าไม่มีสำลีซับเลือด สามารถใช้ใบไม้ที่ดูดน้ำดี เช่น มอส นำมาล้าง ต้ม และ ทำให้แห้ง

พลาสเตอร์ยาแบบผ้าควรเตรียมไปเผื่อใช้ปิดห้ามเลือด เวลาทากกัด ควรใช้แบบที่ไม่มีตัวยา

สำลีก้อน มีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ใช้ซับเลือดเวลาโดนทากกัด ใช้จุดไฟ นอกจากจะเบาแล้ว ยังสามารถบีบให้เล็กๆ พอจะใช้จึงค่อยคลี่ออกมา

ถ้าไม่มีผ้าก๊อซหรือสำลี สามารถดัดแปลงผ้าสะอาด มาปิดแผลแทนได้ เช่น  เสื้อผ้าหรือถุงเท้าใหม่และแห้ง ถ้าใช้น้อยอาจต้องตัดแบ่ง หรือ แม้แต่ผ้าอนามัย ผ้าที่สกปรก ก่อนใช้ควรทำความสะอาดและใส่ยาฆ่าเชื้อโรคก่อน

ถ้าไม่มีผ้าพันแผล สามารถใช้เปลือกไม้หรือใบไม้ที่มีเส้นใยแทนได้ ถ้ามีเสื้อแขนยาว สามารถตัดแขนออกมาใช้ได้ แขนเสื้อนี้สามารถใช้ทำผ้าอนามัยได้อีกด้วย

กล้องถ่ายรูป

การถ่ายภาพธรรมชาติ มีประโยชน์คือ ใช้เป็นหลักฐานได้ว่า เราเคยไปที่นี่จริง จะช่วยให้คำพูดของเราน่าเชื่อถือขึ้นมาก จนไม่มีใครกล้าเถียงด้วย เพราะน้อยคนที่จะเข้าป่าลึก เราจึงควรถ่ายภาพตามจุดต่างๆให้ครบถ้วน โดยเฉพาะจุดที่คนภายนอกสามารถพิสูจน์ได้โดยดูแผนที่ เช่น วิวจากหน้าผาที่มองเห็นพื้นราบด้านล่างมีบางจุดอยู่บนแผนที่ ตาน้ำและลำห้วยสายต่างๆที่มองเห็นสันเขาทอดยาว ถ้าไม่มีบนแผนที่อาจจะมีภาพจุดที่คนอื่นเคยถ่ายมาก่อน ปัญหาคือ ความเหนื่อยล้าในวันต่อๆมา ทำให้ถ่ายรูปน้อยลง

หนึ่งภาพแทนคำพูดล้านคำ บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องนำเรื่องราวบางเรื่อง มาบอกเล่าให้คนอื่นฟัง ถ้าไม่มีรูปถ่าย จะต้องอธิบายยืดยาว และยังมีคนสงสัยตามมาอีก บางคนอาจไม่เชื่อเพราะไม่มีหลักฐาน

ภาพสวย ขึ้นอยู่กับมุมมองของคนถ่าย ที่เรียกว่าฝีมือ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกล้องตัวใหญ่ ราคาแพง หรืออุปกรณ์เสริม คนมีฝีมือใช้กล้องอะไร เลนส์แคบหรือกว้าง ถ่ายออกมาก็สวย คนไร้ฝีมือใช้กล้องแพงๆถ่ายยังไงก็ไม่สวย โทรศัพท์มือถือที่ถ่ายรูปได้จึงพอใช้แก้ขัดได้ แต่กล้องถ่ายรูปดีกว่าตรงที่ ความสะดวก คือ เปิดเร็ว ถ่ายเร็ว ปิดเร็ว จัดการรูปที่ถ่ายแล้วได้ง่าย และได้ภาพดูดีขึ้น เนื่องจากสามารถปรับโฟกัสและความสว่างก่อนถ่ายได้ ถ่ายรูปในที่แสงน้อยได้โดยที่คุณภาพของภาพไม่เลวร้าย ถ้าต้องเดินทางหลายวัน จะได้เก็บแบตเตอรี่โทรศัพท์มือถือไว้ใช้เวลาฉุกเฉิน


ภาพน้ำตกเป็นสาย
ต้องใช้ความเร็ว
ชัตเตอร์ช้า ทำให้
ต้องใช้รูรับแสงแคบ
แต่บางคนบอกว่า
ดูไม่เป็นธรรมชาติ
ควรเป็นเส้นสั้นๆ
หรือ เห็นเป็นหยด
หรือ ถ่ายไกลๆจน
เห็นสายน้ำไม่ชัด
กล้องที่เหมาะสำหรับเดินป่ามากที่สุดคือคอมแพค(compact) ขนาดเล็กๆ ราคาถูกๆ แบบอัตโนมัติ ปรับอะไรไม่ได้ ใช้ mode P (program) ได้ก็พอแล้ว น้ำหนักเบาๆรวมถ่านไม่เกิน 200กรัม สามารถเสียบเข้ากับกระเป๋าติดเป้ตรงหน้าอก ดึงเข้าออกได้ง่าย เดินไปถ่ายไปได้ ในการเดินป่า ต้องกระแทก ลุยฝน ลื่นตกน้ำ เจอความชื้น  ฯลฯ กล้องมีโอกาสเสียกลางทางเสมอ จึงไม่จำเป็นต้องใช้กล้องราคาแพง หรือกล้องใหญ่ๆ หนักๆ อย่างกล้อง SLR ที่เปลี่ยนเลนส์ได้ จะพกลำบาก หยิบเข้าออกก็ลำบาก ถ้าแขวนไว้กับตัว จะเกะกะเวลาปีนป่าย ขึ้่นเขา ลงเขา กล้องประเภทนี้ จึงเหมาะสำหรับใช้ในที่ๆรถเข้าถึง หรือมีลูกหาบแบกสัมภาระให้ ความแตกต่างของกล้อง SLR กับกล้องคอมแพคราคาถูกๆคือ เวลาถ่ายในที่แสงน้อยไปหรือมากไป อย่างเช่น ริมถนนในเมืองตอนกลางคืน ถ่ายตอนพระอาทิตย์ตก ซึ่งแสงจากดวงอาทิตย์แรงมาก หรือ ริมทะเลที่มีแสงแดดแรงมาก กล้องคอมแพคจะถ่ายออกมาไม่ค่อยสวย สู้กล้อง SLR ไม่ได้ แต่แสงในป่าตอนกลางวัน มักจะไม่แรงเกินไป และไม่อ่อนเกินไป ใช้กล้องคอมแพคก็จะได้รูปที่ไม่ค่อยแตกต่างจากกล้อง SLR ต่างกันแค่กล้องคอมแพคไม่มีเลนส์มุมกว้างมากนัก ที่เป็นเช่นนี้เพราะ SLR มี sensor ขนาดใหญ่ เมื่อใช้ความไวแสง(iso) สูงๆ จะมีรอยแตก(noise) น้อยกว่ากล้องคอมแพคที่เลนส์เล็กๆ จึงให้ภาพที่มีรายละเอียดสูงขึ้น นอกจากนี้กล้องยังใส่เลนส์คุณภาพดีขึ้น โดยเฉพาะเวลาถ่ายภาพย้อนแสงนั้น กล้องคอมแพคจะเกิดแสง flare เป็นแฉก (ยกเว้นรุ่นที่มีระบบป้องกัน)

กล้องที่มีตัวปรับ mode การถ่าย แบบใช้ล้อหมุน ปรับได้อยู่ด้านบนนั้น มักเผลอไปโดนและเลื่อนได้ง่าย ก่อนจะถ่ายต้องคอยดูอยู่บ่อยๆว่า mode เปลี่ยนหรือไม่ กล้องที่ปรับ mode โดยใช้ปุ่มเดียวกดจะไม่มีปัญหานี้ ถ้าจะใช้กล้องที่ปรับ mode แบบล้อหมุน ควรเลือกรุ่นที่มีตัวล็อกไม่ให้ล้อหมุนเอง

กล้องที่ปรับ ความเร็วชัตเตอร์ และ รูรับแสงได้  จะช่วยเพิ่มความสะดวกในการถ่ายภาพ และจำเป็นสำหรับภาพเฉพาะกิจ เช่น การถ่ายภาพน้ำตกให้เป็นสาย ต้องเปิดหน้ากล้องแคบๆ เพื่อให้ความเร็วชัตเตอร์ช้าลง แต่กล้องคอมแพคราคาถูกๆทำไม่ได้ เนื่องจาก กล้องตั้งรูรับแสงไว้กว้างที่สุด เป็นค่าคงที่ อาศัยปรับความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัติแทน

วิธีใช้ถ่ายภาพให้ดูดี คือ ปรับแสงและสีให้ถูกต้อง
ภาพที่ออกมาไม่ชัด ส่วนใหญ่เกิดจาก
ภาพดอกไม้ระยะใกล้ บางดอกเป็นสีขาว บางดอกย้อนแสง ทำให้จุดที่โฟกัสให้แสงไม่พอดี ต้องใช้จุดโฟกัสกับจุดวัดแสงคนละจุดกัน กรณีนี้ จำเป็นต้องใช้กล้องที่ปรับชดเชยแสงได้ หรือมีปุ่มล็อกแสง(Automatic Exposure Lock) หรือล็อกโฟกัส(Autofocus Lock) อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ล็อกแสงจะดีกว่า เพราะว่า การถ่ายภาพระยะใกล้มาก มีโอกาสที่มือจะเลื่อน ทำให้ระยะโฟกัสเปลี่ยน การโฟกัสก่อนถ่ายจะดีที่สุด ส่วนการถ่ายภาพคนมักจะไม่มีปัญหา เพราะวัดแสงเฉพาะจุดที่ใบหน้าได้ ส่วนการถ่ายภาพวัตถุที่ห่างออกไปเป็นเมตร หรือ การถ่ายภาพวิวที่ระยะอนันต์ มุมภาพที่เปลี่ยนตำแหน่งไปจากเดิมเล็กน้อย จะไม่มีผลต่อระยะโฟกัส กรณีนี้จึงควรล็อกโฟกัสไว้ก่อน แล้วค่อยมาวัดแสงก่อนถ่าย เพราะแสงธรรมชาติมักจะเปลี่ยนง่าย เดี๋ยวแดดออก เดี๋ยวแดดหาย บางภาพอาจต้องถ่ายหลายรูป แต่ละรูปปรับแสงต่างกัน แล้วนำมาเปรียบเทียบกันว่าภาพไหนดูดีที่สุด


ภาพวิวให้คนอื่นดู ควรมีคนอยู่ด้วยเพื่อใช้วัดความยิ่งใหญ่ขอธรรมชาติ แต่ถ้าดูเพื่อความสุข ไม่มีคนจะน่าดูได้นานกว่า
การถ่าย รูปในป่ามีแสงน้อย ให้ปิด flash ใช้ mode ที่เพิ่ม iso อัตโนมัติ จนถึงความเร็วชัตเตอร์ช้าที่สุดที่ถือถ่ายได้ กล้องรุ่นใหม่ๆสามารถใช้ค่า iso สูงขึ้นได้โดยไม่เห็นรอยแตกชัด ถ้าต้องปรับ iso สูงจนทำให้ภาพแตก (ขึ้นอยู่กับกล้องแต่ละตัว ควรทดลองด้วยตนเอง) จำเป็นต้องเปลี่ยนมาใช้กล้องที่สามารถถ่ายภาพในที่แสงน้อยได้ดีขึ้น เช่น กล้อง SLR รุ่นใหม่ๆ ซึ่งมีตัวลด noise ดีๆ แต่ไม่แนะนำให้พกขาตั้งกล้องไปด้วย เนื่องจากหนัก ถอดเก็บลำบาก แต่มีโอกาสใช้น้อย ถ้าจำเป็นก็สามารถหากิ่งไม้ที่ตายแล้ว หรือตัดกิ่งไม้สด 3 ท่อน มัดเชือกยึดกันไว้ ใช้แทนขาตั้งกล้องได้

เลนส์ 35-50mm ใช้ถ่ายภาพวิวได้ แต่จะได้มุมมองจำกัด ในบางมุม เลนส์มุมแคบจะให้ภาพดูดีกว่า เพราะเลนส์มุมกว้างอาจคลุม รายละเอียดส่วนที่ไม่ต้องการ  ยิ่งเลนส์มุมกว้างมากขึ้น จะทำให้วัตถุที่อยู่ห่างออกไปมีขนาดเล็กลง เลนส์มุมกว้างที่สุดที่เหมาะสำหรับถ่ายภาพวิวคือ 20mm  ถ้าใช้เลนส์มุมกว้างกว่านั้น เรียกว่า fish eye ภาพจะเริ่มเบี้ยว ยิ่งกว้างยิ่งเบี้ยวมาก ยิ่งถ้ามีคนอยู่ด้วยในระยะใกล้จะเห็นได้ชัด การถ่ายภาพคน ควรจะใช้เลนส์ 35mm แล้วเดินถอยหลังออกมาหรือเรียกให้รวมกลุ่มกันไว้


ภาพสวย ควรมีฉากหน้า(ดอกไม้)
ฉากกลาง(ลานหิน) ฉากหลัง(ภูเขา)
และความลึก (ทางเดินที่ลู่ออกไป)
ภาพวิวเป็นภาพนิ่งและแบนราบ เนื่องจากผู้ดูรูปไม่สามารถจินตนาการ ขนาดและระยะทางของวัตถุในรูป ถ้าจะทำให้ภาพน่าดู ควรถ่ายให้เหมือนกับดูด้วยตา นั่นคือควรมีองค์ประกอบดังนี้
ภาพที่มีความลึก ต้องมีวัตถุไล่ตั้งแต่ ฉากหน้า(foreground) ฉากกลาง(middleground) ไปจนถึงฉากหลัง(background) ภาพที่ดูได้นานๆ ไม่น่าเบื่อง่าย ควรมีวัตถุประกอบมากๆ ตั้งแต่ฉากหน้า ไล่ระยะทางไปเรื่อยๆ จนถึงฉากหลัง คนทั่วไปยังถ่ายวิวไม่เป็นมักจะ เน้นฉากหน้ากับฉากกลาง โดยไม่เข้าใจว่า ภาพวิวจะตรงข้ามกับภาพคน ภาพคนจะเน้นฉากหลังมากกว่าฉากหน้า แต่ในภาพวิว ฉากหลังสำคัญกว่าฉากหน้า ฉากหลังมักจะกินพื้นที่มากที่สุดในรูป จึงควรมีรายละเอียดมากที่สุด ถ้าไม่มีฉากหน้า ไม่จำเป็นต้องเสียเวลาหา ใช้ฉากกลางเป็นฉากหน้าได้เลย ถ้าฉากหลังสวย ภาพจะออกมาสวยเอง แค่ระวังอย่าให้ฉากที่ไม่ต้องการ กินพื้นที่มากเกินไป เช่น ถ้าต้องการถ่ายฉากหลัง อย่าให้ฉากหน้ามีขนาดใหญ่เกินไปจนดึงความสนใจไปจากฉากหลัง
ตัววัดขนาดของวัตถุได้แก่ คน สัตว์ หรือสิ่งที่ผู้ดูรูปจะจินตนาการได้ว่า ทุ่งหญ้ากว้างเพียงใด น้ำตกสูงเพียงใด ถ้าไม่ใช้คนจะใช้สิ่งของอย่างอื่น เช่น เป้สะพานหลังแทนได้ แต่ถ้าเป็นวัตถุตามธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ ก้อนหิน ดอกไม้ ยังจินตนาการขนาดลำบาก  คนหรือบางสิ่งที่คนสร้างขึ้น ที่มีขนาดใหญ่พอสมควร เช่น เสื้อ เต็นท์ เก้าอี้ บ้าน ทางเดิน จาน ช้อน เป็นมาตรวัดที่เข้าใจง่าย คนเป็นมาตรวัดที่เข้าใจได้ง่ายที่สุด และสามารถสั่งให้อยู่ในที่ๆต้องการได้ ถ้าไม่อยากเห็นหน้าคน เพราะจะดูเหมือนรูปส่วนตัว ให้หันข้างหรือหันหลัง ไม่ควรให้คนอยู่ใกล้เกินไป เพราะจะเปรียบเทียบขนาดกับฉากหลังผิดมาตราส่วน และคนต้องอยู่ไกลพอที่จะมองเห็นได้ ดังนั้นคนที่จะมาเป็นนายแบบควรจะเป็นคนที่ขยันปีนป่าย และ แต่งตัวเหมาะสม เพื่อจะได้ไม่ทำลายบรรยากาศของธรรมชาติ ยกเว้นเป็นวิถีชีวิตคนท้องถิ่นซึ่งหาดูได้ยาก เด็กอาจจะแก้ผ้าหรือผู้ใหญ่ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น อาจจะเป็นภาพที่น่าดู ตัววัดขนาดไม่ควรอยู่ตรงกลางภาพ ควรอยู่ด้านข้าง เพราะ มันไม่ใช่วัตถุที่เราต้องการถ่าย

มีชีวิตคือ ภาพธรรมชาติจะดูนิ่งๆ ขาดชีวิตชีวา เนื่องจาก ขาดสิ่งเคลื่อนไหว สิ่งเคลื่อนไหว เช่น คน สัตว์ รถ ใบไม้ไหว แสงแดดที่ส่องลอดทะลุใบไม้ จะช่วยให้ภาพมีความเคลื่อนไหว คนที่อยู่ในภาพ ถึงแม้จะยื่นนิ่งๆ แต่ก็ทำให้ภาพมีความเคลื่อนไหว เพราะคนเป็นตัวแทนของความไม่หยุดนิ่ง ภาพคนกำลังเดินหรือยืนจะดูมีพลัง มือใหม่มักจะถ่ายภาพเฉพาะช่วงหยุดพัก ซึ่งคนกำลังนั่งหรือนอน ทำให้ภาพหมดพลังเนื่องจากเห็นแต่ละคนหมดแรง การถ่ายภาพหมู่ จะดูเหมือนจงใจถ่ายเกินไป ภาพที่ยิ่งดูน่าเกลียดคือ บางคนชูสองนิ้ว หรือทำท่าทางแปลกๆ เช่น กระโดด ภาพคนที่ดูเป็นธรรมชาติ ไม่ดูเหมือนจงใจถ่ายเกินไป เช่น คนหันตัวไปทางอื่นแล้วหันหน้ามาหากล้อง หรือหันหน้าไปทางอื่น แล้วสายตามองมาทางกล้อง ภาพคนที่มองไปหาจุดสนใจที่อยู่ทางด้านซ้ายหรือขวาของรูป ด้วยสีหน้ามุ่งมั่น หรือเดินไปหาจุดสนใจ  ด้วยความตื่นเต้นในสิ่งที่เห็น ช่วยใส่อารมณ์เข้าไปในภาพ จะทำให้ภาพมีพลัง

ฉากหลังโล่งๆ เช่น
ทะเล จะขาดจุดสนใจ
ควรหาฉากหน้าที่มี
รายละเอียดมากๆ
ภาพถ่ายที่เล่าเรื่องได้ดีที่สุด คือ ป้ายสถานที่ หรือป้ายที่มีตัวหนังสือที่คนเขียนไว้ ดังนั้น ไม่ว่าจะไปที่ไหน ควรจะถ่ายป้ายก่อนทุกครั้ง คนส่วนใหญ่มักจะลืมถ่ายป้าย

กล้องทั่วไปกันกระแทกได้ระดับหนึ่ง แต่กล้องกันน้ำส่วนใหญ่ ไม่กันน้ำจริง พอโดนน้ำหน่อย น้ำเข้าแล้ว ส่วนใหญ่จะต้องเปลี่ยนยางกันน้ำทุกปี หลังเปลี่ยนยางเริ่มจะไม่กันน้ำเหมือนเดิมแล้ว นอกจากนี้กล้องกันน้ำ ยังมีแบบให้เลือกน้อย ใส่ถ่าน AA ไม่ได้ ข้อดีของถ่าน AA คือหาซื้อได้ง่ายตามต่างจังหวัด และราคาถูก พกไปสำรองได้มาก ดังนั้น การเดินป่าสามารถใช้กล้องทั่วไปที่ไม่กันน้ำได้ แต่เปลี่ยนมาใช้วิธี ใส่กล้องไว้ในถุงพลาสติก เพื่อกันน้ำ และ ระวังอย่าให้กล้องกระแทก ถ้าติดกล้องสำรองไปด้วยจะช่วยให้รูปไม่ขาดตอน กรณีที่กล้องหลักเสีย

กล้องที่จอ lcd หมุนได้ (flip) ยิ่งดี เพราะบางครั้ง การยกกล้องเหนือหัว หรือ ใกล้พื้น จะเก็บรายละเอียดได้มากกว่า

ข้อมูลของภาพถ่าย เช่น วันเวลาที่ถ่าย, ยี่ห้อของกล้อง, รูรับแสง, ความเร็วชัตเตอร์, พิกัด gps ฯลฯ จะถูกเก็บอยู่ในส่วน EXIF ในไฟล์ .jpg สามารถใช้โปรแกรมดูรูปเปิดดูได้

รูปภาพที่นำไปแสดงให้ผู้อื่นดู จะน่าสนใจก็ต่อเมื่อมีคำอธิบาย

วิธีจัดของ

การแบกของหนักๆ นอกจากจะทำให้เดินช้าเนื่องจากเมื่อยขาแล้ว  ยังทำให้เราไม่อยากแบกน้ำ ซึ่งเสี่ยงที่จะอดน้ำกลางทาง

เป้หนักเกิดจากของชิ้นเล็กๆหลายๆชิ้นมารวมกัน ถ้าเราสามารถลดน้ำหนักแต่ละชิ้นลง และหยิบชิ้นที่ไม่จำเป็นออก เป้ก็จะเบาลงเกินครึ่งเลยทีเดียว  ถ้าไม่มีตาชั่ง จะเหมือนคนตาบอด หยิบใส่อย่างเดียว ก่อนจัดของ จึงควรมีตาชั่งแบบสปริงแบบชั่งได้สูงสุด 1 กิโลกรัม เพื่อดูว่าสิ่งใดหนักเกินไป จะได้หยิบออก ถ้ามีของ 2 ชิ้นคล้ายๆกันจะได้เปรียบเทียบว่าชิ้นไหนเบากว่ากัน ของส่วนใหญ่ในเป้ จะมีน้ำหนักไม่เกิน 1 กิโลกรัม ถ้าเกินกว่านี้ไม่สมควรแบกแล้ว ถ้าใช้ตาชั่งที่ขีดสูงสุดเกิน 1 กิโลกรัม จะชั่งของเบาๆไม่ละเอียด ถ้าขีดสูงสุดน้อยกว่านี้ จะชั่งของหนักไม่ได้ เพราถึงแม้ว่า ของส่วนใหญ่จะหนักไม่เกิน 0.5 กิโลกรัม แต่มีของบางชิ้นที่อาจจะหนักกว่านั้น แต่มีน้อยมากที่จะเกิน 1 กิโลกรัม อย่างเช่น ถุงนอน ซึ่งจะมีระบุน้ำหนักไว้ข้างถุงอยู่แล้ว

ตาชั่งดิจิตอลแบบพกพา
ใส่ถ่าน ชั่งได้ 500 กรัม
ความละเอียด 0.1 กรัม

ตาชั่งสปริงมีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แต่มีข้อเสียคือ ไม่ค่อยแม่นยำ ต้องต่างกันเป็นสิบกรัมจึงจะเริ่มเห็น แถมยังใหญ่เทอะทะ ถ้าพกไปชั่งที่ร้านขายของ ก็จะโดนคนขายมองหน้า เวลาไปซื้อของ บางครั้งต้องชั่งเปรียบเทียบน้ำหนักก่อนซื้อ แนะนำให้ใช้ตาชั่งดิจิตอลแบบพกพา มีฝาปิด มีขนาดเล็ก สามารถใส่กระเป๋ากางเกงได้ ตาชั่งดิจิตอล มีความแม่นยำสูง ต่างกันแค่ไม่กี่กรัมก็เห็นชัด

สิ่งที่จำเป็นต้องแบกไปด้วยเสมอ มีอยู่ไม่กี่อย่าง แต่สิ่งเหล่านี้ มักจะไม่ค่อยได้รับความสนใจ เพราะเราเคยชินกับความสบายในเมือง ทำให้บ่อยครั้งลืมแบก คือ น้ำ, ของกิน, ที่นอนกันฝนได้, มีดสำหรับตัดกิ่งไม้ที่ขวางทาง

สิ่งของบางอย่างช่วยปกป้องเราจากภัยธรรมชาติ หรือช่วยประหยัดเวลา ควรพกไปด้วย  เช่น ยากันแมลง, ไฟฉาย ฯลฯ

สิ่งที่สามารถหยิบออกได้ คือ สิ่งของที่ไม่จำเป็น  แต่เราใช้กันจนเคยชิน เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน ฯลฯ สิ่งของบางอย่างเป็นส่วนเกินของชีวิต แต่เราหมกมุ่นมากเกินไป เช่น กล้องถ่ายรูปขนาดใหญ่, ขาตั้งกล้อง, กีตาร์ ฯลฯ

กล่องพลาสติก ถึงแม้ว่าจับดูจะมีน้ำหนักเบา แต่ลองชั่งดูแล้วมีน้ำหนักไม่น้อย ควรจะเปลี่ยนไปใส่ถุงพลาสติกแทน ควรมีถุงซิปหลายขนาด ไว้สำหรับใส่ของหลายขนาด ข้อดีของถุงซิปคือ สามารถหยิบมาใช้แล้วเก็บกลับไปได้

วิธีลดน้ำหนักของใช้คือ
  1. พยายามหาสิ่งของที่ใช้งานได้หลายอย่าง เช่น หม้อเล็กๆ เบาๆ สามารถใช้หุงข้าว ใส่ข้าวกิน ตักน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องพกจานหรือขันไปเพิ่ม
  2. มีความรู้เกี่ยวกับการนำสิ่งรอบตัวในป่ามาใช้ประโยชน์ได้ ยิ่งเรามีความรู้มากขึ้น ยิ่งแบกอุปกรณ์น้อยลง เช่น ถ้าเรารู้ว่า จะใช้มีดปอกไม้เพื่อก่อไฟได้อย่างไร เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งเชื้อไฟที่พกไปเพียงอย่างเดียว

สัตว์ป่า

วิธีสังเกตุว่าบริเวณนั้นมีสัตว์หรือไม่ คือดู รอยเท้าสัตว์ ร่องรอยที่สัตว์ทำไว้ตามต้นไม้ และ ขี้สัตว์ รวมทั้งกลิ่นขี้เยี่ยว ถ้ามีเส้นทางเดินสับสนวุ่นวาย แสดงว่ามีสัตว์มาก สัตว์ป่า มีถิ่นหากินประจำ ถิ่นใครถิ่นมัน ไม่ข้ามถิ่นกัน ถ้าเจอขี้ตรงไหน แสดงว่ามันหากินอยู่แถวนั้นทุกวัน และมักจะเดินมาที่เดิมตรงเวลาด้วย ยกเว้นช้าง ที่จะเดินกินไปเรื่อยๆเป็นวงกลม แต่จะวนกลับมาที่เดิม ซึ่งแต่ละรอบอาจใช้เวลาหลายเดือนขึ้นไปจนถึง 1 ปี

คนมักจะเผชิญหน้ากับสัตว์ป่า ตามแถวริมน้ำ เพราะ สัตว์ทุกชนิดต้องอาศัยกินน้ำ ทั้งเสือ กระทิง หมูป่า หมี เพราะฉะนั้น เวลาลงไปตักน้ำหรืออาบน้ำ จึงต้องระวังให้มาก ตามถ้ำต่างๆก็มักจะเป็นแหล่งอาศัยของเสือและหมี เคยมีพระเข้าไปหาสมุนไพรในถ้ำหลังวัดแถบเขาชะเมา แล้วโดนหมีควายแม่ลูกอ่อนไล่ตะปบมาแล้ว ทั้งที่เป็นถ้ำซึ่งอยู่ใกล้แหล่งชุมชน สัตว์แม่ลูกอ่อนทุกชนิดมักจะดุ แม้แต่วัวแม่ลูกอ่อนที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ ยังเคยมีข่าวกระทืบคนเลี้ยงจนเสียชีวิตมาแล้ว

สัตว์ที่ไม่ใช่นักล่า อย่างช้าง หรือหมี จะเข้าหาคน เพราะสาเหตุเดียวคือ ได้กลิ่นอาหาร การย้ายอาหารใส่ถุงกันฝน ไปแขวนไว้ตามกิ่งไม้สูงที่อยู่ไกลตัว จะลดความเสี่ยงลงได้มาก

เมื่อเผชิญหน้ากับสัตว์ ต้องหันหน้าหามัน อย่าหันหลังหนี ธรรมชาติของสัตว์ คือ ผู้ที่ไม่หนี เป็นผู้ที่มั่นใจว่าตนเองแข็งแรงกว่า
การขู่ ใช้หลักธรรมชาติที่ว่า สัตว์ทุกชนิด ไม่ว่าจะร้ายสักแค่ไหนก็ตาม มีจุดอ่อนอยู่อย่างหนึ่งคือรักตัวเอง ไม่อยากเจ็บตัว เวลาเดินป่า ถ้ารู้ว่ามีสัตว์อยู่แถวนั้น ให้ส่งเสียงดังๆ สัตว์ได้ยินเสียงจะตกใจ แล้วเผ่นหนีไป เสียงในป่าคือการแสดงอาณาเขต โดยเฉพาะ เสียงมีดฟันไม้ในป่าดังฉับๆ เป็นเสียงที่่ดังไปไกล และน่ากลัวสำหรับสัตว์ เพราะบอกให้รู้ว่านั่นคือคน ถ้าเผชิญหน้ากันใน ระยะกระชั้นชิดหรือสัตว์ชาร์จเข้าใส่ แล้วเราขู่ให้มันรู้สึกว่าจะต้องเจ็บตัว เช่น ขู่ด้วยเสียง กางแขนออก หรือ ถือไม้ชูขึ้นสูง พวกมันเห็นแล้วมักจะเผ่นหนี (ยกเว้นสัตว์ที่คุ้นเคยกับคน จะคิดว่าคนปาของไปให้มันกิน) พวกสเปรย์พริกไทย ก็สามารถหยุดสัตว์ที่ชาร์จเข้ามาได้ดี และใช้ได้กับสัตว์หลายชนิด ทั้งหมี เสือ หมาไน แต่จำเป็นต้องมีเวลาเตรียมตัวพอสมควร และสัตว์ที่โดนสเปรย์พริกไทย อาจจะย้อนกลับมาได้ สเปรย์พริกไทยที่ใช้หยุดสัตว์จะเรียกว่า bear pepper spray ซึ่งฉีดไปได้ไกลกว่าสเปรย์พริกไทยที่ใช้กับคน แต่มีข้อจำกัดตรงที่ถ้ามีลมอาจจะไม่ได้ผล และถ้าโดนจู่โจมกะทันหัน จะหยิบสเปรย์มาใช้ไม่ทัน ส่วนการปาสิ่งของ อาจจะได้ผลหรือไม่ได้ผล ซึ่งนอกก้อนหินแล้ว สามารถใช้ท่อนไม้ตรงๆ ขนาดมือจับ ยาวไม่เกิน 1 ศอก เวลาเหวี่ยงไม้ออกไปแนวขนานกับพื้น ไม้จะควงสว่านไปได้ไกล เวลาเห็นสัตว์อยู่ในพุ่มไม้ แล้วอยากรู้ว่าตัวอะไร ให้หาอะไรปาใส่มัน มันจะวิ่งหนี แต่บางครั้งการปาของใส่ก็อาจเป็นการยั่วยุได้ เคยมีตัวอย่างของเด็ก 6 ขวบ ปาเสียมและก้อนหินใส่หมีที่กำลังคุ้ยถังขยะ แต่หมีกลับวิ่งเข้าใส่เขา ในกรณีที่ขู่แล้วยัง ไม่ได้ผล ทางเลือกสุดท้ายคือ ทำร้ายกลับ โดยใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้า อะไรอยู่ใกล้มือ หยิบออกมาจัดการ อาจเป็นขอนไม้หรือก้อนหิน เพื่อทุบหัวและจมูก อาจจะใช้มีดฟันขา แทงคอ ถ้าไม่มีอะไรอยู่ใกล้มือ ก็ใช้มือเปล่า ต่อยจมูก หรือ จิ้มตา จะใช้วิธีไหนขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในขณะนั้นเป็นสำคัญ

การทำร้ายกลับ ต้องรู้ว่าจุดอ่อนของสัตว์ป่าทุกชนิด อยู่ที่ ตา หัว คอ จมูก ขา และ หัวใจ สัตว์เล็กๆอย่างเช่น งู แมงป่อง ถ้าเรากดหรือจับหัวมันไว้ได้ มันจะหมอบราบคาบ ถ้าโดนทุบหัวจนเละหรือตัดคอจะตายทันที (ยกเว้นสัตว์เลือดเย็นอย่าง งู แมลงสาบ) ถ้าโดนเต่าหรือตะพาบกัด เอามือทุบหัวมันหรือบีบคอมันก็จะปล่อย แต่สัตว์บกอย่างตุ๊กแก แค่เอาน้ำราดหัวมันก็จะปล่อย สัตว์ใหญ่อย่างเสือ หมี หรือหมาป่า ถ้าโดนปาดคอ หรือ โดนขอนไม้ทุบหัว จะตายได้ แม้แต่การล้วงเข้าไปในคอของ สัตว์ใหญ่ ก็สามารถไล่มันไปได้ แต่ถ้าใช้มือล้วงต้องระวังอย่าให้มือโดนฟันหรือเขี้ยว เคยมีชายอเมริกันคนหนึ่ง (Chase Dellwo) โดนหมีจู่โจมเข้ามาเร็วมากจนไม่ทันแม้แต่จะง้างธนู ทั้งที่ลูกธนูอยู่กับสายแล้ว เขาโดนทำร้ายจนล้มลง แต่สุดท้ายเขาใช้มือล้วงเข้าไปในคอของหมี ทำให้หมีหนีไปทันที เวลาเผชิญหน้ากับสัตว์ อย่างน้อยควรจะหาขอนไม้หรือก้อนหิน ไว้ป้องกันตัว เคยมีชายอเมริกันคนหนึ่ง (Chris Everhart) ปาขอนไม้ขนาดเท่าข้อมือ ไปโดนหัวหมีที่หนักร้อยกว่ากิโลกรัม ที่กำลังวิ่งเข้าใส่ลูกชายวัย 6 ขวบของเขา ทำให้หมีตายทันที สัตว์ใหญ่อย่าง กวาง เสือ หมูป่า ช้าง ถ้าจับมัดขาไว้ มันก็จะลุกหนีไม่ได้ ถ้าโดนตัดขาก็จะเดินไม่ได้ ถ้าโดนปาดคอ หรือ โดนแทงที่หัวใจ จะตายทันที หัวใจของสัตว์ใหญ่จะอยู่ด้านซ้ายเช่นเดียวกับคน แต่หัวใจสัตว์แต่ละชนิดอาจจะไม่ได้อยู่ตำแหน่งเดียวกัน เช่น หัวใจของช้างเมื่อมองจากข้างลำตัว จะอยู่หน้าขาหน้าค่อนมาทางคอ หัวใจของหมูป่าอยู่หลังขาหน้า วิธีจับสัตว์ของพวกเลี้ยงสัตว์ คือ เหวี่ยงเชือกไปคล้องคอไว้ แล้วผูกกับหลัก แต่จะใช้กับสัตว์ที่มีแรงมากอย่างช้างไม่ได้ ช้างต้องใช้เชือกมัดไว้กับหลักแทน ถ้าทำอะไรมันไม่ได้อย่างเช่น เสือหรือจรเข้กัด หาอะไรจิ้มตามัน มันก็จะหนีทันที สิ่งสำคัญคือ อย่าล้ม คนส่วนใหญ่ที่ล้ม มักจะตกเป็นเหยื่อ เพราะสัตว์ตัวหนักและไวกว่าคน จึงสามารถกดคนให้หมอบราบคาบได้ คนที่ล้มแล้วมีโอกาสรอดก็เพราะกลิ้งลงเขา

สัตว์ใหญ่ทุกชนิด ถ้าเราทำให้มันบาดเจ็บ ด้วยปืนหรือด้วยมีดก็ตาม ถ้ามันยังไม่ตาย มันจะไม่หนี แต่จะโกรธ แล้วกระโจนเข้ามาทำร้ายเราทันที เมื่อเจอสัตว์ติดกับดักจึงต้องระวังให้มาก เพราะมันอาจจะคิดว่าเราเป็นคนวางกับดักแล้วทำร้ายเราได้ สัตว์บาดเจ็บจะสู้จนกว่าจะหมดแรง ปืนจึงไม่มีประโยชน์ในการใช้ต่อสู้กับสัตว์ใหญ่มากนัก เพราะ ถ้าเจอกันในระยะกระชั้นชิด ปืนก็แทบจะใช้ไม่ได้แล้ว แม้แต่ปืนไรเฟิล ถ้ายิงไม่โดนจุดสำคัญคือหัว สัตว์ก็จะไม่ตาย ไม่ต้องพูดถึงลูกซอง ยิงเท่าไหร่ก็ไม่ระคายผิว เคยมีหมีฆ่าคนตายที่ควนขนุนเมื่อปี 2552 ชาวบ้านจึงออกไล่ล่า เมื่อเจอแล้ว ต้องระดมยิงด้วยปืนจริงกันเป็นร้อยนัด ทั้งเอ็ม 16 และลูกซอง หมีจึงตาย เพราะฉะนั้น  เมื่อเกิดการต่อสู้กันขึ้นระหว่างคนกับสัตว์ จึงต้องหาทางฆ่าสัตว์ตัวนั้นให้เร็วที่สุด มิฉะนั้น มันอาจจะแค้นแล้วกลับมาทำร้ายเราได้ สุดท้ายแล้ว มันก็จะถูกคนตามล่าและยิงทิ้งอยู่ดี เพื่อป้องกันไม่ให้มันไปทำร้ายคนอื่นต่อ เคยมีเหตุการณ์จริงที่สามีภรรยาชาวแคนาดาไปตั้งแค้มป์ในป่าเมื่อปี 2012 แล้วภรรยาโดนหมีดำตรงเข้ามาทำร้ายทางด้านหลัง แล้วคาบภรรยาลากออกไป สามีจึงใช้มีดพกขนาดเล็ก เข้าไปแทงหมี 5-6 รอบ จนหมีล่าถอยไป แต่หมียังคงไม่หนี ยังพยายามจะเข้ามาจัดการกับเขาอีกรอบ โชคดีที่เขาอุ้มภรรยาหนีลงน้ำในทะเลสาบแล้วไปลงเรือ จึงรอดมาได้โดยที่หมีได้แต่เดินตามมาดูอยู่ริมฝั่ง สามีพายเรือออกไปร้องขอความช่วยเหลือ แต่ภรรยาเสียชีวิตบนเรือเพราะทนพิษบาดแผลไม่ไหว หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ก็ชัดจุดออกไล่ล่า จนเจอหมีที่มีรอยแผลตรงตามที่ชายคนนี้บอก แล้วยิงหมีตัวนั้นตาย

ธรรมชาติของสัตว์ป่า จะไม่ทำร้ายคน ยกเว้นจะเป็นสัตว์แม่ลุกอ่อนหวงลูก หรือ คนไปขวางทางเดินหรือการหากินของมัน สัตว์ป่าที่ทำร้ายคนโดยไม่มีสาเหตุ  เกิดจากเคยโดนคนทำร้ายมาก่อน ทำให้มันจำฝังใจ ถึงแม้จะเป็นคนแปลกหน้าก็ยังตรงเข้าทำร้าย แม้แต่สัตว์ตามบ้านอย่างหมา ก็เป็นเหมือนกัน อย่างที่เราเคยเห็นหมาวิ่งไล่กัดรถยนต์ทุกคันที่วิ่งผ่าน เพราะมันเคยโดนรถยนต์เฉี่ยวชนมาก่อน ด้วยเหตุนี้ สัตว์ที่อยู่ในป่าใกล้หมู่บ้าน จึงมีอันตรายมากกว่า สัตว์ที่พบกลางป่าลึก เพราะ สัตว์ที่อยู่ใกล้หมู่บ้าน มีโอกาสโดนชาวบ้านทำร้ายได้ง่าย อย่างไรก็ตาม บางช่วงสัตว์อาจจะไปหากินในป่า บางช่วงมาหากินในหมู่บ้าน เราจึงควรรู้ข้อมุลของสัตว์ในพื้นที่แห่งนั้น โดยถามจากคนพื้นที่

ทาก

ทากคือปลิงบก พบในป่าลึกที่มีความชุ่มชื้นสูง ถ้าที่ไหนแห้งๆอย่างตามก้อนหิน หรือแล้งๆขนาดใบไม้ที่พื้นเริ่มกรอบ ก็จะไม่เจอทาก คนที่อยู่ป่าบ่อยๆ จะเห็นทากเป็นตัวตลกหรือเป็นเพื่อนที่ไม่น่ากลัว เช่นเดียวกับพวกยุง เวลาอยู่นิ่งๆ แล้วทากไต่ขึ้นมาจะรู้สึกได้  ถ้าขาแห้งและอุ่น จะรู้สึกเย็นๆเหมือนน้ำกระเด็นใส่ ถึงแม้ว่าขาจะเปียก เวลาทากไต่จะรู้สึกคันยิกๆ ก้มลงไปดูจะหยิบได้ทันเสมอ โดยไม่โดนทากกัดเลย แต่ถ้ากำลังเดิน หรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ไม่ค่อยอยู่นิ่ง เวลาทากไต่อาจจะไม่ค่อยรู้สึกตัว แต่บ่อยครั้งที่เราจะรู้ตัวก่อนทากกัด เพราะจะรู้สึกเจ็บๆ เหมือนเข็มแทงแสดงว่ามันกำลังพยายามจะเจาะผิวหนังอยู่ ถ้ารู้สึกก็รีบก้มลงไปดู ถ้าเห็นแล้ว แกะออกก่อนที่มันจะกัด จะไม่มีเลือดไหล

วิธีแกะทากที่ดีที่สุดคือใช้เล็บขูดออก วิธีนี้แผลจะไม่เปิด ถ้าไม่มีเล็บ อาจใช้มีดขูด คนทั่วไปเห็นทากแล้วตกใจ จะรีบดึงออก แต่ดึงไม่ออกเพราะตัวมันลื่น หรือดึงออกได้จะกลายเป็นแผลเปิดขนาดใหญ่ บางคนใช้ไฟลนหรือใช้อะไรแสบๆคันๆเช่นแอลกอฮล์ สบู่ หรือเกลือ ไปทาตัวมัน มันก็รีบคายเขี้ยวคลานหนี วิธีนี้ทำให้แผลไม่เปิดมากนัก แต่นอกจากจะยุ่งยากแล้ว ทากอาจจะคายเลือดที่กินไปแล้วกลับเข้าสู่ร่างกายเรา พร้อมด้วยเชื้อโรคจากตัวมัน

พอทากหลุดติดมือมาแล้ว ถึงแม้จะดีดหรือเขี่ยทิ้ง มันก็ยังติดอยู่กับมือ เพราะ ทากสามารถใช้ปากทั้งสองด้านเกาะกับผิวหนังเราไว้ วิธีแก้คือ จับมันปั้นเป็นก้อน เพื่อไม่ให้มันมีโอกาสเกาะกับผิวหนังเรา แล้วเราก็จะสามารถโยนมันทิ้งไปได้ง่ายๆ

ถ้าปล่อยให้ทากดูดเลือดจนอิ่มตัวเป่งแล้ว มันจะคายเขี้ยวหลุดออกไปเอง หลังจากทากหลุดออกไปแล้ว ไม่ว่าจะหลุดเองหรือโดนแกะก็ตาม ถ้าเลือดยังไหลอยู่ จะไหลไปอีกสักพักใหญ่ ให้แปะพลาสเตอร์ผ้าเพื่อซับเลือดไว้ ถ้าไม่แปะ เลือดจะเลอะเสื้อผ้า ถ้าทากเพิ่งกัด เลือดจะไหลประมาณครึ่งชั่วโมง แต่ถ้าทากเกาะดูดเลือดจนตัวบวมเป่งแล้ว เลือดอาจจะไหลข้ามคืนกว่าจะหยุด ถ้าใช้พลาสเตอร์ยาปิด แล้วซับเลือดได้ไม่หมด ควรใช้สำลีก้อนซับเลือดไว้แล้วค่อยใช้พลาสเตอร์ยาปิดทับไว้

ทากกัดจะคันอยู่เพียง 2-3 วัน แล้วจะหายคันไปเอง ช่วงที่คันๆที่แผล คนปกติจะพอทนได้ ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าทนไม่ไหว ให้ทายาแก้แพ้ตรงรอยกัดจะช่วยให้หายคันได้

ทากจะอ่อนไหวต่อสิ่งที่ผิดธรรมชาติ แค่เจอเสื้อผ้าแห้งๆมันก็หนีกลับลงพื้นแล้ว แต่ถ้าเสื้อผ้าเปียก อย่างในหน้าฝน จะไม่ได้ผล การใส่ถุงกันทากแห้งๆ หรือใส่กางเกงไว้ในรองเท้า จึงป้องกันได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ค่อยทำกัน เพราะปลายขากางเกงจะหลุดออกจากรองเท้าหรือถุงเท้าได้ง่าย ถ้าใช้ถุงเท้ายาวๆถึงเข่า เวลาเดินผ่านทุ่งหญ้าก็จะมีดอกหญ้าเจ้าชู้ติดมา

ทากบางที่ ไม่กลัวสิ่งแปลกปลอม โดยเฉพาะเวลาฝนตกเสื้อผ้าเปียก มันจะไต่ขึ้นมาเรื่อยๆ เราจึงจำเป็นต้องหาวิธีป้องกันเพิ่มเติมไว้ด้วย ถ้าฉีดพวกตะไคร้หอมซึ่งมีฤทธิ์อ่อนจะป้องกันได้ประมาณ 1-2 ชม. แต่ถ้าใช้ DEET จะป้องกันได้นานกว่า 1 วัน  ส่วนยาฉุนนั้นไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากต้องจุ่มน้ำเลอะเทอะ ถ้าเก็บไว้ในกระเป๋าแล้วถุงแตก จะทำให้เหม็น ถ้าไม่มีจริงๆใช้น้ำยาล้างจานหรือสบู่แทนได้

ก่อนเข้าป่า และ ก่อน ออกเดินทางทุกเช้า ควรฉีดยากันทากเสมอ ถึงแม้ว่าแถวนั้ันจะไม่มีทากก็ตาม พอเดินไปกลางทางอาจจะเจอ ทากเป็นจุดๆ ถึงแม้ว่าทากจะพบมากอยู่ใกล้น้ำ แต่บางทีบนสันเขาก็มีทาก ป่าที่เคยไปแล้วไม่มีทาก พอฝนตก อาจจะมีทากเต็มไปหมด แค่โดนทากกัดสักตัวจนเลือดไหลไม่หยุดก็เริ่มจะเสียศูนย์แล้ว ถ้าไม่มีทาก ก็จะมีมดแน่นอน ซึ่งยากันทากสามารถป้องกันได้ 

เวลาเข้าป่า ควรจะแบกยากันทาก ไปให้เพียงพอที่จะฉีดได้ทุกวัน วันละหลายๆรอบ เผื่อในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ ฝนตกทั้งวัน จำเป็นต้องฉีด เช้า กลางวัน เย็น หรือถ้าต้องเดินลุยน้ำเป็นระยะ ก็ต้องฉีดมากกว่านี้ ยากันทากเป็นสิ่งที่ไม่ควรประหยัดหรือกลัวหนัก เพราะถ้ายากันทากไม่พอ จะโดนทากรุมกัด จนเสื้อผ้าเปื้อนเลือดและคันไปหมด จนหมดอารมณ์เดินทางต่อ โดยเฉพาะเวลาอยู่ที่พักที่มีทาก มีโอกาสโดนทากกัดมากกว่าเวลาเดิน เพราะเวลาอยู่นิ่งๆสักพัก ทากจะเดินเข้ามาหา นอกจากนี้อาจจะมีคนอื่นมาขอแบ่งใช้ยากันทากด้วย

ยากันทากแบบกระป๋องสเปรย์เหล็กอัดลม ดีที่สุด เพราะใช้ง่ายกว่า สามารถคว่ำกระป๋องฉีดได้ (ยกเว้นรุ่นอัดแก๊สที่ไม่ผสมกับน้ำยา จะคว่ำกระป๋องฉีดไม่ออก) ส่วนแบบขวดพลาสติกไม่อัดลม จะใช้ยากกว่า และเลอะมือง่าย เพราะ คว่ำฉีดไม่ออก ถ้าตั้งฉีดจะใช้ลำบาก  ข้อเสียของขวดพลาสติกคือ เวลาโดนบีบอัด (เช่น เวลาวางกระเป๋าไว้ในรถ) หรือล้มไปทับก้อนหิน มีโอกาสขวดแตกได้ง่าย ข้อเสียของกระป๋องสเปรย์เหล็กอัดลม คือมีขนาดใหญ่ และแบ่งไม่ได้ ทำให้ประมาณจำนวนน้ำยาที่เหลืออยู่ได้ยาก ต้องใช้วิธีชั่งน้ำหนัก จึงจะรู้ ถ้าเดินป่าระยะสั้น แนะนำซื้อแบบเติมมาแบ่งใส่ขวดสเปรย์ขนาดเล็กที่ไม่อัดลม ควรเป็นขวดอลูมิเนียมเพื่อเวลาโดนกระแทกแล้วไม่แตก ส่วนแบบอื่นๆเช่น แบบทา ไม่ควรใช้ เพราะ จะทำให้เรากล้วเลอะมือ ทำให้ไม่ชอบทาบ่อย เพราะทาเสร็จแล้วต้องล้างน้ำ ถ้าล้างน้ำไม่สะอาดก็ต้องล้างต่อด้วยสบู่ต่ออีก โดยเฉพาะเวลาอยู่บนเขา อาจจะหาน้ำล้างมือยาก

ยากันทาก ควรใช้รุ่นกันน้ำ กันเหงื่อ (sweat-proof) ทดลองล้างน้ำดูแล้วกลิ่นยังไม่หาย เพราะเวลาเดินป่า ถึงแม้จะไม่ลุยน้ำ ก็มีโอกาสโดนละอองน้ำบนใบไม้

ถ้าไม่มียากันทาก ควรเปิดขากางเกงให้ทากไต่ขึ้นมากัดที่ขา ดีกว่าให้มันไต่ขึ้นมาสูง เพราะ เวลาทากที่กัดที่ขาจะรู้สึกเจ็บง่าย แต่ถ้ากัดที่เอวจะไม่ค่อยรู้สึก และ ถ้าทากกัดหลังลำตัว จะมองไม่เห็น อย่าปล่อยให้ทากขึ้นมาถึงคอ เพราะเคยมีคนโดนทากไต่เข้าตา หรือเข้าจมูก แต่ปัญหาก็คือ นอกจากทากแล้ว ก็จะมีเห็บไต่ขึ้นมากัดขาด้วย ดังนั้น ถ้าไม่พร้อมอย่าเข้าป่าเลยจะดีกว่า

หากต้องนอนในดงทาก แค่ผ้าปูพื้นพลาสติกธรรมดา ทากก็จะไม่กล้าขึ้นมา หรือทาแป้งเด็กไว้บนผ้าปูพื้น เน้นว่าแป้งเด็กเท่านั้น ทากได้กลิ่นแป้งก็จะไม่กล้าไต่เข้ามา บางตัวพอเจอแป้ง จะลื่นตีลังกาแล้วรีบหนีกลับลงพืันแทบไม่ทัน ไม่แนะนำให้ใช้ปูนขาวเนื่องจากหากเราไปสัมผัสเข้าจะกัดมือ และไม่แนะนำให้โรยปูนขาวที่พื้นเนื่องจากจะฆ่าสิ่งมีชีวิตเล็กๆทุกชนิด ที่มาสัมผัส แต่ทากอาจจะซ่อนอยู่ใต้ผ้าปูพื้น เวลาเก็บผ้าปูพื้นจึงควรตรวจสอบให้ดี

เวลาเดินป่าที่มีทาก ควรมีพลาสเตอร์ยาและสำลีก้อนจำนวนหนึ่ง ใส่ถุงซิปพลาสติก เก็บไว้ในที่ๆหยิบใช้ได้สะดวก เช่น ในกระเป๋ากางเกง หรือกระเป๋าคาดเอว เพื่อเวลาโดนทากกัด จะได้หยิบมาใช้ได้ทันที ถ้าไม่ใส่ถุงพลาสติก พลาสเตอร์ยาและสำลีก้อนจะเปียกเหงื่อและฝนจนใช้งานไม่ได้

ทากเป็นสัตว์ร่วมโลกที่ไม่มีพิษมีภัย แค่มาทักทายให้รู้ว่าป่าแห่งนี้อุดมสมบูรณ์นะ แต่ถ้าเธอเผลอฉันขอดูดเลือดนิดเดียว ดังนั้น เขาจึงไม่สมควรจะได้รับโทษด้วยการลนไฟ หรือหรือเผาทั้งเป็น แค่ปล่อยลงดินไป เขาก็จะกลับไปอยู่ในที่ของเขา

เห็บ


ในป่าที่มีสัตว์ชุกชุม ต้นไม้เตี้ยๆ
เกือบทุกต้น จะมีเห็บซ่อนอยู่ใต้
ใบไม้ตรงปลายใบ พลิกดูจะเจอ
หลังจากเข้าป่าแล้ว ถ้ามีตุ่มที่คันมาก คันจนต้องสะดุ้งตื่นกลางดึก คันเกิน 2-3 วันแล้วเริ่มเป็นแผลพุพอง แต่ไม่รู้ว่าตัวอะไรกัด  ก็สันนิษฐานได้ว่าจะโดนเห็บกัด แต่ตัวหลุดไปแล้ว เพราะแมลงชนิดอื่น กัดแล้วจะคันอยู่ไม่เกิน 2-3 วัน และไม่มีแผลพุพอง เห็บในป่าที่กัดคน มีอยู่ 2 ประเภท คือ เห็บ และ แมงแดง บางคนเรียกแมงแดงว่า เห็บลม เพราะเชื่อว่ามันลอยมาตามลม แต่จริงๆแล้วไม่ใช่

เห็บ สีออกเทาๆ ตัวอ่อนจะมี 6 ขา ตัวโตเต็มวัยจะมี 8 ขา ซึ่งไม่ว่าประเภทใดก็ตาม จะดูดเลือดคนจนตัวของมันพองขึ้นจนเห็นได้ชัด ถ้าโดนเห็บกัด จะไม่ค่อยรู้สึก จนกระทั่งเวลาผ่านไปจะเริ่มเจ็บ เมื่อก้มไปดูจะเห็นรอยแดงรอบๆบริเวณที่โดนเห็บกัด ถ้าตัวที่กัดมี 8 ขา ก็มั่นใจได้ว่าเป็นเห็บ ไม่ใช่แมงแดง และเห็บตัวใหญ่กว่าแมงแดง แค่มองดูปกติก็เห็นตัว ถ้าได้เกาะผิวหนังคนแล้ว ถึงแม้จะฟอกสบู่ ก็ยังไม่หลุด โชคดีที่เวลาเดินป่า เราจะไม่ค่อยเจอเห็บบ่อยนัก ที่เจอบ่อยคือแมงแดง

แมงแดง คือตัวอ่อนของไร วงการแพทย์จึงเรียกว่าไรอ่อน มีสีออกแดงๆ คนทั่วไปจึงเรียกว่าแมงแดง มี 6 ขา จะกัดคนเพื่อดูดน้ำเหลือง ไม่ดูดเลือด แต่ถ้าเป็นไรตัวเต็มวัยจะมี 8 ขา และไม่กัดคน แมงแดงมีขนาดเล็กกว่าเห็บคือตัวยาวไม่เกิน 0.5 มม. แมงแดงอาจตัวเล็กมากจนมองไม่ค่อยเห็น ต้องก้มลงไปดูใกล้ๆ จะต่างกับเศษผงตรงที่เคลื่อนที่ได้ ต่างจากไฝหรือขี้แมงวันตรงที่ เวลาส่องไฟแล้วจะสะท้อนแสงเป็นเงา ถ้าเอามือเขี่ยแล้วหางจะชี้ขึ้นมา  ชอบเกาะตามเนื้ออ่อน เช่นง่ามนิ้ว ใต้แขน รอบเอว ขาอ่อนด้านใน แต่เนื้อส่วนที่ไม่แข็งเกินไปก็เกาะได้ เวลาเกาะแล้วข้ามวันจึงจะเริ่มรู้สึก ถ้าโดนกัดแรกๆจะไม่รู้สึก แต่เมื่อเวลาผ่านไป 1-2 วันจะเริ่มคัน ถ้าคันนานเกิน 2-3 วัน สงสัยได้ว่าเป็นแมงแดง (เพราะถ้ายุงหรือริ้นกัด จะคันอยู่ไม่เกิน 2-3 วัน) การฟอกสบู่ จะทำให้ตัวมันจะหลุดออก พร้อมกับคายพิษออกมาไว้ใต้ผิวหนัง เหลือทิ้งไว้เป็นตุ่มแดง ซึ่งต่อมาไม่กี่วันจะกลายเป็นตุ่มน้ำเหลืองพุพองและคันมาก

แผลที่โดนเห็บหรือแมงแดงกัดจะคัน ถ้าไม่เกา แผลจะหายคันภายใน 1 อาทิตย์ ถ้าไม่ไปเกาที่ตุ่ม ทิ้งไว้สักเดือนจะยุบลงไม่มีแผลเป็น  แต่ถ้าเกา แผลจะไม่หายสักที แผลจะแตกแล้วแห้งสลับกัน จนกลายเป็นแผลเป็นในที่สุด วิธีแก้คันคือ กินหรือทายาแก้แพ้ก่อนนอน จะช่วยให้ไม่ต้องสะดุ้งตื่นมากลางดึกเพราะคัน ถ้าเป็นแมงแดงกัด ทาผงฟู จะดีกว่ายาแก้แพ้ เพราะยาแก้แพ้เป็นการแก้ที่ปลายเหตุด้วยการกดอาการ ถ้าหยุดทาก็จะคันอีก แต่ผงฟู จะไปทำปฎิกริยากับพิษใต้ผิวหนัง ทำให้ไม่กลับมาเป็นอีก(ดูชื่อเต็มของผงฟู ในหัวข้อ ยา) วิธีการคือ เทผงฟูส่วนหนึ่งลงบนจานแล้วผสมน้ำเล็กน้อยประมาณ 1/3 ของผงฟู ผงที่ละลายน้ำไม่หมดจะจับตัวกันเป็นก้อน แบ่งมาพอกตรงจุดที่เป็นตุ่ม

เห็บและแมงแดงพบได้ในป่าที่มีสัตว์ เป็นของคู่กันกับสัตว์ป่า แม้แต่ป่าที่่มีสัตว์เล็กอย่าง งู หรือ หนู ก็เป็นพาหะของเห็บและแมงแดงได้ เห็บและแมงแดง พบทั้งในที่รก และ ตามทางด่านสัตว์โล่งๆ เจอทั้่งริมน้ำและบนสันเขา พบมากตามพื้นดินที่มีใบไม้แห้งกรอบปกคลุม และตามใต้ใบไม้ต้นเตี้ยๆ ธรรมชาติของพวกมันจะชอบไต่ขึ้นมาจากพื้น ขึ้นมาตามลำต้น ขึ้นมาจนถึงปลายใบ แล้วซ่อนอยู่ใต้ใบ บางตัวกล้าขนาดขึ้นมาอยู่ด้านบนของใบ พบได้ทั้งใบไม้เนื้ออ่อน และใบไม้เนื้อแข็ง รวมทั้งยอดหญ้า ยิ่งตามต้นไม้เตี้ยๆ สูงจากพื้นไม่ถึงหัวเข่า จะพบเห็บเกือบทุกต้น ถ้าต้นไม้สูงขึ้น จะพบน้อยลง ระดับสูงกว่าหัวคนก็ยังพบได้ แต่ไม่พบตามลำต้น หรือตามเปลือกไม้ ไม่พบบนก้อนหินหรือถนนคอนกรีต ถ้าต้องการรู้ว่าพวกนี้หน้าตาเป็นอย่างไร ลองไปตามทางด่านสัตว์ (คือทางเดินในป่าที่มีรอยเท้าสัตว์) แล้วพลิกใบไม้ต้นเตี้ยๆข้างทางดู

การเข้าป่าที่มีเห็บแมงแดง ควรเข้าในช่วงหน้าฝนจะดีที่สุด เพราะพวกมันจะหลบฝนอยู่นิ่งๆใต้ใบไม้ ไม่ค่อยตื่นตัวเวลามีอะไรไปสัมผัส ผมเคยเขี่ยเห็บมาวางไว้บนขอนไม้ขณะฝนกำลังตก ปรากฎว่ามันโดนน้ำแล้วไม่ตาย แต่รีบไต่ลงไปหลบฝนใต้ขอนไม้ เวลาเดินป่าหน้าฝน เราจึงไม่ค่อยโดนเกาะ แต่อาจจะมีหลงมาบ้างเล็กน้อย

แต่พอถึงหน้าแล้ง คือหลังจากหมดหน้าฝนได้ประมาณ 1 เดือน พวกมันก็จะเริ่มทำงาน ตัวที่อยู่ตามพื้น จะไต่ขึ้นมาตามรองเท้า ส่วนตัวที่ไต่ขึ้นไปซ่อนอยู่ใต้ใบไม้ จะรอคนหรือสัตว์เดินผ่านมาสัมผัสกับใบไม้ มันจะเกาะติดเสื้อผ้ามาอย่างง่ายดาย สาเหตุที่เวลาเราเดินป่าในหน้าแล้ง แล้วโดนพวกมันเกาะไม่มาก เพราะ พวกมันจะอยู่เป็นดง บางบริเวณไม่มี และมีบางตัวเท่านั้น ที่โดนสัมผัสแล้วเกาะติดมา ส่วนใหญ่ ถึงแม้ว่าจะโดนเขี่ยแรงๆก็ยังไม่ขยับเขยื้อน ใบไม้บางใบอาจมีเกาะอยู่เป็นสิบตัว แต่อาจจะติดเสื้อผ้าที่ไปสัมผัสมาแค่ไม่กี่ตัว

ธรรมชาติของเห็บและแมงแดงจะไต่ขึ้นที่สูงเรื่อยๆ จนเจอผิวหนังจึงเกาะ ถ้าเราไปเจอแล้วแกะออกก่อน อาจจะมีแค่รอยแดง แต่ถ้าทิ้งไว้ข้ามคืน พวกมันจะเริ่มปล่อยเชื้อโรคเข้าไปในร่างกาย

เห็บและแมงแดงต่างจากแมลงทั่วไปตรงที่ตัวแบน ตีลังกาได้ ไต่ขึ้นด้วยความเร็วคงที่ แมงแดงไม่ใช่ปัญหาเพราะฟอกสบู่ก็หลุด อาจฟอกแล้วไม่หลุดทันที ต้องฟอกซ้ำจึงจะหลุด แต่ปัญหาคือเห็บ ถ้าดึงออก เขี้ยวจะฝังอยู่ที่ผิวหนังทำให้คันเป็นเวลานานนับปี  บางคนบอกว่าให้ใช้ยาหม่องทาแล้วมันจะคายเขี้ยวออก ถ้าทำแบบนั้นมันจะคายเชื้อโรคเข้ามาในร่างกายของเราด้วย วิธีที่ดีที่สุดในการเอาเห็บออกคือ ใช้เครื่องมือที่ดึงเห็บโดยเฉพาะ ถ้าไม่มีเครื่องมืออาจใช้แหนบ แต่แหนบอาจจะบีบตัวเห็บแตกได้ ถ้าเห็บตัวใหญ่ให้ใช้แหนบจับตัวมันหมุนเป็นวงกลม แล้วตัวมันจะหลุดออกโดยไม่มีเขี้ยวฝัง แต่ถ้าตัวเล็ก ต้องใช้ปลายแหนบขูดออก ทำอย่างระมัดระวังก็จะหลุดได้

ที่ดึงเห็บ
มีร่อง
คล้ายส้อม

เครื่องมือดึงเห็บที่ดี ควรมี 2 ขนาด คือ ขนาดใหญ่สำหรับเห็บตัวใหญ่ และ ขนาดเล็กสำหรับเห็บตัวเล็ก วิธีใช้คือตักเห็บเข้ามาในร่อง โดยไม่จำเป็นต้องหมุน ปลายที่ตักเห็บควรจะบาง ไม่โค้งเป็นรูปช้อน เพื่อให้สามารถตักเห็บตัวเล็กๆได้ แต่ปัญหาคือไม่มีเครื่องมืออะไร ใช้ดึงแมงแดงได้ เพราะแมงแดงตัวเล็กมาก ถ้าเห็นแมงแดงเกาะ แล้วใช้เล็บไปขูดออก หรือใช้เครื่องมือขนาดใหญ่ดึง ตัวมันจะหลุดออก เหลือหัวฝังไว้

ตะไคร้หอมป้องกันแมงแดงได้ส่วนหนึ่ง deet ป้องกันเห็บได้ส่วนหนึ่ง แต่ป้องกันไม่ได้ 100% โดยเฉพาะเวลาที่เริ่มเจือจาง แทบจะไม่ได้ผลเลย ดังนั้น โทษของพวกมันจึงมีสถานเดียวคือ..ตาย

permethrin สามารถฆ่าแมลงทุกชนิดที่มาสัมผัส แต่ถ้าสัมผัสกับน้ำมันบนผิวหนังของคน จะหมดฤทธิ์ภายใน 15 นาที เพราะฉะนั้น เราสามารถใช้ permethrin เพื่อป้องกันเห็บและแมงแดงที่ไต่ขึ้นมาจากพื้นได้ แต่ถ้าฉีดตามเสื้อผ้ามักจะไม่ค่อยได้ผล เพราะเวลาเดินป่า เสื้อผ้ามักจะเปียกเหงื่ออยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แนะนำให้ใช้ Chaingard รุ่น pet bedding spray เนื่องจากเป็นกระป๋องอัดลม คว่ำกระป๋องฉีดได้ ข้อควรระวังคืออย่าฉีดทับกับ DEET เพราะจะทำปฎิกริยากันกลายเป็นสารอันตราย

วิธีป้องกันเห็บและแมงแดงติดตัวมาเวลาเดินป่า คือ
ป่าบางแห่งมีแต่เห็บและแมงแดง ไม่มีทาก เพราะ เห็บและแมงแดงทนสภาพแวดล้อมที่แห้งแล้งได้ดีกว่าทาก ป่าบางแห่ง มีแต่ทาก ไม่มีเห็บและแมงแดง เพราะไม่ค่อยมีสัตว์ ทากอาจอาศัยกินเลือดคนแทน

ถึงแม้จะไม่ได้ฉีดยาตามเสื้อผ้าก็มีวิธีที่จะไม่โดนกัดได้ แค่ใส่เสื้อผ้าสีอ่อนเดินป่า หลังจากที่ลุยผ่านที่รกที่มีใบไม้มาโดนตัว ควรสำรวจดูว่ามีอะไรติดมาบ้าง โดยเฉพาะบริเวณขากางเกงด้านหน้า จะเห็นพวกมันจะตัวสีดำหรือแดง ตัดกับเสื้อผ้าสีอ่อนชัดเจน ถ้าเห็นตัวก็ดีดออก แค่นี้ก็จะไม่โดนกัดเลย ถ้ามันไต่อยู่ตามผิวหนัง บ่อยครั้งที่เราจะรู้สึกตัวก่อนที่มันจะกัด จะคันยิกๆเหมือนมดไต่ แต่บางครั้งพอมันสัมผัสกับผิวหนังเราได้ มันอาจกัดโดยที่เราไม่รู้สึกตัว

เวลาเข้าป่าที่มีเห็บและแมงแดง ควรพกแว่นขยายไปด้วย เพื่อจะได้ส่องดูว่ารอยดำๆ เป็นเห็บหรือเป็นไฝ แต่ปัญหาของแว่นขยายคือ ต้องใช้ในที่สว่างๆ แต่ในป่ามีแสงแดดไม่พอ บางทีก็ต้องหาเห็บตอนกลางคืน ถ้าใช้อีกมือส่องไฟฉาย จะไม่สะดวก และจะสะท้อนกับกระจก จึงควรใช้แว่นขยายแบบมีไฟ led ในตัว จะช่วยให้เห็นชัดขึ้นมาก

เวลาอยู่ในป่าที่มีเห็บและแมงแดง ควรใส่กางเกงใน เพื่อป้องกันเห็บและแมงแดงมากัดอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นจุดที่เห็บชอบอยู่มากที่สุด ถ้าขอบกางเกงในเสียดสีกับต้นขา ควรใช้กางเกงในบ๊อกเซอร์ ส่วนจุดอื่นๆที่เห็บกัดแล้วมองไม่เห็นคือ ในสะดือ

ในช่วงสัปดาห์แรก หลังจากโดนเห็บหรือแมงแดงกัด อาจติดเชื้อแบคทีเรีย ถ้าไม่มีไข้ก็วางใจได้ว่าจะไม่มีเชื้อ ไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้ามีอาการ ไข้ตัวร้อน หนาวสั่น ปวดหัวโดยเฉพาะตรงขมับและหน้าผาก ปวดกล้ามเนื้อ คลื่นใส้อาเจียน ต่อมน้ำเหลืองใต้คางโต แสดงว่าติดเชื้อ อาจเป็นเชื้อจากเห็บหรือแมงแดง หรืออาจไม่ใช่ แต่เป็นเชื้อตัวอื่นก็ได้ ถ้าต้องการรู้ ต้องไปตรวจเลือดยืนยัน เชื้อแบคทีเรียจากเห็บและแมงแดงที่พบบ่อยในเมืองไทย คือ กลุ่มริกเกตเซีย (ซึ่งมีหลายตระกูล เช่น rickettsia, orientia) เป็นแบคทีเรียแกรมลบ  ที่ทำให้เกิดโรคไข้รากสาดใหญ่ (typhus) สามารถฆ่าได้ด้วยยาปฎิชีวนะที่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียแกรมลบ

แผลตกสะเก็ด ขนาดเท่า บุหรี่จี้ ตรงจุดที่ถูก
แมงแดงกัด แสดงว่าเชื้อโรคเข้าไป แต่แผลนี้
พบแค่ 30% ของคนที่ติดเชื้อ
ส่วนโรคอื่นๆอย่าง Lyme disease นั้นไม่มีรายงานว่าเคยพบในเมืองไทย เกิดจากเชื้อ Borrelia burgdorferi (อ่านว่า บอเรอเลีย เบิกดอเฟอไร) มีเห็บเป็นพาหะ อาการคือมีจ้ำหรือผื่นสีแดงขนาดใหญ่ อาจเป็นรูปวงกลมหรือวงแหวน ตรวจยืนยันได้จากภูมิคุ้มกัน Borrelia ทั้ง IgG และ IgM ซึ่งสามารถตรวจเชื้อได้หลายตัวนอกจาก burgdorferi แล้วก็มี afzelii, garinii

ผลตรวจเลือด CBC ที่ห่างกันอย่างน้อย 24 ชม. อาจพบด้วยว่า เกล็ดเลือดต่ำลง แต่ neutrophil สูงขึ้น และพบ band form ด้วย แต่ละคนอาจจะพบช้าหรือเร็วไม่เท่ากัน คนที่ภูมิคุ้มกันอ่อน อาจจะต้องรอหลายวันกว่าจะเจอ แต่คนที่ภูมิคุ้มกันดี แค่ข้ามคืนก็เห็นชัดแล้ว

การตรวจเลือด สามารถไปตรวจได้ที่ห้องแลปเอกชนหรือโรงพยาบาลเอกชนโดยบอกว่าไม่ต้องผ่าน หมอ แต่ถ้าจะไปหาหมอ ก็ควรจะไปหาแพทย์ที่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้ ซึ่งอยู่ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน เพราะหมอทั่วไปมีโอกาสวินิจฉัยผิด หมอส่วนใหญ่ยังไม่รู้เลยว่า เห็บเข้าไปในเสื้อได้อย่างไร แถมยังไม่ตรวจเลือดอีกต่างหาก ต่างจากหมอที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ซึ่งจะตรวจเลือดอย่างละเอียด

วิธีอ่านผลตรวจเลือดคือ ถ้าค่า IgM ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดก่อน เป็น positive แสดงว่าเพิ่งจะติดเชื้อมาใหม่ๆ แต่ถ้าค่า IgG ซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันที่เกิดทีหลัง เป็น positive แสดงว่าติดเชื้อมาแล้ว อย่างน้อยหลายสัปดาห์ แต่ถ้าเป็น negative แสดงว่าไม่พบเชื้อ ผลแลปที่แท้จริงจะไม่แสดงเป็น positive หรือ negative แต่แสดงเป็นตัวเลขเช่น 1:100 อ่านว่า 1 ต่อร้อย ถ้าค่าอ้างอิงบอกว่า ค่านี้ควรจะน้อยกว่า 1:50 แต่ผลตรวจออกมาเป็น 1:100 แสดงว่า เคยติดเชื้อ คือให้ตัด 1: ออก เปรียบเทียบแค่เลขตัวหลัง เพราะนี่คือผลการ titer ถ้า 1 ต่อร้อยคือ แบ่งเลือดเป็น 100 ส่วน แล้วนำมาตรวจแค่ 1 ส่วนยังเจอ แต่ถึงแม้ว่าผลตรวจภูมิคุ้มกันจะมีค่าสูงมาก ก็ยังไม่อาจบอกได้ว่า เชื้อยังมีอยู่หรือตายไปหมดแล้ว บอกได้แค่ว่าติดเชื้อมานานหรือยังโดยดูจาก IgM

เมื่อรู้ว่าติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินยาอะไร แค่นอนพักผ่อนมากๆ ร่างกายจะกำจัดเชื้อโรคได้เอง หมอส่วนใหญ่นิยมให้ปฎิชีวนะโดยไม่จำเป็น และให้แบบหว่าน แค่เห็นมีไข้ ยังไม่ทันเพาะเชื้อก็ให้กินแล้ว บางทีไม่มีไข้ก็ยังให้กิน ซึ่งผลเสียของยาปฎิชีวนะคือ จะไปฆ่าแบคทีเรียชนิดดีที่อยู่ในตัวเราด้วย ด้วยเหตุนี้ ยาปฎิชีวนะจึงไม่ควรใช้เลย ยกเว้นเป็นไข้นานเป็นสัปดาห์ นอนพักแล้วไม่หาย แสดงว่าภูมิคุ้มกันอ่อนแอ จึงต้องกินยาปฎิชีวนะช่วย

ผึ้ง

ผึ้งจะพบมากในช่วงหน้าร้อน ถ้าหน้าอื่นจะพบน้อยและตัวจะผอมๆ และจะพบเฉพาะตอนกลางวัน พอพระอาทิตย์ตกก็จะกลับรังกันหมด ผึ้งจะมาตอมตามตัวเราเพื่อกินเหงื่อ ปกติผึ้งจะไม่ต่อยคนยกเว้นจะจวนตัว คือ เราไปตบมัน หรือไม่มีทางออกเช่นมุดเข้าไปในเสื้อ มันอาจจะสู้เป็นครั้งสุดท้ายก่อนตาย เวลาผึ้งตอมจะรำคาญ และเวลาไต่ตามตัวจะเจ็บๆคันๆ ตะไคร้หอมป้องกันไม่ได้ หากใช้แป้งเด็กทาตัวจะป้องกันได้บ้าง ส่วนของใช้เช่น เป้สะพายหลัง ให้ฉีดด้วย DEET อีกวิธีที่ช่วยได้คือ นำเสื้อผ้าที่เปื้อนเหงื่อไปล้างน้ำ

เมื่อโดนผึ้งต่อย ทิ้งไว้เฉยๆ คนส่วนใหญ่จะหายคันภายใน 2-3 วัน หรือถ้าโดนต่อยใหม่ๆ ทาแอมโมเนีย จะทำปฎิกริยากับกรด formic acid ซึ่งอยู่ในพิษของผึ้ง กลายเป็นกลาง

พิษของตัวต่อ เป็นด่างอ่อนๆ

ต่อ แตน

ต่อและแตน จะต่อยก็ต่อเมื่อมีคนไปโดนรังมัน จุดที่โดนต่อยจะบวม และเจ็บกว่าผึ้งหลายเท่า เนื่องจากพิษของต่อและแตนเป็นด่าง เมื่อโดนต่อย ทาสารที่เป็นกรดเช่น น้ำส้มสายชู หรือมะนาว ใส่สำลีหรือกระดาษทิชชู่ โปะทิ้งไว้ 40 นาที กรดจะทำปฎิกริยากับพิษ แล้วกลายเป็นกลาง รอยบวมจะยุบลงอย่างรวดเร็ว และจะไม่กลับมาปวดอีก แต่ถ้าโปะไว้ไม่นานพอ จะกลับมาปวดใหม่  ถ้าโดนต่อยมานานแล้ว ให้ทายาแก้แพ้ จะยุบลง

เมื่อเดินไปโดนรังต่อแตน ถ้ามันยังมาไม่ถึงตัวให้อยู่นิ่งๆ มันอาจจะไม่ต่อย เพราะไม่เห็นว่าเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ถ้าขยับหรือพยายามปัด จะเป็นเหมือนการยั่วยุ ให้พวกมันบินมาทำร้าย แต่ถ้าเจอในระยะกระชั้นชิด หรืออยู่เฉยๆแล้วยังโดนต่อย จำเป็นต้องปลดเป้วิ่งหนี พอวิ่งหนีไปสักพัก มันก็จะไม่ตามแล้ว หลังจากนั้นจึงค่อยๆย่องกลับมาหยิบเป้ ถ้าหาพุ่มไม้หลบได้ หรือ กระโดดลงน้ำหนี มันก็จะหยุดตามเช่นกัน

ริ้น

ริ้น เป็นแมลงตัวเล็กๆเหมือนแมงหวี่ แต่เล็กกว่า ถ้ามุ้งตาไม่ถึ่พอ มันก็จะมุดเข้ามาในมุ้งได้ ริ้นพบได้ทุกระดับความสูง ตั้งแต่ริมทะเล ริมลำธาร เชิงเขา ขึ้นไปถึงบนยอดเขาสูง บางแห่งออกหากินกลางคืน บางแห่งออกหากินกลางวัน บางแห่งพบมากในช่วงหน้าฝน บางแห่งพบมากในช่วงฤดูหนาว สาเหตุของความหลายหลาย คือ ริ้นมีหลายสายพันธุ์ แต่ละสายพันธ์มีพฤติกรรมแตกต่างกัน บางสายพันธุ์ชอบกัดกินเลือดคน เวลากัดแล้วไม่รู้สึก มารู้ตัวทีวันรุ่งขึ้น กลายเป็นตุ่มแดงๆ คันๆ เหมือนยุงกัด อย่างน้อย 2-3วัน จึงจะหาย เวลาคันแล้วทายาแก้แพ้จะช่วยให้หายคันได้

ถึงแม้ว่าจะใส่กางเกงขายาว แต่ถ้าเปิดปลายขากางเกงไว้ มันก็สามารถบินอ้อมเข้าใต้ขากางเกงเข้าไปกัดขา ตะไคร้หอมสามารถป้องกันได้ แต่ต้องระวังโดนกัดที่ใบหน้าด้วย การสวมเสื้อมีหมวกคลุมหัว (hood) แล้วฉีดตะไคร้หอมบริเวณหมวก รวมทั้งการทาแป้งหนาๆ จะช่วยได้ แต่ถ้าทาบางๆอาจจะยังโดนกัดอยู่ ริ้นที่หากินช่วงกลางวัน จะบินเข้าหาแสงไฟ การปิดไฟช่วงพลบค่ำจะช่วยได้

ริ้นดำ มีสีดำ พบเฉพาะแหล่งน้ำที่สะอาดมากๆ พบตอนกลางวัน (ผมเคยโดนกัดตอนเที่ยงบนยอดสูงสุดของภูสอยดาว) พบมากช่วงเช้าและเย็นซึ่งแดดร่มลมตก (ถ้าอยู่ในจุดที่มีลมจะไม่ค่อยเจอ) ไม่กัดคนตอนกลางคืน ชาวเขาเรียกริ้นดำที่อยู่บนเขาว่า คุ่น ถึงแม้ว่าในเมืองไทยจะมีการค้นพบว่า มีริ้นดำอย่างน้อย 2 สายพันธุ์ ที่สามารถเป็นพาหะของพยาธิ แต่ยังไม่มีรายงานว่า มีคนไทยที่โดนคุ่นกัดแล้วป่วยเป็นโรคนี้ อาการที่เกิดจากพยาธิคือ ต่อมน้ำเหลืองบวม อาจมีก้อนใต้ผิวหนัง เมื่อผ่าก้อนออกมาก็จะเจอพยาธิเป็นจำนวนมาก ถ้าพยาธิเข้าไปที่ตา อาจทำให้ตาอักเสบหรือตาบอดได้ การตรวจหาพยาธิ ต้องรู้ว่าพยาธิอยู่ตรงไหน แล้วตัดชิ้นเนื้อส่วนนั้นมาส่องกล้อง

ยุง

ยุงมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก แม้แต่แถวใกล้ขั้วโลกเหนือที่หน้าหนาวมีหิมะตก หน้าร้อนจะมียุงระบาดหนัก เมื่อยุงกัดแล้ว จะเป็นตุ่มแดงๆคันๆอยู่ 2-3 วันจะหาย

ตะไคร้หอม จะค่อนข้างปลอดภัย ฉีดตามเสื้อผ้าป้องกันยุงได้ดี พอยุงบินเข้ามาใกล้ตัวแล้วได้กลิ่นฉุนๆจะหนีหมด ถึงแม้จะมีผิวหนังเปิดโล่งบางส่วน ยุงก็ไม่กล้าบินเข้ามา แต่ตะไคร้หอมไม่ควรฉีดโดนผิวหนังโดยตรงเพราะจะทำให้รู้สึกร้อน การก่อไฟจะช่วยไล่ยุงได้ แต่ถ้าไม่มีกองไฟ ต้องปิดร่างกายให้มิดชิด และ ทำมุ้งครอบหัว อาจจะร้อนจนเหงื่อออก แต่ดีกว่าโดนยุงกัด ถ้าไม่มีอะไรปกปิดร่างกาย ให้นำโคลนมาทาตัว จะป้องกันยุงได้ เช่นเดียวกับควาย ที่แช่โคลนเพื่อกันแมลง แต่การใช้ใบไม้มาคลุมตัวจะไม่ได้ผล เพราะ คลุมได้ไม่กี่นาที ยุงก็จะหาทางลอดเข้ามาจนได้ ใบสาบเสือนำมาขยี้ทาตัว สามารถกันยุงมาเกาะได้

เชื้อมาลาเรีย แพร่กระจายทางยุงก้นปล่อง ซึ่งหากินตอนกลางคืน ต่างกจากยุงทั่วไปคือเวลากัดจะยกก้นขึ้นสูง ในอดีตเมืองไทยมีมาลาเรียระบาด แต่โชคดีที่ต่อมามีการจัดการกับมาลาเรียที่มีประสิทธิภาพ มีหน่วยมาลาเรียกระจายอยู่ทั่วไปในชนบท ทำงานเชิงรุก เดินทางไปตรวจชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล เจาะเลือดนำมาส่องกล้องดู หรือถ้าใครเป็นแล้วไปที่หน่วย ก็จะเจาะเลือดให้ฟรี และให้กินยาต้านมาลาเรีย โรคมาลาเรียในเมืองไทยจึงน้อยลงเรื่อยๆ จนเรียกได้ว่า หายไปในที่สุด จะพบก็แต่ตามแถบชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน มีคนในประเทศเพื่อนบ้านเป็นพาหะเพราะการแพทย์ยังไปไม่ถึง  ต่อมาเมื่อมีคนงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น จึงมีโอกาสที่มาลาเรียจะกลับมาใหม่ แม้แต่ป่าล้อมเมืองอย่างเขาใหญ่ ก็ยังมีพวกแรงงานเถื่อนจากเขมรลักลอบเข้ามาหาไม้หอม

เชื้อมาลาเรีย เป็นเชื้อโปรโตซัว ซึ่งมีลักษณะคล้ายสัตว์คือ ไม่ค่อยอยู่นิ่ง และออกล่าเหยื่อเองได้ (ต่างจากแบคทีเรียหรือไวรัส ที่มีลักษณะคล้ายพืช คือไม่เคลื่อนไหว ถึงแม้จะมีแบคทีเรียบางชนิดที่เคลื่อนไหวได้ แต่ก็ไม่เคลื่อนไหวมากเหมือนโปรโตซัว ส่วนไวรัสจะต่างกับแบคทีเรียตรงที่ ไวรัสชอบเกาะกับเซล โดยเฉพาะพวกเม็ดเลือด แต่แบคทีเรียจะอยู่อย่างอิสระ)

เชื้อมาลาเรียจัดอยู่ในตระกูล Plasmodium ใช้อักษรย่อว่า P. ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ แต่ที่ติดเชื้อในคนได้ มี 5 สายพันธุ์ คือ P.falciparum (ฟาวซิพารั่ม), P.vivax (ไวแวกซ์), P.ovale (โอวาเล่), และ P.malariae (มาลาเรียอี), และ P.knowlesi(โนวไซ) เชื้อหลักๆที่พบในเมืองไทยมี 2 สายพันธุ์ คือ falciparum และ vivax อย่างละครึ่ง ส่วนสายพันธุ์อื่นพบน้อยมากแค่ไม่ถึง 1 เปอร์เซนต์

เมื่อเชื้อมาลาเรียเข้าสู่ร่างกาย จะเข้าไปฟักตัวในตับ เป็นเวลา 1-3 สัปดาห์ (บางคนที่ติดเชื้อ vivax อาจใช้เวลาฟักตัวนานถึง 1 ปี) ซึ่งช่วงนี้จะยังไม่มีอาการ จนกระทั่งเชื้อเริ่มแบ่งตัวมากขึ้นจาก 1 ตัว เป็นพันๆตัว จนเซลตับโตและแตก เชื้อจึงแพร่กระจายออกจากตับสู่กระแสเลือด แล้วเข้าไปแบ่งตัวอยู่ในเม็ดเลือดแดงต่อ แบ่งจาก 1 ตัว เป็นสิบๆตัว ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก แล้วเชื้อแพร่กระจายออกมา เพื่อไปเกาะเม็ดเลือดแดงตัวอื่นต่อ ช่วงที่เม็ดเลือดแดงแตก ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะเริ่มทำงาน ทำให้มีไข้ หนาว อ่อนเพลีย ช่วงก่อนหน้าที่เม็ดเลือดแดงจะแตก อาจมีแค่อาการปวดหัว ปวดตัว เป็นสัญญาณเตือน

เชื้อ falciparum เป็นตัวที่ร้ายที่สุด จะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงและรวดเร็ว ถ้าได้รับการรักษาช้า อาจถึงตายได้ เพราะถ้าเป็นหนักๆ เม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ จะไปเกาะผนังเส้นเลือดฝอย ทำให้เส้นเลือดฝอยอุดตัน ทำให้เกิดอาการแทรกซ้อน เช่น หัวใจล้มเหลว ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ อาเจียนออกมาในปริมาณมาก น้ำท่วมปอดทำให้หายใจไม่ออก ถ้าขึ้นไปอุดตันในสมอง จะรู้สึกเหมือนเข็มเป็นร้อยๆเล่มแทงอยู่ในหัว เรียกว่า มาลาเรียขึ้นสมอง อาจถึงขั้นชักและหมดสติ ถ้าถึงสมองแล้วก็มีโอกาสตายสูง พอเม็ดเลือดแดงถูกทำลายมากๆ บวกกับเส้นเลือดในไตถูกทำลาย จะทำให้ปัสสาวะมีสีดำเหมือนสีหมึก ซึ่งเป็นสีของฮีโมโกลบินที่ขับออกทางปัสสาวะ พอถึงจุดนั้น ไตจะเสื่อมอาจถึงขั้นต้องฟอกไต ผนังลำใส้ที่ถูกทำลายจะทำให้ท้องร่วงออกมาในปริมาณมาก พออวัยวะภายในถูกทำลายมากๆ จะมีเลือดไหลออกจากอวัยวะ ทำให้ความดันโลหิตต่ำ ส่วนเชื้อ vivax ถึงแม้ว่าจะถูกเรียกว่าเป็นเชื้อโรคใจดี ไม่อันตรายมากนัก แต่ถ้ากินยาไม่ครบ ทำให้เชื้อตายไม่หมดหรือเชื้อดื้อยา มันจะเป็นสายพันธุ์เดียว ที่สามารถซ่อนอยู่ในตับ รอวันที่ร่างกายอ่อนแอ จึงกำเริบขึ้นมาใหม่ จนกว่าจะกินยาฆ่าเชื้อได้หมด อย่างไรก็ตาม ยังมีรายงานว่าเชื้อ vivax มีอาการแทรกซ้อนได้เช่นเดียวกับ falciparum ถึงแม้ว่าจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากก็ตาม

เชื้อมาลาเรียในเม็ดเลือดแดง
มองจากกล้องจุลทรรศน์

อาการที่ชัดเจนของมาลาเรียที่แตกต่างเชื้อโรคชนิดอื่นคือ มีไข้หนาวสั่นแบบเป็นๆหายๆในวันเดียวกัน คือป่วยครึ่งวันแล้วกลับมาเป็นปกติ แต่เวลาเข้าป่ามักจะไม่ได้โดนยุงกัดอย่างเดียว อาจได้รับแบคทีเรียจากแผลหรือแมลงกัด ซึ่งอาการจากแบคทีเรียจะคงที่ต่อเนื่อง คือมีไข้ตลอดทั้งวัน ต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน ปัญหาคือ ช่วงติดเชื้อใหม่ๆ จะแยกยากระหว่างมาลาเรียหรือแบคทีเรีย เพราะ เชื้อถึงระยะแตกตัวไม่พร้อมกัน ทำให้เป็นไข้ไม่เป็นเวลา อาจจะป่วยทั้งวันเหมือนอาการไข้จากเชื้อโรคทั่วๆไปคือ หนาวก่อนสักครึ่งวันแล้วค่อยร้อน หนาวจากข้างในจนต้องห่มผ้า ไม่อยากกินข้าว แตะหน้าผากหรือวัดไข้แล้วตัวร้อน มีวิธีสังเกตุคือ ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียจะแพร่เร็วทำให้อาการทรุดเร็วตั้งแต่ครึ่งวันแรก แต่ถ้าเป็นมาลาเรียอาการเหล่านี้จะเป็นไม่หนักมาก และเป็นอยู่แค่ไม่กี่วัน แต่หลังจากนั้น เมื่อเชื้อเริ่มแตกตัวออกจากเม็ดเลือดแดงพร้อมกัน อาการจะเริ่มชัดขึ้น และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

เมื่ออาการเริ่มชัดแล้ว อาการบ่งชี้ว่าเป็นไข้มาลาเรียมี 3 ระยะ คือ ระยะหนาวสั่น ระยะร้อน และระยะเหงื่อออก ระยะหนาวสั่นจะอยู่ประมาณไม่เกิน 15 นาที ถึง 1 ชม.จะรู้สึกหนาวจากข้างใน และมีอาการสั่นด้วย สังเกตุว่ามือจะสั่น ต่อมาจะเข้าสู่ระยะร้อน จะรู้สึกร้อนอยู่ประมาณ 2-6 ชม. จะปวดหัว บวกกับมีไข้สูงอาจถึง 41 องศาเซลเซียส ไข้สูงเป็นตัวกระตุ้นให้คลื่นใส้อาเจียน ต่อจากนั้นจะเป็นระยะเหงื่อออกซึ่งกินเวลา 2-4 ชม.ไข้จะลดลงอย่างรวดเร็ว และจะมีเหงื่อออกมาก หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงปกติ ไม่มีอาการป่วย รอเวลาให้เชื้อกำเริบขึ้นมาอีก นั่นคือ ถ้ามีอาการครบทั้ง 3 ระยะ ก็มั่นใจได้ว่าเป็นมาลาเรีย แต่ถ้ายังไม่ครบก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นมาลาเรียหรือไม่ บางคนมีไข้แต่ไม่หนาวสั่น ก็อาจเป็นมาลาเรียได้

เชื้อมาลาเรียส่วนใหญ่ (vivax, falciparum, ovale) จะกำเริบวันเว้นวัน เพราะเชื้อมีระยะฟักตัวในเม็ดเลือดแดง 48 ชั่วโมง (ยกเว้นเชื้อ malariae จะใช้เวลาฟักตัว 72 ชม.) แต่มีบางคนที่เชื้อกำเริบทุกวันตรงเวลา หรือ หนาวสั่นวันละหลายรอบ บางครั้งเชื้อ falciparum อาจจะมีไข้ขึ้นๆลงๆไม่ค่อยตรงเวลา หรือเป็นไข้ต่อเนื่อง บางคนอาจติดเชื้อควบ 2 สายพันธุ์พร้อมกัน บางคนติดเชื้อมาลาเรียควบกับแบคทีเรีย ดังนั้น อาการไข้ที่ไม่ตรงเวลาและไม่ชัดเจน ทั้งในระยะแรกและระยะต่อมา จึงไม่อาจสรุปได้ว่า ไม่เป็นมาลาเรีย แต่เมื่อออกจากป่า ก็ควรจะคิดถึงมาลาเรียว่า เป็นสาเหตุหนึ่งของไข้ แล้วตรวจเลือดดูเพื่อยืนยัน การดูอาการอย่างเดียว โดยไม่ตรวจเลือด จะทำก็ต่อเมื่อ อยู่ในบริเวณที่ไม่สามารถตรวจเลือดได้ ถ้ามีอาการหนาวสั่นอย่างเดียวเป็นเวลานาน อาจสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคอื่น เช่น ติดเชื้อแบคทีเรียจากเห็บ หรือแม้แต่ไข้หวัดใหญ่ ถ้าติดเชื้อแบคทีเรียจะไม่มีน้ำมูก แต่ถ้ามีน้ำมูก อาจติดเชื้อไข้หวัดใหญ่

คนเป็นมาลาเรียที่ทิ้งไว้โดยไม่รักษา เชื่อโรคจะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกมากขึ้น จะทำให้จำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำ กลายเป็นโลหิตจาง หน้าซีดมองเห็นด้วยตาเปล่า และฝ่ามือซีด ลองหงายฝ่ามือเทียบกับคนอื่น จะเห็นสีขาวแตกต่างจากฝ่ามือคนทั่วไปจะมีสีเลือดอยู่ ตัวเหลืองตาเหลืองเกิดจากเศษของเม็ดเลือดแดงที่แตกตัว วัดชีพจรขณะนั่งนิ่งๆเป็นเวลานาน ได้ถึง 100 ครั้งต่อนาที เพราะพอเม็ดเลือดแดงน้อย จะทำให้ออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายไม่พอ ขยับตัวน้อยๆพอได้ แต่ถ้าเริ่มขยับตัวมากขึ้นก็จะเริ่มเหนื่อย อาการจะทรุดลงเรื่อยๆ ถ้าไม่รักษาภายใน 1 เดือน จะตายได้ คนที่เคยเป็นมาลาเรียเล่าว่า ขณะที่เขากำลังนอนป่วยใกล้ตายอยู่แถวชายแดนนั้น พอแพทย์ทหารฉีดยาฆ่าเชื้อมาลาเรียให้เข็มแรกเท่านั้น เขาก็รู้สึกได้ทันทีว่ารอดตายแล้ว ถ้าเม็ดเลือดแดงน้อยมาก การให้เลือดในรูปของเม็ดเลือดแดงล้วนๆ ก็จะช่วยให้ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ปัญหาคือเลือดหายาก

เวลาเข้าป่าที่มีเชื้อมาลาเรีย ไม่ควรกินยาป้องกันมาลาเรียหรือยาแก้ปวด เพราะถ้าเป็นแล้วจะตรวจหาเชื้อยาก นอกจากนี้ยายังมีผลข้างเคียงอย่างเช่น quinine จะไปทำลายประสาทหู จนทำให้สูญเสียการได้ยิน ยาฆ่าเชื้อมาลาเรียมีหลายชนิด แต่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่า quinine sulfate (ฝรั่งอ่านว่าไควไน แต่คนไทยอ่านว่าควินิน) เป็นยาที่ดีกว่ายาสังเคราะห์อย่าง chloroquine ซึ่งปรากฎว่าเชื้อดื้อยาอย่างรวดเร็ว ในขณะที่การดื้อยาควินินเกิดขึ้นช้ามาก ซึ่งอธิบายได้ว่า ธรรมชาติมีวิธีจัดการกับตัวมันเองอยู่แล้ว ควินินเป็นยาที่สกัดมาจากเปลือกไม้ สามารถฆ่าเชื้อมาลาเรียโดยตรงและฆ่าได้ทุกสายพันธุ์ ฆ่าได้ถึงในตับ ถ้ารักษาได้ผล อาการจะดีขึ้นภายในเวลา 1-2 วัน แต่สาเหตุที่วงการแพทย์แผนปัจจุบันไม่นิยมใช้ควินิน เพราะมีโอกาสเกิดอาการข้างเคียงได้ง่าย (เช่น มีเสียงกระดิ่งในหู หูอื้อ ปวดหัว คลื่นใส้ ท้องร่วง ฯลฯ) การรักษาต้องกินให้ครบถ้วนคือ 10 มก. ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ทุก 8 ชม.ติดต่อกัน 7 วัน (หรือจะกินนานวันกว่านั้นก็ได้ เพราะพวกฝรั่งในอดีตผสมควินิน ลงในโซดาแล้วเรียกมันว่า tonic water ใช้ดื่มกันมาลาเรีย ในเวลาที่เดินทางมายังประเทศเขตร้อน โดยคนที่จะเดินทาง จะทดลองกินควินินดูก่อน 1 กรัม เพื่อดูว่าแพ้หรือไม่ บางคนอาจต้องกินต่อเนื่อง 1-2 สัปดาห์ จึงจะเริ่มมีอาการแพ้ โดยสังเกตุได้จากตับคือ ตาเหลืองเล็กน้อย ตรวจเลือดดูค่าเอนไซม์ตับสูง) ถ้าเป็นแล้วกินยาไม่ครบจำนวนวัน หรือกินไม่ตรงเวลา เชื้ออาจจะไม่ตายและมีโอกาสกลับมาเป็นอีกในเวลาประมาณ 1 เดือน เพราะการที่ยาจะฆ่าเชื้อได้หมดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับปริมาณยาที่อยู่ในกระแสเลือด ความต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งเป็นสำคัญ (บางคนกินยาตรงตามกำหนด แต่ไม่หาย ก็เพราะร่างกายมีความผิดปกติ ขับยาออกเร็วเกินไป) ด้วยเหตุนี้ หมอไทยจึงนิยมให้ยาปฎิชีวนะ เพื่อลดอาการข้างเคียงที่ทำให้คนไม่อยากกินยา และช่วยให้ยาฆ่าเชื้อได้เร็วขึ้น คือ 3 วัน แทนที่จะเป็น 7 วัน ซึ่งเหมาะกับนิสัยคนที่ไม่ค่อยมีระเบียบวินัยในการกินยา คือพอเริ่มอาการดีขึ้นแล้วก็กินๆหยุดๆ แต่ยาปฎิชีวนะไม่ใช่ยาที่ดี เพราะมันไปฆ่าแบคทีเรียชนิดดีในร่างกายด้วย ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นยาที่ควรหลีกเลี่ยง ข้อจำกัดของ ควินินและยาในตระกูลเดียวกันโดยเฉพาะ primaquine คือ คนที่มีภาวะเลือดแตกตัวอยู่แล้ว อย่างเช่นคนที่ขาดเอนไซม์ G6PD ทางพันธุกรรมมาแต่กำเนิด (ซึ่งพบน้อยมาก) ยาจะทำให้เม็ดเลือดแตกตัวได้เช่นกัน นอกจากนี้ ยาต้านมาลาเรียยังมีผลข้างเคียง คือถ้าอาเจียนอยู่แล้ว อาจทำให้อาเจียนเพิ่ม จึงควรให้ยาในขณะที่ีไม่มีไข้ แต่ถ้ามีไข้ตลอดเวลา อาจต้องให้ยากันอาเจียนร่วมด้วย ถ้ามั่นใจว่าเป็นมาลาเรีย ปัจจุบัน ยาต้านมาลาเรีย ไม่ค่อยมีขายในร้านขายยาทั่วไป เพราะหาคนซื้อยาก แต่ยังมีเก็บไว้ที่แหล่งรักษามาลาเรีย เช่น โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน

การรักษาจะวัดผลจากอาการและ blood smear คือดูฟิล์มเลือดทุกวัน จนกว่าจะไม่เจอเชื้อ ถ้าเป็นหนักๆ อาจต้องดูฟิล์มวันละ 2 ครั้ง หากรักษาได้ผล จะเห็นผลภายใน 1-2 วัน อาการจะดีขึ้น (ยกเว้นเชื้อ falciparum ที่อาจต้องใช้เวลาถึง 5 วันกว่าจะหายไข้) และ เชื้อจะหายไปประมาณ 75% ภายใน 2 วัน แต่ถ้าไม่ดีขึ้น อาจสันนิษฐานว่า เชื้อดื้อยา หรือ ได้รับยาไม่พอ หรือมีอย่างอื่นแทรกซ้อน เช่น ท้องร่วงมากทำให้ยาไม่ดูดซึม หรือ ติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด โดยเฉพาะในคนที่ติดเชื้อ falciparum จนเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อ ไปอุดตันผนังลำใส้ ทำให้แบคทีเรียแกรมลบในลำใส้เล็ดลอดเข้ามาในกระแสเลือด

การตรวจหาเชื้อมาลาเรีย เบื้องต้นจะเจาะเลือดดูค่า CBC (Complete Blood Count) ซึ่งถ้าสถานที่ตรวจมีห้องแลปเอง จะรู้ผลภายใน 1 ชม. ถ้าผล CBC ปกติก็ยังไว้ใจไม่ได้ ต้องตรวจซ้ำทุกๆ 2-3 วัน เพื่อดูว่ามีค่าไหนลดลงหรือไม่ ถ้าพบว่าจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำลง (ซึ่งฮีโมโกลบินจะต่ำลงด้วย) และเกล็ดเลือดต่ำลง (ในขณะที่ MPV และ PDW สูงขึ้นหลังจากมีไข้ 2-3 วัน ซึ่งแสดงว่า มีการสร้างเกล็ดเลือดใหม่มากขึ้น จากการที่เกล็ดเลือดเดิมถูกทำลาย เพราะไปจับกับเม็ดเลือดแดงที่ติดเชื้อเพื่อทำลายเชื้อโรค ซึ่งเกล็ดเลือดใหม่จะมีขนาดใหญ่กว่าเกล็ดเลือดเก่า) การจะยืนยันว่ามีเชื้อจริง ต้องใช้วิธี blood smear (ฟิล์มเลือด) คือเจาะเลือดจากปลายนิ้วมือ (หรือดูดจากเส้นเลือด) นำหยดเลือดที่ได้ไปย้อมสี แล้วส่องกล้องจุลทรรศน์ดูว่ามีตัวหรือไม่ ซึ่งจะดูได้ละเอียดถึง 5 ตัวต่อเลือด 1 ไมโครลิตร และจะรู้ผลเร็วเพียงใด ขึ้นอยู่กับว่าห้องแลปจะทำให้เมื่อไหร่ ถ้าทำให้เลยก็จะรู้ผลในเวลาไม่เกิน 15 นาที ฟิล์มเลือดแบ่งย่อยเป็น 2 วิธีคือแบบฟิล์มหนาและฟิล์มบาง แบบฟิล์มหนาจะมีโอกาสเจอตัวมากกว่าฟิล์มบางถึง 11 เท่า แต่แปลผลยากกว่า เพราะใช้เลือดมากกว่า ส่วนฟิล์มบางจะใช้ดูว่าเป็นเชื้อชนิดใด การเจาะเลือดก่อนที่จะป่วย หรือ หลังจากกินยามาแล้ว อาจจะไม่เจอตัว แต่ถ้าป่วยแล้วเจาะไม่เจอตัว ก็ยังไว้ใจไม่ได้ ต้องเจาะซ้ำทุก 6-12 ชม.ต่อเนื่องกันอย่างน้อย 2 วัน (ซึ่งหมายถึง ถ้าอยู่ไกลห้องแลป ควรไปนอนที่โรงพยาบาล) เพราะเชื้อพวก falciparum อาจจะซ่อนอยู่ที่อวัยวะอื่น หรือ เกาะอยู่ตามผนังเส้นเลือด ทำให้ฟิล์มเลือดไม่เจอตัว ต้องเปลี่ยนไปตรวจด้วยวิธีอื่น ที่มีความไวกว่านี้ เช่น fluorescent stain (เรียกกันว่า QBC) หรือ PCR (ซึ่งค่อนข้างแพง) แต่วิธีตรวจแปลกๆพวกนี้ จะมีตรวจเฉพาะที่ อย่างโรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน นอกจากนี้ ยังมีวิธีตรวจภาคสนาม โดยไม่ต้องอาศัยคนที่ชำนาญในการดูฟิล์มเลือด คือ rapid antigen-capture dipstick test (เรียกสั้นๆว่าตรวจ antigen) แต่ความละเอียดจะสู้ฟิล์มเลือดไม่ได้คือ รู้ได้แค่ระดับ 100 ตัวต่อเลือด 1 ไมโครลิตร

มด

วิธีป้องกันมดคือใช้แป้งเด็กโรย มดได้กลิ่นจะไม่กล้าไต่ขึ้นมา อีกวิธีคือโปรยอาหารไว้ในบริเวณใกล้เคียง เพื่อไม่ให้มดมายุ่งแถวที่พัก แต่ไม่ควรใช้แป้งเย็น เพราะ มดโดนแป้งเย็นแล้วจะชักตาย แป้งเย็นเหมาะจะใช้กับขาตู้กับข้าวมากกว่า จะกันมดได้นานถึง 2 ปี ในขณะที่แป้งเด็กกันได้แค่ประมาณ 3 เดือน

เมื่อโดนมดกัด ทาแอมโมเนีย จะทำปฎิกริยากับกรด formic acid ในพิษของมด กลายเป็นกลาง

งู

งูจะชอบอยู่ใกล้ๆน้ำ เพราะใกล้น้ำจะมีอาหารพวกกบ เขียด แต่บนเขาก็มีโอกาสพบได้เช่นกัน แม้แต่งูเห่าที่มักพบตามพื้นราบก็อาจจะพบตามภูเขาได้ ตามปกติงูจะกัดคนเมื่อไปถูกตัวมัน และจะกัดตรงใกล้ๆจุดที่สัมผัสกับตัวมัน คนส่วนใหญ่จะโดนงูกัดบริเวณนิ้วเท้า และเท้า ดังนั้น ถ้ากลัวเหยีบงู ให้ใส่รองเท้าบูทยางสูงกว่าข้อเท้า ถือว่าปลอดภัยพอสมควรแล้ว ถึงแม้ป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซนต์ เพราะงูสามารถกัดยางเข้า แต่ส่วนใหญ่เวลางูพุ่งมากัดจะแฉลบออก ทำให้กัดไม่โดนเพราะรองเท้ามีขนาดใหญ่และลื่น แต่บางครั้งงูสามารถกัดจุดที่แคบๆของรองเท้าได้ อย่างเช่นขอบรองเท้า หรือแม้แต่ด้านหน้าและด้านหลังของรองเท้าบูท บางครั้งงูกัดสูงกว่าข้อเท้า รองเท้าที่สูงเกือบถึงเข่าถึงปลอดภัยที่สุด ส่วนกางเกงและรองเท้าผ้าใบ จะป้องกันงูตัวเล็กๆได้ เคยมีคนใส่หมวกผ้าฝ้ายบางกว่าผ้ายีนส์เล็กน้อย แล้วโดนงูเขียวตัวเล็กฉกหัวแต่ไม่เป็นไร

งูส่วนใหญ่จะออกหากินตอนกลางคืน พอตอนกลางวันจะขึ้นไปนอนอยู่บนต้นไม้ โดยเลื้อยขึ้นไปตามลำต้น ถึงแม้ว่างูบางชนิดจะออกหากินตอนกลางวันด้วย เช่นงูจงอาง แต่โอกาสพบน้อยกว่าตอนกลางคืน การเดินในป่าตอนกลางวันจึงปลอดภัยกว่าตอนกลางคืน

ที่ว่ากันว่า ให้เดินเสียงดังๆ เพื่อที่งูจะหนีนั้นไม่จริงเสมอไป ยกตัวอย่างเช่น

งูเขียว ตอนกลางวันชอบพันอยู่ตามกิ่งไม้สูงประมาณหน้าอกของคน แต่บางตัวอาจอยู่สูงหรือต่ำกว่านั้น เวลามันได้ยินเสียงคนเข้าไปใกล้ มันจะสงบนิ่งดูท่าที อาจจะใช้หางตีใบไม้แปะๆเพื่อขู่ ถ้าเรายืนเฉยๆเงียบๆจึงจะได้ยินเสียง แต่ถ้าดูด้วยตาเปล่าจะไม่เห็นตัวมันเพราะมีใบไม้บังอยู่ ถ้าเข้าไปใกล้ตัวมันน้อยกว่า 1คืบ หรือไปถูกตัวมันเข้า มันจึงจะฉก และจะฉกตรงใกล้ๆตัวมัน  ดังนั้นเวลาเดินป่าจึงควรมีไม้เท้าหรือมีดขอยาวๆ เพื่อที่จะได้ใช้แหวกกิ่งไม้ที่ขวางหน้าและด้านข้างที่ตัวอาจจะไปเกี่ยวเข้า เพื่อดูว่ามีงูอยู่หรือเปล่า และเวลาฟันกิ่งไม้ ควรจะใช้ปลายมีดแหวกดูก่อนว่ามีงูเกาะอยู่หรือไม่ และ ควรจะดูแนวที่มือแกว่งไปจนสุดให้แน่ใจ


งูจงอาง มักจะตัวใหญ่ยาว และมีลายเป็นปล้อง
งูจงอางมีสีน้ำตาลหรือสีดำ มีลายเป็นปล้องๆตามลำตัว บางตัวอาจจะเห็นลายไม่ชัดจากด้านบน แต่จะเห็นลายใต้ลำตัวเมื่อชูหัวขึ้น หัวเป็นเกล็ด มีเกล็ดตามตัวซึ่งสะท้อนแสง เวลาเดินป่าจึงสังเกตุเห็นได้ง่าย เพราะตัวมันจะเงากว่าใบไม้ เวลางูจงอางได้ยินเสียงคนเดินมา บางตัวกลับไม่สนใจ อาจเลื้อยช้าๆผ่านหน้าเราไป บางตัวยังนอนเฉยๆให้เหยียบ บางตัวจะชูหัวขึ้นมาดูว่าจะมีภัยอะไรมาใกล้ตัว ถ้าประจัญหน้ากัน มันจะชูหัวแล้วส่งเสียงฟู่ เพื่อขู่ เราจึงมักจะเห็นมันตอนที่ชูหัว เพราะได้ยินเสียงฟู่ งูจงอางจะชูหัวสูงได้ไม่เกิน 1 ใน 3 ของความยาวของลำตัว นั่นคือถ้างูตัวใหญ่ๆยาวสัก 5-6 เมตรก็จะชูหัวได้สูงเท่าหัวคน งูจงอางจะชอบทำรังตามพื้นในป่าตรงจุดที่รกๆ พบมากตามป่าไผ่แต่ป่าธรรมดาก็พบได้เช่นกัน โดยออกไข่กับพื้น แล้วใช้ใบไม้มาคลุมเป็นเนิน ส่วนตัวมันจะเฝ้าไม่ให้ศัตรู อย่างเช่นพังพอน มาขโมยกินไข่ เวลาหิวๆจึงออกไปหากิน ช่วงออกไข่ใหม่ๆ จะมีตัวผู้มาอยู่ด้วย ถ้ามีคนเข้าไปใกล้ ตัวผู้จะไล่คน แต่ตัวเมียจะไม่ไล่ ถ้าไม่มีตัวผู้อยู่แล้ว มีคนเข้ามาใกล้ ตัวเมียจะหนีออกไปแอบดูอยู่ใกล้ๆ คนสามารถเข้าไปเปิดใบไม้เพื่อเก็บไข่ได้

งูเหลือมรัดเหยื่อ โดนรบกวนแล้วหนี

งูเหลือมที่ตัวใหญ่ สามารถกินคนได้สบาย เคยมีคนนอนหลับยื่นแขนออกไป พอตื่นมาตอนเช้าก็เจองูเหลือมกินแขนตัวเองไป จนถึงหัวไหล่ หลังจากเขาฆ่างูตัวนั้น ก็พบว่านิ้วมือของเขาที่อยู่ในท้องงู เริ่มถูกย่อยจนเละแล้ว แต่งูที่จะกินคนทั้งตัวจะต้องตัวใหญ่จริงๆ คือยาว 3 เมตรขึ้นไป ปากจึงจะกว้างพอกินหัวคนได้ เคยมีงูเหลือมยาว 7-8 เมตรกินผู้ใหญ่เข้าไปทั้งคน แม้แต่งูเหลือมกิน กวาง หรือจรเข้ ก็เคยมีมาแล้ว โดยงูจะเริ่มจากกัดตรงแขนหรือขา แล้วรีบรัดเหยื่อ การรัดเพียงแค่ 4 นาที ก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้เหยื่อขยับไม่ได้ แม้แต่ไหล่คนที่กว้างๆก็จะโดนบีบจนแตกละเอียด นั่นหมายถึง เหยื่อจะมีเวลาร้องให้คนช่วยแค่ไม่กี่นาที เมื่อเหยื่อตายแล้ว มันจึงเริ่มกินเหยื่อจากส่วนหัวก่อน เวลาเห็นคนโดนงูเหลือมรัด แค่ไปรบกวนมันเช่น ใช้ไม้ตีที่ตัวมัน มันก็จะหนีแล้ว แต่ต้องทำในระยะห่างระวังมันจะแค้นพุ่งมาฉกได้ ถ้าอยู่คนเดียวหรือเจองูบางตัวที่โดนรบกวนแล้วไม่หนี ต้องใช้วิธีแกะหางออก งูจะค่อยๆใช้ปลายหางม้วนรอบตัวเหยื่อ ให้ใช้มือหนึ่งจับคองูไว้เพื่อไม่ให้แว้งกัดได้อีก แล้วใช้อีกมือหนึ่งจับหางคลายออกให้เร็วที่สุด เพราะถ้ายิ่งช้า งูจะยิ่งรัดแน่นจนขยับไม่ได้ สิ่งสำคัญคือ อย่าให้งูรัดคอหรือแขนเป็นอันขาด เพราะถ้ารัดคอจะหายใจไม่ออก หรือถ้ารัดแขนจะไม่มือมือแกะ งูเหลือมจะออกหากินตอนกลางคืน พอตอนกลางวันก็จะขึ้นไปนอนบนกิ่งไม้สูงๆ ผมเคยเจออยู่สูงหลายสิบเมตร ขนาดที่ว่าตาคนยังมองเห็นไม่ค่อยชัด เคยมีคนเดินในป่าตอนกลางคืนคนเดียว แล้วหายสาบสูญไป เพราะโดนงูเหลือมกิน ปกติงูเหลือมจะซ่อนอยู่ตามที่รกๆ เพื่อรอจัดการกับเหยื่อที่เดินผ่านมาในระยะที่มันสามารถฉกและรัดได้ ถึงแม้ว่างูเหลือมจะไม่ค่อยยุ่งเหยื่อที่ตัวใหญ่ๆอย่างคน แต่เคยมีงูเหลือมซ่อนอยู่ แล้วพุ่งออกมาฉกคน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ควรไปไหนในป่าตอนกลางคืนตามลำพัง ถ้าอาบน้ำตอนกลางคืนควรใช้ไฟส่องลงน้ำให้ถึงพื้น เพราะงูหลือมสามารถดำน้ำได้


งูเห่า จะมีลายดอกจัน เป็นวงสีขาวรอบจุด หลังแม่เบี้ย แต่งูเห่าที่ลำตัวจะสีอ่อนหรืองูเห่าพ่นพิษที่สีดำเข้ม จะมองเห็นลายดอกจันไม่ชัด
งูที่แผ่แม่เบี้ยได้ที่พบบ่อย คืองูเห่า และงูจงอาง ส่วนงูอื่นๆเวลาจะฉกต้องขดคอเป็นหยักเหมือนสปริง วิธีสังเกตุความแตกต่างระหว่าง งูเห่ากับงูจงอางคือ ถ้าอยู่บนภูเขามักจะเป็นงูจงอาง งูเห่าจะพบมากตามพื้นราบ งูเห่าจะตัวเล็ก มีความยาวมากที่สุดไม่เกิน 2 เมตร ถ้าเจองูตัวใหญ่และยาวเกิน 2 เมตรและแผ่แม่เบี้ยได้ ก็มั่นใจได้ว่าเป็นงูจงอาง งูจงอางอาจมีความยาวถึง 6 เมตร ถ้าตรงกลางแม่เบี้ยด้านหลัง มีจุดสีดำ ล้อมรอบด้วยวงแหวนสีขาว ก็ชัดเจนว่าเป็นงูเห่า ถ้ากัดแล้วไม่ยอมปล่อย หรือคลายเขี้ยวแล้วขย้ำใหม่ แสดงว่าเป็นงูจงอาง แต่บางครั้งงูจงอางอาจจะฉกแล้วปล่อย ส่วนปล้องตามลำตัวนั้นยังบอกไม่ได้ เพราะบางทีงูเห่าก็มีปล้องตามลำตัว

งู ถึงแม้ว่าจะตัวใหญ่ๆ ยาวเมตรกว่าๆ ทั้งมีพิษและไม่มีพิษ จะเลื้อยเร็วมาก แม้แต่เลื้อยตามกิ่งไม้หรือเถาวัลย์ จะดูเหมือนพุ่ง จนตาเรามองตามไม่ทัน ดังนั้น ถ้ามันชาร์จเข้าใส่ แทบไม่มีทางที่เราจะหลบทันเลย

หลักการปฎิบัติ เพื่อป้องกันงูกัด คือ
งูหลายชนิดจะกัดไม่ปล่อย ถ้าเป็นงูพิษ อย่างงูจงอาง ต้องรีบเอาปากงูออกให้เร็วที่สุด เพราะ ยิ่งปล่อยให้กัดนาน จะยิ่งปล่อยพิษเข้าสู่ร่างกายมากขึ้นวิธีเอาหัวงูออก ห้ามกระชากหรือดึง จะทำให้แผลยิ่งฉีกขาด เพราะเขี้ยวงูจะเป็นเหมือนตะขอเบ็ดตกปลา ที่เอียงเข้าด้านในตัวงู ให้ใช้มือข้างนึงจับคองูไว้ไม่ให้มันกระชากแล้วค่อยๆแงะปากออก วิธีที่ใช้ได้ผลกับงูทุกชนิดคือ แอลกอฮอล์ (หรืออะไรที่มีแอลกอฮอล์ผสม เช่น น้ำยาบ้วนปาก เหล้า) ราดบนหัวและในปาก จะทำให้งูคายเขี้ยวทันที บางคนบอกให้จุ่มน้ำ แต่วิธีนี้ไม่ค่อยจะได้ผล อย่าใช้วิธีทุบหัวงูเพราะพิษจะยิ่งไหลออกมากขึ้น การตัดคองู ไม่ได้ทำให้งูตายทันที จะยังสามารถกัดหรืองับได้อีก 1 ชั่วโมง เคยมีหลายคนตัดคองูพิษ แล้วจะหยิบมันไปทิ้ง แต่โดนงูพิษกัดจนตาย ถ้าไม่มีแอลกอฮอล์ ให้พุ่งเป้าไปทำให้มันระคายเคืองตรงอวัยวะที่อ่อนนิ่ม เช่น ในปากหรือดวงตา

เมื่องูปล่อยแล้วให้สังเกตุว่าเป็นงูพิษหรือไม่ งูพิษจะมี 2 เขี้ยว ส่วนงูไม่มีพิษจะมีรอยฟันจำนวนมาก ถ้าเป็นงูพิษตัวเล็กๆ โดนกัดแล้วอาจจะแค่บวมไม่ถึงตาย ถึงแม้จะเป็นงูไม่มีพิษ ก็มีเชื้อโรคที่เมื่อโดนกัดอาจติดเชื้อถึงตายได้ ถ้าเป็นงูพิษเมื่อกัดแล้วประมาณครึ่งชั่วโมงหรืออาจนานกว่านั้น ขึ้นอยู่กับจำนวนพิษที่เข้าสู่ร่างกาย จะเริ่มมีอาการอ่อนแรง ถ้าถูกงูพิษกัด ให้โทรตามคนที่อยู่ใกล้ๆแถวนั้นมาช่วย แล้วปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการทำให้พิษใหลเข้าหัวใจช้าลง โดยนั่งลงให้จุดที่ถูกกัดอยู่ต่ำกว่าหัวใจ อาจใช้ผ้ารัดเหนือจุดที่ถูกกัด โดยให้มีช่องว่างพอให้นิ้วสอดเข้าไปได้ แต่อย่ารัดแน่นจนเกินไปจะทำให้ขาดเลือด ที่สำคัญ ห้ามกรีดแผล และ ไม่ควรใช้ปากดูดเพราะในปากมีเชื้อโรคอยู่ ถ้ามี snake bite kit แบบ suction ดูดพิษงูได้จริง ควรหยิบมาใช้ ถึงแม้ว่างานวิจัยจะพบว่าจะดูดได้แต่เลือดก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย วิธีสุดท้ายคือ อธิษฐานขอบารมี พระรัตนตรัย หลวงปู่ หลวงพ่อ ที่เราเคารพ ให้ช่วยทำลายพิษให้ด้วย มีโอกาสหายภายใน 2 นาที โดยมีข้อแม้ว่าก่อนทำต้องทำด้วยความเคารพท่าน และหลังจากหายแล้ว อย่าคิดว่าเป็นเรื่องบังเอิญ มีบางคนสงสัยเรื่องการพกเซรุ่มแก้พิษงูเข้าป่า ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นไปได้ยาก เพราะงูมีหลายชนิด แถมฉีดแล้วยังมีโอกาสแพ้เซรั่ม ต้องฉีดสเตรอยด์แก้แพ้ตามอีกด้วย

การจับงู ให้ใช้กิ่งไม้กดหัวไว้ แล้วจึงใช้มือจับตรงคอ จะได้กัดไม่ได้ ถ้าชำนาญในการจับงู ก็ไม่ต้องใช้กิ่งไม้กด ใช้มือคว้าได้เลย แต่ถ้าจับหัวอย่างเดียว มันอาจจะใช้หางรัดได้ ถ้าเป็นงูเห่าพ่นพิษโดนจับหางจะหันหัวมาพ่นพิษใส่ตาได้ งูตัวใหญ่อย่างเช่น งูเหลือม งูจงอาง สามารถรัดคนจนหายใจไม่ออกได้ การจะควบคุมตัวมัน ต้องจับทั้งหัวและหาง

ช้าง


ช้างตัวผู้ (ซ้าย) มีงายาวหรือไม่มีงา ช้างแก่จะมีงายาวกว่าช้างวัยรุ่น ส่วนช้างตัวเมีย (ขวา) ไม่มีงา หรือมีงากุด ช้างตัวผู้ในรูป กำลังตกมัน จึงมีน้ำมันไหล ออกมาจากขมับ ช้างตกมันได้ทั้งตัวผู้และตัวเมีย วิธีแยกช้าง ตัวผู้หรือตัวเมีย คือ ช้างตัวผู้ มักจะแยกออกจากฝูง มาอยู่ตามลำพัง หรือรวมกันเป็นฝูงเล็กๆไม่กี่ตัว ไม่มีลูก แต่อาจมีช้างวัยรุ่นปนมา ดังนั้น ถ้าพบช้างมาตัวเดียว ก็แน่ใจได้ว่า เป็นช้างตัวผู้ ถ้ามากัน 2-3 ตัว มีโอกาสเป็นตัวผู้หมด เหมือนคนหนุ่มที่มีเพื่อนและชอบเที่ยวกับเพื่อน ส่วนช้างตัวเมีย มักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง 4-5 ตัวขึ้นไป มีลูก ถ้ามีตัวผู้ปน อาจเป็นช้างวัยรุ่น หรือตามเข้ามาผสมพันธุ์ จำนวนช้างในแต่ละฝูงไม่แน่นอน นานๆครั้งจะพบเกิน 100 ตัว
ช้างป่าเป็นสัตว์ที่ไว้ใจไม่ได้ โดยเฉพาะช้างแม่ลูกอ่อนที่หวงลูก และช้างเกเรที่ถูกขับออกจากฝูงให้อยู่ตัวเดียวโดดๆ หรือช้างตกมันซึ่งกำลังมึน จะชอบทำร้ายคน เคยมีช้างเขี่ยรถนักท่องเที่ยวกลางดึก จนกระจกแตก รถบุบ เคยมีช้างป่าเหยียบนักท่องเที่ยว ที่นอนบนเก้าอี้ หรือนอนหลับในเต็นท์ หรือแม้แต่พระธุดงค์ที่อยู่ในกลดก็โดนเหยียบจนเละมาแล้ว

ในป่าเกือบทุกแห่งตั้งแต่พื้นราบจนถึงบนภูเขามีช้าง ถ้าเข้าป่าที่มีช้าง จึงต้องระวังให้มาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาวที่ช้างมักจะตกมัน อย่านอนกับพื้น ให้นอนบนเปล และอย่าพกถุงอาหารไว้ใกล้ตัว ช้างป่าต้วเต็มวัยจะสูงถึง 3-4 เมตร ไม่รวมงวงที่ยื่นขึ้นไปได้สูงอีก 1 เท่าของความสูง และถ้ายืนด้วยสองขาหลังแล้วยกขาหน้าขึ้น ก็จะหยิบของได้สูงขึ้นไปอีก ถ้าจะให้ปลอดภัยจริงๆ ต้องผูกเปลบนต้นไม้สูงพอที่งวงช้างจะไปไม่ถึง แต่จะปีนขึ้นไปนอนลำบาก จึงอาจผูกเปลระดับหน้าอก เพื่อที่พอจะปีนขึ้นจากพื้นไหว แล้วขึงฟลายชีทกันน้ำค้างไว้ เวลาที่ช้างมา มันจะพยายามรื้อฟลายชีทก่อน เราจะได้รู้ตัวและหนีทัน ที่นอนที่ช้างจะเข้ามาไม่ได้ เช่นตามซอกตามเหลี่ยม หรือ ถ้าเป็นทุ่งโล่งก็ต้องนอนบนก้อนหินสูงใหญ่ที่ช้างปีนขึ้นมาไม่ไหว หรือหาแยกของหน้าผาที่ช้างข้ามมาไม่ได้ เป็นต้น และสังเกตุว่าไม่มีรอยหรือขี้ช้างแถวนั้น ตามปกติ ถ้าเราไม่ไปขวางเส้นทางหากินของสัตว์ก็จะลดปัญหาลงไปได้มาก

ช้างจะมีทางเดินประจำที่เรียกว่าด่านช้าง สังเกตุง่ายๆว่าทางจะโล่งกว้าง มีขี้ช้าง และบริเวณต้นไม้จะมีรอยสีขาวหรือต้นไม้สึก สูงประมาณหัวของเรา เป็นรอยที่ช้างเอาตัวไปถูไปถูมากับต้นไม้

โอกาสที่จะเจอช้างแน่ๆ คือ ตั้งแต่ 5 โมงเย็น ไปจนถึงช่วงเช้า ประมาณตี 5 ครึ่ง บางตัวอาจมีหลงๆมาบ้างจนถึง 7 โมงเช้า แต่หลังจาก 8 โมงเช้าจะไม่ค่อยเจอแล้ว เพราะตอนกลางวัน ช้างจะหาที่ร่มใต้ต้นไม้เพื่อยืนหลับ บางทีนอนหลับ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตอนกลางวันจะปลอดภัย 100% เพราะเคยมีชาวบ้านโดนช้างไล่เหยียบในช่วงเวลากลางวัน

เมื่อเจอช้างระหว่างทาง สิ่งแรกที่ต้องทำคือ ต้องหาทางหนีทีไล่ไว้ก่อน เมื่อแน่ใจว่ามีทางหนีที่ปลอดภัยแล้ว จึงค่อยสังเหตุว่า ตอนนี้เขาอารมณ์ไหน

ตัวผู้ดูที่อวัยวะเพศ

ช้างที่หูและหางแกว่งไปแกว่งมา แสดงว่าอารมณ์ดี แต่ยังไม่ควรเข้าใกล้ เพราะ ช้างป่าสามารถเปลี่ยนอารมณ์ แล้วทำร้ายคนได้ตลอดเวลา เคยมีข่าวช้างอารมณ์ดีแล้วเปลี่ยนไปใช้งวงจับตัวคนฟาดกับหัวเข่ามันอยู่ บ่อยๆ ถ้าช้างหูลีบติดกับส่วนหัว แสดงว่ากำลังตั้งใจฟังเสียง ถ้าหางชี้แสดงว่ากลัว ถ้าหูกางแสดงว่ากำลังไม่ไว้ใจสิ่งที่เห็น อาจจะพุ่งเข้าใส่คน ไม่ควรเข้าใกล้ การพูดกับเขาหรือนั่งลง จะช่วยให้เขาเลิกเครียดได้ ช้างที่พุ่งเข้าใส่คนอาจจะหางชี้หรือไม่ก็ได้ และช้างที่หางชี้อาจจะหูกางหรือแกว่งไปมาก็ได้ ช้างที่เอางวงฟาดกับพื้นก็แปลได้ว่ากำลังอารมณ์ไม่ดี

คนส่วนใหญ่โดนช้างเหยียบ เพราะวิ่งหนีแล้วหกล้ม หรืออยู่ใกล้เกินไปจนโดนงวงรวบ ดังนั้น เวลาเผชิญหน้ากับช้าง จึงไม่ควรหันหลังวิ่งหนี เพราะมีโอกาสที่จะโดนวิ่งไล่ตามสัญชาติญาณสัตว์ แต่ควรหันหน้าเข้าหามัน แล้วมองหาทางหนีทีไล่ไว้ เช่น ต้นไม้ใหญ่ เวลาช้างวิ่งเข้ามา ให้วิ่งหลบเข้าข้างทาง ถ้าหลบหลังต้นไม้ใหญ่ ช้างจะวิ่งเลยต้นไม้ไป แต่ถ้าต้นไม้เล็กๆจะใช้ไม่ได้ เพราะช้างสามารถวิ่งชนหักได้สบาย ยิ่งต้นไม้ในป่าไม่มีรากแก้วด้วยแล้ว ถ้าไม่ใช่ต้นใหญ่จริงๆจะชนล้มได้ง่ายมาก ถ้าไม่่มีต้นไม้ใหญ่ ก็ต้องวิ่งลงเขา แล้วช้างจะหยุดตาม เพราะช้างขึ้นเขาเร็วเพราะใช้สี่ขา แต่เวลาลงเขาจะเหลือแค่ขาหน้าคอยเบรค แต่ช้างตัวใหญ่ น้ำหนักมาก ถ้าวิ่งลงเขาจะเสียศูนย์หกล้มได้ง่าย ช้างจึงไม่ตามลงเขา ช้างตัวใหญ๋เวลาจำเป็นต้องลงทางชัน จะลงเฉพาะทางสั้นๆอย่างลงไปในโป่ง โดยจะใช้วิธีคลานและไถลลงไป และก่อนจะลงจำเป็นต้องหยุดเล็งให้ดีๆก่อน เพื่อไม่ให้เสียศูนย์

ช้างเป็นสัตว์ที่แปลกกว่าสัตว์ชนิดอื่นคือ สามารถฟังภาษาคน หรือรับกระแสจิตจากคนได้ หากเจอช้างขวางทาง แล้วบอกขอทางเขาในใจ "พี่ช้าง ขอทางหน่อย" เขามักจะหลีกทางให้ แม้แต่เวลานอนแล้วรู้ว่าช้างมาใกล้ ก็สามารถใช้วิธีเดียวกันนี้บอกเขาได้ ถ้าเป็นคนสมาธิไม่ดี จะส่งเสียงบอกเขาก็ได้ แต่ไม่ต้องส่งเสียงดังมาก เพราะช้างหูดีอยู่แล้ว การคุยกับช้าง อาจต้องพูด 2 รอบเขาถึงจะตอบสนองบางครั้งอาจตอบมาด้วยเสียงร้อง "แปร๊น" การพูดคุยกับช้าง ก็เหมือนกับการทักทายกับคน จะช่วยให้ผู้ที่ได้ยินเสียง คลายความกังวลลงไปได้มาก เวลาเดินเจอช้าง แล้วพูดจนช้างหลีกทางให้ สังเกตุว่า เขาหันหน้าเข้าข้างทาง แล้วหันก้นเข้าหาทาง นั่นคือ เขายอมให้ผ่านแล้ว ผมใช้วิธีเหล่านี้ได้ผลทุกครั้ง และพบว่าชาวบ้านหลายคนที่เคยใช้วิธีนี้ก็ได้ผล จนเป็นที่รู้กันว่าช้างมีสัมผัสพิเศษ เคยมีทางเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าภูหลวง ออกลาดตระเวนแล้วเจอช้างยืนขวาง เรียกลูกน้องมาช่วยโห่ตีเคาะกะลานานกว่าชั่วโมง ช้างก็ไม่หลบทางให้ แต่เมื่อบอกว่า "ช้างป่าจ๋า ช่วยหลบทางหน่อยจะไปทำงานไปปกป้องช้าง" เท่านั้นเอง ช้างจึงหลบให้ แต่ถ้าคุยกันดีๆแล้ว ช้างยังไม่หลบ วิธีหนึ่งที่ใช้ได้ผลในบางครั้งคือ การขู่ โดยส่งเสียงให้ดังที่สุด เหมือนเสียงเสือหรือเสียงหมีที่เวลาร้องทีหนึ่งดังโฮกก้องไปทั้งป่า แค่ช้างได้ยินเสียงเสือขู่คำรามเบาๆในลำคอ ก็มักจะหนีทุกตัว ถ้าใช้เสียงของหลายๆคนจะได้ผล เคยมีคนตะโกนไล่ช้างตามลำพังแล้วไม่ได้ผล กลับโดนช้างวิ่งไล่ เพราะเสียงไม่ดังพอ นอกจากเสียงแล้ว จุดอ่อนของช้างคือตาไม่ดี เราจึงสามารถขู่ด้วยท่าทางด้วย เช่น แกล้งทำเป็นวิ่งเข้าใส่ กางแขนแล้วโบกไม้โบกมือทำเหมือนเราตัวใหญ่ขึ้น เพื่อแสดงว่าเรากำลังจะจัดการมัน, ขย่มต้นไม้เพื่อแสดงว่าเรามีพลัง เคยมีคนทดลองทำแบบนี้มาหลายคนแล้วพบว่า ช้างที่กำลังทำท่าจะชาร์จเข้าใส่ หันหลังวิ่งหนีไปทันที เวลาช้างกลัว สังเกตุว่าหางจะชี้ ข้อสำคัญก่อนจะขู่ช้างคือ ต้องหาทางหนีทีไล่ให้ได้ก่อน เผื่อขู่แล้วไม่ได้ผล

หลายคนเจอช้างโผล่ออกมาจากพุ่มไม้ แล้วชาร์จเข้าใส่ โดยไม่ทันตั้งตัว เวลาคนเดินป่าจะมีเสียงดัง ถ้าช้างได้ยิน อาจหลบเข้าสองข้างทาง คอยจ้องมองเราอยู่ ดังนั้น ถ้าเห็นขี้ช้างสดๆ เยี่ยวสดๆ รอยเท้าใหม่ๆ ต้องระวังมากเป็นพิเศษ
วิธีหยุดช้างคือ ยกมือขึ้นห้าม พร้อมกับส่งเสี่ยงขู่ แต่วิธีนี้ไม่ได้ผลเสมอไป เพราะสัตว์หาความแน่นอนไม่ได้ เคยมีคนยกมือห้ามแล้วโดนเหยียบ

เวลาช้างวิ่งเข้าใส่ วิธีหยุดช้างที่คนทั่วโลกใช้ได้ผล คือ ยกมือขึ้นห้าม ในลักษณะของการเบรค บางคนอาจจะบอกว่า "หยุด" เจ้าหน้าที่ป่าไม้บางคนยังเคยบอกด้วยว่า "พวกเดียวกัน" เพียงเท่านี้ ช้างก็จะหยุดทันที ถ้าช้างยังไม่หยุด ต้องลองตะคอกใส่พร้อมกับยกมือขึ้นสูงทำให้เราดูตัวใหญ่ขึ้น

แต่ถ้าทำสารพัดวิธีแล้ว ช้างยังวิ่งตรงเข้ามา เราก็ต้องหนี อาจหลบหลังต้นไม้ หรือวิ่งลงเขา หรือ วิ่งออกในแนวตั้งฉาก ปกติช้างป่าจะวิ่งไล่ในระยะทางสั้นๆเพียงเพื่อขู่ แต่อย่าหนีขึ้นต้นไม้ เพราะช้างสามารถใช้งวงจับตัวเราลงมาได้ ถ้าเป็นต้นไม้เล็กก็จะโดนชนจนล้ม หรือ ดึงกิ่งไม้และเถาวัลย์ลงมาทั้งยวง เคยมีชาวบ้านที่ชุมพร เจอโขลงช้างแม่ลูกอ่อนขณะเข้าไปหาของป่าเมื่อปี 59 จึงหนีช้างขึ้นต้นไม้ แต่โดนช้างดันต้นไม้จนล้ม แล้วจึงเข้ารุมเหยียบเขาจนเสียชีวิต ถ้ามีเป้สะพายหลัง ควรปลดออก จะช่วยให้วิ่งหนีได้คล่องตัวขึ้น ถึงแม้ว่าคนจะวิ่งได้เร็วกว่าช้าง แต่คนที่วิ่งหนีช้าง มักจะลงเอยด้วยการล้ม แล้วโดนเหยียบ การวิ่งหนีช้างจะทำได้เฉพาะทางราบ ที่มั่นใจว่า วิ่งไปแล้วจะไม่ล้ม แต่ถ้าคนไม่เคยชิน วิ่งทางราบด้วยความตกใจก็อาจจะล้มได้

ถ้านั่งอยู่บนถนนแล้วเจอช้าง อยู่บนรถจะปลอดภัยที่สุด เวลาเจอช้างไม่ควรบีบแตร เพราะเคยมีบางคนบีบแตร แล้วช้างคงจะรำคาญเสียงแตร เลยวิ่งเข้ามาทุบรถ แตรที่ใช้ไล่ช้างได้ผลต้องเสียงดังมากอย่างพวกแตรลมบวกกับเปิดไฟหน้ารถด้วย บางคนบอกว่าเจอช้างตอนกลางคืน ให้ดับไฟ เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะผมเคยเจอช้างแม่ลูกอ่อนขวางถนน แล้วดับเครื่องดับไฟ จอดเข้าข้างทาง แต่แม่ช้างกลับวิ่งเข้ามาเตะรถ

ช้างบางตัว บางพื้นที่ใกล้บ้านคน อย่างแถวภูกระดึงและภูหลวง จะเกลียดคนเนื่องจาก เคยถูกนายพรานยิง หรือเหยียบกับดัก หรือพวกมันจะออกจากป่าในฤดูฝน ไปแอบกินอาหารตามไร่ของชาวบ้าน แล้วถูกชาวบ้านไล่ยิงมา พอถึงหน้าแล้ง พวกมันจะกลับเข้าป่า เมื่อเจอคนจึงมักจะวิ่งไล่เหยียบเพื่อแก้แค้น มันอาจจะหากินอาหารอยู่ข้างทาง พอเจอคนเดินผ่านไป ก็จะส่งเสียงร้องแปร๊น! แล้วพุ่งเข้าใส่ ถ้าหลบไม่ทัน จะต้องตายแน่นอน แม้แต่ช้างปกติที่ไม่เคยโดนคนทำร้าย ก็สามารถทำร้ายคนได้ถ้าตกมัน แต่ถ้าได้ยินเสียงร้องแปร๊นห่างๆ แสดงว่ามันกำลังบอกอาณาเขต ให้ส่งเสียงตะโกนตอบเพื่อแสดงอาณาเขตของเราแล้วรีบไปจากแถวนั้น

ขี้ช้างแสดงขนาดของลำตัว ขี้ก้อนเล็กๆคือลูกช้าง ยิ่งขี้ก้อนใหญ่ ยิ่งตัวใหญ่ เช่นเดียวกับขนาดของรอยเท้า จะแสดงขนาดของลำตัวได้ ช้างเด็กจะมีความสูงไม่เกิน 2 เมตร ขี้จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 14 ซม คือประมาณ 2 นิ้วชี้ รอยเท้าหน้ามีเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าตัวของขี้คือ 34 ซม. และเมื่อโตเต็มที่ อาจสูงถึง 4 เมตร ขี้มีเส้นผ่าศูนย์กลางกว่า 20 ซม (1 คืบนิ้วกลาง) รอยเท้ามีเส้นผ่าศูนย์กลางเกินเท่าตัวของขี้คือ 50 ซม. การวัดขนาดเวลาอยู่ในป่า ถ้าเป็น ซม.สามารถใช้มือกางเทียบกับที่วัดด้วยไม้บรรทัดมาก่อนหน้า แต่ถ้าวัดเป็นนิ้วให้ดูที่ข้อนิ้วแต่ละข้อจะยาวประมาณ 1 นิ้ว

ช้างตัวใหญ่ก็จริง แต่เดินเบามาก ถ้าเราหันหลังไปอาจจะประจัญหน้ากันแล้ว แต่ช้างหักกิ่งไม้เสียงดังก็เพราะกำลังหากินอยู่ ช้างจะหักกิ่งไม้เพื่อกินผลไม้หรือยอดอ่อน ดังนั้น ถ้าเวลานอน ได้ยินเสียงหักกิ่งไม้ดังเป็นระยะ ก็สันนิษฐานได้ว่า เป็นช้าง กรณีนี้ ไม่ควรส่องไฟหรือทำเสียงดัง เพราะ ถ้าเป็นช้างตกมัน อาจจะชาร์จเข้าใส่ ช้างอาจจะเดินตามลำธาร เล่นน้ำทำเสียงฟรืดๆ ถ้าโดนชาร์จใส่ เราจะหนียากมาก เพราะรอบข้างมีแต่ทางสูงชัน บวกกับเป็นเวลากลางคืน

ถึงแม้ว่าช้างจะตาไม่ค่อยดี แต่หูดีที่สุดในบรรดาสัตว์ป่าด้วยกัน มันรับเสียงได้ทั้งที่หู ที่งวง และที่เท้า โดยเฉพาะเท้าจะใช้สื่อสารกับช้างตัวอื่น ได้ไกลหลายกิโลเมตร โดยใช้เสียงความถี่ต่ำกว่าที่หูมนุษย์ได้ยินเรียกว่า infrasound เสียงกระซิบเบาๆที่คนไม่ได้ยินแต่ช้างได้ยิน เสียงฝีเท้าคนทำให้เกิด infrasound 140 เดซิเบล ถึงจะย่องเบาแค่ไหน ช้างก็ยังได้ยินมาแต่ไกล

ช้างเป็นสัตว์ที่แข็งแรงมาก เจ้าหน้าที่ป่าไม้พบว่า มันสามารถปอกทุเรียนได้ด้วยการใช้เท้าเหยียบให้แตก หรือ ล้มต้นมะพร้าวเพื่อกินยอดอ่อน (แต่จะไม่กินลูกมะพร้าว) ล้มต้นทุเรียนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 ฟุต จนถึงใช้งา ยกรถกะบะที่หนักเป็นตันๆจนพลิกคว่ำ นอกจากนี้ ช้างยังสามารถใช้งวงได้แม่นยำเช่นเดียวกับคนใช้มือ เคยมีช้างโทนปาลูกทุกเรียนใส่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่เขาอ่างฤาไน โชคดีที่เขาที่อยู่ในบ้าน แล้วเปิดหน้าต่างแง้มๆไว้ เขาจึงหลบทัน แต่เมื่อย้อนมาดูร่องรอยก็พบว่าจุดที่ทุเรียนกระทบกับหน้าต่างนั้น ตรงกับใบหน้าของเขาพอดี

ช้างกลัวผึ้ง แค่ได้ยินเสียงผึ้งก็เผ่นแล้ว ถึงแม้ว่าหนังช้างจะหนาจนผึ้งแทงไม่เข้า แต่มีบางบริเวณที่เป็นจุดอ่อน อย่างเช่น งวง ปาก และตา เพราะฉะนั้น บริเวณใดที่มีผึ้ง จะไม่ค่อยมีช้าง นักวิทยาศาสตร์ จึงทดลองใช้เสียงผึ้งจำลอง หรือเลี้ยงผึ้งไว้ตามแนวรั้วทุกๆ 20 เมตร ปรากฎว่า แทบไม่มีช้างย่างกรายเข้ามาใกล้อีกเลย ยกเว้นเสียแต่ว่ามีอาหารล่อเยอะจริงๆ ช้างจะฉลาดพอที่จะหาทางเสี่ยงเข้ามาจนได้

จุดอ่อนของช้าง อยู่ที่ขา ถ้าจำเป็นต้องหยุดช้างที่ดุร้าย ให้วิ่งอ้อมไปข้างหลังช้าง แล้วใช้มีดเล่มใหญ่ๆหน่อย ฟันตรงเอ็นร้อยหวาย ที่อยู่หลังข้อเท้า (มีดเล่มเล็กจะฟันไม่เข้า เพราะหนังช้างก็เหมือนหนังวัวหนังควาย) เมื่อเส้นเอ็นขาด ขาข้างนั้นจะรับน้ำหนักไม่ได้ แต่ช้างจะเดินได้อยู่โดยยกขาข้างนั้นขึ้น ถ้าฟันทั้งสองข้าง ช้างจะเดินต่อไม่ได้ แผลที่ถูกฟัน ถ้าทิ้งไว้โดยไม่รักษา จะติดเชื้อมีหนอน จึงควรแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่นั้นให้ตามสัตวแพทย์ในพื้นที่มาช่วยรักษา ถ้าเผชิญหน้ากับช้างดุร้าย โดยหันหน้าเข้าหากัน แทงที่งวง ช้างจะถอยหนี แต่ถ้าทำให้บาดเจ็บตรงจุดอื่น ช้างอาจจะไม่หนี แต่จะยิ่งโกรธแค้น การกระโดดเกาะงวงก็เคยมีคนใช้ได้ผลเช่นกัน ทำให้ช้างเหยียบไม่ได้

จากการที่ช้างฟังภาษาคนรู้เรื่องนี้เอง ทำให้ช้างเป็นสัตว์ที่มีความแค้น เคยมีช้างเดินผ่านสวนผลไม้ ถ้าสวนไหนที่เจ้าของพูดจาดีๆ ช้างจะไม่มายุ่ง แต่ถ้าสวนไหนพูดไม่ดี ช้างจะมาทำลายสวน เคยมีเจ้าของสวนทุเรียนที่พูดกับช้างที่เดินผ่านมาตอนกลางวันว่า เดี๋ยวจับผัดกระเพราเลย ปรากฎว่า ตอนกลางคืนช้างเข้ามาพังต้นทุเรียนจนล้ม แถมเตะเล่นอีก ในขณะที่สวนรอบๆปลอดภัยหมด

เสือ

ธรรมชาติของเสือจะหนีคน โอกาสเจอเสือจึงยากมาก แต่เคยมีเสือที่กระโดดมาขวางหน้าคน กระโดดขึ้นมาบนกะบะรถ หรือมาเดินรอบกองไฟเหมือนกัน เสือที่ทำร้ายคน มักจะเป็นเสือที่จับสัตว์กินเองไม่ได้ เพราะว่าแก่หรือเสือเจ็บจากปืน หรือขนเม่น ฯลฯ หรืออาจเป็นเสือจนมุม เสือแม่ลูกอ่อน หรือแม้แต่เสือที่โกรธแค้นคน เนื่องจากตัวมันหรือลูกมันเคยโดนคนทำร้าย เคยมีข่าวเมื่อ 5 มีค.59 กลุ่มเจ้าหน้าที่ป่าไม้ห้วยขาแข้ง เดินสำรวจป่าเมื่อเวลา 9 โมงเช้า แล้วคนเดินนำหน้าโดนเสือแม่ลูกอ่อน กระโจนเข้าใส่ข้างหลัง ตะปบที่หัว 1 ครั้ง ทำให้มีเลือดไหลออกมาเป็นจำนวนมาก โชคดีที่เพื่อนยิงปืนขึ้นฟ้า ทำให้เสือหนีไป แล้ววิทยุให้ ฮ.มารับไปส่งโรงพยาบาลทันเวลา เขาจึงรอดตายมาได้ ต่อมา 28 มค.65 หนุ่มกะเหรี่ยงบ้านปิล็อกคี่ ทองผาภูมิ เดินออกจากหมู่บ้านไปดูควายที่เลี้ยงไว้ แล้วขากลับเจอเสือโคร่งยาว 8 ศอกยืนขวางหน้า เสือกระโจนเข้าหาทันที ใช้ปากกัดและเล็บตะปบ ตามลำคอ ใบหน้า และตามร่างกาย เขาโดนกัดฝ่ามือจนทะลุ กัดปากจนฟันหัก เขาใช้หมัดชกเสือจนข้อมือหัก สุนัขที่ไปด้วยเข้ามาช่วยจนถูกเสือโคร่งกัดตายไป 2 ตัว เขาต่อสู้กับเสือนานร่วม 30 นาที จึงหนีขึ้นต้นไผ่ แล้วร้องตะโกนไล่เสือ พร้อมกับขว้างท่อนไม้ไผ่ รอจนเสือไป จึงวิ่งหนีเข้ามายังหมู่บ้าน เพื่อหาคนช่วยพาส่งโรงพยาบาล เขาจึงรอดมาได้ จะเห็นว่า เสือพบมากตามแนวชายแดนไทยพม่า เพราะสามารถข้ามฝั่งไปมาได้

เสือจะกระโจนเข้าหาเหยื่อ เพื่อทำร้ายที่หัวหรือคอ ทำให้เหยื่อ ตายทันที บางครั้งอาจไม่กระโดด แต่ย่องเข้ามาใกล้ๆ ใช้กรงเล็บเกี่ยวเสื้อผ้า จนเหยื่อล้มลง

เสือสามารถกลมกลืมกับธรรมชาติได้เป็นอย่างดี มันอาจจะอยู่ห่างเราแค่ไม่กี่เมตร โดยที่เราไม่เห็นมัน และเดินเงียบจนเราไม่ได้ยินเสียง บางครั้งเราอาจได้กลิ่นสาบของมัน เคยมีคณะติดกล้องถ่ายภาพสัตว์ป่าแบบอัตโนมัติที่ป่าต้นแม้น้ำเพชร โดยอาศัยจับความร้อนเวลาสัตว์เดินผ่าน พวกเขาเดินติดกล้องตามทางไปเรื่อยๆ พอล้างรูปออกมา ดูเวลาในรูป แล้วต้องตกใจเพราะว่า ตอนนั้น มีเสือดำเดินตามพวกเขาอยู่

เสือตัวผู้ จะอยู่ตัวเดียว ส่วนเสือที่อยู่รวมกันหลายตัว คือ เสือแม่ลูกอ่อน ตัวที่ใหญ่ที่สุดคือตัวแม่ ตัวเล็กลงมาคือตัวลูก ลูกเสืออายุแค่ปีเดียว ก็มีขนาดเกือบจะเท่าแม่ของมันแล้ว เพียงแต่ยังไม่ไวพอที่จะหากินเองได้ แต่ถ้าเจอเสือหลายตัวมีขนาดเท่ากันหมด แสดงว่าแม่ของมันอาจไม่ได้อยู่ด้วย แต่อาจอยู่ในละแวกใกล้ๆ สามารถแยกความแตกต่างของเสือแต่ละตัวได้จากลายบนตัว

หลักสำคัญเวลาเจอเสือ คือห้ามหันหลังให้มันเป็นอันขาด เพราะธรรมชาติของสัตว์นักล่า อย่างเสือ จะโจมตีเหยื่อทางด้านหลัง จะไม่เผชิญหน้าโดยตรง เพราะมันไม่ต้องการเจ็บตัวจากการต่อสู้ ถ้ามันรู้ว่า มีคนเห็น หรือ ได้ยินสียงคนตะโกน มันจะหนี ฉะนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่ที่เลี้ยงเสือโคร่งในกรง มีความจำเป็นต้องเข้าไปในกรง ต้องหันหน้าสู้เสือตลอด โดยที่เสือก็ไม่กล้าเข้ามาใกล้ แต่เมื่อใดหันหลังให้ เสือจะเตรียมกระโจนใส่ทันที ชาวบ้าน sundarban ในประเทศอินเดีย จะใช้วิธีใส่หน้ากากรูปหน้าคนไว้ด้านหลัง แต่สามารถหลอกเสือได้ในช่วงแรกเท่านั้น ไม่นานเสือรู้ว่าถูกหลอก จึงเริ่มโจมตีคนต่อไป แต่เสืออาจจะกระโดดเข้ามาจากข้างหน้าได้เช่นกัน เคยมีตัวอย่างในปี 2563 คนเลี้ยงควาย พบว่าหมาหายไป จึงออกเดินตามหา จนประจัญหน้าหน้าเสือที่กำลังกินหมาอยู่ แล้วเสือกระโดดเข้ามากัดเขาด้านหน้า

คนที่โดนเสือโจมตี จะโดนเสือกระโดดเข้ามา ทำให้คนล้มลง ใช้เล็บตะปบหัว หรือกอดตัวคนไว้ แล้วกัดที่หัวไหล่หรือคอทันที เพราะ สัตว์นักล่ารู้ว่า จุดอ่อนของสัตว์ทุกชนิดอยู่ที่คอและหัว และนักล่ารู้ว่าการจบการต่อสู้ให้เร็วที่สุด คือ ทำร้ายจุดอ่อน คนส่วนใหญ่โดนเสือตะปปแค่ทีเดียวก็ตายแล้ว ยกเว้นจะไม่โดนจุดสำคัญ แต่ถ้าแผลกัดทะลุหลอดลมหรือปอดจะตายแน่นอน เป้สะพายหลังที่สูงถึงท้ายทอย จะช่วยป้องกันเสือกัดคอหรือตะปบท้ายทอยได้ แต่ยังไม่สามารถป้องกันเสือตะปบหัวได้

การหนีเสือ ไม่ควรหนีขึ้นต้นไม้ เสือโคร่งสามารถปีนต้นไม้ได้ เคยมีเสือโคร่งหนีฝูงหมาไน ด้วยการปีนขึ้นไปอยู่นอนบนต้นไม้ แต่ถ้าต้นไม้ตรงๆสูงๆจะขึ้นไม่ได้ เพราะเสือโคร่งสามารถกระโดดจากหยุดนิ่งเพื่องับเหยื่อที่อยู่ได้สูง 3-4 เมตร และสามารถไต่ต้นไม้ต่อไปได้อีกไม่กี่เมตร ก็จะต้องลงมา เพราะน้ำหนักตัวมาก ต้องหนีขึ้นต้นไม้สูงเกิน 10 เมตรจึงจะปลอดภัยจากเสือโคร่ง ส่วนเสือดาว สามารถไต่ไปตามกิ่งไม้ได้เหมือนลิง เพราะเสือดาวจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าเสือโคร่งครึ่งหนึ่ง การทำห้างนอนบนต้นไม้จึงไม่ปลอดภัยจากเสือดาว

คนที่เดินป่าเร็วๆ มีโอกาสประจัญหน้ากับเสือที่นอนเล่นขวางทางอยู่ เสือส่วนใหญ่จะวิ่งหนี ถึงแม้ว่ามันจะกำลังนอนหรือกินเหยื่ออยู่ก็ตาม แต่บางตัวก็อาจจะไม่วิ่งหนี แต่กระโจนเข้าใส่คน เสือที่อารมณ์ดี จะหุบปาก สังเกตุว่ามันจะเดินช้าๆ หันหน้ามองไปทางอื่น แค่ยืนดูมันเฉยๆ สักพักมันจะเดินผ่านไปเอง แต่ถ้ามันขวางทาง แค่ตะโกนใส่มันเสียงดังๆ หรือได้ยินเสียงปืนมันก็จะหนี แม้แต่เสือแม่ลูกอ่อนยังทิ้งลูกหนี แต่ถ้าเสือตั้งใจมองตรงมา แล้วอ้าปาก พร้อมกับคำรามเบาๆในลำคอ นั่นคือเสือที่กำลังขู่ ถ้าถอยได้ให้ถอย ถ้าไม่ถอย เสือบางตัวที่ไม่แน่ใจว่าจะสู้ได้ก็อาจจะหนี แต่พวกเสือตัวผู้หรือเสือแม่ลูกอ่อน อาจจะตรงเข้ามาทำร้าย ถ้าอยู่ไกลก็จะเดินหรือวิ่งเข้ามาหาคน พร้อมกับอ้าปาก อย่าหันหลังหนีเพราะอาจโดนมันไล่กวด ตายแน่นอน พอถึงระยะที่ใกล้พอเสือจะย่อตัวลง แล้วกระโจนเข้าใส่ แล้วชี้เท้าหน้าพร้อมกรงเล็บเข้ามา เป้าหมายคือตบหัวของเรา คนที่ไม่รู้นิสัยของเสือจะวิ่งหนีแล้วโดนเสือตะปปจนล้มลง ส่วนคนที่รู้นิสัยของเสือจะมีโอกาสเบี่ยงหลบได้ทัน ถ้าไม่หลบ จะโดนชนจนล้ม เพราะ เสือโคร่งที่โตเต็มที่หนัก 200-300 กิโลกรัม และจะโดนกรงเล็บของมัน ถ้าหัวโดนกรงเล็บเสือแล้วโอกาสรอดยาก เคยมีชาวบ้านบน อช.เขาใหญ่นั่งอยู่ริมหน้าต่างในบ้านที่ยกพื้นเตี้ยๆ แล้วโดนเสือกระโดดใช้เล็บตะปบหัวทีเดียว หนังหัวเปิดตั้งแต่หน้าผากไปจนถึงท้ายทอย ตายทันที ขนาดตายแล้ว หมอยังบอกว่าเย็บไม่ไหว แต่ถ้าเสืออยู่ระยะใกล้ กระโดดไม่ได้ มันจะยืนขึ้น ใช้สองเท้าหน้าจับไหล่คนไว้ แล้วจึงกัดคอหรือหัวไหล่ กรณีนี้ ให้ใช้มือยัดปากมันไว้ อย่าให้มันกัดคอ ล้วงเข้าไปในคอมัน อย่าให้โดนเขี้ยว มันจะกัดไม่ได้ แต่ถ้าเสืออยู่ระยะใกล้เกินกว่าจะยืนได้ มันจะกัดขาหรือตะโพกหรือมือ

ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่ที่โดนเสือทำร้ายทีเผลอ มักจะเสียชีวิต ส่วนคนที่หันหน้าสู้กับเสือ มักจะมีชีวิตรอด แม้แต่คนที่สู้กับเสือด้วยมือเปล่าก็ยังรอด ส่วนเสือจะหนีไป แต่ถ้ามีมีดด้วย เสืออาจจะตาย แต่การต่อสู้กับเสือจะใช้เวลานาน และคนจะบาดเจ็บหนัก เพราะเสือมีพลังเท่ากับชายฉกรรจ์ 3-4 คน และไวกว่าคนมาก เช่น ถ้าใช้เท้าถีบมัน มันจะกัดที่เท้าเรา ยิ่งทำให้มันบาดเจ็บ มันก็ยิ่งต่อสู้หนักขึ้น เวลาเสือต่อสู้ จะยืนด้วยสองเท้าหลัง ยกสองเท้าหน้าขึ้นมาตบรัว และตบไวมาก คนที่มีอาวุธเป็นไม้หรือมีดหรือแม้แต่ปืน จะโดนตบ โดนกัด จนหลุดมือ เหลือแต่มือเปล่า พอไม่เหลืออะไรป้องกันตัวแล้ว มันก็จะตบหน้าเรา ถึงจะมีอาวุธยาวปลายแหลมชี้หน้ามันไว้ ก็อาจทำอะไรมันไม่ได้ เพราะ เสือสามารถวิ่งหลบอาวุธเข้ามาด้านข้างจนถึงตัวคนได้อย่างรวดเร็ว การต่อสู้กับเสือ จึงไม่อาจสู้ซึ่งๆหน้า ถ้าเสือพุ่งเข้ามา ต้องหาทางหลบหลีกก่อน พอพ้นแล้ว จึงค่อยรีบจัดการมันทีเผลอ

คนที่เจอเสือ จะมีโอกาสรอดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าใครเห็นใครก่อน มีตัวอย่างของหลายคนที่เผชิญหน้ากับเสือ แล้วมีอาวุธในมือ จึงเอาตัวรอดได้ มีชายคนหนึ่งในพม่า ออกไปหาฟืนในป่ากับลูกชาย 2 คน และหลานชายอีก 1 คนในปี 2543 ลูกชายคนหนึ่งกับหลานชายอีกคน ลงไปดื่มน้ำในลำห้วย ลูกชายถูกเสือวิ่งเข้าใส่แล้วตะปปตายในครั้งเดียว ส่วนหลานชายร้องเสียงหลง เสือจึงหันมาฆ่าตายอีก พ่อและลูกชายอีกคนได้ยินเสียงร้อง จึงวิ่งไปดู พ่อพบเสือฆ่าลูกหลานของเขา จึงตรงเข้าหาเสือพร้อมมีดในมือเพื่อแก้แค้น เสือเห็นเขาตรงเข้ามา จึงวิ่งเข้าใส่ เขาใช้มีดฟันเข้าที่ใบหน้าของเสือ ทำให้เสือบาดเจ็บหนัก โดยที่เขาไม่ได้รับอันตรายใดๆ เสือจึงล่าถอยไป 2-3 เมตร แต่ไม่กี่นาทีต่อมา เสือก็ตรงเข้ามาทำร้ายเขาใหม่ เขาใช้มีดฟันเสืออีกครั้ง ทำให้เสือตาย แต่ครั้งนี้เขาโดนเสือคว้าคอไว้ได้ ทำให้เส้นเลือดขาดบางส่วน แต่ยังไม่ตาย เขาจึงบอกให้ลูกชายที่ยังมีชีวิตรอด ไปตามคนในหมู่บ้านมาช่วย แต่เมื่อคนในหมู่บ้านพร้อมทั้งตำรวจและทหารมาถึง กลับพบว่าเขานอนตายอยู่ข้างศพลูกหลานนั้นเอง จากเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า การเผชิญหน้ากับเสือ ต้องฆ่าเสือให้ตายให้เร็วที่สุด หรือไม่ก็ต้องรีบหนีไปจากจุดนั้น

การเผชิญหน้ากับเสือ สำคัญที่ว่า อย่าล้มหรือนั่งลงเป็นอันขาด ถ้าล้มก็ต้องพยายามลุกขึ้นมา (เสือจะชอบทำร้ายเหยื่อที่ความสูงพอกันหรือเตี้ยกว่า อย่างเช่น เด็กเล็ก) มีหลายคนที่ตกลงไปในกรงเสือในสวนสัตว์ แต่อยู่ในท่านั่งหรือนอน จึงตกเป็นเหยื่อกรงเล็บโดยไม่มีทางต่อสู้ได้เลย ถ้าขยับก็จะโดนกงเล็บตะปปไว้ไม่ให้ขยับได้ ตามมาด้วยการใช้ปากกัดคอ การต่อสู้กับเสือ ต้องทำร้ายจุดอ่อนของมัน จุดอ่อนของเสืออยู่ที่ตา แต่การจิ้มตาไม่ได้แปลว่าเสือจะหนี เคยมีตัวอย่างในปี 2022 Erin Wilson ไปเดินเล่นในป่าแคลิฟอร์เนีย แล้วสิงโตภูเขากระโดดเข้าใส่จากด้านหลังจนแขนเหวอะ แต่หมาคู่ใจเข้ามาช่วยต่อสู้แทน ขณะมันคาบคอหมาได้สำเร็จ เธอพยายามเข้าไปทำร้ายมันทั้งปาหินและไม้ใส่ก็ยังไม่ได้ผล ขนาดจิ้มตายังโดนมันใช้เล็บเท้าหลับเตะจนขาเหวอะ สุดท้ายเธอไปตามคนที่ขับรถผ่านมาช่วย ใช้สเปรย์พริกไทยฉีดใส่หน้ามันจึงหนี จุดอ่อนอื่นๆคือ จมูก ถึงแม้ว่าการใช้ไม้จิ้มเข้าไปในปากมัน หรือต่อยจมูก หรือได้ยินเสียงปืน จะทำให้เสือคายเขี้ยว แต่อาจไม่ทำให้เสือหยุดการต่อสู้

เสือแม่ลูกอ่อนมีอันตรายมาก พร้อมจะทำร้ายสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งคน เสือมักจะคลอดลูกอยู่ในที่เร้นลับ อย่างตามถ้ำหรือซอกหินขนาดเล็ก เพื่อป้องกันไม่ให้ลูกเล็กๆของมันถูกสัตว์อื่นทำร้าย แต่ไม่แน่เสมอไป บางครั้งเสืออาจจะคลอดลูกอยู่ในที่ค่อนข้างโล่ง เข้าถึงได้ง่าย

นอกจากเสือแม่ลูกอ่อนแล้ว เสือที่ชอบทำร้ายคนคือ เสือแก่ที่จับสัตว์ไม่ไหว มีตัวอย่างบน อช.เขาใหญ่ ในปี 2519 หรือเสือที่บาดเจ็บจากคน มีตัวอย่างบน อช.เขาใหญ่ ในปี 2541 เมื่อเสือโคร่งถูกยิงตายแล้วตรวจสอบพบว่ามีกระสุนปืนแก๊ปฝังอยู่ขาหน้าขวา 2 เม็ด เป็นเหตุให้มันแค้นคน

วิธีที่ปลอดภัยที่สุด ในการเข้าป่าที่มีเสือ คือ นั่งช้าง เพราะเสือกระโจนขึ้นมาไม่ค่อยถึงบนหลังช้าง

หมี


หมีควาย (ซ้าย) ตัวอ้วน ขนฟู เป็นแผงที่คอ และมีแถบสีขาวรูปตัว V ที่หน้าอก ส่วนหมีหมา (ขวา) ตัวเล็กกว่าหมีควาย แผงคอเป็นรูปตัว U เวลายืนดูผอมเหมือนคน หน้าตาคล้ายหมา ส่งเสียงร้องเหมือนหมาเห่า จึงเรียกหมีหมา
หมีที่อยู่ตัวเดียว มักจะหนีคน แค่ได้ยินเสียงก็เผ่นแล้ว หมีที่ทำร้ายคน จะเป็นพวกหมีแม่ลูกอ่อน บางทีลูกหมีวิ่งเข้ามาหาคน แม่หมีก็เลยตามเข้ามาจัดการ หมีแม่ลูกอ่อนจะพยายามทำร้ายสัตว์ทุกตัวที่อยู่ใกล้ แม้แต่เสือ เพื่อที่จะปกป้องลูกของมัน แต่พอหมีสู้กับเสือ แน่นอนว่าหมีต้องกลายเป็นศพ เพราะเสือไวกว่า แต่ถ้าหมีไม่มีลูกเจอกับเสือ หมีจะวิ่งหนี

เวลาเจอหมีในระยะกระชั้นชิด มีวิธีเอาตัวรอดได้คือ ตะโกนขู่ให้ดังที่สุด ให้หมีกลัวแล้วหนีไป เคยมีคนประจัญหน้ากับหมีตอนหัวค่ำ แล้วตะโกนพร้อมตบไฟฉายเหมือนมีปืน หมีจึงหนีไป แต่ไม่ควรวิ่งหนี มิฉะนั้นจะโดนไล่กวดได้ หมีวิ่งเร็วกว่าคนทั้งขึ้นเขาและลงเขา คนที่โดนหมีไล่กวด จะล้มลง หรือโดนหมีกระโจนใส่จากข้างหลังจนล้มลง ถึงตอนนั้นก็หมดทางต่อสู้ เพราะเราหันหลังให้มัน ถ้าพยายามขยับตัวก็จะโดนหมีใช้ทั้งกรงเล็บและปากจับไว้ ไม่ให้ขยับ ในเวลาที่ไม่สามารถหันหน้าสู้ได้ มีทางเดียวที่อาจจะรอดได้คือ แกล้งตาย แล้วใช้เป้สะพายหลังและมือปิดหน้าปิดคอและหัวไว้ เพื่อกันหมีกัดคอหรือใช้เล็บตะปปหัว รอให้หมีไปสัก 2-3 นาทีค่อยลุกขึ้นมา เคยมีตัวอย่างเกิดขึ้นจริง อย่างในปี 59 ที่ชาวบ้านวังเหนือ ลำปาง หาของป่าแล้วถูกหมีตะปบและกัด พอเขาล้มจึงคว่ำหน้าลงแล้ว หมียังตะปบหลังคอและกัดแขน เขาต้องแกลังตาย หมีจึงหนีไป เขาจึงประคองตัวออกจากป่าได้ อีกตัวอย่างคือ ชาวบ้านคลองมะเดื่อขึ้นเหนือไป 10 กม. เพื่อหาของป่า ขณะลงไปตักน้ำในลำธาร ได้ประจัญหน้ากับหมีควาย จึงโดนหมีควายจู่โจมเข้ามาตบใบหน้า ตามด้วยกัดที่ใบหน้า เขาได้พยายามต่อสู้ด้วยการผลักหมีออกไป แต่สู้แรงไม่ไหว จึงแกล้งทำเป็นนอนนิ่งเหมือนคนตาย หมีจึงสงบลงแล้วหนีหายเข้าป่าไป ตัวเขารอดมาได้ โดยเพื่อนอีกคนโทรศัพท์ไปให้คนข้างล่าง ตามหน่วยกู้ภัยมาช่วย แต่เขาเสียเลือดมากและหน้าตาถูกหมีตบและทำร้ายจนเละไปหมด แก้มซ้ายเป็นแผลฉีกขาดเป็นทางยาว ปากบนใต้บริเวณจมูกฉีกขาดถึงเพดานปาก ศีรษะด้านซ้ายถูกหมีกัดเป็นแผลฉกรรจ์เกือบถึงกะโหลก อย่างไรก็ตาม การแกล้งตายเป็นวิธีที่เสี่ยง เพราะ บางคนแกล้งตายแล้วหมีอาจจะทำร้ายต่อจนตายจริง บางคนตายจริงแล้วหมีก็ยังวนเวียนอยู่ตรงศพ ซึ่งถ้ามันเห็นคนฟื้น มันจะทำร้ายต่อ

เวลาเจอหมีตัวเดียวในระยะห่างพอสมควร ควรจะประเมินสถานการณ์ โดยดูหน้าตาของมันว่า มันกำลังอยู่ในอารมณ์ไหน หมีที่อยู่ในอารมณ์ปกติ จะทำหน้าตาปกติ คือยืนสี่ขา ชี้หัวตรงไปข้างหน้า (ยกเว้นจะกำลังก้มกินอะไรอยู่) หูตั้งตามปกติ ถ้าหมียืนขึ้นแล้วส่ายหน้าดูว่ามีอะไร หูชี้ไปข้างหน้า แสดงว่ากำลังสงสัย หมีบางตัวเมื่อเห็นคนแล้ว อาจจะแกลังขู่ ด้วยวิธีต่างๆ ที่เรียกว่า bluff charge โดยแสดงอาการออกนอกหน้า เช่น ส่งเสียงคำราม, ใช้เท้าหน้าตบดิน, ยืนบนสองขาหลังหันหน้ามาทางคน อาจจะกระโดดด้วย, เดินหรือวิ่งตรงเข้ามาหาคนในห่างไม่ถึง 10 เมตร แล้วจึงหยุด หรือวิ่งอ้อมไปอีกทาง อาการขู่แบบนี้ แปลว่า มันกำลังกลัวคน กรณีเหล่านี้ ควรจะค่อยๆถอยออกมา เพื่อเลี่ยงการเผชิญหน้า ไม่ควรแม้แต่จะหยุดถ่ายรูป เพราะเคยมีหลายคนที่ถ่ายรูปหมีได้สักพัก แล้วโดนหมีตรงเข้ามาทำร้าย

ส่วนหมีที่ตั้งใจจะฆ่าคน จะก้มหัวลง อาจจะเห็นหูลู่ไปข้างหลัง หรือ มีเสียงกัดฟันดังมากเหมือนฟันจะหลุดออกจากกันด้วย ถ้าอยู่ไกลกันหรือมีสิ่งกีดขวาง หมีจะเดินก้มหน้าเข้ามาหาคน จนถึงระยะที่พอเหมาะ จึงวิ่งเข้าใส่ วิธีที่หลายคนใช้ได้ผล คือ ส่งเสียง และ ปาของใส่ เคยมีฝรั่งเจอหมีวิ่งเข้าใส่ ที่บ้านกร่างแคมป์ อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน พอเขาเป่านกหวีด หมีจึงหนีไป หมีเป็นสัตว์ที่อ่อนแอ แค่โดนก้อนหินหรือกิ่งไม้ขนาดใหญ่ปาใส่หัวตรงๆ ก็สามารถตายได้ แต่ถ้ายังไม่ได้ผล วิธีป้องกันตัวขั้นแรก ไม้ยาวๆจะช่วยชะลอการถูกทำร้ายได้มาก เพราะเมื่อใช้ไม้ยื่นไม้ออกไปจิ้มจมูกหรือปาก หรือทุบหัวมัน มันจะถอยแล้วพยายามปัดไม้ออก หรือดึงไม้ไปหักทิ้ง จนสุดท้ายแล้วคนเหลือแต่มือเปล่า

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ลาดตระเวนที่โป่งตาลอง อช.เขาใหญ่ ตอนเที่ยงเผชิญหน้าหมีควายในระยะประชิด จึงถูกหมีทำร้าย มีรอยหมีกัดตามร่างกาย เพราะยกแขนและมือปิดหน้ากับส่วนสำคัญ โดนหมีตะปบที่ขา หามส่ง รพ. แล้วรอดชีวิต

คนส่วนใหญ่โดนหมีทำร้าย เพราะ เผชิญหน้ากันในระยะกระชั้นชิด วิธีที่เคยมีคนใช้กันได้ผลคือ ขู่ด้วยเสียงและท่าทาง พยายามส่งเสียงดังทุกรูปแบบ เป่านกหวีด และ กางแขนออกให้กว้างๆ เพื่อให้ดูตัวใหญ่ ซึ่งหมีบางตัวอาจจะกลัวแล้วหนีไป แต่บางตัวอาจไม่กลัว แล้วยังพุ่งตรงเข้ามา

เมื่อหมีถึงตัวคน จะยืนขึ้น แล้วเริ่มจากทำร้ายใบหน้าของคนก่อน โดยใช้ปากกัด หรือ ใช้เล็บตบ หลายคนโดนตบจนหน้าและจมูกหายไปทั้งแถบ คนที่โดนหมีตบแล้วตั้งท่าไม่ดี ก็จะล้มลง เหมือนโดนรถชน เพราะหมีมีแรงมาก หลายคนโดนหมีทำร้ายเพราะ เจอกันโดยบังเอิญขณะกำลังตักน้ำ หรือ เก็บของป่า มีตัวอย่างของชายที่ออกไปเก็บเห็ดในไร่ที่ติดกับป่าตีนเขาเขียว อช.แม่วงก์ ตอน 7 โมงเช้า ขณะที่กำลังก้มเก็บเห็ดอยู่ เงยหน้าขึ้นมาก็เจอหมีตัวสูงเท่าคน พอเจอหน้ากัน หมีก็ใช้ปากกัดที่ใบหน้าเขา แล้วใช้เล็บตะปปจนเขาล้มลง เขาจึงใช้มีดแทงสวนไปที่คอหมี พอหมีเจ็บ มันจึงหยุดทำร้ายเขา แล้ววิ่งหนีเข้าป่าไป ส่วนตัวเองก็กัดฟันเดินออกมาจากป่า มาขอความช่วยเหลือจากชาวบ้าน ให้ช่วยนำส่งโรงพยาบาล มีแผลลึกที่ใบหน้าและมีรอยข่วนที่หลัง ชาวบ้านคาดว่าหมีจะมาหาหน่อไม้กิน เนื่องจากบริเวณนั้นมีหน่อไม้จำนวนมาก

เมื่อถึงเวลาที่ต้องต่อสู้กันด้วยมือเปล่า ต้องทำร้ายมันที่จมูก และตา ด้วยการต่อยจมูก หลายๆรอบ หมีจะเจ็บมาก แล้วหนีไป ถ้าโดนกัดก็ใช้มือจิ้มตา แต่ปัญหาคือ คนส่วนใหญ่ต่อยไม่โดนเพราะไม่ใช่นักมวย เคยมีคนต่อยครั้งแรกโดนจมูก แต่หมียังไม่หนี จึงต่อยซ้ำแล้วมือเข้าไปในปากหมี จึงโดนหมีกัดนิ้ว เขาจึงโดนหมีทำร้ายต่อ มีตัวอย่างของนาย Toby Burke ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์ป่า เขาต่อสู้กับหมีด้วยมือเปล่า ในขณะที่หมีใช้กรงเล็บข้างหนึ่งจะเข้ามาทำร้ายใบหน้าของเขา แต่เขาใช้มือบังไว้ ในขณะที่กรงเล็บอีกข้างของหมี ยันหน้าอกเขาไว้ เขาใช้มืออีกข้างที่เหลือ ต่อยจมูกและตาหมี 5-6 รอบ หมีจึงหนีไป โดยที่เขาไม่เจ็บตัวเลย จุดอ่อนของหมีอยู่ที่จมูกเช่นเดียวกับหมา หลายคนที่ใช้วิธีนี้แล้วได้ผล เคยมีคนนอนอยู่ในเต็นท์ แล้วหมีเดินมาดมๆตรงหน้าต่าง เขาจึงต่อยมันที่จมูก หมีจึงวิ่งหนีไปทันที บางคนนอนอยู่ในเต็นท์แล้วโดนหมีฉีกเต็นท์แล้วกัดขา เขาต่อยจมูกมัน 2-3 ครั้ง มันจึงหนีไป หลายคนเห็นหมาโดนหมีกัด จึงวิ่งเข้าไปต่อยหมีที่จมูก หมีจึงคายหมาออกจากปากแล้ววิ่งหนีไปทันที ถ้าเห็นคนโดนหมีทำร้าย ก็ใช้วิธีนี้ได้เช่นกัน

หมีปีนต้นไม้เก่ง แต่หมีตัวใหญ่มีน้ำหนักมากจึงขึ้นต้นไม้สูงๆได้ช้า การปีนต้นไม้หนี จะต้องขึ้นไปสูงพอที่หมีจะเริ่มปีนลำบาก ถ้าหมียังปีนต้นไม้ตามขึ้นมา จะปีนได้ช้ามาก พอหมีเข้ามาใกล้ จึงอาศัยจังหวะนั้น ยื่นเท้าลงไปถีบจมูกมันได้

เวลานอนเปลอยู่ในป่า หากนอนนิ่งๆ จะไม่ต้องกลัวว่าจะโดนหมีเข้ามาทำร้ายมากนัก เพราะหมีส่วนใหญ่จะทำร้ายคนเมื่อจวนตัว หรือ เมื่อเห็นคนที่เคลื่อนไหวเป็นพิษเป็นภัยกับลูกของมัน และ หมีจะมาตามกลิ่นอาหาร มันจึงทำร้ายคนเพื่อที่จะแย่งอาหาร ถ้าที่นอนไม่มีอาหารก็จัดว่าปลอดภัยระดับหนึ่ง แต่ถึงกระนั้นก็ยังเคยมีหมีมาตัวเดียว แล้วทำร้ายคนในเต็นท์ทั้งที่ไม่มีอาหาร

หมีที่พบในเมืองไทย เป็นหมีดำ มี 2 ชนิด คือ หมีควาย (asian black bear) และ หมีหมา (sun bear) ทั้งสองชนิดหากินตอนกลางคืน แต่พบบ้างตอนกลางวัน หมีควายมีขนฟูเป็นแผงที่คอ เหมือนคนไว้ผมยาวประบ่า มีแถบสีขาวรูปตัว V ที่หน้าอก เมื่อโตเต็มที่จะตัวอ้วนใหญ่กว่าคน แต่เมื่อยืนด้วยขา 2 ข้างแล้วความสูงจะเท่าคนหรือสูงกว่าเล็กน้อย ส่วนหมีหมาจะตัวเล็กกว่าคนเล็กน้อย เมื่อยืนด้วยสองขา จะตัวเตี้ยกว่าคน มีแผงเล็กๆที่คอแต่ไม่มีขนฟูเหมือนหมีควาย รอบตัวมีขนสั้นและเรียบ มีแถบสีขาวรอบคอเป็นรูปตัว U เหมือนใส่สร้อยคอ

หมาป่า

หมาป่ามี 2 ประเภทคือ หมาไน (red dog) กับหมาจิ้งจอก (fox) หมาไนจะหากินกลางวัน ส่วนหมาจิ้งจอกจะหากินกลางคืน

หมาไนจะสูงพอๆกับหมาบ้านแต่ตัวจะยาวกว่า หูตั้งและหางฟูเป็นพวงมีปลายสีดำ ปกติหมาไนจะหนีคน แต่เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เขาใหญ่โดนหมาไนวิ่งเข้าใส่เหมือนกัน เวลาเจอหมาในล้อม ควรหนีขึ้นต้นไม้ เพราะหมาปีนต้นไม้ไม่ได้ หรือ หนีลงน้ำ เพราะหมาลงน้ำลำบาก หลังจากนั้นจึงโทรตามคนมาช่วย ถ้าหนีไม่ได้ ต้องสู้กัน หมาป่าจะเหมือนหมาบ้าน แค่ปาก้อนหินใส่ พวกมันจะวิ่งหนีกันหมด แค่แกล้งหยิบก้อนหิน พวกมันก็วิ่งหนีแล้ว ตัวที่วิ่งนำเข้ามาก่อนคือหัวหน้าฝูง ทำให้หัวหน้าฝูงตายหรือหนี แล้วตัวอื่นจะหนีหมด  จุดอ่อนของหมาอยู่ที่ปลายจมูก จิ้มมันที่ปลายจมูก จะทำให้มันเจ็บมาก จนต้องหนี อาจจะถีบไม่โดน เพราะหัวหมามักจะไวกว่าขาคน จะเตะท้องก็ได้ แต่ต้องเตะแรงๆหน่อย มันถึงจะร้อง ถ้าเตะส่วนอื่นนอกจากนี้จะไม่ค่อยได้ผล
หมาไนมักจะพบตามทุ่งหญ้า ตรงที่สูง วิวเปิด คอยเล็งกวาง เพราะฉะนั้น เวลาเดินผ่านทุ่งหญ้า ควรจะเกาะกลุ่มกันไว้

หมาจิ้งจอก ตัวจะเล็กๆเท่าลูกหมา อาศัยกินสัตว์เล็กๆตามพื้น พอตกค่ำ จะได้ยินเสียงหอน ถึงแม้ว่าจะอยู่เป็นกลุ่ม แต่เมื่อเห็นคนเดินเข้าไปหา พวกมันก็จะวิ่งหนี

หมาป่า อาศัยอยู่ตามรู ขนาดเท่าตัวมันมุดเข้าไปได้

กระทิง


รอยเท้ากระทิง มี 2 กีบ
กระทิงจะพบอยู่เป็นฝูง ตามทุ่งหญ้า เพราะพวกมันกินหญ้าเป็นอาหาร ปกติเราจะไม่ค่อยเห็นกระทิง เพราะ กระทิงจะหนีคน มักจะเจอแต่ขี้ของมันเหลวๆ เหมือนคนท้องเสีย แต่สีออกเทาๆ หรือพบรอยเท้าเป็น 2 กีบ ต้องระวังให้มาก

กระทิงมักจะแอบซุ่มอยู่ข้างทาง แล้วพุ่งเข้าใส่คนโดยไม่รู้ตัว ถ้ากระโดดหลบไม่ทันจะตายได้ คนที่โดนขวิดจะใส้ทะลัก กระดูกหัก หรือโดนขวิดจนเป็นแผลเหวอะ การกลบกระทิงเบื้องต้น อาศัยหลบหลังต้นไม้ แล้วรีบทิ้งเป้เพื่อปีนขึ้นต้นไม้ เพราะถ้าสะพายเป้จะปีนช้า

จุดอ่อนของกระทิง อยู่ที่จมูกเช่นกัน เอาไม้จิ้มจมูกมัน แล้วมันจะหนีไป


เทคนิค

การอยู่ป่าตรงข้ามกับอยู่ในเมืองคือ ในป่าไม่มีกฎเกณฑ์ เพราะ ในป่าไม่มีคน หลักการอยู่ป่าคือ ทุกอย่างอยู่ใน สภาวะฉุกเฉิน เราจึงไม่ต้องกังวลกับความสวยงาม หรือกฎระเบียบ ดังนั้น อย่ายึดติดกับ ความทรงจำเก่าๆ หรือรูปแบบที่เคยปฎิบัติมา ตราบใดที่ปลอดภัย ไม่มีอันตรายแล้ว ทุกอย่างย่อมทำได้ วิธีไหนสะดวกกว่า ให้ใช้วิธีนั้น ยกตัวอย่างเช่น  ถ้าไม่มีต้นไม้ให้ผูกเปล เราอาจผูกเปลกับก้อนหิน บางเรื่องอาศัยอยู่ป่าบ่อยๆ ธรรมชาติจะสอนเราเอง เช่น ถ้าไม่ขึงฟลายชีท พอฝนตกลงมา ที่นอนจะเปียก

การขับถ่าย

ก่อนออกเดินทางตอนเช้า เรามักจะไม่ปวดอุจจาระ ถ้าไปปวดท้องต้องถ่ายกลางทาง จะต้องทนนั่งให้แมลงกัดและใบไม้แยงก้น ยิ่งถ้าไม่ได้ถ่ายหลายๆวัน อาจสร้างปัญหาให้กับร่างกายได้ วิธีบังคับให้ถ่ายตอนเช้าคือ ก่อนนอนให้กินอาหารที่ช่วยระบาย เช่น มะขาม แต่ระวังอย่ากินตอนเช้า มิฉะนั้นอาจจะไปถ่ายกลางทาง แต่ถ้ายังไม่ปวดท้องตอนเช้า ให้นั่งหรือนอนตะแคงเพื่อทำสมาธิ หรือนั่งคิดถึงเรื่องที่ทำให้รู้สึกมีความสุข สักพักจนรู้สึกสบาย พอหายตื่นเต้นแล้วเดี๋ยวจะปวดท้องเอง

การกินมะขาม ควรใช้เฉพาะเวลาจำเป็นเท่านั้น อย่าใช้เป็นประจำ เพราะ มะขามเมื่อใช้ครั้งแรก จะไปกระตุ้นให้ลำใส้เคลื่อนไหว แต่หลังจากลำใส้เคยชินกับการกระตุ้นแล้ว ครั้งต่อไปจะใช้ไม่ได้ผล ต้องกินในปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาท้องผูกจริงๆแล้วเกิดจากร่างกายขาดแร่ธาตุ โดยเฉพาะแมกนีเซียม ทำให้ลำใส้ไม่ค่อยขยับตัว แนะนำให้ใช้ แมกโอ ตราคลายา เป็นแร่ธาตุแมกนีเซียมซึ่งกินต่อเนื่องได้ทุกวัน โดยไม่มีปัญหาดื้อยาเหมือนมะขาม

การขุดหลุม สามารถใช้กิ่งไม้ที่ตายแล้ว แต่ยังคงติดอยู่คาต้น เพราะกิ่งไม้สดจะอ่อนและกิ่งไม้แห้งจะเปราะ หาขนาดพอดีสองมือจับ เหลาปลายให้แหลม ค่อยๆขูดดินไปทีละน้อย ถ้าจะทำให้ปลายแข็งให้นำไปอิงไฟ หรือ นำไม้ไผ่สดมาผ่าครึ่งซึกด้านล้าง ส่วนด้านบนเหลือเป็นท่อนกลมๆไว้สำหรับมือจับ

เดินป่าไม่ให้เจ็บตัว

เวลาเดินป่า พยายามระวังอย่าให้เจ็บตัว ถ้าเจ็บตัวแล้ว อยู่บ้านยังพักได้ พอเจ็บป่วยในป่าแล้ว หยุดพักไม่ได้ ถึงป่วยก็ต้องเดิน ถึงเจ็บมือก็ยังต้องใช้มือหยิบจัดของในเป้ทุกวัน

เวลาปีนป่ายหรือขึ้นลงทางชัน ต้องระวังพลาด ตกลงไปกระแทกหิน หรือหินแยกลงมาทับตัว หรือคนที่อยู่สูงกว่าเหยียบก้อนหินหลุดกระเด็นลงมาใส่หัว แค่ชิ้นเดียวก็ทำให้กะโหลกแตกได้

การเดินป่าวันแรก ควรจะเดินช้าๆตามกำลังของร่างกาย ออมแรงไว้ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว ถ้าฝืนรีบเดินตามคนหน้า อาจช็อกหรือหมดแรง เมื่อออมแรงดีแล้ว วันต่อมา ร่างกายเริ่มปรับตัวแล้ว จะเริ่มเดินเร็วขึ้นเรื่อยๆ ทำแบบนี้ ถึงแม้ว่าวันสุดท้าย หรือช่วงเย็น ที่คนอื่นหมดแรง แต่เรายังมีแรงอยู่เหลือเฟือ

วิธีเดินป่าไม่ให้ลื่นล้ม คือ หาที่จับก่อนแล้วค่อยก้าว ถ้าเดินในป่า ให้จับต้นไม้ แล้วทดลองเหยียบให้แน่ใจว่า ดินข้างหน้าไม่เป็นหลุม ควรจะเกาะต้นไม้ทั้ง 2 มือ เผื่อว่าไปจับโดนไม้ผุทำให้เสียหลัก ถ้าลงทางชัน ไม่มีต้นไม้ให้เกาะ ให้นั่งยองๆ แล้วใช้มือยันกับก้อนหินหรือดินที่พื้น แล้วค่อยยื่นขาออกไปทีละข้าง ถ้าเดินในลำห้วย อาจจะจับก้อนหิน ลองแหย่ขาออกไปเหยียบหินก้อนต่อไป แล้วขยับเท้าให้แน่ใจก่อนว่าจะไม่ลื่นหรือหินพลิก จึงค่อยก้าวออกไป ถ้าน้ำลึกมาก ก้มลงไปจับก้อนหินไม่ได้ ให้ใช้ไม้เท้า 2 อันช่วยค้ำ ถ้าไม่มีไม้เท้า พยายามก้าวสั้นๆ จะทรงตัวขึ้น

วิธีเดินขึ้นเขาไม่ให้เหนื่อยคือ ดูลมหายใจ ดูว่ากำลังหายใจเข้า หรือ หายใจออก ลมหายใจยาวหรือสั้น ลมหายใจแรงหรือเบา ดูอยู่อย่างนี้ก็จะลืมความเหนื่อย แต่ถ้าเผลอใจลอยไปคิดเรื่องอื่นอาจจะเหนื่อยอีก ถ้าเริ่มเหนื่อย พยายามเดินช้าลง ก้าวสั้นๆ ถ้าคนหน้าเดินเร็ว เราจะพยายามเร่งสปีดเพราะกลัวเดินตามคนหน้าไม่ทัน   ช่วงเวลาที่พยายามเดินให้เร็วขึ้นนี้เองจะทำให้ร่างกายปรับตัวไม่ทัน เรียกว่า มัวแต่ดูคนอื่นจนลืมดูตัวเอง หรือถ้ามัวแต่คิดว่าเหนื่อยก็จะยิ่งเหนื่อย แต่ถ้าเปลี่ยนมาดูลมหายใจ เราจะพยายามควบคุมการเดิน ไม่ให้ลมหายใจเปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป

ถ้าไปกันหลายคน แล้วมีคนที่เหนื่อยจนเดินไม่ไหว เปลี่ยนให้คนนั้นมาเดินนำหน้า เขาจะหายเหนื่อย เพราะการเดินตามก้นคนอื่น จะมีแรงกดดัน แต่การเดินนำหน้าจะเดินตามกำลังของตัวเอง

การอาบน้ำก็เช่นกัน วิธีอาบน้ำเย็นไม่ให้หนาวคือ เปลี่ยนมาดูลมหายใจ

หลังจากลงเขามาแล้ว วันรุ่งขึ้นจะเจ็บกล้ามเนื้อขาเวลาย่อขาเพื่อขึ้นลงบันไดหรือทางชัน ทำให้เดินขาตรงได้อย่างเดียว สาเหตุเกิดจากลงเขาผิดวิธี คือ ลงเขาเร็วเกินไป และใช้กล้ามเนื้อขาเบรคมากเกินไป วิธีป้องกันคือ เวลาลงเขา พยายามลงช้าๆ หาต้นไม้เกาะ หาไม้เท้ายัน เพื่อใช้กล้ามเนื้อขาให้น้อยที่สุด บางคนเข้าใจผิดไปกินยาคลายเนื้อ แล้วไม่ดีขึ้น เพราะสาเหตุที่แท้จริงไม่ได้เกิดจากกล้ามเนื้อหดตัว แต่เกิดจากกล้ามเนื้อบอบช้ำ ทางรักษาที่ดีที่สุดคือ หยุดพัก รอให้ผ่านไปสัก 2-3 วันจึงเริ่มดีขึ้น ถ้าสัก 1 สัปดาห์ก็จะหายสนิท

เวลาอยู่ในป่า ร่างกายมีโอกาสได้รับความบอบช้ำง่ายมาก จุดที่บาดเจ็บง่ายที่สุดคือ มือและเท้า 
ถ้าเข้าป่าระยะสั้น 1-2 คืน ถึงเจ็บตัวก็ยังพอทนได้ ออกจากป่ามาแล้วพักได้  แต่ถ้าเข้าป่าหลายๆวัน พอเจ็บตัวแล้วจะเดินทางต่อลำบาก เวลาเข้าป่าหลายวัน จึงควรจะถนอมร่างกายให้มากที่สุด อย่าให้เจ็บ อย่าให้ป่วย ด้วยการ เมื่อร่างกายมีปัญหา ไม่สบาย หรือ เป็นแผล สิ่งที่ควรทำคือ พักอยู่กับที่ หรือ หาทางออกจากป่าให้เร็วที่สุด อย่าฝืนเดินทางต่อไปยังจุดหมาย มิฉะนั้น จะยิ่งเจ็บตัวมากขึ้นจนอาจจะกลับไม่ได้

เมื่อส่วนใดของร่างกายบาดเจ็บ หากหยุดพักอยู่กับที่ ผ่านไป 1 สัปดาห์อาการจะเริ่มดีขึ้นมาก ถ้าพักนาน 2 สัปดาห์จะหายสนิท แต่ถ้าส่วนที่บาดเจ็บนั้นถูกใช้งานโดยไม่หยุดพัก ก็จะไม่หายสักที ดังนั้น หลังออกมาจากป่าแต่ละครั้ง ควรเว้นระยะห่าง 2 สัปดาห์ ก่อนเข้าป่าครั้งต่อไป  เพื่อรักษาตัวให้ร่างกายกลับมาเป็นปกติ

ภัยธรรมชาติ

เมื่อมีภัยธรรมชาติ ไม่ควรเข้าป่า ถ้าอยู่ในป่าก็ควรจะรีบออกจากป่า หรือ หาย้ายไปอยู่ในที่ปลอดภัย  เช่น ถ้าฝนตกทั้งวันทั้งคืนติดต่อกันหลายวัน มีโอกาสเจอน้ำป่าหรือดินถล่ม หรือ พื้นที่ๆที่ตามปกติมีลมพัดอ่อนหรือไม่มีลม แล้วจู่ๆเกิดพายุเข้า อาจได้รับอันตรายจากกิ่งไม้หล่นใส่ มีตัวอย่างวันที่ 2 ตค. 2552 มีลมพายุแรงพัดผ่านป่าเขาใหญ่ ลมแรงขนาดที่ทำให้ต้นหญ้าลู่เกือบติดพื้น ลมพัดออกจากช่องเขาแถวนครนายก แรงขนาดทำให้ใบไม้เปลี่ยนสี ซึ่งปกติแล้วเขาใหญ่จะมีแค่ลมพัดเอื่อยๆ พอหลังจากลมสงบ ผมเข้าไปเดินป่าแล้วพบว่า ต้นไม้ใหญ่น้อยหักขวางทางเต็มไปหมด บริเวณที่ต้นไม้ล้มจะปกคลุมด้วยกิ่งไม้และเถาวัลย์จนไม่มีทางเดินผ่านไป ได้เลย หลังจากผ่านไป 1 ปี ผมกลับเข้าไปดูบริเวณที่ต้นไม้ล้มอีกครั้ง ปรากฎว่า เริ่มมีทางเดินแคบๆที่สัตว์ทำไว้ให้

ฝนตก

การคาดคะเนว่า ฝนจะไม่ตก ทำได้ยาก เพราะ อาจมีเมฆฝนที่เรามองไม่เห็นถูกพัดมากลางดึก วิธีที่พอจะสังเกตุได้บ้างคือ ถ้าวันนั้นท้องฟ้ามีเมฆมาก ไม่ค่อยมีแดด โอกาสฝนตกตอนเย็นจะน้อย หรือถ้าฝนตอนเย็นเพิ่งหยุดตกไปใหม่ๆ จะไม่ค่อยมีโอกาสตกอีก

การคาดคะเนว่าฝนจะมีโอกาสตกนั้นง่าย คือ ถ้าเป็นหน้าร้อนหรือหน้าฝนที่กลางวันท้องฟ้าแจ่มใสแดดแรง ตอนเย็นมีโอกาสฝนตกสูง ยิ่งแดดแรงมาก ลมฝนยิ่งแรงมาก เพราะอากาศที่ร้อนทำให้อากาศยกตัวขึ้นสูง แล้วเมฆฝนจากทะเลพัดเข้าแทนที่ ถ้าขณะนั้นฟ้าครึ้มบวกกับถ้าอากาศร้อนอบอ้าวขึ้น แสดงว่าฝนใกล้จะตก ถ้าฟ้าใสให้ดูทิศทางลม เทียบกับทิศของทะเล เพราะลมทะเลเป็นตัวพาฝนมา อย่างในประเทศไทยในฤดูฝน ลมตะวันตกเฉียงใต้ จะพาฝนมาจากทะเลอันดามัน พอเริ่มเข้าฤดูหนาว ลมจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือจะพาความหนาวมาจากจีน ดังนั้น ถ้าเห็นฟ้าแลบหรือเมฆดำครึ้ม อยู่เหนือลม แสดงว่าอีกไม่ช้าฝนจะตก

วิธีสังเกตุที่พอจะเชื่อใจได้ว่า คืนนั้นฝนอาจจะไม่ตกคือ ช่วงนั้นไม่ใช่ฤดูฝน และ หลายวันที่ผ่านมา ในบริเวณนั้นไม่เคยมีฝนตกเลย และ คืนนั้นฟ้าใสมองเห็นดาว หรืออาจจะมีเมฆบ้างเล็กน้อย ถ้ามองไม่เห็นท้องฟ้า ลองเปิดรับสัญญาณ GPS ถ้าเครื่องรับสัญญาณได้ช้ากว่าปกติ แสดงว่าท้องฟ้ามีเมฆมาก ซึ่งเมฆมากเป็นสัญญาณว่ามีน้ำบนท้องฟ้ามาก จึงมีโอกาสเกิดเมฆฝนมาก เมฆฝนจะหนากว่าเมฆปกติ ยิ่งทำให้รับสัญญาณได้ช้ากว่าปกติ อย่างน้อยเท่าตัว การมีเมฆฝนไม่ได้แปลว่า ฝนจะตก แต่มีโอกาสตกมากกว่า และอาจจะตกปรอยๆหรือตกแรงแล้วแต่เมฆที่พัดมา
พยากรณ์อากาศของกรมอุตุไทย ยังเชื่อถือไม่ค่อยได้ บางทีหน้าฝนบอกว่า ฝนจะตกหนักทั้งสัปดาห์ แต่ถึงเวลาไม่ตกเลยสักหยด บางทีบอกจะหนาว แต่วันรุ่งขึ้นร้อน บางทีหน้าร้อนบอกสัปดาห์นี้อากาศแจ่มใส ไม่มีมรสุมเข้า แต่ผมเข้าป่าเจอฝนตกทุกวัน เช้าบ้าง กลางคืนบ้าง กรมอุตุจะแม่นยำก็ต่อเมื่อ มีพายุลูกใหญ่จากทะเลจีนใต้ พัดเข้ามาในแผ่นดิน เฉียดเข้าประเทศไทย พยากรณ์อากาศจะรู้ได้ว่า ฝนจะตกกี่วัน ช่วงที่พายุเข้า ฝนมักจะตกๆหยุดๆทั้งวันทั้งคืน แรงหรือเบาขึ้นอยู่กับระยะห่างจากศูนย์กลางพายุ แต่ถ้าพยากรณ์ว่าฝนจะตกโดยไม่มีพายุเข้า มีแค่ลมมรสุมประจำถิ่นอย่างในฤดูฝน ยังเชื่อถือไม่ได้ บางทีเป็นค่าเฉลี่ย ไม่ได้ตกทุกพื้นที่ และไม่ได้ตกทั้งวันทั้งคืน แต่มีโอกาสสูงที่จะตกช่วงบ่ายถึงค่ำ คือหลังบ่าย 2 โมงไปแล้ว ยิ่งเลยไปถึงช่วงเย็นๆค่ำๆ ยิ่งมีโอกาสตกมากขึ้นเรื่อยๆ ช่วงค่ำจะมีโอกาสตกมากที่สุด แต่ไม่ค่อยตกช่วงเช้าถึงกลางวัน เพราะเป็นช่วงที่แสงแดดเผา ทำให้ไอน้ำบนผืนดินระเหยขึ้นไป แล้วลมทะเลที่มีความชืันสูงพัดเข้ามาแทนที่ในแผ่นดิน นำพาฝนมาในช่วงบ่าย หรือไม่ก็เจอกับอากาศที่เย็นลงในช่วงเย็นถึงค่ำ ทำให้เมฆไม่สามารถเก็บความชื้นไว้ได้ นานๆครั้งจึงจะตกในช่วงกลางวัน อย่างเช่นในช่วงปลายฝนต้นหนาว ที่ลมหนาวจากจีนเริ่มพัดมาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่ภาคกลางของประเทศไทยขึ้นไป มีวิธีสังเกตุว่า หน้าฝนสิ้นสุดลงแล้ว คือ ฝนสั่งลา ในช่วงปลายฤดูฝน ฝนจะตกติดต่อกันทั้งวันทั้งคืน ต่อเนื่องกันหลายวัน อาจประมาณ 3 วัน หรือนานนับสัปดาห์

เทคโนโลยีที่ช่วยคาดคะเนได้ค่อนข้างแม่นยำ ว่าฝนจะตกหรือไม่ในระยะเวลาอันใกล้ คือโปรแกรม rain viewer บนโทรศัพท์มือถือ (และดูได้บนเวปไซต์ www.rainviewer.com) จะมีภาพบนแผนที่ ว่าปัจจุบันฝนกำลังตกตรงไหน มากหรือน้อย ถ้าดูเป็นระยะ จะรู้ได้ว่า เมฆฝนเคลื่อนตัวไปทางไหน โดยปกติแล้วเมฆฝนมักจะเคลื่อนตัวจากทะเลเข้ามาหาแผ่นดินใหญ่ แต่โปรแกรมยังไม่สามารถคาดคะเนได้อย่างแม่นยำว่า ฝนจะไม่ตก อาจมีลมหนาวพัดมาจากจีน ทำให้เมฆฝนอาจก่อตัวขึ้นเองได้ในเวลาไม่กี่ชั่วโมง

เมืองไทยฝนตกไม่แน่นอน บางทีซวยพายุเข้าตกทุกวันก็มี แม้แต่ในหน้าแล้ง ถ้าลมหนาวจากจีนพัดเข้ามาฝนก็ตก ถ้าลมจากจีนแผ่วฝนก็ตกอีก ถ้าภาคกลางมีลมเย็นจากจีนพัดมา ภาคใต้มักจะมีฝนตกหนัก

อันตรายจากการขึ้นภูเขาสูง

บนภูเขาสูงมีอากาศเบาบาง จึงมีออกซิเจนน้อยตามไปด้วย คนที่ขึ้นภูเขาสูง เวลาหายใจจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ทำให้มีระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง เมื่ออวัยวะต่างๆในร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะทำให้ป่วยง่าย

อาการที่เริ่มแสดงว่า ร่างกายเริ่มได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จะเหมือนกับอาการเวลาออกกำลังกายเหนื่อยๆ คือ หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว


ที่ความสูง 2500 เมตร
บนยอดดอยอินทนนท์
วัดด้วย pulse oximeter
คนที่ปรับตัวได้ จะมีระดับ
ออกซิเจนในเลือดเกิน 95%
เครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดคือ pulse oximeter สามารถยืนยันการป่วยได้เร็วกว่าการดูอาการ เพราะโรค altitude sickness ในระยะแรกจะซ่อนอยู่ ร่างกายจะค่อยๆถูกทำลายไปอย่างช้าๆ แต่ถ้าเรามีเครื่องมือตัวนี้แล้ว อย่างแรกที่เราจะสังเกตุเห็นเวลาร่างกายเริ่มขาดออกซิเจนคือ ขณะอยู่นิ่ง ออกซิเจนในเลือดจะลดลง ส่วนชีพจรจะสูงขึ้น (สูงเกิน 100 ครั้งต่อนาที ในขณะที่คนปกติที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย มีชีพจรขณะหยุดพักประมาณ 80 ครั้งต่อนาที ถ้านักกีฬาอาจจะต่ำกว่านี้) การเลือก pulse oximeter ที่ขายในท้องตลาด จะมีราคาต่างกัน เนื่องจากมีความแม่นยำ (% accuracy) และ ระบุระดับความสูงมากที่สุดที่ใช้ได้ (altitude) ต่างกัน เครื่องที่แม่นยำที่สุดในการใช้งานที่ระดับน้ำทะเล คือเครื่องตั้งโต๊ะที่ใช้ในโรงพยาบาล ส่วนเครื่องขนาดเล็กที่พกติดตัว จะมีความคลาดเคลื่อนจากเครื่องตั้งโต๊ะ 1-3% ขึ้นอยู่กับรุ่น เช่น ถ้าเครื่องตั้งโต๊ะในโรงพยาบาลอ่านได้ 96% เครื่องพกพาราคาถูก ที่มีความคลาดเคลื่อน +/- 3% อาจจะแสดงค่าตั้งแต่ 93-99% ก่อนใช้จึงควรเปรียบเทียบความคลาดเคลื่อนกับเครื่องในโรงพยาบาลก่อน โรงพยาบาลเอกชน จะมีเครื่องพวกนี้ตั้งไว้คัดกรองคนไข้ตรงทางเข้าเลยถ้าเป็นโรง พยาบาลของรัฐก็มี อยู่ตามห้องผู้ป่วยหนัก วิธีใช้ oximeter ต้องรู้ว่า เครื่องทำงานโดยวัดปริมาณแสง ที่ทะลุผ่านนิ้วมือจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง จึงควรหลีกหลี่ยงใช้งานภายใต้แสงจ้า หรือ ยาทาเล็บสีเข้ม เพราะจะทำให้อ่านค่าผิดพลาดได้

ที่ระดับน้ำทะเล ระดับออกซิเจนในเลือดของคนปกติ ขณะหยุดพัก ถ้าวัดด้วยเครื่องวัดระดับออกซิเจนในเลือดคือ pulse oximeter จะแสดงค่า 99% เพราะหน้าจอแสดงตัวเลขได้แค่ 2 หลัก แต่ถ้าออกกำลังกาย ระดับออกซิเจนในเลือดจะต่ำลง แต่ไม่เกิน 5% คืออยู่ระหว่าง 95-99% ซึ่งระดับออกซิเจนที่สูงกว่า 95% ยังถือว่าเป็นระดับปกติ

แต่เมื่อขึ้นภูเขาสูงจากระดับน้ำทะเลเกิน 1500 เมตร ภายในวันเดียว คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จะมีระดับออกซิเจนในเลือดขณะหยุดพัก ลดลงเหลือเพียง 90-95% จะเริ่มซึม อยากนั่ง ไม่มีแรงยืนหรือเดินไปไหน หน้าซีดมือซีด สักพักก็จะเริ่มปวดหัวตึ๊บๆ เนื่องจากมีออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่พอ ความคิดไม่ค่อยละเอียดเหมือนก่อนขึ้นเขา นั่นคืออาการเริ่มแรกของโรคแพ้ความสูง หรือ altitude sickness มีอาการหลักคือ ปวดหัว และเจ็บหน้าอกเวลาออกแรง บางคนเรียก mountain sickness

ถ้ายังฝืนขึ้นภูเขาสูงไปอีก ระดับออกซิเจนในเลือด จะยิ่งลดต่ำลงเรื่อยๆ ถ้าขึ้นถึงระดับ 2500 เมตร คนที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย จะมีระดับออกซิเจนในเลือดขณะหยุดพัก เหลือเพียง 80-90% ซึ่งระดับนี้ถือว่าเริ่มอันตรายแล้ว เพราะอวัยวะต่างๆในร่างกายจะเริ่มถูกทำลาย บางคนอาจมีระดับออกซิเจนขณะหยุดพักเหลือเพียง 70-80% ซึ่งเป็นระดับที่ทำลายอวัยวะในร่างกายอย่างรุนแรง อาการป่วยจะเริ่มปรากฎชัดคือ คลื่นใส้อาเจียน นอนไม่หลับ ท้องร่วงหรือท้องผูก ไอแห้งๆ ถ้าปลายนิ้วหรือตาขาวเปลี่ยนเป็นสีม่วง นั่นคืออันตรายแล้ว แต่เนื่องจากโรค altitude sickness จะเกิดขึ้นช้าๆ และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ คนส่วนใหญ่จึงมักจะป่วยบนเขาในตอนกลางคืน ซึ่งการเดินทางลงเขาทำได้ยาก ดังนั้น ถ้าขึ้นเขาแล้ว เริ่มรู้สึกไม่สบาย ไม่ว่าจะเป็นโรค altitude sickness หรือโรคอะไรก็ตาม ทางแก้ที่ดีที่สุดคือ รีบลงจากเขาก่อนค่ำ

ส่วนคนที่ขึ้นลงเขาบ่อยๆ หรือออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายจะปรับตัวได้เร็วกว่าคนทั่วไปที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย ถึงแม้ว่าจะขึ้นภูเขาสูงถึงระดับ 2500 เมตร ภายในวันเดียว ก็ยังวิ่งเล่นได้อยู่ เพราะ จะยังคงมีระดับออกซิเจนในเลือด ขณะหยุดพัก สูงกว่า 95% แต่การออกกำลังกายบนที่สูง เช่น เดินขึ้นเขา อาจทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลงเหลือเพียง 90-95% ซึ่งทำให้ปวดหัวได้เช่นกัน

เมื่อระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลง ร่างกายจะมีกระบวนการปรับตัว ด้วยการพยายามสร้างเม็ดเลือดแดงกับฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น เมื่อมีฮีโมโกลบินเพิ่มขึ้น ก็จะมีตัวพาออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้มากขึ้น แต่กระบวนการปรับตัวนี้จะใช้เวลาอย่างน้อย 1-3 วัน หลังจากร่างกายปรับตัวได้แล้ว ระดับออกซิเจนในเลือด บนเขาขณะหยุดพักจะกลับมาเป็นปกติ เท่ากับที่ตอนอยู่ที่ระดับน้ำทะเล คือสูงกว่า 95%

วิธีที่ดีที่สุดในการปรับตัวเข้ากับความสูงคือ ลงมาพักที่ต่ำลงมา ตามหลักของคนปีนเขาว่า "climb high, sleep low" ความสูงที่เริ่มปลอดภัยคือ ต่ำกว่า 1500 เมตร ยิ่งลงมาต่ำเท่าไหร่ อาการป่วยก็จะยิ่งหายเร็วขึ้น ถ้าลงมาอยู่ตีนเขาแถวพื้นราบ อาการป่วยจะหายไปภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ถ้าขึ้นเขาครั้งแรกแล้วป่วย พอลงมาพักแถวตีนเขาจนหายป่วย แล้วกลับขึ้นเขาไปใหม่ ก็มักจะไม่ป่วยเหมือนเดิมแล้ว คนที่ขึ้นภูเขาสูง จึงใช้วิธีนี้ค่อยๆไต่ความสูงขึ้นไปเรื่อยๆ

เวลาป่วยอยู่บนเขา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้ป่วยเป็นโรค altitude sickness แต่ถ้าติดเชื้อเพราะโดนแมลงกัดหรือเป็นหวัด จะทำให้ร่างกายยิ่งต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น จะยิ่งทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำลงไปอีก ถ้าฝืนอยู่บนเขา จะยิ่งทำให้อาการป่วยทรุดลง

วิธีป้องกันโรค altitude sickness คือ รู้วิธีปรับสภาพร่างกายให้ถูกต้อง ด้วยการอย่าขึ้นที่สูงเร็วเกินไป ถ้าเริ่มออกอาการหอบ และระดับออกซิเจนในเลือดขณะออกแรง เริ่มต่ำกว่า 95% ควรจะพักกลางทางอย่างน้อย 1 คืน เพื่อปรับสภาพร่างกาย ถ้าขึ้นเขาสูงกว่านี้ ก็ต้องพักถี่ขึ้น สำหรับคนที่ขึ้นเขาเป็นภารกิจสำคัญ ก่อนขึ้นเขาควรเตรียมตัวดังนี้
งานวิจัยพบว่า เวลาขึ้นเขาสูง ร่างกายจะสร้างสารพิษที่เรียกว่า อนุมูลอิสระ ขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เป็นสาเหตุให้เกิดโรค altitude sickness การกินสารต้านอนุมูลอิสระ (antioxidant) อย่างเช่น วิตามินซี (วันละ 500 มก.), กลูต้าไธโอน (อมใต้ลิ้น) ฯลฯ จะช่วยลดโอกาสเกิด altitude sickness ได้ โดยร่างกายจะใช้วิตามินซี ไปช่วยสร้างกลูต้าไธโอน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระตัวหลักในร่างกาย นอกจากนี้ ควรกินโปรตีนจากสัตว์ให้เพียงพออยู่เสมอ เพราะร่างกายสามารถใช้โปรตีนไปสร้างสารต้านพิษหลายตัว อย่างเช่น กลูต้าไธโอน, ไนตริกออกไซด์, กรดยูริก ฯลฯ แต่แพทย์แผนปัจจุบันไม่รู้วิธีรักษาด้วยสารธรรมชาติแบบนี้ เพราะพวกเขาถูกทุนนิยมเข้าครอบงำ จึงรู้จักแต่การใช้ยากดอาการที่ปลายเหตุ อย่างเช่น สเตรอยด์ ซึ่งเป็นยาที่เราควรหลีกเลี่ยง เพราะมันไม่ใช่ยารักษาโรค มันเพียงแค่หลอกร่างกายไว้ชั่วคราว ไม่ให้แสดงอาการป่วยออกมาแค่นั้นเอง พอหมดฤทธิ์ยาแล้ว อาการป่วยจะหนักกว่าเดิม

พืชมีพิษ

พืชมีพิษในป่า คือพืชที่สัมผัสแล้วรู้สึกคัน จะมีขน หรือ มีน้ำยาง ถ้าเผลอไปโดนเข้า ให้ทายาแก้แพ้ พืชมีพิษที่พบในเมืองไทย มีดังนี้
พืชที่มีขน มองด้วยตาเปล่า จะไม่เห็นขนของมัน ดังนั้น  วิธีป้องกันพืชมีพิษเวลาเดินป่าคือ สวมเสื้อผ้าปิดมิดชิดตั้งแต่หัวจรดเท้า รวมทั้งสวมถุงมือด้วย และ พยายามอย่าไปสัมผัสกับใบไม้ และ ยางไม้

โรคระบาด

พื้นที่ตรงกลางของประเทศไทยปลอดภัยจากโรคร้าย  โรคร้ายจะอยู่แถบชายแดน การเดินทางไปต่างประเทศ ควรจะศึกษาเรื่องโรคระบาดของประเทศนั้น และพื้นที่ที่ระบาด แล้วหาทางฉีดวัคซีนป้องกันไว้ โดยเริ่มต้นจากเวปไซต์ cdc.gov และ เวปไซต์เรื่องโรคติดต่อของประเทศนั้น

ถ้าโรคใดไม่มีวัคซีนป้องกัน เวลากลับมาแล้วป่วย จะได้สันนิษฐานโรคได้ เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้เป็นมาลาเรียและ scrub typhys ไปโรงพยาบาล แต่แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัด เขากลับมาพักแล้วยังไม่หายป่วย อาทิตย์ต่อมาจึงกลับไปใหม่ ไปเจอแพทย์คนใหม่ที่มีประสบการณ์สูงกว่า จึงวินิจฉัยได้ถูกโรค

เด็ก

อย่าพาเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบไปเดินป่า เพราะเด็กยังมีกระดูกคอไม่แข็งแรง ถ้าโดนเขย่า มีโอกาสเป็นโรค shaken baby syndrome ทำให้เสียชีวิตหรือพิการไปตลอดชีวิต และ เด็กไม่ควรโดนแดดนานๆ เพราะ ผิวหนังของเด็ก บอบบางกว่าผู้ใหญ่ 2-3 เท่า ผิวหนังของเด็กยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อแสงแดดจนกว่าจะอายุครบ 3 ขวบ และ จะสร้างภูมิคุ้มกันแสงแดดสมบูรณ์เมื่ออายุครบ 10 ขวบ เช่นเดียวกับ สมองของเด็กช่วง 1-3 ขวบ อยู่ระหว่างสร้างเซลล์สมอง และ สมองจะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุครบ 10 ขวบ

สัตว์นักล่าหลายชนิด ที่ไม่สามารถทำร้ายผู้ใหญ่ได้ สามารถทำร้ายเด็กได้ ตั้งแต่เสือ หมาไน หรือแม้แต่งูเหลือม

ถ้าจะพาเด็กไปเดินป่า ควรรอให้อย่างน้อยอายุ 10 ขวบ ที่จริงแล้ว ควรจะรอให้เป็นผู้ใหญ่ก่อน คืออายุเกิน 18 ปี เพราะ ภูมิคุ้มกันของเด็ก จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุ 18 ปีไปแล้ว การเข้าป่ามีโอกาสโดนแมลงกัด ติดเชื้อได้ง่าย เด็กที่ติดเชื้อมาลาเรีย มีโอกาสชักมากกว่าผู้ใหญ่ และวิธีรักษาโรคของเด็ก มักจะไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ เช่น ผลเลือดที่วัดได้จากในห้องแล็บของเด็ก จะใช้ค่าอ้างอิงแตกต่างจากผู้ใหญ่ บางค่าก็ยังไม่มีมาตรฐานวัดที่แน่ชัด ถ้าเด็กเล็กมากจะใช้เข็มเจาะที่หลอดเลือดลำบาก ต้องใช้วิธีอื่น เช่น เจาะที่มือหรือที่นิ้ว ถ้าเด็กทารกก็ต้องเจาะที่ส้นเท้า

นอกจากเด็กแล้ว หญิงมีครรภ์ไม่สมควรไปเข้าป่าเช่นกัน เพราะถ้าติดเชื้อแล้วจะป่วยหนักกว่าคนปกติ ทั้งเชื้อโรคและยาจะมีอันตรายกับทารกในครรภ์ได้ อย่างเช่น ยาปฎิชีวนะบางตัว ทำให้มีโอกาสแท้งลูก เคยมีรายงานหญิง ตั้งครรภ์ทางภาคเหนือของไทย ที่ติดเชื้อสครับไทฟัส มีไข้มา 2 สัปดาห์ แล้วได้รับยาปฎิชีวนะ คลอแรมเฟนิคอล เพียง 2 วัน ปรากฎว่า ทารกคลอดก่อนกำหนด มีน้ำหนักไม่ถึงกิโล และเด็กเสียชีวิตภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังคลอด

ผี

เวลาไปนอนที่ใหม่เป็นวันแรก คนที่สมาธิดี อาจเห็นผีมาปรากฎให้เห็นเพื่อขอส่วนบุญ ตั้งแต่สัมปะเวสี จนถึงเทวดา หากเราแผ่ส่วนบุญให้แล้ว วันต่อมาจะไม่เจออีก

ในป่าอาจมีปอปที่คนเลี้ยงไว้ นอกจากนี้ัยังมีผีป่าแท้ๆ เช่น โขมดดงหรือผีโพงที่อาศัยกินสัตว์เล็กสัตว์น้อย และอาจทำร้ายคนด้วย วิธีป้องกันตัวจากวิญญาณร้ายก็คือ ให้ภาวนา พุท-โธ และนึกถึงพระพุทธรูปไว้ตลอดเวลา เพราะพระพุทธรูปคือตัวแทนของพระพุทธเจ้า คนที่นึกถึงพระพุทธรูปจะได้รับความคุ้มครองจากพระพุทธเจ้า พวกผีและสัตว์ร้ายในป่ากลัวพระพุทธเจ้ายิ่งนัก เมื่อภาวนาแล้วเทวดาก็จะมาช่วยคุ้มครองด้วย และถ้ายังกลัวอยู่ อาจขอความคุ้มครองจากเจ้าที่เพิ่มอีก เจ้าที่เจ้าทางเจ้าเป่าเจ้าเขา สามารถช่วยได้มาก แค่นึกถึงเจ้าที่ในละแวกนั้นทั้งที่รู้จักและไม่รู้จัก

กลางคืนได้ยินเสียงอะไรห้ามทัก ไม่ว่าเสียงเพื่อนมาเรียก เสียงคนร้องของความช่วยเหลือ หรือ เสียงกุกกัก เพราะเสียงนั้น อาจเป็นเสือสมิง  หรือ คุณไสยที่พวกหมอผีปล่อยออกมาแบบลมเพลมพัด ต่อให้มีของดีแค่ไหนก็คุ้มตัวไม่อยู่ แต่ถ้าไม่ทัก ผีจะทำอะไรเราไม่ได้ ดังนั้น เวลาได้ยินเสียง ควรนอนฟังเสียงส่องไฟดูให้แน่ใจ ก่อนที่จะออกไปพิสูจน์หาที่มาของเสียง ให้ภาวนา พุท-โธ ขอความคุ้มครองจากพระพุทธเจ้าก่อน ถ้าเป็นสิ่งไม่ดีจะหายไป อีกคาถาที่ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตราย จากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ตั้งแต่คุณไสยไปถึงสัตว์ร้าย คือ ไตรสรณคมน์

การล่องแพ

การล่องแพไม้ไผ่อันตราย เพราะ เวลาเจอก้อนหินตามแก่งแล้ว แพมักจะขวางน้ำ ทำให้พลิกคว่ำ คนที่อยู่บนแพ ไถลตกน้ำไปติดอยู่ใต้แพ ขึ้นมาไม่ได้ เพราะว่าด้านข้างเป็นก้อนหินหมด จะจมน้ำตายได้  แม้แต่คนที่มีประสบการณ์ล่องแพไม้ไผ่มามาก ก็ยังจมอยู่ใต้แพมาแล้ว หรือ แพอาจชนก้อนหินแตก พอแพแตกแล้ว คนถ่อจะกระเด็นตกน้ำลงไปในด้านหน้าแพ ในขณะที่ไม้ไผ่ที่หลุดออกจากแพ จะไหลตามน้ำ มาเสียบคนที่อยู่ในน้ำ หากแพแตกแล้วต้องหยุดพักตรงนั้นเพื่อซ่อมแพ ด้วยเหตุนี้ ปัจจุบัน จึงเปลี่ยนมาใช้เรือยางสูบลมกัน เวลาชนแก่งแล้วเรือจะกระเด้งกลับ แต่แพยางก็ยังมีความเสี่ยง เคยมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้แก่งกระจาน นั่งแพยางไปเจอแองน้ำวน แพยางถูกดูดคว่ำลง ในช่วงฤดูฝนซึ่งน้ำแรง ทำให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งถูกน้ำพัดหายไป ในขณะที่อีก 3 คนที่เหลือรอดมาได้

การล่องแพพอจะทำได้ในบริเวณที่น้ำไม่แรง อย่างเช่น ในช่วงหน้าแล้ง ที่น้ำสูงไม่เกินเอว

คนที่ล่องแพไม้ไผ่เก่งๆ จะต้องใช้ 2 คนช่วยกัน คนหน้าจะสามารถหยุดแพได้ก่อนชนก้อนหิน เมื่อแพหยุดแล้ว คนหลังจะต้องคอยหมุนแพให้ลงไปตามแก่งที่คดเคี้ยว อย่าให้แพขวางน้ำ

การล่องแพในสถานที่ๆไม่คุ้นเคย เมื่อถึงแก่ง ควรจะจอดแพเข้าริมฝั่ง ลงจากแพ ลากแพให้พ้นแก่งไปก่อน แล้วจึงค่อยขึ้นแพใหม่ อย่าฝืนล่องแก่งไป หรือ พอเจอแก่ง ต้องจอด แล้วถอดแพออก ให้ไม้ไผ่ลอยไปตามน้ำ แล้วไปตามเก็บมาประกอบใหม่

การล่องแพผ่านแก่ง ควรมีเป้สะพายหลังใส่สัมภาระจำเป็นติดตัวไว้เสมอ เผื่อเวลาแพแตก แล้วต้องแยกไปคนเดียว จะได้เอาตัวรอดได้ มีหลายคนที่แพแตกแล้วไม่มีอะไรติดตัวเลย แม้แต่เปลสนาม ทำให้ต้องอยู่ในป่าอย่างทรมานเจียนตาย แถามถ้าตกน้ำไป เป้สะพายหลังยังช่วยเป็นห่วงยางชั่วคราวด้วย

ถ้ำ

อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดในการเข้าถ้ำคือ ไฟฉาย เพราะในถ้ำมืดมาก ถ้าไฟดับจะเดินต่อไม่ได้เลย มองไม่เห็นแม้แต่แขนตัวเอง ดังนั้น ถึงแม้จะเดินป่าแบบไปเช้าเย็นกลับ ก็ควรจะมีไฟฉายติดกระเป๋าไว้ เผื่อต้องค้างคืนกลางทาง หรือต้องเข้าถ้ำเพื่อสำรวจตื้นๆ ไฟฉายติดเป้แบบไปเช้าเย็นกลับ มักจะไม่ค่อยได้ใช้ จึงควรใช้ไฟฉายที่ใช้ถ่านร่วมกับอุปกรณ์อื่นได้ การเข้าถ้ำไม่ควรใช้เทียนหรือไม่ขีดไฟ เพราะ จะทำให้อากาศเลวร้ายลง

ถ้ำตามธรรมชาติส่วนใหญ่จะเป็นหินปูน มีหินงอกหินย้อย และมีรอยแยกมากมาย จากการกัดเซาะของน้ำฝนผสมกับกรดคาร์บอนิกจากซากพืชซากสัตว์ ทำให้ถ้ำมีรูพรุน ภายในถ้ำจึงไม่ค่อยห่วงเรื่องขาดอากาศหายใจ เพราะมีอากาศหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาจากความแตกต่างของสภาพอากาศภายใน กับภายนอกทั้งอุณภูมิและความดัน แต่อาจมีบางจุดที่แคบและตัน เมื่อรวมกับลมหายใจจากคน อาจทำให้ออกซิเจนลดลง หากออกซิเจนไม่พอหายใจ จะหมดสติ เสียชีวิตได้ การเข้าถ้ำจึงต้องคอยสังเกตุตัวเอง ถ้าต้องหายใจแรงขึ้น รู้สึกเหนื่อยเหมือนเพิ่งออกกำลังกายเสร็จ ปวดหัว เป็นสัญญาณเตือนว่าอากาศเลวร้ายลง พิสูจน์ได้ด้วยการจุดไฟแช็ค อากาศปกติมีออกซิเจน 21% ถ้าออกซิเจนในอากาศน้อยกว่า 15% ไฟแช็คบิวเทนจะจุดติดแล้วดับ เช่นเดียวกับเทียน ซึ่งจะดับที่ออกซิเจนในอากาศน้อยกว่า 15% ในขณะที่คนยังอยู่รอดได้จนถึงระดับออกซิเจน 10% ซึ่งที่ระดับนี้ ไฟแช็คบิวเทนจะจุดไม่ติด มีประกายไฟ แต่ไม่มีเปลวไฟ ถ้าเป็นนักเที่ยวถ้ำมืออาชีพจะใช้เครื่องวัดออกซิเจนแบบพกพา เมื่อเกิดกรณีฉุกเฉิน ออกซิเจนกระป๋อง จะช่วยชีวิตได้ อากาศในถ้ำปกติจะค่อนข้างสะอาด ยกเว้นตรงที่มีมูลค้างคาว จะมีพวกก๊าซที่เกิดจากการหมักหมมของซากสัตว์อย่างเช่น แอมโมเนีย เมื่อได้กลิ่นแรงๆจึงควรหลีกเลี่ยงบริเวณนั้น หรือ มีเชื้อราที่ขึ้นบนมูลค้างคาว ซึ่งป้องกันด้วยหน้ากากอนามัย

การสำรวจถ้ำแบบลึกๆ จำเป็นต้องมีเชือกยาวๆ กับไฟฉายสำรองไป 2-3 ดวง เพราะถ้าไฟดับหมายถึงชีวิตดับ วิธีกันหลงในถ้ำ ที่ชาวบ้านและผู้เชี่ยวชาญเรื่องถ้ำใช้กันคือ ใช้เชือกขึงจากปากถ้ำเข้าไป ถ้าหลงก็ตามเชือกกลับมา เมื่อรูู้ความยาวของถ้ำแล้ว จะคำนวณได้ว่าต้องใช้เชือกความยาวเท่าไหร่ ถ้าเชือกไม่พออาจจะขึงเฉพาะจุดที่เสี่ยงหลงทาง จะใช้ด้ายเย็บผ้าก็ได้ เชือกเส้นใหญ่เหมาะสำหรับนำทางใช้เกาะในจุดที่ทรงตัวลำบาก ถ้าไม่มีเชือกอาจขีดทำเครื่องหมายบนผนังถ้ำแทน แต่ค่อนข้างเสี่ยงมากที่จะกลับมาหาสัญลักษณ์ไม่เจอ เพราะในถ้ำมืดบวกกับอาจมีซอกหลืบมาก บางถ้ำจะยาวสิบกว่ากิโลเมตร การจะเข้าไปให้สุดถ้ำ มักจำเป็นต้องเข้าไปค้างคืน เพราะในถ้ำทางไม่เรียบ เดินได้ช้าประมาณ 1 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อากาศในถ้ำจะเย็นกว่าข้างนอกจึงจำเป็นต้องพกเครื่องกันหนาวให้เพียงพอ เพราะไม่สามารถก่อกองไฟได้

อุปกรณ์อีกอย่างที่ควรใช้ในการสำรวจถ้ำคือ หมวกกันกระแทก เวลาเข้าถ้ำควรใส่ตลอดเวลา ถึงแม้จะเป็นเส้นทางง่ายๆ ทั้งนี้เพื่อป้องกันหัวไปกระแทกกับหินงอกหินย้อย หรือลื่นหัวกระแทกก้อนหิน หรือก้อนหินหล่นใส่หัว ถึงแม้อุบัติเหตุในถ้ำจะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เกิดแล้วหนัก ยิ่งถ้าเข้าไปในถ้ำลึกๆแล้วเกิดอุบัติเหตุ จะต้องใช้เวลานานมากกว่าจะออกมาได้ แถมยังต้องต่อรถเข้าไปในเขตชุมชนอีก อาจทำให้เสียเลือดจนตายได้ ถ้าไม่มีหมวกกันน็อค อย่างน้อยหมวกผ้าจะช่วยป้องกันหัวโดนทิ่มได้ระดับหนึ่ง ในขณะที่เป้สะพายหลังจะช่วยป้องกันหัวกระแทกเวลาลื่นล้มหงายท้องได้ระดับ หนึ่ง

ถ้ำที่ควรระวังคือ ถ้ำที่มีน้ำผ่าน ควรไปในหน้าแล้ง เพราะในหน้าฝนระดับน้ำจะสูงขึ้น จุดที่พื้นและเพดานถ้ำอยู่ต่ำ จะถูกน้ำท่วมจนมิดเพดาน ปิดทางเข้าออก ช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกัน น้ำจะขึ้นเร็วมากจนออกมาไม่ทัน มีเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ในช่วงปลายเดือน มิย.2561 ซึ่งเป็นช่วงที่ทางภาคเหนือของไทยเริ่มมีฝนตกมาก กลุ่มเด็กมัธยมต้นเข้าไปในถ้ำตอนบ่าย แล้วตอนเย็นกลับออกมาไม่ได้ เพราะน้ำป่าไหลมาท่วมจนถึงเพดานถ้ำ แม้แต่นักดำน้ำเก่งๆยังเข้าไปช่วยไม่ได้ เพราะต้องว่ายทวนน้ำไป ในขณะที่น้ำมาแรงและขุ่นมาก จนออกซิเจนในถังไม่พอฝ่าไป ต้องขึงเชือกนำทางไป แล้วรอให้น้ำลดก่อนจึงฝ่าเข้าไปช่วยได้ เมื่อเข้าไปแล้วได้พบว่าออกซิเจนบริเวณที่เด็กอยู่เหลือเพียง 15% มีทหารหน่วยซีลท่านหนึ่งเข้าไป โดยไม่ได้ใส่หมวกกันกระแทก แล้วต้องออกมาเย็บแผลบนหัวหลายเข็ม โชคดีมีพยาบาลรออยู่หน้าถ้ำแล้ว แต่ถ้าจำเป็นต้องเข้าถ้ำน้ำลอดในช่วงหน้าฝน ควรรู้วิธีเอาตัวรอด โดยดูว่าน้ำไหลมาทางไหน ดูจากระดับคราบน้ำและดินโคลนในถ้ำว่า น้ำท่วมถึงแค่ไหน ถ้าน้ำในถ้ำขุ่นไม่ควรเข้าไป และอาจนัดแนะกับเจ้าหน้าที่ด้านนอกให้เข้ามาบอกเวลามีฝนตกหนักติดต่อกัน จะได้รีบออกจากถ้ำ

ทำอย่างไรเมื่อหลงป่า

เส้นทางเดินในป่า อาจมีทางแยก ทางเดินปกติซึ่งเป็นทางที่คนหรือสัตว์ใหญ่เดิน จะโล่ง เดินสบาย ส่วนทางที่ไม่มีใครเดิน จะรก มีกิ่งไม้และเถาวัลย์ขวางทางอยู่ ถ้าจะเดินผ่านไปต้องแหวกไป ทางเดินไม่ชัด ขาดหายไปเป็นช่วงๆ ทางเดินมีใบไม้ปกคลุมหนา เมื่อเจอสภาพเช่นนี้ สันนิษฐานได้ว่า มาผิดเส้นทาง

คนส่วนใหญ่เมื่อหลงป่า โดยที่ไม่รู้วิธีเอาตัวรอดในป่าเลย จะเจ็บตัวมาก เหนื่อยมาก และ กลัวมาก เพราะ ไม่มีอาหารกิน หกล้มบ่อย เดินวนอยู่ในป่า ต้องนอนกับพื้นแล้วโดนสัตว์เลื้อยคลานกัด หรือนอนโดยไม่มีมุ้งแล้วโดนแมลงกัด กลางคืนก็ต้องหวาดกลัวกับเสียงสัตว์ที่อยู่ใกล้จนไม่ได้นอน ต้องนอนตากฝน ต้องเดินจนเท้าเป็นแผล ในที่สุด จะเริ่มเพ้อ เริ่มเห็นภาพลวงตา บางคนอยากฆ่าตัวตาย เพราะรู้สึกว่าเป็นวิธีเดียวที่จะได้พักผ่อน

ความผิดพลาดในการเดินทาง เกิดจากความไม่รู้ ไม่เห็น แค่พลาดนิดเดียวในป่า ก็อาจถึงตายได้ เครื่องบินตกใน ป่าส่วนใหญ่เพราะโดนเมฆบัง จึงขับไปชนภูเขา นักปีนเขาหิมะส่วนใหญ่ตายเพราะพายุหิมะทำให้มองไม่เห็นทาง คนหลงป่าตายเพราะป่าทึบทำให้มองไม่เห็นทาง มองไปทางไหนก็เหมือนกันหมด ดังนั้น กฎข้อแรกของการหลงป่าคือ อย่าทำในสิ่งที่ตัวเองไม่รู้ หรือมองไม่เห็น

สำหรับคนที่มีความรู้เป็นอย่างดี ถึงหลงป่าก็สามารถหาทางออกมาได้ คนที่มี gps เก็บ track ไว้ตลอดเวลาก็สามารถเดินย้อนรอย กลับออกมาจนถึงเส้นทางที่ถูกต้องได้ ถ้าดินเละก็สามารถแกะรอยเท้าตนเองกลับออกมาได้ แต่ถ้าไม่มีตัวช่วยอะไรเลย แถมยังไม่เคยสนใจเรื่องทิศทาง ไม่รู้จักภูมิประเทศแถวนั้นเลย ถอยหลังกลับก็ยังหลง ถ้าถามว่า คนประเภทนี้จะเอาตัวรอดออกจากป่าอย่างไร คำตอบคือ สายไปแล้ว ทางรอดคือ หยุดรออยู่ตรงนั้น รอเพื่อนมารับ หรือ ยกมือไหว้ของความช่วยเหลือจากเจ้าที่เจ้าทาง อย่าพยายามเดินต่อ เพราะอาจจะหลงเข้าไปลึก จนไม่มีใครตามเจอ ระหว่างที่รอ เรื่องที่สำคัญที่สุด 2 เรื่องคือ
  1. ที่พัก ที่พักที่ดีที่สุด คือ ตรงจุดที่อยู่ เพื่อจะมีคนมาตามหาได้ง่าย และควรจะปลอดภัยจากสัตว์
  2. น้ำ ถ้าน้ำใกล้หมด จำเป็นต้องไปหาน้ำ ถ้ามีเพื่อนอยู่ด้วย อย่าแยกกันไป เพราะ อาจจะกลับมาหากันไม่เจอ เคยมีสามีภรรยาคู่หนึ่ง หลงป่าไปแล้วภรรยาเท้าแพลง สามีจึงอาสาไปตามคนมาช่วย แต่กลับมาถึง ก็หาตำแหน่งเดิมที่ภรรยาอยู่ไม่เจอ ต้องค้นหานานถึง 6 วัน จึงพบศพของภรรยา
ข้อควรระวังเวลาหลงป่า
เมื่อมีคนหายในป่า แน่นอนว่า ย่อมต้องมีคนไปตามหา อาจจะเป็นเพื่อนในคณะเดียวกัน หรือเจ้าหน้าที่ป่าไม้ หรือแม้แต่ชาวบ้านแถวนั้น ที่รู้ข่าว เพราะฉะนั้น เวลาเดินไปไหน ควรทำหลักฐานทิ้งไว้ระหว่างทาง จะช่วยให้ผู้ที่มาตามหา ตามรอยไปเจอได้ง่าย หลักฐานอาจเป็นถุงขนม หรือ ตัดเศษผ้า หรืออะไรก็ได้ เพื่อที่คนที่มาตามหาเข้าใจได้ง่ายว่าเป็นของเรา พยายามวางในที่ๆสังเกตุได้ง่าย เช่น บนก้อนหินกลางลำธาร  หรือเสียบไว้ตามกิ่งไม้ในระดับต่ำกว่าสายตาเล็กน้อย ถ้ามีมีด จะใช้มีดตัดกิ่งไม้เล็กๆ ให้ใบไม้หงายขึ้น ไปตลอดทาง จะเป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนมาก แต่ถ้าอยู่กับที่ ให้ก่อกองไฟไว้ ผู้ที่เดินมาแถวนั้นแล้วเห็นควันไฟ จะรู้ได้ทันที ถ้ามีการเขียนบันทึกไว้ให้เขียนว่ากำลังจะเดินไปหาน้ำทางทิศไหน พร้อมกับลงวันที่และชื่อจริงไว้ด้วย ผู้ที่มาตามหาจะได้จำกัดพื้นที่ค้นหาลง และจะได้รู้ว่าคนเขียนเป็นใคร เพราะ ผู้ที่มาค้นหาจะต้องมีการสอบถามข้อมูลจากญาติมาก่อนแล้ว หรืออย่างน้อยผู้ที่มาเจอก็จะนำข้อมูลไปตามสอบถามต่อไปได้ แต่ถ้าหลงป่าในช่วงวันหยุดเทศกาล อาจจะไม่มีใครมาค้นหา เพราะทุกคนหยุดกันหมด แม้แต่ชาวบ้านก็หยุดทำไร่ทำสวนตามเขาไปด้วย ถึงแม้เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะยังอยู่ แต่การประสานงานกับหน่วยงานราชการอื่นๆก็ทำไม่ได้ การค้นหาจะทำได้เต็มที่ในวันเริ่มต้นทำงาน มีตัวอย่างของ กลุ่มนักท่องเที่ยวชาย 1 หญิง 2 ที่หลงป่าแก่งกระจาน ช่วงสงกรานต์ปี 56 หลงไปจากเคยูแค้มป์ตั้งแต่วันที่ 14 แต่เจ้าหน้าที่ป่าไม้ค้นหาเจอวันที่ 17 ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานวันแรก เนื่องจากเห็นรถจอดอยู่ จึงติดต่อกรมทะเบียนหาชื่อเจ้าของทะเบียนรถ แล้วโทรไปที่บ้านเจ้าของรถ พบว่ายังไม่กลับมาทำงานกัน จึงเริ่มออกค้นหา ทีมค้นหาไปพบบันทึก ที่น้ำตกทอทิพย์ลงวันที่ 15 เขียนบอกว่ากำลังไปหาน้ำฝั่งตรงข้ามน้ำตก จึงรู้ได้ทันทีว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ต้องอยู่แถวๆ แม่น้ำเพชร ซึ่งห่างจากน้ำตกทอทิพย์ออกไปไม่ไกล ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะเดินตามลำน้ำเพชรไปไกลถึงขุนกระเวน ซึ่งเป็นจุดที่ลำห้วยจากเขาพะเนินทุ่งไหลมาชนกับแม่น้ำเพชร แต่ก็สามารถพบตัวได้ในเวลาอันรวดเร็ว เพราะ พวกเขาอยู่ตรงที่โล่งริมแม่น้ำซึ่งเป็นหาดทราย ฮ.ซึ่งบินตามหาอยู่ตามแม่น้ำจึงมองเห็น

ปัญหาหลักของการเดินป่าคือ หลงป่า และ อดน้ำ ทางออก จากป่าที่ปลอดภัยที่สุด คือ หาลำธาร แล้วเดินตามลำธารออกมา คนส่วนใหญ่ที่เคยหลงป่า มีชีวิตรอดได้ด้วยวิธีนี้ เพราะ ตามลำธารมักจะเจอคนได้ง่ายที่สุด ชาวบ้านมักจะชอบเข้ามาหาปลาตามน้ำตก ถ้ายังไม่เจอคน ตามลำธารไปเรื่อยๆ ในที่สุดจะต้องเจอบ้านคน ถ้าเดินไม่ไหว ยังอาศัยทำแพหรือเกาะซุงลอยคอไปได้ ทีมค้นหามักจะเดินตามลำธาร เพราะเข้าใจว่า คนหลงป่าจะลงมาหาแหล่งน้ำ ถึงแม้ว่าเราจะอยู่กับที่ ทีมค้นหาก็สามารถจะเจอได้ในเวลาแค่ไม่กี่วัน จริงๆแล้ววันเดียวก็เจอแล้ว ถ้า ฮ.มาตามหา มักจะเริ่มหาตามลำธารสายใหญ่ก่อน ริมลำธารจะเป็นที่โล่งพอจะก่อไฟให้มองเห็นควันไฟได้ ที่จริงแล้วถ้าลำธารกว้างพอสมควร แค่ใส่เสื้อผ้าสีสด ยืนโบกมืออยู่ริมลำน้ำ คนที่อยู่บนเฮลิคอปเตอร์ก็มองเห็นแล้ว ยิ่งอยู่กลางลำธารยิ่งเห็นง่าย คนที่หลงป่าแล้วเครื่องบินมาตามหาไม่เจอ ก็เพราะต้นไม้บัง ถึงแม้จะตะโกนหรือปีนไปอยู่บนยอดไม้ เฮลิคอปเตอร์ก็ยังมองไม่เห็น บางคนที่รอดมาได้ก็เพราะยิงปืนหลายๆนัด แล้วเครื่องบินได้ยินเสียงปืน ถ้าอยู่บนเขา พยายามลงที่ต่ำ จะเจอลำธาร ถ้าหุบตื้นๆ อาจจะไม่มีลำธาร แถมยังรก แต่ถ้าหุบลึกๆ ชันๆ มักจะมีลำธาร การเดินตามลำธารอาจไม่ใช่วิธีที่เร็วที่สุด เพราะบางครั้ง ถนนอาจอยู่ใกล้ลำธารแค่ไม่กี่ร้อยเมตร แต่ลำธารอาจเลาะไปตามถนนไกลหลายกิโลเมตร กว่าจะตัดกัน การเดินตามลำธารอาจไม่ใช่วิธีที่สบายที่สุด เพราะอาจต้องไต่ไปตามหน้าผาชัน แต่ถ้าเราไม่รู้ทาง เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น การเดินตามลำธาร อาจต้องลุยน้ำไปตลอดทาง หรือ ว่ายน้ำบ้าง ถือว่าเป็นเรื่องปกติ การแช่น้ำจะช่วยให้ตัวเย็น ทำให้ไม่เสียเหงื่อมากเกินไป  ถึงแม้ว่าน้ำจะโค้งไปโค้งมา แต่ก็ดีกว่าเดินตรงหรือเดินลัด เพราะทางลัดจากจุดหนึ่งของลำห้วย ไปหาอีกจุดหนึ่ง จะต้องขึ้นเขาชัน และต้องลงเขาชัน ถ้าอยู่ในป่าที่ล้อมรอบด้วยเมือง จะไม่ค่อยมีปัญหา อาจต้องเดินตามน้ำไกลหลายวัน แต่สุดท้ายก็จะไปถึงเมือง แต่ป่าใกล้ชายแดน มีโอกาสที่น้ำจะไหลไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงต้องสังเกตุ ทิศทางการไหลของน้ำให้ดีๆ โดยอ้างอิงจากทิศเข็มทิศ ถ้าไม่มีเข็มทิศ ต้องใช้วิธีอื่นเช่น ดูจากแสงอาทิตย์ หรือทิศทางลม มีตัวอย่างของทหารไทยไปตั้งค่ายบนทุ่งไหหิน ประเทศลาว แล้วโดนเวียดนามตีค่ายแตก จึงหลบหนีกลับไทย โดยเดินตามลำห้วยตอนกลางคืนเพื่อไม่ให้ศัตรูเห็น แล้วนอนตอนกลางวัน อาศัยกินหยวกกล้วย กับจับทิศไปทางตะวันตก ใช้เวลา 1 เดือน จึงกลับถึงไทยได้

ตอนกลางคืน  เป็นช่วงเวลาที่น่ากลัวในป่า โดยเฉพาะในป่าที่มีสัตว์ชุกชุม คนส่วนใหญ่จะกลัวสัตว์จนไม่ได้นอน วิธีป้องกันตัวคือ สร้างที่พักที่มิดชิด สัตว์เข้ามาไม่ได้ ก่อกองไฟไว้ และ ขอความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ โดยภาวนา พุท-โธ ไว้ตลอดเวลา

คนที่หลงป่า ไม่ได้กินอะไรมาหลายวัน ถ้าได้กินอะไรเข้าไป จะอ้วกออกมาหมด เพราะ ร่างกายเริ่มปรับตัว ไม่รับอาหาร วิธีปรับตัวกินข้าว หลังจากอดอาหารมานานคือ เริ่มกินจากทีละน้อย แล้วค่อยๆเพิ่มปริมาณขึ้นในวันถัดไป ด้วยเหตุนี้ เวลาหลงป่า จึงควรพยายามหาอะไรใส่ท้องทุกวัน ถึงแม้จะน้อย ดีกว่าไม่กินอะไรเลย

อวสานของนักเดินป่า

คนที่มุ่งแต่จะไปให้ถึง พอเที่ยวป่ามาได้สักพัก จะเริ่มรู้สึกอิ่มตัว ไม่ว่าจะไปที่ไหน ไปกี่รอบ ก็เจอแต่สภาพแวดล้อมเดิมๆ ที่เคยเห็นมาแล้ว ทั้งก้อนหิน ต้นไม้ หรือภูเขาที่ไหนๆก็มีหน้าตาคล้ายกัน  ใครเอ่ยชื่อสถานที่ท่องเที่ยวที่ไหนมาก็รู้จักหมด พอถึงจุดนั้น บางคนหยุดเดินป่า บางคนผันตัวไปทำอย่างอื่น เช่น เที่ยวต่างประเทศ, สะสมเครื่องมือ, จัดทัวร์

ส่วนคนที่ศึกษาธรรมชาติ จะพบว่า ยิ่งศึกษาไป ยิ่งมีเรื่องให้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ เช่นเดียวกับคนที่ฝึกจิต ฝึกสมาธิ จะได้พบว่า ป่าคือสวรรค์ เรื่องของจิต เป็นเรื่องที่ไม่มีขอบเขต ยิ่งค้นหา ยิ่งได้พบกับสิ่งอัศจรรรย์ ยิ่งฝึก ยิ่งสะสมมากๆขึ้นๆ สุดท้าย พลังจิตเป็นสิ่งเดียวที่สามารถติดตามเราไปทุกภพชาติ


เกี่ยวกับผู้เขียน

เรื่อง ราวทั้งหมดนี้ เป็นบันทึกส่วนตัว ที่เขียนด้วยใจรักในป่าเขาลำเนาไพร ผมเริ่มเขียนหลังจากที่มีประสบการณ์การเดินป่ามา 20 ปี โดยเริ่มจากเข้าค่ายลูกเสือที่วังตะไคร้ตอนอายุ 14 ปี แล้วเริ่มชื่นชอบป่าเขา จึงเริ่มหาอ่านหนังสือเกี่ยวกับท่องไพร ยุคนั้นมีแต่นิยายล่าสัตว์ ทำให้เริ่มรู้เรื่องราวเกี่ยวกับอิทธิฤทธิ์ของเจ้าพ่อเขาใหญ่ ตอนเล่นงานนายพรานที่ขอให้เจ้าพ่อช่วยแล้วไม่รักษาคำพูด ทำให้เริ่มรู้จักขอความช่วยเหลือจากเจ้าป่าเจ้าเขา และเห็นความจำเป็นของการรักษาคำพูด จนอายุ 15 ปี เริ่มเป็นแฟนประจำ ของหนังสือแค้มปิ้งท่องเที่ยว และเริ่มเดินป่าครั้งแรกกับเพื่อน ตอนอายุ 16 ปี สถานที่แรกที่ไป คือ น้ำตกผาตะแบก ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครั้งนั้นมีเจ้าหน้าที่ป่าไม้ไปด้วยเกือบสิบนาย หนึ่งในนั้นคือ อาจารย์ล้วน และเจ้าหน้าที่นำทางและถางทางชื่อ พี่บุญตา โชคลา ต่อมาผมยังคงเดินป่าตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศ โดยอาศัยเจ้าหน้าที่ป่าไม้นำทาง แต่..พอเดินไปเดินมา พบว่ามีที่ซ้ำๆไม่กี่ที่ๆไม่ต้องใช้คนนำทาง ที่เหลือจ้างคนนำทางแพง และยุ่งยาก แถมไม่เป็นส่วนตัวแล้ว ยังต้องรีบเดินตามอย่างเดียว จึงเริ่มรู้สึกว่า เราจะมาเดินทำไมให้เหนื่อย ในป่าไม่เห็นมีอะไรเลย

ผ่านมา 15 ปี การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้น เมื่อผมได้รู้จักกับพระธุดงค์ชื่อ หลวงพ่อขาว ท่านพาไปเดินป่า โดยไม่ต้องอาศัยคนนำทาง มีเพียงเข็มทิศและมีดพร้าขอ ใช้ถางทาง กับแผนที่คร่าวๆในหัว ก็สามารถจะไปไหนก็ได้ในป่า ผมจึงเริ่มหัดเดินป่าด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งคนนำทาง ปรากฎว่า บรรยากาศของการเดินป่ามีสีสันขึ้นมาอีกครั้ง คนที่เคยเป็นคนนำทางจะรู้ว่า มุมมองของผู้นำกับผู้ตาม แตกต่างกันมาก

หลังจากที่ผมเริ่มเดินป่าคนเดียว บางครั้งก็ต้องแยกจากคณะออกจากป่ามาคนเดียว ทำให้ผมเริ่มเห็นความสำคัญ ของความรู้เรื่องการเอาชีวิตรอดในป่า เพราะถ้าพลาดขึ้นมา นั่นหมายถึงชีวิต ผมจึงเริ่มศึกษาเรื่องวิธีเอาชีวิตรอดในป่า แล้วลงมือทำเพื่อพิสูจน์ว่าใช้ได้ผลจริง บวกกับสังเกตุเวลาที่อยู่กับธรรมชาติ หลายเรื่องต้องลองผิดลองถูกด้วยตนเอง ต้องเสียเงินเสียเวลาไปมาก แต่ก็ทำให้ได้ความรู้ใหม่ๆมามาก ทั้งเรื่องวิธีการนำทาง และ การดัดแปลงวัสดุธรรมชาติมาใช้ ทำให้ผมเปลี่ยนมุมมอง เรื่องการใช้ชีวิตในป่า ไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่ต้องเสียเงินอุปกรณ์สำเร็จรูปจำนวนมากจากในเมือง บางอย่างก็แบกเข้าป่าไม่ได้ เพราะใหญ่หรือหนักเกินไป กลายมาเป็น เริ่มรู้จักนำสิ่งรอบตัวมาใช้ ไม่ว่าจะขาดอะไร ก็สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้จากวัสดุธรรมชาติ โดยใช้แค่ความคิดสร้างสรรค์ วิธีนี้ช่วยให้ชีวิตในป่าสะดวกสบายขึ้นอย่างมาก และความรู้นี้ยังติดตัวมาใช้ในชีวิตประจำวัน ในเมืองได้อีกด้วย ธรรมชาติไม่สมบูรณ์แบบ เราจึงต้องรู้จักดัดแปลงธรรมชาติ ให้เหมาะสมกับร่างกายมนุษย์ โดยส่วนตัวเห็นว่า การเรียนรู้วิธีเอาตัวรอดในธรรมชาติ ที่ฝรั่งเรียกว่า survival โดยเรียนรู้ที่จะนำวัสดุธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ที่ฝรั่งเรียกว่า bushcraft เป็นเรื่องที่ทุกคนควรรู้ ใช้เวลาศึกษาน้อย แต่ได้ผลมหาศาล ดังภาษิตที่ว่า the more you know, the less you carry and the less you go wrong  ดูวีดีโอ

ผมได้บทเรียนหลายเรื่องจากการเดินป่า เวลาอยู่ในป่า ผมได้เห็นจุดเริ่มต้นของชีวิตคนในสมัยโบราณที่ทุกแห่งยังเป็นป่า ระหว่างเดินออกจากป่า ก็ได้เห็นวิวัฒนาการของคน ที่พัฒนาจากบ้านป่าจนกลายเป็นเมือง เวลาที่ผมเจ็บป่วยอยู่ในป่าคนเดียว ทำให้ผมได้เห็นคุณค่าการอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคม เวลาที่ผมลื่นล้มตามก้อนหินริมน้ำตก หรือ โดนแมลงรุมกัด ทำให้ผมรู้ว่า ป่าไม่ใช่ที่อยู่ของคน ถึงแม้ว่าธรรมชาติจะให้น้ำ อาหาร และอะไรอีกหลายอย่าง แต่ธรรมชาติแท้ๆยังเต็มไปด้วยความลำบากและภัยอันตราย สภาพแวดล้อมในป่า ไม่เหมาะสำหรับอ่อนแอ อย่างเช่น คนป่วย เด็ก และ คนชรา คนที่จะอยู่ป่าได้นอกจากจะต้องแข็งแรงแล้ว ยังต้องปรับสภาพแวดล้อม ด้วยการถางป่าจนโล่งเตียน เพื่อให้ได้รับแสงแดดเพียงพอ เพราะบริเวณที่ร่มครึ้ม จะอับชื้น มีน้ำท่วมขัง เป็นที่สะสมชองเชื้อโรคต่างๆ เช่น โรคปอดบวม จะกระจายอยู่แถวนั้น นอกจากนี้ ทางเดินตามธรรมชาติยังไม่เรียบ คนจึงต้องทำทางเดินให้เดินง่าย ถึงแม้จะเรียบ แต่ถ้าเป็นดินก็ยังเฉอะแฉะเดินลำบาก คนจึงต้องระเบิดหินมาทำถนนเพื่อให้เดินง่าย นอกจากนี้คนยังต้องกินอาหารทุกวัน แต่กาลเวลาได้พิสูจน์แล้วว่า คนไม่อาจอยู่รอดด้วยการกินพืชเพียงอย่างเดียว คนที่จะหาอาหารในป่าได้ ถ้าไม่เลี้ยงสัตว์ ก็ต้องอยู่ในป่าที่มีสัตว์ชุกชุม อาศัยล่าสัตว์กินเป็นอาหาร แต่คนก็ยังอ่อนแอเกินกว่าจะอยู่คนเดียวได้ เราจึงต้องมาอยู่ใกล้ๆกับคนอื่น เมื่อมีคนก็มีความปลอดภัย เพราะมีแต่คนเท่านั้น ที่จะช่วยกันเองได้ สัตว์ช่วยเหลือคนไม่ได้ ถ้าเราอยู่ในป่าตามลำพัง เวลาเจ็บป่วย สัตว์ทำร้าย ไม่รู้จะไปขอความช่วยเหลือจากใคร เราจึงสังเกตุว่า ชาวบ้านในต่างจังหวัด ถึงแม้ว่าทุกบ้านจะมีนามีสวน แต่ก็ต้องมาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ส่วนเถียงนา หรือ ขนำในสวน เป็นเพียงที่พักชั่วคราว ไม่มีใครไปอาศัยอยู่ประจำ จริงอยู่ว่า อาจมีบางคนที่แยกไปอยู่ตามไร่ตามสวน ไม่มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน แต่ก็ยังต้องเดินทางเข้ามาในชุมชน เป็นประจำ เพื่อซื้อของกินของใช้ สมัยก่อนไม่มีรถ ถ้ายิงเก้งได้ก็แบกออกมาขายในเมืองเพื่อแลกกับข้าวสารและปลาเค็ม สมัยนี้ใครอยู่ไกลชุมชน ก็ต้องมีรถทุกบ้าน พอคนมาอยู่รวมกันเป็นชุมชน จึงเริ่มมีความสะดวกสบายตามมา เพราะแต่ละคนได้ทำงานที่ตนเองถนัด บางคนหาอาหาร บางคนช่วยกันทำอาหาร บางคนทำเครื่องมือ คนฉลาดใช้สมอง คนโง่ใช้แรง ไม่เหมือนอยู่ในป่า ที่ไม่มีทางเลือกมากนัก แถวนั้นมีอะไรให้กินก็ต้องกิน พอกินอาหารไม่ครบถ้วน ก็จะป่วยง่าย มีตัวอย่างของคนยุโรปสมัยก่อนที่เป็นโรคขาดสารอาหารกันมาก ต่อมาเมื่อมีอาหารหลากหลายขึ้น คนจึงมีสุขภาพแข็งแรงขึ้น เมื่อไม่มีเครื่องมือ จะทำอะไรก็ลำบาก ทุกคนต้องใช้แรงงานเหมือนกันไม่ว่าจะฉลาดหรือโง่ เมืองไหนที่มีความสะดวกสบายมากกว่า ก็จะมีคนอยู่รวมกันมากขึ้น จนกลายเป็นเมืองใหญ่ เมื่อคนเยอะ ของกินของใช้ก็เยอะ เพราะ ของอะไรที่ไม่มีในพื้นที่ ก็มีคนขนจากที่อื่นมาขายเพื่อจะได้เงิน ที่ไหนมีคนมากขึ้น ยิ่งมีของกินของใช้ให้เลือกมากขึ้น เพราะคนที่ขนของมาขาย ไม่สามารถไปส่งตามบ้านได้ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายสูง ต้องส่งตามแหล่งที่มีคนอยู่มาก จึงจะคุ้ม

ทุกอย่างพัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ เพราะมีเหตุผล แต่คนที่อยู่ในเมือง มักจะพูดถึงคำว่าอนุรักษ์ โดยไม่รู้ที่มาที่ไป มนุษย์ไม่ได้ต้องการทำลาย แต่สาเหตุที่มนุษย์ต้องทำลาย เพราะ อาศัยอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ ต้องถางป่าเพื่ออยู่อาศัยและเพาะปลูก ถ้าจะไม่ให้มีการทำลายป่า ก็ต้องห้ามไม่ให้มีคนอยู่แถวนั้น พื้นที่เพาะปลูกจะขยายไปตามเส้นทางคมนาคม อย่างในสมัย ร.5 ภาคกลางยังเป็นป่า ผู้คนเดินทางด้วยเรือ ไม่เดินทางเท้า เพราะในป่าเต็มไปด้วยช้างเถื่อน ท่านจึงสั่งให้ขุดคลองเพิ่มขึ้น เพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ต่อมาในสมัย ร.9 คนเดินทางด้วยรถ พอถนนขยายไปที่ใด ลูกหลานจากครอบครัวที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ก็ขยายตามไปอยู่เพื่อหาพื้นที่เพาะปลูก แม้แต่ในเมือง ก็ขยายไปทุกทิศทุกทางตามแนวถนน แม้แต่พื้นที่ๆอยู่ติดชายป่า ไกลจากทะเล ก็ยังมีปลาทูกิน เพราะรถเข้าถึง ต่อมา เมื่อป่าเริ่มหมดไป การกำหนดพื้นที่ป่าสงวนจึงเกิดขึ้น เพื่อหยุดการทำลายป่า จนถึงปัจจุบัน พื้นที่นอกป่าสงวน จึงมักจะไม่เหลือป่า

คนเมืองส่วนใหญ่ เบื่อความแออัดในเมือง พยายามหาซื้อที่ดินปลูกบ้านอยู่ตามป่าตามเขา ด้วยความไม่รู้ว่า ธรรมชาติของคน ต้องอยู่บนพื้นราบ สถานที่ๆน่าอยู่ที่สุดคือ เมืองใหญ่ใกล้ทะเล เพราะว่า
เมืองใหญ่ทั่วโลก ล้วนตั้งอยู่ไม่ไกลจากทะเลทั้งนั้น ยกเว้นประเทศที่ผู้นำไม่รู้เรื่อง อย่างเช่น พม่า จึงย้ายเมืองหลวงไปอยู่ไกลจากทะเล เพื่อหนีปัญหาแผ่นดินไหวที่ย่างกุ้ง หลายคนไปหาซื้อที่ดินอยู่ตามที่สูงไกลจากทะเล เพราะเชื่อข่าวลือเรื่องน้ำท่วมโลก ทั้งๆที่ตั้งแต่ตนเองเกิดมา ก็ยังไม่เคยเห็นน้ำท่วมอย่างที่ลือกันเลยสักครั้ง แม้แต่คำเตือนจากคนโบราณก็ไม่เคยมี

ถึงแม้ว่าริมทะเลจะน่าอยู่ที่สุด แต่ริมทะเลในเมืองร้อนอย่างเช่น ประเทศไทย จะมีลมที่ทำให้ตัวเหนียว และลมทะเลกัดโลหะ แต่นั่นคือแร่ธาตุที่มากับไอน้ำ ถ้าไม่ต้องการตัวเหนียว ควรขยับออกมาจากฝั่งเล็กน้อย

บางคนบอกว่า ไม่จำเป็นต้องไปเดินป่า ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เรื่องอะไรที่เกี่ยวกับป่า อยู่แต่ในเมืองก็อยู่ได้ คนพวกนี้ขาดประสบการณ์ และคิดไปเอง อาจมีวันหนึ่งที่เราต้องผ่านไปแถวนั้น ถ้าเราไม่มีความรู้เลย จะเอาตัวรอดยาก มีตัวอย่างที่ผมเคยไปเที่ยวจันทบุรีกับเพื่อน ไปเก็บผลไม้ในสวน แต่ผลไม้อยู่สูง เอื้อมไม่ถึง ผมจึงใช้ความรู้จากป่า ใช้มีดพกตัดกิ่งไม้ ทำที่สอยผลไม้ พอกินผลไม้เสร็จ เพื่อนคนหนึ่งทำแว่นกันแดดตกหายในสวน ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีทางหาเจอ เพราะ พื้นปกคลุมด้วยหญ้าและวัชพืช แถมก่อนหน้านี้ เรายังเดินกินผลไม้กันไปทั่ว ถึงแม้ว่าจะไปกันหลายคน และทุกคนช่วยกันปูพรมหากันอยู่นาน แต่ก็ไม่เจอ สุดท้าย ผมจึงบอกให้เขายกมือไหว้ขอเจ้าที่ พอเขายกมือไหว้เสร็จ ก็เจอแว่นกันแดด ตกอยู่ตรงหน้า

ธรรมชาติมีกฎตายตัว ทำงานตรงเวลา ทำงานตรงไปตรงมา ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมพลิกแพลงเหมือนมนุษย์ การเรียนรู้ว่าธรรมชาติทำงานอย่างไร จึงเป็นการเรียนรู้ที่สนุก เพราะธรรมชาติเอาชนะได้ไม่ยาก แถมยังเป็นการเรียนรู้ที่คุ้มค่า เพราะเรียนครั้งเดียวจบ เรียกการเรียนรู้ความลับของธรรมชาติว่า วิทยาศาสตร์ หัวใจสำคัญของวิทยาศาตร์คือ ต้องพิสูจน์ได้ด้วยการลงมือทำ พอเราลงมือทำแล้ว ก็จะพบความจริงว่า เนื้อหาในตำราหลายเรื่อง เป็นเพียงความเชื่อที่เล่าต่อๆกันมา เพราะไม่มีใครเคยลงมือทำ พอลองทำแล้วก็พบว่าตำราผิด


เริ่มเขียน 24 สค. 52
แก้ไขล่าสุด 24 พย. 66